RUNวงการ
เมื่อช่วงต้นปีก่อน กิจกรรมยอดฮิตในออฟฟิศฟังใจคือการดูคลิปที่ร้อนระอุไปด้วยคำสบถจากฝีปากแร็พเปอร์ที่เราไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตากันเท่าไหร่ และตอนนั้นเองที่ทำให้พวกเราได้รู้จักกับ Rap is Now กลุ่มคนรักฮิปฮอปที่กำลัง RUN วงการกันอยู่ในขณะนี้
หลังจากที่ทีมงานบางส่วนได้ไปสัมผัสประสบการณ์ประชันแร็พกันสด ๆ มาแล้วในรอบ quarter final ของ The War is On ซึ่งหลังจากนั้นมาความอินกับกระแส rap battle ถึงกับทำให้บางคนโหลด application บีทฮิปฮอปมาฝึกแร็พกันอย่างเมามัน ก่อนที่จะเข้าสู่โลกของฮิปฮอป เราขอถือโอกาสนี้พาทุกคนย้อนไปทำความเข้าใจถึงต้นกำเนิดของเพลงแร็พและฮิปฮอปในประเทศไทย ว่าจริง ๆ แล้ว วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในแดนสยามของเรามาอย่างช้านาน
หลายคนอาจจะสับสนระหว่างเพลงแร็พกับฮิปฮอปว่า อ้าว มันไม่ใช่อย่างเดียวกันหรอ จริง ๆ แล้วเนี่ย แร็พเป็นการใส่ชุดคำที่คล้องจองกันลงไปในทำนองเพลง ส่วนฮิปฮอปจะหมายถึงวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตมากกว่า ว่ากันว่าเพลงแร็พแบบไทย ๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รุ่นย่าคือ เพลงแหล่ เพราะมันก็คือการนำคำคล้องจองใส่ลงไปในทำนองเช่นเดียวกัน แต่ถ้าพูดในแง่ที่ร่วมสมัยขึ้นมา จากการได้ดูคลิป HIPHOP HISTORY ของ Rap is Now เราก็พบว่าแร็พเพลงแรกในบ้านเราคือเพลงของ ตู้-ดิเรก อมาตยกุล ถามว่ามันแร็พยังไง เขาก็ใช้การหยิบคำที่ออกเสียงพ้องหรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า rhyme มาใส่ในเพลงนั่นแหละ ดังนั้นเพลงที่รัวคำอย่าง สาวบางโพ หรือเพลงของ เจ เจตริน, ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง และRaptor ล้วนแต่เป็นเพลงแร็พทั้งนั้น เพียงแต่ผสมผสานความเป็นป๊อปแดนซ์เข้าไปให้ฟังง่ายและเป็นที่นิยมของท้องตลาดเท่านั้นเอง
และจากคลิปที่ว่า เราก็ได้ยินชื่อวง ๆ หนึ่งที่บอกกันว่าเป็นวงโปรดของแร็พเปอร์ในยุคต้น ๆ นั่นคือ Da Killerz ซึ่งเมื่อสืบประวัติดี ๆ แล้วก็พบว่าหนึ่งในสมาชิกของวงนี้คือ เชาเชา-ชวลิต ศรีมั่นคงธรรม ดีเจอารมณ์ดีแห่งคลื่น EFM นั่นเอง และด้วยความเชื่อที่ว่าเขาคนนี้น่าจะรู้เรื่องราวในวงการสมัยยุคฮิปฮอปรุ่งเรืองในอดีต เราเลยมาเจอเขาที่ตึกแกรมมี่กันก่อนจัดรายการ ในเวลาไม่กี่อึดใจ เขาก็เริ่มเล่าประวัติความเป็นมาของวงการฮิปฮอปไทยอย่างคล่องปาก
สำหรับยุคทองของฮิปฮอปไทยก็คงจะหนีไม่พ้น โจอี้ บอย แล้วจึงมาเป็น Khan-T, TKO, Dajim, Buddha Bless แล้วก็เป็น Da Killerz จึงมาเป็นยุคของ Thaitanium ที่มาพร้อมกับยุค millennium หรือปี 2000 ยังมี Thaikoon, S.O.S (Souls of Siam)และไม่น่าเชื่อว่าวงอย่าง นายครรชิตกับทิดแหลม ก็เป็นฮิปฮอป เพียงแต่เขาใส่สไตล์สามช่าเข้ามา ตอนนั้นวงการฮิปฮอปก็ไม่ยอมรับเพราะคิดว่านี่มันคือสามช่า คือแหล่ แต่ถึงจะไม่ได้รับการยอมรับแต่ก็เป็นวงที่ดังมาก อันนี้ดีเจเชาเชาเสริมว่าเขารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วเพลงฮิปฮอปไม่จำเป็นต้องเป็นบีทแบบที่เราคุ้นกัน แต่มันเป็นสามช่าแร็พก็ได้ เป็นการเปิดโลกทัศน์ของฮิปฮอปให้กว้างขึ้นด้วยความมีสไตล์เป็นของตัวเอง
ยุคหลัง ๆ ก็มีวงอย่าง สิงห์เหนือ เสือใต้, ฟักกลิ้งฮีโร่, Southside, Illslick, AA Crew และกลุ่มก้านคอคลับที่เรารู้จักกันดี นี่แค่ตัวอย่างเรียกน้ำจิ้มเท่านั้นเพราะแท้ที่จริงแล้วศิลปินฮิปฮอปในไทยก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพียงแต่แนวเพลงนี้อาจไม่ได้รับความนิยมโดยทั่วไปเท่านั้นเอง
“ประมาณปี 1999 น่าจะเป็นยุคแรกของฮิปฮอปบ้านเรา เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก ก็จะมีวงที่ออกมาก่อนคือ Khan-T, TKO หลังจากนั้นก็จะเป็น โจอี้ บอย ที่ทำให้เรารู้จักกัน แล้วก็มี Thaitanium ช่วงที่ สองกลุ่มนี้ออกมาก็ได้ปั่นกระแสของฮิปฮอปขึ้นมาแล้ว คนเริ่มรู้จักเพลงสไตล์นี้ เด็ก ๆ เริ่มชอบ แต่ว่ามันจะนิยมสำหรับเด็กที่เรียนที่เมืองนอก เขาจะรู้ว่าศิลปินฮิปฮอปบ้านเรามีใครบ้าง แล้วเขาก็จะตามฟังทุกวงเลย ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเราไปต่างประเทศ เด็กที่เรียนอยู่ที่นู่นรู้จักวงเราทุกคน เลยมีความรู้สึกว่าทำไมเมืองไทยบ้านเรามีคนรู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง เลยมานั่งคิดว่ามันเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะว่า หนึ่ง คือ รสนิยมในการฟัง เด็กที่นู่นเขาจะชอบเพลงแร็พ เพราะเขาใกล้ชิดกับเพลงแร็พมาก
ศิลปินที่โด่งดัง เพลงที่ติดชาร์ตส่วนใหญ่จะเป็นเพลงแร็พ เพลงสากล เขาก็เลยคิดว่าเพลงจังหวะแบบนี้เขาคุ้นเคย ฟังง่าย เขาร้องเพลง ไสยศาสตร์ ของเราได้ เราว่ามันเจ๋งมาก ก็เลยมีกำลังใจ แต่พอกลับมาบ้านเราก็จะมีคนฟังเฉพาะกลุ่ม กลุ่มที่ฟังเพลงฮิปฮอปก็จะรู้จักวงฮิปฮอปอยู่แล้ว อย่างคนที่ชอบสกาก็จะรู้ว่ามีวงอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตอนนั้นของเรามาในยุคที่ถูกที่แต่ผิดเวลา มันมาเร็วเกินไป มาเร็วกว่าที่คนไทยจะรู้จักและซึมซับมันได้ดี ถ้าพี่มาหลังจาก 1999 อาจจะเป็น 2003, 2004 เราว่าน่าจะมีคนรู้จักวงเรามากกว่านี้”
ดีเจเชาเชาบอกว่าความโดดเด่นของวัฒนธรรมนี้อยู่ที่การแต่งตัว แฟชั่น เสื้อผ้า หลายคนชอบแฟชั่นแต่แต่งเพลงไม่เป็น มีช่วงหนึ่งที่เด็กฮิปฮอปเดินเต็มสยามเพราะดูเท่ แปลก และมีราคาแพง บางคนที่แต่งตัวแบบนี้จะรู้สึกว่าได้ขยับฐานะทางสังคมขึ้นมาอีกระดับ เพราะคนที่เรียนเมืองนอกตอนนั้นเขาฟังแต่ฮิปฮอป แต่บางคนก็ใช้จุดเริ่มต้นตรงนี้ในการหัดแต่งเพลงเพื่อให้ซึมซับกับความเป็นฮิปฮอปมากขึ้น ซึ่งเนื้อหาที่อยู่ในเพลงก็มักจะพูดเรื่องชีวิตที่พวกเขาประสบมา
“ฮิปฮอปไทยก็พูดเรื่อง lifestyle เหมือนกับฮิปฮอปเมืองนอก สิ่งเสพติด ผู้หญิง หรือเขาไปเจออะไรมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องยาเสพติด gangster โจร หรือด่ากัน มันจะอยู่แต่ underground เพราะขึ้นมาไม่ได้ เนื่องด้วยค่านิยมบ้านเราค่อนข้างซีเรียสเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นแล้วฮิปฮอปที่อยู่ on the floor มันจะมีอยู่ไม่กี่เรื่อง ถ้าเป็นเรื่องยาก็อาจจะเป็นการสอน สอนในสิ่งที่ดีว่าไม่ควรไปลองหรือไม่ควรไปยุ่ง แต่ส่วนใหญ่หลัก ๆ แล้วก็น่าจะเป็นเรื่องสาว ๆ ความรัก เรื่องของ lifestyle ไปเจออะไรมา อกหักคนนู้นแย่งคนนี้ หรือไม่ก็อาจจะเป็นเรื่องความเป็นนักเลงต่อยตีกัน มันก็ยังสามารถถ่ายทอดได้”
จากที่เราได้สอบถามข้อมูลมาประมาณหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของวงการนี้คือการ rap battle ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง ‘8 Mile’ ก็จะรู้ว่า Eminem ก็โด่งดังจากการชนะการแข่งขันในรายการนี้และกลายเป็นแร็พเปอร์ผิวขาวคนดังของยุค สำหรับในบ้านเราสมัยก่อนเขามีคลับสำหรับชาวฮิปฮอปโดยเฉพาะชื่อ Leo Grotto และการรวมตัวทุกคืนวันเสาร์ในสีลมซอย 4 ที่ชาวฮิปฮอปมาปาร์ตี้บลิง ๆ กัน ก็กลายเป็นจุดกำเนิดของแร็พเปอร์หน้าใหม่มากมาย
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองไทยมานานหลายสิบปี แต่กระแสเพิ่งจะมาถูกกระทุ้งอีกครั้งจนเลือดแร็พเปอร์ในตัวเดือดพล่านจนอยากจะพ่นเพลงแร็พใส่ทุกคน ยังมีอีกหลายเรื่องในวงการที่คุณอาจไม่เคยรู้ ให้ลองติดตามดูใน Fungjaizine ตลอดทั้งเดือนนี้
#Respect
ข้อมูลอ้างอิงจาก
ชวลิต ศรีมั่นคงธรรม