เพลงเพื่อชีวิต จากป่าเขา

Quick Read Snacks

เพลงเพื่อชีวิตจากป่าเขา สะท้อนเรื่องราวชีวิตคนยุคปฏิวัติ

  • Writer: Wathanyu Suriyawong

เพลงเพื่อชีวิต เสียงเพลงที่เราได้ฟังทุกวันนี้มีที่มาจากแรงบันดาลใจหรือความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อร้อง ทำนอง ให้เราได้เข้าใกล้ประสบการณ์ของศิลปินเท่าที่เป็นไปได้ และเนื้อหาที่เป็นที่นิยมตลอดกาลคงต้องยกให้เรื่องความรัก

แต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในยุคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเข้มข้น คนกลุ่มหนึ่งแต่งเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนความคิด ความรู้สึก เรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อน เพื่อปลอบประโลมซึ่งกันและกัน เพลงเหล่านั้นเรียกว่า เพลงเพื่อชีวิต ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกนำมาใช้เป็นกระบอกเสียงเพื่อประกาศอุดมการณ์โดยไม่ได้คำนึงถึงชื่อเสียงหรือยอดขายใด ๆ

กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม นักคิด นักวิชาการ ชาวบ้านหลายคนที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน ต้องหลบหนีจากภัยการเมืองไปอยู่ในป่า ยามว่างพวกเขาก็นั่งล้อมวงสรรค์สร้าง เพลงเพื่อชีวิต ออกมาบอกเล่าความรู้สึกคับแค้นในการต่อสู้ที่แลกด้วยเลือดเนื้อและน้ำตา และหลาย ๆ เพลงก็กลายเป็นเพลงในตำนาน เราจะขอหยิบยกบางเพลงมาให้ได้ลองฟังกัน

 

เพลงเพื่อชีวิต บทเพลงจากภูผา-จากภูพานถึงลานโพธิ์

อีกชื่อหนึ่งของเพลงนี้คือ ดินสอโดม เดิมทีเพลงนี้ถูกบันเทิงเป็นร้อยกรอง โดย วัฒน์ วรรลยางกูร หรือ สหายร้อย ครั้งเมื่อเดินทางแถบชายป่า จ.สกลนคร ไปยังฐานที่มั่นภูพานหลังจากผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาได้ประมาณ 10 วัน ภายหลังได้ถูกทาบทามให้นำมาประยุกต์เป็นบทเพลงโดย สุรสีห์ ผาธรรม (ผู้กำกับภาพยนต์ เรื่อง ครูบ้านนอก) ที่ได้อ่านร้อยกรองแล้วเสนอไอเดียว่าน่าจะดัดมาเป็นเพลงได้แล้วลองฮัมให้ฟัง จนเพลงนี้ได้บันทึกเสียงครั้งแรกในปี 2520 ถูกขับร้องโดย สรรเสริญ ยงสูงเนิน วง 66 เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษา ม.เกษตร และ ม.ขอนแก่น ที่มีความถนัดด้านดนตรี 

เนื้อหาเป็นการเล่าเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 ไว้อย่างชัดเจน คือการใช้อาวุธ ใช้กำลังความรุนแรง ปราบกลุ่มนักศึกษาบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ทำให้ต้องหาที่หลบซ่อน แต่ถึงกระนั้นแล้วก็ยังมีการตามล่าถึงบ้าน จนทำให้ต้องหนีเข้าป่าเพื่อตั้งหลักและกลับมาทวงชัยชนะให้ได้

เพลงนี้มักถูกนำมาขับร้องในวันรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยศิลปินเพลงเพื่อชีวิตหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ หงา คาราวาน

 

เนื้อเพลง : จากภูพานถึงลานโพธิ์
คำร้อง : วัฒน์ วรรลยางกูร
ทำนอง : สุรสีห์ ผาธรรม

ดินสอโดมธรรมศาสตร์ เด่นสู้ศึก
ได้จารึก หนี้เลือด อันเดือดดับ
6 ตุลา เพื่อนเรา ล่วงลับ
มันแค้นคับ เดือดระอุ อกคุไฟ
เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมปราบ
ระเบิดบาป กระสุนบ้า มาสาดใส่
เสียงเหมือนแตรงานศพ ซบสิ้นใจ
สนามหญ้าคลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดคน
มันตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นถูพาน

อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่
สู่มหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ
จะโค่นล้มไล่เฉดผเด็จการ
อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง
สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ
พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง
จรยุทธ์นำประชาสู่ฟ้าทอง
กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร

ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบเหงา
ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่
วันกองทัพ ประชาชนประกาศชัย
จะกลับไปกลีดเลือดพาล ล้างลานโพธิ์

 

 

เพลง บินหลากู้เสรี

อีกหนึ่งเพลงฮิตของคนในป่า เป็นเพลงที่ถูกแต่งทำนองโดย กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ (จิ้น กรรมาชน) จากโครงทำนองเพลงพื้นบ้านมุสลิม ชื่อเพลง เอนด๋ง ที่เขาได้ยินเมื่อครั้งที่วงกรรมาชนไปแสดงให้กำลังใจกับเหตุการณ์ปราบปรามผู้นำชาวมุสลิมที่จังหวัดปัตตานี ช่วงต้นปี 2519 ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่นาน

ต่อมาเขาได้พบกับสหายในป่าชื่อว่า วิสา คัญทัพ นักกลอนเจ้าของวรรคทอง ‘… เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ทั้งจิ้นและวิสาได้ร่วมกันแต่งเพลงบินหลากู้เสรีขึ้นในป่า โดยคำว่า บินหลา มาจาก จิระนันท์ พิตรปรีชา หรือ สหายใบไม้ ได้เขียนบทความเผยแพร่ในนามปากกาว่า บินหลา นาตรัง พอวิสาได้คุยกับสหายใบไม้เกี่ยวกับเหตุผลที่ใช้นามปากกานี้ว่า ‘นกบินหลา เป็นนกป่า มันต้องอยู่อย่างเสรี ถ้าเอามันมาเลี้ยงไว้ในกรงมันจะตาย…’ จึงเกิดประทับใจในคำนี้และนำมาแต่งเนื้อร้องกลายเป็นเพลง และถูกเผยแพร่ทางวิทยุคลื่นสั้นในที่สุด

แม้เพลงนี้จะถูกแต่งขึ้นในป่า แต่พอได้เผยแพร่ทางวิทยุแล้วก็มีวงหนึ่งที่อยู่ในเมืองนำไปดัดแปลงและบันทึกเทปเป็นของตัวเอง

  

เนื้อเพลง : บินหลากู้เสรี
คำร้อง : วิสา คัญทัพ
ทำนอง : เอ็นด๋ง                                             

 

    บินหลา ๆ บินลอยมาเล่นลม                            ชื่นชมธรรมชาติ อันพิลาสสะอาดตา

ต้นยางยืนทะนง อวดทรวดทรงมิยอมให้ข่ม           ต้านทานแรงลม ไม่เคยพรั่นภัยพาล

บินหลา ๆ บินลอยลา ไปแห่งใด                            โพยภัยทุรชาติ มาพิฆาต เลือดสาดแดง

หมู่โจรครองเมือง เรืองอำนาจพิฆาตเธอสิ้น          หมู่มารใจทมิฬ กินเลือดเรามวลประชา

บินหลา ๆ บินคืนมากู้เสรี แผ่นพื้นปฐพี                 ไม่ยอมให้ใครครอบครอง

บินหลา ๆ ชาวใต้มารวมพลัง ด้วยใจมุ่งหวัง          อธิปไตยของไทยกลับคืน

จับปืนยืนทะนง สู้อาจองมิยอมให้ข่ม                     บินหลาเริงลม สู่สังคมอุดมการณ์

 

 

เพลง ความแค้นของแม่

เพลงนี้แต่งขึ้นโดย สุรชัย จันทิมาธร (สหายพันตา) หรือที่เรารู้จักกันในนาม หงา คาราวาน เพลงนี้มีเนื้อหาที่ต่างไปจากเพลงอื่น ๆ ที่มีเนื้อหาปลุกระดมเป็นส่วนใหญ่ ผู้แต่งตั้งใจให้เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของแม่ที่งดงาม มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ หงา คาราวาน ได้เข้าไปยังเขตงานในป่าหนองบัวลำภู บ้านล่องป่าบุ่น และได้พบกับหญิงชราที่มีลูกเป็นโจรภูเขาและพลัดพรากจากกันมานาน (โจรภูเขา ในที่นี้หมายถึง กลุ่มประชาชนและนักศึกษาที่หลบหนีเข้าป่าจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ) พอผู้เป็นแม่ได้ทราบว่าลูกของตนยังมีชีวิต จึงได้หุงข้าวทำอาหารมาส่งลูกถึงป่า เหล่าสหายพอได้เห็นแม่ลูกได้พบกันและต่างก็พากันร้องไห้ด้วยความคิดถึง เช่นกันกับ หงา คาราวาน ที่อยู่ในเหตุการณ์เพราะตนเองก็คิดถึงผู้เป็นแม่อย่างสุดหัวใจ จึงได้แต่งเป็นเพลงนี้ขึ้นมา

 

เนื้อเพลง : ความแค้นของแม่
คำร้อง : สุรชัย จันทิมาธร
ทำนอง : สุรชัย จันทิมาธร

 

ตื่นขึ้นมาแต่เช้า แม่หุงข้าวต้มปลา

จวนจะได้เวลา ไปพบหน้าลูกชาย

ทุกวันคืนแม่อยู่ด้วยความหวัง วันฟ้าทองส่องฉาย

ผองประชาอยู่สุขสบาย ตายก็ไม่กังวล

ตาแม่มองศัตรู ผู้เข้ามารุกราน

ตามสันดาลอันธพาล มีเจ้านายบัญชา

แค้นของแม่นิ่งดั่งน้ำไหลลึก โดยสายตาเย็นชา

ไม่เคยลืมเรื่องราวความแค้น รอเวลาทวงคืน

ก้าวต่อไปลูกรัก พ่อของเจ้าสิ้นไป

โอ้ชีวิตชาวนาไทย ในสังคมกินคน

ลุกขึ้นสู้จนสิ้นลมสุดท้าย ตายไม่ยอมจำนน

เสียงอาลัยก้องในไพรสณฑ์ บนหนทางต่อสู้

ตื่นขึ้นมาแต่เช้า แม่หุงข้าวต้มปลา

จวนจะได้เวลา ไปพบหน้าลูกชาย

ที่ชายป่าเจ้าจะได้อิ่มหนำ ทำงานร่วมสหาย

แม่เป็นสุขที่ได้ฟังข่าวชัย ของกองทัพปลดแอก

 

 

เพลง 7 สิงหาจงเจริญ

ก่อนเข้าเรื่องเพลง ขอเกริ่นที่มาของวันนี้กันหน่อย เรื่องมันมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เกิดการปะทะกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับเจ้าหน้าที่ของทางการ ณ หมู่บ้านนาบัว จังหวัดสกลนคร เป็นการปะทะกันด้วยอาวุธเป็นครั้งของคนไทยต่างอุดมการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์จึงประกาศให้วันที่ 7 สิงหา เป็นวัน ‘วันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย’ ในทุก ๆ ปีจะมีการจัดเฉลิมฉลองตามอัตภาพของแต่ละเขตงาน และกิจกรรมที่นิยมอย่างมากในงานนี้คือ ‘การรำวงสามัคคี’ ถึงขั้นเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา

แต่ละเขตงานจะได้อิทธิพลทางดนตรีในการรำต่างกันไป อย่างเขตงานแถบอีสานและเหนือจะเป็นจังหวะรำลาวแบบช้า ๆ ส่วนเขตงานใต้ก็จะเป็นสามก้าวหยุด แต่ที่นิยมสุด ๆ คือจังหวะรำลาว ต่อมา มงคล อุทก (สหายแจนแวน) หรือ หว่อง คาราวาน ได้แต่งเพลง 7 สิงหาจงเจริญ ขึ้นมา จากความตั้งใจที่อยากให้สหายทั้งหลายได้มีเพลงใหม่ ๆ ไว้รำลาวแทนแบบฉบับที่สหายรุ่นเก่ารำกันมา ภายหลังได้มีการบันทึกเสียงและเผยแพร่ทางวิทยุจนกลายเป็นเพลงฮิตเลยทีเดียว

 

เนื้อเพลง : 7 สิงหาจงเจริญ
ทำนอง : มงคล อุทก
คำร้อง : มงคล อุทก

เสียงปืนแตกแล้ว แตกครั้งแรก 7 สิงหา                หลายปีผ่านมา กองทัพได้ก่อขยาย

ดังดวงไฟน้อย ๆ จากน้อยแล้วค่อยโตใหญ่             เป็นทะเลไฟ โต้ไฟปฏิกิริยา

ดวงไฟดวงนี้ เลือดวีรชนพลีหลั่ง                        เพื่อเปิดหนทาง อำนาจรัฐก่อเกิดจากปืน

อันเป็นวันเพริศแพร้ว ถูกแล้วแนวทางต่อสู้             ไขบานประตู ให้ผู้รักชาติก้าวตาม

วัน 7 สิงหา เวียนมา ประชา ไชโย (ไชโย ๆ)              ไชโยให้กับชัยชนะของประชาชน
หนทางปืน 7 สิงหา จงเจริญ

 

 

เพลง คิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ)

หากจะว่าด้วยเสียงเพลงจากป่าคงขาดเพลงนี้ไปไม่ได้ แต่เริ่มเดิมที เพลงนี้มีชื่อว่า คิดถึงบ้าน ผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองคือ อัศนี พลจันทร นักปฏิวัติและนักประพันธ์ที่ใช้นามปากกาว่า นายผี หรือที่เหล่าสหายจะเรียกกันนว่า สหายไฟ หรือ ลุงไฟ ได้แต่งเพลงนี้ขึ้นด้วยความคิดถึงบ้าน จากเหตุบ้านการเมืองสมัยนั้นทำให้เขาต้องจากบ้านเกิดเป็นเวลานาน

หงา คาราวาน ได้บันทึกที่มาของเพลงไว้ใน ถนนหนังสือ ฉบับเดือน ตุลาคม 2528 ว่า

..ที่สนามรบก่อนเกิดศึกใหญ่ (หมายถึงยุทธการล้อมปราบในเขตน่านเหนือ) ผมได้พบญาติพี่น้องซึ่งเป็นสายทางเขา (นายผี) เพลง ‘คิดถึงบ้าน’ ถูกร้องให้ผมฟังโดยหมอตุ๋ย สหายหญิงผิวคล้ำคนภาคกลางแถบราชบุรีซึ่งเป็นญาติของเขา และบอกว่าเป็นเพลงที่นายผีแต่งขึ้น ตั้งแต่พลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว

ต่อมา วง คาราวาน ได้นำเพลง คิดถึงบ้าน ออกมาจากป่าและบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในอัลบั้ม บ้านนาสะเทือน เมื่อปี 2526 จากนั้น แอ๊ด คาราบาว ได้นำเพลงนี้มาบันทึกอีกครั้ง โดยมีการสลับท่อนร้องและเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น เดือนเพ็ญ อยู่ในอัลบั้ม กัมพูชา เมื่อปี 2527 และเป็นที่รู้จักในวงกว้างตั้งแต่นั้นมา

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เพลงนี้มีเนื้อเกี่ยวกับคนรักของลุงไฟสอดแทรกอยู่เพลงนี้ด้วย เพราะภรรยาของเขาคือ วิมล พลจันทร หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ป้าลม (สหายลม)

เนื้อเพลง : คิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ)
ทำนอง : อัศนี พลจันทร
คำร้อง : อัศนี พลจันทร

เดือนเพ็ญแสงเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นยิ่งหนอยามเมื่อลมพัดมา

แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนา

กองไฟสุมควายตามคอก คงยังไม่มอดดับดอก จันทร์เอยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า

โหมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว ให้พี่น้องเรานอนหลับอุ่นสบาย

เรไรร้องฟังดังว่า เสียงเจ้าที่เฝ้าคอยหา ลมเอ๋ยช่วยมากระซิบข้างกาย

ข้ายังคอยอยู่มิหน่าย มิเลือนเคลื่อนคลาย คิดถึงมิวายที่เราจากมา

ลมเอยจงเป็นสื่อให้ น้ำรักจากห้วงดวงใจ ของข้านี้ไปบอกเขานะนา

ให้คนไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา จะไปซบหน้าในอกแม่เอย.

 

อ่านเพิ่มเติม

11 เพลงเพื่อชีวิตสมัยใหม่ หลากหลายแนวดนตรีล้วนสะท้อนชีวิตได้

More than Peace and Love เรียนรู้ประวัติศาสตร์การค้าทาสผ่านเพลงเร็กเก้

Facebook Comments

Next: