Joe Hisaishi เบื้องหลังตัวโน้ตที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของ Studio Ghibli
- Writer: Geeraphat Yodnil
เชื่อว่าใครที่เป็นแฟนตัวยงของการ์ตูนภาพเคลื่อนไหวแล้วละก็ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รู้จักกับภาพฝันที่ถูกฉาบด้วยพื้นหญ้าเขียวชะอุ่ม ท้องฟ้าสีคราม เครื่องบิน แม่มด ปีศาจ สัตว์ประหลาดน่ารัก ๆ และความรักในมนุษย์ของค่ายจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง Studio Ghibli ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1985 โดย Hayao Miyazaki สตูดิโอที่สมบูรณ์แบบในทุก ๆ ด้านไม่เว้นแม้แต่ดนตรีประกอบ ซึ่ง Joe Hisaishi คือบุคคลเบื้องหลังคนสำคัญของหลาย ๆ ตัวโน้ตอันแสนวิจิตรเหล่านั้น
เขาคือหนึ่งในคอมโพสเซอร์คนสำคัญแห่งวงการภาพยนตร์และอนิเมะในช่วง 80s ของญี่ปุ่น มีเครดิตการทำดนตรีและเพลงประกอบกว่า 100 เรื่อง ความสามารถของโจถูกเปรียบเทียบในระดับเดียวกับ John Williams แห่ง Star Wars อยู่บ่อยครั้ง ถ้าคำถามของคุณคือ ‘ทำไม ?’ เราจะขออาสาเป็นคอนดักเตอร์จำเป็น (ถึงแม้ว่าจะไม่มีความสามารถด้านนี้เลย) โบกบาตองไปหาชายคนนี้ เพื่อให้เขาบรรเลงเรื่องราวชีวิตอันเต็มไปด้วยตัวโน้ตสนุก ๆ ให้ทุกคนได้รู้จักกันใน 3 2 1 … ปรบมือ !
Chapter 01 : First Note on His Hand
ก่อนจะเข้าเส้นชัยแห่งความสำเร็จเป็น ‘โจ ฮิไซชิ’ อย่างทุกวันนี้ เขาเกิดและเติบโตในนากาโนะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตอนปี 1950 โดยมีชื่อเดิมตามสูติบัติว่า Mamoru Fujisawa ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยด้วยเหตุผลที่เราจะเล่าหลังจากนี้
พออายุได้ 5 ขวบ โจ (ขอใช้ชื่อนี้เพื่อความไม่สับสนนะ) เลือกที่จะทำความรู้จักกับเสียงเพลงเป็นครั้งแรกด้วยการเลือกเรียนไวโอลิน เครื่องดนตรีที่เหมือนเขารู้แล้วว่าตัวเองต้องการจะเป็นอะไรตั้งแต่เด็ก และนับตั้งแต่วันนั้นชีวิตของเขาก็ไม่เคยอยู่ห่างจากดนตรีอีกเลย
เขยิบช่วงวัยไปข้างหน้าอีกนิด ณ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย โจเลือกใช้ชีวิต 4 ปีในนี้ให้ตัวเองด้วยการย้ายไปอยู่ที่เมืองทาชิคาวะชั่วคราว เพื่อเรียนต่อที่ Kunitachi College of Music มหาวิทยาลัยดนตรีที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น โดยในระหว่างเรียนนั้นโจมีความสนใจในเรื่องของดนตรีในแบบที่ไม่ได้แบ่งเป็นหมวดหมู่หรือประเภท เขาสนใจวิธีคิด วิธีเรียบเรียงของผู้แต่งเป็นหลักใหญ่ หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่มีผลต่อชีวิตการเขียนเพลงในเวลานั้นของโจคือวงดนตรีอิเล็กทรอนิกชื่อว่า Yellow Magic Orchestra ที่ Ryuichi Sakamoto คือหนึ่งในสมาชิกของวง วิธีการเรียบเรียงหลาย ๆ รูปแบบของโจล้วนรับอิทธิพลมาจากวงนี้เป็นส่วนใหญ่
Chapter 02 : When the Wind Blows
หลังสำเร็จการศึกษา โจเริ่มต้นอาชีพนักแต่งเพลงด้วยการให้เวลาของชีวิตส่วนหนึ่งทำดนตรีและเพลงประกอบให้ละครทีวีสมัยนั้น (โดยเริ่มเรื่องแรกตอน 1974 ด้วยอายุ 24 ปี) และอีกส่วนหนึ่งก็แต่งเพลงรวมถึงโปรดิวซ์อัลบั้มแรกของตัวเอง Mkwaju ซึ่งคลอดออกมาในปี 1981 โดยชื่ออัลบั้มมาจากภาษาสวาฮิลี (ภาษาหลักที่ใช้ในแถบแอฟริกาตะวันออก) ใช้เรียกแทนต้นมะขามในแอฟริกาที่เครื่องเพอร์คัสชันพื้นเมืองของที่นั่นล้วนทำมาจากมัน สิ่งที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้ของโจกลายเป็นที่พูดถึงและสร้างชื่อให้กับเขาในเวลานั้นที่นอกจากตัวเพลงข้างในแล้ว ธีมลับ ๆ ที่เขาแอบซ่อนเอาไว้อย่างการแต่งเพลงให้อยู่บนพื้นฐานของความหมายในตัวอักษร ‘m’ กับ ‘a’ จากชื่ออัลบั้มที่ถ้าเอามารวมกันว่า ‘ma’ ในภาษาญี่ปุ่นจะหมายถึง “ความว่างเปล่า” เพลงในอัลบั้มนี้จึงเต็มไปด้วยช่องว่างระหว่างโน้ตถึงโน้ต มีความมินิมอล ในช่องว่างก็เต็มไปด้วยซาวด์สังเคราะห์ระยิบระยับชั้นดีคลอกับเสียงเปียโนโน้ตสวย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ส่งมาถึงงานของโจในถัด ๆ มาทุกชิ้น
โจเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเรื่อย ๆ จากตรงนั้น และเป็นช่วงนี้เองที่ทำให้เขาสร้างชื่อใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้เรียกแทนตัวเองในวงการว่า ‘โจ ฮิไซชิ’ โดยมีที่มามาจากโปรดิวเซอร์ คอมโพสเซอร์ คอนดักเตอร์ และมือทรัมเป็ตคนดังของโลก ‘ควินซี่ โจนส์’ (Quincy Jones) คำว่า ‘Hisaishi’ ในตัวคันจิ อ่านเหมือนกับคำว่า ‘Kuishi’ ซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำว่า ‘Quincy’ มาก และพอปฏิทินพลิกเข้าสู่หน้าที่เขียนว่าปี 1983 ก็เป็นตอนเดียวกันกับที่บริษัทแผ่นเสียงแห่งหนึ่งมาชวนเขาไปทำดนตรีประกอบให้กับ ‘Nausicaä of the Valley of the Wind’ ผลงานวาดและกำกับชิ้นแรกของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิหลังจากนี้ การร่วมงานกันครั้งแรกและมิตรภาพของสองผู้เป็นตำนานในปัจจุบันเริ่มขึ้นจากตรงนี้
Chapter 03 : Joe and Hayao
โจกับฮายาโอะสนิทกันมากหลังจากการ์ตูนเรื่องนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี พอเข้าปี 1986 พวกเขาจึงตัดสินใจร่วมงานกันอีกครั้งใน ‘Laputa : Castle In The Sky’ ดนตรีประกอบแรกเริ่มเดิมทีของเรื่องนี้นั้นโจแต่งด้วยการใช้ซินธิไซเซอร์เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงหลัก แต่ถูกแก้ให้เอาไปทำใหม่ให้เป็นดนตรีรูปแบบซิมโฟนีออเครสต้า เพื่อให้งานสามารถขายในต่างประเทศได้ด้วย… ผลที่ออกมาคือร่างสุดท้ายที่โจแต่งมาดีมาก ทั้งปราณีต เต็มไปด้วยรายละเอียดของซาวด์สังเคราะห์ที่ถูดจัดวางอย่างดี ทั้งยังมีความเป็นมินิมอลในแบบที่เขาถนัดอีกด้วย เราอยากให้ทุกได้ลองฟัง theme song ของเรื่องที่ชื่อ The Girl Who Fell from the Sky แล้วจะเข้าใจว่าเราไม่ได้รู้สึกไปเองคนเดียว
2 ปีถัดมา (1988) ฮายาโอะ ได้สร้างหนึ่งในการ์ตูนเรื่องที่ผู้ชมหลงรักและจดจำได้มากที่สุดในโลกของจิบลิอย่าง ‘My Neighbor Totoro’ ส่วนในด้านของดนตรีนั้น โจได้กลับมาอาเรนจ์โดยการใช้ซินธิไซเซอร์อย่างที่เคยอยากทำก่อนหน้านี้อีกครั้งนึงในเพลง A Haunted House ซึ่งเป็นเพลงที่ทุกวรรคตั้งแต่วินาทีที่ 0.00 จนจบดูง่ายดายไปหมด แต่การวางซาวด์ในแต่ละจุดก็ยังคงกลมกล่อมตามสไตล์เหมือนเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถเรียบเรียงเพลงได้หลากหลายเหลือเกิน ลองไปฟังดูสิ
Chapter 04 : Island Song
นอกจากฮายาโอะกับจิบลิแล้ว โจยังได้มีโอกาสสร้างสีสันของชีวิตการทำงานด้วยการไปเป็นคอมโพสเซอร์ให้กับหนังอยู่หลายเรื่อง อีกหนึ่งในผู้กำกับที่เขาได้ทำงานร่วมด้วยหลายครั้งคือ Takeshi Kitano โจทำดนตรีประกอบให้หนังของทาเคชิที่ชื่อ ‘A Scene At The Sea’ (1991) เป็นเรื่องแรก สิ่งที่ต่างจากออกไปจากจิบลิคือโจได้นำรูปแบบของความเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกที่เขาเคยชื่นชอบตอนเรียนมหาวิทยาลัยมาใช้มากอย่างที่เคยมาก่อน (ขอเชียร์ให้ลองหาซาวด์แทร็คชิ้นนี้มาฟังกันดูนะ โน้ตของโจนี่คือเพราะสุด ๆ) ทั้งคู่ทำงานเรื่องสุดท้ายด้วยกันในเรื่อง ‘Dolls’ ตอนปี 2002 ซึ่งหลังจากนั้นโจก็ได้ไปทำดนตรีประกอบให้กับหนังอีกหลายเรื่อง (เราขอแนะนำ ‘Depatures’ ปี 2008 มาดู หนังดีมากกก) โจเคยให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการทำงานของตนกับผู้กำกับหนังเอาไว้ว่า “ผมจำเป็นที่จะต้องเข้าใจไอเดียของพล็อตเรื่องนั้น ๆ อย่างแจ่มแจ้ง แล้วต่อจากนั้นจึงไปพบกับผู้กำกับเพื่อเรียนรู้ความคิดของเขา เพื่อให้เข้าใจว่าเขาต้องการให้เราส่งความรู้สึกอย่างไรในแต่ละครั้งที่ตัวละครแสดงออกมา” ส่วนวิธีของการทำเพลงนั้นเค้าอธิบายถึงกระบวนการของตัวเองว่า “มันจะเริ่มเหมือนเดิมทุกครั้งกับเปียโน ผมใช้เทคโนโลยีนะแต่ไม่พึ่งพามัน มันควรจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานแต่ไม่ใช่ทั้งหมด”
Chapter 05 : A Road To Somewhere
หลังจากโตโตโร่แล้ว โจกับฮายาโอะก็กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งใน ‘Kiki’s Delivery Service’ ตอนปี 1989, ‘Porco Rosso’ ปี 1992, ‘Princess Mononoke’ ปี 1997 (ซึ่งเป็นเรื่องที่แฟนการ์ตูนของค่ายส่วนมากต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความสามารถในการเรียบเรียงเพลงของโจในเรื่องนี้มีความใกล้กับจอห์น วิลเลียมส์ที่สุดแล้ว) และในปี 2001 เรื่องถัดมานี้เองที่ทำให้ทั่วโลกต่างสามารถจดจำจิบลิและทั้งคู่ได้อย่างขึ้นใจ ฮายาโอะได้ให้กำเนิดโลกแห่งวิญญาณในโรงอาบน้ำ ‘Spirited Away’ ขึ้นมาและกลายเป็นมาสเตอร์พีซของเขาไปโดยทันที มันทรงคุณค่าถึงขนาดสามารถคว้าออสการ์สาขาการ์ตูนยอดเยี่ยมในปี 2003 ได้จนสำเร็จ และชุดโน้ตที่งดงามในเพลง One Summer’s Day จากปลายลิ่มเปียโนของโจก็กลายเป็นผลงานที่โลกจดจำเขาได้มากที่สุดไปโดยปริยาย
“มันคงจะดีนะ ถ้าหนังเรื่องโปรดที่เราดูมีตอนต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้พอได้รู้ว่าชีวิตของตัวละครที่เรารักเป็นอย่างไรกันบ้าง” แต่ก็นั่นล่ะ ถ้าคุณได้ดูปฐมบทแล้วก็ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างนั้นมีปัจฉิมมบทสร้างไว้รอเสมอไม่เว้นแต่ชีวิตจริง
หลังคว้ารางวัลไปได้แค่ปีเดียว ทั้งคู่ก็ปล่อยงานต่อมาทันทีในปี 2004 นั่นคือ ‘Howl’s Moving Castle’ อีกหนึ่งเครดิตของโจที่เต็มไปด้วยเพลงช่องว่างเยอะ ๆ โน้ตสวย ๆ พ่วงด้วยความยิ่งใหญ่จากเครื่องสายและเครื่องเป่าแบบวงออเครสตร้า
ปี 2008 ถ้าใครติดตามจิบลิในเวลานั้น คงจะจำตัวละครเงือกจิ๋วแสนน่ารักชอบร้อง ‘ป่อนโย๊ะ ป่อนโย๊ะ’ อย่าง ‘โปเนียว’ ที่มาจาก ‘Ponyo’ กันได้อย่างแน่นอน ซึ่งเพลงของเรื่องเป็นงานคอมโพสเซอร์ที่โจได้แรงบันดาลใจมาจากดนตรีฝั่งอเมริกาที่เขาเคยกล่าวไว้ว่าเขาภูมิใจกับมันมาก ถ้าอยากรู้ว่าอเมริกายังไงก็ลองเอาลิงก์ที่เราแปะไว้ให้ไปฟังกันดูเลย
Chapter 06 : A Journey
เราเชื่อว่าถ้าหากพูดถึงปี 2013 ของจิบลิ เหล่าแฟน ๆ ก็คงจะจำกันได้ดี เพราะมันเป็นปีที่ ‘The Wind Rises’ ออกฉาย และเป็นปีที่ฮายาโอะบอกกับทุกคนด้วยตัวของเขาเองว่าจะขอเกษียณจากวงการแล้ว
แน่นอนว่าโจได้รับหน้าที่เดิมอย่างที่เขาได้รับมาจากเพื่อคนนี้ตลอดหลายสิบปี สำหรับใครที่ดูแล้วก็คงจำได้ว่าตัวการ์ตูนเล่าถึง ‘จิโระ’ เด็กหนุ่มที่ไฝ่ฝันจะเป็นช่างสร้างเครื่องบินผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคต และส่วนหนึ่งของตัวละครนั้นเบสออนมาจากชีวิตจริงของฮายาโอะเอง
โจสามารถสร้างเสียงเพลงข้างหลังภาพฝันของฮายาโอะได้สวยงามไม่แพ้ข้างหน้าเลย เขาให้ความใส่ใจกับความมินิมอลในหนังเรื่องนี้เอามาก ๆ ยิ่งฟังยิ่งรู้สึกเหมือนสายลมกำลังพัดผ่านตัวเราพร้อมกับหอบเรื่องราวอะไรบางอย่างจากไปด้วย ฮายาโอะเคยให้สัมภาษณ์ถึงโจเอาไว้ว่า ในสายตาของเขาเองมองเห็นชายคนนี้เป็นคนที่ปราณีต ย้ำคิดย้ำทำจนสุดท้ายงานศิลปะของเขาก็ออกมาสมบูรณ์แบบจริง ๆ ส่วนทางด้านโจก็พูดถึงโลกของจิบลิที่เขาเคยสร้างร่วมกับชายคนนี้เอาไว้ว่า “ผลงานแทบทุกชิ้นของเขาเต็มไปด้วยฉากเครื่องบินเสมอ และการบินก็เป็นเสมือนความฝันอย่างหนึ่งที่มนุษย์อยากจะทำได้ ผมจึงพยายามเชื่อมต่อกับความรู้แห่งความหวังเหล่านั้น ทำเพลงในซีนนั้นให้ช้า ๆ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับสิ่งที่อยู่ในช่องว่างระหว่างการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น”
ส่วนเรื่องของการเกษียณ ด้วยมิตรภาพและการร่วมงานกันในงานทุกชิ้นของฮายาโอะแล้ว เราเชื่อว่าความรู้สึกของโจคงไม่เกินจากที่คนคาดคะเนเอาไว้นัก (ในบทสัมภาษณ์เดียวกัน) เขาบอกว่าการเกษียณของฮายาโอะเป็นการปิดหน้าหนังสือบทหนึ่งของชีวิตเขาลงไปด้วย แต่มันก็ทำให้เขาได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญจากผู้กำกับทุกคนที่เขาเคยร่วมงานด้วย
มันทำให้ผมเข้าใจว่าการเป็นผู้กำกับนั้นเป็นงานที่หนักมากขนาดไหน มันทำให้การดูหนังของผมไม่ได้โฟกัสแค่มุมมองของคอมโพสเซอร์อย่างเดียวอีกแล้ว แต่ผมยังมองในมุมของผู้กำกับด้วย ผมไม่ต้องการทำงานกับผู้กำกับที่ใช้ดนตรีเพียงเพื่อเป็นซาวด์เอ็ฟเฟ็กต์ประกอบฉากอีกต่อไป แต่ผมต้องการทำงานกับคนที่ให้คุณค่ากับดนตรีอย่างที่มันสมควรจะได้รับจริง ๆ
เราเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ Joe Hisaishi มาถึงจุดนี้คือเขาตกหลุมรักในสิ่งที่ตัวเองทำมาทั้งชีวิต เขายินดีที่จะลองอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเสมอเพื่อเติบโตขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเขาก็ให้เกียรติกับผู้คนที่เขาทำงานเอามาก ๆ เราหวังว่าต่อจากนี้ไประหว่างที่ดูการ์ตูนของจิบลิคุณจะสามารถได้ยินเสียงที่โจสร้างเอาไว้ได้อย่างชัดเจนขึ้นนะ : )
อ้างอิง
http://www.imdb.com/name/nm0386749/?ref_=nv_sr_1
http://www.nausicaa.net/wiki/Joe_Hisaishi
http://www.scmp.com/lifestyle/arts-entertainment/article/1780283/studio-ghibli-composer-joe-hisaishi-talks-about-how
https://pitchfork.com/thepitch/1405-the-john-williams-of-japan-joe-hisaishi-in-9-songs/
https://en.wikipedia.org/wiki/Studio_Ghibli