10 เพลงฮิตแห่งเวทีประกวดวงดนตรียุคกระโปรงบานขาสั้น
- Writer: Wathanyu Suriyawong
เส้นทางสู่การเป็นศิลปินในสมัยนี้มีทางเลือกให้เดินมากมาย สำหรับวงหน้าใหม่ที่ยังไม่มีเพลงของตัวเองก็มักจะเลือกตักตวงโอกาสและประสบการณ์จากเวทีการประกวดวงดนตรีต่าง ๆ ไม่ว่าจะงานโรงเรียน งานระดับจังหวัด ไล่ไปถึงระดับประเทศ ซึ่งศิลปินเบอร์ใหญ่หลายวงในบ้านเราก็ผ่านจุด ๆ กันมาไม่น้อยทั้ง So Cool, Clash, Modern Dog, Boduslam และอีกหลาย ๆ วง แต่ ณ ตอนนั้นพวกเขายังไม่มีเพลงเป็นของตัวเองจึงต้องคัฟเวอร์งานของศิลปินรุ่นพี่ไปก่อน เวทีประกวดจึงเป็นแหล่งที่จะทำให้เราได้พบเพลงคุ้นหูในเวอร์ชั่นต่าง ๆ เป็นร้อยเป็นพัน เราอาจได้พบกับเพลงที่ป๊อปที่สุดในเวอร์ชันที่ร็อกที่สุด หรืออาจจะเป็นเพลงร็อกที่แจ๊สที่สุด และในงานเดียวกัน เราอาจได้ฟังเพลงเพลงเดียวถึง 7 เวอร์ชันก็เป็นได้
จากที่เล่ามาเลยมีข้อสรุปได้ว่า สมัยนั้นคงมีอยู่ไม่กี่เพลงฮิตที่ทักจะถูกหยิบมาใช้ในการประชันฝีมือบนเวทีประกวดวงดนตรีในตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเวทีไหน อย่างน้อยก็น่าจะมีหนึ่งในเพลงเหล่านี้ที่ถูกเอาไปเล่นบ้างแหละ
มาดู 10 เพลงฮิตแห่งเวทีประกวดวงดนตรี
Crescendo – วีนัส
เพลงดังของ Crescendo เผยแพร่เมื่อปี 2547 เป็นที่นิยมของเหล่าวงสตริงคอมโบฟิวชันแจ๊สอะไรเทือกนั้น ด้วยอินโทรเสียงกีตาร์และเบสอันเป็นเอกลักษณ์ กรูฟที่สนุกสนานเพลิดเพลิน และท่อนฮุกที่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเล่นยูนิซันกัน ถ้าวงไหนเล่นเป๊ะ ๆ จะโคตรดูดีเลย เพลงนี้ขับร้องโดย บี พีระพัฒน์ ขึ้นชื่อเรื่องเสียงอันทรงพลัง ถ้าวงไหนเลือกเพลงนี้ แปลว่ามีนักร้องที่น้ำเสียงไม่ธรรมดาแน่ ๆ
Soul After Six – ก้อนหินละเมอ
เผยแพร่เมื่อปี 2539 และโด่งดังจนจัดได้ว่าเป็นเพลงอมตะตลอดกาลไปแล้ว ขึ้นอินโทรเพียง 2 วิ ก็รู้ทันทีว่าต้องเป็นเพลงนี้แน่นอน ด้วยกรูฟอันนุ่มละมุน เสียงร้องและไลน์ประสานอันไพเราะเพราะพริ้ง เป็นอีกเพลงที่สามารถให้วงประกวดได้ควักความสามารถตัวเองมาประจักษ์ต่อหูและสายตาคณะกรรมการได้ไม่น้อย แต่ปัญหาคือเพลงนี้ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่เล่นให้แน่นและเพราะมันไม่ง่ายจริง ๆ
Modern Dog – บุษบา
วงสายอัลเตอร์คงต้องยกให้เพลงนี้ จะให้ไปเล่นอย่างสองเพลงที่ผ่านมาก็เกรงว่าจะไม่ได้แสดงทักษะที่ถนัดได้เท่าที่ควร เชื่อว่าทุกงาน ต้องมีสักวงที่เลือกเพลงนี้ไปประกวด การเล่นกีตาร์ท่อนอินโทรของเพลงนี้เป็นอะไรที่มันมือโคตร ๆ ข้อดีของเพลงนี้คือเล่นง่าย แต่หลายวงมักตกม้าตายเพราะมันเกินจนใส่ยับทุกชิ้น ปรับซาวด์รกตีกันจนฟังไม่ออก แต่ต้องยอมรับว่าชาวร็อกทุกวงต้องผ่านเรื่องนี้มากันหมดแหล
Retrospect – ไม่มีเธอ
เพลงประวัติศาสตร์แห่งยุคที่ nu metal/emo เฟื่องฟู เรียกได้ว่า วงไหนมีว้ากก็ต้องผ่านเพลงนี้กันทุกวง เป็นเพลงที่ชาวร็อกด้วยกันเข้าใจแต่กรรมการไม่ค่อยเข้าใจ พาร์ตดนตรีมีพื้นที่ให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้โชว์สกิลตลอดทั้งเพลง ยิ่งกระเดื่องคู่ของเพลงนี้เป็นอะไรที่โคตรสะใจ กีตาร์ก็สับโคตรมัน การได้เล่นเพลงนี้และโยกไปกับเพื่อนในวงก็โคตรมีความสุขแล้ว จนไม่แคร์เรื่องรางวัลไปเลย
Silly Fools – จิ๊จ๊ะ
เพลงระดับตำนานจากยุคทองของ Silly Fools กับท่อนอินโทรที่เครื่องดนตรีที่ต้องนับเม็ดโน้ตเล่นให้ตรงกัน เป็นเพลงที่ใช้ฝึกกลองดิสโก้ที่นิยมจนถึงยุคนี้ สำหรับกีตาร์สายปั่นอาจจะผิดหวังเล็กน้อยเพราะเพลงนี้ไม่มีโซโล่เลย แต่สายริธึ่มจะชอบอกชอบใจเป็นพิเศษ ไม่ว่างานประกวดเวทีใด ๆ ต้องได้เจอเพลงนี้แน่นอน
Silly Fools – วัดใจ
เมื่อพูดถึงเพลงของ Silly Fools แล้วจะไม่พูดถึงเพลงนี้ไม่ได้จริงๆ เพราะเป็นเพลงที่วงจะควักความสามารถจากการบ่มเพาะฝึกฝนทั้งหมดที่มีออกมาให้ทุกคนเห็น สิ่งที่มือกีตาร์จะขาดไม่ได้เลยคือสกิลการ sweep picking ในท่อนโซโล่ และยังมีลูกไขว้มือของกลองในท่อนก่อนเข้าโซโล ส่วนพาร์ตร้องนี่ถ้าไม่แน่จริงไม่รอดนะจ๊ะ เพราะคีย์พี่โตสูงปรี๊ดเหลือเกิน
Loso – พันธ์ทิพย์
เพลงโคตรฮิตของ Loso อัลบั้ม ปกแดง ยังเป็นยุคที่เป็นสมาชิกวงดั้งเดิม คือ เสก รัฐ ใหญ่ เอาจริง ๆ เพลงนี้เป็นอะไรที่น้อยแต่งดงาม เป็นเพลงที่สามารถเล่นได้ด้วยเครื่องดนตรีเพียงสามชิ้น จังหวะกลองตึก ๆ โป๊ะ เบสดุ่ย ๆ กีตาร์สับคอร์ดร็อกกันไป แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าใคร ๆ ก็เล่นได้ เพราะจะปังหรือแป้กก็อยู่ที่อินเนอร์ในการขับร้องและความแน่นของพาร์ตดนตรี มนต์ขลังของเพลงนี้ไม่ได้ออกฤทธิ์เพียงบนเวทีประกวด แต่เป็นกับทุกเวที ไม่ว่าคอนเสิร์ต ผับบาร์ หรืองานโรงเรียน หากมีเพลงนี้เมื่อไหร่ ต้องมีคนโดดแน่นอน
Jetset’er – จูบ
เพลงอมตะจากอัลบั้ม Nude ที่เผยแพร่เมื่อปี 2549 เป็นเพลงนิยมสำหรับวงที่ใช้เสียงแตกน้อย เพราะเพลงนี้แทบจะไม่มีเลย ถึงจะมีก็ใส่แบบบาง ๆ กับกรูฟเบสหนึบ ๆ เด้ง ๆ อันเป็นโครงหลักของเพลงนี้ เอาเป็นว่าถ้าเป็นวงสายป็อป-โซล ก็ต้องเคยเล่นเพลงนี้กันมาบ้าง จุดที่สำคัญคือเพลงนี้มีการเปลี่ยนคีย์ในช่วงท้าย เพราะการเปลี่ยนคีย์ในเพลง ต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร ลำพังพาร์ตดนตรีไม่น่าเป็นห่วงคอร์ดก็ทดจำกันได้อยู่ แต่พาร์ตร้องเนี่ยสิ หากร้องไปคนละคีย์กับดนตรี ก็เท่ากับความดีงามที่สร้างมาตั้งแต่ต้นเพลงจะไร้ความหมายไปเลย
Bodyslam – ความเชื่อ
เพลงระดับ timeless greatest hit ของ Bodyslam กับเสียงร้องของน้าแอ๊ด คาราบาว ที่โคตรขลัง ฟังกี่ครั้งก็ยังขนลุก เพลงนี้ต้องโฟกัสที่เบสและกลอง เพราะแค่เริ่มอินโทรเพลงก็ต้องเล่นให้เป๊ะอยู่หมัด ไม่งั้นจะแป้กตั้งแต่เริ่ม เป็นเพลงที่นักร้องจะได้โชว์พลังเสียงได้อย่างเต็มหลอด มีจังหวะเน้น ๆ ย้ำ ๆ แน่น ๆ เล่นแล้วมันไม้มันมือสุด ๆ วงไหนเลือกเพลงนี้ไปประกวด รับรองได้เด่นทุกชิ้นดนตรีแน่นอน
หิน เหล็ก ไฟ – สู้
กล้ารับประกันว่า เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ถูกใช้บนเวทีประกวดไปตลอดกาล เพราะใช้กันมายาวนาน ซัดยับจัดเต็มตั้งแต่เริ่มเพลง โดยปกติวงที่มีกีตาร์สองคน ก็จะแบ่งหน้าที่กันชัดเจนว่าคนนึงเป็นริธึ่ม อีกคนเป็นโซโล่ แต่สำหรับเพลงนี้ มือกีตาร์ทั้งสองได้โซ่โล่ทั้งคู่ ได้ขุดแทบทุกสกิลที่ฝึกมาใช้อย่างแน่นอน ทั้ง sweep picking ทั้ง tapping ยังไม่พอยังได้เล่นประสานกันอีกด้วย ส่วนกลองก็ใช่ย่อย ลำพังจะเหยียบกระเดื่องคู่ก็ต้องฝึกอย่างหนักอยู่แล้ว ยังย่ำเป็นสามพยางค์อีกแน่ะ ส่วนพาร์ตร้องเจองานหินแน่นอน เพราะคีย์ร้องของพี่โป่งนั้นก็สูงไม่เบา
เอาล่ะ นี่คือ 10 เพลงในยุคของเราที่ถูกหยิบมาใช้ร้องกันอยู่บ่อย ๆ อยากรู้ว่าในยุคนี้น้อง ๆ มีเพลงอะไรไว้ใช้ประกวดวงดนตรีกันบ้าง เอามาแชร์กันได้นะ