Uncategorized

ลิขสิทธิ์ดนตรี – ปัญหาความไม่เข้าใจที่ค้างคา

  • Writer: Piyapong Muenprasertdee

กฎหมายลิขสิทธิ์ ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ให้เขาได้รับประโยชน์จากงานที่เขาทำขึ้นมา แต่กลับถูกมองเป็นสิ่งเลวร้าย เพียงเพราะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด แถมถูกมองเป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะการละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม

ผู้เขียนอยากขอยกตัวอย่างและเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ ให้เข้าใจถึงความสำคัญของลิขสิทธิ์สักเล็กน้อยชาวนามีสิทธิ์ขายข้าวให้คนอื่นฉันใด นักแต่งเพลงก็มีสิทธิ์ขายเพลงให้คนอื่นฉันนั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ขโมยข้าวจากชาวนาฉันใด คนอื่นก็ไม่มีสิทธิ์ขโมยเพลงจากนักแต่งเพลงฉันนั้น ภาพจาก: https://pixabay.com/p-570656/

ชาวนามีสิทธิ์ขายข้าวให้คนอื่นฉันใด นักแต่งเพลงก็มีสิทธิ์ขายเพลงให้คนอื่นฉันนั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ขโมยข้าวจากชาวนาฉันใด คนอื่นก็ไม่มีสิทธิ์ขโมยเพลงจากนักแต่งเพลงฉันนั้น
ภาพจาก: https://pixabay.com/p-570656/

ลองนึกถึงชาวนาคนหนึ่ง เขาเป็นเจ้าของที่นาเอง เป็นเจ้าของเครื่องมือเครื่องใช้ และกระบือที่ใช้ไถนาทั้งหมด เขาปลูกข้าวด้วยพันธุ์ข้าวที่เขาได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และดูแลนาข้าวของเขาจนกระทั่งเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย เขาควรมีสิทธิ์ที่จะนำข้าวของเขามารับประทานเอง หรือนำไปขายได้ใช่ไหม? ถ้ามีใครมาปล้นเขา หรือขโมยข้าวของเขาไป ไม่ต้องมีกฎหมายก็น่าจะรู้ว่าการกระทำเหล่านั้นผิดใช่ไหม?

แล้วลองนึกถึงนักเขียนคนหนึ่ง เขาเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง และเอาต้นฉบับของเขาไปเสนอสำนักพิมพ์ จนในที่สุดได้รับการตีพิมพ์ เขาสมควรได้รับรายได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมจากสำนักพิมพ์ที่นำหนังสือที่เขาเขียนไปขายใช่ไหม? หรือถ้ามีคนเอาหนังสือของเขาไปซีร็อกซ์ขาย เขาควรจะรู้สึกเสียใจมั้ยว่าผลงานของเขาถูกนำไปหาประโยชน์โดยที่เขาไม่ได้อะไรเลย?

สุดท้าย ลองนึกถึงนักแต่งเพลงคนหนึ่ง เขียนเพลงเพลงหนึ่งออกมา แล้วไปเสนอค่ายเพลง ค่ายเพลงนำเพลงของเขาไปให้ศิลปินเล่นและอัดเสียงออกมาขาย สร้างรายได้พอควร แต่ค่ายไม่ได้จ่ายส่วนแบ่งที่เป็นธรรมให้กับนักแต่งเพลงคนนั้น เขาจะรู้สึกอย่างไร? หรือหากนักแต่งเพลงคนนี้ไปเที่ยวผับ แล้วได้ยินเพลงที่ตัวเองแต่งถูกเล่น แม้เขาอาจจะรู้สึกดีใจที่มีคนนำเพลงของเขาไปเล่น แต่การไม่มีรายได้กลับคืนมา จะทำให้เขาสามารถเป็นนักแต่งเพลงได้ต่อไปหรือไม่? หรือหากเพลงของเขาถูกแชร์กันอย่างมากมาย แต่เขากลับไม่ได้รับเงินตอบแทนเลยซักบาท เพราะความมีชื่อเสียงไม่ได้แปลว่าจะมีรายได้เกิดขึ้นซักหน่อย

คนทั่วไปได้ยินเสียงเพลงฟรีๆตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ว่าในวิทยุ โทรทัศน์ โฆษณาบนรถไฟฟ้า ในรถโดยสารสาธารณะ ในฟรีคอนเสิร์ต บน YouTube หรือเว็บฯโหลดฟรี ฯลฯ ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจถึงมูลค่าที่ต้องลงทุนในการทำเพลงขึ้นมา หรือมูลค่าทางการเงินที่ได้กลับมาจากเสียงเพลง แถมอาจเป็นเพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจกลไกของการจัดสรรเงินที่จะกลับคืนไปสู่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลง ทำให้ไม่เข้าใจว่าพวกเขาได้เงินตอบแทนอย่างไร และอาจคิดว่าพวกเขารวยหรือได้รายได้จากทางอื่นอยู่แล้ว

ในสื่อฟรีทั้งหลายที่ทำอย่างถูกกฎหมาย มันมีผู้ที่จ่ายเงินให้กับเจ้าของเพลงแทนเราแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าโฆษณา ค่าจ้าง ค่าลิขสิทธิ์ หรืออะไรก็ตาม จึงทำให้เราได้ฟังฟรีๆ

ส่วนการซื้อซีดี ดาวน์โหลด หรือฟังผ่าน YouTube ราคาเพลงนั้นถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับการฟังเพียงคนเดียว ไม่ใช่ฟังพร้อมๆกันหลายคน แม้จะอุดหนุนซื้อแผ่นเพลงแท้มา แต่ไปเปิดเพลงให้คนจำนวนเยอะๆฟัง เช่น ในร้านอาหาร ในผับบาร์ วิทยุ โทรทัศน์ มันก็คล้ายๆกับการซีร็อกซ์หนังสือแจกให้คนอื่น แต่เสียงเพลงนั้นมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ คนทั่วไปจึงไม่รู้สึกว่ามันคือสิ่งที่ผิด

(หากสนใจว่าการเปิดเพลงในที่สาธารณะเหมือนการซีร็อกซ์หนังสือแจกจ่ายอย่างไร คลิกเพื่ออ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ “เปิด YOUTUBE ในร้านกาแฟไม่ผิดจริงหรือ?” กับกรณีตัวอย่างอื่นๆ ที่เข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยการเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัว“)นอกจากสื่อที่มักทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดแล้ว ยังมีศิลปินบางคนเองที่ทำให้แฟนเพลงเข้าใจผิดอีกด้วย แม้ศิลปินเหล่านั้นจะแสดงความใจกว้าง อนุญาตให้แฟนเพลงเปิดเพลงของตัวเองได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ แต่มันก็ไปกระทบสิทธิในการสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ของศิลปินนักแต่งเพลงรายเล็ก เพราะคนทั่วไปเข้าใจว่าศิลปินที่ดีต้องใจกว้างเช่นกัน ภาพจาก: http://musicstation.kapook.com/view73372.html

นอกจากสื่อที่มักทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดแล้ว ยังมีศิลปินบางคนเองที่ทำให้แฟนเพลงเข้าใจผิดอีกด้วย แม้ศิลปินเหล่านั้นจะแสดงความใจกว้าง อนุญาตให้แฟนเพลงเปิดเพลงของตัวเองได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ แต่มันก็ไปกระทบสิทธิในการสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ของศิลปินนักแต่งเพลงรายเล็ก เพราะคนทั่วไปเข้าใจว่าศิลปินที่ดีต้องใจกว้างเช่นกัน
ภาพจาก: http://musicstation.kapook.com/view73372.html

(หากสนใจว่าการลอกการบ้านกับการละเมิดลิขสิทธิ์เหมือนกันตรงไหน คลิกอ่านได้ที่นี่ “การลอกการบ้านกับเว็บละเมิดลิขสิทธิ์เพลง เหมือนกันตรงไหน?”)

กรณีตัวอย่าง: คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553

นอกจากความเคยชินในการฟังเพลงฟรีๆแล้ว ยังมีสื่อและข่าวลือที่ทำให้เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์แบบผิดๆอยู่เสมอๆ อย่างเช่นกรณีของบทความ “เปิดฎีกา ตอกหน้าค่ายเพลง เจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดเพลงผ่าน Youtube ไม่ผิด” ซึ่งอ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 ที่เป็นตัวอย่างคดีการฟ้องร้องร้านขายอาหารตามสั่งริมถนนที่เปิดแผ่นวีซีดีของค่ายเพลงใหญ่แห่งหนึ่ง แต่จบด้วยการยกฟ้อง แล้วผู้เขียนบทความนั้นก็ได้สรุปเอาว่าการเปิดเพลงผ่าน YouTube ในร้านอาหาร ร้านกาแฟนั้นไม่ผิดเช่นกันเพราะไม่ได้เป็นการแสวงหาผลกำไรโดยตรง

(หากต้องการทำความเข้าใจในกรณีนี้อย่างละเอียด โปรดดาวน์โหลด พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ที่ http://www.mct.in.th/file_pdf/copyright_th.pdf และอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 ที่ถูกอ้างอิงฉบับย่อสั้นได้ที่ http://www.deka.in.th/view-503211.html และ http://www.deka.in.th/view-510917.html)ภาพประกอบเนื้อหาจากบทความ ตั๋วทนาย.com/เปิดฎีกา-ตอกหน้าค่ายเพล/

ภาพประกอบเนื้อหาจากบทความ ตั๋วทนาย.com/เปิดฎีกา-ตอกหน้าค่ายเพล/

แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ก็ได้ปรึกษากับนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงขออนุญาตสรุปเนื้อหาการวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 โดยนักกฎหมายมาไว้ดังนี้

  1. สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 นี้ ได้บรรยายไว้ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิด ตามมาตราที่ฟ้องร้อง คือมาตรา 31 (ความหมายของการ ไม่ครบองค์ประกอบความผิด ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับการแจ้งความจับคนที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่ไม่มีการบรรยายว่าผู้ต้องหามีบุหรี่หรือไม่ สูบอย่างไร ที่ไหนเรียกสาธารณะ) ซึ่งอาจเป็นเพราะจำเลยให้การรับสารภาพ จึงเป็นไปได้ว่า โจทก์อาจจะมั่นใจว่าจะชนะคดีจนไม่มีการสืบพยาน และเมื่อไม่มีการสืบพยาน ศาลจึงต้องตัดสินไปตามเนื้อผ้าที่ฟ้องมา การตัดสินยกฟ้องของศาลจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ศาลอาจเกรงว่ามีการกลั่นแกล้งฟ้องกันก็ได้ เนื่องจากจำเลยเป็นเพียงร้านขายอาหารตามสั่งริมถนน ส่วนโจทก์เป็นค่ายเพลงใหญ่ที่อาจมีการมอบอำนาจให้บริษัทอื่นจัดการการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และฟ้องร้องคดีแทนตนเอง
  2. มาตราที่กล่าวถึงในฎีกานี้คือ มาตรา 31 ซึ่งมีเนื้อหาที่หมายถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อหากำไร แต่เนื่องจากเจ้าของร้านขายอาหารตามสั่งไม่ได้เรียกเก็บเงินจากลูกค้าเพื่อเปิดเพลง และก็ไม่ได้เรียกเก็บค่าเปิดเพลงรวมไปในค่าอาหารและเครื่องดื่ม เจ้าของร้านจึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้เลยแม้แต่น้อย
  3. แม้เจ้าของร้านไม่ได้ละเมิด พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 แต่ได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ในมาตราอื่นๆของ พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 คือ มาตรา 27 ข้อ (2) คือการนำงานอันมีลิขสิทธิ์มาเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามตามมาตรา 15 ข้อ (5) รวมทั้งละเมิดสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 45 โดยการนำสำเนาของงานการแสดงออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรงโดยไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่นักแสดง แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด

หากให้สรุปสั้นๆ การตัดสินของศาลเป็นการระบุว่าจำเลยไม่มีความผิดเพียงแค่ตามมาตราที่ฟ้องร้อง (คือมาตรา 31) ไม่ใช่กฎหมาย พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ทั้งฉบับ เพียงแต่การกระทำความผิดตามมาตราอื่นๆ คือ มาตรา 27 ข้อ (2), มาตรา 15 ข้อ (5) และมาตรา 45 กลับไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคดีนี้อย่างเป็นวงกว้าง

“การตัดสินยกฟ้องของศาลจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากแต่ว่าผู้ที่นำไปตีความต่อนั้น ได้ตีความหมายไปในทางที่ผิด จนทำให้เกิดการเข้าใจผิดเป็นวงกว้าง”

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการ แท้จริงแล้วก็คือ ความเคารพที่คนเราควรมีต่อกันและกัน การเคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกัน และการเคารพอาชีพของกันและกัน ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์มากขึ้น ช่วยทำให้ปัญหาความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ดนตรีนั้นลดลงไม่มากก็น้อย และช่วยทำให้บุคคลที่มีอาชีพในเส้นทางสายดนตรีตัวเล็กๆทั้งหลาย ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก และได้รับผลตอบแทนจากการทำงานที่เป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่การสนับสนุนค่ายเพลงใหญ่แต่อย่างใด

Facebook Comments

Next:


Suthavee Thanombooncharoen

เค้ก สุธาวี ถนอมบูรณ์เจริญ ตำแหน่งมาร์เก็ตติ้งประจำฟังใจ