News PR News

Noise Market อินดี้คอมมิวนิตี้ กับการรวมตัวของแบรนด์ Low Profile แต่ High Income

เมื่อเร็วๆ นี้ที่มิวเซียมสยาม ได้มีการจัดงาน ‘Noise Market 6’ ขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเหล่าศิลปินอินดี้ได้มาร่วมปล่อยของดีกันแบบไม่ยั้งแล้ว อีกหนึ่งความโดดเด่นของงานนี้ก็คือ การเป็นเวทีให้กับผู้ประกอบการสายติสท์ร่วม 100 คน ในการแสดงผลงานด้านศิลปะ และงานฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นของใช้ ของแต่งบ้าน เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องประดับ ฯลฯ ซึ่งต้องบอกเลยว่าหลายๆ เจ้านั้นมีผลงานในระดับที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว โดยวันนี้มิวเซียมสยามจะขอพาไปรู้จักกับบรรดาผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ยังเริ่มทำแบรนด์มาไม่นานนัก แต่ฉายแววเตรียมดังสุดๆ ด้วยแรงขับแห่งความสร้างสร้างสรรค์ที่มีอยู่เต็มเปี่ยม

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

คุณพลอยศิริ รังคดิลก หรือ คุณพลอย เจ้าของแบรนด์ ‘Need A New Needle’ เล่าว่า เธอเคยทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อยู่ราว 2 ปี จนวันหนึ่งคิดว่างานนี้มันรูทีนเกินไป รู้สึกไม่มีเวลาใช้ชีวิตเลย ประกอบกับเกิดอาการแพ้แสงขึ้นมาด้วย
เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำ โดยตอนแรกก็ยังไม่ได้คิดจริงจังว่าจะทำอะไรต่อ แต่ด้วยความที่เธอเริ่มปักผ้าเป็นงานอดิเรกมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว จึงเกิดไอเดียว่าจะลองทำ ‘งานปัก’ ที่เธอชอบอยู่แล้วมาขายดู

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“เราเริ่มจากนำกระเป๋าผ้า และเสื้อ มาปักลายจากรูปวาดของเราเอง แล้วก็ลองลงขายในอินสตาแกรม และเฟสบุ๊ค ซึ่งก็มีคนสนใจพอสมควรเลย หลังจากนั้นก็เริ่มเต็มที่มากขึ้น เพราะเราไม่ได้ทำงานประจำแล้ว และไม่อยากรบกวนเงินพ่อแม่ด้วย ก็เลยทำต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ รวมระยะเวลาก็ประมาณ 3 ปีแล้ว กลุ่มลูกค้าหลักๆ ทุกวันนี้ก็จะเป็นกลุ่มเอเชีย โดยเฉพาะคนไต้หวันจะชอบงานของเรามากหน่อย ในส่วนของลูกค้าคนไทยก็ขายได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะตามงานที่ได้ไปออกร้าน อย่างงาน Noise Market นี้เราก็มาติดกัน 4 ปีแล้ว เพราะเราชอบเวลาที่ลูกค้าได้เห็นสินค้าจริง ได้พูดคุยกัน ทำให้เรามีแรงบันดาลใจอยากทำอะไรใหม่ๆ”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สำหรับเธอแล้วงานแฮนเมดมันมีเสน่ห์ในความไม่สมบูรณ์ แม้ว่าช่วงนี้จะเห็นคนเริ่มหันมาทำธุรกิจทำมือมากขึ้น แต่เธอมองว่ายังไงแต่ละร้านก็ดูต่างกันอยู่ดี ตั้งแต่รูปวาด ดีไซน์ ครีเอทีฟ การใช้คู่สี ซึ่งสุดท้ายแล้วลูกค้าจะเป็นคนเลือกเองว่าชอบแบบไหน ดังนั้นใครที่สนใจอยากมีธุรกิจทำมือของตัวเอง ต้องเริ่มจากการสำรวจตัวเองก่อน ว่าเราชอบอะไร มีความสุขกับอะไร เพราะเมื่อเราเลือกนำเสนอในสิ่งที่เราชอบ เราก็จะสู้ได้ยาว หากเราไม่ท้อ เราก็จะมีเงินจากการขาย และมีความสุขจากการทำงานไปพร้อมกัน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ต่อมากับ คุณปรีดิ์ จินดาโรจน์ หรือจั๊ก เจ้าของแบรนด์ ‘Nerb’ เล่าว่า ตนทำงานเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์อยู่ในบริษัทโฆษณาลำดับต้นๆ ของเมืองไทยมา 10 กว่าปี เมื่อชีวิตเอเจนซี่ดำเนินมาถึงจุดอิ่มตัวก็เลยมีความคิดอยากกลับบ้านที่ขอนแก่น
จึงมีเวลาว่างได้ทดลองทำอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึง ‘งานปั้น’ ที่พอได้ทำแล้วก็รู้สึกสนุก และมันก็ตอบโจทย์ตัวเองที่อยากทำงานที่มีเวลาคิดและทำไปเรื่อยๆ ประกอบกับชื่อ ‘เนิบ (Nerb)’ ที่เคยคิดเอาไว้ตั้งแต่ยังทำงานบริษัท ก็เลยก่อกำเนิดเป็นชื่อแบรนด์นี้ขึ้นมา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“ตอนที่ปั้นแรกๆ ผมถ่ายรูปลงเฟสบุ๊คของตัวเอง ก็เริ่มมีคนสนใจ จึงเริ่มขายมาเรื่อยๆ จนเริ่มมีพี่ๆ ที่มีร้านชวนให้เอาไปวางขาย ต่อมาก็เริ่มออกงานตลาดนัดอินดี้ด้วย อย่างงาน Noise Market นี้ก็มาเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งมันก็ช่วยให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น อีกอย่างผมทำงานมานานก็พอมีคอนเนคชั่น มันก็เลยมีการช่วยแชร์ต่อๆ กันไป แต่สำหรับใครที่คิดจะเริ่มทำอะไรตอนนี้ ผมมองว่าคุณจะต้องรักและสนุกกับมันก่อน เมื่อเริ่มทำไปเรื่อยๆ แล้ว ความพร้อมมันจะค่อยๆ มาเอง”

ปัจจุบันแบรนด์ ‘เนิบ (Nerb)’ ก่อตั้งมามาร่วม 3 ปีแล้ว โดยมีจุดเด่นคืองานปั้นทุกชิ้นจะทำขึ้นจากดินพื้นบ้าน ขึ้นรูป และปั้นด้วยมือ ไม่ใช้แม่พิมพ์ ตลอดจนมีการใช้เศษไม้ในการรมควัน เพื่อให้สีของผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างจากงานปั้นทั่วไป และกลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบรนด์ ทั้งนี้ ปัจจุบันผลงานของตนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มคนที่ชื่นชอบในผลงานศิลปะ รวมถึงคนทั่วไปที่ชอบแต่งบ้าน เนื่องจากงานปั้นส่วนใหญ่จะเน้นเป็นประเภทกระถางต้นไม้ และของแต่งบ้านน่ารักๆ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ปิดท้ายกับ คุณพิราอร อำนวยพรสกุล หรือแหวน เจ้าของแบรนด์ ‘A Clay Ceramic’ เล่าว่า พอเรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาเครื่องเคลือบดินเผา มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2554 เธอก็ได้เข้ามาช่วยงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของที่บ้าน แต่เธอก็ไม่ทิ้งความฝันที่อยากจะมีแบรนด์งานปั้นเซรามิกเล็กๆ เป็นของตัวเอง โดยเธอตั้งใจเก็บหอมรอมริบอยู่ราว 2 ปี เพื่อซื้อ เตาเผาเซรามิกที่มีราคาร่วมแสนบาทมาด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมใช้เวลาว่างจากการทำงานในการปั้นเซรามิกอย่างสนุกสนาน

“พอได้เตาเผาเซรามิกมาแล้ว เราก็เริ่มปั้นของชิ้นเล็กๆ อย่างตุ้มหู และเข็มกลัดก่อน แล้วตอนนั้นก็ได้ข่าวว่าจะที่มิวเซียมสยามกำลังจะจัดงาน Noise Market ครั้งที่ 2 พอดี ก็เลยได้มาลองออกร้านเป็นครั้งแรก จำได้ว่าตื่นเต้นเหมือนกัน จะมีคนสนใจของๆ เราไหม ก็ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดี ก็ยิ่งมีกำลังใจทำต่อๆ มา จนปัจจุบันทำมา 3 ปีกว่าแล้ว ตอนนี้มีทั้งจาน ชาม แก้วน้ำ เพิ่มมาด้วย ถึงแม้จะไม่สามารถทำงานนี้ได้เต็มตัวเพราะต้องช่วยงานที่บ้าน แต่ก็รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่เรารัก”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ปัจจุบันมีแบรนด์งานปั้นเซรามิกเกิดขึ้นใหม่มากมาย แต่สำหรับ ‘A Clay Ceramic’ ก็จะมีความแตกต่างด้วยลวดลายการเพ้นท์อันเป็นเอกลักษณ์ โดยมีความน่ารัก ขี้เล่น ซึ่งสะท้อนมาจากความชอบส่วนตัวของเธอเอง ทั้งนี้เธอมองว่าถ้าใครมีไอเดียอยากทำอะไรสักอย่างแล้ว ก็ควรจะรีบลงมือทำมันก่อนที่จะโดนคนอื่นตัดหน้าไป เพราะในยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถสื่อสารตัวเองออกไปในวงกว้างได้ อะไรๆ ก็ดูจะซ้ำกันไปหมด เว้นเสียแต่ว่าเรานำเสนอเป็นคนแรก หรือสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจนจริงๆ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นี่ก็ถือเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของความพยายาม และการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดความชอบสู่เส้นทางอาชีพได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งนี้มิวเซียมสยามเชื่อว่ายังมีคนอีกมากมายที่อยากจะผันตัวเองมาสู่การเป็นผู้ประกอบการ โดยงาน ‘Noise Market’ ก็จะขอเป็นพื้นที่หนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนได้มีโอกาสสร้างเรื่องราวอันน่าประทับใจของตนเองขึ้นมา สำหรับใครที่สนใจจะมาร่วมออกร้านในงาน Noise Market ครั้งถัดไป ก็ขอให้เตรียมตัวไว้ให้ดี แล้วปลายปีนี้พบกัน ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการจัดงาน Noise Market 7 ได้ที่ www.facebook.com/noisemarketfest

Facebook Comments

Next: