Platform การซื้อขายเพลง เว็บไซต์ให้บริการเพลง และ music streaming ในอนาคต
Platform การซื้อขายเพลง เว็บไซต์ให้บริการเพลง และ music streaming ในอนาคต
แต่ก่อน แพลตฟอร์มการฟังดนตรีของเราจากที่ต้องหาเครื่องเล่นมาเล่นแผ่นไวนิล (และแม้ว่าตอนนี้จะยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เลือกฟังเพลงด้วยวิธีนี้จากรสนิยมส่วนบุคคลก็ตาม) มีเครื่องเล่นเทป มีวอล์คแมนไว้ฟังซีดีเวลาไปไหนมาไหน และเราคงเคยชินกับการไปเดินดูตามแผงเทปหรือซีดี แล้วลองกดฟังเพลงที่หัวเชลฟ์ก่อนตัดสินใจซื้ออัลบั้มนั้น ๆ แต่ ณ ขณะที่ทุกอย่างหมุนไวไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามา รูปแบบการใช้ชีวิตของทุกคนก็เปลี่ยนไป จริง ๆ ก็แอบเบื่อที่ต้องขึ้นหัวบทความที่อิงว่า “เทคโนโลยีมันมีผลกับชีวิตเราจริง ๆ นะแก” แต่ยอมรับเถอะ มันคือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ อะ กลับมาต่อ ตอนหลังก็มีพวกไฟล์เพลง MP3 ให้โหลดเข้ามือถือหรือ iPod สะดวกสบายกว่ากันแยะ แต่เราก็ทราบกันดีใช่ไหมว่าไฟล์เพลงที่โหลดกันมาแบบฟรี ๆ เนี่ย ทั้งผิดกฎหมาย ละเมิดลิขสิทธิ์ เสียงคุณภาพต่ำ แล้วเจ้าของผลงานยังไม่ได้ค่าตอบแทนพลังแรง พลังใจ พลังสมอง ที่พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้พวกเราได้ฟังอีก
ฉะนั้นแล้ว หลายค่ายเพลงที่เป็นห่วงปากท้องของศิลปินก็เพิ่มช่องทางให้ดาวน์โหลดผลงานของแต่ละวงได้แบบถูกกฎหมาย และสร้างรายได้ให้ศิลปินด้วย ซึ่งผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ก็มองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดที่ทางตรงนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้ลงทุนเหล่านี้จะบอกว่า นี่คือการเพิ่มทางเลือกให้กับคนฟังเพลงและศิลปิน ด้วยการนำเสนอเงื่อนไขการได้รับผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันว่าจะมีช่องทางใดบ้างสำหรับการฟังเพลงและดาวน์โหลดกันได้แบบถูกลิขสิทธิ์จากทั้งผู้ให้บริการทั้งไทยและเทศ
Deezer
ผู้ให้บริการรายแรก ๆ ที่หลายคนจะนึกถึงทันทีเมื่อพูดถึง Music streaming มีให้บริการทั้งแบบฟรี ๆ กับเสียเงินเดือนละ 179 บาท กับกว่า 35 ล้านเพลงที่เราจะได้ฟัง ซึ่งฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ โดยทั่วไปก็ไม่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นที่ทักมีการให้ดาวน์โหลดเพลงลงมาฟังได้แบบออฟไลน์โดยจะเรียกว่า Sync กับคุณภาพไฟล์ 320 Kbpsและสามารถสร้างเพลย์ลิสต์ส่วนตัวได้เช่นกัน เราสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของดีเซอร์เข้ามาใช้ใน Device ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น PC, Mac, smartphone, tablet, รถยนต์, โทรทัศน์ หรือเครื่องเสียงความละเอียดสูง หากเราใช้แอปพลิเคชันใน Mac เมื่อล็อกอินเข้าไปแล้วจะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับ iTunes ได้อีกด้วย แต่ถ้าต้องเสียเงินแล้วย่อมต้องมีความแตกต่างระหว่างดีเซอร์กับสตรีมมิงอื่น ๆ โดยดีเซอร์จะสามารถแสดงเนื้อร้องของเพลงนั้น ๆ ได้ แบ่งประเภทเพลงที่เราชอบไว้ให้ และมีฟังก์ชันที่ชื่อว่า Flow ที่จะสุ่มเพลงมาเปิดให้เราโดยเลือกเอาที่ใกล้เคียงกับความสนใจส่วนตัวหรือรสนิยมของเราที่เจ้าดีเซอร์ track ตามได้จากเพลงก่อน ๆ ที่เรากดฟัง นอกจากนี้เราสามารถกดแชร์สิ่งที่เรากำลังฟังไปยังโซเชียลมีเดียให้เพื่อน ๆ สามารถฟังเพลงตามที่เราฟังอยู่ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงจากค่าย RS และ Sony Music และเพลงสากลเสียมาก สำหรับของ GMM Grammy ที่อาจจะมีให้ฟังแต่งานชุดเก่า ๆ ส่วนเพลงไทยค่ายเล็กก็มีอยู่ประปราย และแน่นอนว่าศิลปินที่มาเข้าร่วมกับดีเซอร์ก็จะได้ผลตอบแทนจากการเข้าฟังของสมาชิก
KKBox
อีกเว็บไซต์ที่เชื่อมการให้บริการร่วมเข้ากับแพคเกจของค่ายโทรศัพท์มือถือ AIS โดยจากค่าบริการปกติในแต่ละเดือนที่ 203 บาท หากสมัครใช้แพคเกจกับเครือข่ายจะเหลืออยู่ที 89 บาท/เดือน ถ้าพูดตามตรงคือไม่ค่อยมีความแตกต่างจาก Deezer เท่าไหร่ เพียงแค่รูปลักษณ์ที่ดูจะสะอาดตา ซึ่งรองรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ทั้ง iOS , Android , Windows Phone , OS X , Windows และเพลงส่วนใหญ่ที่อยู่ในแอปพลิเคชันนี้จะมาจากค่าย GMM Grammy ซึ่งล้วนแต่เป็นเพลงใหม่ที่เพิ่งปล่อยออกมาทั้งนั้น รวมถึงสามารถค้นหาเพลงเก่า ๆ จากค่ายดังกล่าวได้เช่นกัน และยังสามารถ Sync เพลย์ลิสต์เข้ากับ Device ของเราได้ด้วย
Tidal
บริการ Music streaming ที่มาแรงสุด ๆ จาก Jay-Z ซึ่งเราไม่น่าพลาดช่วงที่เขาได้อาศัยการโปรโมทอันทรงพลังจากการให้เพื่อนศิลปินหลายคนเปลี่ยนรูปโปรไลฟ์เป็นสีฟ้าพร้อมใส่ Hashtag #TIDALforAll ความพีคของไทดัลคือการให้บริการสตรีมเพลงคุณภาพสูงระดับ High Fidelity (HiFi) FLAC/ALAC 44.1kHz/16 bit หรือ Lossless 1441 Kbps แบบที่คนรักการฟังเพลงระดับหูละเมียดจะไม่ผิดหวังแน่นอน (นางเคลมว่าซาวด์ชัด ใสกิ๊ง ยิ่งกว่า Spotify กับ iTunes อีกอะแกร) และที่สำคัญคือเพิ่งประกาศเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ โดยฟังก์ชันที่ว่าจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเราสมัครใช้บริการในราคา 358 บาท/เดือน ส่วนแบบที่ถูกลงมาหน่อย คุณภาพเสียงก็จะลดถอยลงมาอยู่ที่ AAC 320 kbps ในราคาเดือนละ 179 บาท นอกจากนี้แล้ว ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเพลงมาฟังแบบออฟไลน์ได้อีกด้วย โดยตอนนี้ไทดัลมีคลังเพลงกว่า 25 ล้านเพลง และมิวสิควิดิโอกว่า 75,000 คลิปเป็นที่เรียบร้อย แต่มิวสิควิดิโอยังไม่ค่อยคมชัดและยังต้องรอ Buffering อยู่ และการเล่นแบบ Lossless ใช้ได้เฉพาะในเบราเซอร์ Chrome และมีแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฏิการ iOS 7 และ Android 4.4.4 ขึ้นไปเท่านั้น โดยเจย์ซีบอกอีกว่าศิลปินที่มีผลงานอยู่ใน Tidal จะได้รับผลตอบแทนอย่างยุติธรรม (อย่างน้อยก็มากกว่าผู้ให้บริการรายอื่น) เพราะไทดัลถือว่าศิลปินก็เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีทั้ง Content, community, playlist และ บันทึกการแสดงสดให้เข้าไปดูอีกด้วย หากใครสงสัยว่าไทดัลมีสตรีมมิงเพลงไทยหรือไม่ ตอนนี้มีเพลงจากค่าย Spicy Disc และ BEC-Tero Music เท่านั้น ถ้าอยากฟังเพลงของวงอื่น ๆ คงต้องอดใจรอกันอีกพักนึงนะ
Apple Music
เมื่อสองเดือนก่อน Apple ได้ให้บริการ Music streaming ตัวใหม่โดยให้สิทธิใช้บริการฟรีสามเดือนได้ทั้งบน Mac และ PC ที่อัพเดท iTunes เป็นเวอร์ชัน 12.2 iPad, iPhone, iPod touch ที่อัพเดท iOS เป็นเวอร์ชัน 8.4 ขึ้นไปแล้วเท่านั้น กับ Apple Music ที่เราสามารถเลือกฟังเพลงอะไรก็ได้เกือบทั้งหมดที่มีอยู่ภายใน iTunes โดยความพิเศษของบริการนี้คือนอกจากว่าเราจะได้ฟังเพลงแบบไม่จำกัด ก่อนจะถูกบังคับให้จ่ายในราคา $4.99 /เดือน สำหรับบุคคลทั่วไป หรือ $7.99 /เดือนสำหรับ 6 คน โดยจะมีบริการเสริมอื่น ๆ อีก เช่น Connect ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปิน ฟัง Apple Music Radio ที่จะให้เราเลือกนักร้อง แนวเพลง จัดรายการวิทยุของเราแล้วปล่อยให้ดำเนิรายการด้วยตัวเอง หรือจะฟังวิทยุสตรีมมิง Beats 1 ที่มีผู้จัดรายการ โดยสถานีจะตั้งอยู่ที่ Los Angeles, New York และ London โดยการันตีว่าจะเปิดเพลงที่ใหม่และดีที่สุดจากทีมงานมืออาชีพ หรือดาวน์โหลดเพลงเพื่อมาฟังแบบออฟไลน์ได้ แต่ปัญหาคือเรายังมีความจำเป็นที่จะต้องจ่ายค่าบริการทุกเดือนจึงจะยังรับฟังเพลงนั้นได้แม้ว่าจะดาวน์โหลดลงมาแล้วก็ตาม บางคนอาจจะสงสัยว่า Apple Music ต่างจาก iTunes Match อย่างไร คือ Apple Music จะให้เราสามารถฟังเพลงออนไลน์และใช้บริการจิปาถะได้ เพียงแต่ว่าจะไม่ได้เก็บเพลงนั้นให้เราบน iCloud เหมือน iTunes Match แต่ทั้งสองฟังก์ชันนี้จะเชื่อมต่อกันเพื่อเลือกเพลงที่จะเล่นในคลังเพลงของเราได้ เพราะถ้าไม่มีเพลงที่เราจะฟังอยู่ในคลังเพลง Apple Music ก้จะไปดึงเอามาสตรีมให้เราฟัง นอกจากนี้แฟน Android ไม่ต้องกลัวว่าจะลองใช้บริการฝั่งนี้ไม่ได้ เพราะทีมงานกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยไม่เกินปลายปีนี้อยู่เช่นกัน สำหรับเพลงไทยที่จะเจอได้ในบริการนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงจากค่าย BEC-Tero Music (รวม LoveIs, Bakery, Sony Music), Smallroom, และ iAm ที่มีผลงานของศิลปินจากรายการ The Voice ให้ได้กดฟังกัน
Bandcamp
เป็นอีกช่องทางยอดนิยมสำหรับศิลปินอิสระที่จะทำเพลงและปล่อยของกันบนนี้ โดยสามารถให้คนเข้ามาฟังและเลือกดาวน์โหลดเพลงของเราได้ทั้งอัลบั้ม หรืออาจจะปล่อยให้โหลดฟรี ๆ ก็ตามสะดวก แต่ก็สามารถจำกัดจำนวนฟรีดาวน์โหลดได้ถ้าอยากทำเงินให้ผลงานของตัวเอง ซึ่งไฟล์ดาวน์โหลดนี้ผู้ใช้สามารถเลือกฟอร์แมตไฟล์ในคุณภาพที่ต่างกันไปไม่ว่าจะเป็น mp3, flac, aac หรือ ogg และยังสามารถขาย หรือเปิด Pre-oreder ซีดี หรือสินค้าของวงได้จากเว็บไซต์อีกเช่นกัน ซึ่งเจ้าของผลงานจะตั้งชื่อโดเมนหน้าเว็บของตัวเองให้เป็น ชื่อวง.bandcamp.com หรือจะให้เป็นหน้าสำหรับฟังเพลงของ Official website ของวงก็ได้ เช่น music.ชื่อวง.com ฟังก์ชันอื่น ๆ ที่สามารถใส่ลงไปได้ในแบนด์แคมป์ของเราจะเป็นรายละเอียดอัลบั้มทั้งหมดโดยละเอียดและสามารถใส่เนื้อเพลงลงไปได้ด้วย
Fungjai
จะไม่ให้พูดถึง Music streaming เพื่ออิสระในการฟังเพลงไทยได้อย่างไร ฟังใจของเราให้บริการเพลงจากศิลปินทุกคนที่สนใจจะส่งผลงานเข้ามาอยู่กับเรา ไม่ว่าจะเป็นวงเล็ก วงใหญ่ โนเนม บิ๊กเนม ค่ายจิ๋ว ค่ายเบิ้ม ก็สามารถมาโลดแล่นอยู่บนเว็บไซต์ฟังใจของเราได้ แล้วทุกการกดฟัง ศิลปินก็จะได้รับค่าตอบแทนด้วยนะ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างคร่าว ๆ ของบรรดาผู้ให้บริการ Music streaming ที่กำลังผุดมาให้เราลองใช้นับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Rdio, Beats Music หรือรายใหม่ที่กำลังเป็นที่จับตามองอย่าง Line Music แล้วยังมี Pandora, Spotify, Google Play Music แต่ยังเข้าดูในไทยไม่ได้ อย่างไรก็ดีเราก็ภาวนาให้ผู้ให้บริการรายนั้น ๆ มาเปิดให้คนบ้านเราได้ใช้กันแบบทั่วถึงสักที
สำหรับคนที่ยังเลือกจะเสพเพลงจากแพลตฟอร์มดั้งเดิมกันอยู่ แต่รู้สึกว่าห้างร้านที่พร้อมเสิร์ฟสินค้าเริ่มมีไม่เพียงพอเท่าแต่ก่อน ช่องทางการเลือกซื้อออนไลน์ก็ดูจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจากการ Pre-order จากค่ายเพลง หรือศิลปินนั้น ๆ โดยตรง ก็มีเว็บไซต์อย่าง Discogs, Amazon, E Bay หรือกลุ่มในโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ให้แลกเปลี่ยนซีดี แผ่นเสียง หรือเทปคาสเซทหายากด้วยกันเองเป็นจำนวนมาก ลองเซิร์ชหาคำว่า ซื้อ ขาย เทป ซีดี แผ่นเสียง เก่า เราก็จะเจอหลากหลายกรุ๊ปให้เลือก บางกรุ๊ปก็มาในรูปแบบของการประมูลสินค้ากันเลยทีเดียว เรียกว่ากว่าจะได้ของสะสมชิ้นนั้น ๆ ก็เล่นเอาลุ้นจนเหนื่อย ก็เลือกเอาตามสะดวกรสนิยมแต่ละคนก็แล้วกันเนอะ
ขอขอบคุณที่ปรึกษาบทความ วาลัด สเน่ห์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.blognone.com/node/68086
https://www.blognone.com/node/67186
http://pantip.com/topic/33593617
http://rev.at1987.com/review/tidal-hifi/
http://www.macthai.com/2015/06/30/apple-music-faq/