Songs About Bangkok มองกรุงเทพ ฯ ผ่านเพลงจากศิลปินต่างชาติ
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Art Director: Thanaporn Sookthavorn
เราถูกปลูกฝังมาตลอดว่าประเทศไทยหรือแม้แต่ในกรุงเทพ ฯ นั้นเต็มไปด้วยวัฒนธรรมอันดีงาม สยามเมืองยิ้ม ผู้คนถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ถึงขั้นชูให้เป็นจุดเด่นของเมืองไทยอยู่ยุคหนึ่งเลยทีเดียว แต่เราเป็นคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ ฯ ก็ยังรู้สึกขัดแย้งอยู่ในใจเบา ๆ ว่า ประเทศเรามีจุดดีเหล่านี้อยู่จริง ๆ หรอ ? เราจะได้ยินการจัดอันดับเมืองท่องเที่ยวกันบ่อย ๆ สื่อมักบอกว่าเมืองไทยน่าเที่ยวเพราะเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ เรามีวัดอันสวยงามมีประเพณีอันดีงามอย่างสงกรานต์ ชาวต่างชาติต้องชอบ
แต่ล่าสุดจากข่าวของ BBC ไทย Post Office Travel Money จัดอันดับให้กรุงเทพ ฯ เป็นอันดับ 1 เมืองที่ชาวอังกฤษชอบมาเพราะค่าครองชีพถูก ไม่มีใครพูดถึงวัดเลย หรือเรากับคนต่างชาติมองกรุงเทพ ฯ ไม่ค่อยเหมือนกันหว่า อย่างนี้ลองไปฟังเพลงที่ศิลปินบางคนแต่งถึงเมืองหลวงของเราหน่อยว่าเขามองว่ามันเป็นยังไงบ้าง
Murray Head – One Night In Bangkok
One night in Bangkok makes a hard man humble
Not much between despair and ecstasy
One night in Bangkok and the tough guys tumble
Can’t be too careful with your company
I can feel the devil walking next to me
เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกลืมจากละครเพลงเรื่อง ‘Chess’ เกี่ยวกับรักสามเส้าของนักแข่งหมากรุกระดับโลกจากอเมริกา ภรรยาของเขา และนักแข่งหมากรุกจากรัสเซียคู่แข่งของเขา เมื่อความระหองระแหงระหว่างนักแข่งหมากรุกอเมริกาและภรรยา เปิดช่องให้คู่แข่งคนสำคัญเข้ามาแทรกกลางและแย่งความรักของเขาไป ทำให้เขายอมไม่ได้ทั้งศึกรบและศึกรัก แม้ละครเพลงเรื่องนี้จะไม่ได้รับความนิยมมากนักแต่มีหลายเพลงเหมือนกันที่โด่งดังจากเรื่องนี้ ทั้ง I Know Him So Well, Someone Else’s Story และ Anthem และอีกหนึ่งเพลงที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ One Night In Bangkok ซึ่งนักแข่งหมากรุกชาวอเมริกันเปรียบชีวิตกลางคืนในกรุงเทพ ฯ กับการแข่งหมากรุก โดยพูดถึงบรรยากาศอันน่าหลงใหลของเมืองกรุงผ่านซอยคาวบอย แม่น้ำเจ้าพระยา (muddy old river) วัดโพธิ์ (reclining Buddha) และกะเทย (You’ll find a god in every golden cloister — and if you’re lucky then the god’s a she) แต่ก็ไม่มีอะไรดึงดูดใจของตัวเอกได้เท่าการเล่นหมากรุกอีกแล้ว ซึ่งเพลงนี้ก็เคยถูกรัฐบาลไทยแบนในปี 1985 โดยให้เหตุผลว่า ‘สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเมืองไทยและลบหลู่ศาสนาพุทธ’ อีกเหตุผลที่ทำให้เพลงนี้ถูกลืมเพราะมันก็ไม่ได้ช่วยดำเนินเรื่องเท่าไหร่ด้วย
แต่ในต้นฉบับของเรื่องนี้จากลอนดอน ตัวเอกร้องเพลงนี้ระหว่างกำลังให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีของไทยพร้อมกับคู่แข่งชาวรัสเซียของเขา เพราะการแข่งขันชิงแชมป์โลกหมากรุกในต้นฉบับจะถูกจัดขึ้นในกรุงเทพ ฯ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริงตัวเอกที่พูดออกอากาศแบบในเพลงคงถูกรัฐบาลไทยอุ้มไปแล้ว ฮา
Rush – A Passage To Bangkok
We’re on the train to Bangkok
Aboard the Thailand Express
We’ll hit the stops along the way
We only stop for the best
เป็นเพลงที่ Neil Peart มือกลองของวงเป็นคนเขียนเอง ซึ่งเนื้อหาไม่มีอะไรมาก เกี่ยวกับคาราวานที่เดินทางไปทั่วโลกเพื่อเสพยาโดยเฉพาะกัญชา ซึ่งแวะหลายประเทศทั้ง กัมพูชา, เม็กซิโก, จาเมกา, โมร็อกโก, อัฟกานิสถาน, เนปาล และเลบานอน เนื้อเพลงยังเต็มไปด้วยศัพท์ของสายควันทั้ง smoke rings และ pipe dreams แถมยังยินดีที่คนพื้นเมืองที่คอยส่ง ‘ยอดหญ้าปริศนา’ มาให้ด้วย แน่นอนที่ขาดไม่ได้เลยคือในเพลงก็พูดถึงไทยแลนด์แดนสยามของเราด้วยจ้า เพลงก็พูดตรง ๆ เลยว่าโหนรถไฟเข้ามากรุงเทพ ฯ ถ้าถามว่ามาทำอะไรก็คงไม่ต่างกับประเทศอื่น ๆ หรอกมั้ง แต่ในเนื้อเพลงก็บอกเลยนะว่า ‘We only stop for the best’ ก็ไม่รู้ว่าสำหรับคนกรุงเทพ ฯ แล้วมันน่าดีใจรึเปล่าที่มีกัญชาชั้นดีที่แม้แต่ศิลปินระดับโลกยังการันตี
มีเกร็ดอีกนิดนึง คือคำว่า ‘Passage to Bangkok’ ยังเป็นคำแสลงได้ด้วย ซึ่งหมายถึง The holy grail of any relationship หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทุกความสัมพันธ์ นั่นก็คือเซ็กซ์นั่นเอง
Brand New – Welcome to Bangkok
Space cadet, pull out
Space cadet, pull out
Space cadet
Pull out
เป็นหนึ่งในเพลงจากอัลบั้ม The Devil and God Are Raging Inside Me ซึ่งเต็มไปด้วยความเศร้า depression และความตาย โดยความเครียดส่วนหนึ่งมาจาก Jesse Lacey นักร้องนำและคนแต่งเพลงของวงที่ต้องรับมือกับความคาดหวังจากคนทั้งโลกหลังประสบความสำเร็จล้นหลามกับอัลบั้ม Deja Entendu ซึ่งเพลง Welcome to Bangkok ก็เป็นอีกเพลงที่ถ่ายทอดความมืดมนในอัลบั้มนี้ออกมาได้อย่างดี เมโลดี้ครึ่งแรกที่ผ่อนคลายและสนุกสนาน แต่ถาโถมดนตรีที่ดุดันใส่คนฟังในครึ่งหลัง กับเสียงพูดว่า ‘space cadet, pull out’ อันเย็นชาและห่างเหิน ซึ่งเปรียบนักบินอวกาศเหมือนเด็กหนุ่มที่ยังไม่รู้ประสากำลังล่องลอยและหายเข้าไปในอีกจักรวาลหนึ่ง หายเข้าไปในกรุงเทพ ฯ และอาจกลับออกมาไม่ได้อีกเลย
กรุงเทพ ฯ กลายเป็นคำเปรยของการโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นโลกที่เด็กไม่ควรเข้าไปสังเกตได้จากดนตรีที่น่ากลัวและรุนแรง เหมือนกับมิติลี้ลับที่เราหลงทางและอาจเลือนหายไปโดยไม่มีใครพบเจออีกเลย … ก็เป็นได้
Destroyer – Bangkok
Like you, I’ve been around the world, seen a million girls
I’ve seen Bangkok, I’ve seen Bangkok
Black, blue, red, wise, evil, very nice
Very nice
แม้เพลงจะดูเป็นกวีและท่วงทำนองมันน่าหลงใหลซะเหลือเกิน แต่ความจริงแล้วก็พูดถึงด้านมืดของกรุงเทพ ฯ อยู่เหมือนกัน Dan Bejar หัวหน้าวง Destroyer เคยบอกว่าเพลงนี้พูดถึงชีวิตอันเลวทรามต่ำช้าของผู้ชายชื่อ Sunny เมื่อมองย้อนกลับไปว่าเคยทำอะไรผิดพลั้งไปบ้าง ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคนขนาดนี้
เพลงนี้ไม่ใช่คำสารภาพแต่เป็นคำอธิบายมากกว่าว่าอะไรที่เคยเวิร์กสำหรับเราตอนนี้มันกลับไม่เวิร์กแล้ว ซึ่ง ‘black, blue, red, wise, evil, very nice’ ที่หลายคนอาจตีความหมายถึงอบายมุขทุกชนิดที่พบได้ในเมืองไทย ยาเสพติด ทัวร์เซ็กซ์ หรือการพนัน เป็นโลกสีเทาที่คนกลางคืนมีความสุขกัน แต่เจ้าตัวกลับบอกว่า “มันเป็นคำที่คนพูดกันอยู่แล้ว ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ” ไม่แน่เขาอาจจะกำลังเซ็นเซอร์ตัวเองไม่ให้พูดถึงสิ่งเหล่านั้นตรงไปตรงมาก็เป็นได้
Bejar ใช้คำว่า ‘decadence’ หรือความเสื่อมโทรมกับเพลงนี้เลยทีเดียว แต่ในท่อนที่สองของเพลงเขาเลือกที่จะร่ำร้องถึงแสงสว่างปลายอุโมงในชีวิต ทั้ง ‘birds in flight’ และ ‘red roses’ ต่างเป็นตัวแทนของความหวัง โดยรวมแล้วไม่ใช่เพลงที่ลึกซึ้งอะไรมากมาย ถึงจะพูดถึงกรุงเทพ ฯ ไม่ค่อยดีเท่าไหร่แต่ก็มีดนตรีที่น่าสนใจมาก และที่น่าตลกคือ เขาแต่งเพลงนี้ทั้งที่ไม่เคยมากรุงเทพ ฯ นี่จึงเปนเหมือนกรุงเทพ ฯ ในจินตนาการของเขามากกว่า
“ผมไม่เคยมากรุงเทพ ฯ นะ แต่ผมก็มีภาพจินตนาการของผมอยู่ ก็เลยไม่มีอะไรเกี่ยวอะไรกับเมืองจริง ๆ ผมว่าหลาย ๆ คนที่อยากลองเขียนอะไรออกมาจากวัน เวลา สถานที่ ก็อยากจะแต่งให้มันได้ธีมนั้น ๆ แหละ จะเอาชื่อของเมือง สวนสาธารณะ มาใช้ให้ดูสวย ๆ หรืออย่างผมนี่ชอบใช้วันที่ เอาชื่อของเดือน หรือปี ไม่ก็เป็นชื่อคน ทุกอย่างในนี้มันได้อิทธิพลมาจากสิ่งที่ปรากฏอยู่จริง แต่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเพลงเลยก็ได้
“มันเหมือนการเขียนมาจากมุมมองของคาแรกเตอร์ตอนที่ผมเขียน อารมณ์ในเพลงมันเหมือนการสังเกตถึงความหมายของเมืองในเชิงโรแมนติกที่ถูกถ่ายทอดมาจากคนรุ่นก่อน” — จากบทสัมภาษณ์ Fungjaizine
The Cult – Bangkok Rain
Black night baby
Past the midnight hour, yeah
All around me, all around me, all around me
Butterfly women singing
ฟังผ่าน ๆ แล้วเหมือนจะเป็นเพลงเศร้ากลางสายฝนในกรุงเทพ ฯ แต่ถ้าใครสังเกตดี ๆ จะต้องสะดุดกับคำว่า ‘butterfly women’ แน่นอน ลองเดาดูสิว่าหมายถึงอะไร? ‘butterfly’ เป็นแสลงตามพฤติกรรมของผีเสื้อเลยคือ ชอบมีปฎิสัมพันธ์กับคนมากหน้าหลายตาแต่จะไม่จดจ่ออยู่กับใครนาน ๆ และไปมีปฎิสัมพันธ์กับคนอื่นต่อ butterfly women ในเพลงนี้เลยเชื่อว่าน่าจะหมายถึงผู้หญิงขายบริการนั่นแล ไม่รู้ว่า The Cult ไปเจอที่ไหน รัฐบาลเรายืนยันได้ว่าไม่มี๊ ไม่มี
คุณเห็นด้วยกกับศิลปินเหล่านี้รึเปล่า? แล้วคุณเองมองกรุงเทพ ฯ ไว้ยังไงบ้าง