บทเพลงจากโลกแสนเหงาของหญิงสาวผู้แปลกแยกในหนังของ Sofia Coppola
- Writer: Montipa Virojpan
หลังจากที่ The Beguiled ภาพยนตร์พีเรียดแสนสวยงามของผู้กำกับหญิงลายเซ็นชัด Sofia Coppola ได้ออกฉายไปเมื่อปลายปีที่แล้ว หลายคนที่เพิ่งรู้จักกับเธอจากเรื่องนี้อาจเริ่มอยากหาหนังเก่า ๆ ของเธอมาดูเผื่อจะรู้จักเธอมากขึ้น และจะได้พบว่า โซเฟียคือหนึ่งในผู้กำกับที่ทำหนังถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงได้เข้มข้นทั้งเนื้อหาและสัญญะ รวมถึงเธอเป็นคนฟังเพลงที่น่าสนใจที่สุดคนนึงเลย
ก่อนที่ โซเฟีย คอปโปล่า จะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้กำกับแบบทุกวันนี้ ก่อนหน้านี้เธอเป็นที่รู้จักในฐานะลูกสาวของผู้กำกับชื่อดัง Francis Ford Coppola เจ้าของผลงานอมตะเรื่อง The Godfather ทั้งสามภาค และตัวเธอเองก็ไปปรากฏตัวในหนังภาคสุดท้าย ซึ่งโดนประโคมจากสื่อต่าง ๆ นานา ว่าได้เล่นเพราะเส้นผู้กำกับบ้าง เล่นแข็งทื่อบ้าง ซึ่งภายหลังเธอก็ถอยห่างจากการเป็นนักแสดงที่เธอไม่เคยคิดอยากเป็นและหันสู่เส้นทางการเป็นผู้กำกับ
Bed, Bath, and Beyond คือหนังสั้นเรื่องแรกของเธอที่เกิดขึ้นมาในปี 1996 โดยมีผู้กำกับร่วมอีกสองคน (ส่วนตากล้องในตอนนั้นก็คือ Spike Jonez ผู้กำกับดังผู้สร้างโลกของคนเหงาใน Her อดีตสามีของเธอ) น่าเสียดายที่เราหาหนังเรื่องนั้นดูไม่ได้ จนสองปีต่อมาเราก็ได้ทำความรู้จักกับเธอจริง ๆ ผ่านหนังสั้นอีกเรื่องที่ชื่อว่า
Lick the Star – Heidi Cakes
‘เคต’ ที่เพิ่งกลับมาเรียนได้หลังจากที่พักรักษาตัวเพราะขาหัก เธอพบกับความเปลี่ยนแปลงมากมายในโรงเรียน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการที่ทุกคนตื่นตะลึงในความโดดเด่นของ ‘โคลอี้’ สาวฮอตเกรด 7 (ประมาณ ม.1) เคตสังเกตเห็นรอยสักเล็ก ๆ รูปดาวที่ข้อเท้าของแก๊งสาวพวกนี้ ด้วยความสงสัยเธอจึงถามและได้ล่วงรู้ว่าโคลอี้และแก๊งเพื่อนมีแผนจะวางยาในอาหารกลางวันของเด็กผู้ชายในชั้นเรียน เพราะอินจัดกับหนังสือโกธิคเรื่อง ‘Flowers in the Attic’ หนังเรื่องนี้สะท้อนสังคมอันโดดเดี่ยวแปลกแยกของเด็กสาวแรกรุ่นที่ต้องการการยอมรับ
นอกจากบรรยากาศความเหงาของหญิงสาวที่ต่อมาได้กลายมาเป็นลายเซ็นในหนังอีกหลายเรื่องของโซเฟียแล้ว สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ไม่แพ้กันเห็นจะเป็นแฟชันพังก์ โกธิค ของแม่สาวโคลอี้ และเพลงเท่ ๆ จากปลายยุค 80s และ 90s ทั้ง Tipp City เพลงในตอนเปิดของเรื่องจาก The Amps หรือ Top 40, Bouwerie Boy และ Eat Cake ของ Free Kitten ซึ่งล้วนแต่เป็นวงพังก์สาวซ่าทั้งสิ้น เห็นได้ชัดว่าพลัง girl power ของเธอรุนแรงตั้งแต่งานยุคแรก ๆ เลย และเพลงที่เราอยากให้ลองฟังกันคือเพลงสุดท้ายที่ปรากฏในเรื่องนั่นคือ Heidi Cakes เพลงน่ารัก ๆ คล้ายธีมซองในเกมกด ของ Land of the Loops แจงเกิ้ลป๊อป แบ็กกี้ อิเล็กทรอนิก้า จากบรูคลิน นิวยอร์ก
หรือดูหนังเต็ม ๆ ได้ที่นี่จ้า
The Virgin Suicide – Alone Again (Naturally)
Feature film หรือหนังยาวเรื่องแรกของโซเฟีย ที่เหมือนเป็นการแจ้งเกิด Kirsten Dunst จากบทบาทหนึ่งในห้าพี่น้องหญิงล้วนตระกูล Lisbon ที่ดูลึกลับและน่าหลงใหล บ้านนี้ก็เป็นบ้านที่เข้มงวดแบบสุด ๆ แทบจะไม่ให้เด็กผู้หญิงกลุ่มนี้ได้เห็นเดือนเห็นตะวันสังสรรค์กับโลกภายนอก ยิ่งกับการที่น้องสาวคนเล็กฆ่าตัวตายยิ่งทำให้ความตึงเครียดในบ้านก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ เด็กหนุ่มที่สัญจรผ่านบ้านหลังนี้ไปมาก็เกิดความสนใจเด็กสาวสี่คน ก็อยากจะทำความรู้จักและทำให้พวกเธอคลายทุกข์ได้บ้าง
หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวหมกมุ่นของวัยรุ่นที่ฮอร์โมนกำลังพุ่งพล่าน แต่ถูกฉาบด้วยสีพาสเทลของความฟุ้งฝันและจินตนาการเลยดูซอฟต์ใสโรแมนติก คนที่เคยดูเรื่องนี้มาแล้วอาจจะชอบเพลง Playground Love จากวงฝรั่งเศส Air ที่ถ่ายทอดบรรยากาศหนังได้อย่างยอดเยี่ยม แต่สำหรับเราต้องขอยกให้ Alone Again (Naturally) ของ Gilbert O’Sullivan เพลงจังหวะน่ารักฟังสบายแต่เนื้อหาเปลี่ยวเหงาที่สุดที่เคยได้ยินมาเพลงนึง ซึ่งฉากที่เพลงนี้โผล่ในหนังเป็นฉากที่อบอุ่นมาก เหมือนเด็ก ๆ กำลังปลอบโยนกันเอง เปิดเพลงเหงาสลับกับเพลงแสดงความเป็นห่วงเป็นใยแห่งยุค 70s ผ่านทางโทรศัพท์คอมโบกันไปรัว ๆ ตั้งแต่ Todd Rundgren – Hello, It’s Me, Bee Gees – Run To Me และ So Far Away ของ Carol King สุดยอดความหัวใจสลายของวัยแรกรุ่นเลย
Lost in Translation – Just Like Honey
ระหว่างดูเรื่องนี้มีอยู่บ่อยครั้งที่ถึงกับต้องอุทานดัง ๆ ในใจว่า DAMN! ใครให้หนังเรื่องไหนเหงากว่านี้อีกไหม!!! เรื่องนี้ถูกเล่าผ่านตัวละครสองคน คือ Charlotte (Scarlett Johanson) กับบทหญิงสาวที่เดินทางมาโตเกียวกับคู่รักที่นับวันเธอยิ่งรู้สึกถึงความห่างเหินจากเขาเข้าไปทุกที กับ Bob Harris (Bill Murray) นักแสดงผู้โด่งดังที่มาถ่ายโฆษณาซันโตรี่วิสกี้ที่นี่ ซึ่งเขาเองก็มีปัญหา midlife crisis อยู่เหมือนกัน เมื่อคนเคว้ง ๆ สองคนมาเจอกันที่บาร์ในโรงแรม มิตรภาพของคนที่เข้าใจหัวอกซึ่งกันและกันที่สุด ณ เวลานี้ —ในเมืองอันเต็มไปด้วยแสงไฟแต่ใคร ๆ ก็ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา— ก็เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ
ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้สร้างมาจากส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของโซเฟียกับอดีตสามีผู้กำกับ สไปค์ โจนซ์ ที่เล่าถึงความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาที่กัดกินในจิตใจ จากการที่เธอไม่ค่อยได้รับการเอาใจใส่จากอีกฝ่ายเท่าไหร่ และท้ายที่สุดเราก็มาเจอเฉลยอีสเตอร์เอ้กฟองเบ้อเริ่มในหนังเรื่อง Her ที่สไปค์เขียนจดหมายเปิดผนึกลงไปในบทเพื่อตอบกลับเธอกลับไปในฉากหนึ่งของหนัง (อันนี้จริงเท็จก็ลองไปวิเคราะห์กันต่อเองนะ)
สำหรับเพลงแล้ว นอกจากงานเด่น ๆ ติดหูจากวง Air (อีกแล้ว) อย่าง Alone in Tokyo ที่ดูจะบรรยายสรรพคุณความเหงาได้เย็นเยือกจับขั้วหัวใจและได้กลิ่นอายดนตรีท้องถิ่นญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ก็ยังมีสารพัดเพลงชูเกซที่คอยขับความรู้สึกสับสนของตัวละครในเรื่อง ผลงานจากเสด็จพ่อ Kevin Sheild มือกีตาร์แห่งวง My Bloody Valentine ซึ่งก็มีเพลง Sometimes อยู่ในเรื่อง และยังมีเพลง Too Young ของ Phoenix เป็นเพลงประกอบ ซึ่งต่อมา Thomas Mars นักร้องนำของวงก็กลายมาเป็นสามีของโซเฟียนั่นเองล่ะจ้า แต่สำหรับเราก็มีเพลงที่ถูกจริตและตอบโจทย์กับหนังได้สุด ๆ นั่นคือ Just Like Honey ของ The Jesus and Mary Chain วงชูเกซยุคบุกเบิกปลายปี 80s นั่นเอง การที่เพลงนี้ปรากฏในฉากจบเป็นอะไรที่พอเหมาะพอดีและเรียกน้ำตาจากเราไปได้หลายแหมะ มีคนถกเถียงกันในประเด็นนี้อยู่มากว่าประโยคที่บ็อบพูดกับชาร์ล็อตโดยที่คนดูไม่ได้ยินด้วยนั้นคืออะไร
Marie Antoinette – What Ever Happened?
เป็นหนังที่เราอยากเอากลับมาดูใหม่อีกหลาย ๆ ทีเพราะความสวยงามสบายตาตลอดทั้งเรื่อง (ดูไปก็ต้องเอ่ยปากเบา ๆ ว่า Kirsten Dunst สวยจัง ?) โซเฟียตีความประวัติศาสตร์ในช่วงรัชสมัยของ Marie Antoinette ราชินีแห่งพระราชวังแวซายร์ผู้ฟุ้งเฟ้อจนสุดท้ายต้องจบชีวิตด้วยกิโยติน ให้กลายเป็นหนังเคลือบลูกกวาดอันแสนเพลิดเพลินชวนฝัน เลือกจะโฟกัสกับความอู้ฟู่หรูหราในสังคมชนชั้นสูงมากกว่าจะเล่าถึงความยากแค้นของชาวบ้านนอกวังที่กำลังจะปฏิวัติราชวงศ์ แน่นอนว่าพวกคนในวังไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวว่าจุดจบของพวกเขากำลังคืบคลานเข้ามา และยังคงใช้ชีวิตในโลกสีพาสเทลของพวกเขาต่อไป แต่ใจความหลัก ๆ ของเรื่องน่าจะเป็นการนำเสนอความเหงาของหญิงสาวผู้แปลกแยกมากกว่า เธอต้องทิ้งความเป็นผู้หญิงธรรมดามารับตำแหน่งที่หนักอึ้ง เสื้อผ้าอาภรณ์และความสะดวกสบายไม่ได้ทำให้เธอมีความสุขมากขึ้นเลยเพราะหัวใจของเธอช่างแห้งเหี่ยวขาดคนเข้าใจ
ความเท่ของเรื่องนี้คือไม่ได้เป็นการอิงประวัติศาสตร์เป๊ะ ๆ (ซึ่งนั่นทำให้นักวิจารณ์รุมทึ้งกันอย่างเมามัน) แต่การผนวกวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัยอย่างการแอบใส่รองเท้าคอนเวิร์สไว้ในฉาก และสร้างคลังเพลงร็อก new wave, post punk, dream pop สุดเท่ที่ใช้บรรเลงไปตลอดเรื่องแทนการใช้บทพูดหรือเล่าอารมณ์ความรู้สึกในฉากนั้น ๆ และแน่นอน เพลงพวกนี้ทำให้เราตามหาฟังทันทีหลังดูจบ มีทั้งงานของ Siouxsie and the Banshees, Bow Wow Wow, Gang of Four, New Order, The Cure, The Radio Dept., Aphex Twin และอีกมากมาย ไปหาฟังกันได้ Spotify มี ส่วนเพลงที่อยากนำเสนอคือเพลงจากฉากนี้ ตอนที่มารีขอตัวจากการพบปะพระญาติอันแสนน่าเบื่อแล้ววิ่งกลับมานอนที่ห้องของเธอ เพลง What Ever Happened? ของ The Strokes ที่ถึงแม้เพลงนี้จะเป็นเพลงอกหัก แต่ในบริบทนี้ก็ให้ความรู้สึกถึงการอยากหนีออกไปจากจุดที่เป็นอยู่แบบสุด ๆ
Somewhere – I’ll Try Anything Once
โซเฟียเขยิบมาเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อลูกบ้าง แต่ก็ไม่ใช่พ่อลูกทั่วไปเมื่อนี่คือเรื่องราวของ Johnny Marco ดาราชื่อดังขวัญใจมหาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมหรู Chateau Marmont ในฮอลลิวู้ด แล้ววันนึง Cleo ลูกสาววัย 11 ขวบของเขา (รับบทโดย Elle Fanning) กับอดีตภรรยาก็มาปรากฏตัวแบบที่เขาก็ไม่ทันคาดคิด ในช่วงที่ชีวิตเคว้งคว้างว่างเปล่า เขาก็จะได้เรียนรู้ถึงอีกช่วงจังหวะของชีวิตในการเติบโตและแสดงความรับผิดชอบในฐานะพ่อ แล้วเราก็จะได้ดูว่าการมาถึงของคลีโอ้จะทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปทางไหน จะทำหน้าที่ได้ดีพอไหม หรือสรุปแล้วจะเลือกทางไหน
สำหรับเราแล้ว เรื่องนี้เป็นอีกความ heartbreaking ของครอบครัวที่เปลี่ยวดายและสวยงาม การแสดงของ แอล แฟนนิ่ง ในวัยนั้นก็น่าจับตามองไม่แพ้พี่สาวของเธอ Dakota Fanning ที่เคยโด่งดังมาก่อนหน้า และนี่น่าจะเป็นหนังเรื่องแรก ๆ ที่น้องได้แจ้งเกิดด้วย
และแน่นอน เรื่องนี้อุดมไปด้วยเพลงประกอบจากวงร็อกระดับตำนาน ทั้ง Foo Fighters, T.Rex, Kiss, Julian Casablancas แห่ง The Strokes แถมยังมี Cool จาก Gwen Stefani ที่แม้ไม่ได้สื่อความหมายอะไรในเรื่องแต่ชั้นรักเพลงนี้เลยอยากพูดถึง ฮ่า และมี Phoenix ซึ่งนอกจากจะใช้เพลง Love Like A Sunset ในนี้แล้วยังรับหน้าที่เขียน score ให้ด้วย ส่วนเพลงที่เราจะนำเสนอเห็นจะไม่พ้น I’ll Try Anything Once ที่เป็นเหมือน alternate version ของ You Only Live Once ที่ทุกคนจำกันได้อย่างขึ้นใจในฉากน่ารัก ๆ ฉากน้ี
The Bling Ring – Crown On the Ground
หนังสุดแซ่บที่ได้เค้าโครงจากเรื่องจริง จากกรณีที่เด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งตั้งใจไปบุกบ้านของดาราดังใน Beverly Hills ในวันที่พวกเขาไม่อยู่ โดยเช็กเอาจากในเน็ตพวกตารางงานหรืออะไรก็ว่าไป มีทั้ง Lindsey Lohan, Audrina Patridge, Paris Hilton, Megan Fox, Orlando Bloom (ซึ่งเป็นผู้เสียหายในเรื่องจริง!) ก็ไปค้นข้าวของ ยักยอกทรัพย์ แล้วพอได้เงินมาก็ไปช็อปแหลก อัพลงโซเชียล อวดรวยกันเก๋ ๆ จนเป็นที่ฮือฮาในเน็ตอยู่ช่วงนึงเลย แต่เมื่อกล้องวงจรปิดจากบ้านของหนึ่งในผู้เสียหายถูกนำออกมาเผยแพร่ก็ทำให้ตำรวจตามจับวัยรุ่นกลุ่มนี้ได้ในที่สุด
เป็นหนังที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ก็แค่วัยรุ่นใจแตกงัดบ้านดารา แต่เอาจริงมันก็สะท้อนอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับการให้ค่าแบบผิด ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ในยุคสมัยนี้ ซึ่งโยงไปถึงความต้องการมีตัวตนในสังคมของเด็กกลุ่มหนึ่ง ฉันรู้ว่าถ้าขโมยยังไงก็โดนจับ แล้วคนก็จะเห็นฉันในข่าวเพราะว่าฉันไปบุกบ้านคนดัง ซึ่งฉันก็จะดังเพราะมีชื่ออยู่ข้าง ๆ กับคนดังพวกนั้นบนหน้าหนังสือพิมพ์! ถ้าได้ดูตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นพฤติกรรมและการมองโลกของเด็กแต่ละคนที่ส่อแววต้นเหตุของปัญหา อีกอย่างการได้ดู Emma Watson พลิกบทบาทจากแม่มดน้อยสุดเนิร์ดใน Harry Potter เป็นเด็กแซ่บอยากรวยสวยเด่นกับแก๊งเพื่อน ๆ ในเรื่องนี้ก็เพลินดีเหมือนกัน
ส่วนเรื่องเพลงนี่ ใครเป็นแฟนฮิปฮอป r&b อิเล็กทรอนิก คงจะแฮปปี้อยู่ไม่น้อย ให้ฟีลเด็ก west coast ขับคาดิแล็กเปิดประทุนเลียบหาดตอนพระอาทิตย์ตกสุด ๆ ทั้ง Azealia Banks, M.I.A, Kanye West, Frank Ocean, Aviici, deadmau5 และแน่นอน งานจาก Phoenix (ต้องมี ไม่มีไม่ได้ ถถถ) แต่ที่เหวอจริง ๆ คือการมีอยู่ของเพลงจากวง krautrock จากเยอรมนีอย่าง Can ที่ชื่อ Halleluwah และ Locomotion ของ Plastikman การเลือกเพลงมาอยู่ในหนังของเธอนี่มันร้ายกาจจริง ๆ ส่วนเพลงที่เราขอเสนอขอยกให้เพลงจากต้นเรื่องของ Sleigh Bells กับเสียงกีตาร์แสบแก้วหูและเบสแตก ๆ นั้นยังดังก้องอยู่ ใน Crown on the Ground โคตรเผ็ด โคตรสนุก
ว่าแล้วก็อยากกลับไปย้อนดูทุกเรื่องใหม่อีกรอบเลย เพราะการได้เขียนถึงหนังของ Sofia Coppola จนจบนี่ก็เหมือนได้เรียนรู้ตัวเองมาพอสมควรเหมือนกันว่าหนังของเธอมีผลกับชีวิตของเรายังไง และพูดแทนความรู้สึกในช่วงวัยรุ่นของเราไว้ว่าอะไรบ้าง
ตามไปฟังเพลย์ลิสต์อื่น ๆ ของ Sofia Coppola ได้ ที่นี่ นะ เธอเจ๋งจริง