Quick Read Snacks

World Music เครื่องดนตรีที่แฝงตัวอยู่ในศิลปินไทยร่วมสมัย ส่งเสียงวัฒนธรรมจากหลายมุมโลก

ปัจจุบันเรามักจะเห็นเครื่องดนตรีที่ไม่คุ้นตาอยู่ในวงดนตรีหลากหลายแนวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น The Paradise Bangkok Molam International Band, YAAN, KLEE BHO, TONTRAKUL, จุลโหฬาร และอีกหลายวง เป็นยุคที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมดนตรีจากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกันจากการสร้างสรรค์ของคนดนตรียุคใหม่ ที่ไม่ยึดติดในกรอบแบบเดิม ๆ บ้างเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่นจากบ้านเกิด บ้างเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ บ้างชื่นชอบในเสียงของเครื่องดนตรีนั้น ๆ จนเอามาประยุกต์ใช้

ด้วยสังคมออนไลน์ที่นำพาให้ทุกซุ่มเสียงได้เดินทางมาเจอกันง่ายขึ้น พร้อมกับวิธีการทำเพลงที่ศิลปินสามารถจบงานได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระและปล่อยเพลงออกมาให้เหล่านักฟังได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ ๆ ไปด้วย แล้วเครื่องดนตรีหน้าตาไม่คุ้นเหล่านี้มาจากไหนกัน ศิลปินวงไหนที่มีคาแร็กเตอร์จัดจ้านในด้านนี้บ้าง Fungjaizine จะพาทุกคนเปิดมิติวัฒนธรรมไปด้วยกัน

YAAN

เครื่องดนตรีที่แทบจะเป็นเอกลักษณ์ของ YAAN ไปแล้ว วงสายลึกที่เพลงของพวกเรียกได้ว่าเป็นครูเพลงของใครหลายคน sound design ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแบบหาตัวจับยาก คนที่ชื่นชอบจนถึงขั้นอินไปกับแนวเพลงไซเคเดลิกชื่อนี้น่าจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่ไม่ควรพลาด ด้วยการหยิบ ซีตาร์ (sitar) เครื่องดนตรีเชื้อสายอินเดียมาเป็นพระเอกของวง

ซีตาร์ (Sitar)

เครื่องดนตรี classical ถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดียที่แทบจะเป็นเครื่องดนตรีสัญลักษณ์ของชาติไปแล้วในปัจจุบัน ด้วยวัฒนธรรมที่ส่งผ่านไปถึงทั่วโลก เชื้อเชิญให้นักดนตรีไม่น้อยเดินทางไปศึกษาเคล็ดวิชาถึงดินแดนชมพูทวีป เสียงที่เป็นเอกลักษณ์นี้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกในคริสตศตวรรษที่ 12 ในรูปแบบเครื่อง 3 สาย ต่อมามีการพัฒนาจนเป็นรูปแบบ 7 สาย หรือมากกว่านั้น

TUKU Didgeridoo Band

วงดนตรี TUKU Didgeridoo Band ศิลปินจากเมืองเหนือเชียงใหม่ที่ยึดมั่นแนวทางการนำ ดิดเจอริดู มาประยุกต์ให้เข้ากับเสียงกีตาร์ จนออกมาเป็นเพลงบรรเลงที่นำทีมโดย ป๊อด เชียงใหม่ เชื่อว่าถ้าใครติดตามวงการดนตรีเชียงใหม่จะต้องคุ้นหน้าคุ้นตาผู้ชายคนนี้เป็นอย่างดีด้วยคาแร็กเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์พร้อมกับกีตาร์ลายธงชาติไทย จากที่เคยสัมผัสการแสดงสดของวงนี้ พวกเขาสามารถพาคนฟังตกเข้าไปในภวังค์ของเสียงได้จริง ๆ และอีกเครื่องดนตรีที่ขาดไม่ได้เลยกับการบรรเลง world music อย่าง ดีเจมเบ้ (djembe) ที่คอยให้จังหวะพร้อมกับเติมสีสันให้กับเพลงได้เป็นอย่างดี

ดิดเจอริดู (Didgeridoo)

เครื่องดนตรีพื้นเมืองจากชนพื้นเมืองเก่าแก่อะบอริจินในประเทศออสเตรเลีย (Aboriginal Australians) แทบจะเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีที่มีอายุยาวนานมากที่สุดในโลกที่มาพร้อมกับความยาวกว่า 2 เมตร จัดอยู่ในหมวดหมู่เครื่องดนตรีเป่าที่ทำมาจากทองเหลือง ซุ่มเสียงต่ำที่ดิดเจอริดูผลิตออกมาต้องใช้เทคนิค ‘การระบายลมจากกระพุ้งแก้ม’ ที่ต้องฝึกฝนมาอย่างดีกว่าจะก้าวเข้าถึงระดับพริ้วไหวเหนือสายน้ำ

ดีเจมเบ้ (Djembe)

อีกหนึ่งกำลังหลักของการบรรเลง world music ที่แทบจะขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะบรรเลงร่วมกับวงดนตรีร่วมสมัย หรือจะหยิบจับ ดีเจมเบ้ มาบรรเลงเป็นกลุ่มเพื่อสร้างจังหวะความสนุกสนานในวาระโอกาสเฉลิมฉลองก็ดูเข้ากลมกลืนเข้ากับทุกภาวะ เครื่องดนตรีที่ได้รับจุดกำเนิดจากแอฟริกาตะวันตก (dje แปลว่าไม้ในภาษา Malinke และ mbe หมายถึง ผิวหนังของสัตว์) ขั้นตอนการผลิตสุดยากเย็นในอดีตที่ต้องตัดไม้มาเพื่อเหลาขึ้นรูปให้เป็นคล้ายถัง และต้องอาศัยการถักร้อยที่มีคุณภาพสูง เสียงของกลองแอฟริกันตัวนี้ถึงจะออกมาอย่างที่ต้องการ แม้การผลิตสุดลำบากจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้างในอดีต แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความฮิตของ ดีเจมเบ้ ได้ที่รุ่งเรืองสุด ๆ ในยุค 50s ถือเป็นอีกเครื่องดนตรีในตำนานที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นกัน

The Paradise Bangkok Molam International Band, Rasmee Isan Soul, Asia7, TONTRAKUL, จุลโหฬาร

มาถึงฝั่งเครื่องดนตรีพื้นบ้านของไทยกันบ้าง พิณและแคน เป็นภาพคุ้นตาสำหรับวงดนตรีที่มีเชื้อสายจากภาคอีสานบ้านเฮา The Paradise Bangkok Molam International Band วงที่หยิบจับเครื่องดนตรีทั้งสองชิ้นนี้ขึ้นมาใช้และพาไปส่งเสียงแห่งวัฒนธรรมจนโด่งดังไปทั่วโลก มีงานโชว์ตลอดทั้งปี ด้วยสไตล์ที่ชัดเจน การประยุกต์เพลงให้เข้ากับยุคสมัยแต่ไม่ทิ้งลายพิณดั้งเดิม เช่น ลายลำเพลิน ที่เล่นขึ้นมาเมื่อไหร่ร่างกายก็โยกไปเองแบบไม่รู้ตัว จนปัจจุบันมีอีกหลายวงดนตรีจากพื้นฐิ่นอีสานได้สืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้มาใช้จนสร้างชื่อเสียงขึ้นมาอีกหลายวงไม่ว่าจะเป็น จุลโหฬาร, Asia7, TONTRAKUL หรือนักร้องหญิงที่แทบจะเป็นไอคอนของภาคอีสานอย่าง Rasmee Isan Soul ก็หยิบ พิณ มาแต่งแต้มเสียงเพลงจนได้รับรางวัลไปหลายเวที พวกเขายังคงเดินหน้าในเส้นทางดนตรีต่อไปด้วยจุดยืนที่มั่นคงสืบสานวัฒนธรรมดนตรีจากบ้านเกิดตัวเองจนมีกลุ่มแฟนเพลงหนาตา

พิณ (Phin)

เครื่องสายขนาดเล็กที่อยู่คู่วงการดนตรีไทยมายาวนาน หลัก ๆ จะมี 3 สาย แต่บางพื้นที่ก็มี 2 สายบ้าง 4 สายบ้าง ว่ากันว่าพิณกับแคนเป็นเครื่องดนตรีระดับพระเอกของคนอีสาน อยู่ท่ามกลางแสงไฟไปจนถึงเป็นผู้นำของวง ไม่ว่าจะทำอะไร มีงานรื่นเริง ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช เกี่ยวข้าว จีบสาว จะมีพิณและแคนคอยสร้างความลำเพลินให้ทุกคนอยู่เสมอ

แคน (Khaen)

เครื่องพื้นบ้านที่ตัดเอากระบอกไผ่ขนาดเล็กไม่ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน และเจาะรูเพื่อเป็นการไล่ระดับเสียง ว่ากันว่า แคน เป็นเครื่องที่มีจุดกำเนิดมาจากการอยากสร้างเครื่องดนตรีที่ให้เสียงเพราะดั่งนกการเวก ซึ่งคำว่าแคนก็มาจากภาษาอีสานที่เอาไว้เรียกไม้ตะเคียนที่นิยมเอามาใช้เป็นเต้ารวมเสียงของแคนนั่นเองจ้า

KLEE BHO

เครื่องดนตรีจากปกาเก่อญอที่ส่งเสียงจากยอดเขาปลายดอยมาตั้งแต่อดีต มักใช้เป็นเครื่องให้ทำนองสำหรับ บทธา (บทกวี) จนมาถึงปัจจุบันที่คนภูเขากับคนข้างล่างไม่ได้อยู่ห่างไกลกันอีกต่อไปแล้วด้วยโลกออนไลน์ที่อยู่ในมือ เครื่องดนตรีชิ้นนี้ถูกประยุกต์มาใช้กับเพลงที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น ให้คนฟังได้ฟังง่ายขึ้น กำลังหลักที่คอยผลักดันเตหน่ากูให้เสียงดังมายังคนข้างอย่าง KLEE BHO ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเพลงของเขาที่มีรากฐานมาจากเครื่องดนตรีนี้ มีจำนวนคนฟังไม่น้อยเลย จนล่าสุดภาพยนตร์เรื่อง ‘Low Season สุขสันต์วันโสด’ ก็อัดแน่นไปด้วยบรรยากาศของเสียงเตหน่ากู เป็นอีกผลงานที่วัดผลได้ว่าเสียงเพลงของเขานั้นได้เดินทางอย่างแท้จริง

เตหน่ากู (Tenagu)

เครื่องดนตรีมากสายลำตัวทำจากไม้ที่บรรเลงด้วยการดีดจากทั้ง 2 มือ สายด้านบนเปรียบเสมือนเสียงเบส ที่มักจะใช้นิ้วโป้งมือซ้ายดีด และสายด้านล่างมักจะใช้มือขวาดีดหรือเกาคล้ายกีตาร์ เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ‘เตหน่ากูเป็นเสียงที่เพราะราวกับเสียงสวรรค์’ นั่นไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด หากคุณได้ลองฟังเสียงเตหน่ากูแบบสด ๆ ครั้งแรก ความรู้สึกจะเป็นอย่างที่คำกล่าวในประโยคนั้น

The Luis

ศิลปินสายโฟล์กหน้าใหม่ที่ปล่อยเซอร์ไพรส์ให้คนฟังร้อง ‘เฮ้ย!’ ได้ตั้งแต่เพลงแรกอย่าง หวังสม ที่เปิดเพลงมาด้วยกลอนสัมผัสได้กลิ่นเพลงพื้นบ้านในอดีต แต่จุดพีคของวง ๆ นี้คือสามารถผสมผสาน ระนาด เครื่องดนตรีไทยที่มักจะอยู่ในวงบรรเลง เข้ามาอยู่ในเพลงสมัยใหม่ได้อย่างแนบเนียน ชอบความกล้าและการสร้างสรรค์วงนี้จริง ๆ ต้องมารอดูเพลงต่อไปว่าจะออกมาหน้าตาแบบไหนกัน (ลองดูคลิปแสดงสดเพลง ใคร่รัก ของ The Luis จากงาน ‘โฟล์คข้างวัด’ จะยิ่งตอกย้ำเสน่ห์ของวงนี้ให้เข้าไปนั่งในใจนักฟังได้แน่นอน)

ระนาด (Ranat)

เครื่องตีที่สร้างเสียงจากการกระทบของลูกระนาดกับไม้ที่มี 2 แบบคือไม้นวมกับไม้แข็งให้โทนเสียงที่แตกต่างกัน ระนาดยังเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับวิวัฒนาการมาจาก กรับ ด้วยการนำมาร้อยเป็นผืนแล้วใช้ตะกั่วมาถั่วเพื่อสร้างโน้ตที่แตกต่างกันออกไป คำว่า ระนาด ยังแปลได้ถึง 3 ความหมาย 1.เครื่องดนตรีปี่พาทย์ชนิดตี 2.ไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นซีกแล้วใช้หวายถักเป็นผืน 3.อาการที่เกิดการล้มทับกัน

World Music

คำ ๆ นี้ที่เป็นนิยามของดนตรีท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งหรือเครื่องดนตรีที่ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ใดหมวดหมู่หนึ่ง แต่ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยี สังคม และความเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนมาจนถึงยุคปัจจุบัน นักวิชาการทางดนตรีหลายคนก็ออกมาสนับสนุนให้ไม่ควรใช้คำว่า ‘world music’ ในการตีกรอบหรือแบ่งแยกศาสตร์ทางดนตรี เพราะไม่มีเหตุผลไหนหรือความจำเป็นใดที่เราต้องแบ่งแยกดนตรีออกจากกัน อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนว่าจะมอง world music เข้ามาในด้าน มานุษยวิทยาดนตรี (ethnomusicology) หรือมองเข้ามาในมุม ฟิวชัน (fusion) อย่างไรก็ตามเราขอพูดในมุมที่ไม่เป็นเชิงวิชาการเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับเครื่องดนตรีเหล่านี้มากขึ้น.. เชื่อมั่น สู้ต่อ เดินทาง ขอให้เสียงของทุกคนได้เป็นที่รู้จักอย่างที่ใจหวัง

อ่านต่อ

‘จุลโหฬาร’ โฟล์กสำเนียงอีสานที่ส่งต่อความเป็นมนุษย์ผ่านเสียงดนตรี
KLEE BHO อีกบทชีวิตศิลปินปกาเก่อญอผู้อยู่เบื้องหลังเสียงเพลงในภาพยนตร์ Low Season สุขสันต์วันโสด

Facebook Comments

Next:


บ็อบ รักเพลงโฟล์ก พอ ๆ กับชอบกินกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล วงนั่งเล่น กับ Boy Imagine คืออาจารย์ ดูอาร์เซน่อลเตะเวลาฟอร์มดี ชอบอ่านหนังสือแปลจากญี่ปุ่นกับจีน ตอนเช้ากินกาแฟ กลางวันกินกะเพรา ตอนเย็น อะ! กินเหล้ากัน