10 สิ่งล้ำ ๆ ในคอนเสิร์ตยุค 2017
- Writer: Malaivee Swangpol
การแสดงคอนเสิร์ตในอดีตจะมีเพียงการร้องและเล่นดนตรี บนเวทีมีเพียงป้ายผ้าตกแต่ง และการจำหน่ายบัตรต้องไปที่ช่องจำหน่ายตั๋วเท่านั้น
แต่เมื่อเทคโลยีเริ่มพัฒนาก็เริ่มมีจอ LED เอฟเฟกต์ไฟ เลเซอร์ สลิง การซื้อตั๋วก็สามารถทำได้รวดเร็วทันใจ รวมถึงเทคโนโลยีสตรีมมิ่งและ VR (virtual reality) ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เข้ามาทำให้การชมอยู่บ้านสนุกสนานไม่แพ้การรับชมในคอนเสิร์ต ซึ่งในอนาคตคงจะมีสิ่งใหม่ ๆ ล้ำ ๆ มาเพิ่มความสนุกสนานอย่างแน่นอน ลองมาดูกันว่า ปี 2017 นี้ มีเทคโนโลยีคอนเสิร์ตน่าสนใจอะไรบ้าง
Chat Bot ที่รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับคอนเสิร์ต
ทักเพจไปก็ไม่ตอบ โทรไปก็สายไม่ว่าง ทำไงดีอะ คุยกับบอตดิ Ticketmaster บริษัทขายบัตรเจ้าใหญ่ และ Live Nation ผู้จัดคอนเสิร์ต ได้เปิดบริการตอบคำถามผ่านบอตในเมสเซนเจอร์ของเฟซบุ๊ก โดยที่เราสามารถสอบถามข้อมูลคอนเสิร์ต ซื้อตั๋ว ชวนเพื่อนมาคุยในแชต โดยที่ไม่ต้องออกจากเมสเซนเจอร์ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถเชื่อมแอคเคาต์ Live Nation กับเมสเซนเจอร์เพื่อความสะดวกในการซื้อบัตรอีกด้วย เจ้าบอตนี้จะทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงผู้ใช้กว่าหนึ่งพันสามร้อยล้านคนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ลองคุยกับ Ticketmaster Bot ได้ ที่นี่ และ Live Nation Bot ได้ ที่นี่
ดูคอนเสิร์ตแบบบุฟเฟต์กันไปเล้ยยยย กับ Jukely
‘โอ้ย จะเอาตังค์ที่ไหนไปดูคอนเสิร์ต ขายไตแปป!’ เราจะได้ยินคำพูดเหล่านี้น้อยลง! เพราะ Jukely จะเปิดให้ผู้ชมสามารถเข้าชมคอนเสิร์ตได้ในราคาประหยัด โดยจะมีแพคเกจให้เลือกตั้งแต่ $25 ไปจนถึง $65 ซึ่งจะสามารถเลือกดูคอนเสิร์ตได้ตามจำนวนที่เราจ่าย เช่น $25 ได้ดู 4 โชว์ต่อเดือน สามารถจองตั๋วได้ตั้งแต่ 11 โมงเช้าของวันงาน และสามารถนำโค้ดจองไปเข้างานได้ทันที Jukely เริ่มให้บริการแล้วใน 16 เมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร
Pavemint แอพที่ทำให้คุณไม่ต้องวนรถเวลาไปดูคอนเสิร์ตอีกต่อไป
หมดยุคของการวนหาที่จอดรถในเมื่อคุณสามารถจับจองที่ไว้ได้ตั้งแต่ก่อนไปถึงสถานที่แสดงคอนเสิร์ต Pavemint ช่วยให้คุณจองที่จอดในบ้านคนอื่นและให้เช่าที่จอดภายในบริเวณบ้านของคุณได้ ทำให้คุณสามารถได้เงินแม้จะไม่อยู่บ้าน และยังทำให้คุณไปดูคอนเสิร์ตได้ทันเวลา มีที่จอดเวลาไปตีแบด ไม่ต้องเดินไกลเวลาไปมหาลัย และยังลดโลกร้อนอีกด้วย
รู้หมือไร่? รถที่วนหาที่จอดคิดเป็นกว่า 30% ของรถบนท้องถนน และการวนหาที่จอดยังทำให้เปลืองน้ำมันไปปีละกว่า 1,022 ล้านลิตร หรือคิดเป็นระยะทางขับรถกว่าแปดพันล้านกิโลเมตร
รับสิทธิพิเศษมากมายกับ Concertpass
Concertpass เป็นแอพพลิเคชั่นนี้ช่วยมอบสิทธิพิเศษ (rewards) แก่ผู้เข้าชมคอนเสิร์ต เช่นการอัพเกรดบัตรเข้าชมเป็นบัตร VIP การได้เข้า meet and greet การมอบส่วนลดอาหาร สินค้าที่ระลึก เครื่องดื่ม โดยผู้เข้าชมต้องเปิดแอพลิเคชันพร้อม Bluetooth และ GPS เพื่อยืนยันตัวตนและจะสามารถเข้าถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้ ซึ่งแอพลิเคชั่นนี้จะช่วยให้สปอนเซอร์สามารถทำโปรโมชัน ทำกิจกรรมกับลูกค้า และยังช่วยให้แฟน ๆ มีส่วนร่วมกับงานแสดง เพิ่มความประทับใจกับการชมคอนเสิร์ตอีกด้วย
Mixhalo ระบบ Smart Earbuds ที่คุณมิกซ์เสียงได้เองกลางคอนเสิร์ต
Mixhalo ทำให้ผู้ชมสามารถปรับแต่งเสียงดนตรีสดผ่านแอพลิเคชัน ซึ่งสามารถปรับระดับความดังเสียง ปรับ EQ และเพิ่มเอฟเฟคเสียงต่าง ๆ เข้าไปได้ Mike Einziger มือกีตาร์วง Incubus เป็นผู้เริ่มโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Pharrell Williams ซึ่ง Einziger เริ่มพัฒนาแอพลิเคชันนี้จากประสบการณ์ตรงที่เสียงในคอนเสิร์ตออกมาไม่ดีเท่าที่ตัวเขาบนเวทีได้ยิน แอพลิเคชันนี้จะทำให้เราได้ยินเสียงที่ดีที่สุดเสมอ และทำให้เราสามารถตัดเสียงรบกวนจากเวทีอื่นและเลือกฟังเสียงจากเวทีที่เรากำลังอยู่ได้ในกรณีที่ไปเฟสติวัล
เก็บมือถือของคุณลงไปกับ Yondr ซะ
Yondr คือซองล็อกได้สำหรับใส่มือถือเพื่อไม่ให้นำออกมาใช้ระหว่างชมการแสดง ทำให้ไม่มีคลิปแอบถ่ายจากงานนั้น ๆ หลุดออกมาได้ และจะสามารถปลดล็อกได้ด้วยเครื่องที่หน้างานเท่านั้น (วิธีการทำงานคล้าย ๆ กับแท็กกันขโมยในร้านค้า) ซองนี้เริ่มใช้แล้วในหลาย ๆ คอนเสิร์ต รวมถึงโรงเรียน ซึ่งทำให้คนที่ใช้โฟกัสกับสิ่งที่ทำมากขึ้น ลองดูคลิปรีวิววิธีใช้ได้ ที่นี่ เลยจ้า
นอกจากนี้ Apple ก็กำลังพัฒนาระบบอินฟาเรดเพื่อส่งสัญญาณปิดกล้อง iPhone ในคอนเสิร์ตอีกด้วย มารอดูกันว่าเจ้าไหนจะเวิร์ก เจ้าไหนจะเข้ามาถึงไทยบ้าง แบบนี้โปรโมเตอร์ได้ยิ้มกันแก้มปริ
ผียุค 2017
Hologram เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยฟื้นคืนชีพคนหรือทำให้การ์ตูนมีชีวิต ซึ่งเริ่มมีใช้ในวงการเพลงตั้งแต่ Gorillaz ไล่มาถึง 2Pac, Hatsune Miku และล่าสุด Ronnie James Dio, Frank Zappa สองศิลปินผู้ล่วงลับที่กลับมาเปิดคอนเสิร์ตอีกครั้ง ซึ่งในปี 2017 เป็นครั้งแรกที่ Gorillaz วงเสมือนจริงผู้บุกเบิก hologram ออกมาให้สัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับสื่อ และเป็นปีที่ Dio จะออกทัวร์ทั่วโลกหลังจากเสียชีวิตไปในปี 2010 ร่วมกับนักดนตรีจริง ๆ และผู้คนก็ให้การตอบรับที่ดีมาก
RFID Wristband เข้างาน ซื้อของ เก็บรูป ได้ภายในตึ๊ดเดียว
เทคโนโลยีใหม่ที่จะมาแทนที่บัตรคอนเสิร์ตแบบปกติและเป็นมากกว่าบัตรเข้างาน RFID Wristband เริ่มใช้แล้วในเทศกาลดนตรีอย่าง Coachella และ Bonnaroo Music and Arts Festival ซึ่งเมื่อเราซื้อบัตรจะได้รับ wristband พร้อมหมายเลขผู้ใช้ 16 หลัก ซึ่งหลังจากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์จะสามารถใช้บัตรนี้เข้างาน ใช้แทนเงินสด ติดตามตัวผู้ร่วมงาน จำกัดสิทธิในการเข้าโซนดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังสามารถลิงก์กับเฟซบุ๊ก ทำให้สามารถเซฟรูปจากภายในงาน (เหมือนเวลาไปสวนน้ำ) รวมถึงได้รับส่วนลดราคาสินค้าต่าง ๆ และรับฟังเพลงจากวงที่มาเล่นในงานได้แบบฟรี ๆ ตอนนี้ที่งาน Wonderfruit เขาก็ใช้นะ แต่เรียกมันว่าระบบ cashless คือสามารถเติมเงินเข้าไปในชิปการ์ดติดกับริสต์แบนด์ ไม่ต้องพกเงินสดให้ยุ่งยากด้วยจ้า
สร้างสีสันไปกับ LED Wristband
ใครที่ได้ไปชมคอนเสิร์ต Coldplay อาจจะได้ลองใช้เจ้า Xyloband ซึ่งเป็น wristband ที่สามารถกะพริบ เปลี่ยนสีได้ตามจังหวะเพลง ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมกับคอนเสิร์ตในทุก ๆ งาน นอกจากนี้ยังมียี่ห้อ Pixmob ที่ Taylor Swift ใช้ใน 1989 World Tour CrowdSync, CrowdLED และอีกหลายเจ้า ซึ่งนอกจากจะอยู่ในรูปแบบ wristband แล้ว บริษัทที่กล่าวมายังสามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันในลูกบอล LED และ ป้ายห้อยคออีกด้วย
สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงกับ Virtual Reality Concert
VR Headset คือการจำลองให้เรารู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งจริง ๆ ผ่านแว่นซึ่งจะสามารถดูภาพได้ 360 องศา ซึ่งในอนาคต VR Concert จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา โดยผู้ชมทางบ้านจะสามารถชมคอนเสิร์ตสด ๆ ได้แบบ realtime โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยขับรถ และนอกจากนี้ คุณยังสามารถเข้าไปที่หลังเวทีได้แบบสุด exclusive อีกด้วย ปัจจุบันมีแอพพลิเคชันอย่าง Napster VR, NextVR ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ Live Nation และ Citi Bank ที่จะพาคุณไปหลังเวที, OnStage โดย Live Nation กับ Hulu ที่มาในแบบ VR Documentary
มีการคาดการณ์ว่า VR Headset จะจำหน่ายได้มากถึงสองล้านห้าแสนชุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้น 79% จากปี 2016 และกว่ารายรับรวมกว่า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง
LIVE NATION ROLLS OUT FACEBOOK CONCERT BOT
Ticketmaster’s chatbot for Facebook is actually not terrible
Jukely
Lock Screen: At These Music Shows, Phones Go In A Pouch And Don’t Come Out
How the Lumineers Banned Cellphones at Their Shows (Without Pissing Anyone Off)
Concerts & Technology: The Future Is Now
Life after death: Musicians are coming back to the stage thanks to holographic technology
Tupac, Michael Jackson, Gorillaz & More: A History of the Musical Hologram
Watch Gorillaz live-stream a gig in 360-degrees
Gorillaz break record with ‘Saturnz Barz’ VR video
Crowdsync Technology
How The VR Concert Industry Is Boldly Jockeying For A Slice Of A Projected $660M Pie
ปัญชลิตา สุขสมัย, แพรวา ฤทธิ์สกุลชัย, ภาสวิชญ์ สวัสดิ์-ชูโต, มาลัยวีณ์ แสวงผล. (2560). Concert 4.0. รายวิชา ดศธด 492 การสัมมนาทางธุรกิจดนตรี. วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 4 สิงหาคม 2560. หน้า 9-17.