‘Captain Marvel Brought Me Here’ ขอกรี๊ดให้ความเท่จากยุค 90s ในหนังเรื่องนี้
- Writer: Montipa Virojpan
Marvel ค่ายหนังสือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ยักษ์ใหญ่ของอเมริกาที่ตีคู่มากับ DC Comics ได้ประกาศจะสร้างภาพยนตร์เรื่อง Captain Marvel ขึ้นเมื่อปี 2014 โดยตัวละครหลักของเรื่องจะไม่ใช่ Mar-Vell แต่เป็น Carol Danvers อดีตพลเรือนกองทัพอากาศสหรัฐ ที่หลังเกิดการระเบิดระหว่างร่วมปฏิบัติภารกิจกับ Mar-Vell ซึ่งเขาพยายามช่วยชีวิตแครอลด้วยการให้เธอซึมซับพลังงานมหาศาลจากอารยธรรมครีที่อยู่ในร่างของเขา และกลายมาเป็น ‘Ms. Marvel’
ต่อมาในปี 1977 แครอลมีหนังสือการ์ตูนที่ตัวเองแสดงนำครั้งแรก แต่จากความเคลื่อนไหวทางสิทธิสตรีที่มีความเข้มข้นขึ้น และทำให้เกิดข้อกังขาในการใช้คำว่า ‘miss’ นำหน้าและสุดท้ายก็ถูกนำออกไป ทำให้ทุกคนรู้จักแคโรล เดนเวอร์ส ในฐานะ Captain Marvel ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งทางค่ายก็ยกให้เธอเป็นซูเปอร์ฮีโร่หญิงที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาลมาร์เวลด้วยนะ
จนมาถึง ‘Captain Marvel’ ฉบับภาพยนตร์ปี 2019 นี่ จาก teaser นี่ยอมรับว่าอยากดูมากเพราะเป็นการปูด้วยบรรยากาศเมืองลอสแอนเจลิสช่วงยุค 90s หรือมาดเท่ของกัปตันมาร์เวลตอนที่ยังเป็นแครอล เดนเวอร์ส ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกองทัพ ขับเครื่องบิน ใส่แจ๊กเก็ตหนัง แว่นทรง aviator คือเท่มาก รวมถึงการลำดับภาพนี่ก็รู้เลยนะคะว่าเรื่องนี้มาทางเฟมินิสต์แน่นอน และที่น่าจะถูกใจแฟน Marvel เพราะมีการปรากฏตัวของ Fury จาก ‘The Avengers’ ตอนยังอยู่หน่วย S.H.I.E.L.D. ที่มีผมและยังไม่ใส่ผ้าคาดตา และมีนักแสดงขวัญใจวัยรุ่นยุคนั้นอย่างพี่ Jude Law มาร่วมแสดงด้วย หรือถ้าใครได้เข้าไปดู official website ของหนัง โอ้โห นี่มัน interface เบราเซอร์รุ่น Windows 95 ชัด ๆ เรียกว่าครบองค์ที่หนังอยากจะปั้นความนอสตาลเจียยุค 90s เลยแหละ
แต่หลังจากที่ไปดูมาแล้วเนี่ย ใครที่คาดหวังว่ามันจะต้องมันกดดัน เครียด ขับเคี่ยว เบอร์นั้น อาจจะอกหักกันได้ เพราะมันมีความเป็นการ์ตูนมาก ๆ เช่นกันกับตอนดู ‘Wonder Woman’ ที่ตอนนั้นคาดหวังสุด ๆ เลยไม่คาดหวังแล้วกับเรื่องนี้ ก็เลยดูเอาเพลิน ๆ ขำ ๆ บันเทิงกับมุขที่ไม่คิดว่ามันจะเล่น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราชอบในเรื่องนี้ไม่ใช่พลอตที่ถือว่าค่อนข้างเบสิก (มาเพื่อเล่าที่มาที่ไปของตัวละครเพื่อปูเข้า ‘The Avengers: End Game’ เท่านั้นจริง ๆ) แต่คือองค์ประกอบต่าง ๆ ในเรื่อง ที่เป็นการยั่วล้อและบูชาครูจากยุค 90s ในความคลาสสิกต่าง ๆ ของสมัยนั้น ตั้งแต่ซีนที่ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง ‘Top Gun’ ความช้าเฉื่อยของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแบบที่ยังต้อง dial-up ร้านเกม arcade แฟชัน (ไอ้บ้า แครอลแต่งกรันจ์ ใส่เสื้อวง Nine Inch Nails และ Hearts ด้วย แย้ก) และที่สำคัญคือเพลงประกอบ!!!!
ช่วงหลังมานี้อย่างที่เราเคยเล่าไปใน ‘Spider Man: Into the Spider-Verse’ มาแล้วว่า Marvel ใช้เพลงเป็นหนึ่งในการ pre-pr โปรโมต และ post-pr หลังจากหนังฉายออกไป ซึ่งคนที่เข้าไปดูหนังก็จะมีความอู้อ้ากับซาวด์แทร็คต่าง ๆ และจะมาตามหาฟังทีหลัง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดจาก ‘Guardians of the Galaxy: Awesome Mix Vol. 1’ ที่รวมเอาเพลงขึ้นหิ้งจากยุค 70s 80s มาใช้ในเรื่อง ซึ่งไอ้คนอย่างเรามันดันอินกับเพลงยุค 90s มากเป็นพิเศษเลยโดนเรื่องนี้ตกไปเต็ม ๆ ซึ่งเราก็จะได้ทั้งอัลเทอร์เนทิฟร็อก ป๊อป และฮิปฮอปโอลสคูล อันเป็น anthem ของสมัยนั้นทั้งนั้นเลย มีอะไรบ้าง มาดูกัน
เด็ดตั้งแต่ใน teaser เลยเอ้า
เกือบกรี๊ดแล้วตอนเพลงนี้ขึ้นมา สุดคลาสสิกของยุค
สายดีว่า r&b ก็มีนะจ๊ะ
นี่ก็อีกค่ะ ตอนเสียงแม่เกว็นขึ้นมาคือแบบ อรั้ยยยย แล้วเพลงนี้โผล่มาในฉากต่อสู้ แปลกไปอีกแบบเด้อ
พ่อมาาาา อีกนิดนึงก็จะ sing along ไปกับเพลงนี้ แล้วเพลงก็เข้ากับเนื้อเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนั้นด้วย
ส่วนเพลงเหล่านี้โผล่มาตอน ending credit
ภาพยนตร์ ‘Captain Marvel’ เป็นการหยิบเส้นเรื่องจาก ‘The Avengers’ ตอน Kree–Skrull War (การต่อสู้ของเผ่าครีและเผ่าสครูล) มาขยายต่อ และมีการบิดพลอตจากคอมิกเรื่องหลักไปประมาณนึง จากการที่ตัวละครหลาย ๆ ตัวก็ถูกนำมาเล่าในรายละเอียดที่ต่างออกไป ซึ่งนี่อาจเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ได้ที่ทำให้เนื้อเรื่องมีความเฟมินิสต์ ตั้งแต่การเปลี่ยนตัวละคร Dr. Walter Lawson ผู้ชายสูงวัยที่แครอลให้ความเคารพนับถือและมองเป็นไอดอล ให้กลายมาเป็น Dr. Wendy Lawson นักวิทยาศาสตร์หญิงของกองทัพที่กำลังมีโครงการทดลองเพื่อมวลมนุษยชาติ หรือการให้มีตัวละครเพื่อนสนิทในกองทัพเป็นอดีตพลเรือนหญิงที่ลาออกมาเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และการเล่าปัญหา sexual harrassment และการกดทับในแง่ต่าง ๆ ทั้งการถูก cat calling (แซว) การไม่ได้รับการยอมรับหรือกีดกันในการแสดงความสามารถ แต่ไม่ได้ออกมาในแบบที่สุดโต่งหรือเป็นการโจมตีใครมากจนเกินไป แต่ไม่ได้เข้มข้นเพราะอยากให้เข้าถึงง่ายกับทุกคน และต้องทำให้ kids friendly ในขณะเดียวกัน ซึ่งเนื้อเรื่องว่ากันตามตรงก็ถูกเอาไปปรับใช้กับคนได้ทุกเพศทุกวัย ว่าถึงแม้เราจะเป็นคนธรรมดา แต่ถ้าใจสู้และกล้าหาญซะอย่าง อะไรก็หยุดเราไม่ได้ ซึ่งนั่นสำคัญยิ่งกว่าการมีพลังพิเศษของเธอ
นักวิจารณ์หลาย ๆ มีความเห็นตรงกันว่าการได้ Annette Bening และ Jude Law ซึ่งเป็นนักแสดงที่มีความสามารถมาก ๆ มาอยู่ในเรื่อง แต่บทที่พวกเขาได้รับกลับเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีความตื่นลึกหนาบางใด ๆ หรือ Brie Larson ที่รับบทนำ แต่น่าเสียดายว่าการแสดงของเธอก็ไม่ได้ใส่เต็มแบบตอนที่เล่นเรื่อง ‘Room’ ที่ทำให้หลายคนคาดหวังเธอไปแล้วในฐานะนักแสดงนำหญิงรางวัลออสการ์ ก็ต้องเข้าใจอะน้าว่าเรื่องมันคอมิกมาก ๆ ถ้าจะให้ intense ไปหมดทุกอย่างก็อาจจะหลุดเกินกรอบของหนังฮีโร่ PG-13 ไกลไปหน่อย (เว้น Spider-Verse ไว้เรื่อง อันนั้นคือเป็นความกลมกล่อมแบบถูกที่ถูกทาง แปลกใหม่เกินขนบการ์ตูนฮีโร่ แล้วสามารถเล่าแบบนั้นได้ด้วยเพราะมาในรูปแบบแอนิเมชัน) แต่สำหรับเรา แม้ลุคโดยรวมของเธอหลายคนอาจจะดูแล้วรู้สึกเด็กเกินไปในการเป็น Captain Marvel ที่ดูจะมีพลังเยอะที่สุดในทีม Avengers แต่แบ็คกราวด์ตัวละครที่ปูมาคือเธอต้องกะโหลกกะลา ไม่เป๊ะแบบนี้แหละ
มีเรื่องตลกอีกอย่างที่เพิ่งนึกขึ้นได้ที่รู้แล้วเหวอเลยเหมือนกัน เพราะ บรี ลาร์สัน เคยแสดงเป็น Envy Adams แฟนเก่าจอมเหวี่ยงและฟรอนต์วูแมนสุดเผ็ชของวง The Clash at Demonhead ในเรื่อง ‘Scott Pilgrim vs. the World’ อันนี้เลยรู้สึกว่าถูกต้องแล้วแหละที่เธอมาเล่นหนังที่มีซาวด์แทร็คเป็นเพลงร็อกประกอบอยู่เยอะแบบนี้ (ส่วนตัวสุด ๆ)
เอ้า หนังยังฉายอยู่ในโรง ใครเป็นแฟนซูเปอร์ฮีโร่คนนี้อยู่แล้วก็ไม่ควรพลาด ไปดูการตีความแบบ live action อีกรูปแบบหนึ่งที่ดูเพลิน ๆ แล้วก็สนุกดี มีเพลงที่อินโทรขึ้นมาแล้วต้องกรี๊ดหลายระลอก และอินกับองค์ประกอบสุดเท่ในยุคนั้นจนรู้สึกคิดถึง (เสียดายว่าน้อยไปหน่อย แต่ถ้ามากกว่านี้คงกลายเป็นหนังร็อกมิวสิคัลไปแทน) ที่สำคัญคือเราจะยังได้เห็น Stan Lee เป็น easter egg อยู่ในเรื่องนี้เหมือนเดิม แต่เขาจะออกมาในฉากไหนต้องไปลองดูกันนะ