Sounds of Architects
ทำไมเด็กถาปัตย์ถึงชอบทำดนตรี ?
ไม่น่าจะมีแค่ทีมงานฟังใจที่สงสัยว่าทำไมเด็กถาปัตย์ถึงชอบทำวงดนตรีกันนัก เพราะจากที่สังเกตมาวงดนตรีที่มักจะอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนร่วมสถาบันเดียวกันส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเด็กถาปัตย์มอนั้นมอนี้กันยุบยับไปหมด เราเลยเข้าไปถามตัวแทนวงดนตรีเด็กถาปัตย์ดูว่าทำไมพวกเขาถึงได้มาฟอร์มวงกัน
อธิษว์ ศรสงคราม (อ้วน Armchair)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“ที่จริงแล้วเราก็ไม่ได้เรียนสถาปัตย์นะ มันแค่อยู่ในภาคสถาปัตย์ ของมหาลัยเราอะ สำหรับลาดกระบังมันคงเป็นเพราะมันไกลจากความเจริญมาก หลังเรียนเสร็จก็ไม่ค่อยมีอะไรทำกันวงดนตรีมันถึงเยอะแยะขนาดนี้ ซึ่งจริง ๆ ก็มาจากหลายคณะมากไม่ใช่แค่สถาปัตย์ ยกตัวอย่างเช่น พี่ป๊อก พี่จูน Stylish Nonsence ก็เรียนวิศวะมา เรา โย่ง พี่ผึ้ง เรียนในคณะย่อยของสถาปัตย์ อยู่ในนิเทศศิลป์ จบมาไม่สามารถสร้างบ้านได้”
จิติวี บาลไธสง (ไผ่ PLOT)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ผมกับวิทย์ทำวงตั้งแต่มัธยมอยู่แล้ว อันนี้ผมว่าไม่เกี่ยวที่ต้องเป็นคนเรียนสถาปัตย์นะ แต่ถ้าเกิดเป็นแบบนั้นจริง ๆ น่าจะเป็นเพราะดนตรีกับงานสถาปัตยกรรมมันไม่ต่างกัน คือเราเห็นว่ามันมีความงามยังไงจากความคิดที่อยู่เบื้องหลังมัน วิธีการสร้างสรรค์ วิธีสร้างงานให้ดีก้ต้องเข้าใจเครื่องมือ เวลาซ้อมดนตรีก็เหมือนกัน process ทั้งสองอย่างมันคล้ายกัน”
ภัทรพล ทองสุขา (เม้ง Desktop Error)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบัง
รังสรรค์ ปัญญาใจ (บิว Lemon Soup)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“คือเรื่องของเด็กถาปัตย์ทำวงดนตรีมันคงเป็นเรื่องเล่าของอดีตไปแล้วล่ะครับ เพราะช่วงนั้น สำหรับเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่หลงใหลในดนตรี อยากแต่งเพลง ทำเพลง มันเป็นเรื่องไกลตัวมาก และคณะเรียนต่อด้านดนตรี ก็เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับเด็กที่รักเสียงเพลง แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญการเล่นดนตรีเท่าไหร่ เพราะแค่การสอบเข้าวิทยาลัยดนตรีก็ดูยาก และน่ากลัวมาก ทั้งที่บ้าน ทั้งสกิลของเรา จบมาไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร เด็กที่ชอบเสียงเพลง และศิลปะ ซึ่งมักจะมีสองส่วนอยู่ในตัวเอง ก็จะเลือกทางเลือกในการเรียนต่อในด้านที่มันคิดว่าจะเอาตัวรอดหลังจากเรียนจบได้ในขณะนั้น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เลยเป็นที่ที่คนรักศิลปะและการออกแบบ รวมถึงเสียงเพลง ไปกระจุกรวมตัวกันอยู่ ณ ตอนนั้น
พอเข้ามาเรียนถาปัตย์ ความฝันที่มันติดตัวมาก็คือการเล่นดนตรี ทำเพลง แล้วพอวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์บวกรวมกับศิลปะอย่างสถาปัตยกรรม มันฝังในนิสัยของเด็กถาปัตย์แล้ว การทำวงดนตรี สร้างงานของตัวเองออกมา เลยกลายเป็นสิ่งสนุกคิดของนักเรียนสถาปัตย์ ถ้ามองการเรียนดนตรี เมื่อก่อนเราจะมองเป็นแค่ศิลปะ การเล่นให้เก่ง มีสกิลเทพ ๆ ใช่มั้ย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเหมือนกัน เราคิดว่า การสร้างงานเองโดยเอาสกิลการเล่นในเชิงศิลปะแท้ ๆ ที่เราก็ไม่ได้เก่งมากขนาดนั้น มาถ่วงดุลด้วยการสร้างงาน สร้างเพลง สร้างวง คือการออกแบบการนำเสนออีกด้านหนึ่งของมัน เมื่อเล่นไม่เก่งอย่างใคร ก็เอาการเล่าเรื่องมาบาลานซ์ตรงนั้นซะ แต่การเล่นไม่เก่ง ไม่ใช่ว่าเล่นห่วยนะ คือเราไม่ได้เล่นแบบนักดนตรีเชิงทักษะ เราลดทอนความยากบางอย่างลง เหมือนเราเอาศิลปะมาควบรวมกับวิทยาศาสตร์ เป็นเชิงพานิชย์ศิลป์ การเกิดวงดนตรีของนักเรียนสถาปัตย์ ที่ชอบดนตรี เลยเป็นทางออกที่ลงตัวมาก แต่มันก็ไม่ได้มีเยอะขนาดแบบ เฮ้ย เรียนถาปัตย์ ทำแต่ดนตรี แต่บังเอิญคนที่มีแนวคิดในการบาลานซ์สองอย่างเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นงานดนตรีแบบ design มักจะมารวมตัวกันที่คณะสถาปัตย์ แล้วบุคคลิกเฉพาะตัวของนักเรียนสถาปัตย์ตอนนั้นมันก็ค่อนข้างเป็นข้อดีในการสร้างวงดนตรี เพราะมันจะรวมเอาตัวประหลาด คนมีความคิดประหลาด ๆ มาอยู่ด้วยกัน มันมีคาแรคเตอร์มาก จากมุมมองที่มองคณะสถาปัตย์ตอนนั้นมันไม่ได้เป็นนักดนตรีสุดโต่ง มันบาลานซ์สมองกันโดยอัตโนมัติ จากวิธีคิดการเรียนการสอนแบบสถาปัตย์ที่เราก็ไม่รู้ตัวหรอก แต่มันฝังลงไปโดยอัตโนมัติมั้ง”
กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ (กาจ Morning Surfers)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ผมว่าดนตรีมันไม่ได้มีแค่เสียงอย่างเดียวครับ มันมีมิติของ design เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกราฟฟิค เรื่องการออกแบบบนเวที เรื่อง setting มันเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด ถ้าถามว่าทำไมเด็กถาปัตย์ชอบเล่นดนตรี ผมว่ามันเป็นของคล้าย ๆ กัน มันสามารถที่จะ apply ได้เร็วมั้ง เวลาที่เราขึ้นไปเล่น ภาพที่เราอยากเห็นมันจะเป็นแบบนี้ เสียงที่เราอยากได้ยินจะเป็นแบบนี้ เราต้องทำยังไงให้ได้อันนั้นมา มันก็เลยเหมือนกับเป็นความสนุกรูปแบบนึง การเป็นสถาปนิกมันมีความแสวงหาฮีโร่อยู่ประมาณนึง เราชอบคนนี้ เราอยากรู้ว่าเขาคิดอะไร มันก็เหมือนกับเราเล่นดนตรี เราชอบมือกีตาร์คนนี้มาก เขาทำยังไงถึงได้เสียงแบบนี้ วิธีการเล่น การวาง structure มันเป็นยังไง เหมือนเป็นเรื่องเดียวกันนะ”
อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข (แสตมป์)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“จริง ๆ มันมีหลายอาชีพนะ แต่แค่มันเป็นนักดนตรีแล้วสายเราคนจะรู้จักมากกว่า ภรรยาผมก็เคยถามเหมือนกันว่าทำไมคณะผมมีอาชีพแปลก ๆ เยอะจัง เช่น รับจัดไฟตึก ทำอะไรแปลก ๆ แบบนี้ สำหรับเราคิดว่ามันปกตินะก็งานพวกแสดง ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจคือคนที่จบไปจากที่นี่ส่วนใหญ๋จะเป็นครีเอทีฟโฆษณากันเยอะมาก ผมทำงานเป็นศิลปินทุกวันนี้เวลาไปร่วมงานกับใครก็จะเจอเพื่อน ๆ ผมทั้งนั้น ผมคิดว่ามันน่าจะมาจากความกล้าหาญมากกว่าที่กล้าจะออกนอกลู่นอกทาง เพราะถ้าเทียบอาชีพกันระหว่างนักร้องกับกราฟิกจริง ๆ มันเสี่ยงเท่ากันนะ อันนี้ขอเดา ๆ ว่า ความกล้านอกลู่นอกทางมากกว่าครับที่ทำให้หลาย ๆ คนเลือกเป็นศิลปินกันเยอะครับ”
หลังจากที่เราลองสำรวจดูในประวัติศาสตร์วงดนตรีในเมืองไทย ไหนมาดูซิว่ามีวงไหนที่ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นเด็กถาปัตย์กันบ้าง สามารถคลิกที่วงเพื่อรับฟังเพลงของพวกเขาในฟังใจได้เลย
เฉลียง, พราว, เมธี Moderndog, อ้น และ วิ Flure, กาจ Morning Surfers, ญารินดา, Lemon Soup, Armchair, Atit Sornsongkram, แสตมป์ อภิวัชร์, ไผ่ PLOT, Desktop Error, Two Million Thanks, กล้า จีจี้ ที New Mandarin, นท พนายางกูร, Freehand
ติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจของนักดนตรีสายออกแบบคนอื่น ๆ ได้ใน Fungjai Zine ตลอดทั้งเดือนนี้