มอชพิต ยิงมิกซ์ คล้องพวงมาลัย 7 วัฒนธรรมประจำคอนเสิร์ตแนวต่าง ๆ
- Writer: Wathanyu Suriyawong
เมื่องานคอนเสิร์ตไม่ใช้กิจกรรมที่ใช้เพียงการชมด้วยตาและฟังด้วยหูเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนการแสดงออกทางความรู้สึกของผู้ชมที่มี่ต่อโชว์ของศิลปินในงานคอนเสิร์ต ซึ่งคอนเสิร์ตแต่ละแนวจะมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง เราพยายามรวบรวมข้อมูลของคอนเสิร์ตหลาย ๆ แนวมานำเสนอให้ทุกคนได้เห็นภาพกัน
Mosh
มอช เป็นกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของงานคนเสิร์ตดนตรีสายร็อก ที่ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นตามงานเมทัลเสียส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ มันมีมานานมากตั้งแต่สมัยยุค 80s นู่นแล้ว ในระยะแรกจะเป็นการที่ผู้ชม วิ่งกระโจนใส่กัน กระแทกใส่กัน ที่หลายคนเรียกว่า ‘การแท็ก’ แต่ภายหลังเริ่มมีการละเล่นที่หลากหลายมากขึ้น จนทำให้ต้องมีชื่อเรียกเฉพาะตามลักษณะการละเล่นลงไปอีก เช่น wall of death, circle pit เป็นต้น
จากสายตาของคนภายนอกจะเห็นว่าเป็นความรุนแรงเหมือนคนยกพวกตีกัน เพราะภาพที่ออกมาก็ค่อนข้างโกลาหลอยู่พอสมควร แต่ทางฝั่งสาวกเมทัลจะมองเห็นเป็นเหมือนการเต้นรำอย่างหนึ่ง ที่แม้จะได้รับบาดเจ็บอยู่บ้าง (ด้วยความเต็มใจ) แต่สิ่งที่ได้คือความสนุกและมิตรภาพ เพราะเมื่อมีคนล้มในดงมอชแล้ว เหล่าสาวกก็จะรีบฉุดกันขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่ไม่รู้จักก็ตาม
สำหรับในไทยก็มีการมอชมาอย่างยาวนานแล้ว แต่จะเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มเท่านั้น จนมีวงอย่าง Retrospect ที่ทำให้การละเล่นเหล่านี้เป็นที่รู้จักในบ้านเรามากขึ้น
Crowd Surfing
คราวด์เซิร์ฟฟิง หรือที่บ้านเราจะเรียกกันติดปากว่า ‘บอดี้เซิร์ฟ’ จะอย่างไรก็ตามแต่ เอาเป็นว่ามันคือการโต้คลื่นมนุษย์ผู้ชม โต้ได้นานเท่าไหร่ยิ่งดี สามารถเล่นในงานที่มีผู้ชมแน่น ๆ หากผู้ชมน้อย ๆ นี่ไม่แนะนำเลย เพราะจากที่จะเป็นการเซิร์ฟ จะกลายเป็นการดิ่งลงพื้นเสียมากกว่า ถือว่าเป็นการละเล่นที่ต้องดูเชิงและต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันพอสมควร เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่ใครจะสามารถโต้คลื่นมนุษย์ได้สำเร็จ มีบาดเจ็บก็หลายราย
ร้องเชียร์ ยิงมิกซ์
วัฒนธรรมประเภทนี้ เป็นที่นิยมในคอนเสิร์ตสายเกิร์ลกรุ๊ป บอยด์แบนด์ รวมไปถึงไอดอลต่าง ๆ จะเป็นการตะโกนเชียร์ระหว่างท่อนเพลงในโชว์ มีทั้งเรียกชื่อ การตะโกนท่อนในเพลง ซึ่งของแต่ละวงจะตะโกนไม่เหมือนกัน เป็นธรรมเนียมตกลงกันเฉพาะกลุ่มแฟนคลับของแต่ละวง สามารถดูได้ตาม fan cam จากโชว์วงเกิร์ลกรุ๊ปต่าง ๆ จะได้ยินการยิงมิกซ์จากฝั่งแฟนคลับได้อย่างชัดเจน
หากใครได้มีโอกาสไปชมงานโชว์ของไอดอลของบ้านเรา อย่าง BNK48 หรือ Sweat 16 จะเห็นการส่งพลังเชียร์ของเหล่าโอตะถึงศิลปินที่เขารัก ส่วนตัวผู้เขียนเคยเห็นกับตาแล้วรู้สึกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนพลังงานบางอย่างระหว่างผู้ชมและผู้โชว์ที่น่ารักมาก ๆ เหมือนกัน
จะว่าไปแล้ว ก่อนที่กระแสไอดอลจะเฟื่องฟู่ในบ้านเราขนาดนี้ ก็มีเพลงนึงที่ชาวไทยนิยมยิงมิกซ์แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องเตี๊ยมตกลงอะไรเลย เช่น เพลง เพียงกระซิบ ของ Black Head ที่พอจบท่อนฮุกแล้ว แล้วทุกคนตะโกนพร้อมกันว่า ‘ไอ่เอ๊ดเอี้ย’ นั่นก็น่าจะเป็นการยิงมิกซ์ประเภทนึงแหละมั้ง
ชูมือขวา
การแสดงออกในข้อนี้เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผู้ชมชาวญี่ปุ่น จะเป็นการชูแขนขึ้นฟ้า พร้อมตะโกน ‘เฮ้ เฮ้ เฮ้’ ประกอบจังหวะเพลงไปด้วยกัน ซึ่งอันนี้ไม่ได้จำกัดแนวเลย วัฒนธรรมนี้ครอบคลุมตั้งแต่วงป๊อป วงร็อก เกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ หรือ ไอดอลต่าง ๆ ก็จะมีการเชียร์ในรูปแบบนี้อยู่ในแทบทุกคอนเสิร์ตของประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นการชูแขนเชียร์ตลอดโชว์หรอกนะ แต่จะเกิดขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม ตามท่อนที่เปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมได้ เช่นท่อนที่เป็นดนตรีบรรเลงอินโทรต่าง ๆ เป็นต้น
คล้องพวงมาลัย
ต่างประเทศอาจจะมีแฟนคลับ มีโอตะ แต่บ้านเราคือ ‘แม่ยก’ การคล้องพวงมาลัยก็มีวิวัฒนาการของมันด้วยนะ เริ่มจากเป็นดอกไม้ร้อยกันเป็นพวง เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชอบ ความปลื้มในตัวศิลปิน มักจะพบได้ตามการแสดงลิเก คอนเสิร์ตลูกทุ่ง แต่ศิลปินแต่ละคนก็ไม่ได้มีแม่ยกเพียงคนเดียวไง จึงเกิดการขิงด้วยพวงมาลัยเกิดขึ้น เริ่มมีการติดด้วยขนม อาหาร จนปัจจุบันเราจะเห็นเป็นธนบัตร ไล่มาตั้งแต่แบงค์ยี่สิบ กลายมาเป็นแบงค์พันทั้งคอไปเลยก็มี
ต่อขบวนรถไฟ
การละเล่นนี้หากดูแบบผิวเผินจะออกมาคล้ายกับเซอร์เคิลพิตของฝั่งเมทัลอยู่เหมือนกัน แต่จะมีความน่ารักกว่าคือการต่อแถวแตะไหล่แล้วเดินวนเป็นวงกลม ขนาดก็จะเป็นไปตามการร่วมมือของผู้ชม สำหรับวงดนตรีในบ้านเราที่มีการละเล่นนี้ในงาน คือวง T-bone โดยเป็นที่รู้กันว่า มาดูวงนี้ ต้องมีการต่อขบวนรถไฟทีโบนกันสนุกสนานแน่นอน ที่สำคัญหลายคนรู้จักเพื่อนใหม่ผ่านกิจกรรมนี้ด้วยนะ
Thai twerk
ทเวิร์ก คือท่าเต้นหนึ่งที่มาจากดนตรีฮิปฮอปทางฝั่งคนผิวสี จะเป็นการแอ่นแล้วกระดิกบั้นท้ายรัว ๆ ต่อมากลายเป็นท่าเต้นที่แพร่หลายไปทั่วโลก ถูกนำมาปรับใช้กับท่าเต้นของวงเกิร์ลกรุ๊ปฝั่งเกาหลีก็มี แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ชาติไทยเราก็ไม่แพ้ใครในโลก เอาท่าเต้นนี้มาปรับใช้ในการเต้นรำกับดนตรีจังหวะแบบหมอลำที่ผู้ชมจะเต้นแบบตีลังกาม้วนหน้าม้วนหลังคลุกฝุ่นแบบสุดเหวี่ยง จนเกิดที่มาของคำว่า ‘สายย่อ’ ที่เราสามารถพบเห็นได้ตามงานคอนเสิร์ตหมอลำ หรือขบวนแห่นาคงานบวชต่าง ๆ นั่นเอง
ใครพบเห็นเบาะแสวัฒนธรรมการละเล่นอะไรเจ๋ง ๆ อีกก็แวะมาบอกเราได้นะ จะลองหัดไว้บ้าง