แนะนำค่ายเพลงไม่แสวงกำไร Triple H Music
- Writer : รัชพงศ์ โอชาพงศ์
ค่ายเพลงไม่แสวงกำไร คืออะไร มันไม่ใช่ค่ายเพลงที่เปิดดำเนินการแล้วไม่ได้กำไร เลยปลอบใจตัวเองว่าเราไม่แสวงกำไร แต่คำว่าไม่แสวงกำไรนี้ไม่ใช่คำที่มาลอย ๆ ไม่มีที่มาที่ไป
คำว่า ‘องค์กรไม่แสวงกำไร’ (nonprofit organisation) นี้เป็นคอนเซปต์ขององค์กรพัฒนาเอกชน (คนธรรมดาที่อยากทำงานพัฒนาสังคมซึ่งมันควรเป็นหน้าที่ของรัฐ) การรวมกลุ่มกันทำองค์กรไม่แสวงกำไรไม่ใช่แปลว่าเราไม่เอาเงินหรือต้องดำรงชีพเยี่ยงคนป่า นอนในถ้ำ กินใบไม้ เรามีรายได้ มีกำไร แต่กำไรต้องไม่ไปสร้างความมั่งคั่งเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ต้องเป็นกิจการที่ตอบโจทย์ทางสังคม มีเป้าหมายเพื่อให้สังคมดีขึ้น รูปแบบขององค์กรไม่แสวงกำไรที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดีก็คือ บรรดามูลนิธิต่าง ๆ เช่น มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิปวีณา ฯลฯ
ทีนี้ เมื่อนำเรื่องทางสังคมมาผนวกรวมกับกิจการค่ายเพลง จึงเกิดเป็นค่ายเพลงไม่แสวงกำไร ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าบนโลกนี้มีค่ายเพลงไหนที่ดำเนินการรูปแบบนี้บ้าง จึงพยายามผนวกลักษณะสำคัญ ๆ ขององค์กรไม่แสวงกำไรกับองค์กรที่ทำหน้าที่ผลิตเพลง เผื่อจะทำให้เห็นรูปแบบการทำงานแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่วงการเพลงของโลกกำลังปรับปรุง เพื่อให้ทันเทคโนโลยีการผลิต และการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป
หน้าที่ของค่ายเพลงในปัจจุบัน
กว่าที่จะมาเป็นบทเพลงหนึ่งบทเพลงในสมัยก่อนต้องใช้เครื่องมือในการบันทึกเสียงหลายชิ้น และแต่ละชิ้นมีราคาค่อนข้างแพง เทคโนโลยีการบันทึกเสียงสมัยก่อนต้องใช้คนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและต้องอาศัยการลงทุนสูง ค่ายเพลงจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นผู้ลงทุนสร้างให้เกิดเพลงขึ้นมา จากนั้นก็ผลิตและจำหน่ายผลงานเพื่อสร้างกำไรแก่ผู้ลงทุน เรามักเรียกเจ้าของค่ายเพลงว่าอาเฮีย อาซ้อ เพราะศิลปินและคนฟังมักรู้สึกว่าเจ้าของค่ายตัวใหญ่อยู่เหนือหัวเรา แทบจะเป็นเจ้าชีวิตเลยก็ว่าได้เพราะเขาสามารถสั่งให้นักร้องเมทัลเปลี่ยนไปร้องเพลงลูกทุ่ง หรือวงดนตรีที่รวมตัวกันมาเป็นสิบ ๆ ปีต้องแยกย้ายเพราะเขาจะเอานักร้องคนเดียวก็สามารถทำได้ แต่ความสำคัญของค่ายเพลงก็ลดบทบาทลงมาเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการบันทึกเสียงและการเข้าถึงสื่อ จะเห็นได้ว่าศิลปินมากมายสามารถสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเองโดยไม่ต้องสังกัดค่ายเพลงมีจำนวนมากขึ้น มากขึ้น นักร้องนักดนตรีชื่อดังหลายท่านก็ไม่ได้สังกัดค่ายเพลง ก็สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นค่ายเพลงยุคใหม่จึงควรมีหน้าที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยนักดนตรี ทั้งการช่วยเรื่องบันทึกเสียง เรื่องโปรโมต ภาพลักษณ์ ดูแลงานโชว์การจัดการวงดนตรี หลายหน้าที่ศิลปินอาจทำหน้าที่ได้ดีกว่าหรืออาจมีคนที่ไว้ใจกว่า บทบาทความเป็นนายทุนของค่ายเพลงที่ลงทุนและดูแลทุกอย่างครบวงจรอาจเป็นเรื่องอดีตที่คงหวนกลับมายาก
หน้าตาของค่ายเพลงไม่แสวงกำไร
1. มีเป้าหมายทางสังคมที่ชัดเจน ว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีหน้าตาแบบไหน ส่วนเป้าหมายอันดับรองลงมาคือการเลี้ยงตนเอง เลี้ยงศิลปินให้สามารถผลิตผลงานได้ เป้าหมายทางสังคมนี้ต้องพึ่งพาอาศัยเพลงเป็นตัวผลักดันเพราะเราทำค่ายเพลง ดังนั้นสิ่งที่เราทำจึงไม่ใช่แค่การทำเพลงเพื่อเรี่ยไรเงินไปทำการกุศลแต่เพียงอย่างเดียวแบบที่หลาย ๆ คนเข้าใจ เพราะถ้าทำแบบนี้ตัวผลักดันสังคมคือองค์กรการกุศลที่เราเอาเงินไปบริจาคไม่ใช่นักดนตรีที่ทำเพลง
ความสำเร็จของเราเวลาสรุปผลประกอบการประจำปีคือการดูว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่เราตั้งใจมากแค่ไหน มากกว่าการตรวจดูว่าศิลปินในสังกัดรวยมากขึ้นแค่ไหน
2. ระบบการผลิตงานแบบ ‘อาสาสมัคร’ เน้นสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปัน คนฟัง คนทำ และการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของทีมงานในทุกขั้นตอน ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็เหมือนเราสร้างบ้านขึ้นมาหนึ่งหลังชวนเพื่อน ๆ เข้ามาอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ คนชอบเล่นดนตรีก็เล่นดนตรี คนไหนชอบฟังเพลงก็ฟังเพลงคนไหนชอบการถ่ายรูป ชอบงานถ่ายทำ หรือชอบทำงานจัดการศิลปิน เราสร้างพื้นที่เพื่อให้ความชอบและความสามารถของผู้คนที่หลากหลายเหล่านี้มาร่วมกันแชร์ความสามารถและทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดผลงานและการขับเคลื่อนองค์กร เพื่อทำให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบและสนับสนุนซึ่งกันและกัน คนฟังเพลง คนทำเพลง จะไม่ถูกแบ่งแยกฝ่ายแบบตายตัวชัดเจนเนื่องจากไม่ได้ใช้การลงทุนที่สูงจึงต้องมีความยืดหยุ่นตามความสะดวกของแต่ละคน ค่ายเพลงจึงไม่มีอาเฮีย อาซ้อ หรือคนที่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่สั่งซ้ายหันขวาหันกับใครก็ได้ ผลงานที่เกิดขึ้นจะไม่แสดงความเป็นตัวตนแบบเต็มร้อยแต่จะเกิดจากการออกความเห็นร่วมกันของทีมงานว่าอยากเห็นผลงานมีหน้าตาอย่างไร
3. ความเป็นธรรมในแง่ของรายได้ เราใช้ระบบทรัพย์สินส่วนกลาง รายได้ที่เกิดขึ้นจากเพลงหรือจากศิลปิน ทุกคนจะถูกหารเฉลี่ย เพื่อให้สามารถสนับสนุนศิลปินใหม่ ๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงาน แน่นอนว่าการทำงานเพลงต้องมีการใช้เงินดังนั้นค่ายจะทำหน้าที่เพียงแค่บริหารจัดการผลประโยชน์ในส่วนที่ถูกใช้ในเชิงพาณิชย์ จะมีการหักเงินส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการบริหารจัดการทำเพลงต่อไป รายได้จะถูกเฉลี่ยให้กับศิลปินและผู้เกี่ยวข้องทุกคน ความเป็นเจ้าของยังอยู่ที่ผู้สร้างสรรค์ไม่ได้อยู่ที่ค่าย (เผื่อวันนึงค่ายเจ๊ง ลิขสิทธิ์จะได้ไม่มีปัญหา) ส่วนการใช้งานเชิงเคลื่อนไหวทางสังคม แคมเปญรณรงค์ต่าง ๆ จะสนับสนุนให้ใช้ฟรีไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์ เช่น เพลงเราคือเพื่อนกัน ที่ถูกนำไปใช้เพื่อการรณรงค์ปล่อยตัว 14 นักศึกษา ที่ถูกจับกุมเนื่องจากประท้วงต้านรัฐประหาร เป็นต้น
ทั้งสามส่วนเป็นหลักการทดลองเบื้องต้นในการจัดการองค์กรประเภทค่ายเพลงไม่แสวงกำไรมันอาจจะได้ผลหรือประสบความล้มเหลวก็คงต้องสรุปบทเรียนและปรับปรุงพัฒนาต่อไป เพราะเราเชื่อว่าเพลงคือสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ถ้าสิ่งแวดล้อมที่ว่านี้มีแต่เรื่องรัก ๆ ช้ำ ๆ เดิม ๆ เราจะหวังให้คนที่เสพมันทุกวันมีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร เราจึงหวังว่าค่ายเพลงของเรานี้จะเป็นหน่วยสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่ผลิตเพลงที่พูดถึงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพื่อสร้างความลุ่มลึกในการฟังเพลงให้กับผู้ฟัง อย่างน้อยก็ทำให้คนฟังตั้งคำถามกับชีวิตมากขึ้น อย่างมากเขาอาจจะอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ให้ดีขึ้นก็ได้