6 วิธีที่จะทำให้ประสบการณ์การชมคอนเสิร์ตของคุณน่าจดจำ
- Writer: Montipa Virojpan
- Illustrator: Tuna Dunn
“นี่มันปี 2017 แล้วนะโว้ย!”
หลายคนคงคิดแบบนี้เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก หรือสิทธิส่วนบุคคล ใช่ นี่คือโลกเสรีที่ทุกคนสามารถทำอะไรตามใจฉันได้โดยไม่ละเมิดกฎหมาย แต่หลายทีก็เผลอไปละเมิดหรือส่งผลกระทบต่อผู้อื่นซะเองเพราะมักคิดว่า ก็มันสิทธิของฉันนี่
ก่อนที่ทุกคนจะคิดว่า ‘นี่นิตยสารดนตรีหรือหนังสือเรียนสังคมวะ’ ก็ขอเข้าเรื่องเลยแล้วกัน ช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมาถือว่าซีนคอนเสิร์ตในไทยคึกคัก มีศิลปินมากมายมาแสดงที่บ้านเรา คนฟังก็ฟังเพลงกันหลากหลายแนวมากขึ้น จนกลุ่มคนดูคอนเสิร์ตขยายฐานออกไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่น้อง ๆ ม.ต้น ไปจนถึงรุ่นพี่สายแข็งที่ขนาดอายุ 40 อัพก็ยังมาดูกันอยู่ (ล่าสุดเราเจอคุณยายชาวญี่ปุ่นมาดู MEW ลุคแบบทะมัดทะแมงพร้อมไปเฟสติวัล แบกเป้พกเก้าอี้สนามมานั่งดูเลย ชอบมาก) และแน่นอน ความที่กลุ่มคนดูหลากหลายขึ้นมากขนาดนี้ทำให้พฤติกรรมการดูคอนเสิร์ตเปลี่ยนแปลงไป นี่ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีความสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคน และถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งมีทั้งแบบที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน และไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ เอาเป็นว่า เราขอทำไกด์ง่าย ๆ เป็นข้อแนะนำสำหรับการชมคอนเสิร์ตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ลองไปทำกันดู
ไม่คุยเสียงดัง
การชมคอนเสิร์ตคือการซึมซับเสียงดนตรีและรับชมการแสดงของวงดนตรีตรงหน้า แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พอมาดูคอนเสิร์ตกับเพื่อนก็ต้องมีคุยกันเป็นธรรมดา สิ่งที่สามารถทำได้คือ พูดแต่น้อยหรือใช้เสียงที่เบากว่าปกติ เพราะอาจรบกวนการชมคอนเสิร์ตของผู้อื่นได้ หรือวงที่เล่นเพลงเบา ๆ ต้องใช้ความเงียบเพื่อถ่ายทอดอารมณ์เพลงอาจทำให้คุณรู้สึกเบื่อ ก็ไม่ควรคุยกันเพื่อสร้างความบันเทิงเฉพาะกลุ่มนะ เพราะหลายคนก็กำลังตั้งใจฟังกันอยู่
ไม่แช่กล้องเพื่อถ่ายภาพ อัดคลิป หรือ live video นานจนเกินไป
ในต่างประเทศหรือบางคอนเสิร์ตในไทย การถ่ายภาพไม่ว่าจะด้วยกล้องโปรหรือสมาร์ตโฟนถือเป็นข้อห้ามเพราะอาจขัดต่อลิขสิทธิ์ของต้นสังกัดและเจ้าของผลงานเอง แต่หลาย ๆ คนเสิร์ตก็มีการอะลุ่มอล่วยให้ถ่ายกันได้เพราะเข้าใจว่าทุกคนก็อยากบันทึกช่วงเวลาสำคัญในชีวิตที่ได้ชมศิลปินคนโปรดกันทั้งนั้น แต่การแช่กล้องนาน ๆ ก็เป็นอุปสรรคต่อการรับชมของผู้อื่นเช่นกัน เช่น การบดบังการมองเห็นของคนด้านหลัง แสงแยงตาคนอื่น หรือเผลอทำกล้องโดนหัวคนข้างหน้า ดังนั้น หากใช้เวลาถ่ายเพียง 10-15 วินาที และถ่ายในระดับสายตาของตัวเองน่าจะกำลังดีและดีกับทุกฝ่าย
สำหรับคนที่คิดว่า ‘ไม่เห็นเป็นไรเลยนี่’ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้เองส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งศิลปินและผู้จัดคอนเสิร์ตที่แต่ละงานมีข้อตกลงที่แตกต่างกันไป เมื่อไม่นานมานี้ผู้จัดรายหนึ่งทราบว่ามีการบันทึกภาพคอนเสิร์ตหนึ่งโดยมีความยาว ‘ตลอดทั้งโชว์’ และเผยแพร่ลงใน YouTube โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ได้ งานนี้ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ แต่มีข้อแนะนำหนึ่งที่น่าสนใจที่เราอยากขอนำเสนอ
ความคิดเห็นนั้นกล่าวว่า ในยุโรปมีเทรนด์ที่น่าสนใจ คือการให้ทุกคนพร้อมใจกันยกกล้องขึ้นมาถ่ายแค่ในเพลงแรก หลังจากนั้นจะไม่อนุญาตให้ถ่ายอีก ทุกคนต้องเก็บกล้องลงไปและตั้งใจรับชมโชว์ ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นหนทางที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้แฟร์ ๆ กับทุกฝ่าย
คนตัวสูงยืนหลัง (optional)
อาจเป็นวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นนักในบ้านเรา แต่เห็นว่าเริ่มมีคนพูดถึงกันประปราย อันที่จริง first come, first serve (มาก่อนได้ก่อน) เป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้นวิธีที่คนตัวไม่ค่อยสูงพอจะทำได้คือการเดินย้ายที่ไปเรื่อย ๆ เพื่อหาจุดยืนที่เหมาะสมของตัวเองไม่ให้โดนบัง (แต่กรุณาย้ายที่ตอนจบเพลงแล้วยังไม่ได้เล่นเพลงต่อไปนะเพราะอาจเป็นการรบกวนคนดูคนอื่นที่กำลังตั้งใจดูด้วยเหมือนกัน) คนตัวสูง ตัวใหญ่ หรือใครก็ตามที่มาทีหลังก็จะไม่พยายามเบียดไปข้างหน้า ส่วนคนที่จะสละพื้นที่ด้านหน้าให้คนตัวเล็กกว่าก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่จะต้องทำ หรือถ้าไม่ทำแล้วจะโดนสังคมตราหน้าอะไร แค่มองว่าเป็นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ น่ารักกรุบกริบกันไป
ทิ้งขยะให้เป็นที่
คอนเสิร์ตหลายงานมักจะมีผู้สนับสนุนหลักเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ทางผู้จัดจะโพสต์ขอความร่วมมือให้ช่วยกันรักษาความสะอาดในอีเวนต์เพจ มีถังขยะวางเตรียมไว้ให้ตามจุดต่าง ๆ ในงานแต่ก็ไม่วายมีเรื่องให้ปวดหัว เพราะหลังจากจบงาน นอกจากจะมีคราบเบียร์เหนียวเหนอะพื้นให้ทำความสะอาดกันแล้ว ยังพบซากกระป๋องเบียร์วางเรี่ยราดไม่น่าดู อันนี้ก็อาจเจอเสียงตอบรับว่า อย่าถือสาคนเมาเพราะพอเมาแล้วก็ขาดสติ ซึ่งก็ไม่ผิดนักหรอก แต่เพื่อน ๆ ที่มาด้วยกันถ้าไม่ค่อยเมามากก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือหย่อนกระป๋องลงถังคงจะแบ่งเบาภาระให้พนักงานทำความสะอาดไปได้ไม่น้อย (ใช่ค่ะ พวกเขาถูกจ้างมาเพื่อทำความสะอาด แต่อย่างน้อยเราเองถ้ามีสติก็ควรมีสำนึกพื้นฐานต่อส่วนรวม) ดังนั้นขอข้ามมาที่ข้อต่อไปเลยแล้วกัน
ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ
เรามักจะเจอคำว่า drink responsibly ในโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของต่างประเทศอยู่เสมอ แต่ในไทยเราจะเจอคำกับ ‘สุราเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาท สมรรถภาพทางเพศเสื่อม หรือประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลง’ ซึ่งทุกคำจริง ๆ แล้วความหมายแฝงของมันคือให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ถ้าลองเข้าไปดูในเว็บไซต์เครื่องดื่มพวกนี้จะมี section ที่บอกว่า การดื่มอย่างมีความรับผิดชอบในที่นี้คืออะไร มีตั้งแต่บอกว่าฤทธิ์แอลกอฮอล์ให้ผลลัพธ์กับผู้ดื่มแต่ละคนไม่เหมือนกันแม้ดื่มในปริมาณเท่ากัน แม้คนคนเดียวกันถ้าดื่มในปริมาณเท่ากันแต่ดื่มในคนละโอกาส เช่น งานเลี้ยง หรือกินเหล้าย้อมใจ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างก็มีโอกาสทำให้การออกฤทธิ์ต่างกันด้วย เขาก็บอกว่าให้นับจำนวนแก้วที่ดื่ม ดื่มน้ำเปล่าสลับกันหรือหาของว่างกินควบคู่ไปด้วยเพื่อให้พอกึ่ม ๆ ไม่เมาจนขาดสติ ไม่งั้นจะส่งผลแบบบรรทัดที่สาม (ยังจำคอนเสิร์ตที่มีคนเมาฉี่กลางฮอลแล้วฉี่กระเด็นใส่เท้าเราได้เป็นอย่างดี) คือเอาง่าย ๆ ว่าอยากให้ทุกคนควรรู้ลิมิตของตัวเองและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นไม่ว่าในกรณีใดก็ตามนั่นเอง
ไม่ตะโกนขึ้นไปบนเวที
ก็อาจจะเป็นผลพวงจากข้อบนที่เมาแล้วขาดสติ การตะโกนบางครั้งอาจเป็นสีสันที่ทำให้คอนเสิร์ตดูสนุกขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกโชว์ที่เห็นดีเห็นงาม หรือทุกคนที่จะสนุกไปกับคุณถ้า
- ตะโกนระหว่างที่วงกำลังเล่น โดยเฉพาะช่วงที่เล่นเพลงช้าหรือใช้เสียงเบา
- ตะโกนถ้อยคำหยาบคาย ไม่ว่าคุณจะด่าคนดูด้วยกันเองหรือไม่พอใจโชว์ตรงหน้า
- ตะโกนขอเพลงที่วงไม่ได้เล่น เมื่อวงไม่ได้เปิดโอกาสให้คุณ encore หรือถามว่าอยากฟังเพลงอะไร
- ตะโกนใด ๆ ก็ตามเหมือนเรียกร้องบอกโลกว่าคุณมีตัวตนอยู่ตรงนี้
ถ้าเพื่อน ๆ ของคุณที่มาด้วยกันมีพฤติกรรมแบบนี้ ช่วยสะกิดเขาหน่อย เพราะมันไม่น่ารักเลย
อยากที่ทุกคนพูดแหละ นี่ปี 2017 แล้ว ไม่อยากทำให้บทความนี้กลายเป็นหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาสมัยประถมเพราะทุกคนเคยผ่านกันมาหมดและรู้กันอยู่แล้ว แต่พอเวลาผ่านไป หลายคนโตขึ้นก็คงมีลืมกันบ้างเลยต้องเตือนความจำกันหน่อยว่า กาลเทศะหรือมารยาททางสังคมก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะนี่เป็นสังคมเสรีที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นเหมือนกัน ไหน ๆ ก็อยู่ในแวดวงการดูคอนเสิร์ตเดียวกันแล้ว ก็มาทำให้การดูคอนเสิร์ตครั้งต่อ ๆ ไปเป็นเรื่องที่น่าจดจำกันเถอะ