Haunted Theme Songs ไตเติ้ลหลอน ละครผี
- Writer: Piyakul Phusri
ย้อนไปเมื่อราว 10-20 ปีที่แล้ว สมัยที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้เป็นปัจจัยที่ 5 อย่างทุกวันนี้ ช่องทางในการเสพความบันเทิงของคนไทยเราก็มีไม่กี่อย่าง และแน่นอนว่าช่องทางที่เป็นที่นิยมที่สุดไม่แพ้วิทยุก็คือ ‘โทรทัศน์‘ และรายการโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยมที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ละครหลังข่าว‘ ด้วยความที่ยังไม่มีระบบ TV on-demand แบบในตอนนี้ ทำให้แฟนละครต้องมีวินัยในการมานั่งรอละครที่ติดตามอยู่ และสัญญาณแรกที่ทำให้รู้ว่าละครมาแล้วก็คือ ‘เพลงไตเติ้ล‘
โดยเฉพาะในคืนวันพุธ ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบได้มักเป็นคิวของละครแนวผีสางนางไม้ ที่เพลง และเสียงประกอบต่าง ๆ ที่วิเวกวิโหวงวิวังเวง โหยหวน หรือเสียงกรีดร้องอย่างเจ็บปวดทรมาน มีผลในการสร้างบรรยากาศชวนขนลุก เพราะลำพังภาพเพียงอย่างเดียวอาจจะยังน่ากลัวไม่พอ
ด้วยสภาพสังคม และรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอาจจะทำให้ละครผีในทุกวันนี้มีความน่ากลัวน้อยลง แต่วงการละครทีวีไทยเคยมีละครแนวผี ๆ ที่ทำเอาเด็ก ๆ ถึงกับไม่กล้าออกมาเข้าห้องน้ำคนเดียวตอนกลางค่ำกลางคืน หรือบางคนแค่ได้ยินเพลงไตเติ้ลก็ขนลุกซู่ขนหัวตั้งแล้ว มาดูกันว่าบรรดาเพลงประกอบสุดหลอนในความทรงจำของเรามีเรื่องอะไรบ้าง
ปอบผีฟ้า
“ข้าอยากได้เลือด เลือดดดด เลื้อดดดดด”
บทประพันธ์สุดคลาสสิกของคุณประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ที่ถูกนำมาทำละครทีวีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และมีการทำซ้ำอีก 3 ครั้ง ได้แก่ เวอร์ชั่นปี 2534, 2540 และ 2552 ว่าด้วยเรื่องความรักความแค้นข้ามภพของ “เจ้าหลวงภูคำ” “เจ้านางละอองทอง” และ “แสงหล้า” แห่งนครภูคำ เจ้านางละอองทองไม่พอใจที่เจ้าหลวงภูคำพาแสงหล้าเข้ามาอยู่กินในวัง แถมยังเป็นที่โปรดปรานของเจ้าหลวงเสียด้วย นางเลยไปพึ่งพาผีเจ้าเพื่อให้ดลบันดาลอำนาจให้นาง แต่เจ้านางละอองทองพลาดไปกินน้ำลายผีเจ้า เลยต้องกลายเป็นทายาทรับใช้ผีเจ้าคอยหาเลือดสด ๆ มาให้ผีกินไปตลอด แต่เจ้านางก็ละเลยหน้าที่ในการเลี้ยงดูปูเสื่อผี เลยโดนผีที่เลี้ยงไว้สิงจนกลายเป็นผีปอบวิญญาณร้ายซะงั้น แม้ว่าใครต่อใครจะไปเกิดใหม่แล้วก็ตาม แต่ผีปอบเจ้านางละอองทองก็ยังเฮี้ยนเสมอต้นเสมอปลาย เข้าสิงนางเอกที่เป็นร่างทรงผีฟ้ารักษาคนและใช้ร่างนี้ฆ่าคนเป็นว่าเล่น ละครเรื่องนี้จึงเป็นการปะทะกันระหว่างพลังความดีของเหล่ามนุษย์ และการตามรังควานของผีเจ้านางละอองทองซึ่งตามล้างตามเช็ดมาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน
ทายาทอสูร
“ข้าเลือกเจ้าไว้…..เจ้าคือทายาทคนต่อไป…..”
จากบทประพันธ์แนวสยองขวัญ–ไสยศาสตร์ของ ตรี อภิรุม (เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา) ที่มีฉากปล่อยตะขาบเข้าปากเป็นฉากคลาสสิกประจำเรื่อง เคยถูกทำเป็นละครมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2535, 2544 และ 2559 ว่าด้วยเรื่องราวของ “คุณยายวรนาฏ” หญิงชราที่ไม่แก่ไปตามวัย เธอไม่ได้พึ่งเทคโนโลยีทันสมัยในการประทินโฉมแต่เป็นเพราะอำนาจมืดของวิญญาณร้ายที่สถิตอยู่ในตุ๊กตาสังคโลกลายตะขาบอายุเจ็ดร้อยปี โดยดวงจิตที่แท้จริงของวรนาฏถูกวิญญาณอสูรกักขังไว้ในร่างของตัวเอง จนถึงเวลาที่วิญญาณร้ายในร่างคุณยายวรนาฏจะต้องสืบทอดทายาทอสูรคนต่อไป มีเพียงทายาทฝ่ายหญิงที่จะสืบเชื้อแห่งความแค้นและชั่วร้ายนี้ได้ และสิ่งเดียวที่คนที่ขวางทางมันจะได้พบก็คือ ความตาย!
สุสานคนเป็น
“พบกันใน…สุสาน สุดท้าย…ต้องไป สุสานนน”
อีกหนึ่งบทประพันธ์สุดหลอนของ ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวีตั้งแต่สมัยที่ยังแพร่ภาพเป็นระบบขาว–ดำ ระหว่างปี 2515-2517 และถูกสร้างซ้ำอีก 4 ครั้งในปี 2525, 2534, 2545 และ 2557 เป็นเรื่องราวของ “ลั่นทม” นักธุรกิจสาวผู้ร่ำรวยแต่ป่วยด้วยโรคแปลกประหลาดที่จะทำให้หมดสติ มีสภาพเหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่หัวใจยังเต้นปกติ ด้วยความรวยของเธอ ทำให้ “ชีพ” สามีตัวร้าย และ “รสสุคนธ์” กิ๊กสาว หวังจะฮุบสมบัติเป็นของตัวเอง เลยวางแผนฆ่าลั่นทมเพราะเห็นว่าไหน ๆ ก็ป่วยเป็นโรคที่เหมือนคนตายไปแล้วบ่อย ๆ แล้ววันหนึ่งลั่นทมก็ตายจริง ๆ แต่กลับฟื้นมาได้อย่างปาฏิหาริย์ หลังจากนั้น ลั่นทมก็เล็งเห็นว่าเป็นแบบนี้ตัวเองคงจะไปไม่กลับ–หลับไม่ตื่นเข้าซักวันอย่างแน่นอน เลยสั่งให้สร้างสุสานเป็นเรือนไทยหลังงามเผื่อว่าเธอตายแบบไม่ฟื้นขึ้นมาอีกหน ให้นำศพของเธอมาเก็บไว้ที่สุสานแห่งนี้ จนในที่สุด ลั่นทมก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจริง ๆ (ซึ่งก็เป็นแผนของนายชีพนั่นแหละ) ศพของเธอถูกนำมาเก็บไว้ที่สุสานที่เธอสั่งให้สร้างไว้ และแม้ว่าชีพกับรสสุคนธ์จะอยากให้เผาศพให้จบ ๆ ไปแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะพินัยกรรมของลั่นทมเขียนสั่งไว้ ถ้าไม่ทำตามนั้นชีพก็จะไม่มีสิทธิ์ในกองมรดก พอรสสุคนธ์ตายกลายเป็นผีก็ได้เห็นความแสบของสามีตัวเองที่ไม่ได้รักเธอแต่หวังแค่สมบัติ จากความรักจึงเปลี่ยนเป็นความโกรธแค้นและการหลอกหลอนอย่างน่าสยดสยอง
ศีรษะมาร
“ศีรษะมารรร มันลอยมาหลอน มาหลอก ทำร้าย ทำลายชีวิต”
เมื่อละครที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์แนวพลังจิต+วิทยาศาสตร์ของ จินตวีร์ วิวัธน์ ปรากฏตัวบนหน้าจอโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 2536 มันคือความน่ากลัวอันโคตรล้ำที่ผู้ชมได้เห็นหัวผู้หญิงลอยไปลอยมาไล่ฆ่าคน เด็ก ๆ สมัยนั้นหลายคนไม่กล้าออกไปนอกบ้านตอนกลางค่ำกลางคืนเพราะกลัวจะเจอหัวของ “ปี๋” หญิงสาวเจ้าอารมณ์ที่ประสบอุบัติเหตุถูกกระจกขนาดใหญ่ตัดคอจนหัวหลุดออกจากบ่า แต่ด้วยพลังจิตอันแข็งกล้าทำให้เธอไม่ตาย (อึม…) เธอหิ้วหัวตัวเองมาหา “นายแพทย์ปิติ” ซึ่งเป็นลุงของตัวเองที่กำลังทำการทดลองเกี่ยวกับอำนาจพลังจิตของเธออยู่ หมอปิติพยายามต่อหัวของเธอเข้ากับร่างกายแต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้เธอต้องออกไปหาร่างกายของหญิงสาวเพื่อมาทดลองทดแทนร่างกายที่เน่า นำมาสู่คดีหญิงสาวหายตัวอย่างลึกลับ และยิ่งสยองขึ้นไปอีกเมื่อปี๋เกิดรัก “สักการ” ด๊อกเตอร์หนุ่ม แน่นอนว่าใครจะไปรักผู้หญิงที่มีแต่หัวลอยไปลอยมาได้ลงล่ะ และก็แน่นอนอีกเช่นกันว่าผู้หญิงที่มีทั้งความรักและความพยาบาทจะทวีความน่ากลัวขึ้นอีกหลายเท่า
ปะการังสีดำ
“บันดาลให้เหี้ยมโหด ยิ่งกว่าลมพายุ กระหน่ำ”
ละครผีที่นอกจากจะมีประเด็นเรื่องบาปบุญคุณโทษเป็นพื้นฐานยังแฝงแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ทะเลอีกด้วย ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ถูกสร้างเป็นละครทีวี 3 ครั้ง ในปี 2520, 2539 และ 2560 เรื่องราวของ “สาหร่าย” หญิงสาวที่ล่วงรู้ความลับของสมบัติใต้สมุทร จึงถูกฆาตกรรมทิ้งร่างลงทะเลและถูกสะกดวิญญาณให้อยู่ในดงปะการัง วิญญาณของเธอถูกปลดปล่อยโดยบังเอิญจากพวกลับลอบหาสมบัติที่มาระเบิดดงปะการัง เธอจึงออกตามหาคนที่ฆ่าเธอ และตามหาลูกที่รอดชีวิตจากการฆาตกรรมครั้งนั้นด้วยการเข้าสิงร่างของผู้หญิงที่ถูกพายุใหญ่พัดมาติดเกาะ โดยใช้ชื่อว่า “ปะการัง” แต่ร่างนี้ก็คงอยู่ได้ไม่ยั่งยืน และเริ่มแห้งเหี่ยวเป็นสีดำ สิ่งเดียวที่จะทำให้วิญญาณของสาหร่ายในร่างของหญิงสาวชื่อปะการังยังอยู่ได้ก็คือเลือดของมนุษย์ ความพยายามในการดำรงอยู่เพื่อล้างแค้นคนที่ฆ่าเธอจึงต้องดำเนินไปกับการดูดเลือดคนเพื่อต่อชีวิตคนแล้วคนเล่า
เงาปริศนา
“ฉันไม่ใช่ผี แล้วก็ไม่ใช่นายด้วย”
เรื่องนี้ไม่ใช่ละครผีซะทีเดียว แต่พล็อตเรื่องมีความเป็นดราม่าลึกลับพลังจิตสไตล์ซีรีส์วัยรุ่นฝรั่ง ออกอากาศทางช่องเจ็ดเมื่อปี 2544 และไม่ได้นำแสดงโดยใครที่ไหน แต่เป็นดาราหนุ่มลูกครึ่งสุดฮอตในยุคนั้น อย่าง จุลจักร จักรพงษ์ หรือ พี่ฮิวโก้ เจ้านายเอ้ย ของพวกเราในปัจจุบันนี้เองล่ะจ้า สิ่งที่ประทับใจนอกจากเนื้อเรื่องคือเพลงประกอบละครที่มีความลึกลับแต่เพราะเอามาก ๆ รวมถึงมีวลีเด็ดตอนจบไตเติ้ลที่จำกันได้ขึ้นใจ ‘ฉันไม่ใช่ผี แล้วก็ไม่ใช่นายด้วย’โดยผู้ที่ร้องเพลงนี้ก็คือฮิวโก้ และ คุณเต้ The Face หรือ ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ที่สมัยก่อนยังออกอัลบั้มเป็นนักร้องในชื่อ กันตะ กัลย์จาฤก นั่นเองจ้า เสียงชีดีมาก ๆ ทีเดียว ไม่เชื่อลองกลับไปฟังกันได้
จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า
“จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดง ผูกมือของข้า”
เมื่อเพลงกล่อมเด็กสมัยก่อนที่เราได้ยินกันเป็นประจำ กลับกลายเป็นเพลงที่ต้องอุดหูทันทีในเวอร์ชันสุดหลอน ที่ถูกใช้เป็นไตเติ้ลละคร จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ที่ออกอากาศทางช่องสามเมื่อปี 2549 และเป็นวลีที่ดังหลอนขึ้นมาในทุกเบรกจนเราคว้าหมอนมาอุดหูไม่ทัน เรื่องนี้เป็นละครลึกลับเขย่าขวัญเรื่องหนึ่งที่เราชอบมากเพราะมีปมผูกอย่างยุ่งเหยิงให้คอยตามดูการคลี่คลายและพบกับเซอร์ไพรส์พล็อตทวิสต์สุดสะพรึง แต่ที่น่ากลัวสุด ๆ ไม่แพ้เพลงก็เห็นจะเป็น หมู พิมพ์ผกา ที่รับบทเป็น ครูรมณี ผีสาวหน้าสยองในชุดละครฝรั่งที่คอยตามมาแสยะยิ้มใส่คนดูทุกฉากที่หล่อนปรากฏตัว
ชมรมขนหัวลุก
“ฮื่อ…ฮือ….ฮื้อ…ฮือ…….”
ปิดท้ายด้วยรายการผีในตำนาน ออกอากาศสองครั้งระหว่างปี 2538 – 2540 และ 2545 – 2546 ต้นตำรับรายการผียุคปัจจุบัน รูปแบบของรายการมีทั้งช่วงที่เหมือนกับรายการผียุคนี้ คือเชิญดาราและแขกรับเชิญมาเล่าประสบการณ์ลี้ลับเหนือธรรมชาติ และมีช่วงละครที่สร้างจากประสบการณ์ลี้ลับหรือเรื่องแต่งแนวสยองขวัญจากแฟนรายการทางบ้านที่ส่งจดหมายเข้ามา ส่วนช่วงท้ายของรายการเป็นการเปิดให้แฟนรายการโหวตละครที่น่ากลัวที่สุดทางไปรษณียบัตรเพื่อรับแหวนทองคำจากทางรายการ แต่สิ่งที่น่ากลัวจริง ๆ ของรายการนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องเล่าประสบการณ์หลอน แต่เป็นเพลงไตเติ้ลประกอบรายการที่แสนติดหูเพลงนี้….