Quick Read ตาดูหูฟัง

รวมหนัง Musical ร่วมสมัย กับเพลงที่ใคร ๆ ก็ร้องตามได้

  • Writer: Montipa Virojpan

เราอาจจะเคยชินกับหนังมิวสิคัลประเภทที่ใช้วงดนตรีออเคสตร้าบรรเลงหรือมีการขับร้องกันอย่างไพเราะเพราะพริ้ง เพราะหนังมิวสิคัลส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากละครเพลงบรอดเวย์ ไม่ก็เป็นหนังเล่าเรื่องยุคเก่าที่ผู้คนยังรู้จักแต่เพลงคลาสสิก โอเปร่า หรือมีเครื่องดนตรีคลาสสิกร่วมบรรเลง (‘Les Miserables’, ‘My Fair Lady’, ‘The Phantom of the Opera’)

แต่สมัยนี้มีผู้กำกับบางคนที่เล็งเห็นว่าน่าจะเอาศาสตร์การเล่าเรื่องในภาพยนตร์ร่วมสมัยมาผนวกเข้ากับความเป็นมิวสิคัลแบบที่เราเห็นได้ใน ‘Wizard of Oz’, ‘Singing in the Rain’ หรือ ‘The Sound of Music’ จะไม่ใช่เพลงที่ร้องเล่นเต้นระบำด้วยเพลงแจ๊สหรือเพลงคลาสสิก แต่อาจเป็นเพลงร็อกแอนด์โรล นิวเวฟ หรือป๊อปสดใสแบบที่เด็กรุ่นใหม่ร้องตามได้ มาดูกันดีกว่าว่ามีหนังเรื่องไหนบ้าง

Across the Universe

นอกจากชื่อหนังเองแล้ว ชื่อของตัวละครหลาย ตัวในเรื่องนี้ก็มาจากเพลงของ The Beatles แม้แต่สถานที่ เรื่องราวต่าง  ก็ยังซ่อนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่มีความเกี่ยวข้องกับวงอยู่เนือง แถมมีตัวละครที่อ้างอิงถึงไอคอนของยุคนั้นทั้ง Jimi Hendrix หรือ Janis Joplin และที่ขาดไม่ได้เลยคือในพาร์ตที่เป็นมิวสิคัลก็มีเพลงของ The Beatles อีกกว่า 30 เพลงที่ถูกนำมา re-arrange เพื่อใช้ดำเนินเรื่อง แถมยังเลือกสรรมาเล่าโยงแต่ละฉากได้อย่างพอเหมาะพอเจาะไปหมด

เรื่องราววิพากษ์สังคมอเมริกาในยุค 60s ที่เล่าผ่านความสัมพันธ์หนุ่มสาว จู๊ด (มาจากเพลง Hey Jude) ชายหนุ่มจากลิเวอร์พูล (ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ The Beatles) ระหกระเหินมาอเมริกาและได้พบกับ ลูซี่ (มาจากเพลง Lucy in the Sky with Diamondห) สาวอเมริกันที่ได้รับความบอบช้ำจากสงครามเวียดนามในสมัยนั้น เมื่อดนตรีสานสัมพันธ์ให้เพื่อนฝูง มิตรภาพ และความรักก่อตัวขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง พวกเขาจึงตัดสินใจเข้าสู่ขบวนการต่อต้านสงคราม แต่ก็มิวายที่วันนึงพวกเขาก็จำต้องแยกจากกันด้วยความไม่เข้าใจ แต่สุดท้ายแล้วจู๊ดก็ตัดสินใจกลับมาหาลูซี่อีกครั้งคงเป็นเพราะ All You Need Is Love

สำหรับเพลงที่เราชอบในหนังเรื่องนี้เห็นจะไม่พ้น Strawberry Field Forever, Because, I Am the Walrus (ที่มี Bono วง U2 มาเล่นด้วย) อีกอย่างที่ไม่อยากให้พลาดเรื่องนี้เพราะหนังสวยมากจริง และนี่คือฉากในดวงใจของเรา

God Help the Girl

ภาพยนตร์ฉากหน้าน่ารัก ทั้งนักแสดงหน้าตาน่ารัก เพลงน่ารัก คอสตูมน่ารัก แต่เนื้อหาไม่ได้สดใสแบบลูกกวาดที่ฉาบไว้ โดย Stuart Murdoch ฟรอนต์แมนของวง Bell & Sebastian มาเขียนบทและกำกับเอง แถมยังใช้เพลงของวงตัวเองมาช่วยเล่าเรื่องของเด็กวัยรุ่นในกลาสโกว ได้แก่ อีฟ เจมส์ และแคสซี รับบทโดย Emily Brown, Olly Alexander แห่งวง Years & Years และ Hannah Murray ที่โด่งดังจากซีรีส์วัยว้าวุ่นอังกฤษชื่อดัง Skins

เราจะได้ตามติดชีวิตของพวกเขาทั้งสามในการตั้งวงดนตรีที่เมืองแห่งนี้ แต่ขณะเดียวกันเราจะได้พบความเว้าแหว่งในชีวิตของตัวละครที่ค่อย คายออกมา อย่าง อีฟ ที่ต้นเรื่องเราก็ได้เห็นว่าครอบครัวของเธอไม่ค่อยอบอุ่น ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะเธอเป็น anorexia แต่เธอก็มีความสามารถในการแต่งเพลงและร้องเพลง เธอไม่อยากติดอยู่ที่นี่จึงตัดสินใจหนีไปทำตามความฝัน เรียกว่าเป็น coming of age ที่ชวนฝันแต่ขณะเดียวกันก็น่าหดหู่ ดังที่เล่าผ่านเพลงอินดี้ป๊อปจังหวะสนุกสดใส แต่เนื้อเพลงของแต่ละเพลงกลับสื่อถึงความเหงาและโดดเดี่ยว ไร้คนเข้าอกเข้าใจ หลาย ฉากเราก็จะได้เห็นมิตรภาพของเพื่อน การแอบรัก และความหวังดีที่มอบให้โดยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน

เพลงที่ชอบในเรื่องนี้ก็ไม่พ้นเพลงขื่อเดียวกับเรื่องแน่ God Help the Girl, Come Monday Night, I Just Want Your Jeans ส่วนฉากที่เราชอบที่สุดคือฉากนี้

La La Land

อีกเรื่องในดวงใจของหลาย คน แม้ฟอร์มของเรื่องจะมีความเป็นมิวสิคัลอยู่ในหลายฉาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้หนังดูเชยแต่อย่างใด ทั้งยังชุบชีวิตเพลงแจ๊สขึ้นมาใหม่ให้สดใสร่วมสมัย หรือเอาขนบของมิวสิคัลที่คนรู้สึกว่าเข้าถึงยากมาทำให้จับต้องได้มากยิ่งขึ้น จนได้รับการเสนอชื่อในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงยอดเยี่ยม เพลงยอดเยี่ยมจากหลายเวที นอกจากนี้ Ryan Gosling ก็ยังหัดเล่นเปียโนให้เซียนขึ้นเพื่อมารับบทหนุ่มนักดนตรีที่อยากเปิดบาร์แจ๊ส และเป็นไม่กี่เรื่องที่เราได้ยิน Emma Stone ร้องเพลงด้วย เพราะมาก

หนังเล่าเรื่องความรักของ มีอา และ เซบาสเตียน ที่กำลังงอกงามเบ่งบานภายใต้แสงแดดเจิดจ้าในลอสแอนเจลิส แต่เรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า แม้จะรักกันขนาดไหนแต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายให้กับการวิ่งไล่ความฝัน ถึงพล็อตประมาณนี้จะถูกเล่าซ้ำมาประมาณห้าร้อยล้านรอบแล้ว แต่ด้วยฝีมือของผู้กำกับ Damien Chazelle ก็ยังสามารถหาแง่มุมใหม่ มาดำเนินเรื่องให้เราเพลิดเพลินจำเริญใจได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และเสียน้ำตาให้ไปหลายแหมะเหมือนกัน อินโว้ยยยย

เพลงที่ทุกคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ City of Stars ส่วนเพลงที่เราอยากแนะนำให้ไปฟังกันคือ Another Day Of Sun, A Lovely Night, Fools Who Dream แต่ที่แน่ คือชอบการเรียบเรียงเพลงโดยสามารถหยิบธีมซองมาสอดแทรกไปได้ในทุกเพลงอย่างแยบยลเลยทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีเพลงไหนฉีกไปจากโทนของเรื่องแม้แต่น้อย

Les Chansons d’Amour

หนังฝรั่งเศสหนึ่งเดียวในลิสต์ที่เรามองว่าน่าสนใจมาก ได้รับเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2007 แม้จะไม่ค่อยโด่งดังในบ้านเราแต่ก็ยังมีคนตาไวไปหาดูมาได้แล้วเอามาบอกเล่าให้เราฟัง (กราบ) นอกจากจะเป็นการเล่าเรื่องด้วยดนตรีร่วมสมัยที่เขียนโดย Alex Beaupain ที่เพราะมาก แล้ว ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้ได้อิทธิพลจากหนังฝรั่งเศสแบบที่ Jean-Luc Godard กำกับอะไรเทือกนั้น การที่เราจะได้เห็นฟุตเทจภาพนิ่งเล่าเรื่องสลับกับการดำเนินเรื่องปกติ หรืออยู่ดี ตัวละครเคลื่อนที่แบบเหนือจริง (คนอื่นเดินปกติ แต่อีกคนเคลื่อนถอยหลังแบบสมูธ เพราะยืนบนดอลลี่) ไปจนถึงการให้เราดูเหตุการณ์คู่ขนานที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับ narrative ของอีกเหตุการณ์หนึ่ง จะเห็นการหันมามองกล้องตรง ของนักแสดงเป็นพัก ซึ่งคือกิมมิกของ French New Wave หมดเลย อย่างฉากอ่านหนังสือบนที่นอนก็ทำให้นึกถึง ‘Bed & Board’ ของ François Truffaut ที่เป็นผู้กำกับสายเดียวกันนั่นเอง

เรื่องราวว้าวุ่นของหนุ่มสาวในปารีส หนังแบ่งเป็นสามส่วน คือ The Departure, The Absence และ The Return ซึ่งเนื้อหาของทั้งสามส่วนก็ยังเป็นเส้นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ว่าถูกแบ่งตามลำดับเวลาของการเยียวยาจิตใจหลังจากการสูญเสียของอิสมาเอล โดยต้นเรื่องก็มีความอิรุงตุงนังประมาณนึงว่า อิสมาเอล เป็นแฟนกับจูลี่ แล้วอยู่ดี สองคนนี้ก็อยากทรีซั่มเลยได้ อลิซ เพื่อนร่วมงานของอิสมาเอลมาเป็นคู่ขาเพิ่มอีกคน แต่จนมาวันนึงจูลี่ก็เกิดอาการสับสนในตัวเอง ไม่รู้ว่าจริง รักอิสมาเอลหรือเปล่า แต่ก็แสดงอาการหึงหวงอิสมาเอลจากอลิซอยู่บ่อย ก็ต้องตามดูกันต่อว่าสามคนนี้จะจัดการความวุ่นวายนี้กันยังไง

บอกตรง ว่าสิ่งที่ทำให้อยากดูเรื่องนี้เห็นจะไม่พ้นเพลงเนี่ยแหละ ส่วนใหญ่เป็นป๊อป อัลเทอร์เนทิฟ ที่เขียนมาได้เท่เลย นักแสดงแต่ละคนก็ร้องเองทั้งหมด เพลงที่ชอบมาก ในเรื่องนี้ก็ได้แก่ Je n’aime que toi, Les yeux au ciel, J’ai cru entendre

Once

ใครที่เป็นสายโฟล์กคงไม่มีทางพลาดเรื่องนี้อย่างแน่นอน มิวสิคัลที่เล่าเรื่องของนักดนตรีสองคนในเมืองดับลิน ไอร์แลนด์ คนนึงเป็นหนุ่มนักดนตรีเปิดหมวกที่หัวใจบอกช้ำมาจากรักครั้งเก่า เล่นดนตรีหาเลี้ยงชีพไปวัน ที่หัวมุมถนน อีกคนคือสาวเช็กที่ย้ายมาอยู่ที่นี่พร้อมครอบครัวอย่างอัตคัด จนวันหนึ่งเธอได้เดินผ่านมาเจอเขาเล่นดนตรีอยู่ตรงที่ประจำ และทั้งคู่ก็รู้จักกันตั้งแต่วันนั้น แม้จะเริ่มจากการเอาเครื่องดูดฝุ่นมาให้เขาซ่อมก็ตาม

สิ่งที่เรารักสุด ในหนังเรื่องนี้คือความดิบ และเรียบง่าย แต่แอบซ่อนรายละเอียดน่ารัก ไว้ให้เราแอบอมยิ้มปนน้ำตาซึม หรือบางฉากก็รวดร้าวปวดหัวใจ ขนาดที่ Steven Spielberg เองยังเอ่ยปากชมใน USA Today ที่หนังเล็ก เรื่องนี้ได้ให้แรงบันดาลใจกับเขาอย่างมหาศาล เหตุผลหนึ่งน่าจะเป็นความสมจริงในอารมณ์ความรู้สึกที่คนดูเองก็ยังสัมผัสได้ ซึ่งบทเพลงในเรื่องนี้ก็เป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของพระนางเอง Marketa Irglova และ Glen Hansard พวกเขาเคยทำเพลงร่วมกันในนาม The Swell Season และส่งให้เพลง Falling Slowly ได้รางวัลเพลงออริจินัลยอดเยี่ยมในออสการ์มาแล้ว

เพลงที่เรารักในเรื่องนี้ Lies, Fallen From the Sky, Gold ส่วนฉากที่ดูกี่ทีก็น้ำตาซึมก็ต้องฉากนี้แล

Dancer in the Dark

ปิดท้ายด้วยหนังสะเทือนอารมณ์ของ Lars Von Trier ที่ได้ศิลปินตัวแม่แห่งวงการ Björk มารับงานแสดงชิ้นแรกในชีวิตของเธอ กับบท เซลม่า แรงงานอพยพชาวเช็กที่มาทำงานในโรงงานที่สหรัฐอเมริกา โดยมีลูกชายติดสอยห้อยตามมาด้วย นอกจากความเป็นอื่นของเธอแล้ว เธอพบว่าดวงตาที่มองไม่ชัดกำลังค่อย มืดบอดลง รวมถึงลูกชายของเธอก็กำลังประสบกับอาการคล้าย กันทำให้เซลม่าต้องดิ้นรนหาทางรักษาให้ลูกชายไม่ต้องเป็นแบบเธอ

หนังใช้วิธีเล่าเรื่องความแร้นแค้นแสนหดหู่สลับไปกับฉากมิวสิคัลเหนือจริง ที่เหมือนเป็นโลกในหัวของเธอที่เธอสามารถหลบหนีจากความโหดร้ายของชีวิต เธอได้ทั้งร้อง เต้น และมองเห็นสิ่งต่าง ได้อย่างใจ เธอมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักแสดงละครบรอดเวย์ โดยเฉพาะกับบทนำใน The Sound of Music อย่างที่เราจะได้เห็นเธอร้องเพลง My Favorite Things ในฉบับที่บีบคั้นจิตใจเหลือเกิน

อย่างที่เคยเขียนในโพสต์ นักดนตรีที่เคยทำเพลงประกอบหนัง ในเพจ ฟังใจ ก็จะพบว่า Björk รับหน้าที่เขียนเพลงทั้งหมดขึ้นมา รวมถึงแสดงและร้องเองในทุกฉาก ทำให้หลายคนพบว่าเธอคือบุคคลที่มีพรสวรรค์มากคนนึง หลาย เพลงในเรื่องนี้มีความเป็นดนตรีทดลอง industrial คือมีเสียงเครื่องจักร เสียงรองเท้ายางเสียดสีกับพื้น ถูกนำมาใช้เป็นบีตในเพลงต่าง ผสมกับออเคสตร้าและซาวอิเล็กทรอนิกได้อย่างแปลกใหม่น่าสนใจ และแน่นอนว่าความใหม่ของเพลงก็ขัดกับฉากหลังของเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 60s แต่นั่นก็เป็นความตั้งใจของผู้กำกับและศิลปินเองที่มองว่าไหน โลกที่มีเสียงดนตรีก็เป็นโลกในจินตนาการที่อะไรก็เกิดขึ้นได้

เพลงที่เราชอบจากเรื่องนี้มีเยอะมากจริง แต่ถ้าอยากให้ลองฟังก็มี Cvalda, I’ve Seen It All, In a Musical

จริง ยังมีอีกหลายเรื่องที่มีเพลงเพราะ ที่อยากแนะนำไปหามาดูกัน อย่าง ‘Hedwig and the Angry Inch’ ที่เล่าเรื่องนักดนตรี transgender ชาวเยอรมันที่อพยพมาทำตามฝันในอเมริกา หรือ ‘Grease’ หนังเก่าหน่อยปี 1978 แต่เท่ไม่หยอก หรือ ‘Mamma Mia’ ซึ่งก็มาจากมิวสิคัล แต่เพลงน่ารักมากเด้อ ใครมีเรื่องไหนเด็ด ก็เอามาแนะนำกันได้นะ

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้