ไหนเธอฟังเพลงอะไร? การฟังเพลงสามารถบอกได้ว่าเราอยู่ชนชั้นใดในสังคม
- Writer: Sy Chonato
- Illustrator: Sy Chonato
แม้เสรีของอินเทอร์เน็ตจะทำให้เราเปิดประสาทหูรับสัญญาณได้มากกว่าที่เคย เพราะสามารถเข้าถึงเพลงได้มากมายหลายแนวจากทั่วโลก แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้วการที่เราเลือกฟังเพลงแนวนั้นแนวนี้มีผลมาจากสถานะทางสังคมที่ต่างกัน
ระดับชนชั้นมีผลต่อการเลือกฟังและรสนิยมทางดนตรี
ความรักและมิตรภาพต่างชนชั้นไม่ไ้ด้เกิดขึ้นบ่อย ๆ มันถึงเป็นพล็อตที่ทรงพลังโรแมนติกในละครและภาพยนตร์ต่าง ๆ แม้เรารู้สึกว่ารสนิยมเพลงกับอาชีพ การศึกษา สถานะ ไม่เกี่ยวกันสักหน่อย แต่เป็นธรรมดาของโลกที่มนุษย์มักจะสุงสิงคบหากับคนที่คล้าย ๆ กัน มีความชอบใกล้กัน และมีสภาพทางสังคมหรือฐานะเศรษฐกิจไม่ต่างกันมากกว่า ซึ่งชนชั้นทางสังคมนั้นมีผลกับแนวดนตรีที่ชอบสูงมากกว่าที่เราคิด
ในปี 2017 นักสังคมวิทยา Gerry Veenstra จากมหาวิทยาลัย British Columbia แคนาดา ได้ทำแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 1,595 คนที่รักการฟังเพลง พบว่าแนวโน้มที่คนต่างชนชั้นจะมีความชอบแนวเพลงที่แตกต่างกันมีอยู่จริง โดยรสนิยมดนตรีในคนที่มีการศึกษาสูง จะถูกแยกจากคนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
“ในการทดลองนี้ คนที่เรียนจบสูงกว่าระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มจะชอบเพลงคลาสสิกสูงกว่าคนที่การศึกษาน้อยกว่าถึง 3 เท่า”
ต่อให้ปากบอกว่าชอบหลายแนวเพลง ฟังอะไรก็ได้ เปิดใจ ฟังหลากหลาย เมื่อให้เลือกจริง ๆ ก็มักจะนิยมบางแนวมากกว่า
กลุ่มคนระดับสูง (การศึกษาสูง ฐานะระดับ upper class) มักจะชื่นชอบแนวเพลง บลูส์, แจ๊ส, เพลงคลาสสิก, โอเปร่า, ละครเพลง, ป๊อป, เร็กเก้, ร็อก และเพลงนานาชาติ (world music)
กลุ่มคนระดับล่าง มักชื่นชอบแนวเพลงคันทรี่, เพลงดิสโก้, easy listening, เพลงเก่ายอดฮิต, เฮฟวี่ เมทัล และแร็ป
ในการสำรวจนี้ คนระดับล่างแทบจะไม่ถูกจริตเพลงที่คนรสนิยมสูงนิยมฟังเลยทั้งหมด ยกเว้นแนวแจ๊ส ซึ่งจริง ๆ แล้ว แจ๊สเป็นดนตรีที่สร้างขึ้นโดยคนผิวสี หรือกระทั่งเร็กเก้ก็มีจุดเริ่มต้นจากจาไมก้าที่ยากจน แต่กลายเป็นเพลงยอดนิยมของคนมีเงินไปได้
ทั้งนี้คนแคนาดาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างก็คงไม่เหมือนกับคนไทยเสียทั้งหมด หากมีการศึกษาของไทยก็คงจะดี
ในสหราชอาณาจักร ไฮโซอังกฤษอย่างเลดี้กาเบรลล่า ตระกูลวินด์เซอร์ ชอบเล่นสดเพลงแนวเร็กเก้ในงานการกุศลของคนรวยบ่อยครั้ง วัยรุ่นคนหนุ่มสาวคนมีตังฝั่งตะวันตกอาจจะฮิตเพลงเร็กเก้เพราะรู้สึกว่าแปลกดี มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เชื่อว่ากระแสฮิปสเตอร์ทำให้เพลงโฟล์กและร็อกเคลื่อนสู่ความนิยมวงสังคมคนมีเงินฮิป ๆ มากขึ้น แถมยังพบอีกว่า คนฐานะปานกลางที่อายุมากหน่อยมักจะไม่ชอบเพลงแร็ป
ไม่ว่าผลการสำรวจนี้จะสื่อถึงอะไร หรือสรุปได้ว่าการเรียนรู้ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู หรือสังคมที่เติบโตก็มีผลต่อแนวเพลงที่ชอบไหม ความเรียบง่ายหรือซับซ้อนในสิ่งบันเทิงมีผลต่อความชอบทางดนตรีหรือไม่ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นแค่แนวโน้มเท่านั้น อาจจะมีคนคนเถียงว่าฉันจบด็อกเตอร์ก็ชอบลูกทุ่งนะคะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ยังไงคนทุกคนก็เป็นปัจเจก มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกและตัดสินใจในการฟังและชอบเพลงแนวใดก็ได้ที่ต้องการ
แต่อาจสรุปได้ว่า คนเรามักจะทำตามกลุ่มคนที่เหมือนตัวเองมากกว่า เช่น เราอยู่กับคนแบบไหนก็มีแนวโน้มจะชอบตามเขาไปด้วย คนที่ชอบไม่เหมือนเพื่อนก็อาจจะอยู่ยาก ไม่มีคนคุยด้วย เลยต้องไปหาเพื่อนกลุ่มใหม่ที่ชอบอะไรใกล้ ๆ กัน
มิวสิกสตรีมมิ่งพาเรากระโดดข้ามกำแพงทางดนตรี
อย่างไรก็ดี มีงานเขียนหลายงานชมเชยการมีอยู่ของ Spotify ว่าทำให้หลุดจากเพลงโปรดเพลงเดิม ไปค้นพบเพลงใหม่ ๆ ซึ่งการฟัง Apple Music หรือ ฟังใจ Joox อะไรก็ตาม ทำให้การฟังเพลงและพบเพลงที่ถูกใจเกิดขึ้นง่ายขึ้น
ผู้เขียนเองได้เปิดโลกดนตรีมากขึ้น การพบเพลงใหม่ ๆ ดี ๆโดยไม่จำกัดว่าเป็นแนวเพลงไหน ไม่ว่าจะเป็นเฮฟวี่เมทัล เพลงใต้ดิน เพลงบรรเลง ดิสโก้ ลูกทุ่ง ที่เมื่อก่อนไม่คุ้นหู เมื่อลองขุดลองฟังดูก็พบว่ามีที่ชอบ เมื่อมีโอกาสทางการฟังแบบนี้ ก็น่าจะทำให้เราใจกว้างขึ้น ยอมรับความหลากหลายได้มากขึ้น จากที่ไม่เคยเข้าใจ ก็เปิดรับมากขึ้นไปด้วย
ดังนั้นจงเปิดใจฟังเพลงอะไรก็ตาม อย่าให้ฐานะหรือระดับการศึกษามาเป็นกำแพงสร้างอคติให้เราไม่ชอบเพลงแนวไหนไปได้ อย่าเพิ่งปฏิเสธแนวเพลงที่ไม่คุ้นเคย เพียงเพราะเพื่อนเราไม่ฟัง เพราะเพลงดี เพชรนํ้างามมีอยู่ในทุกแนวเพลงถ้าเราตั้งใจฟังมากพอ
References:
What musical taste tells us about social class
MUSICAL TASTES MIRROR CLASS DIVIDES