พิธีแปลก ๆ แบบนี้ มีในงานศพด้วยหรือ?
ขึ้นชื่อว่างานศพ คงเป็นงานที่ใคร ๆ ก็ไม่ค่อยจะยินดีที่จะจัดเท่าไหร่นัก เพราะการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ย่อมมาด้วยความโศกเศร้าเสมอ ในการจัดงานศพนั้นก็เพื่อให้ญาติสนิทมิตรสหายของผู้ตาย ได้มาร่วมไว้อาลัยและประกอบพิธีเพื่อรำลึกคุณงานความดี และร่วมกันส่งดวงวิญญาณไปสู่สุขคติ
แต่ก็มีพิธีกรรมของบางเชื้อชาติ ที่ค่อนข้างจะแปลกจากบ้านเราไปพอสมควร มีการบรรเลงเพลงที่ไม่โหยหวน ออกแนวเฉลิมฉลองด้วยซ้ำ จึงขอหยิบยกข้อมูลของบางเชื้อชาติมาให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
1.พิธีมอญร้องไห้ – ประเทศไทย
ประเพณีมอญร้องไห้ แต่เดิมเป็นกรรมพิธีของชนชาติมอญ เป็นประเพณีการร้องไห้ในงานศพ เดิมเนื้อร้องเป็นภาษามอญและมีเนื้อหาไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตายเป็นใคร มีความงามความดีอย่างไร
ในสมัยโบราณของชาวมอญนั้น เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้เป็นที่เคารพนับถือได้เสียชีวิต จะไม่นำไปใส่หีบศพ แต่จะวางอยู่บนแคร่ และประดับด้วยดอกไม้ โดยศพนั้นจะมีวิธีการทำต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ศพเป็นที่น่ารังเกียจหรืออุจาดตา รวมถึงมีการจุดกำยานที่ปลายเท้าของศพผู้ตาย เพื่อกลบกลิ่นอันไม่พึงประสงค์อีกด้วย
จากนั้น จะนิยมสวดกรรมพิธีเพียง 3 วันเท่านั้น แล้วเก็บเอาไว้ 100 วัน หรืออาจยาวถึง 1 ปี แล้วจึงทำพิธีเผา
สำหรับกรรมพิธี ก็จะมีพิธีสงฆ์ มีปี่พาทย์ปี่ประโคม แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญคือ จะนิยมมาร้องไห้ที่ศพ ในช่วงเวลาเช้ามืด เพื่อเป็นการระลึกคุณงามความดี ถึงบุญคุณ อีกนัยยะหนึ่งก็คือ เพื่อจะหาหนทางใด ที่จะให้ผู้อันเป็นที่รักฟื้นคืนมาได้อีก แต่อันที่เข้าใจกันว่า เป็นเพียงการแสดงเท่านั้น ซึ่งกรรมพิธีนี้ จะทำกันในทั่วไปทุกชนชั้นวรรณะของชาวมอญ
2.Jazz funeral – นิวออร์ลีนส์, สหรัฐอเมริกา
เป็นงานศพของขาวผิวสี เป็นที่นิยมอย่างมากใน New Orleans จะมีขบวนแห่ศพ พร้อมขบวนวง jazz บรรยากาศของงานจะเต็มไปด้วยความรื่นเริง ไม่ใช่การเฉลิมฉลองยินดีในการสูญเสียแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการมาร่วมสรรเสริญคุณงามความดีของผู้ตาย และยังเป็นการให้เกียรติผู้ตายอย่างรื่นเริงต่างหาก
โดยมีจะวง Brass band มาบรรเลงในพิธีกรรมนี้อีกด้วย
3.Professional Dancing Pallbearers & Fantasy coffin – ประเทศกานา
จากงานศพของ New Orleans ที่ว่ารื่นเริงแล้ว แต่ของประเทศกานา จัดได้ว่ารื่นเริงยิ่งกว่าหลายเท่านัก โดยจะนิยมสั่งทำโลงศพแบบแฟนซี ตามความชอบของผู้ตาย ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ตายเป็นชาวนา ก็อาจจะทำโลงศพทรงข้าวโพด หากเป็นชาวประมงก็อาจจะทำเป็นรูปปลา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ตายได้สมหวัง ไปสู่ “ที่ชอบ” สมดังปราถนา ค่านิยมนี้เกิดขึ้นในช่วงยุค 50’s
นอกจากนั้นยังมีพิธีแห่ศพ ด้วยดนตรีท้องถิ่น ที่มีจังหวะเต้นครื้นเครง มีการแบกโลงศพพร้อมท่าเต้นค่อนข้างจะโลดโผน และพร้อมเพรียง ถึงกับเต้นไปคลานไปด้วยก็มี บางครั้งใช้ปากแบกโลงศพก็มี ทั้งนี้ก็เพื่อสรรเสริญคุณความดีของผู้ตายนั่นเอง
จากทั้งหมดนี้เราจะพบว่างานศพไม่จำเป็นต้องแสดงความโศกเศร้าอาลัยเสียทั้งหมด เพราะค่านิยมของแต่ละสังคมตีความการสูญเสียต่างกันไป และแม้จะมีพิธีที่ไม่เหมือนกัน แต่งานศพก็ถูกจัดขึ้นเพื่อแสดงความรักและอาลัยแด่ผู้ตายเช่นเดียวกัน