Colorful Bangkok

PR News

‘Colourful Bangkok’ ต่อจากนี้ศิลปะ แสงสี ดนตรีจะมีทั่วกรุงเทพฯ!

Colourful Bangkok งานดี ๆ จาก กทม. ที่เปิดพื้นที่สวนสาธารณะทั่วมุมเมือง ต้อนรับเดือนแห่งเทศกาลดนตรีและศิลปะการแสดง ตลอดเดือนมกราคม

Colourful Bangkok 2022

กรุงเทพมหานคร​ โดย​สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) โดยกิจกรรมดังกล่าว เป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อ ด้านสร้างสรรค์ดี คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง และนโยบายเทศกาล 3 เดือน Colorful Bangkok 2022 ซึ่งกำหนดให้เดือนมกราคมเป็นเดือนแห่งเทศกาลดนตรี 

ในอนาคตดนตรีในสวนคงไม่ใช่เทศกาลที่มีแค่เดือนเดียว กทม.จะเปิดพื้นที่แบบนี้ต่อเนื่อง ถ้ามีกิจกรรมต่างๆ เราก็จะทำทั้งปี เนื่องจากกรุงเทพฯ​ มีพื้นที่ท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อดูความหนาแน่นก็จะมีอยู่ประมาณ10 สถานที่ ที่นักท่องเที่ยวอยากมา ดังนั้นเราจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีแหล่องท่องเที่ยวเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น ส่วนหนึ่งจะต้องมีพื้นที่สร้างสรรค์พื้นที่ทำกิจกรรมให้มากขึ้น การเปิดสวนเป็นการสร้างทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว  มากกว่านั้นเราก็พยายามที่จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เพิ่มรถสาธารณะมากขึ้น สร้างความปลอดภัยทางด้านสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ทางกรุงเทพฯ ได้มีมาตรการจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวและคนไทยได้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนความปลอดภัยทางด้านทรัพย์สิน ได้ประสานกับตำรวจท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ในการดูแลครบถ้วนทั้งเรื่องสร้างสรรค์ ความปลอดภัยและโรคภัยไข้เจ็บ

รองผู้ว่าฯ​ ศานนท์ กล่าว 

สำหรับบรรยากาศการแถลงข่าวนโยบายฯ ณ สวนสันติชัยปราการในวันนี้ มีกิจกรรมมากมายประกอบด้วย เวลา 17.00 น. การแสดงจากกลุ่มศิลปิน​ ประกอบด้วย​  1. Konnakhao : ละครใบ้&Juggling 2.คณะเจ้าขุนทอง : Puppet 3.บอย ตัวตลก : Clown  4. IMAGICA TH : Magic 5. VK.Vich : Magic & Isolation 6. Talent show : Object Theatre 7. Blind Rituals : Inclusive Dance 8. BABY MIME : ละครใบ้​ การแสดง Mini Bangkok Street Show ชุด Happy Garden และการแสดงดนตรีศิลปินรับเชิญ MEKJACK (เมฆแจ็ค) เวลา 17.10 น. เสวนาเรื่อง “ความท้าทายและนโยบายการขับเคลื่อนเมืองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับนายพงศ์สิริ เหตระกูล นายตุล ไวฑูรเกียรติ และนายกฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ ผู้แทนคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร เวลา 17.30 แถลงข่าวนโยบายด้านการสนับสนุนพื้นที่สำหรับดนตรีและการแสดงในกรุงเทพมหานคร 

กรุงเทพมหานคร มีนโยบายว่าด้วยเรื่องเมืองแห่งการสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสุขให้กับคนกรุงเทพฯ สนับสนุนการออกมาใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ สร้างการเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม กรุงเทพมหานครได้ผลักดันนโยบายหลายข้อเพื่อสร้างเสียงดนตรีให้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมเมือง ซึ่งเทศกาลดนตรีในสวน เป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อด้านสร้างสรรค์ดี คือ กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง กทม.จึงดำเนินการจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 สวน ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ครอบคลุม 6 โซน ทั่วกรุงเทพมหานคร ตลอดปี 2566 

ในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนแห่งเทศกาลดนตรีในสวน ตามนโยบายเทศกาล 12 เดือน กรุงเทพมหานคร กำหนดจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 สวน คือ สวนวชิรเบญจทัศ สวนสันติชัยปราการ สวนรมณีนาถ สวนเบญจสิริ สวนเสรีไทย สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (เคหะร่มเกล้า) สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (บางกอกน้อย) และสวนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (สะพานพระราม 9) รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง โดยเป็นการแสดงดนตรีจากวงดนตรีของเยาวชนและประชาชน ที่สมัครผ่านช่องทางของกรุงเทพมหานคร และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และศิลปินจากค่ายเพลงต่าง ๆ เข้าร่วมมากมาย 

นอกจากนี้ ยังมีเทศกาลดนตรีในสวน ณ สวนหลวงพระราม 8 ซึ่งจัดโดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดยจัดทุกวันอาทิตย์ จำนวน 6 ครั้ง ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2566 และกิจกรรมการแสดงดนตรีของกรุงเทพมหานคร ซึ่งบรรเลงโดยวงดนตรีกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2566 ณ มิวเซียมสยาม และ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ศิลปะการแสดงเปิดหมวก Bangkok Street Performer จัดโดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่นักดนตรีและนักแสดง ได้แสดงดนตรีบนสถานีรถไฟฟ้าและทางเดิน Sky Walk จำนวน 7 จุดทุกวัน ตลอดเดือนมกราคม 2566 

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป กรุงเทพมหานคร ได้ปลดล็อกสวนสาธารณะ จำนวน 12 สวน เพื่อเปิดพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนสามารถเข้าไปเล่นดนตรีได้โดยไม่ต้องขออนุญาต โดยมีเงื่อนไข คือ การเล่นดนตรีนั้นจะต้องไม่มีการหารายได้หรือผลประโยชน์แอบแฝง ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง หากเป็นการเล่นดนตรีที่ใช้เสียงดังเกิน 85 เดซิเบล จะต้องเล่นดนตรีในพื้นที่ที่สวนสาธารณะจัดเตรียมไว้ 

กรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนทุกท่านมารับชมและรับฟังดนตรีในกิจกรรมดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสกับบรรยากาศของสวนและสุนทรียศาสตร์ของดนตรีอย่างเต็มอิ่ม ซึ่งสามารถแชร์ประสบการณ์ดีๆ จากงานนี้่ ผ่านแฮชแท็ก #Colorfulbangkok2022 #ดนตรีในสวน #BKKstreetperformer #เทศกาลดนตรีในสวน และ #TikTokเพลย์ลิสต์ สามารถติดตามตารางการแสดงได้ที่ กรุงเทพมหานคร ได้ทุกสัปดาห์ รวมถึงติดตามกิจกรรมน่าสนใจมากกว่า 120 อีเวนต์ ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 – เดือนมกราคม 2566 ได้ที่เว็บไซต์นี้เลย

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน Colourful Bangkok ได้ที่นี่

Written By…. ชวนฟังเพลย์ลิสต์ Spotify ที่แบ่งตามผลงานของนักแต่งเพลง

Facebook Comments

Next:


Donratcharat

นัท มีหมาน่ารักสองตัวชื่อหมูตุ๋นกับหมูปิ้ง กาแฟดำยังจำเป็นต่อชีวิต และยกให้กาแฟใส่นมเป็นรางวัล