Feature News Hot and Trending News
เคยได้ยินไหม Lifestyle Festival เทศกาลที่ไม่ได้มีแค่ดนตรีเพียงอย่างเดียว
- Writer: Montipa Virojpan
ถ้าย้อนไปสักประมาณ 20 ปีที่แล้ว เราเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชินกับคำว่า music festival หรือเทศกาลดนตรีในบ้านเรากันเท่าไหร่ ส่วนมากก็จะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่หรือโชว์เดี่ยวของศิลปินคนนั้น ๆ เพราะในยุคนั้นค่ายเพลงเจ้าใหญ่ยังมีบทบาทมากในสื่อกระแสหลัก ทำให้มีช่องทางนำเสนอผลงานของศิลปินในสังกัดของตัวเองโดยเฉพาะ และยังไม่ได้แผ่กิ่งก้านสาขาจับมือกันสร้างสังคมดนตรีที่เหนียวแน่นอย่างเช่นทุกวันนี้
แต่เท่าที่เราพอจะจำความได้ เมื่อปี 2001 Fat Festival ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ทำให้นักฟังชาวไทยก็ได้ทำความรู้จักกับเทศกาลดนตรีกันเป็นครั้งแรก พวกเขาถือเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ในไทย ที่มีไอเดียชักชวนเพื่อนศิลปินในวงการไม่ว่าจะรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มีค่ายหรือไม่มีค่าย แต่ยืนพื้นด้วยการที่ศิลปินที่ถูกชักชวนมาเหล่านั้นคือคนที่ทำเพลงทางเลือก และพวกเขาก็ลงมือสร้างพื้นที่ทางเลือกนี้ให้เกิดขึ้นมาจริง ๆ โดยในงานก็มีดนตรีให้รับฟังรับชมกว่าหลายเวที หลายสิบศิลปิน หลายร้อยชีวิตผู้ชม ซึ่งทีมงานก็ยังไม่หยุดสานต่อเจตนารมย์ตั้งต้นเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ตัวงานจะผันเปลี่ยนทั้งรูปแบบหรือแม้กระทั่งชื่อเป็น Cat Festival ไปด้วยปัจจัยต่าง ๆ ตามกาลเวลาก็ตาม แล้วในปี 2002 เราก็ได้ยินชื่อของเทศกาลดนตรีในฐานะของงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองพัทยาในชื่อ Pattaya Music Festival ที่ผู้จัดเป็นค่ายยักษ์ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปีแรกมีศิลปินเบอร์ใหญ่จากค่ายนั้นและศิลปินต่างประเทศตบเท้าเข้ามาร่วมแสดง จนปีต่อ ๆ มาถึงเริ่มจะเปิดโอกาสให้ค่ายอื่น ๆ เป็นผู้ร่วมจัดงานและขยับขยายสเกลงานได้ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ถือว่าช่วงนี้เองที่เป็น ‘ระยะแรก’ ของการจัดเทศกาลดนตรีในประเทศไทย
เกือบ 10 ปีให้หลัง (2010) ประเทศไทยก็มีเทศกาลดนตรีทางเลือกอีกงานเกิดขึ้นมา เป็นการเน้นย้ำคำว่า music festival ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นนั่นคืองาน Big Mountain Music Festival ที่ใช้พื้นที่บริเวณโบนันซ่ารีสอร์ตมาทำเป็นพื้นที่ของเวทีคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ ซึ่งหัวหอกของงานนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่คือผู้ที่เคยอยู่เบื้องหลัง Fat Festival ในอดีตอีกนั่นแหละ จึงไม่แปลกใจที่เราจะได้เห็นดนตรีหลากหลายแนวไม่เฉพาะแต่จากค่ายใหญ่ แต่ยังมีพื้นที่ให้วงหน้าใหม่ไร้ค่ายได้ปล่อยของกันด้วย ส่วนผู้ร่วมงานก็ได้สนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงมีโซนอาหารที่เป็นกิมมิกตลอดกาลสุด ๆ อย่างโซนที่ขายข้าวไข่เจียวอบ่างเดียวที่ตั้งเรียงกันเป็นตับ รอให้ผู้ร่วมงานไปชิมและตัดสินว่าใครจะเป็นร้านข้าวไข่เจียวที่อร่อยที่สุดในเทศกาล ในปี 2011 ก็มีงาน Stone Free Music Festival โดยมีตัวตั้งตัวตีการจัดเป็นกลุ่มผู้ผลักดันซีนดนตรีทางเลือก ซึ่งรูปแบบการจัดงานของพวกเขาก็ยังอัดแน่นไปด้วยความสร้างสรรค์ แต่เลือกจะอยู่กับธรรมชาติและทำร้ายระบบนิเวศน์ของสถานที่จัดให้ได้น้อยที่สุด เพราะพวกเขาขนเครื่องเสียงกันไปบนเขาและเลือกทดลองใช้หน้าผา เมื่อเสียงดนตรีสะท้อนกับปราการธรรมชาติจะให้ผลลัพธ์ในการรับชมดนตรีสดแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร และในปี 2013 ก็มี Sonic Bang เทศกาลดนตรีนานาชาติที่ขนศิลปินเบอร์ใหญ่จากหลากหลายประเทศมาอยู่ร่วมไลน์อัพกับศิลปินไทยหลากหลายแนวเพลง ถ้าลองสังเกตดี ๆ แม้ทุกงานจะเป็นงานดนตรีเหมือนกัน แต่หลายงาน ๆ ก็มีวัตถุประสงค์และเอกลักษณ์ของแต่ละงานที่แตกต่างกันไป บางงานเลือกจัดตามแนวเพลงอย่างเช่น Thailand International Jazz Festival หรือ OD Rock Fest ก็เป็นที่กล่าวถึงและได้ผลตอบรับที่ดี
แต่ ณ เวลานั้น คนไทยยังไม่ค่อยเก็ตกับความเป็น music festival แขนงนี้เท่าที่ควร เพราะมักจะมีเงื่อนไขว่า ‘วงนี้ฉันไม่รู้จัก’ ‘อยากดูแค่วงนี้วงเดียว ไม่คุ้ม’ ‘หรือวงนี้มาอยู่ร่วมกับวงนี้ในงานนี้ได้ยังไง vibes ไม่ได้ ฉันไม่ไปดูหรอก’ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพักใหญ่ ๆ กว่าคนจะเริ่มเปิดใจและลองมาสัมผัสประสบการณ์ดนตรีเพื่อเปิดโลกการฟังให้กับตัวเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการจัดงานนั้น ๆ กลุ่มผู้จัดหลาย ๆ งานต่างเป็นผู้ริเริ่มและเป็นฟันเฟืองทำให้คนเริ่มเข้าถึง เข้าใจ ตื่นตัว และตระหนักถึงการมีอยู่ของกิจกรรมประเภทนี้
เมื่อมาถึงยุคนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลกับยอดจำหน่ายบัตร คนดูเริ่มเบื่อที่จะฟังแต่เพลงอย่างเดียว อย่างน้อย ๆ ในงานนั้นจะต้องมีอาหาร แบ็กดรอป ไม่ก็จุดถ่ายรูปเท่ ๆ ให้ได้เป็นการจารึกว่าเจ้าตัวได้มาเยือนอีเวนต์นั้นนี้แล้ว ความที่มันเป็นขาลงในขาขึ้นเลยทำให้หลายคนเกิดคำถามคล้าย ๆ กันว่า ‘ถ้ามีแต่วงดนตรีในงานมันจะเวิร์กจริง ๆ หรอ’ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยนะ ต่างประเทศก็ประสบกับปัญหานี้ ทำให้เราเห็นว่าเทศกาลดนตรีในต่างประเทศเริ่มตอบโจทย์เรื่องไลฟ์สไตล์หรือเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เข้าไปในงานดนตรีนั้นมากขึ้น จนผู้จัดกลุ่มหนึ่งได้ประกาศตัวว่า นี่ฉันไม่ได้ทำ music festival ธรรมดานะ เพราะฉันกำลังทำ lifestyle festival พวกเธอจะต้องตื่นเต้นกับสิ่งที่ฉันกำลังทำอย่างแน่นอน!
เอ้า เกริ่นประวัติความเป็นมาซะยืดยาว ถึงเวลาเข้าเรื่อง!
Lifestyle Festival คืออะไร? ว่ากันตามตรงคือดนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ ประเภทของดนตรีที่คนคนนั้นฟังอาจบอกถึงบุคลิกและลักษณะนิสัยของคนฟังได้ส่วนนึง เช่นกันกับการเลือกใช้ชีวิต การแต่งกาย อาหาร กิจกรรมต่าง ๆ ที่พวกเขาทำในแต่ละวันก็ถูกเรียกว่าเป็นไลฟ์สไตล์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะถูกขมวดรวมไว้ในงานงานเดียว ในประเทศไทยมีงานไหนที่เรียกได้ว่าเป็นไลฟ์สไตล์เฟสติวัลบ้าง คงปฏิเสธไม่ได้ว่างานแรกที่เรานึกถึงคือ Wonderfruit Festival ที่จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 4 แล้วในปีที่ผ่านมา
งานนี้ตอบโจทย์ทุกการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ชีวิตประจำวันมีหลายพันสิ่งต้องทำ ทุกอย่างเร็วไปหมดจนคอนโทรลไม่ได้เลยค่ะพี่ขา ไหนจะการเสพข้อมูลที่พรั่งพรูเข้ามาแบบไม่ค่อยได้ผ่านการกลั่นกรองจนบางทีก็รู้สึกว่านี่ฉัน information overloaded จนเกินไปไหม พวกเขาจึงต้องการการพักผ่อนหย่อนใจ หนีจากความวุ่นวายในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่อยากรับโทรศัพท์ลูกค้า อยากจะมีโมเมนต์สโลวไลฟ์กับเขาบ้าง แต่ขณะเดียวกันฉันก็ตัดขาดจากโลกโซเชียลหรือความสนุกที่แค่ขึ้นรถไฟฟ้าก็เอื้อมถึงในเมืองหลวงไม่ได้อะ ที่นี่เขาเลยมีให้ทั้งดนตรีสด ดีเจ อาหาร เครื่องดื่ม เวิร์กช็อปงานฝีมือต่าง ๆ ไปจนถึงการแต่งตัวมาประชันกันอันเป็นธรรมเนียมที่รู้กันในหมู่ festivalgoers (ซึ่งไม่รู้ว่าถือกำเนิดเกิดมาจากใคร นี่อาจจะเป็นอีกวิถีของเหล่า escapists ก็เป็นได้ จะแต่งตัวก็เอาให้สุดแบบปกติประจำวันไม่แต่งไรงี้) แต่พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะมีงานเสวนาอาหารสมอง สนับสนุนการรักษ์โลก ส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ อย่างคลาสโยคะ นั่งสมาธิ bootcamp การออกกำลังกายแบบต่าง ๆ ไปจนถึงสนามเด็กเล่นและลานกิจกรรมคุณหนูสำหรับผู้ร่วมเฟสติวัลรุ่นเล็กกันด้วย นอกจาก Wonderfruit แล้วก็ยังมีงานที่ชื่อ Shambala Festival ที่ให้เราไปนอนกลางดินกินกลางทราย ใกล้ชิดธรรมชาติสุด ๆ กันที่เชียงใหม่เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์
และอีกงานหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ Yak Fest เทศกาลไลฟ์สไตล์รายล่าสุด ส่งตรงจากทีมงานคุณภาพที่เคยฝากผลงานมาแล้วจากงานที่เราเคยพูดถึง ทั้ง Fat Festival และ Big Mountain นั่นคือ ป๋าเต็ด—ยุทธนา บุญอ้อม ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีและตัวตั้งตัวตีในการผลักดันซีนเฟสติวัลเบอร์ต้น ๆ ของไทย ซึ่ง Yak Fest ก็มีความแตกต่างจากไลฟ์สไตล์เฟสติวัลงานอื่น ๆ ด้วยการมีกิมมิกเป็นบอลลูนยักษ์ 9 ตัวโดยศิลปินไทยชื่อดัง วิศุทธิ์ พรนิมิตร, Alex Face, Lolay, จี๊ป คงเดชกุล, Yuree Kensaku, Kapi, Rukkit, P7 และ Sahred Toy แถมยังจัดแต่ละโซนภายในงานให้เป็น ‘หมู่บ้าน’ ที่เป็นการจับมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้บุกเบิกของซีนที่แตกต่างกันไปในบ้านเรา แบ่งออกเป็น 5 หมู่บ้านใหญ่ ๆ กับกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย
หมู่บ้านแรก Talk Village โดย Glow Story ผู้อยู่เบื้องหลัง TEDxBangkok พวกเขารวบรวมบุคคลมากความสามารถจากสาขาต่าง ๆ มาร่วมทอล์กกันบนเวที ไม่ว่าจะเป็น เต๋อ นวพล ผู้กำกับชื่อดังที่ไม่ว่าจะทำหนังออกมาเป็นแบบในกระแสหรือนอกกระแสก็ดูจะมีลายเซ็นชัดเจนไปเสียหมด, Lipta ศิลปินเจ้าของเพลงเพราะที่พกอารมณ์ขันมาเต็มกระเป๋า, มาโนช พุฒตาล นักร้อง นักแต่งเพลง ที่งานนี้จะมาเล่านิทานให้เราฟัง, กตัญญู สว่างศรี หรือ A Katanyu แห่ง Stand Up Comedy และ ป๋อง—กพล ทองพลับ แห่งคลื่นวิทยุหลอนในตำนาน The Shock แค่เห็นชื่อเหล่านี้ก็น่าไปฟังแล้ว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง การทดสอบบุคลิกภาพว่า คุณจะเป็นยักษ์ประเภทไหน สภากาแฟ แชร์ความรู้สึกนึกคิด ไปจนถึงกิจกรรมหาคู่!
Organic Village โดยกลุ่ม Thailand Young Farmers ถ้าใครเคยไป Wonderfruit ก็จะเจอกับโซนของกลุ่มชาวไร่ชาวนารุ่นใหม่ พวกเขาคือคนรุ่นเรา ๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความน่าสนใจและทำให้คนทั่วไปใส่ใจธรรมชาติยิ่งขึ้น ที่นี่เราจะได้ดูคอนเสิร์ตจากวงพีค ๆ ทั้ง Greasy Cafe, Rasmee Isan Soul, The Paradise Bangkok Molam International Band, Yena, M Yoss, ชาติ สุชาติ และ DJ Maftsai และเราจะได้ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์จากส่วนผสมธรรมชาติท้องถิ่น มีม๊าเดี่ยวมาช่วยเป็นสไตลิสต์ให้กับคนที่อยากจะ dress up ด้วยต้นไม้ใบหญ้า และนานาอาหารออร์แกนิกให้เลือกชิมมากมาย
Rap Village นาทีนี้ไม่มีกลุ่มผู้ผลักดันฮิปฮอปใดถูกกล่าวถึงมากไปกว่า Rap Is Now อีกแล้ว และครั้งนี้พวกเขาก็ขนทัพศิลปินฮิปฮอปมากมายมาโชว์ให้เราดู ตั้งแต่ Thaitanium, Fuckling Hero, Maiyarap, VKL, FIIXD หรือแม้แต่เจ้าของวลี ‘ยังไม่ได้นอน’ Young Ohm เราจะได้ดูการครอสกันระหว่างแร็ปกับลำตัด แร็ปกับลิเก และจะมี rap battle กันสด ๆ ด้วย ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมที่จะทำให้เราอินกับ hiphop culture มากขึ้น ทั้งการสอนแต่ง rhyme ตั้งฉายาแบบแร็ปเปอร์ กราฟฟิตี้ สติ๊กเกอร์บอมบ์ และจะได้แต่งตัวเป็นเด็กฮิปฮอปกับเขาด้วย
B Village งานนี้สาย(คอ)แข็งต้องมา เมื่อ Stone Head กลุ่มคราฟต์เบียร์คนไทยทำเองเนรมิตโซนนี้ให้เป็นลานเบียร์แบบคราฟต์ ๆ จะเลือกดื่มแบบแท็ป แบบขวด หรือจะเป็น beer fly เลือกชิมได้หลาย ๆ ชนิด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคราฟต์เบียร์คนไทย โดยจะมี beer passport ให้เราตามชิมเบียร์ให้ครบในราคาเป็นมิตร พร้อมหาซื้อของแกล้มเบียร์ได้ไม่ไกล แถมยังจะได้ดูคอนเสิร์ตจาก The Toys, Season Five, Big Ass, Boom Boom Cash และ Bot Cash ด้วย
ขอต้อนรับสู่หมู่บ้านสุดท้าย Bitchyland โดยคณะ Trasher ผู้จัดปาร์ตี้ที่เปรี้ยวที่สุดในบ้านเรา นำทีมโดย เจนนี่ ปาหนัน จะมาสร้างความแซ่บความมันให้กันตลอดคืน เตรียมดูโชว์จาก drag queen แถวหน้า พร้อมพาร์ตลูกทุ่งหางเครื่องจาก หลิว อาจารียา และเตรียมเต้นไปกับ อ๊อฟ ปองศักดิ์, จีน กษิดิศ, ดีเจแทรชเชอร์ ประกวดคาราโอเกะโดยมีแก๊งเจ๊หอแต๋วแตกเป็น commentator นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและแลนด์มาร์กต่าง ๆ ที่แค่เห็นชื่อก็สนุกแล้ว ตั้งแต่ อนุสาวรีย์ปากคว่ำ ให้เราทำท่าเบะปากอย่างพร้อมเพรียงเพื่อศักการะเหล่าองค์แม่ พร้อมสระว่ายน้ำ ตู้คาราโอเกะ และร้านเสริมสวย ของจริงจะพีคขนาดไหนต้องไปดูกันเอง ไม่อยากให้พลาดจริง ๆ
เอ้า ขายกันขนาดนี้แล้วจะยังไม่ไปกันอีกหรอ! พบกับเทศกาลแนวใหม่ Yak Fest ลอง แล้ว จะ ยักษ์ 24 hours lifestyle festival 9 ตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ 5 หมู่บ้าน ล้านกิจกรรม ที่ The Ocean เขาใหญ่ 24 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงวันของอีกวัน ที่จะชวนเราออกมาจากโลกแห่งความจริงอันวุ่นวายและจำเจ ไปเปิดประสบการณ์ใหม่สุดมันแบบที่ไม่เคยทำกันมาก่อน ซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ Thai Ticket Major