Quick Read ตาดูหูฟัง

Trainspotting 2 เลือกใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ

  • Writer: Montipa Virojpan

เชื่อว่าใครที่ชอบดูหนัง หรือเป็นคนที่อินกับวัฒนธรรม ดนตรี และแฟชัน จากยุค 80s – 90s จะต้องรู้จักกับหนังเรื่อง Trainspotting ที่สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกัน ผลงานของผู้กำกับ Danny Boyle อย่างแน่นอน และหนังเรื่องนี้ก็ถูกยกขึ้นหิ้งให้เป็นหนังโปรดในดวงใจของวัยรุ่นหลาย ๆ คน เพราะความดิบ หลุดโลก อัดแน่นไปด้วยเรื่องเซ็กซ์ ยาเสพติด กล้าฉีกขนบเดิม ๆ จากหนังยุคนั้นได้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู และสามารถปลดปล่อยความเป็นวัยรุ่นสก็อตติชหัวขบถออกมาได้แบบที่หลายคนคาดไม่ถึง

trainspotting

และเมื่อหลายปีก่อนได้มีประกาศออกมาว่าทีมงานเตรียมตัวสร้างภาคต่อ โดยใช้นักแสดงชุดเดิมทั้งหมด เหล่าแฟนของหนังเรื่องนี้ต่างก็ตั้งตารอที่จะได้ดูเพื่อนรักสมัยวัยรุ่นของพวกเขากลับมาโลดแล่นบนจอเงินในวัยเดียวกันอีกครั้ง (แต่เราถือเป็นแฟนรุ่นเล็กนะ เพิ่งได้ดูเรื่องนี้ตอนเรียนมหาลัยเอง) และจินตนาการว่าแก๊งเด็กซ่าแห่งเอดินบะระจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

*ถ้าใครยังไม่เคยดูภาคแรกอาจจะมีงงบ้างเวลาเรียกชื่อเก่าของทุกคน หรือการกลับมาปรากฎตัวของบางตัวละครที่ถือว่าค่อนข้างเป็นหัวใจของเรื่อง แนะนำให้ไปหามาดูก่อน แต่ถ้าไม่สนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกีค ๆ ต่าง ๆ ก็มาดูเอาเพลินได้ไม่ว่ากัน*

trainspotting-station-xlarge

20 ปีต่อมาหลังจากที่ มาร์ค เรนตัน ขโมยเงินก้อนสุดท้ายของเพื่อนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อัมสเตอร์ดัม วันหนึ่งระหว่างที่เขากำลังวิ่งออกกำลังกาย เขาหวนนึกถึงภาพในอดีตของตัวเอง และนั่นทำให้เขาเกิดวูบไป อุบัติเหตุจากอาการหัวใจวายครั้งนั้นทำให้เขาคิดได้ว่านี่คงถึงเวลาที่จะต้องกลับไปรับผิดชอบสิ่งที่เขาทิ้งไว้เบื้องหลัง

ทีแรกเราคิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่เล่าแค่กลุ่มเพื่อนรักที่จะมาห้ำหั่นเอาคืนที่เรนตันทรยศในภาคก่อนเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ มันเป็นหนังที่กักเก็บประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงของสังคมเอดินบะระ ตัวเรื่องหลักดำเนินผ่านการเล่าชีวิตวัยรุ่นในภาคแรกที่กลายมาเป็นผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีครอบครัวกันแล้วในภาคสอง แต่ใช่ว่าเวลาเปลี่ยน คนจะเปลี่ยนเสมอไป เพราะหลายตัวละครยังทำตัวเป็นพวกขี้ยาไม่เอาไหนและหากินกับธุรกิจดำมืดแบบเดิม ๆ แบบไม่มีทางเลือก ซึ่งต่อมาสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลกับชีวิตทุกคน จนทำให้ต้องพยายามดิ้นรนเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเราจะได้มาลุ้นกันต่อว่าชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่

nintchdbpict0002954949551

การที่เรนตันจากบ้านไปกว่า 20 ปี และการมาถึงของยุคโลกาภิวัตน์ยิ่งทำให้อะไร ๆ ในบ้านเกิดของเขาไม่เหมือนเดิม ไหนจะมีคนจากประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเอดินบะระกันมากขึ้น พวกอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มคนที่ยึดมั่นในลัทธิชาตินิยมก็เริ่มปลุกระดมกันมากขึ้น วิธีคิดของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันกับวัยรุ่นสมัยก่อนก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งจุดนี้เขาก็โยงทั้งสองยุคสมัยให้ไปด้วยกันจากการเอาเรื่องวัฒนธรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากอดีตถึงปัจจุบันมาเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นความเนิร์ดฟุตบอลซึ่งเป็นอะไรที่ไม่จำกัดกาล เพราะไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรก็เป็นพวกบ้าบอลกันหมด สังคมที่ยังคงรักการสังสรรค์ พบปะผู้คนในผับและมี open mic night คนรุ่นพ่อเราสนุกกับการใช้แอพเปลี่ยนหน้าในสมาร์ตโฟน หรือการพยายามเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ตัวละครที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ (รวมถึงคนดูยุคนี้) ได้เข้าใจสถานการณ์ในอดีตและความรู้สึกของตัวละครได้แบบสะเทือนใจอย่างซีนที่เรนตันอธิบายคำว่า ‘Choose Life’ ซึ่งมีที่มาจากคำขวัญรณรงค์ให้วัยรุ่นไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดให้เวโรนิก้าฟัง คือแม้จะไม่ใช่คนรุ่นเดียวกันแต่ก็รู้สึกถึงความคาดหวังถึงอนาคตอันสดใสและโหยหาอิสระเมื่อตอนที่เขาเป็นวัยรุ่น แต่กลับมาพังไม่เป็นท่าในปัจจุบันได้แบบบีบคั้น คือ Ewan McGregor ที่รับบทเรนตันเล่นดีมาก ฟังแล้วร้องไห้เลย อีกอย่างคือเรารักแก่นที่อยากจะพูดว่ามิตรภาพไม่มีวันตายแต่ทำออกมาได้แบบไม่เลี่ยน ด้วยความสัมพันธ์ของอดีตเพื่อนรักอย่างเรนตันกับซิคบอยที่แม้ตอนนี้จะเกลียดกันแบบสุด ๆ แต่พอกลับมาอยู่ด้วยกันแล้วเล่นอะไรบ้า ๆ แบบตอนเด็ก ๆ เป็นซีนที่ตราตรึงใจและเป็นธรรมชาติมาก รวมถึงมุขตลกในเรื่องคือจังหวะดีมาก ดูสนุก ไม่เบื่อ ทั้งที่เนื้อหาที่เรากำลังเผชิญมันคือวิกฤตวัยกลางคนที่เครียดใช่ย่อย

trainspotting-2-1

Trainspotting 2 ถือเป็นการ reunion ของ Danny Boyle และบรรดานักแสดงจากภาคแรกที่เราชอบมาก มันคือความ nostalgia ที่พาเราย้อนไปหาวัยรุ่นพวกนั้นได้อย่างงดงาม มีหลาย ๆ ซีนที่ทำขึ้นมาเพื่อบูชาหนังภาคแรกและตบหน้าตัวละครอย่างสนุกสนาน อย่างการที่รถไฟวิ่งผ่านแล้วเห็นตัวละครยืนเรียงกัน ฉากเรนตันโดนรถชนแล้วยิ้มอย่างบ้าคลั่ง การกลับมาเยือนทุ่งราบสูงไฮแลนด์ มูฟเมนต์การปีนเข้าบ้านที่ละม้ายคล้ายกับตอนมุดส้วมในภาคแรกยังไงยังงั้น หรือการให้เราไม่ลืมสภาพส้วมสุดเลื่องชื่อของผับในเอดินบะระ เล่นเอาซะหายคิดถึงเลย ทั้งยังเก็บเรื่องราวหลายจุดที่ไม่ได้ลงลึกหรือถูกเล่าต่อในภาคแรกมาขยายจนสมบูรณ์ในภาคนี้

1200938

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในหนังเรื่องนี้คือการใช้เพลง อย่างที่รู้กันว่าเพลงก็เป็นส่วนสำคัญในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง แต่กับ Trainspotting ทั้งสองภาค เพลงคือส่วนเติมเต็มที่เหมือนเป็นพระเอกของเรื่องไม่แพ้ตัวแสดง เพราะมันได้บอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกของตัวละครได้มากเหลือเกิน ตั้งแต่ฉากที่เรนตันกลับเข้ามาในห้องของตัวเอง และเริ่มรื้อแผ่นไวนิลมาเปิดฟัง ในนั้นเราพบแผ่นเสียง ของ David Bowie

เราคิดว่า Boyle ตั้งใจจะใส่ฉากนี้เพื่ออุทิศให้กับโบวี่ เพราะอันที่จริงแล้วเขาคงเป็นแฟนตัวยง และมีความตั้งใจที่จะใช้เพลงของโบวี่มาประกอบในหนังตั้งแต่ภาคแรกแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต เขาจึงเลือกใช้เพลง Lust For Life ของ Iggy Pop ที่โบวี่เป็นคนแต่งมาอยู่ในหนังแทนจนกลายเป็นเพลงฮิตในคลับยุคนั้น บอยล์ไม่ได้ถูกปฏิเสธแค่ Trainspotting แต่ในปี 2012 เป็นช่วงการจัดโอลิมปิกที่อังกฤษ บอยล์ได้รับโอกาสให้เป็นผู้กำกับการแสดงในพิธีเปิดและอยากให้โบวี่มาร่วมแสดงด้วยแต่โบวี่ก็ปฏิเสธ หรือแม้แต่บอยล์มีแผนจะทำ David Bowie Musical แต่ก็ยังโดนปฏิเสธจนต้องตัดใจเปลี่ยนมาทำหนังเรื่อง Steve Jobs แทน

กลับมาที่เรนตัน ทันทีที่เข็มจรดลงไปที่ตัวแผ่น เสียงเพลง Lust For Life ดังเล็ดลอดออกมาไม่ถึงวินาทีและเขาก็เลิกฟังมัน เพราะดนตรีพวกนี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เขานึกถึงเวลาเก่า ๆ อันหวานขมของเขาที่เคยผ่านมา การเลือกใช้เพลงใน T2 ไม่ได้เป็นแค่การเอาความชอบส่วนตัวมายัดลงไปในหนัง แต่ยังบอกเล่ายุคสมัย รสนิยม และใช้เพลงที่เลือกมาได้อย่างคุ้มค่า อย่าง Lust For Life ถูกจับมารีมิกซ์ให้เข้ากับซีนและดูร่วมสมัยมากขึ้นในสไตล์ของ The Prodigy รวมถึงเพลงของ Brian Eno อย่าง Deep Blue Day ในภาคก่อนก็มาโผล่ในภาคนี้ และแน่นอน theme song สุดโด่งดังที่ต้องมาคู่กันกับหนังเรื่องนี้อย่าง Born Slippy ของ Underworld ก็เอามารีมิกซ์ใหม่ในสองสไตล์เช่นกัน แบบแรกชื่อ Slow Slippy ถูกจับมาใส่ในฉากสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะฉากที่หวนนึกถึงวีรกรรมสมัยวัยละอ่อนของพวกเขา ความทรงพลังของเพลงเอกเพลงนี้ทำให้เราน้ำตาซึมออกมาจากการที่มันพาเราย้อนเวลาไปยังหนังภาคแรกได้สำเร็จ (นึกถึงตอนที่ได้ดู Underworld สด ๆ ตอนเขามาเล่นในงาน Super Summer Sound เมื่อเดือนพฤษภาคมก็ฟินแบบนี้แหละ) และยังมีเพลงซึ้ง ๆ อย่าง Eventually But ที่ออกมาได้ตรงกับซีนสุดสะเทือนใจ

ส่วนเพลงอื่น ๆ ที่มาอยู่ในหนังล้วนแต่เป็นแทร็คคลาสสิกในดวงใจเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Perfect Day ของ Lou Reed ที่แม้จะมาแค่เปียโนแต่ก็ยังสุดเพราะ แล้วมี Dreaming จาก Blondie, Radio Ga Ga ของ Queen มาให้ได้กรี๊ดกันด้วย แต่นอกจากเพลงจากยุคที่พวกนี้เป็นวัยรุ่นจะโผล่มาให้ฟังกัน เขาก็ไม่ลืมจะเอาตัวแทนของยุคสมัยปัจจุบันอย่าง Wolf Alice ในเพลง Silk และสารพัดบีทสุดเดือดจาก Young Fathers มาใส่ด้วย

1200935

องค์ประกอบอื่น ๆ ของหนังก็ยังเท่เหมือนเดิม ทั้งมุมกล้องแปลก ๆ กลับหัวกลับหาง เงาสะท้อน การเซ็นเซอร์หน้าในกล้องวงจรปิดด้วยสติ๊กเกอร์เด๋อ ๆ วิชวลจิตหลุดทั้งหลาย แต่สีสดใสกว่าเดิม แล้วยังใช้มอนตาจบอกสถานที่และเวลา อย่างฟุตเทจการแข่งฟุตบอล เด็กน้อยเล่นด้วยกัน ทุ่งทิวลิป ที่ช่วยขยี้อารมณ์ในหนังได้ดี ยิ่งฉากจบคือดีมากกกกกกก แต่จะเป็นยังไงก็ต้องไปดูกันเอง

สรุปแล้ว Trainspottin 2 ก็ทำออกมาได้สนุกไม้แพ้ภาคแรก แค่มู้ดโทนอาจจะไม่ได้หลุดหรือดิบขนาดนั้น แต่ก็เป็นการเล่าเรื่องตามวุฒิภาวะของตัวละครที่เติบโตและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างอิ่มเอม บางฉากนี่บอกเลยว่าดูไปโยกตามเพลงไปด้วย ถือเป็นอีกเรื่องที่เรารักมาก ใครยังไม่ได้ดูก็ไปดูก่อนที่จะออกจากโรงเด้อ เหลือที่ House RCA วันละรอบแล้ว

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้