20th Century Women ชีวิตที่เติบโตอย่างงดงามผ่านดนตรีของยุคสมัย
- Writer: Montipa Virojpan
ผู้หญิงแห่งศตวรรษที่ 20 เป็นแบบไหน
โดโรเธีย ฟีลด์ส คุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 55 ปี ต้องมากลัดกลุ้มเรื่อง เจมี่ ลูกชายวัย 15 ที่กำลังเติบโตโดยไม่มีผู้เป็นพ่อคอยให้คำปรึกษาการใช้ชีวิตแบบที่เด็กผู้ชายควรจะมี เธอพยายามเลี้ยงลูกอย่างเข้าใจและให้อิสระกับเขา แต่เธอก็พบว่ายิ่งลูกโตขึ้นเท่าไหร่ก็เริ่มมีระยะห่างกับเธอมากขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น จนเมื่อไม่สามารถเข้าไปในโลกส่วนตัวของเจมี่ได้เหมือนเดิม โดโรเธียจึงพยายามให้ วิลเลียม นายช่างผู้เข้าอกเข้าใจที่อาศัยอยู่ตึกเดียวกันคอยเป็นเพื่อนเล่นกับเขา แต่ความเข้ากันได้ของเจ้าลูกชายและวิลเลียมแทบจะติดลบ เธอจึงต้องยืมมือของ จูลี่ เพื่อนสาวคนสนิทวัย 17 ของลูก และแอ็บบี้ สาวติสท์ที่มาเช่าห้องอยู่คอยเป็นคนช่วยดูแลเจมี่ให้เติบใหญ่กลายเป็นผู้ชายที่สามารถเอาตัวรอดได้ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
พูดตามตรงว่านอกจากพล็อตและความเป็นยุค 70s ตัวแสดงในเรื่องนี้ก็ทำให้ 20th Century Women ยิ่งน่าดูไม่แพ้กัน ทั้ง Annette Bening นักแสดงคุณแม่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับหนังครอบครัวดราม่ายุค 90s อย่าง American Beauty และในเรื่องนี้เธอก็ได้หวนกลับมาแสดงร่วมกับสาวน้อยขวัญใจมหาชน Elle Fanning จากที่เคยเจอกันมาแล้วใน Ginger & Rosa ไหนจะ Greta Gerwig เจ้าแม่หนังอินดี้ที่เคยรับบทแม่สาว Frances Ha คราวนี้ก็ผันตัวมาเป็นศิลปินที่อัญเชิญร่างทรงของ David Bowie มาประทับ แล้วยังมี Billy Crudup หนุ่มใหญ่เจ้าเสน่ห์ที่เคยกระชากใจแม่สาว Penny Lane ในเรื่อง Almost Famous ซึ่งไม่มีใครเหมาะที่จะเล่นบทของชายหนุ่มแห่งยุค 70s อีกแล้ว ซึ่งเมื่อทุกคนมาอยู่ด้วยกันในเรื่องนี้แล้วพลังแม่เหล็กของทุกคนช่วยอุ้มชูให้หนังเรื่องนี้มีสเน่ห์ และต้องยอมรับว่าพวกเขาสามารถถ่ายทอดความธรรมดาอันพิลึกพิลั่นออกมาได้อย่างน่ารัก อบอุ่น และเปลี่ยวดายได้อย่างยอดเยี่ยม
20th Century Women คือหนังชีวิตที่ทำให้เราพบความสวยงามของมันอย่างถึงที่สุด แม้กลิ่นอายที่ปูมาจะมีความเป็นคอเมดี้ coming of age ที่ถ่ายทอดยุคสมัยได้อย่างแนบเนียนและมีเสน่ห์ เรื่องราวเกิดขึ้นในซานตา บาบาร่า เมืองแสนสุขทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1979 มันก็เป็นยุค post-hippie ที่มีการบุกเบิกแนวดนตรีมากมายหลายแขนงอย่างเช่น พังก์ หรือพวกนิวเวฟก็เริ่มเกิดขึ้นมาจากความเบื่อหน่ายในชีวิตที่ต้องได้รับการปลดแอก การเก็บกดและลุกฮือของเฟมินิสต์ การเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาแบบก้าวกระโดด
ยิ่งคำที่จั่วหัวว่า “ฉันคือผู้หญิงแห่งศตวรรษที่ 20” ก็บีบให้ผู้หญิงหลายคนต้องปรับตัวและรีบก้าวไว ๆ ให้ทันยุคสมัย หัวสมัยใหม่ และบางคนก็ทำเหมือนตัวเองเข้าใจโลกเพราะได้ผ่านขั้วต่อของยุคและช่วงวัยมานานกว่าใคร แต่บางทีพวกเธอก็ไม่สามารถละทิ้งตัวตนหรือสิ่งเดิม ๆ จากในอดีตที่ฝังรากอยู่ในตัวอยู่ดี นี่ก็เป็นปกติที่ทุกคนย่อมมีความกลัวในการเปลี่ยนแปลงที่ยังมาไม่ถึง มันเลย make sense เหลือเกินที่คนเป็นแม่อย่างโดโรเธียที่เกิดในยุค 20s ห่วงว่าลูกชายที่เกิดในยุค 60s จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไหม ซึ่งมันสร้างกำแพงและความไม่เข้าใจกันในครอบครัวอยู่บ่อยครั้งด้วยเรื่องช่วงวัยที่ห่างกันมาก ๆ มุมมอง และทัศนคติบางอย่าง ที่ต่างคนต่างต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไป หลายตัวละครในเรื่องก็ล้มเหลวในส่วนนี้อย่างไม่เป็นท่า เช่นการที่แม่พยายามยัดเยียดคำแนะนำให้ลูกมากจนเกินไปทำให้ลูกอึดอัด ความเห็นแก่ตัวของคนในครอบครัวเลือกทำตามใจโดยไม่สนความรู้สึกของอีกฝ่าย ความไม่ยอมผ่อนหนักเบา ปลดปลง และปล่อยวาง หรือความหลักลอยจนเกินไป ที่สุดทายก็ทำให้สายสัมพันธ์สะบั้นลงแบบกู่ไม่กลับ ไปจนถึงเลือกทางออกของปัญหาที่ไม่น่าพิสมัยเท่าไหร่
จากที่เล่ามามันเลยไม่ใช่แค่การ coming of age ของลูก แต่คนเป็นแม่ก็เพิ่งจะมาเติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกในช่วงครึ่งท้ายของชีวิตไปแล้วก็เป็นได้ หรืออีกหลาย ๆ คนที่ก็ยังหลงทิศกับการใช้ชีวิตก็ต้องคอยตบ ๆ ตัวเองให้เข้าร่องเข้ารอย สุขสมบ้าง สะบักสะบอมบ้าง ซึ่งตรงนี้เองทำให้เรานึกถึงเมสเสจที่เราชอบที่สุดเพียงอันเดียวจากหนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ ของคิมรันโด ที่บอกว่า ‘ดอกไม้ของแต่ละคนบานไม่พร้อมกัน’ มันเป็นอะไรที่จริงมาก แม้ในหนังสือนั้นจะเทียบเคียงดอกไม้กับความสำเร็จ แต่เราอยากจะเทียบเคียงมันกับการเติบโตของทุกคนที่ต้องเรียนรู้มันไปตลอดชีวิต ไม่มีใครที่เก่งเจนโลกไปกว่ากัน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่บอกว่าคนรุ่นใหม่ควรจะเลือกดำเนินชีวิตไปในทิศทางไหน ปลายทางจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครคาดเดาได้
กับอีกเรื่องคือไทม์ไลน์สมมติ ตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร ในเรื่อง ตัวละครจะพูดถึงตัวเองในรูปอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งเราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอนาคต แล้วตัวละครเลือกที่จะเล่าโดยเทียบเคียงกับไทม์ไลน์ในอดีต (ปัจจุบันขณะที่เล่า) หรือเป็นสิ่งที่ตัวละครนั้น ๆ วาดฝันไว้ว่าจะเห็นตัวเองเป็นแบบไหนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งพาร์ตนี้คืออีกส่วนที่ทรงพลังที่สุดของหนัง (ที่ทำให้เราขนลุกไปด้วยขณะพิมพ์) เพราะตอนหนึ่งของเรื่อง มีตัวละครนึงกล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าเราจะวาดภาพตัวเองในอนาคตไว้อย่างไร มันมักจะออกมาไม่เหมือนที่เราคิดไว้ตลอดหรอก” หรือแม้แต่การบอกเล่าเรื่องราวของคนที่จากไปแล้วให้คนอื่นฟัง มันไม่มีทางตรงตามความเป็นจริงที่เราได้รู้จักหรือเคยได้ใช้ชีวิตอยู่กับคน ๆ นั้นขณะที่มีลมหายใจ ซึ่งมันเรียลมาก เอาน้ำตาไปอีกแหมะ
ตอนต้นเราได้พูดเรื่องเฟมินิสต์ไปหน่อยนึงแล้ว เอาจริงเรื่องนี้ก็แตะเรื่องเฟมินิสต์ไม่น้อยเลย ตั้งแต่ชื่อเรื่องและทั้งบรรดาตัวละครที่โผล่มา ทำให้เราได้เห็นมุมมองของผู้หญิงที่หลากหลายมากเหลือเกิน ในความซับซ้อนทางความรู้สึก ความน่าค้นหาภายใต้เปลือกที่เธอสรรสร้างขึ้นมาเพื่อให้โลกได้จดจำพวกเธอในแบบต่าง ๆ การมีชีวิตรอดในกระแสธารสังคมที่ไม่เคยมีพื้นที่ให้พวกเธอได้พูด คิด หรือกระทำสิ่งใดได้โดยอิสระ แม้แต่คำว่า เมนส์ ก็ยังพูดแล้วดูไม่ดีทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติ หรือแม้แต่เรื่องเซ็กซ์ยังถูกจำกัดการแสดงออก หรือบางครั้งต้องแกล้งถึงจุดสุดยอดเพื่อเป็นแฟนตาซีให้คู่หลับนอนของพวกเธอ นอกเหนือจากเรื่องทางกายภาพต่าง ๆ แล้ว คุณสมบัติหลายสิ่งที่เรื่องนี้นำเสนอออกมาในบทบาทของผู้หญิงทั้งหลายยังเป็นสิ่งที่น่ายกย่องในความเสียสละ การเป็นผู้สร้างและผู้ให้กำเนิดสิ่งมหัศจรรย์ที่เป็นอีกชีวิตที่จะเกิดออกมา และหลายครั้งเหลือเกินที่เมสเสจของหนังบอกกับเราว่า การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย
ยังมีอีกหลายอย่างที่เราชอบนอกเหนือจากเนื้อเรื่องแล้วก็ยังมีองค์ประกอบต่าง ๆ ของหนังทั้งเทคนิกการเล่า ภาพ สี และวิชวลเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วที่เรารู้สึกว่า ภาพเคลื่อนไหวของคลื่นน้ำในซานตา บาบาร่าที่ดูทรงพลัง มันเหมือนการบอกใบ้ให้เราเตรียมพบกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในหนัง คือความไม่หยุดนิ่งโดยอิสระของชีวิต ไหนจะฉากที่เป็นการขับรถข้ามเมืองแต่ละครั้งก็มักจะใส่เอฟเฟกต์สีเมา ๆ เรืองแสง ๆ ประหนึ่งเราเทค LSD แล้วไป road “trip” กับตัวละครด้วย เพลิดเพลินจำเริญใจมาก ส่วนสีที่เรื่องนี้เลือกใช้อย่างเหลืองกับแดงที่ดูฉูดฉาด ขัดกับสภาพบ้านที่ตกแต่งโดยเรียบง่ายเกือบจะมินิมัล คงเทียบเคียงได้กับสังคมเรียบง่าย อบอุ่นภายใต้แสงแดด แต่น่าเบื่อในขณะเดียวกัน (ตามความคิดของหลาย ๆ ตัวละครในเรื่อง) หรือฉากนึงที่เราได้เห็นโดโรเธียในมุมที่โดดเดี่ยวที่สุดของเธอในบ้านหลังนี้ การตั้งเฟรมไว้ในจุดกึ่งกลางมีเพียงเธอนั่งอ่านรายงานหุ้นและสูบบุหรี่เพียงลำพัง พร้อมขึ้นซาวด์แทร็กเพลง As Time Goes By จากหนังเรื่อง Casablanca ที่พอเราตั้งใจฟังเนื้อหาในเพลงแล้วมันช่างตอบโจทย์กับเรื่องราวในหนังแบบสุด ๆ
เมื่อกี้เราได้พูดเรื่องเพลงไปนิดนึงด้วยใช่ไหม นี่เป็นอีกเรื่องที่โดดเด่นมากในหนังเพราะเราจะถูกโอบอุ้มไปด้วยซาวด์แทร็กเพลงพังก์ยุคบุกเบิก เพราะตัวละครอย่างแอ็บบี้ แม่ศิลปินของเราเป็นนักฟังเพลงตัวยงหลากหลายแนว เธอเป็นคนเปิดโลกดนตรีพังก์ให้กับเจมี่ด้วยแผ่นเสียงของเธอ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องพูดถึงจริง ๆ ก็คือลุคของตัวละครตัวนี้ ได้แรงบันดาลใจมากจาก The Man Who Fell to Earth หนังไซไฟปี 1976 ที่แสดงโดย David Bowie ซึ่งแอ็บบี้ก็ตัดสั้นกุดทรงเดียวกันเป๊ะ แล้วเธอก็ยังหยิบยืมลุคของโบวี่ในยุค Ziggy Stardust อย่างการย้อมผมสีแดงสดมาด้วย
นอกจากนี้เราสังเกตเสื้อยืดที่เธอใส่ก็เป็นเสื้อวงทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น Lou Reed และ Devo ได้เห็นเธอไปปรากฎตัวในไลฟ์เฮาส์พร้อมเต้นไปกับเพลงโปรดจากยุคเก่าทั้ง The Raincoats, Black Flag, Siouxsie and the Banshees, Germs, Suicide, The Clash, Talking Heads หรือแม้แต่วงคร็อทร็อกแบบ Neu! ก็โผล่มา ซึ่งถ้าสังเกตได้ดนตรีนี่ก็เป็นการบ่งบอกยุคสมัยที่ดีมากเหมือนกัน เพราะเวลาแม่โดโรเธียเปิดเพลงเองแต่ละทีก็จะเป็นเพลงแจ๊สตลอด ๆ ซึ่งแจ๊สก็เป็นเพลงที่เฟื่องฟูในยุคที่โดโรเธียเติบโตมานั่นเอง
สำหรับตัวผู้กำกับอย่าง Mike Mills ถือว่าเป็นคนที่มีลายเซ็นชัดมาก เรารู้จักกับเขาเป็นครั้งแรกจากเรื่อง Beginners ที่พาเราไปจ้องมองปัญหาโลกแตกอย่างเรื่องความสัมพันธ์ ที่ไม่ว่าใครจะเจนจัดในความรักแค่ไหน เจ็บช้ำจนชินชามานานเท่าไร แต่พอความรักครั้งใหม่เกิดขึ้น ทุกคนก็จะกลายเป็นมือใหม่อยู่ดี แล้วเรื่องนั้นก็กลายเป็นหนังในดวงใจของเราอีกเรื่องเพราะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างงดงาม และเขายังมีความสามารถในการสร้างตัวละครที่ธรรมดาให้ออกมาดูน่าสนใจและน่าจดจำ ส่วนลายเซ็นที่บอกไว้ตอนต้นก็คือการใช้มอนตาจเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือภาพนิ่งมาประกอบการเล่าเรื่องที่เป็นความคิด หรือกระแสสำนึกของตัวละคร ซึ่งส่วนมากจะถูกเล่าออกมาโดยการ narrate ของตัวละครเอง เช่นกันกับ 20th Century Women ที่มีการใช้มอนตาจ แล้วมันยิ่งทำให้ชีวิตของแต่ละคนดูน่าติดตามไปเสียหมด
ความที่ทุกตัวละครเป็นตัวแทนของทุกช่วงวัยที่ต้องมาอยู่ในโลกใบเดียวกันยิ่งทำให้หนังดูสนุก บางตัวละครก็ดูยั่วล้อฮิปปี้/ฮิปสเตอร์ ชอบนั่งสมาธิ พูดเรื่องจิตวิญญาณ ไปจนถึงทำแชมพูใช้เอง หรือบางทีก็เสพโควตถ้อยคำโดนใจจากหนังสือ แต่ยอมรับเลยว่าโควตเด็ด ๆ ในเรื่องนี้มีเยอะมาก แต่ไม่ได้เอาเท่แบบหลาย ๆ เพจที่เราเห็นกันเดี๋ยวนี้ เพราะเขาหยิบมาจากหนังสือปรัชญา นิยาย อัตชีวประวัติบ้าง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เป็นประโยชน์กับชีวิตเรา แล้วหลาย ๆ ตัวละครก็เป็น rebel โดยแท้จริง ด้วยสัญญะของวัยรุ่นที่อยากรีบโต อยากออกไปเผชิญโลกกว้าง และพวกที่เป็นหัวก้าวหน้าก็มี ทุกอย่างถูกเสริมด้วยวิธีการเล่าเรื่องก็น่าสนใจ โดยมีทั้งเล่าแบบสถานการณ์ต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างปกติ และการเล่าผ่านมุมมองของแต่ละตัวละครต่ออีกตัวละครหนึ่ง ซึ่งมันสร้างมิติได้ดีมาก แล้วยังช่วยสำรวจบุคลิก ความรู้สึกนึกคิด ทำให้รู้ว่าทำไมแต่ละคนถึงตัดสินใจทำแบบนั้น
ใครที่มองหาหนังที่ถ่ายทอดความหมายของการเติบโตได้อย่างงดงาม มีมุขตลกที่ลื่นไหล บาลานซ์ความสุขเศร้าได้อย่างกลมกล่อม ดูแล้วอบอุ่นอิ่มเอมใจ หรืออยากได้เพลย์ลิสต์เจ๋ง ๆ ไว้ฟัง 20th Century Women คือหนังที่ทำหน้าที่เหล่านั้นได้อย่างดีเยี่ยมเรื่องนึง ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง 29 มิถุนายนนี้ ที่ House RCA