Freedom of Format อิสระทางดนตรี
ใครที่คิดว่าในอุตสาหกรรมดนตรีอินดี้บ้านเราจะห้ำหั่นกันแค่เรื่องสกิลการเล่นและเรียบเรียงดนตรีขั้นเทพขนาดที่ฟังแล้วจะประเทืองเรืองหูล่ะก็ ขอให้คิดใหม่ เพราะในความเป็นจริงมีศิลปินที่ไม่ได้เป็นสายนักดนตรีฝีมือเทพประทาน หรือคลั่งใคล้ในศาสตร์แห่งการบรรเลงเพียงอย่างเดียว อย่างที่รู้ ๆ กันว่าในแวดวงนี้มีคนจากอาชีพสายความคิดสร้างสรรค์ในสาขาอื่น ๆ ที่ก็มีความสนใจทางการดนตรีเช่นเดียวกัน ซึ่งคนพวกนี้แหละที่ได้สร้างรูปแบบที่แปลกใหม่ ไม่จำกัดอยู่ในกรอบ และเชื่อในอิสระของการนำเสนอดนตรีให้ออกมาในแง่มุมที่แตกต่างจากงานธรรมดาทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เราขอเชิญผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับงานดนตรีที่ผสมผสานองค์ประกอบที่หลากหลายมากกว่าจังหวะและทำนองไปพร้อม ๆ กันได้แล้วกับ ฟังใจซีน #9 Freedom of Format เล่มนี้
นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่ก็มีน้อยคนที่จะหยิบเรื่องราวของ concept band มาพูดถึงกันอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับรูปแบบแรกคือการนำเสนอภาพลักษณ์ของวงให้ผิดแผกไปจากปกติสามัญมนุษย์ ย้อนกลับไปช่วงยุค 90s ที่เราได้รู้จักกับวงดนตรีอย่าง Daft Punk ที่สร้างความฮือฮาให้กับคนฟัง เพราะการที่นักดนตรีนำเสนอตัวเองในรูปลักษณ์ของหุ่นยนต์ แต่การไม่ยอมเปิดเผยตัวตนยิ่งทำให้คนอยากเห็นใบหน้าที่แท้จริงเบื้องหลังหมวกกันน็อคคูล ๆ เหล่านั้น และอยากรู้ว่าทำไมพวกเขาจะต้องปิดบังตัวตน ตามประวัติแล้วเราอาจพบการให้เหตุผลว่า ระหว่างที่เขาทำเพลงในสตูดิโอเมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี 1999 ตอนเวลา 9 โมง 9 นาที ก็เกิดระเบิด แล้วพอได้สติเลยกลายมาเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพวกเขาแค่อาย กับอีกเหตุผลคือพวกเขาไม่อยากให้สาธารณะมารุกล้ำชีวิตส่วนตัวของพวกเขาและอยากให้โฟกัสกับผลงานมากกว่า นี่ก็เลยเป็นอีกข้อดีที่นอกจากคนจะรู้ว่าเพลงของพวกเขาจะต้องออกแนว electro house แล้วเราก็จะนึกถึงภาพคนสองคนเป็นหุ่นยนต์ retro futuristic ตอนฟังเพลง Daft Punk อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีวง Kiss, Slipknot, Buckethead, Deadmau5, Doom, Insane Clown Posse, Blue Man Group และ GWAR ที่เลือกจะปิดบังใบหน้าเช่นกัน ที่สำคัญคือศิลปินไทยที่ไม่ค่อยเปิดเผยตัวตนก็มีไม่ว่าจะเป็น พราย ปฐมพร ที่ทาตัวฟ้าและมีแถบคาดหน้าสีดำเป็นสัญลักษณ์ไว้ทุกข์กับการทำงานที่ไม่คิดว่าจะทำสำเร็จได้ หรืออย่าง The Charapaabs ที่กำลังเป็นที่จับตามองในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากการปล่อยภาพชายชราสี่คนเล่นดนตรีแนววัยรุ่น แบบ คนแก่จะมาทำเพลงแนวนี้จริง ๆ หรือ แต่ไม่ต้องห่วงไปเพราะเล่มนี้เราก็จะได้ทำความรู้จักพวกเขามากยิ่งขึ้นในคอลัมน์ เห็ดหอม ฉบับนี้ด้วย
อีกกลุ่มนึงที่นำเสนอตัวเองในแบบ visual หรือ appearance จัด ๆ อย่าง OK Go ที่ต้องมากันสี่คนพร้อมท่าเต้นและมิวสิควิดิโอสุดเว่อร์วัง Devo วง art punk, new wave ที่โดดเด่นโด่งดังกับหมวกทรงกรวยเป็นชั้น ๆ Bo Ningen วง stoner rock จากญี่ปุ่นที่เปิดตัวมาประหนึ่งศาสดา ไว้ผมยาวกระเซิงถึงเอวพร้อมชุดกรุยกราย Kyary Pamyu Pamyu, Lady Gaga, Björk นี่ก็เข้าข่าย ซึ่งแต่ละคนก็จะมีคอนเซปต์การนำเสนอตัวเองในความหมายที่ต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพวกเขาก็ต้องการที่จะแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองให้ชัดเจนสอดคล้องกับเพลงที่ทำทั้งสิ้น ส่วนวงไทยก็มีอยู่หลาย ๆ กลุ่มเลยไม่ว่าจะเป็น Stylish Nonsense ที่มีอยู่ช่วงนึงก็หยิบเอาชุดกระโปรงมาใส่ขึ้นเวทีตอนแสดงสด Happy Band ที่มีผู้หญิงแต่งตัวคล้ายยามมาทำท่าแสดงประกอบเพลง คุณสอง วง Paradox หรือ Samurai Loud ที่แต่งตัวแฟนซีอยู่บ่อยครั้ง
และยังมีอีกกลุ่มนึงที่เรียกว่า virtual bands หรือ virtual artists เป็นการแทนภาพจำของนักดนตรีด้วยภาพการ์ตูน อย่างเช่น Gorillaz ที่ภายหลังเราก็พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังเสียงร้องนี้คือ Damon Albarn แห่งวงบริทป๊อปชื่อดังอย่าง Blur ที่ทำกับนักวาดภาพประกอบ Jamie Hewlett นั่นเอง โดยเขาก็สร้าง backgroud ของวงให้ดูมีเรื่องราวมากขึ้นว่า มันเกิดจากการที่มือเบสและผู้ก่อตั้งวงชื่อ Murdoc Nicalls ถูกตัดสินให้ดูแล 2D คนขายคีย์บอร์ดเป็นเวลา 30,000 ชั่วโมงที่ถูกเขาทำร้ายตอนเข้าไปบุกปล้นร้าน ซึ่งภายหลังเขาก็ให้ 2D มาเป็นนักร้องนำของวง (ซะงั้น) แล้วเมอร์ดอคเจ้าเก่ายังลักพาตัว Russel มาจาก Big Rick Black’s Music Shack ให้มาเป็นมือกลอง ส่วน Noodle สมาชิกอีกคนก็ถูกส่งมาในลัง FedEx ถึงหน้าประตูหลังจากที่วงไปขึ้นโฆษณาตามหามือกีตาร์ลดในนิตยสาร NME แค่ฟังเรื่องของพวกเขาก็สนุกแล้ว แถมยังทำเพลงดี แล้วยิ่งนำเสนอออกมาในภาพตัวการ์ตูนหน้าเมา ๆ กวน ๆ อีก ก็มีแต่ได้กับได้ ทีนี้ก็มีคนคิดว่าวงนี้จะเล่นสดกันยังไง ความพีคก็คือเขาเล่นฉาย hologram ให้ตัวการ์ตูนพวกนี้ไปโลดแล่นได้บนเวทีจริง ๆ ในคอนเสิร์ตซะเลย virtual artists อื่น ๆ ที่เรารู้จักก็มี The Archies, Josie and the Pussycats ที่ตอนหลังถูกนำมาทำเป็นเวอร์ชันคนแสดงจริงด้วย แบบนี้ควรนับรวมแก๊ง Vocaloidจากค่าย Yamaha ฝั่งญี่ปุ่นเข้าไปด้วยได้ไหมนะ
นอกจากเรื่อง appearance ที่หลายวงเลือกหยิบจับมาใส่เพื่อนำเสนอด้านอื่น ๆ ในงานดนตรีของพวกเขาแล้ว ก็มีการนำเอาจิตรกรรมหรือศิลปะการแสดงเข้ามาผนวกกับดนตรี เช่น การจัดงานแสดงดนตรีสดประกอบการสร้างงานศิลปะไปควบคู่กัน มีนักเคลื่อนไหวมาเต้นรำประกอบดนตรีแบบไม่มีการเตรียมการหรือล่วงรู้แนวดนตรีที่ต้องแสดงร่วมมาก่อน การนำเอาเสียงบรรยากาศต่างมาตัดใส่เข้าไปปนกัน สร้างความบิดเบี้ยวของเสียงหรือเพิ่ม noise เพื่อให้ล่วงรู้ถึงสุ้มเสียงที่แตกต่างและแปลกใหม่ หรือคลิปที่ตั้งเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ ไว้ในห้องแล้วปล่อยให้นกบินไปเกาะตามสายเหมือนพวกมันบรรเลงเพลงของตัวเอง การอ่านบทกวีประกอบการแสดงดนตรีสด การจัดแสงสีให้เปลี่ยนไปตามจังหวะและทำนองดนตรี การแต่งเพลงที่ยากแก่การตีความหรือการใช้ภาษาที่ผิดแผกไปจากประโยคพูดในชีวิตประจำวันเพื่อซ่อนความหมายหรือประเด็นที่ล่อแหลมแต่ยังอยากแสดงจุดยืนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นงานแนวทดลองในรูปแบบที่ไม่จำกัดที่หลายคนก็อยากจะเสาะหาอะไรใหม่ ๆ จากความเป็นไปได้ของสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้าให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
ในอนาคตเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าทิศทางการนำเสนอรูปแบบของดนตรีจะมีอะไรเพิ่มเข้ามาบ้าง แต่ด้วยความเสรีนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้หลาย ๆ คนได้ลองคิด ลองทำ และกล้านำเสนอออกมาสู่สายตาของทุกคน ส่วนเราเองในฐานะผู้รับก็ควรเปิดกว้างให้กับสิ่งที่น่าสนใจที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งการเปิดหูและเปิดใจคืออีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ศิลปินเหล่านี้มีความกล้าที่จะทำงานสร้างสรรค์เหล่านี้ออกมา แล้วมารอดูรอฟังไปพร้อม ๆ กัน
ข้อมูลอ้างอิงจาก PasteMagazine