Quick Read Snacks

10 เพลงจากหนังสือมูราคามิที่อยากให้คุณลองฟัง

  • Writer: Malaivee Swangpol

Haruki Murakami นักเขียนชาวญี่ปุ่นวัย 69 ปี ผู้เขียนหนังสือที่ได้รับการแปลไปกว่า 50 ภาษาทั่วโลก เขาเป็นนักเขียนที่เนรมิตรโลกประหลาดและตัวละครที่เราคาดไม่ถึงมาใส่ไว้ในหนังสือ และสอดแทรกประเด็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจ อย่างความรักในการกินดื่ม เซ็กซ์ และดนตรี อย่างเรื่อง ‘1Q84’ ไตรภาคขนาดยาว ก็ใช้เพลง Sinfonietta ของ Janáček มาเป็นตัวเดินเรื่อง และ ‘Norwegian Wood’ หนังสือที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ได้ชื่อเรื่องมาจากเพลงของ The Beatles และเหตุผลที่ดนตรีถูกหยิบมาแนะนำเป็นระยะ ๆ ในหนังสือของเขาเป็นเพราะว่ามูราคามิเองมีแผ่นเสียงในคอลเล็กชันส่วนตัวกว่า 10,000 แผ่น ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของเขา เราขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ 10 เพลงที่จะทำให้คุณหวนนึกถึงหนังสือเรื่องที่เคยอ่านไปแล้ว หรือสำหรับใครที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับเฮียมู เราก็ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับนักเขียนในดวงใจของใครหลาย ๆ คนให้มากขึ้นอีกนิด

ระหว่างอ่านบทความนี้ขอแนะนำให้ฟังเพลย์ลิสต์นี้ไปด้วยเพื่อความอิน

 

Miles DavisA Gal in Calico จาก ‘Hear the Wind Sing’ (1979)

(บทสนทนาเกิดขึ้นระหว่างผมกับหญิงสาวเก้านิ้วในร้านขายแผ่นเสียงที่เธอทำงานอยู่)

เธอวางแผ่นลงบนเคาน์เตอร์ ถืออีกแผ่นไปคืนชั้นวาง
“มีอะไรอีกไหม?”
ไมล์ส เดวิส ที่มีเพลง อะ แกล อิน คาลิโก
แผ่นนี้นานหน่อย แต่เธอก็เดินกลับมาพร้อมแผ่นเสียงในมือ (หน้า 61)

เรื่องราวที่เล่าถึง 19 วันในช่วงปิดเทอมหน้าร้อนของ ‘ผม’ และ ‘มุสิก’ โดยแผ่นเสียงที่ ‘ผม’ ต้องการ ก็คืออัลบั้ม The Musings Of Miles เพลงนี้เด่นที่เสียงเดี่ยวทรัมเป็ตของ Miles และเสียงเปียโนโดย Red Garland ซึ่งสิเหร่ ได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ ‘Jazz Murakami’ ว่า การที่มูราคามิเลือกใช้พูดถึง A Gal In Calico เพลงที่ไม่ได้ดังมากนักของไมล์ส ก็เพื่อจะบรรยายบุคลิกของหญิงสาวก้าวนิ้วว่าเธอนั้นเป็นผู้ฟังเพลงแจ๊สระดับเซียน ซึ่งจดจำได้ว่าเพลงไหนมาจากอัลบั้มไหน ต่างจากผู้ฟังแจ๊สคนอื่น ๆ รวมถึงเพื่อจะบอกว่า เธอมีความรับผิดชอบในงานที่เธอทำมากกว่าภาพจำในตอนแรกที่นอนเมามายสิ้นสติในบาร์เหล้า เพลงอื่น ๆ ในเล่มเช่น The Beach BoysCalifornia GirlsBrook BentonRainy Night in GeorgiaCreedence Clearwater RevivalWho’ll Stop The Rain 

บทบรรยายจาก “สดับลมขับขาน” ฉบับแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์

The Beatles – Norwegian Wood จาก ‘Norwegian Wood’ (1987)

เมื่อเครื่องบินร่อนลงจอดบนพื้นดินแล้ว ดนตรีแผ่วลอยละล่องออกมาจากลำโพงเหนือศีรษะ เพลงบรรเลงออร์เครสตรา เพลง ‘นอร์วีเจียน วูด’ ของ บีตเทิลส์ ทำนองเพลงไม่เคยพลาด ส่งระลอกหนาวเหน็บผ่านร่างจนสะท้านเยือก คราวนี้ ทำนองเพลงกระทุ้งหนักจนแทบหายใจไม่ออก (หน้า 7)

หน้าแรกของหนังสือที่ชวนให้เราย้อนนึกไปถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ‘โทรุ วาตานาเบะ’ ได้ยินเพลงนี้ตอนกำลังลงเครื่องที่เยอรมัน แล้วก็หวนระลึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว วาตานาเบะพาเราไปเยี่ยมเยียนทุ่งหญ้าฤดูร้อน ป่าฤดูหนาว และบ่อน้ำลึกในใจ “คุณสัญญาได้ไหมว่าจะไม่มีวันลืมฉัน?” นาโอโกะกระซิบถาม

Norwegian Wood เป็นเพลงโปรดของนาโอโกะ อดีตคนรักของเพื่อนสนิทที่จากไปของวาตานาเบะ ซึ่งภายหลังทั้งคู่มามีสัมพันธ์กัน และนาโอโกะได้ไปบำบัดโรคซึมเศร้าในสถานบำบัดกลางป่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมากมายทำให้ความรู้สึกของวาตานาเบะยังคงถูกบรรยากาศในป่าตามมาหลอกหลอน นอกจากนี้ คำว่า Norwegian Wood ก็ยังเชื่อมโยงถึงฤดูหนาว ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงความตาย สิ่งที่มักไม่อยู่ในนิยายรักวัยรุ่น แต่กลับอยู่ในงานเขียนเรื่องนี้ในทุกอณู เพลงอื่น ๆ ในเล่มส่วนใหญ่เป็นเพลงยุค 60s-70s เนื่องจากเป็นช่วงที่วาตานาเบะอายุ 18 และเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้น เช่น The Beatles Sgt. Peppers Lonely Hearts Club BandCreamWhite RoomThe DriftersUp On The RoofSimon And GarfunkelScarborough FairBlood, Sweat & TearsSpinning Wheel, DebussyClaire de LuneThelonius MonkHoneysuckle Rose

บทบรรยายจาก “ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย” ฉบับแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์

Michael JacksonBillie Jean จาก ‘Dance Dance Dance’ (1988)

ยังไม่พอ จะต้องมีใครอีกสักคนหลงรักโจดี้คลีโอพัตราเป็นบ้าเป็นหลัง หนุ่มผิวเข้ม เจ้าชายอาหรับผู้มีความรักแผนเผาใจจนยากครองสติอยู่ได้ เพียงนึกถึงวงหน้า ร่างก็สั่นเทิ้มเต้นเป็นจังหวะ หรูที่สุด, บทนี้ต้องใส่พานมอบให้ไมเคิล แจ็กสันแต่ผู้เดียว เต้นระบำลาดเท้าเลียดพื้นข้ามทะเลทรายสะฮารามาหานวลนางองค์ชายแจ็กสันเต้นกระตุกไม่เป็นส่ำรอบกองไฟของกองคาราวาน มือถือแทมโบลีน เขย่าให้จังหวะในขณะที่ร้องเพลง ‘บิลลี จีน’ ดวงตาสุกสกาวเหมือนดาวกลางทะเลทรายยามราตรี แน่นอนอยู่แล้ว ในฉากถัดมาจะต้องมีการเผชิญหน้ากันระหว่างองค์ชายแจ็กสันกับครูสอนว่ายน้ำ การต่อสู้ดุเด็ดเผ็ดมันช่วงชิงหญิงเดียวมาครอง…. (หน้า 94)

‘เริงระบำแดนสนธยา’ เป็นภาคต่อของไตรภาคแห่งมุสิกด้วยตัวละคร ‘ผม’ ที่ทุกคนคิดถึง แต่มาในบทการเดินทางใหม่ที่แฟนตาซีกว่าเดิม มูราคามิบรรยายเพลง Billie Jean ลงไปในฉากจินตาการของ ‘ผม’ ผู้ที่กำลังคิดภาพในหัวเกี่ยวกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลอเมริกันในหนังสือของเฮียมู ทั้งดาราฮอลลีวู้ดและศิลปิน เพลงอื่น ๆ ในเล่มล้วนช่วยเพิ่มความแฟนตาซีให้กับหนังสือเล่มนี้ เช่น Audrey HepburnMoon RiverThe Beach BoysGod Only Knows, Led ZeppelinWhole Lotta LoveBob DylanHard RainFranz SchubertPiano Trio (Op. 100)

บทบรรยายจาก “เริงระบำ แดนสนธยา” ฉบับแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์

Rossini – Thieving Magpie จาก ‘The Wind-Up Bird Chronicle’ (1994)

ในตอนที่โทรศัพท์ดังขึ้น ผมอยู่ในห้องครัว ต้มเส้นสปาเก็ตตี ผิวปากคลอไปกับเพลง เดอะ ธีฟวิง แม็กพาย ของรอสซินีทางวิทยุเอฟเอ็ม เพลงเหมาะควรแก่การต้มเส้นสปาเกตตีถึงขั้นสมบูรณ์แบบ (หน้า 15)

โทรศัพท์สายหนึ่งที่อยู่ในจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตโทรุ โอกาดะ ชายหนุ่มที่เคยมีชีวิตธรรมดา ๆ ซึ่งนิยายเรื่องนี้ที่มีความยาว 760 หน้าในฉบับภาษาไทย แบ่งออกได้เป็นสามตอนใหญ่ ๆ ซึ่งก็ล้วนแล้วเกี่ยวกับนก โดยเฉพาะบทแรก นกแม็กพายขี้ขโมย ที่มีชื่อเดียวกับบทเพลงของ Rossini ตามมาด้วย นกพยากรณ์ และ คนจับนก โดยมีตัวละครนกไขลานที่ร้องทุกเช้า มีคนทดลองทำและสรุปผลว่าสิบกว่านาทีของบทเพลงนี้ เป็นนระยะเวลาที่ต้มสปาเกตตีได้อร่อยกำลังดีแบบ al dente เลย ซึ่งเป็นการสรุปได้อย่างดีว่าความรักในอาหารและดนตรีของมูราคามิไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพลงอื่น ๆ ในเล่ม เช่น RossiniWilliam Tell OvertureAndy WilliamsThe Hawaiian WeddingJohann Sebastian BachThe Musical OfferingTchaikovsky Serenade For Strings และอีกมากมาย

บทบรรยายจาก “บันทึกนกไขลาน” ฉบับแปลโดย นพดล – จินตนา เวชสวัสดิ์

The Beach Boys – Surfer Girl  จาก ‘After the Quake’ Chapter: Thailand (2000)

การประชุมระดับโลกเรื่องต่อมไทรอยด์ จัดขึ้นที่โรงแรมบางกอก แมริออท เป็นเวลาสี่วัน อันที่จริงมันเหมือนการคืนสู่เหย้าของสมาชิกในครอบครัวซึ่งมีอยู่ทั่วโลกมากกว่าจะเป็นการประชุม ทุกคนที่มาร่วมงานล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่อมไทรอยด์ ทั้งหมดรู้จักกันดีหรือไม่ก็สามารถแนะนำให้รู้จักกันได้อย่างรวดเร็ว เป็นวงการแคบแคบ จะมีการนำเสนอผลงานและการอภิปรายกลุ่มตอนกลางวัน พอตกกลางคืนแต่ละกลุ่มจะมีงานเลี้ยงส่วนตัวเล็กเล็ก เพื่อนฝูงใกล้ชิดจะมาพบกันอีกครั้งเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ครั้งเก่าดื่มไวน์จากออสเตรเลีย แลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์และข่าวซุบซิบ แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน เล่าเรื่องตลกสัปดนด้วยมุกเฉพาะทางของวงการแพทย์ และร่วมร้องเพลง เซิฟเฟอร์ เกิร์ล ของวงเดอะบีช บอยส์ที่บาร์คาราโอเกะ (หน้า 97)

ปล่อยให้นิมิตตัดสินใจแทน เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ ‘ซัทสึคิ’ นักวิจัยเรื่องภูมิคุ้มกันต่อมไทรอยด์ ซึ่งเรื่องสั้นนี้ได้บรรยายประเทศไทยในหลาย ๆ ส่วน ทั้งช้างที่มาทำงานผิดกฎหมาย รีสอร์ตในต่างจังหวัด หมู่บ้านยากจน แม่หมอผู้ทำนายความฝัน ซึ่งตัวละครหลักอีกตัวคือ ‘นิมิต’ คนขับรถชาวไทยที่สามารถพูดภาษาอังกฤษพร้อมกับรถเบนซ์และรสนิยมในเพลงแจ๊สของเขา ในเรื่องนี้มีการพูดถึงเพลงแจ๊สหลายเพลงตามปกติของมูราคามิ  “นั่นสิ แล้วพวกเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไรกันล่ะ นิมิต” เพลงอื่น ๆ ในเล่ม ส่วนใหญ่เป็นเพลงแจ๊ส เนื่องจากตัวละครทั้งสองมีความผูกพันธ์กับดนตรีแจ๊สอย่างมาก เช่น Ira GershwinI Can’t Get Started, Erroll GarnerI Will Remember April

บทบรรยายจาก “อาฟเตอร์เดอะเควก” ฉบับแปลโดย คมสัน นันทจิต

Radiohead – Kid A จาก ‘Kafka On The Shore’ (2002)

เบื่อหน่ายกับฝันหวานเชิงเซ็กส์ ผมเดินออกไปข้างนอก เริ่มกระบวนท่าออกกำลังกายทั้งชุด มือเกาะราวระเบียงไว้ ผมเริ่มด้วยท่านั่ง ติดตามด้วยการยืดดัด ถึงตอนนี้ ร่างของผมเปียกเหงื่อโชกชุ่ม ผมจุ่มผ้าเช็ดตัวลงในลำธาร เช็ดเหงื่อ น้ำเย็นช่วยกล่อมประสาทให้คลายลง ผมนั่งบนระเบียงฟังเรดิโอเฮดจากวอล์กแมน นับตั้งแต่ผมหนีออกจากบ้าน ผมฟังเพลงชุดเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก คิด เอ ของเรดิโอเฮด, เวรี่ เบสต์ ออฟ ของพรินซ์ และ มาย เฟเวอริต ธิงก์ส ของโคลแทรน (หน้า 429)

เรื่องราวของเด็กวัย 15 หนีออกจากบ้าน เจ้าหนูชื่ออีกา ครอบครัว คุณตา ซึ่งมูราคามิวางคาแร็กเตอร์ให้เด็กคนนี้ฟังเพลงหลากหลายตั้งแต่อัลเทอร์เนทิฟ ป๊อป ไปยันแจ๊ส มีการสรุปว่า ในหนังสือเล่มนี้พูดถึงดนตรีถึง 91 ครั้งตลอดเรื่อง เพลงอื่น ๆ ในเรื่อง มีหลากหลายเช่นเคย แต่เริ่มมีการพูดถึงเพลงยุค 90s ให้ตรงกับตัวละครที่อายุ 15 เช่น Cream Crossroads, PrinceSexy Motherfucker, BeethovenThe Archduke TrioFranz SchubertPiano Sonata in D Major และอีกมากมาย

บทบรรยายจาก “คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ” ฉบับแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์

Curtis Fuller’s QuintetFive Spot After Dark จาก ‘After Dark’ (2004)

“แล้วทำไมคุณเลือกทรอมโบน?”
เขาเทครีมลงในถ้วยกาแฟที่เพิ่งมาถึง ยกขึ้นจิบ
“ตอนโน้น ผมยังเรียนมัธยมต้น ผมซื้อแแผ่นเสียงแจ๊สชื่อ ‘บลูส์-เอ็ตต์’ จากร้านแผ่นเสียงมือสอง แผ่นลองเพลย์เก่า จำไม่ได้ว่าทำไมถึงซื้อมา ผมไม่เคยฟังเพลงแจ๊สมาก่อน แต่เพลงแรกในหน้า A ชื่อเพลง ไฟฟ์ สปอต แอฟเตอร์ ดาร์ก สุดยอดไปเลย เคอร์ติส ฟูลเลอร์ เล่นทรอมโบน ครั้งแรกที่ผมได้ยินเพลงนี้ ผมรู้สึกว่าตัวโน้ตหล่นเกรียวกราวออกมาจากดวงตา นี่เลย ผมคิดในใจ นี่ไง, เครื่องดนตรีของผม ทรอมโบนกับผม จับคู่ผูกข้อมือกันด้วยชะตาลิขิต”
ชายหนุ่มฮัมท่อนแรกของ ไฟฟ์ สปอต แอฟเตอร์ ดาร์ก
“ฉันรู้จักเพลงนี้” มาริกล่าว
“จริงนะ?” หนุ่มงุนงง
มาริฮัมอีกท่อนต่อให้
“คุณรู้ได้ยังไง?” เขาถาม
“มีกฎหมายห้ามไว้ด้วยหรือ?” (หน้า 26)

ชื่อเพลงที่ตรงกับชื่อเรื่องและสถานการณ์ในเรื่องมาก ๆ ‘After Dark’ เล่าเรื่องของโลกยามค่ำคืน การหลับไหลของ’เอริ มาริ’ ที่หนีออกมาพักใจนอกบ้าน นักดนตรีหนุ่ม ‘ทากาฮาชิ’ ที่เพิ่งซ้อมดนตรีเสร็จ การขายบริการทางเพศและการค้ามนุษย์ Five Spot After Dark เขียนโดย Benny Golson นักดนตรีแจ๊สเจ้าของบทเพลงอมตะมากมาย ซึ่ง Five Spot Café มาจากชื่อคลับแจ๊สในนิวยอร์ก ที่มีบทบาทในวงการแจ๊ส และมีการอัดไลฟ์อัลบั้มที่นี่หลายอัลบั้ม บทสนทนาเกิดขึ้นตอนที่มาริเจอกับทากาฮาชิในร้านเดนนีย์’ส ซึ่งเป็นอีกครั้งที่มูราคามิเล่าถึงตัวละครหญิงที่มีรสนิยมในเพลงแจ๊สดี เพลงอื่น ๆ ในเรื่อง เช่น Duke EllingtonSophisticated LadySonny RollinsSonnymoon for TwoPercy FaithGo Away Little Girl รวมไปถึง Pet Shop Boys Jealousy

บทบรรยายจาก “ราตรีมหัศจรรย์” ฉบับแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์

The Rolling Stones – Symphathy for the Devil จาก ‘What I Talk About When I Talk About Running’ (2007)

วันวาน ผมฟังเพลงของโรลลิง สโตน ชุดเบกเกอร์ส แบงเคว็ต เสียงร้องคลอ “ฮู ฮู” ในซิมพาธี ฟอร์ เดอะ เดวิล ได้อารมณ์คลอจังหวะก้าววิ่ง วันก่อนหน้านั้น ผมฟังเรปไทล์ของเอริก แคลปตัน ผมโปรดชุดนี้ มีอะไรบางอย่างที่จะกระโดดมาเกาะกุมหัวใจ ฟังได้ไม่เคยเบื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงเรปไทล์ ไม่มีอะไรเด็ดไปกว่าการฟังเพลงเรปไทล์รับอรุณ จังหวะคงเส้นคงวา ทำนองเพลงเป็นธรรมชาติ กล่อมจิตใจของผมให้สงบ จมเข้าไปในดนตรี และพาเท้าก้าววิ่งไปตามจังหวะ ใยบางคราวจะมีเสียงแทรกเข้ามาในเพลง มีเสียงตะโกนว่า “มาทางซ้าย!” ยังไม่ทันได้ประมวลความคิด จักรยานหวีดหวิวแซงมาทางซ้ายของผม (หน้า 108)

Non fiction จากมูราคามิที่บรรยายความอินในการวิ่งของเขา ซึ่งพออ่านจบ หลาย ๆ คนก็ได้แรงบันดาลไปออกวิ่งทันที หนังสือบรรยายความทรมานในการวิ่งรูปแบบต่าง ๆ ความร้อน ความเหน็ดเหนื่อย แต่ก็แลกมาด้วยบรรยากาศดี ๆ การเอาชนะใจตัวเอง ความสุขที่ได้ตอบแทนมา ในเล่มนี้มูราคามิเล่าถึงเพลงหลาย ๆ แนวที่เขาใช้เพิ่มแรงบันดาลใจในการวิ่งก็มีตั้งแต่ Bryan Adams18 till I Die, The Lovin SpoonfulDaydream ไปจนถึง Vernon Duke Autumn in New York

บทบรรยายจาก “เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง” ฉบับแปลโดย นพดล เวชสวัสดิ์

Stan Getz and João GilbertoThe Girl From Ipanema จาก ‘The 1963/1982 Girl From Ipanema’

เพรียวพลิ้วผิวแทน
สาวอิปาเนมา อ่อนเยาว์สวยสง่า
ยักเยื้องย่างกาย
ในจังหวะแซมบ้า
สวยเก๋ยามส่าย
ยักย้ายอ่อนโยน
อยากจะบอกรัก
มอบหัวใจให้เธอ
แต่เธอไม่รู้ตัว
เฝ้าแต่มองท้องทะเล”
ปี 1963 สาวอิปาเนมาจ้องมองทะเลเช่นนี้ และตอนนี้สาวอิปาเนมาปี 1982 ก็กำลังจ้องมองทะเลเช่นเดียวกัน อายุของเธอไม่เพิ่มขึ้นเลย เธอถูกปิดผนึกอยู่ในมโนภาพ ล่องลอยเงียบเชียบในทะเลแห่งการเวลา หากเธออายุมากขึ้น ตอนนี้ก็คงใกล้สี่สิบแล้ว แต่ก็อาจไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ ผมหมายถึง – เธออาจไม่เพรียวพลิ้วผิวไม่แทนนัก ก็เธอมีลูกตั้งสามคนและแดดทำให้ผิวเสีย อาจจะยังสวยพอสมควร แต่ไม่สาวขนาดเมื่อยี่สิบปีก่อน (หน้า 55)

เพลงบอสซาโนวาอมตะที่ปล่อยตั้งแต่ปี 1964 แต่เราก็ยังคงได้ยินมันบ่อย ๆ จนปัจจุบัน มูราคามิหยิบความสงสัยว่าปัจจุบันสาวอิปาเนมาจะเป็นอย่างไรแล้วนะ มาเขียนลงในเรื่องสั้นนี้ โดยมีตัวละคร ‘ผม’ ผู้หวนคิดถึงโรงเรียนมัธยมปลายและสาวอิปาเนมา สาวเชิงอภิปรัชญา ซึ่งเธอก็คงจะเดินบนชายหาดเรื่อยไปจนกว่าแผ่นเสียงแผ่นสุดท้ายที่มีเธออยู่จะกร่อนขาด เรื่องนี้ไม่ได้มีการพูดถึงเพลงอื่น แต่มีการพูดถึงภาพยตร์ ‘The Strawberry Statement’ โดย Stuart Hagmann

บทบรรยายจาก “สาวอิปาเนมา 1963/1982″จากหนังสือรวมเรื่องสั้น วันเหมาะสมสำหรับจิงโจ้ ฉบับแปลโดย มุทิตา พานิช

Janáček – Sinfonietta จาก ‘1Q84’ (2009)

อาโอมาเมะเอนตัวพิเบาะที่นั่งด้านหลังเต็มตัว หลับตาลงนิด ๆ ฟังเพลง จะมีสักกี่คนในโลกนี้ที่ฟังท่อนเปิด ‘ซินโฟนิเอ็ตตา‘ ของยานาเช็คแล้วทายถูกว่า นี่คือ ‘ซินโฟนิเอ็ตตา‘ ของยานาเช็ค น่าจะอยู่ระหว่าง ‘น้อยมาก’ กับ ‘แทบจะไม่มี’ ประมาณนั้นไม่ใช่หรือ แต่ไม่รู้เพราะเหตุใดอาโอมาเมะถึงทายถูก

Sinfonietta คือเพลงของเรื่อง ‘1Q84’ อย่างแท้จริง หลาย ๆ คนอ่านจบก็คงรู้สึกผูกพันกับเพลงนี้ทันที ซึ่งฉากสำคัญคือตอนก่อนที่ ‘อาโอมาเมะ’ จะก้าวจากโตเกียวปี 1984 สู่โลก 1Q84 ในตอนต้นเรื่อง และเธอได้ยินเพลงนี้ในแท็กซี่ เรื่องราวทั้งสามเล่มก็เป็นเรื่องราวแฟนตาซีที่อ่านสนุก รวมถึงมีเรื่องราวความรักอันงดงาม Q ในชื่อเรื่องมาจากเลขเก้าในภาษาญี่ปุ่นที่ออกเสียงว่า ‘คิว’ และยังหมายถึงคำว่า question ที่อาโอมาเมะมีแต่ความสงสัยว่าทำไมเธอถึงมาอยู่ในโลกใหม่นี้ได้ นอกจากนี้ มูราคามิยังเขียน 1Q84 เพื่อเติมเต็มความฝันที่เขาอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับโลกแบบ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลบ้าง หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยขายได้กว่าล้านเล่มภายในเดือนแรกที่เปิดตัวในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีเพลง Harold Arlen, E.Y. Harburg, and Billy RoseIt’s Only A Paper MoonBachThe Well Tempered ClavierJoseph Haydn Cello Concerto และอีกมากมาย

บทบรรยายจาก “หนึ่งคิวแปดสี่” ฉบับแปลโดย ปิยะณัฐ จีรกูรวิวัฒน์, มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์, มุทิตา พานิช

ถ้าหากยังไม่จุใจ ขอเชิญมาฟังเพลงที่เว็บไซต์ harukimurakami.com ซึ่งรวบบทเพลงจากหนังสือ เรียงตามชื่อเรื่องไว้ ลองเลือกซึ่งก็หลากหลายตั้งแต่ป๊อปไปจนถึงแจ๊ส มาอินได้เลย ที่นี่ และมีเว็บไซต์ http://haruki-music.com/ ที่จะให้คุณเสิร์ชเพลงจากหนังสือได้ตามประเภทเพลงและตามชื่อเรื่อง

สุดท้าย ลองเล่น bingo card รวมเรื่องราวในหนังสือมูราคามิ ถ้าเคยอ่านมากกว่า 1 เล่ม น่าจะพอเข้าใจความแซะนี้

2528065540191861822

อ้างอิง
สิเหร่, Jazz Murakami. นครปฐม : เม่นวรรณกรรม, 2559
Winter reads: Norwegian Wood by Haruki Murakami The Musicality of The Wind-Up Bird Chronicle.
Kafka listens to Radiohead: the music in Haruki Murakami’s literature Haruki Music
A Playlist for Haruki Murakami’s Kafka on the Shore Your literary playlist: A guide to the music of Haruki Murakami
การโคจรของโลกคู่ขนานใน 1Q84 ของฮารุกิ มุราคามิ
Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่