The Punk Syndrome ดาวน์ซินโดรมผู้สื่อสารกับโลกผ่านเพลงพังก์
- Writer: Peerapong Kaewtae
ไม่น่าเชื่อว่าประเทศเล็ก ๆ อย่างฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่นิยมดนตรีที่รุนแรงดุดันทั้งเดธเมทัล เฮฟวี่เมทัล แถมยังส่งออกวงดนตรีแถวหน้ามากมายสู่ชาร์ตเพลงทั่วโลกมาแล้ว ดนตรีพังก์เองก็เป็นอีกแขนงหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ยิ่งตอนนี้ไม่มีใครในฟินแลนด์ไม่รู้จักวงพั้งก์อย่าง Pertti Kurikan Nimipäivät ที่เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าความนิยมอันรวดเร็วหรือฝีมือของพวกเขานั้นคือ วงนี้ถูกฟอร์มขึ้นมาโดยคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมสี่คน
The Punk Syndrome พาคุณไปใช้ชีวิตกับสมาชิกทั้งสี่ของวง Pertti Kurikan Nimipäivät ช่วงหนึ่ง ทั้งชีวิตประจำวันแต่ละคน สิ่งที่สนใจ การซ้อมดนตรีและการทัวร์คอนเสิร์ตในต่างแดน หนังเล่าเรื่องของพวกเขาประหนึ่งเขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ใช่แล้วครับ พวกเขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ค่อยแตกต่างจากเราเท่าไหร่เลย
เรามักคิดกันไปเองว่ากลุ่มคนที่มีอาการดาวน์ซินโดรมคือกลุ่มคนที่ทุพพลภาพ มีความสามารถที่ต่ำกว่าคนทั่วไปและต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่หนังได้ขจัดข้อครหาเหล่านี้ไปจนหมดสิ้น เพราะสมาชิกในวงทั้งสี่คนต่างใช้ชีวิตด้วยตัวเองและมีบ้านเป็นของตัวเองได้ เล่นดนตรีเองได้ แต่งเพลงเองได้ ซ้อมกันเองได้ ต่อให้มาจากการฝึกฝนหรือพรสวรรค์ก็ตาม แต่เขาสามารถเล่นดนตรีได้เหมือนกับคนปกติ และอาจทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ แถมหนังได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ดังเพราะน่าเห็นใจในสิ่งที่พวกเขาเป็น แต่พวกเขามีแฟนเพลงตัวจริงที่เข้าใจในดนตรีของพวกเขา ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ของวงมักจะพูดถึงชีวิตที่ดิ้นรนต่อสู้กับโชคชะตา หรือความกดดัน การถูกตีตราในสิ่งที่เราเป็น มันเลยกระแทกใจวัยรุ่นทุกคนอย่างลึกซึ้ง เพราะทุกคนน่าจะเคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นกันมาแล้ว แต่สิ่งที่ทั้งสี่คนอยากจะสื่อคือ พวกเขาโดนเรื่องแบบนี้ทุกวัน การเป็นดาวน์ซินโดรมกลายเป็นการจองจำพวกเขา ทำให้พวกเขาปลดปล่อยความรู้สึกผ่านเพลงพังก์ออกมาได้อย่างรุนแรง
เพลง Puhevika คือความอัดอั้นในชีวิตที่ถูกห้าม หรือถูกกีดกันทุกอย่างในสิ่งที่คนอื่นทำได้
หรือการเรียกร้องความเท่าเทียมผ่านเพลง Kallioon! ที่เสียดสีว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการประชาธิปไตย หรือปัจจัยสี่ แต่พวกเขาต้องการเพียงความเคารพกันซักนิดและเพลงร็อก!!
ฝีมือของพวกเขายังถูกการันตีด้วยการเป็นตัวแทนฟินแลนด์ไปแข่ง Eurovision เมื่อปี 2015 ด้วย ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นวงรายล้อมไปด้วยแฟนเพลงที่เกาะขอบเวทีและโยกไปกับพวกเขา นอกจากการทัวร์คอนเสิร์ตอันน่าประทับใจ หนังยังพาเราไปเห็นอีกหลายแง่มุมของชีวิตคนเป็นดาวน์ซินโดรมอีกด้วย ขอพูดถึงสมาชิกในวงทีละคนละกัน เพราะแต่ละคนช่วยเปิดมุมมองให้ผมเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับคนเหล่านี้ในแต่ละด้านต่างกันไป
ขอเริ่มที่ Pertti มือกีต้าของวง ซึ่งเป็นคนที่ผมชอบที่สุดในเรื่องเลย และน่าจะเป็นมิตรที่สุดในวง ลุงแกจะพูดมากตลอดเวลา ในช่วงแรกเราอาจรู้สึกแปลก ๆ กับแกเพราะยังไม่เข้าใจแก แต่เมื่อได้ไปงานวันเกิดของแกแล้ว ก็เข้าใจว่าแกเป็นคนแบบนี้ บุคลิกของแกเป็นแบบนี้ อีกทั้งแกเป็นคนที่น่ารักมาก มันเลยทำให้เรารู้สึกดีกับแกได้เร็วที่สุด แม้ลุงจะเป็นคนที่อ่อนไหวมาก แต่เมื่อแกผิดแกก็รู้และขอโทษ ลุงเป็นคนที่ทำให้ผมมองคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมเปลี่ยนไปได้จริง ๆ
คนที่สองคือ Kari ซึ่งเป็นนักร้องนำของวงและเป็นผู้แต่งเพลงให้กับวง สำหรับผม แกคือคนที่เรียกว่าอัจฉริยะได้จริง ๆ พรสวรรค์ในการแต่งเพลงของแกมันเจ๋งมาก เพลงทุกเพลงที่แกแต่งก็เอามาจากประสบการณ์ในการเป็นดาวน์ซินโดรมของแกเนี่ยแหละ ทั้งสิ่งที่แกรู้สึก หรือสิ่งที่คนอื่นทำกับแก ผมเลยรู้สึกอินกับเพลงทุกเพลงได้จริง ๆ เพราะเพลงทุกเพลงมันมีที่มาที่เห็นได้ชัดมากในหนัง แถมแกยังได้หมั้นกับสาวที่แกรักด้วย น่าอิจฉามาก ต่อให้แกเป็นแบบนี้แต่แกก็ยังได้รู้ว่าความรักเป็นยังไง ใครจะคิดว่าคนเป็นดาวน์ซินโดรมจะมาได้ไกลขนาดนี้
คนต่อมาคือ Sami มือเบส เป็นคนที่เพื่อนร่วมวงเกลียดมาก เพราะแกนิสัยแย่จริง ๆ เหมือนจะเป็นตัวแทนของคนเป็นดาวน์ซินโดรมที่นิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ผมประทับใจในตัวแกคือ แกมีส่วนร่วมในการเมืองของประเทศฟินแลนด์ด้วย เรามักมองข้ามสิทธิของคนเป็นดาวน์ซินโดรมตรงนี้ไปว่าเสียงของพวกเขาไม่มีค่า หรือมองว่าพวกเขาไม่สมควรได้สิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง แต่ในประเทศฟินแลนด์กลับเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้มีบทบาทในการเมืองด้วย อีกเรื่องนึงคือความสามารถในการเข้าสังคมของแก อย่างการไปแข่งคนที่แข็งแรงที่สุด แน่นอนว่าแกต้องแพ้มาอยู่แล้ว แต่ความพ่ายแพ้ก็ทำให้เขานั่นได้สิทธิ์เหมือนคนปกติแทบทุกอย่างแล้ว
ส่วนคนสุดท้ายคือ Toni มือกลองของวง ซึ่งน่าจะเป็นคนที่มีอาการดาวน์มากที่สุดในกลุ่ม แม้จะดูเป็นคนที่หัวช้า แต่ก็ไม่มีพิษไม่มีภัยอะไรในแววตาใสซื่อนั่นเลย ความน่ารักของเขาถูกเล่าผ่านพ่อแม่ซึ่งเข้าใจลูกตัวเองอย่างดี หนังพาเราไปดูช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตของเขา พ่อแม่ของเขาต้องการให้เขาไปอยู่ group home หรือบ้านพักสำหรับสงเคราะห์คนเป็นดาวน์ซินโดรม แต่ Toni ยืนยันที่จะอยู่บ้าน สิ่งที่พ่อแม่ของเขาทำไม่ใช่การบังคับเขา แต่พยายามอธิบายเหตุผล พร้อมพาเขาไปดู group home ที่เล็งไว้ ให้ Toni เป็นคนตัดสินใจเอง อีกทั้ง Toni มีอิสระในการซ้อมกลองในบ้านซึ่งไม่ได้เก็บเสียงอะไรเลย โดยคุณพ่อคุณแม่ก็แค่ใส่ที่ครอบหูกันเสียงแทน เป็นการสนับสนุนลูกตัวเองในแนวทางที่น่ารักดี
ที่ผมประทับใจที่สุดในเรื่องมีอยู่สองฉากครับ ซึ่งเป็นฉากที่เคารพความเป็นมนุษย์ต่อคนเป็นดาวน์ซินโดรมมาก ๆ เลย ฉากแรกคือฉากที่ Kari สูบบุหรี่ครับ เหมือนจะเป็นแค่ฉากธรรมดา ๆ ฉากหนึ่ง แต่การที่คนเราจะสูบบุหรี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคน และ Kari ได้สิทธิ์นั้นเหมือนคนทั่ว ๆ ไป ทำให้เห็นว่าครอบครัวก็ปฎิบัติกับเขาเหมือนคนปกติคนหนึ่ง อีกฉากหนึ่งคือฉากที่ Kari อยากรู้ว่าเด็กเกิดมาได้ยังไงครับ เขาเลยเอาหนังโป๊ให้เขาดู ใช่ครับ มันคือพฤติกรรมปรกติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของเรา เขาไม่จำเป็นต้องให้ใครมาคอยกะเกณฑ์ว่าอะไรดี ไม่ดี เขามีสิทธิ์ที่จะได้ทำทุกอย่างที่เขาอยากทำ เห็นภาพชัดเลยว่าถ้าเราปฎิบัติกับคนเป็นดาวน์ซินโดรมเหมือนคนคนหนึ่ง เขาก็สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปรกติได้
ด้วยข้อจำกัดในการแสดงออก เราเลยมักเหมารวมว่าคนเป็นดาวน์ซินโดรมจะด้อยทางด้านจริงใจด้วย สิ่งที่ Kari ได้รับมันช่างคอนทราสต์กับสิ่งที่ Pertti ได้รับ เพราะในหนังเขาเล่าให้ฟังว่าเขาเป็นคนสุดท้ายที่ได้รู้ว่าแม่ของเขาเสียไปตั้งนานแล้ว โดยเข้าใจมาตลอดว่าแม่ของเขานอนอยู่โรงพยาบาล แถมไม่ได้รู้จากปากคนในครอบครัวด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เขาเศร้ามากและเขาก็ร้องไห้ออกมา เรามักคิดว่าเรื่องพวกนี้คนเป็นดาวน์ซินโดรมจะรับเรื่องกระทบกระเทือนใจพวกนี้ไม่ได้ แต่ความจริงแล้วไม่มีใครรับเรื่องพวกนี้ได้และทำใจได้ทันทีหรอก คนเหล่านี้ควรจะมีสิทธิ์ที่ได้รู้ว่าคนที่เขารักมากที่สุดจากเขาไปแล้วเหมือนคนทั่วไปตะหาก ทุกคนไม่ควรมีสิทธิ์ตัดสินแทนกลุ่มคนที่มีอาการดาวน์ว่าอะไรดี หรือไม่ดีสำหรับพวกเขา
สิ่งที่เราต้องสนใจคือ พวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้างและเราจะสนับสนุนพวกเขาได้อย่างไร การที่สื่อนำเขามาเล่าแบบให้น่าสงสารไม่ได้ช่วยอะไร การให้เงินเขาไม่ช่วยอะไร ดราม่าไม่ช่วยอะไร สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการพัฒนาหรือฝึกฝนให้พวกเขาสามารถมีชีวิตเหมือนคนปกติได้ต่างหาก ถ้าคุณสงสารเขาครั้งหนึ่ง เขาจะอิ่มกายอิ่มใจแค่ครั้งเดียว แต่ถ้าคุณสอนให้เขาเป็นมนุษย์ เขาจะใช้ชีวิตได้เหมือนคุณและพัฒนาประเทศชาติไปกับคุณ และหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าคนเป็นดาวน์ซินโดรมไม่ได้ต้องการอะไรเลย แค่เคารพสิทธิของพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็พอ