AR Augmented reality กำลังทำให้การฟังเพลงเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเสียงดนตรีเล่นกับพื้นที่ได้น่าตื่นเต้น

Quick Read Snacks

AR กำลังทำให้การฟังเพลงเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเสียงดนตรีเล่นกับพื้นที่ได้น่าตื่นเต้น

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Art Director: Tas Suwanasang

เคยมีคนบอกว่าฟังเพลงด้วย mp3 หรือสตรีมมิ่ง ยังไงก็ไม่สนุกเท่าการไปชมคอนเสิร์ตหรอก ด้วยมิติของดนตรีที่เราได้ฟังจากโชว์สด ๆ และเหตุการณ์ไม่คาดคิดอีกมากมายที่ศิลปินจะสร้างความประทับใจแฟนเพลง การเจอศิลปินที่เรารักตัวเป็น ๆ ก็คงไม่มีประสบการณ์ใด ๆ ในชีวิตจะเทียบเคียงได้หรอก แต่ถ้าพูดถึงการไปฟังเพลงที่เหมือนได้ดูโชว์สด ๆ ล่ะก็ เทคโนโลยี Augmented reality (AR) หรือสภาพแวดล้อมเสมือนจริง อาจพาเราไปสัมผัสกับประสบการณ์การฟังเพลงที่ไม่เคยมีมาก่อน

Will Copps คือศิลปินที่ประยุกต์เสียงและภาพเข้าด้วยกันผ่านเทคโนโลยี เขาถนัดงานศิลปะจัดวางที่ตอบสนองกับผู้เสพ งานที่ดังที่สุดของเขาคือศิลปะจัดวางแบบตอบสนองได้ชื่อ ‘Pixel Painting’ ที่มีฉายวิชวลหลากสีสันบนจอทีวีธรรมดา ๆ แต่เบื้องหลังของภาพเหล่านั้นมันสร้างขึ้นจากโค๊ดที่ตรวจจับเสียงในมิวเซียมด้วยระบบโซน่า แล้วเปลี่ยนคลื่นเสียงเหล่านั้นให้กลายเป็นภาพ และเขายังมีอีกบทบาทหนึ่งคือมือซินธ์และโปรดิวเซอร์ของวง Wall of Trophies ที่บิดเบือนซาวด์ของแอมเบี้ยนให้กลายเป็นอิเล็กทรอนิกมัน ๆ จนไปถึงดาร์กบีทเลยทีเดียว Copps ก็นึกสนุกอยากทำอัลบั้มใหม่ให้ทุกคนฟังผ่าน AR

“ผมต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการเสพดนตรี” Will Copps เจ้าของโปรเจกต์นี้บอกว่าเขาอยากทดลองหาวิธีใหม่ ๆ ในการเสพดนตรีที่ทำให้มนุษย์พึ่งพอใจมากที่สุด

เขาหยิบศิลปะที่เขาถนัดเข้ามาผสมกับเทคโนโลยี AR เพื่อสร้างการฟังเพลงแแบบใหม่ขึ้นมา สร้างพื้นที่ในจินตนาการขึ้นมาแล้วหยิบเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมาแยกเลเยอร์ สร้างสเปซหลากสีให้กับเครื่องดนตรีทุกชิ้น เมื่อเราเปิด AR ขึ้นมาเพื่อเล่นผ่านแอพ ก็จะมีจุดมาร์กในจอขึ้นมา เมื่อเราเอาตำแหน่งนี้ไปอยู่ในพื้นที่ของสีไหน ก็จะเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้นขึ้นมา เราจึงต้องหาจุดที่ทุกสีทับกันเพื่อฟังเพลงเต็ม ๆ นั่นเอง แต่เราอาจจะเดินออกมาเพื่อหาจุดทับซ้อนอื่น ๆ ที่ทำให้ได้ยินเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น แต่ก็สร้างจังหวะใหม่ ๆ ขึ้นมาให้เราได้ผ่อนคลาย

Copps ได้ไอเดียมาจากตอนยืนอยู่ในห้องเงียบ ๆ คนเดียว เมื่อมีคนเดินเข้ามาในห้อง แม้เขาจะมองไม่เห็นแต่ก็สัมผัสได้ถึงความผ่อนคลายเมื่อคนคนนั้นเดินผ่านเขาออกไปจากห้อง มันคือประสบการณ์ที่เขาอยากให้ทุกคนได้สัมผัส เขาเรียกมันว่า spatial music หลังจากที่ต้องคลุกอยู่กับ 4D Sound System มาเป็นปีก่อนจะหันไปใช้เทคโนโลยี GPS เพื่อระบุตำแหน่ง แต่หลังจากนั้นสองปีครึ่ง Apple ก็ปล่อย ARkit และ Unity ออกมา ซึ่งทำให้เขาทำงานได้อย่างง่ายดายจนครบอัลบั้มบนแอพ Year One ซึ่งเป็นชื่ออัลบั้มของเขานั่นเอง (มีให้โหลดแค่บน iOS เท่านั้น)

เขาอธิบายเสริมว่าเพื่อความสมจริง เขาต้องไปอัดเสียงทุกเมโลดี้ในห้องโถงจริง ๆ แต่ใส่ลูกเล่นลงไปให้การเคลื่อนไหวของเราเป็นตัวกำหนดดนตรีในเพลง เขาอัดโน๊ตเหล่านั้นด้วยจังหวะที่ช้าหรือเร็วขึ้นไปด้วย เมื่อคุณเดินผ่านแต่ละพื้นที่ช้า ๆ ก็จะได้ยินเสียงเหล่านั้นช้าลงอย่างมีนัยยะ แต่ถ้าเดินผ่านเร็ว ๆ ก็จะให้ผลที่ตรงข้ามกัน หรือถ้าเดินถอยหลัง เพลงก็จะเล่นกลับหลังนั่นเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเบื่อมากที่ทำไมเพลงต้องเดินบนเส้นเวลาและมีรูปแบบตายตัวตามที่นักดนตรีกำหนดด้วย ถ้าคนฟังต่างคนต่างสัมผัสประสบการณ์ในแบบของตัวเองได้คงจะดีไม่น้อย

เขาเชื่ออย่างหมดใจว่า AR จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการฟังเพลงของทุกคนได้แน่นอน และอยากชวนให้ศิลปินทุกคนหันมาศึกษามันจริงจัง เพราะมันไม่ต้องเรียนรู้อะไรมากมายอย่างที่คิด “เมื่อพูดถึง AR หรือ Augmented reality คนจะนึกเป็นภาพเท่านั้น แต่เราสามารถเขียนเพลงเพื่อให้แตกต่างได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมด้วย VR การเดินผ่านห้าง ไปเที่ยวภูเขาหรือที่ไหนก็ตาม เราก็สร้างความสนุกที่แตกต่างได้เหมือนกัน” เขาไม่ได้พูดถึงมันด้วยความเป็นนักพัฒนา ศิลปินหรือนักดนตรี เขาแค่อยากสร้างศิลปะแนวใหม่ ๆ เท่านั้น “อย่างน้อยผมก็ทำให้เพื่อนของผมลุกจากโซฟามาเดินได้ละกัน”

Auxuman บริษัทเพลงแห่งอนาคต ที่มีศิลปินเป็น AI ทั้งหมด

ทำความรู้จักกับ Air Guitar ว่าอะไร ทำให้มันกลายเป็นกีฬาระดับโลก

รวมคอนเสิร์ตที่ถูกยกเลิกด้วยเหตุผลสุดประหลาด ทั้งพิราบบุก, มีดบาด, ทะเลาะกัน, รัฐประหาร ฯลฯ

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา