Quick Read Snacks

รอนาน ๆ มันอาจจะบั่นทอนหัวใจ: รวมเพลงเอาไว้ฟังตอนรอเลือกตั้ง

  • Writer: Yanabhus Suriyajai

กกต. ประกาศ (อีกแล้ว) ว่าวันเลือกตั้งคือวันที่ 24 มี.ค. 2562 หลักจากรอกันมาพักใหญ่ ๆ รออีกหน่อยเป็นไร รอไปฟังเพลงไปแล้วกันเนอะ

วัชรพงศ์ ตันเต๊ก – บทเพลงถึงตัวฉันเอง

เพลงอะคูสติกฟังสบายสามารถสร้างบรรยากาศดี ๆ ได้ ในเนื้อเพลงมีความอ้างว้างและเพ้อฝันถึงสิทธิเสรีภาพที่ตามหา เสียงร้องในเพลงประหนึ่งกับเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องไกลตัวและต้องใช้ความพยายามกว่าจะได้มันมา ทั้ง ๆ ที่มันควรเป็นเรื่องพื้นฐานและควรมีกันทุกคน ในท่อนฮุกดูมีพลังแห่งความหวังที่วันหนึ่งโลกเราจะมีเสรีภาพมากขึ้นกว่านี้

สามัญชน – เราคือเพื่อนกัน

เวอร์ชันที่ 1

เวอร์ชันที่ 2

บอกก่อนว่าเพลงนี้มีสองเวอร์ชัน แต่ร็อกเหมือนกัน เวอร์ชันแรกจะมีความฮาร์ดร็อกและมีเสียงร้องสองคนคือชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ส่วนเวอร์ชันสองจะเพิ่มความอีโมหน่อย ๆ และมีว้ากบวกกับเสียงร้องหลาย ๆ คนทำให้รู้สึกว่าไม่เหงาและเข้ากับชื่อเพลงดี เชิญคุณผู้อ่านเลือกฟังตามเวอร์ชันที่ชอบเลย

เนื้อหาเพลงประมาณว่าคนที่มีอุดมการณ์คล้ายกัน หลัก ๆ คือต้องการสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน เราคือเพื่อนกัน เราต้องช่วยกันปกป้องพร้อมทวงคืนสิทธิเสรีภาพและไม่ยอมให้ใครมากดขี่ ฟังแล้วรู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาเลย  

เอ้ นิติกุล และ อั้ม ธารินี – บทเพลงของสามัญชน

เพลงนี้ดำเนินจากน้อยไปมาก เริ่มมาด้วยท่อนจำของเพลง ‘อยากได้ยินเธอร่ำร้องตะโกนบทเพลงของสามัญชน ปลุกผู้คนปลุกฝันสู่วันของเรา’ เพลงนี้เป็นเพลงที่ต้องการพลังประชาชนเพื่อช่วยกันพาสู่ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนา บางครั้งหลาย ๆ คนคงคิดว่าจะพยายามไปทำไม มันไม่สำเร็จหรอก และก็จบด้วยการไม่ทำอะไรเลย แต่มันอาจเป็นความสำเร็จของใครอีกคนที่พยายามให้พวกเราอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องยุ่งอะไร แปลว่าเราจะไม่มีส่วนในการพัฒนาบ้านเมืองเลย แค่เพียงทำตามกฎกติกาและหยุดตั้งคำถาม และปล่อยให้บางคนบริหารบ้านเมืองไป สุดท้ายก็อยู่ที่เราว่าอยากให้บ้านเมืองเป็นของเราหรือเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว

คาราวาน – ฉันคือประชาชน

เพลงที่ว่าด้วยความธรรมดาของประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงเรียกร้องอะไรได้ แต่ต้องทนยอมรับสภาพชีวิตอันลำบากและทำงานหนักต่อไป อยากจะมีโอกาสเท่ากับคนอื่นแต่ติดอยู่ตรงที่ความจน เพลงนี้แสดงให้เห็นว่าคนจนมักถูกเมินเฉยเหมือนคนไร้ค่า และคนที่มีราคาจ่ายสามารถทำผิดต่อไปได้เรื่อย ๆ

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ – หวัง

นี่เป็นอีกบทเพลงของพี่ปูที่เดือดและโกรธเกรี้ยว เพราะเพลงนี้ใช้คำว่า ‘ปีศาจ’ มากร่นด่าใส่ใครสักคนที่มาแย่งชิงทุกอย่างไป และคนธรรมดาก็ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากจะแย่ลง เพลงนี้ยังสะท้อนถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมที่ความเป็นธรรมมีสิทธิ์ได้แค่บางคน สุดท้ายประชาธิปไตยในเพลงนี้ก็เหมือนไม่มีจริง อำนาจก็ยังกระจุกที่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Liberate P feat. Professor Jay – สิ่งที่ประเทศกูไม่มี

เพลงนี้ปล่อยให้ฟังกันใน YouTube ก่อนเพลง ‘ประเทศกูมี’ เสียอีกแต่ก็แขวะได้เจ็บไม่แพ้กัน เนื้อร้องของเพลงนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมของสังคม ด้วยอารมณ์และน้ำเสียงของแร็ปเปอร์ทำให้ผู้ฟังที่ตกสถานการณ์เดียวกันรู้สึกคล้อยตามได้ไม่ยาก สิ่งที่ได้จากเพลงนี้คือข้อเท็จจริงอันแสนโหดร้ายที่เกิดจากระบบในสังคม อาจจะจริงที่มีคนบอกว่า ‘ประเทศนี้ไม่ใช่ของเรา เราแค่มาเช่าประเทศนี้อยู่’

Solitude is Bliss – ย้ายรัง

เหมือนเนื้อเพลงจะบอกว่าปัญญา ความรู้ และความสามารถไม่มีประโยชน์เท่ากับเงิน ถ้าคุณมีเงินมากพอคุณจะมีสิทธิ์ทุกอย่าง แต่ถ้าคุณไม่มีมากพอก็จะใช้ชีวิตยากหน่อย แปลว่าคนจน ๆ ธรรมดาถ้าไม่อยากมีปัญหาให้ทำตัวน่ารักในระบบนี้เข้าไว้ เพราะราคาความถูกต้องมันแพง ไม่แปลกที่ใคร  ๆ ก็อยากรวยเพราะหลายอย่างมันจัดการได้ด้วยเงิน

Bomb At Track – อำนาจเจริญ

เราจะขาดวงนี้ไปไม่ได้ ในเพลงนี้ยังคงพูดถึงสังคมที่บูชาเงิน ใครมีเงินมากเท่ากับรอดหรือมีสิทธิ์มากกว่าคนจน ๆ ธรรมดา ในเพลงย้ำให้ฟังหลายท่อนไม่ว่าคนรวยทำผิดแค่ไหนสามารถรอดได้เสมอ คนจน ๆ ก็อย่าหวังจะเรียกร้องความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมก็อยู่ใต้เงินอีกที หวังว่าปัญหานี้มันจะค่อย ๆ ลดลงสักที

Rap Against Dictatorship – ประเทศกูมี

เพลงเดิม ๆ ที่เราคุ้นเคย จะไม่นำมากล่าว ณ ที่นี้ก็ไม่ได้ เพลงนี้เป็นเพลงไทยที่วิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองได้หลากหลายและมากมายกว่าที่คนฟังจะนึกถึง บางเรื่องก็เกือบลืมไปแล้วแต่เพลงนี้แหละช่วยย้ำเตือนเรา มันมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องใส่ใจจริง ๆ ลองคิดว่าถ้าทุกอย่างในเพลงนี้คืองานที่เราต้องแก้ไข แค่คิดก็รู้สึกโคตรเหนื่อย สิทธิเสรีภาพของคนธรรมดามันแคบลงไปเรื่อย ๆ แต่กับคนอีกฝั่งกลับมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เรายังคงหวังให้ประเทศมันดีขึ้น และเรายังคงหวังมากจริง ๆ ที่จะได้เลือกตั้งเร็ว ๆ นี้

ยังมีหลายเพลงที่ไม่ได้นำเสนอ เพราะศิลปินแต่งเพลงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์หรือสะท้อนปัญหาบ้านเมืองมาตลอด แต่เพลงเหล่านี้ที่ได้นำเสนอไปค่อนข้างสะท้อนข้อเท็จจริงและปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้ครอบคลุม หวังว่าระหว่างรอการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เราคงไม่ได้แค่ฟังเพลงรอไปเรื่อย ๆ หรอกเนอะ 😉

Facebook Comments

Next: