ศิลปินไทยร้องเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ
ปรากฏการณ์ที่ฟังใจหยิบมาเล่นเป็นธีมประจำฉบับนี้คือ คนไทยร้องเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เพิ่งถือกำเนิดแต่อย่างใด ฟังใจซีนประจำเดือนนี้จึงขอพูดถึงวงไทยที่ทำเพลงเทศกันซะหน่อย ให้สมกับที่นำ Part Time Musicians มาขึ้นหน้าปก เพราะฉะนั้นแล้วฟังใจซีนจะเล่าเรื่องราวของวงเหล่านั้นตั้งแต่ยุคบุกเบิกวงการเพลงนอกกระแสมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนจะมีวงอะไรบ้างนั้น ขอเชิญเลื่อนลงมาเริ่มทำความรู้จักกับพวกเขาได้เลย
เพลงที่อยากให้ลองฟัง – Idea, Sunflower, So Serene, Smile
Crub
ย้อนกลับไปปี 1994 ช่วงที่วงการดนตรีนอกกระแสไทยกำลังอินกับดนตรีโมเดิร์นร็อคฝั่งอเมริกากันอย่างสุดๆ ก็มีวงดนตรีนอกกระแสของไทยที่เกิดจาก “รุ่ง” รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ “นอร์” วีระยศ เตยะราชกุล “ฤทธิ์” วราฤทธิ์ มังคลานนท์ และ “โรจน์” วิโรจน์ เสรีศิริขจรมาร่วมวง ซึ่งในช่วงแรกก็ได้ “สุหฤทธิ์ สยามวาลา” มาเป็นนักร้องนำ ก่อนที่จะได้ “อู” วาสิต มุกดาวิจิตร มาร้องในช่วงที่วงเริ่มเป็นที่รู้จัก พวกเขาคิดที่จะทำเพลงที่แตกต่างในตอนนั้น ซึ่งแนวเพลงที่ได้รับอิทธิพลมาคือดนตรีบริตป๊อปฝั่งอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่ของวงดนตรีนอกกระแสในไทย ณ ช่วงเวลานั้น นอกจากนี้ยังมีกลิ่นอายจาง ๆ ของเพลงช่วงระหว่างยุค 60s – 90s รวมอยู่ด้วย ‘วงครับ’ ถือเป็นผู้บุกเบิกดนตรีแนวบริตป๊อป ให้กับวงการเพลงไทยวงแรก ๆ แต่น่าเสียดายที่อัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวของพวกเขาอย่าง View กลับไม่ได้รับความนิยม เพราะนักฟังเพลงคนไทยส่วนใหญ่จะถูกจริตกับเพลงสไตล์อเมริกัน และอัลเทอร์เนทีฟร็อคมากกว่า แต่พวกเขาก็ยังยึดแนวทางเดิม เพราะเชื่อว่าเพลงที่ทำขึ้นเป็นเพลงเพื่อศิลปะไม่ใช่การตลาด เพลงที่เขียนขึ้นล้วนเกิดขึ้นกับตัวเองและสิ่งที่อยู่รอบ ๆ กาย
Futon
ช่วงเวลาประมาณปี 2003 ประเทศไทยได้ถือกำเนิดวงดนตรีอิเล็กโทรแคลช พังค์ร็อคไทยนามว่า ฟูตอง ที่แปลว่า ฟูก ในภาษาญี่ปุ่น หลาย ๆ คนอาจะจะรู้จักฟูตองในฐานะวงนานาชาติ เพรามีการรวมตัวของสมาชิกหลายประเทศ ทั้งไทย ญี่ปุ่น อังกฤษ และมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนสมาชิกวงอยู่บ่อยครั้ง ฟูตองยุคบุกเบิกมีสมาชิก 4 คน ได้แก่ “จีน” กษิดิศ สำเนียง, เดวิด โคเกอร์, “บี” พอล แฮมป์ไชร์ และโมโมโกะ อุเอดะ หลังจากนั้นก็ได้ “โอ๋” หทัยรัตน์ เจริญชัยชนะ และไซมอน กิลเบิร์ต (อดีตมือกลอง Suede) ทวนทอง นิยมชาติ พวกเขาได้นำเพลง I Wanna Be Your Dog ของวง The Stooges มาคัฟเวอร์ใหม่เป็นภาษาไทยและทำดนตรีออกมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์แนวมันส์ ๆ ในแบบของตน ทำให้ฟูตองกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ด้วยแนวเพลงที่แปลกใหม่ แตกต่าง และมีลีลาการแสดงสดที่เปรี้ยว ซ่า ดุเด็ดเผ็ดมันถึงพริกถึงขิง ทำให้ซิงเกิ้ล I Wanna Be Your Dog ถูกผลิตเป็นแผ่นเสียง 7 นิ้ว สีชมพูจำหน่ายที่ Roughtrade Records ในต่างประเทศ เพลงของวงฟูตองมักจะพูดถึงสังคมที่วุ่นวาย ยุ่งเหยิง เพศวิถีและบริบทในสังคม ความเป็นเมืองที่มีทั้งด้านศิวิไลซ์และด้านที่โสมม หลาย ๆ เพลงถูกเขียนขึ้นมามีทั้งภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ หลังแยกย้ายกันไป เมื่อไม่นานมานี้พวกเขาก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อแสดงในคอนเสิร์ต Cat To The Future ทำให้แฟน ๆ หายคิดถึงกันไปบ้าง
เพลงที่อยากให้ลองฟัง – Tokyo Sunset, Rich Baby, Bangkok Chemist, Strap It On, U Mean Nothing 2 Me
Abuse The Youth
วงกรันจ์สามชิ้นทรงพลังที่ใครหลายคนรู้จักกันดีที่ก่อนหน้านี้ได้ทำเพลงออกมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2006 โดยสมาชิกที่อยู่กันมาตั้งแต่ต้นได้แก่ “มิก” ประกาย วรนิสรากุล “ตูน” ศุภพงษ์ พรึงลำภู และ “จุ” จุรีพร กมลธรรมกุล ดนตรีร็อคที่หนักแน่นของ Abuse The Youth รวมถึงเนื้อเพลงที่เป็นภาษาอังกฤษ มีกลิ่นอายความเป็นอัลเทอร์เนทีฟแบบอเมริกัน แต่มีเนื้อหาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายเพราะพูดถึงชีวิต ความสัมพันธ์ ปัญหาต่างๆ จึงเป็นที่ถูกใจของผู้ฟังหลายคน จนพวกเขามีโอกาสได้ไปแสดงสดที่ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ฝีไม้ลายมือของวงนี้ไม่ธรรมดาขนาดคว้ารางวัลวงหน้าใหม่และ Best Band มาจากหลายเวที
จนกระทั่งช่วงหนึ่งที่พวกเขาห่างหายไปและเมื่อไม่กี่ปีก่อน พวกเขากลับมาและเข้าร่วมกับค่ายใหม่อย่าง BEC Tero Music และมีเพลงภาษาไทยออกมาด้วยลักษณะดนตรีที่ฟังง่ายขึ้นกว่าเพลงในยุคแรก พร้อมทั้งสมาชิกใหม่อย่าง ชาลี นิภานันท์ มาเพิ่มสีสันให้กับวง ทุกครั้งที่ได้ดูการแสดงสดของพวกเขา เรียกได้ว่าเป็นโชว์ที่เต็มอิ่ม เมามัน รู้สึกได้ถึงพลังที่พวกเขาส่งผ่านมาถึงคนดูได้อย่างแท้จริง
เพลงที่อยากให้ลองฟัง – Way Out, Grace, Everything, Old Friend, Still Bleed
Part Time Musicians
เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการเพลงไทย ที่มีคนรุ่นใหม่กล้าทำเพลงโฟล์กสายบู๊มาเปิดโสตนักฟังบ้านเรา เริ่มที่ “นิค” ธาฤทธิ์ เจียรกุล และ “จิน” วรเมธ มตุธรรมธาดา เริ่มทำเพลงกันก่อนสองคน โดยปล่อยสามซิงเกิ้ลแรกเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งในยุคแรกของพวกเขานั้น งานที่ออกมาจะเป็นเพลงอัลเทอร์เนทีฟโฟล์ค ท่วงทำนองเศร้าหม่น มีรายละเอียดทางดนตรีที่ซับซ้อน ทำให้วงนี้เป็นที่น่าจับตามองนับแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งสมาชิกขยับขยายเพิ่มเป็น 6 ชีวิต ได้แก่ “แพท” วรรณรดา วิชัยธนารักษ์ มารับหน้าที่ร้องนำด้วยอีกคน “ปอม” ธนภณ สันติวัฒนา “อุน” คีตา วังขจรวุฒิศักดิ์ และ “วิว” อธิยา วรวิจิตราพันธ์ และเข้ามาอยู่ในสังกัด Rat Records นอกจากนี้ยังมีมิตรสหายสายดนตรีอย่าง “ต้น” ณวัฒน์ จิรบุญเรือง และ “แป๊ก” รัชชา วัฒนจิตรานนท์ Electric Neon Lamp เข้ามาร่วมแสดงสดบ้างตามโอกาส ในยุคหลัง ๆ เพลงของพวกเขาจะออกมาในแนว โฟล์คป็อป ฟังสบาย มีการผสมผสานองค์ประกอบของดนตรีแนวใกล้เคียงและแนวอื่น ๆ เช่น คันทรี่, เร้กเก้, ไซคีเดลิค และกลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังอย่างรวดเร็วจากเพลง Vacation Time
เพลงที่อยากให้ลองฟัง – Imperative Warfare, Love Afterward, ฯลฯ, Would You Mind?, Magic Rhyme
The Whitest Crow
อีกศิลปินของค่าย Rat Records ที่เป็นที่น่าจับตามองในผลงานการแสดงสดที่ดุเดือด เรียกว่าเก็บทุกเม็ดเลยก็ว่าได้สำหรับคณะกาขาว แต่หลายคนคงเอะใจกับสำเนียงดนตรีและลีลาการแสดงสดของพวกเขากลุ่มนี้ ว่าช่างละม้ายคล้ายคลึงกับวงดนตรีสุดแสบฝั่งอังกฤษ อย่าง Arctic Monkeys เสียเหลือเกิน อย่างไรก็ตามพวกเขาได้พิสูจน์ตัวเองด้วยความสามารถอันล้นเหลือจากทุกงานเพลงและทุกการแสดงว่าไม่ธรรมดาจริง ๆ สมาชิกทั้งหมดของ The Whitest Crow คือ “ไตเติ้ล” ปฏิภาณ สุวรรณสิงห์ “เบ็น” นัทธพงศ์ พรหมจาต “อ๋อง” วิศวชาติ สินธุวณิก และ “แบงค์” นนทพัทธ์ พรหมจาต ที่พบกันที่ชมรมดนตรีของมหาวิทยาลัยมหิดล ดนตรีของพวกเขามีการผสมผสานสุ้มเสียงแบบ ไซคีเดลิค, ชูเกซ, และอัลเทอร์เนทีฟ โดยพวกเขาเรียกส่วนผสมที่ผ่านการคัดกรองมาแล้วว่าเป็น Hallucinated Rock คือหลอน ดิบ ลอย ส่วนเนื้อที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษในเพลงของพวกเขาจะพูดถึงชีวิต ศาสนา ไปจนถึงเสียดสีสังคม การเมือง เวลาเอามาเล่นสดยิ่งใส่อารมณ์เข้าไปได้หนักหน่วงยิ่งขึ้น
เพลงที่อยากให้ลองฟัง – Lotus Analysis, Ride With Me Free Nippana, How Can You Leave It?, The Fake Liberty, Be With You
Jelly Rocket
วงหญิงล้วนสาววัยใส ที่ “โม” ชุติกาญจน์ อิสสระเสรี และ “ภัคธ” จุฑาภัคธ ตั้งไพบูลย์เวชกิจ มารวมตัวกันทำเพลงแนวที่ตนชื่นชอบอย่างดรีมป๊อป, นิวเวฟ และได้ชวน “ปั้น” นลพรรณ อัมพุช มาร้อง โดยทันทีที่พวกเธอปล่อยซิงเกิ้ล “How Long” ออกมา ทั้งท่วงทำนองเพลงที่ติดหู ฟังง่าย และเสียงร้องแบบสาวหวาน ทำให้เกิดกลุ่มแฟนคลับติดตามผลงานอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลงานของพวกเธอเข้าตาทีมงานช่วยสานฝันในโครงการ Converse Rubber Tracks และปล่อยซิงเกิ้ล “Stay” มาให้ได้ฟังกัน ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ของ Jelly Rocket ถ้าได้ลองฟังจะเหมือนเรากำลังได้ติดตามเรื่องราวของสาวน้อย ที่บ่นรำพันถึงความรักวัยแรกแย้ม มีทั้งอารมณ์คิดถึง เหงาหงอย ออดอ้อน
เพลงที่อยากให้ลองฟัง – How Long, Stay
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวงไทยที่ทำเพลงต่างภาษา เพราะถ้าลองนึกดีๆ ยังมีวงไทยมากหน้าหลายตาในตอนนี้ที่ทำเพลงภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น Hariguem Zaboy, Triggs And The Longest Day, Follows และอีกหลาย ๆ วงที่ไม่ถูกกล่าวถึงในที่นี้ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเพลงนั้นจะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาใด หรือดนตรีแบบไหน ฟังใจเชื่อเหลือเกินว่าทุกวงมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือการเปิดประสบการณ์ทางดนตรีให้ผู้ฟังได้ลองเปิดหู เปิดใจ รับฟังสิ่งที่แปลกใหม่และแตกต่าง ผ่านการแสดงความเป็นตัวตนของพวกเขาเอง เพื่อเสริมสร้างให้วงการดนตรีนอกกระแสบ้านเราเข้มแข็งยิ่งขึ้น กับการทำเพลงเพื่อความสุนทรีย์และศิลปะโดยเนื้อแม้ ไม่ใช่การรับใช้ระบบทุนที่ได้ฉกฉวยความเป็นตัวของตัวเองไปจากคนที่สร้างสรรค์งานดนตรี
อ้างอิงข้อมูล
Crub
– เรียนเชิญทุกท่านทำความรู้จักกับอัลบั้มเพลงไทยนอกกระแส : วง “ครับ” อัลบั้ม “วิว” http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=djdonk-mc43&month=18-01-2006&group=3&gblog=53
– บทสัมภาษณ์ของวง Crub จาก Siamindies by Juno Moneta http://siamindies.exteen.com/20100907/crub-1
– ครับ: View =Another great masterpiece that you wouldn’t miss it by Brad Pitt http://topicstock.pantip.com/chalermkrung/topicstock/C2940501/C2940501.html
Futon
– http://music.becteroradio.com/star/futon