เพลงไหนใครแปลง รวมเพลงไทยที่ได้เค้าโครงต้นฉบับมาจากเพลงฝรั่ง
- Writer: Montipa Virojpan
เป็นที่รู้กันว่าเพลงไทยสมัยก่อนมักจะมีการหยิบยืมทำนอง รวมไปถึงเนื้อร้อง มาทำใหม่ในเวอร์ชันที่บางทีก็รีอะเรนจ์ดนตรีใหม่ไปเลย หรือบางเพลงก็แค่แปลเป็นภาษาไทยเฉย ๆ ซึ่งเราก็ได้รวบรวมมาให้ลองฟังกันทั้งเวอร์ชันออริจินัลและเวอร์ชันศิลปินไทย ต้องบอกว่ามีความไพเราะไม่แพ้กัน ยิ่งภาษาไทยสมัยก่อนเรียกได้ว่าเป็นการเลือกใช้คำมาใช้อย่างสละสลวย บางเพลงนี่ฟังแล้วร้าวรานเข้มข้นในความรู้สึกยิ่งกว่าต้นฉบับ
สวลี ผกาพันธ์ุ – คืนนี้ จาก West Side Story – Tonight
จากมิวสิคัลเรื่องเยี่ยมแห่งบรอดเวย์ สู่ผลงานของ สวลี ผกาพันธุ์ นักร้องเสียงทองในอดีตที่ในเพลงนี้เธอใช้เทคนิคเอื้อนและทอดเสียงสูงที่อีกนิดก็จะเป็นโอเปร่าแล้ว สกิลเทียบชั้นได้ยากจริง ๆ รวมถึงดนตรีก็ใช้สำเนียงฟังก์ร็อกที่กำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้นผ่านการเรียบเรียงใหม่ของ ประสาน สุทัศน์ ณ อยุธยา และบรรเลงโดยวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ที่ขึ้นชื่อเรื่องเพลงแปลงอีกเช่นเดียวกัน
สวลี ผกาพันธ์ุ – สิ้นรักสิ้นโลก จาก Skeeter Davis – The End of the World
ต่อเนื่องจากเพลงแรกในอัลบั้มชุดเดียวกัน ซึ่งที่ขอหยิบยกเพลงนี้มาเพราะคงไม่มีใครไม่รู้จักแน่กับเพลงดังอย่าง The End of the World แต่ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ก็คือเพลงนี้ถูกทำเป็นเพลงแปลงด้วยเหมือนกัน ซึ่งเดิมทีน้ำเสียงของ Skeeter Davis ก็ว่าเหงา ห่อเหี่ยว และน่าเห็นใจสุด ๆ แล้ว พอมาฟังเวอร์ชันสวลีแล้วคือจะขาดใจตายอยู่รอน ๆ โดยเฉพาะกับการประพันธ์เนื้อเป็นภาษาไทยโดย ประดิษฐ์ อุตตะมัง ที่สามารถเลือกใช้คำได้สละสลวยและรันทดสุดกู่กว่าต้นฉบับหลายเท่านัก
เศรษฐา ศิระฉายา – ฟ้าเป็นพยาน จาก Tina Charles – I Love To Love
เขยิบมาที่ยุคดิสโก้รุ่งเรืองกันบ้าง โดยเวอร์ชันออริจินัลนี่เราก็น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างแต่เป็นเสียงสาวทรงพลังแหลมเปี๊ยวเขาร้องไว้ ในขณะที่เวอร์ชันบ้านเราก็ได้ศิลปินเสียงนุ่มอย่าง เศรษฐา ศิระฉายา มาขับกล่อมให้สาว ๆ เข่าอ่อนระทวย แหม ก็เพลงเขาแปลงความหมายมาซะหวานหยดย้อยขนาดนั้น ถ้ามีใครมาใช้ร้องจีบจะไม่ให้หลงได้ไง
ดอน สอนระเบียบ – ร็อกเริงใจ จาก Bill Haley & His Comets – Rock Around The Clock
ถ้าพูดถึงเศรษฐา ก็จะขาดคนนี้ไปไม่ได้ ดอน สอนระเบียบ ก็เป็นอีกคนที่เป็นเจ้าพ่อเพลงแปลงร็อกแอนด์โรล นอกจากเพลง เก้าล้านหยดน้ำตา ที่แปลงมาจาก 9,999,999 Tears ก็มีเพลงนี้แหละที่เป็นงานชิ้นโด่งดังของโลกสำหรับดนตรีร็อกแอนด์โรล สำหรับเวอร์ชันต้นฉบับมีความสนุกสนานและดิบกว่าในการบรรเลง แต่กับ ดอน สอนระเบียบ จะค่อนข้างเน้นเรื่องวิธีการร้องแบบป๊อปและมีจังหวะที่ละมุนละไมมากกว่า
สรวง สันติ – สรวงแบล๊คซุปเปอร์แมน จาก Muhammad Ali – Black Superman
นี่เรียกว่าหยิบเมโลดี้และทำนองร้องมาเลย แต่กับ สรวง สันติ จะมีวิธีร้องที่ยียวนกว่าต้นฉบับนัก โดยเนื้อร้องภาษาอังกฤษจะร้องถึงชีวิตและอวดอ้างสรรพคุณความสามารถในการขึ้นชกของ มูฮัมหมัด อาลี นักมวยชื่อดังในอดีตที่เป็นผู้ร้องเพลงนี้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความว่องไวในการหลับหลีกคู่ต่อสู้ หรือความแข็งแกร่งที่สามารถน็อกอีกฝั่งเอาได้ง่าย ๆ ขณะที่เวอร์ชันภาษาไทยมีการพูดถึงนักร้องต้นฉบับ และบอกว่าตนเคยเป็นนักมวยมาก่อน (ซึ่งเคยชกมาก่อนจริง ๆ!) แต่เนื้อหาหลัก ๆ เหมือนเป็นการเกี้ยวพาสาวเสียมากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนตัวคิดว่าที่สรวง สันติ เลือกเพลงนี้มาแปลง เพราะคิดว่าชีวิตของเขากับ มูฮัมหมัด อาลี มีความใกล้เคียงกันอยู่เนือง ๆ
สุรพล สมบัติเจริญ – ดิ๊งด่อง และ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ – ดิ๊ง ดิ๊ง ด่อง จาก Gli Alluminogen – Ding Dong
‘ดิ๊งดิ๊งด่อง ดะดะ ดิ๊งดิ๊งด่อง’ ท่อนนี้กลายเป็นซิกเนเจอร์แห่งยุคสมัยที่ไม่ว่าใครก็หยิบมาแต่งแต้มในบทเพลงของตัวเอง ถ้ายุคที่เราเกิดทันจริง ๆ ก็คงเป็นสมัย อนันต์ อันวา กันนั่นแหละ (ไหนใครเกิดไม่ทันบ้าง ฮือ นี่ชั้นแก่แล้วสินะ) ก็คือเพลงนี้เดิมทีมาจากหนังเรื่อง ‘When Women Play Ding Dong’ โดยศิลปินที่ร้องคือ Gli Alluminogen ก็ไม่วายที่พี่ไทยจะเอามาทำต่อ เวอร์ชันที่ดัง ๆ ก็มีของคุณไวพจน์ เพชรสุพรรณ ราชาเพลงแหล่ ที่เอาท่อนฮิตมาเป็นท่อนฮุกของเพลง และเน้นการร้องแบบลูกทุ่ง พร้อมทั้งตีความคำว่าดิ๊งด่องให้มีความหมายทะลึ่งตึงตังแบบที่เพลงสมัยก่อนเขาชอบทำ แล้วเอามาผสมกับเพลงฟังก์ร็อก เท่มาก ๆ ส่วนอีกเวอร์ชันที่ซ่อนอยู่ในอัลบั้ม Thai Beat A Go-Go Vol. 2 ที่นักฟังเพลงหมอลำฟังก์ ไทยบีตเก่า ๆ ยกให้เป็นอัลบั้มในดวงใจ คาดว่าเวอร์ชันนี้ร้องโดย สุรพล สมบัติเจริญ ราชาลูกทุ่ง ที่ยกทำนองมาทั้งดุ้น และมีความกระแทกกระทั้นกว่าต้นฉบับ
ไฉไล ไชยทา – ควรตายด้วยลูกปืน จาก Claudja Barry – Boogie Woogie Dancing Shoes
ส่งท้ายด้วยงานระดับตำนานจากอัลบั้ม Thai Pop Spectacular งานดิสโก้ บูกี้เดือด ๆ ต้องมา! ควรตายด้วยลูกปืน คือผลงานของ ไฉไล ไชยทา ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่ามีต้นฉบับเป็น Boogie Woogie Dancing Shoes ที่เน้นความสนุกสนาน ระรื่นหู รวมถึงเราด้วย เพราะทีแรกคิดว่าเป็นงานที่ได้อิทธิพลมาจากเพลงฝรั่งสมัยก่อนแต่คิดเนื้อเพลงเอง คิดทำนองเอง ต่าง ๆ แต่ความเด็ดของเพลงนี้ในเวอร์ชันภาษาไทยคือการใช้วิธีร้องแบบไทย ๆ เสียงแหลม ๆ และเป็นการด่าผู้ชายที่สำหรับสมัยนั้นถือว่าค่อนข้างรุนแรงดุเด็ดเผ็ดมัน ฟังแล้วเห็นภาพ แบบรักแรง เกลียดแรง พร้อมควักปืนมายิงให้ตายได้ทุกเมื่อ
ด้วยเหตุนี้เองเราจึงเข้าใจว่าที่เกิดการแปลงเพลงขึ้น นอกจากจะเป็นการแสดงความชื่นชมในการประพันธ์ดั้งเดิมแล้ว ยังเป็นการทำให้คนไทยได้รู้จักกับเพลงเพราะจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงทำให้เข้าใจความหมายของเพลงนั้น ๆ มากขึ้น และก็ไม่ได้มีแค่ประเทศตะวันตกที่ถูกเอาเพลงมาคัฟเวอร์นะ ยังมีประเทศอย่างจีน ฮ่องกง หรือญี่ปุ่น ที่คนไทยเอามาร้องด้วยเหมือนกัน ทั้ง ดิงดองซองไทย หรือ สุกี้ยากี้ ที่คุณตาคุณยายน่าจะเคยร้องให้ฟัง
อนึ่ง ก็มีเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงต้นฉบับที่สมัยก่อนยังไม่มีหน่วยงานคุ้มครองดูแลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จึงทำให้เกิดการแปลงเพลงขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในยุคก่อน แต่ถ้าเป็นสมัยนี้นอกจากจะละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว อาจจะถูกล่าแม่มดเอาต้นฉบับมาเทียบให้บรรดาศิลปินหน้าหงายก็เป็นได้