#dek63 ต้องอ่าน! เรียนดนตรีที่มหาวิทยาลัยไหนดี (อัพเดต ปี 2563)
- Writer: Malaivee Swangpol
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
เรียนดนตรี มหาวิทยาลัย หรือ โรงเรียนดนตรี ที่ไหนดี ค่าเทอมเท่าไหร่ มีคณะอะไรบ้าง ในทุก ๆ ปี น้อง ๆ ม. 6 ก็จะต้องเผชิญช่วงแห่งความวุ่นวายของการส่งพอร์ต เตรียมตัวสมัครสอบ จบมาจาก โรงเรียนดนตรี ฯลฯ เราเลยขอมาแนะนำการสมัคร เรียนดนตรี ในระดับมหาวิทยาลัยกันบ้าง เผื่อใครที่ยังหาข้อมูลได้ไม่ครบหรือยังลังเลอยู่ จะได้ตัดสินใจกันง่ายขึ้นจ้า
มหาวิทยาลัยดนตรี ในกรุงเทพ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ที่อยู่: 39/1 ถ.รัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
สาขาที่เปิดสอน:
หลักสูตร ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาดนตรีสากล (มีหลักสูตรนอกเวลาราชการด้วย) รับสมัครเครื่องดนตรีสมัยนิยม กีตาร์ไฟฟ้า เบส คีย์บอร์ด ขับร้อง กลองชุด, เครื่องเป่าลมไม้ และเครื่องเป่าทองเหลือง สามารถสมัครผ่าน TCAS รอบ 1 และ 2 ค่าเทอมแบบเหมา 10,900 บาท และภาคนอกเวลาราชการ 13,400 บาท
หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา (ดนตรีไทย) หลักสูตร 4 ปี สามารถสมัครผ่าน TCAS รอบ 1, 2 และ 3 ค่าเทอม 10,200 บาท แบบเหมาตลอดหลักสูตร
ศิลปินรุ่นพี่: Clockwork Motionless, กล้วยไทย, Roses Fall, Indigo
มุมที่น่าสนใจของสาขาวิชาดนตรีสากลคือ เป็นสาขาที่เน้นแนวทางการศึกษาทางด้านปฏิบัติเครื่องดนตรีและการแสดงดนตรี แถมยังได้เรียนด้านเทคโนโลยีดนตรีต่างๆ กับอาจารย์มืออาชีพเช่น การจัดการแสดงดนตรี การแต่งเพลงด้วยโปรแกรม การผลิตและซ่อมแซมอุปกรณ์ดนตรี ส่วนสาขาดนตรีไทยศึกษา นักศึกษาก็สามารถไปเรียนต่อโทได้ทั้งสาขาวิชาดนตรีไทย ดนตรีศึกษา และ ดนตรีวิทยาอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม: สาขาวิชาดนตรีสากล / Facebook สาขาวิชาดนตรีสากล / Facebook สาขาวิชาดนตรีไทย / สมัครเรียน
วิทยาลัยการดนตรี และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ที่อยู่: 1061 ซอยอิสรภาพ 15 แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ 10600
สาขาที่เปิดสอน: กลุ่มเครื่องดนตรีคลาสสิก, กลุ่มเครื่องดนตรีสมัยนิยม รวมถึงขับร้อง และกลุ่มเครื่องดนตรีไทย รวมถึงขับร้อง
หลักสูตรดุริยางคศาสตร์บัณฑิต ที่วิทยาลัยการดนตรี: สาขาดนตรีตะวันตก (มี 8 วิชาเอก การประพันธ์เพลง, ดนตรีคลาสสิก, ดนตรีโยธวาทิต, ดนตรีแจ๊ส, เทคโนโลยีดนตรี, ดนตรีสมัยนิยม, ดนตรีวิทยา, การสอนดนตรี) สามารถสมัครผ่าน TCAS รอบ 1 และ 2 ค่าเทอมแรก 17,000 เทอมต่อไป 13,200 บาท ส่วนสาขาดนตรีไทย สามารถสมัครผ่าน TCAS รอบ 1, 2, 3 และ 4 ค่าเทอมแรก 15,000 เทอมต่อไป 11,200 บาท
หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต เรียน 4 ปี ที่วิทยาลัยการดนตรี: เรียนเพื่อไปเป็นครูสอนดนตรีในสาขาวิชาดนตรีตะวันตกศึกษาและสาขาดนตรีไทยศึกษา สามารถสมัครผ่าน TCAS รอบ 1 และ 2 ค่าเทอมแรก 15,000 เทอมต่อไป 13,200 บาท
หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต เรียน 5 ปี ที่คณะครุศาสตร์: เรียนเพื่อไปเป็นครูสอนดนตรีในวิชาเอกดนตรีตะวันตกศึกษาละวิชาเอกดนตรีไทยศึกษา ค่าเทอมแรก 17,000 เทอมต่อไป 13,200
ศิลปินรุ่นพี่: Sacrifice, Nighttrain, Dead Man’s Chest, Lose Out, Valley Runner
สถาบันดนตรีนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2513 การสอบเข้าในหลาย ๆ สาขาไม่ดูเกรด และแผนการเรียน ยังไงลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะ ข้อดีคือมีหลักสูตรครูที่ได้รับใบปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต ซึ่งสามารถไปเป็นครูได้เลย
ข้อมูลเพิ่มเติม: วิทยาลัยการดนตรี / ระบบงานรับนิสิตสายตรง / ภาควิชาดนตรีตะวันตก / ดนตรีไทย มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา / คณะครุศาสตร์
คณะคณะครุศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่: 254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
คณะที่เปิดสอน:
สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
วิชาเอกดุริยางคศิลป์ไทย รับสมัครจำนวน 15 คน โดยไม่รับขิม และเครื่องหนัง
วิชาเอกดุริยางคศิลป์ตะวันตก รับสมัครจำนวน 20 คน โดยไม่รับแซ็กโซโฟน, ยูโฟเนียม
สามารถสมัครได้ผ่าน TCAS รอบ 1, 2 โดยสำหรับการสอบรอบ 2 ของ TCAS ทั้งสองสาขาต้องสอบทฤษฎี ประวัติศาสตร์ดนตรี ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับดนตรี สอบปฏิบัติดนตรี และสอบวิชาสามัญของสทศ. ค่าเทอม 21,000 บาท
สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์
รับสมัคร เครื่องมือเอกดนตรีไทย และ เครื่องมือเอกดนตรีสากล (ไม่รับเครื่องดนตรีสมัยนิยม) เปิดรับนิสิตเอกละ 7 คน สาขานี้เรียนเพื่อเป็นครูดนตรี การสอบผ่านระบบ TCAS รอบ 2 ต้องสอบทฤษฎี โสตทักษะ ปฏิบัติดนตรี GAT PAT5 และสอบวิชาสามัญของสทศ.ใช้เวลาเรียน 5 ปี ค่าเทอม 21,000 บาท
ศิลปินรุ่นพี่: อิงค์ วรันธร, ขนมจีน, มัดหมี่ พิมดาว, ซิลวี่ เดอะสตาร์, ฟลุ๊ก Stoic, Costlywood
จำนวนนิสิตที่รับสมัครในปีนี้ก็นับว่าจำกัดมากจริง ๆ อย่างไรก็ดี ถ้าน้อง ๆ ใฝ่ฝันอยากจะเรียนที่นี่ก็ต้องขยันให้มาก ตั้งใจสอบวิชาสามัญ วิชาบังคับ ทำพอร์ตและฝึกซ้อมให้ดี ๆ ที่สำคัญอย่าลืมติดตามข่าวสารให้ดีนะ ขอให้โชคดีทุกคนจ้า
ข้อมูลเพิ่มเติม: คณะครุศาสตร์ / คณะศิลปกรรมศาสตร์ / การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ที่อยู่: 114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110
เครื่องดนตรีที่เปิดรับ: เครื่องสาย, เครื่องลมไม้, เครื่องลมทองเหลือง, เครื่องกระทบ, เปียโน, กีตาร์, ขับร้อง และกลุ่มเครื่องดนตรีแจ๊ส (เปียโน, กีตาร์, เบส, กลอง และแซ็กโซโฟน)
สาขาที่เปิดสอน:
สาขาดุริยางคศาสตร์สากล คือสาขาที่เน้นการปฏิบัติดนตรี มี 3 สาขาคือ ดนตรีคลาสสิก, การผลิตงานดนตรีเชิงธุรกิจ และ ดนตรีแจ๊ส เปิดรับสมัครทั้งหมด 30 คน โดยจะรับสมัครผ่านระบบ TCAS ในรอบที่ 1 และรอบ 2 โดยต้องสอบปฏิบัติ อ่านโน้ต ความเข้าใจในดนตรี และอื่น ๆ ตามที่สาขากำหนด ค่าเทอม 30,000 บาท
สาขาดนตรีศึกษา สาขาที่เรียนเพื่อเป็นครูสอนดนตรี มี 2 สาขาคือ ดนตรีไทย และ ดนตรีสากล เปิดรับสมัคร 50 คน โดยจะรับสมัครผ่านระบบ TCAS รอบที่ 1 จำนวน 10 คน, รอบที่ 2 จำนวน 35 คน และรอบที่ 4 จำนวน 5 คน โดยต้องสอบข้อเขียนเกี่ยวกับประวัติดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก ทฤษฎีดนตรี ดนตรีศึกษา ความรู้ทั่วไปทางดนตรี ใช้เวลาเรียน 4 ปี ค่าเทอม 20,000 บาท ได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (ดนตรีศึกษา)
ศิลปินรุ่นพี่: เป๊ก ผลิตโชค, นรเทพ มาแสง Pause, ปอนด์ Polycat, นัท The Star 5, เคน Zeal
ข้อมูลเพิ่มเติม: คณะศิลปกรรมศาสตร์ / การรับนิสิตใหม่ มศว
วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
ที่อยู่: 52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000
เครื่องดนตรีที่เปิดรับ: กลุ่มเครื่องดนตรีคลาสสิก เปียโน, กีต้าร์คลาสสิก, เครื่องดนตรีในวงดุริยางค์ซิมโฟนี และ ขับร้องคลาสสิก กลุ่มเครื่องดนตรีแจ๊ส รับเปียโน, อิเล็คโทน, ฟลูต, คลาริเน็ต, ดับเบิลเบส, แซ็กโซโฟน, ทรัมเป็ต, ทรอมโบน, ทูบา, เครื่องเพอคัสชั่น, กีต้าร์ไฟฟ้า, กีต้าร์เบส และขับร้อง(แจ๊ส) กลุ่มเครื่องดนตรีสมัยนิยม เปียโน, อิเล็คโทน, ขับร้อง, กีต้าร์ไฟฟ้า, กีต้าร์เบส และ กลองชุด
แขนงวิชาที่เปิดสอน:
การผลิตดนตรี (เรียนเพื่อผลิตงานดนตรี โปรดิวเซอร์) ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 519,500 บาท, เทคโนโลยีวิศวกรรมดนตรี ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 524,500 บาท, การออกแบบเสียงและการประพันธ์เพลงประกอบสื่อ ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 524,500, การประพันธ์เพลง ค่าเล่าเรียนจนจบหลักสูตร 532,800 บาท, การประพันธ์เพลงสมัยนิยม ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 519,500 บาท, การแสดงดนตรีคลาสสิก ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 559,500 บาท, การแสดงเปียโน ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 519,500 บาท, การแสดงกีตาร์คลาสสิก ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 559,500 บาท, การแสดงขับร้อง (คลาสสิก, แจ๊ส, ละครเพลง, singer-songwriter) ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 569,500 บาท, ดนตรีแจ๊สและการแสดงเชิงปฏิภาณ ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 554,500
ศิลปินรุ่นพี่: The Kastle, Phil_wc, ตอง และ ฟ้าใส Fwends, แนท The Voice, O-Pavee
วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต มีสาขาให้เลือกเรียนถึง 10 สาขาด้วยกัน สามารถสอบตรงได้ถึง 6 รอบ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกรกฎาคม รวมถึงยังสามารถยื่นผ่านระบบ TCAS ในรอบ Admission 1 และ 2 ได้ด้วย โดยต้องสอบทฤษฎีดนตรี โสตทักษะ ปฏิบัติ ซึ่งที่นี่มีทุนให้เปล่าจำนวน 25% – 100% ถึง 10 ทุนทุกปี แต่น้อง ๆ ต้องรีบมาสอบในรอบ 1 หรือรอบ 2 เท่านั้น เพราะทุนมีจำนวนจำกัด ซึ่งแขนงวิชาที่น่าสนใจคือแขนงการผลิตดนตรี เน้นเรียนเพื่อผลิตงานดนตรี และจบไปเป็นโปรดิวเซอร์ที่เข้าใจธุรกิจ ทำให้ทำงานได้หลากหลายไม่ว่าจะไปสายเพลงประกอบ หรือจะไปฝั่งซาวด์เอ็นจิเนียร์ก็ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม: เว็บไซต์วิทยาลัยดนตรี / วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต Rangsit University Conservatory of Music / การรับสมัครสอบ
คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่อยู่:22 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
เครื่องดนตรีที่เปิดรับ: กลุ่มเครื่องดนตรีคลาสสิก รวมถึงขับร้อง, กลุ่มเครื่องดนตรีแจ๊ส รวมถึงขับร้อง, แซ็กโซโฟน, ทรัมเป็ต และทรอมโบน, กลุ่มเครื่องดนตรีสมัยนิยม รวมถึงขับร้อง และฮอร์น
สาขาที่เปิดสอน:
หลักสูตรดุริยางคศาสตร์บัณฑิต เปิดรับสมัครผ่านระบบ TCAS ในรอบที่ 1 และ 2 ประกอบด้วย สาขาการแสดงดนตรี รับสมัครทั้งหมด 35 คน, สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส รับสมัครทั้งหมด 40 คน, สาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์ รับสมัครทั้งหมด 40 คน เป็นสาขาสำหรับผู้ที่อยากเป็นนักดนตรีที่เชี่ยวชาญการทำงานเพลงเบื้องหลัง จะถนัดดนตรีคลาสสิก แจ๊ส ป๊อป ได้หมด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกำหนดเลยว่าต้องมีผลงานเพลงที่เผยแพร่ทางสื่ออนไลน์ ใครมีเพลงในฟังใจก็ยื่นได้ชิลล์ ๆ เลยนะ
หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต คือ สาขาวิชาดนตรีและธุรกิจบันเทิง รับสมัครทั้งหมด 50 คนโดยเปิดรับสมัครผ่านระบบ TCAS ในรอบที่ 1 และ 2 โดยไม่ต้องสอบวิชาดนตรี แต่ต้องสอบ 9 วิชาสามัญ, GAT, PAT 1 (คณิตศาสตร์) แต่ต้องมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00
ค่าเทอม (แบบเหมา): สาขาดนตรีเชิงพาณิชย์ สาขาการแสดงดนตรี และสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส 65,000 บาท ส่วนสาขาวิชาดนตรีและธุรกิจบันเทิง 50,000 บาท
ศิลปินรุ่นพี่: Summer Dress, Petite, Whal And Dolph, The Ginkz, เอ้ กุลจิรา, พัด Zweedz n’ Roll, ออม Telex Telexs
ข้อดีของการเรียนที่นี่นอกจากเป็นคณะที่การเรียนด้านดนตรีเข้มข้นมาก ๆ แล้ว ก็คือมีสาขาที่ไม่จำเป็นต้องเล่นดนตรีเป็นก็สามารถเรียนได้ คือสาขาวิชาดนตรีและธุรกิจบันเทิง ซึ่งจะสอนให้เป็นนักธุรกิจดนตรีที่เข้าใจภาพรวมของวงการดนตรี ส่วนสาขาดนตรีเชิงพาณิชย์ก็เน้นผลิตทีมงานเบื้องหลังและนักดนตรีคุณภาพ ทำให้ทั้งแต่งเพลงเป็นและอัดเพลงตัวเองได้ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม: คณะดุริยางคศาสตร์ / สมัครเรียน ป.ตรี
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่อยู่: 25/25 ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม 73170
เครื่องดนตรีที่เปิดรับ: เครื่องเป่าลมไม้, เครื่องเป่าทองเหลือง, เครื่องกระทบ, เครื่องสาย, รีคอร์ดเดอร์, ฮาร์ป, เปียโน, ขับร้องคลาสสิก, กีตาร์คลาสสิก, ขับร้องละครเพลง, กลุ่มเครื่องดนตรีแจ๊ส (ยกเว้นขับร้อง), กลุ่มเครื่องดนตรีสมัยนิยม (รวมถึงขับร้อง แซ็กโซโฟน ทรัมเป็ตและทรอมโบน), กลุ่มเครื่องดนตรีไทย รวมถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้านและขับร้องไทย
สาขาที่เปิดสอน:
สาขา Perform: ปฏิบัติดนตรีคลาสสิก, ดนตรีแจ๊ส, การประพันธ์ดนตรี (เรียนเพื่อเป็นนักประพันธ์เพลง), ละครเพลง, ดนตรีสมัยนิยม, ดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก
สาขา Non-Perform: ธุรกิจดนตรี (เรียนธุรกิจ), ดนตรีศึกษาและการสอน (เรียนเป็นครูดนตรี), เทคโนโลยีดนตรี (เรียนเพื่อเป็น Sound Engineer)
ค่าเล่าเรียนโดยประมาณ: 626,100 – 732,100 บาทตลอดหลักสูตร ขึ้นอยูกับเครื่องดนตรีและสาขา ดูรายละเอียดได้ ที่นี่
ศิลปินรุ่นพี่: วงสมเกียรติ, วง De Flamingo, วง Bomb At Track, Yew, Dept, Landokmai
ปัจจุบันสามารถสมัครสอบที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้ 4 รอบ และสามารถสอบเพื่อเข้าเรียนในภาคการศึกษาที่ 2 ได้ การสอบใช้แค่คะแนนสอบ ทฤษฎี โสตทักษะ ของศูนย์สอบเทียบดนตรีแห่งประเทศไทย (TIME) เกรด 12 ซึ่งถ้าใครมีคะแนนสอบปฏิบัติของ TIME ก็เอามาใช้ได้ด้วยนะ ใครเป็นสายตื่นเต้นก็ไปสอบไว้ล่วงหน้าได้ ส่วนใครที่เรียนสาขา Non-Perform ก็ต้องใช้คะแนนสอบวิชาเฉพาะสาขาด้วย แล้วอย่าลืมว่าที่นี่เปิดเทอมเหมือนมัธยมปลายทั่วไป รอบแรกสอบกันยาและรอบสุดท้ายสอบมีนานะ ซึ่งสาขาที่ไม่เหมือนใครก็คือสาขาธุรกิจดนตรีที่เปิดเป็นที่แรกในไทย ซึ่งได้เรียนดนตรีจริง ๆ เหมือนเพื่อน ๆ สาขาปฏิบัติดนตรี และยังมีสาขาละครเพลง ซึ่งได้เรียนทั้งร้องเพลงและการแสดงซึ่งมีที่เดียวในไทยจ้า
ข้อมูลเพิ่มเติม: วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล / การรับสมัคร
มหาวิทยาลัยดนตรี ในต่างจังหวัด
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ที่อยู่: ต.ขามเรียง อ. กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150
สาขาที่เปิดสอน:
สาขาดนตรีพื้นบ้าน เปิดรับสมัครเครื่องดนตรี พิณ, แคน, โปงลาง, โหวด, ซออีสาน, ขับร้องหมอลำ
สาขาดนตรีไทย เปิดรับสมัครเครื่องดนตรี ซออู้, ซอด้วง, จะเข้, เครื่องสาย, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม, ปี่พาทย์ และอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณา
สาขาดนตรีตะวันตก เปิดรับสมัครเครื่องดนตรี กีตาร์คลาสสิก, เครื่องเป่าลมไม้, เครื่องเป่าลมทองเหลือง, กลองชุด เครื่องกระทบ, ไวโอลิน, เปียโน, ขับร้องตะวันตก และ อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณา
ศิลปินรุ่นพี่: ลำเพลิน วงศกร, โบว์ดำ ลำซิ่ง, ต้อง เรนทร์ปวิธ The Voice Thailand 4
โดยทุกสาขารับสมัครผ่าน TCAS ทั้ง 4 รอบ ที่นี่มีการรวมวงเครื่องสาย, วงดนตรีพื้นบ้านอีสาน รวมถึงวง Mahasarakham Symphony Orchestra ออร์เคสตราหนึ่งเดียวในภาคอีสาน ซึ่งสาขาที่โดดเด่นของที่นี่คือสาขาดนตรีพื้นบ้าน ที่มีการสอบขับร้องหมอลำแบบแท้ ๆ ด้วย ซึ่งค่าเทอมก็อยู่ในเกณฑ์สบายกระเป๋าเพียงเทอมละ 15,000 บาทเท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติม: เว็บไซต์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ / College of Music, Mahasarakham University. Thailand
คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
ที่อยู่: 169 ถ.ลงหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี 20131
วิชาเอกที่เปิดรับสมัคร:
ดนตรีไทย รับสมัคร ปี่พาทย์ เครื่องสาย ขับร้องเพลงไทยเดิม ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง
ดนตรีสากล รับสมัครเครื่องดนตรีคลาสสิก, ขับร้องลูกทุ่ง, ประพันธ์เพลง, ดนตรีสมัยนิยม และแจ๊ส โดยกลุ่มวิชาประพันธ์เพลงตะวันตกและเทคโนโลยีทางดนตรีจะสามารถเลือกสาขาได้ตอนปี 3
ที่ มหาวิทยาลัยดนตรี ติดทะเลแห่งนี้ นอกจากจะมีสาขาวิชาดนตรีแล้ว ยังมีสาขาวิชาศิลปะการแสดงซึ่งทุกสาขาจะได้ทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยมีค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร 202,000 บาท
ข้อมูลเพิ่มเติม: Facebook คณะดนตรีและการแสดง / คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา / ระบบรับสมัคร มหาวิทยาลัยบูรพา
สำหรับสถาบันอื่น ๆ ที่เปิดสอน สามารถดูได้ ที่นี่ ส่วนเรื่องระบบการสอบแบบ TCAS ยังไงน้อง ๆ ที่สนใจอยาก เรียนดนตรี ในมหาวิทยาลัย ก็อย่าลืมไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้เรียบร้อย อ่านได้ mytcas.com
คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่จะเข้า มหาวิทยาลัยดนตรี
อยากให้น้อง ๆ ตั้งใจติวสอบ ฝึกซ้อม และตอบตัวเองให้ได้ว่าเราเลือกมา เรียนดนตรี เพราะอะไร ถ้าเข้าไปโดยที่คิดแค่ว่าเรียนชิล ๆ ให้จบ 4 ปี ขอบอกว่าไม่ใช่เลย ขึ้นชื่อว่ามหาวิทยาลัยยังไงก็หนักหน่วงพอ ๆ กันทุกสาขา ทุกมหาวิทยาลัย ในการเรียนต้องใช้ความอดทน ความขยัน ความรักในดนตรีที่เรามีถึงจะสามารถเรียนจบโดยสมบูรณ์ อีกอย่างคือต้องดูชื่อปริญญาที่จะได้รับดี ๆ ว่าได้รับ ดุริยางคสาสตร์บัณฑิต, ศิลปศาสตร์บัณฑิต หรือ ครุศาสตร์บัณฑิต เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงานและเรียนต่อ เพราะการเรียนต่อบางที่อาจจะรับสมัครเฉพาะผู้ได้ปริญญาดุริยางคศาสตร์บัณฑิต และการรับราชการครูในหลาย ๆ ที่ยังจำเป็นต้องใช้วุฒิครุศาสตร์ ยังไงถ้ามีเป้าหมายอาชีพแล้ว ก็อย่าลืมดูให้ดี ๆ ล่ะ
สำหรับคำถามว่า เรียนดนตรี จบไปทำไร? ที่ญาติผู้ใหญ่และสังคมมักจะถามบ่อย ๆ ขอแปะโพยไว้ตรงนี้
เมื่อ เรียนดนตรี จนจบหลักสูตร โรงเรียนดนตรี หรือ ปริญญาตรี ไม่ว่าจะได้รับปริญญาสาขาอะไร อาชีพที่ได้ทำอย่างแน่นอนก็คือการเป็นนักดนตรี ไม่ว่าจะเล่นกับวง, เล่นคนเดียว, เป็นนักดนตรีแบคอัพ, แสดงละครเวที, เป็นคอนดัคเตอร์ ฯลฯ ยิ่งถ้าเป็นนักดนตรีสายคลาสสิก เวลาไปออกงาน เรตราคาขั้นต่ำอยู่ที่หลักพันปลาย ๆ ไปจนถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว ซึ่งหมายถึงเราทำงานไม่กี่วันก็ได้เงินเท่ากับการทำงานประจำแล้ว ส่วนอาชีพครูสอนดนตรีใน โรงเรียนดนตรี โรงเรียนเอกชน ทุกคนสามารถใช้วุฒิการศึกษาด้านดนตรีไปสมัครได้ แต่ถ้าเป็นระบบโรงเรียนของรัฐก็สามารถสอบเข้าตามระเบียบด้วยวุฒิ ครุศาสตร์บัณฑิต และสำหรับอาชีพราชการอื่น ๆ เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่สบายใจ ก็สามารถสมัครเป็น นักวิชาการดนตรี, นักมานุษยวิทยาดนตรี, นักประวัติศาสตร์ดนตรี, นักดนตรีบำบัด, บรรณารักษ์ห้องสมุดดนตรี ฯลฯ และยังสามารถรับราชการทหาร ตำรวจ เป็นนักดนตรีในกรมดุริยางค์ได้
สำหรับสายเบื้องหลัง สามารถไปเป็นนักประพันธ์ดนตรี ทั้งประพันธ์ทำนองและเนื้อร้อง, ประพันธ์ดนตรีและทำซาวด์ดีไซน์ให้กับสื่อต่าง ๆ , เป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์, มิวสิคไดเรคเตอร์, ผลิตอุปกรณ์และซ่อมแซมอุปกรณ์ดนตรี, เขียนบทความดนตรี วิจารณ์ดนตรี หรือจะไปสายธุรกิจดนตรีอย่างเป็น AR (ผู้ดูแลศิลปิน), PR (นักประชาสัมพันธ์), บริหารค่ายเพลง, เปิดห้องซ้อม, เปิดห้องอัดเสียง, เปิดร้านจำหน่ายเครื่องดนตรี โรงเรียนดนตรี ฯลฯ เห็นแล้วใช่ไหมว่ามีอาชีพให้ทำมากมาย ซึ่งไม่ว่าจะเดินทางสายไหนก็สามารถมีรายได้เพียงพอจะหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ที่สำคัญต่อให้จบแล้วไม่ได้ทำงานสายดนตรี เราก็จะกลายเป็นคนที่เข้าใจในเสียงดนตรีและเข้าใจในอาชีพนักดนตรีอย่างถ่องแท้ ยังไงก็ขอให้น้อง ๆ โชคดีและได้เรียนในมหาวิทยาลัย หรือ โรงเรียนดนตรี สาขาที่หวังกันนะ
อ่านต่อ
บินไปเรียน Popular Music Performance ที่ประเทศไหนดี
10 เพลงรัก จากหนัง GTH ที่เราคิดถึง คุณยังฟังเพลงเหล่านี้อยู่หรือเปล่า
ฝึกงานที่ฟังใจแล้วได้อะไร? ทำไมต้องฝึกที่นี่? เรื่องเล่าจากเด็กฝึกงาน Fungjaizine คนล่าสุด
เมื่อเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาลองฟังเพลงในโปรเจกต์ Crossplay Season 2