Quick Read Snacks

ความรู้พื้นฐาน 101 สำหรับเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิก

เปียโน ? คีย์บอร์ด ? ซินธิไซเซอร์ ? พวกนี้ต่างกันยังไงเหรอ

เป็นเรื่องที่ชวนงงสำหรับคนที่ไม่รู้จักเครื่องดนตรีพอสมควร เปียโนเรายังพอรู้ว่าหน้าตาเป็นยังไง แต่กับคีย์บอร์ดและซินธิไซเซอร์อาจจะมีงงได้ เราเลยข้อเอาข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเล่าให้ฟัง

“เปียโน” เป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงธรรมชาติที่เราต้องคอยตั้งเสียง และมีคีย์ที่ถ่วงน้ำหนักไว้ ซึ่งข้อดีของมันคือเราสามารถฝึกควบคุมน้ำหนักของนิ้วเพื่อใช้พลิกแพลงการเล่นในลักษณะต่าง ๆ นอกจากนี้เราจะพบว่า การสั่นสะเทือนจากการกดคีย์เปียโนดี ๆ แต่ละหลัง เสียงที่เล่นออกมามีความแตกต่างเฉพาะตัวของใครของมันเลยแหละ

“คีย์บอร์ด” เพราะเปียโนมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก จึงได้มีการออกแบบเครื่องดนตรีที่น้ำหนักเบา คีย์กดก็เบาที่หน้าตาคล้ายกัน ไม่ต้องตั้งเสียง แต่สามารถเลียนเสียงเปียโนได้เพราะใช้ไฟฟ้า และมันยังฉลาดพอที่จะเลียนเสียงเครื่องดนตรีอื่นได้ด้วย อ้อ คีย์บอร์ดบางตัวสามารถต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาเสียงแบบอื่น ๆ ต่อไปได้อีกด้วยนะ

“ซินธิไซเซอร์” เป็นเครื่องที่ใช้ในการสร้างเสียงสังเคราะห์แบบใหม่ ๆ ที่บ้างครั้งจะเรียกว่า sound module ซึ่งบางตัวที่มีคีย์บอร์ดติดมาด้วยก็อาจจะถูกเรียกเหมารวมว่าเป็นคีย์บอร์ดก็ได้ ขณะเดียวกัน โน้ตบุ๊กของเราก็สามารถกลายเป็นซินธิไซเซอร์ได้ถ้าเราติดตั้งซอฟต์แวร์สร้างเสียงสังเคราะห์แบบสำเร็จรูปลงไป เจ้าซินธิไซเซอร์นี้ก็มีหน้าตาอยู่หลายแบบ แต่การทำงานหลัก ๆ ของมันคือการบันทึกเสียงจริง แล้วนำไปแปรค่าจนกลายเป็นคลื่นเสียงแบบต่าง ๆ ระบบก็มีทั้งที่เป็นอนาล็อกและดิจิทัล ลักษณะของเสียงที่ออกมาก็จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการและรสนิยมของผู้ใช้

แล้วเวลาไปเล่นตามเวทีต่าง ๆ ต้องพกอะไรไปบ้าง

เราพอจะเดาได้ว่าเวลาไปเล่นตามงานคอนเสิร์ต ถ้าเป็นมือเบสหรือมือกีต้าร์ก็จะพกกีต้าร์ตัวโปรดกับเอฟเฟคไปอีกจำนวนหนึ่ง แต่กับมือคีย์บอร์ดหรือมือซินธ์นี่เขาพกอะไรไปบ้าง เบื้องต้นเลยก็ต้องมีคีย์บอร์ด ซินธ์ที่ตัวเองใช้ คอมที่ลงโปรแกรมสังเคราะห์เสียงไว้แล้ว pedal สำหรับคุมเสียงลากสั้น/ยาว ขาตั้ง มิกเซอร์ สายแจ็กไว้ต่อกับแอมป์หรือต่อตรงเข้ากับมิกเซอร์ให้คลื่นสัญญาณนิ่งซึ่งจะช่วยทำให้เสียงจี่น้อยลง ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ที่จะเอามาใช้อย่างลูปบ็อกซ์ ที่ใช้บันทึกเสียงแล้วทำให้มันเล่นซ้ำไปเรื่อย ๆ หรือไมค์ที่ติดตั้งเอฟเฟกแปลก ๆ แม้กระทั่งเครื่องดนตรีร็อก เครื่องเคาะ เครื่องดนตรีพื้นบ้านก็เอามาผสมผสานกันได้ ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางความชอบและทักษะของแต่ละคน

 

คนทำดนตรีอิเล็กทรอนิกสามารถเป็นศิลปินเดี่ยวได้หรือเปล่า

ได้สิ เนื่องจากทั้งคีย์บอร์ดหรือซินธิไซเซอร์สามารถทำเสียงได้หลายแบบ โปรแกรมก็สร้างเสียงเลียนเครื่องดนตรีได้ และยังนำเสียงเหล่านั้นมาประสานกันจนเกิดเป็นมิติใหม่ ๆ ที่หลุดไปจากขนบเดิมของดนตรีแนวหลัก ๆ ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นศิลปินต่างประเทศอย่าง James Blake, Chet Faker, Jamie XXส่วนบ้านเราก็มี หน่อง Cloque ที่ก็เป็นศิลปินเดี่ยว ใช้โปรแกรมในแมคบุ๊ก พุฒ Wednesday ที่มีกีตาร์ไฟฟ้ายืนพื้นอยู่ก่อนแล้วใส่โปรแกรมเสียงซินธ์เข้าไปงี้

 

แล้วถ้าเราอยากเริ่มทำดนตรีอิเล็กโทรนิกล่ะ

    บอกเลยว่าดนตรีแนวนี้เป็นอะไรที่กว้างมาก และสามารถคิดค้นทดลองอะไรใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา เพียงแค่ลองฟังเยอะ ๆ เราอาจจะได้แรงบันดาลใจจากศิลปินที่ทำดนตรีแนวนี้ (ซึ่งก็มีแนวทางยิบย่อยแยกออกไปอีกนับไม่ถ้วน) แล้วอย่าลืมที่จะเรียนรู้พื้นฐานการเล่นเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกต่าง ๆ เพื่อทดลองสร้างเสียงในแบบของตัวเอง อาจจะเริ่มกับคีย์บอร์ดตัวเก่งก่อน แล้วค่อยเขยิบไปใช้เครื่องซินธ์ stand alone แล้วลองหมุน ๆ จิ้ม ๆ ดูว่ามันสามารถมิกซ์เสียงออกมาเป็นอะไรได้บ้าง หรือใครที่อยากสะสมทุนไว้ก็ลองหาโปรแกรมสำเร็จรูปมาลงในคอมแล้วทำเพลงของเราขึ้นมาเอง

 

นี่เป็นเพียงความรู้ทั่วไปเท่านั้น ถ้าอยากรู้ลึกกว่านี้คงต้องศึกษากันอย่างจริงจังและทดลองกันดู สำหรับเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับดนตรีอิเล็กทรอนิกยังมีอีกมากใน Fungjaizine เล่มนี้ ติดตามกันได้ตลอดทั้งเดือนกับ issue #14 Electrify

Facebook Comments

Next:


Tosaphol Leongsupporn

ทศพล เหลืองศุภภรณ์ นวมินทร์เกอร์ ผู้ชื่นชอบการได้คลุกคลีกับหนังสือ และชื่นใจเวลาได้ฟังเพลงเก่า ปัจจุบันทำงานอยู่ในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง