เป็นรุ่นใหญ่ไม่จำเป็นต้องปิด ‘ZiggaRice’ และการปรับตัวจาก old school สู่ trap
- Photographer: Chavit Mayot
- Writer: Montipa Virojpan
ZiggaRice คือแร็ปเปอร์ดูโอ้เจ้าของเพลง Pussy, High Luv และ Do it 4 Love ที่ชาวเน็ตคุ้นเคยกันเมื่อหลายปีก่อนกับซาวด์ old school, neo-soul, r&b สุดละมุน แต่อันที่จริงพวกเขาสองคนคลุกคลีอยู่ในวงการดนตรีมานาน และอยู่เบื้องหลังศิลปินทั้งป๊อป อินดี้ และฮิปฮอปมากมาย
ถึงกระนั้นแล้ว ZiggaRice ก็ยังไม่หยุดที่จะ explore อะไรใหม่ ๆ เพราะล่าสุดก็ได้มาอยู่ค่าย Def Jam Thailand ก็ยังนำเสนอลีลา trap ออกมาในเพลง แมงเม่า feat. Eskiimo ได้แปลกหู มาดูกันว่าอะไรที่ทำให้รุ่นใหญ่อย่างพวกเขากล้าที่จะเปิดใจให้กับแนวดนตรีของเด็กรุ่นใหม่
ZiggaRice พบกันที่ร้าน Sneaka Villa และเริ่มทำเพลงที่นั่น
หมี: จริง ๆ เรารู้จักกันก่อนหน้านั้นแล้ว ตอนประมาณปี 2008 ในซีนฮิปฮอป แต่ไม่ค่อยได้คุยกัน แล้วผมก็เป็นรุ่นน้องของเจ้าของร้าน วอยทำงานที่นั่น เราก็ไปนั่งชิลกันมากกว่า มันเป็นร้าน street fashion ชั้นบนเป็นร้านไวนิล เป็นที่นึงที่ผมเอาไว้ทำดนตรีด้วย ผมกับวอยนั่งกดบีตกันที่ร้าน Sneaka Villa แต่คนละสาขา (หัวเราะ) จนผมมีบีตกว่า 20 อัน บางอัน Twopee เอาไปใช้บ้าง หรือเก็บไว้ของตัวเองบ้าง แล้วก็ให้คนอื่นด้วยบ้าง แต่ร้านเขาย้ายไปแล้วเราก็เลยไม่ได้ไปทำแล้ว ต้องทำสตูกันเอง
วอย: ตอนนั้นเราทำเพลงด้วยกันแล้วเพลงนึงก่อนจะมาทำ ZiggaRice ด้วยกัน J.Crow in the Morning นานมากแล้ว น่าจะหลังช่วง Limousine ด้วย ตอนนั้นคือ Dâm-Funk มาเราแล้วไปเล่นเปิดให้เขา
หมี: หลังจากนั้นผมกับวอยก็แทบไม่ได้ร่วมงานกันเลย ผมไปทำบริษัทสถาปนิกของพี่ แต่ก็ทำเพลงอยู่ด้วยบ้าง คือตอนนั้นยังลังเลว่าจะไปทางดนตรีเลย หรือจะกลับไปทำงานที่บ้าน ส่วนวอยไปเป็นบาร์เทนเดอร์ แต่ตอนหลังผมก็เลือกมาทำเพลง ได้ไปทำกับป๊อก Mindset ละ
จนประมาณ 2015 มีอยู่วันนึงผมไปสตูดิโอของ EAZY I AM คืออีซี่สอนผมทำบีตมาตั้งแต่มหาลัย แล้วเขาก็มี connection กับหลาย ๆ คน วันนั้นผมไปเจอวอย ก็เลยคุยกัน attitude เราใกล้กัน เพลงเราชอบคล้ายกัน งั้นเรามาทำเพลงด้วยกันไหม จนมามีเพลงชื่อ Pussy ครับ ที่เป็น ZiggaRice จริง ๆ ได้เอาชื่อสองคนมารวมกัน ได้คิด mv และนั่นก็เป็นซิงเกิ้ลแรก
เริ่มทำบีตยังไง
หมี: ตอนแรกไม่ได้ทำบีตแร็ป เราแร็ปอย่างเดียวแล้วใช้เป็น mixtape แต่ก็มารู้สึกว่าถ้าเราอยากมีเพลง official ของตัวเอง ตอนนั้นยังเด็กไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะไปซื้อบีตมา ก็ลองเคาะด้วยตัวเอง เหมือนอะไรที่เราอยากได้ยินก็วาดลงไปในโปรแกรม กว่าจะทำได้ก็ใช้เวลานานมาก จากมั่วไปเรื่อย ๆ จนมันเริ่มลงล็อก เริ่มทำลูป จนเป็นกรูฟ แล้วเราก็เริ่มแร็ปกับดนตรีอันนี้ได้ ต้องอาศัยฟังเยอะ ๆ
จริง ๆ ฮิปฮอปค่อนข้างนอกกรอบ มันไม่มีทฤษฎีตายตัว มันอยู่ที่เราอยากได้ยินอะไรก็เขียนลงไปเลย มันมี rhythm ที่กำหนดไว้นิดนึง แต่จริง ๆ มันก็ค่อนข้างฟรี บีตของฮิปฮอปมีหลายแนวมาก ถ้าให้จำกัดแนวของบีตฮิปฮอปมันก็ยาก เพราะว่ามัน hybrid มาจากแนวอื่นจนมาเป็นฮิปฮอป บางทีผมฟังแล้วรู้สึกถึงเพลงร็อก บางทีก็เป็น Motown โซล บางทีเป็น funky 80s
เป็นเด็กฮาร์ดคอร์กันมาก่อน แล้วอะไรทำให้มาสายฮิปฮอปได้
วอย: ยุคผมก็เล่นสเก็ต พ่นกราฟิตี้ เด็ก ๆ ไปเรื่อย
หมี: ผมก็ nu-metal เป็นเด็กสเก็ตมาก่อน เหมือน culture มันเชื่อมกัน คือผมเล่นสเก็ตบอร์ดตอนเด็ก สังคมเพื่อนที่เล่นด้วยกันจะฟังฮิปฮอป nu-metal ป๊อปพังก์บ้าง หรือพังก์ไปเลย ผมก็ได้ซึมซับวัฒนธรรมพวกนั้นหมด จนเมื่อประมาณ 90s ปลาย ๆ ที่ nu-metal มา แทบทุกวงเขาจะแร็ปลงดนตรีฮาร์ดคอร์ อย่าง Limp Bizkit, Linkin Park, Korn อะไรเทือก ๆ นั้น แล้วมันมีช่วงที่ Limp Bizkit ไปร้องกับ Wu Tang แล้วมี Redman เข้ามา เหมือนว่านี่เราฟังเพลงฮิปฮอปอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว เลยได้ซึมซับเพลงแร็ปมาโดยที่ไม่รู้ว่าเราชอบหรือเปล่า แต่เราก็แร็ปตามเขาได้เพราะเราฟังเพลงเขาทุกวัน
แล้วทำไมตอนวอยทำ Limousine เพลงถึงออกมาเป็น r&b หวาน ๆ เลย
วอย: ตอนนั้นผมเปลี่ยนมาฟังฮิปฮอปแล้ว ผมไปเรียนที่เยอรมนีด้วย ก็ฮิปฮอปหนังเลยทั้งกราฟิตี้ ทั้งบีบอย ซีนประเทศเขาเองก็เข้มข้น พอกลับมาก็มีโอกาสได้รู้จักกับพี่หนึ่ง coolvoice.com ที่ทำ Limousine เขาเลยชวนมาทำ ตอนนั้นผมกำลังจะเรียน sound engineer ก็ได้มาทำ ช่วงนั้นก็ซึมซับความเป็นโซลอะไรมาแล้ว แล้วก็เพิ่มความบัลลาด 80s เข้าไป
พูดถึง Coolvoice.com มีหลายคนมากที่บ่นคิดถึง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยสำหรับคนที่ไม่รู้จักว่าคืออะไร
วอย: เป็นเว็บเพลงอินดี้เว็บแรกของประเทศไทย น่าจะเริ่มจากพี่หนึ่ง คือความชอบเพลงนอกกระแสที่ไม่ได้มีค่าย ณ ตอนนั้น หรือเป็นค่ายเล็ก ๆ อย่าง Smallroom, Believe Records ช่วงแรก ๆ เขาไม่ได้มีช่องทางปล่อยอะไรขนาดนั้น แล้วตัวพี่หนึ่งเองก็มีเพื่อนที่ทำเพลงเยอะ อย่างแก๊ง Monotone เลยทำเว็บขึ้นมา ผมก็ไปทำตอนหลัง แต่ตอนนั้นดีมาก ชีวิตทั้งวันคือฟังเพลงอย่างเดียว เพลงนี้ดี โอเค เราก็เลือกเพลงอัพโหลดขึ้นไป คอยคัดว่าอันไหนเหมาะ อันไหนโหดไปหน่อย แล้วก็ไปสัมภาษณ์ศิลปินอินดี้ ณ ยุคนั้น เหมือนเป็นช่องทางไม่ถึงขนาด Fat Radio คือเราก็มาอยู่ออนไลน์ ถูกลิขสิทธิ์หมดเลย แต่เราก็จะตายเพราะมาเจอ YouTube พอศิลปินเขามีช่องทางอัพโหลดเองได้ คนก็เริ่มเอนไปทางนั้นแล้ว แล้วก็เจอพวกแวมไพร์ ซีดีเริ่มตาย เราก็ค่อย ๆ เฟดไป
ในฐานะที่หมีทำงานกับค่ายใหญ่ด้วย หมีเอามาปรับใช้กับงาน underground ของตัวเองยังไงบ้าง
หมี: แตกต่างชัดเจนมาก ยุคที่ผมเริ่มจาก mixtape ตอนนั้นเด็ก ๆ ก็จะเป็น gangster rap แต่พอผมเข้าแกรมมี่เขาก็พยายามเกลาให้ผมเข้าหาป๊อปมากที่สุด ผมก็เริ่มเข้าใจว่าจะเขียนเพลงยังไงให้คนฟังมากขึ้น ก็ได้เรียนรู้จากที่อยู่ค่ายใหญ่ ก็มีรุ่นพี่ในนั้นสอนว่าผมควรจะเขียนเพลงแบบนี้นะ ท่อนฮุกจะเป็นแบบนี้หรือเปล่าถ้าอยากจะให้คนฟังเพิ่มขึ้น แตกต่างจากตอน underground มาก จนตอนนี้จะเรียกว่าเป็น hip-pop เลยก็ได้ (หัวเราะ) ซึ่งผมก็ชอบนะ แต่ผมก็มีไอเดียตั้งแต่เด็กว่าอยากทำแบบ ZiggaRice ตอนนี้ เป็น neo-soul, hiphop เป็นแบบ J Dilla ไวบ์นั้น ส่วนตอน ZiggaRice ก็ไม่เหมือนกับตอนที่แรกเลย คือผมได้เรียนรู้การเขียนเพลงมากขึ้น ศึกษาให้มันลึกมากขึ้นและทำให้ใกล้กับเขามากขึ้น
อีกคนที่ต้องพูดถึงคือ Jayson Creer เขาคือเจ้าของเสียงร้องเพราะ ๆ ในหลายเพลงของ ZiggaRice
วอย: มันไม่ใช่มนุษย์ปกติ เรารู้จักกันตอนทำ Limousine ถ้าผมจำไม่ผิด พี่ใหญ่ Monotone แนะนำมา ตอนทำอัลบั้มก็หานักร้องใหม่ ๆ มาร่วมงานอยู่ ตอนแรกฟังเสียงนึกว่าต้องหล่อแน่ ๆ ฝรั่งแน่ (หัวเราะ) แต่เขาเก่งมาก
หมี: เขาเป็นคนที่ร้องเพลงเก่งมาก ผมได้ความรู้จากเขาเยอะมาก เขาสอนผมร้องเพลง ใช้ลม ผมเป็นแฟนเพลงวอยกับเจสันมาก่อนที่จะรู้จักกัน แล้วผมคิดว่าวันนึงถ้ามีโอกาส ผมจะต้องร้องเพลงกับเขาให้ได้ ซึ่งวอยก็จัดการติดต่อให้เขามาร่วมงานกับเรา
จะมีโอกาสกลับไปทำแบบดิบ ๆ underground ที่เคยทำอีกไหม
หมี: อาจจะไม่ได้ gangster ขนาดนั้น แต่มีความดิบ ความ negative ใส่ลงไปใน rhyme บ้าง เล่าเรื่องอะไรหนัก ๆ แต่ไม่ได้แย่ก็น่าจะมีบ้าง ในยุคปัจจุบันฮิปฮอปก็มีสิ่งที่เรียกว่าแทร็ป ซึ่งเวลาผมกับวอยทำแทร็ปก็อยากใส่ความ aggressive เข้าไป มันเหมือนเป็นไดอารี่ที่เราอยากเขียน คือเราก็ไม่ได้แฮปปี้ทุกวัน ก็จะเลือกเรื่องที่อยากร้องบนบีตแทร็ปบ้าง หรือ old school ที่ฟังดูอึกทึกบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำตลอด เป็นช่วงอารมณ์มากกว่า
ก่อนหน้านี้ทำ old school มาเยอะ แล้วพอเปลี่ยนมาทำแทร็ปยากไหม
วอย: ยากนะ สัดส่วนมันไม่เหมือนกัน
หมี: ยากครับ ผมยอมรับว่าฝึกร้องแทร็ปประมาณหนึ่งปีเต็มกับการใช้ autotune ให้ถูกวิธี การทำโทน autotune หรือเวลาเราอยู่ในห้องอัดแล้วพวกเราจะทำยังไงให้มันออกมาเพราะ เพราะ autotune มันเหมือน instrument อันนึง เหมือนเราลีดคีย์บอร์ด ถ้าเราร้องไม่ดีมันก็จะไม่ดี ซึ่งมันทำยากมาก เพราะผมร้อง old school แบบ New Jack Swing หรือสัดส่วนแบบฮิปฮอปแจ๊ส มันก็จะแตกต่าง คิดไม่เหมือนกันเลยสองอันนี้ เหมือนเริ่มใหม่ แต่ผมชอบ มันสนุกดี ท้าทายดี สัดส่วนแทร็ปจะค่อนข้างล็อก แล้วมันต้องร้องให้ตรง จริง ๆ มันไม่ได้ฟิกซ์ว่าต้องร้องให้ตรงขนาดนั้น มันอยู่ในการทำโทนที่จะร้องมากกว่า เพราะ autotune ถ้าเราร้องไม่ดีมันจะน่ารำคาญ (หัวเราะ) แต่ถ้าทำโทนดี ๆ มันจะเพราะ เราจะรู้สึกว่ามันคือเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่มีเสียงเราเข้าไปแปะ
มีทริคไหมว่าทำยังไงมันถึงจะออกมาดี
หมี: ผมไม่รู้ว่าใช้ถูกวิธีขนาดนั้นไหม แต่ผมอาศัยฟังจากฝรั่ง เขาออกเสียงยังไง แร็ปเป็นยังไง แล้วมาลองใส่กับ autotune ร้องเปล่า ๆ เหมือนคนบ้า ร้องทั้งวันจนรู้ว่าออกเสียงแบบนี้ เวลาโดน autotune แล้วมันจะออกมาเป็นแบบนี้ ก็เลยเอามาใช้ใน rhyme ที่เราเขียน
กังวลไหมว่าแฟนเพลงของ Limousine และ ZiggaRice จะเหวอตอนเราเปลี่ยนแนว
หมี: เรียกว่าตอนที่เริ่มทำแทร็ป ผมก็ศึกษาแทร็ปมาประมาณนึง ก็ทำให้เต็มที่ ไม่ถึงกับกังวล มันสนุก
วอย: เหมือนเราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ มากกว่า
ทำไมสนใจแทร็ป มันมีเสน่ห์ยังไง
หมี: มันมาจากความรู้สึกที่ผมได้ฟังเพลงแทร็ปแล้วผมชอบ ผมไม่แอนตี้ ฮิปฮอปมัน hybrid เข้าสู่สิ่งใหม่มาก่อน ก่อนจะมาเป็น old school มันก็เป็นร้องกับบีตฟังก์มาก่อน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นฮิปฮอปที่สมบูรณ์ใน 90s มาเป็น dirty south เป็นอะไรก็แล้วแต่ ผมว่ามันแปลกใหม่ ถ้าเป็นอะไรที่เราไม่เคยทำแล้วลองดู ผมว่ามันก็เป็นการให้อะไรตัวเอง ว่าเราไม่ได้อยู่แนวใดแนวนึง ไม่ได้ยึดติด สนุกดี
ตอนเข้าแคมป์ของ Def Jam เป็นยังไงบ้าง
หมี: เหมือนพี่เวย์ Daboyway เรียกโปรดิวเซอร์เข้าไป แล้วแยก section ว่าใครอยากทำ old school ใครอยากทำแทร็ป แล้วเรียกแร็ปเปอร์ คนเขียนเพลงหลาย ๆ คนมาอยู่ด้วยกัน แล้วใครอยากทำแนวไหนก็ไปหาโปรดิวเซอร์คนนั้น (วอย: เราก็เปลี่ยนห้องไปเรื่อย ๆ) มันสนุกมาก เพราะเรามี 4-5 สตูดิโอตลอดเวลา บางทีทำสตูดิโอนี้อยู่ อีกแปปนึงก็ย้ายไปทำตรงนี้ ทุกคนที่เป็นโปรดิวเซอร์เขาจะมีแนวของตัวเอง เราอยากไปแนวไหนก็เดินเข้าไปเลย หรือถ้าเราอยากให้แร็ปเปอร์คนไหนมาร่วมร้องกับเรา ก็ไปเรียกเขามาแจมได้เลย สมมติ NINO นั่งทำบีตอยู่ เราก็เข้าไปขอมาทำได้ไหม แล้วก็เรียกคนนี้มาอัดร้องก่อน อีกคนก็เข้าไปร้องต่อ ก็เสร็จแล้ว สลับห้องอัดไปเรื่อย ๆ หรือถ้าโปรดิวเซอร์อยากได้เราในเพลงนั้น เขาก็จะมาเรียกเรา
ตอนเขียน แมงเม่า มีไอเดียยังไงบ้าง
วอย: มันก็เป็นแทร็ปในแบบเรา
หมี: เล่าถึงเวลาเรามีอะไรเข้ามาหาเราเยอะ ๆ มาอยู่ตรงหน้าเรามาทำให้เรารำคาญ ไปข้างหน้าไม่ได้ ก็จะคิดว่า แมงเม่าป่าววะ มากวน ปีกติดหน้าเต็มไปหมด เราก็แค่ปัดแมงออกไป แล้วก็ไปในทางที่เราต้องการ
ทำไมต้อง Eskiimo
หมี: เขาก็ไปอยู่ในค่ายกับเรา แล้วเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายที่ผมเขียนเพลงไม่ไหวแล้ว เขียนเพลงมา 5 วัน สมองผมไหม้แล้ว ตอนนั้นตี 4 แล้วนีโน่บอกว่า พี่อะ พี่ต้องร้อง ต้องแทร็ปบ้าง ผมก็แบบ ได้ แล้วใครจะร้องฮุกอะ นีโน่บอกต้อง Eskiimo แล้วแหละ แล้วเราก็นั่งอยู่ในนั้นสามคน ก็เขียนเลย อัดเลย แล้วผมรู้สึกว่าผมจะเขียนเพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายแล้ว ผมไม่ไหวแล้ว เพราะก่อนหน้านี้เขียนไป 8-9 เพลงละ แล้วแคมป์ใกล้จบละ นั่นเป็นเพลงสุดท้าย ก็ไม่คิดว่าจะได้ปล่อยเป็นซิงเกิ้ลที่สองต่อจาก โคตรมา ด้วยซ้ำ คือทุกเพลงตั้งใจทำหมด แต่อาจจะล้าหน่อย เพราะเขียนเยอะ ไม่ไหวแล้ว 9 เพลงนี้อาจจะไม่ได้ใช้หมด บางเพลงเขียนไปแค่ verse เดียว เพราะบางทีผมกับวอยไม่ได้อยู่พร้อมกัน บางทีผมอยู่กับนีโน่ เขาอาจจะอยู่กับพี่เจ มณฑล ก็แยกกันไป
พอปล่อยเพลงออกมาแล้วฟีดแบ็กเป็นยังไง
หมี: บางคนบอกว่า ZiggaRice รั่ว แต่จริง ๆ ผมว่ามันสนุกดีออก ก็รั่วแหละ แต่ผมอยากให้มันเป็นแบบนั้น
วอย: มันเป็น experiment มากกว่า
หมี: มีคนบอกว่าดีใจที่เห็น ZiggaRice มาทำเพลงกับเด็กยุคใหม่ แล้วก็ทำอะไรที่ไม่เคยทำ เขาก็ชอบกันครับ
จะออกเป็น EP หรืออัลบั้มไหม
วอย: เพลงที่ทำที่แคมป์น่าจะอยู่ใน Def Jam compilation หมดเลย
หมี: ถ้าอัลบั้มของ ZiggyRice เราแยกทำออกมาเลย กำลังทำอยู่ครับ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมบีตให้ครบ แล้วก็เขียนฮุกบางเพลงอยู่ครับ
วอย: น่าจะได้ฟังปีนี้
จริง ๆ หมีก็ได้ทำงานกับแร็ปเปอร์รุ่นใหม่เยอะ
หมี: ผมเป็น ghost writer ครับ คนนึงที่ได้ทำงานด้วยก็ Gena Desouza ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ผมเขียนให้ ก็สนุกดีครับ เราสองคนก็สนิทกับน้องเขาอยู่แล้ว ก็ดีครับ เขาเห็นผมกับวอยแร็ป แต่จริง ๆ เขาเก่งด้านร้อง แล้วเขาอยากแร็ปบ้าง ผมก็บอกให้เขาไปทำการบ้าน เขาก็ทำได้ แล้วสุดท้ายเขาก็แร็ปเป็น ก็สนุกที่ได้ทำงานกับน้องเขา เขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อายุห่างกับผมมาก ก็ไม่คิดว่าจะจูนกันติด แต่สุดท้ายเรา hangout กันได้เหมือนเพื่อนเลย การทำงานกับเขาก็ไม่ได้อึดอัดอะไร สนุกมากกว่า
คิดว่าใครที่ ‘โคตรมา’ ในยุคนี้
หมี: เด็กยุคใหม่ที่ทำทั้งแทร็ป ทั้ง old school มีเยอะมากที่ผมชอบ เก่งมาก Pattaya Flow, 1MILL, Artrilla มีน้อง ๆ หลายคนที่ทำเพลงเก่งมาก จนผมทึ่งว่าเด็กอายุ 15-16 ทำได้ขนาดนี้แล้ว ทำบีตเหมือนฝรั่งเลย ผมเจอ 1MILL ตอนเขาอายุ 13 ผมฟังเพลงเขาครั้งแรกนึกว่าเขามาจาก Atlanta เป็น gangster สุด ๆ แต่พอเห็นหน้าก็ตกใจว่านี่ 1MILL หรอเนี่ย ก็ทำให้ผมยอมรับฝีมือของเด็กรุ่นนี้เลยครับ ตอนผม 16 ยังทำเพลง ทำบีตไม่เป็นเลย แต่เดี๋ยวนี้เขา mastering, mixing กันได้แล้ว เด็กฮิปฮอปยุคนี้เก่ง
ตอนเล่นสด ชอบเล่นแบบ underground กลุ่มเล็ก ๆ หรือเล่นงานใหญ่ ๆ มากกว่า
วอย: ส่วนตัวผมชอบแบบ underground นะ มันใกล้ชิดกันดี
หมี: ผมชอบหมดไม่ว่าจะออกมาแบบไหน อยู่ที่ว่าคนที่มาฟังเราวันนั้น ถ้าเป็นเด็กที่ฟังเราจริง ๆ แล้วเก็ตเราจริง ๆ ผมจะเอนเตอร์เทนเขาในแบบวัยรุ่นหน่อย หรืออย่างถ้าไปเล่น Wonderfruit คนเขาไม่รู้จักเพลงเราเลย หรือคนที่มาดูส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง แต่เขาเอนจอยกับเรา เราก็ทำหน้าที่ MC หรือแร็ปเปอร์ที่ดีที่สุดในตอนนั้นก็พอแล้ว มันก็ต่างกันอยู่นิดหน่อย
มีความเห็นยังไงกับ mumble rap หลายคนแสดงความเห็นว่าร้องอะไร ฟังไม่รู้เรื่อง
หมี: ผมกลับมาความเห็นว่า mumble rap ร้องให้เพราะได้ มันไม่ง่าย เหมือนที่เราต้องเขียน rhyme old school ให้ฟังดูคูล การจะร้อง mumble ให้คูลมันก็ยากด้วย ผมไม่มองว่า mumble rap เป็นสไตล์มากกว่า ถ้าคุณชอบที่จะฟังแบบนั้น อะไรที่มันเบลอ ๆ แล้วเมโลดี้มันวิ่ง ๆ ฟังแล้วเพราะมาก คุณก็ไปแบบนั้น ถ้าคุณอยากฟังอะไรชัด ๆ แล้วรู้สึกถึงความ 90s ก็กลับไปฟัง old school อยู่ที่ความชอบครับ
ตอนนั้นก็มีอีกกรณีที่เขาเถียงกันว่าแร็ปรัก ๆ มันไม่ real ตอนนั้นวอยเลยทำ เพลงรัก ออกมาเลย
วอย: ผมว่ามันเป็นแค่หัวข้อนึงในสิ่งที่เราจะพูดไป เราสามารถพูดเรื่องความรัก ชีวิต พ่อแม่ ครอบครัว หรือเรื่องความรักก็แตกไปอีกหลายประเด็น มันแค่เรื่องนึงที่เราอยากเล่าออกไป
หมี: มันเป็นที่ attitude ของคนมากกว่าที่เขาจะมองว่าเพลงรักมันไม่ real เหมือนคนที่ชอบ old school มาก ๆ แล้วไม่เปิดใจรับ บอกว่าแทร็ปไม่เรียล คนที่ฟังเพลงแทร็ปแต่ไม่ชอบ old school ก็ไปมองว่าเขาน่าเบื่อ มันอยู่ที่บุคคลมากกว่าครับ ไม่สามารถบอกได้ตายตัวขนาดนั้น
งั้น real rap คืออะไร
วอย: อันนี้ตอบยาก จริง ๆ ผมเชื่อว่ามันมีคำจำกัดความของมันแหละ
หมี: มัน real เหมือนกันหมดแหละ อยู่ที่ว่ามัน real แบบที่เขาอยากให้มันเป็นหรือเปล่า มันบอกไม่ได้ว่าเพลงแทร็ปไม่ real หรือ old school มัน real กว่าแนวอื่น มันก็ real ในแบบของมัน
มองเทรนด์ฮิปฮอปในอนาคตว่าจะเป็นแบบไหน
หมี: ผมว่าแทร็ปก็น่าจะยังอยู่ แต่ก็มีแนวใหม่มาอย่าง Drill UK ไม่ได้หนีจากแทร็ปมาก แต่มันน่าจะมี hybrid ไปเรื่อย ๆ แต่กลองน่าจะมาจาก rhythm 808 ที่อยู่ในแทร็ป ผมว่าอันนี้จะอยู่นาน สัดส่วนดนตรีข้างในอาจจะเปลี่ยนไป เพราะดนตรีแบบนี้ ตอนเมื่อไม่กี่ปีผมจำได้ว่าเป็น dubstep ที่ใช้ 808 พอแทร็ปก็ใช้ แล้วผมว่าอันต่อไปก็น่าจะใช้ 808 อยู่ ซึ่งจริง ๆ old school เด็กยุคใหม่อย่าง Kota เขาก็ใช้ 808 เหมือนกันนะ แต่สัดส่วนมันเป็น old school ผมว่ามัน hybrid ไปได้เรื่อย ๆ แต่ผมก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ
รู้สึกยังไงที่ตอนนี้อะไรเอะอะก็เป็นแร็ปไปหมด ทั้งโฆษณา รายการทีวีต่าง ๆ
หมี: ก็ดีนะครับ สมัยผมเด็ก ๆ มันไม่มีแบบนี้
วอย: ถ้ามองแบบ positive มันก็ดีกับ culture นะ เพราะมันเป็นช่องทางที่คนหมู่มากได้เห็น มันเป็นแค่หน้าประตูให้คนได้ไปรู้จักฮิปฮอปมากกว่า ถ้าเกิดชอบ อาจจะไหลไปฟังอย่างอื่นด้วย
หมี: คนหันมาฟังฮิปฮอปมากขึ้นโดยที่เขาไม่ได้ฟีลกับฮิปฮอปมาก แต่เขาฟังเพลงนั้นแล้วเขาอินกันเพลง ไม่ต้องบอกว่าเฮ้ย เราฮิปฮอปนะ แค่นั้นก็โอเคมากแล้ว
การมาถึงของ streaming ทำให้ community ตาย คนไม่ค่อยออกมาเจอกัน แลกเปลี่ยนเพลงกันแบบเมื่อก่อนแล้ว คิดว่าการที่ขาด community ส่งผลยังไงกับวงการ
วอย: จริงนะที่เดี๋ยวนี้ community แบบนั้นมันหายไป เพราะทุกอย่างมันอยู่ออนไลน์ แล้วมันเร็วไปหมด เพลงเมื่อวานกลายเป็นเพลงเก่าแล้ว ผมเลยรู้สึกว่าคนไม่ได้มีโอกาสอยู่กับเพลงนั้น ๆ หรือได้ไปเจอคนที่ชอบเหมือนกัน ได้คุยกัน เดี๋ยวนี้มันเป็นฟังผ่าน ๆ ไปฟังเพลงใหม่แล้ว เมื่อก่อน community มันเกิดจากการที่คนชอบอะไรเหมือนกัน
หมี: เราไป CD Warehouse ผมก็นั่งฟังอยู่อย่างนั้น นั่งฟังฮิปฮอปไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้มันไม่มีแบบนั้นแล้วพอทุกอย่างอยู่ในอากาศไปหมด
วอย: เออ มันก็ไม่มีแบบนั้นแล้ว เราไม่มีเวลามานั่งพูดว่าชอบศิลปินคนนั้นคนนี้ ผมว่ามันก็มีข้อดีและข้อเสียของมัน
หมี: เพราะทุกคนจะเจอแนวที่ตัวเองชอบเร็วมาก ๆ แต่ผมว่ามันก็ดีนะครับ สมมติเด็ก ๆ ที่เขาทำเพลงแล้วเขาเจอตัวเองเร็ว เขาก็จะมีคนสอนเขาทำเพลงในอินเทอร์เน็ต มันไวขึ้น เขาก็จะได้รู้ว่าเขาชอบฟังเพลงแบบไหน ชอบทำเพลงแบบไหน
ไม่มีหรอกเพลงที่ดี ไม่ดี มีแต่เพลงที่ชอบ กับไม่ชอบ จริงไหม
หมี: ผมว่าก็จริงนะ คนเราชอบเพลงไม่เหมือนกัน เพราะเราโดนซึมซับมากับเพลงที่ต่างกัน อย่างผมจะชอบเพลง 80s มาก ๆ เพราะในรถโรงเรียนผม เวลานั่งไปโรงเรียนเขาจะเปิด Michael Jackson เปิด Bee Gees หรือ Motown ไปเลย เราซึมซับมาอาจจะทำให้เป็นสิ่งที่หนึ่งที่ผมอินกับฮิปฮอป มันอาจจะมีอิทธิพลบ้างนะ เพราะทุกวันนี้ผมยังจำเพลงที่เล่นบนรถโรงเรียนได้อยู่เลย ติดอยู่ในหัวแบบต้องมีวันนึงในอาทิตย์นึงที่ผมร้องเพลงนั้นขึ้นมาแต่ละคนโตมาฟังเพลงมาไม่เหมือนกันแต่เด็ก เทสต์ไม่เหมือนกัน ดังนั้นมันบอกไม่ได้ว่าเพลงนั้นดีไม่ดี
วอย: มันอยู่ที่จุดประสงค์ของเพลงนั้น ๆ ด้วยว่าทำมาเพื่ออะไร ถ้าทำมาเพื่อให้เป็นเพลงสนุก มีคนฟัง มีคนเต้น มันก็ดี อันนี้ถูกจุดประสงค์ของมันแล้ว แล้วก็อยู่ที่ความชอบด้วย ดนตรีเป็นเรื่องของอารมณ์ บางทีก็พูดยากว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี อยู่ที่ฟีลของเราตอนนั้น ๆ มากกว่า
ในขณะที่ทุกคนทำเพลงเองได้หมดแล้ว มันยังมีความจำเป็นไหมที่ทุกคนต้องมีความเข้าใจในคุณภาพของการอัดเพลงด้วย
หมี: ผมว่าก็จำเป็นนะครับ ถึงเขาจะมีเครื่องมือ มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวที่เขาใช้นั่งทำเพลง เขานั่งเขียนเพลงในโปรแกรม แต่เขาก็ต้องเข้าใจการอะเรนจ์เพลงประมาณนึง แต่ก็อาจจะไม่จำเป็นทั้งหมดเพราะผมรู้จัก EAZY ตอนเด็ก ๆ ผมเรียนดุริยางค์มา เล่นวงแจ๊ส แล้วก็จะเข้าใจโน้ตเกือบหมด แล้วผมจะเล่นตรงมาโดยตลอด แต่เขาไม่รู้ทฤษฎีดนตรี กลับสามารถเขียนเพลงล้ำ ๆ ได้โดยที่เขาไม่เข้าใจหลักการ ผมว่ามันอยู่ที่หูคนด้วย ขนาดผมเข้าใจทฤษฎีดนตรี ผมยังไม่สามารถเขียนเพลงอย่างที่จินตนาการไว้ได้ ขณะที่ EAZY มาบอกว่าต้องทำแบบนี้ ๆ มันก็กึ่งจำเป็นและไม่จำเป็น
วอยเคยเป็น music director ในร้านอาหาร อยากรู้ว่าจริงไหมที่การเลือกเพลงไปเปิดในร้าน มีผลต่อพฤติกรรมการกินดื่มของแขก
วอย: จริงครับ ตอนผมทำคือมันจะต้องไล่ playlist เป็นเวลา อย่างหัวค่ำหน่อยคนจะเพิ่งมาทานอาหารอะไรมากกว่า คือผมว่ามันก็ตามปกติ เวลายิ่งดึกเพลงก็ยิ่งเร้า พอมันเร้า มันสนุก เลือดมันสูบฉีด ใจเต้นเร็ว อยากดื่ม ความดังก็สำคัญ พอเปิดดังคนก็ตะโกนคุยกัน ก็หิวน้ำ เอ้า สั่งเหล้าสิ มันเป็นอย่างนั้น (หมี: จิตวิทยาสุด ๆ)
แล้วตอนนี้หลัก ๆ ทำอะไรกัน
หมี: ผมเป็นคนเขียนเพลงเลยครับ แล้วก็มีเขียนเพลงโฆษณา โปรดิวซ์คนอื่นบ้าง ส่วนใหญ่ผมจะอยู่เบื้องหลังซะเยอะ เบื้องหน้ามี ZiggaRice อย่างเดียวเลย
วอย: ผมก็ทำโปรดักชันบ้าง ทำวิดิโอ mv อะไรพวกนี้
ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะเริ่มทำเพลง
หมี: ตอนนี้ก็มีวิธีการทำเพลงมากมายให้ดูครับ ก็เลือกแนวที่ตัวเองรู้สึกว่าเราชอบ แล้วก็พยายามทำอะไรที่เราจินตนาการไว้ในหัว หรือว่าเราอยากได้ยินเสียงนั้น ๆ แล้วก็ทำออกมาให้เป็นแบบนั้น ทำไปเรื่อย ๆ ถ้าชอบ ผมว่าประสบความสำเร็จแน่นอนครับ ตอนนี้เด็ก ๆ ทำเพลงดีเยอะมาก มันไม่ยากขนาดนั้นแล้ว ทุกอย่างแทบจะอยู่ในอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ว่าเราจะไปเปิดดูหรือเปล่า
วอย: สู้ ๆ ครับ
อ่านต่อ
DaBoyWay ศิลปินไทยคนแรกแห่ง Def Jam Recordings สู้เพื่อฝันจนไม่รู้ว่าวันนี้ ‘วันอะไร’ แล้ว