Yellow Fang needs help! ปาร์ตี้ครั้งแรกของพวกเธอกำลังรอความช่วยเหลือจากคุณ!
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
เผื่อว่าใครยังไม่รู้ ตอนนี้ Yellow Fang กำลังจะจัดปาร์ตี้ของพวกเธอเองโดยใช้ชื่อว่า ‘Club Yellow Fang: A Curated Night’ ซึ่งงานนี้จะมีศิลปินมากหน้าหลายตาตบเท้าเข้ามาเล่นดนตรีให้พวกเราดูกันสด ๆ และอาจจะมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายเกิดขึ้นที่งานนี้ มั่นใจได้ว่าปาร์ตี้นี้พีคแน่นอนเพราะสาว ๆ Yellow Fang เป็นแม่งานจัดเองกับมือ ตอนนี้พวกเธอก็กำลังเตรียมเสิร์ฟความสนุกให้กับพวกเราอยู่แหละ เพียงแต่งานนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ายอดสนับสนุนยังไม่ถึงเป้า เหลือเวลาอีกไม่กี่วันเท่านั้นที่จะช่วยระดมเงินเพื่อสานฝันของพวกเธอให้เป็นจริง สำหรับคนที่ยังลังเลที่จะช่วยเพราะยังไม่เห็นงานเป็นรูปเป็นร่าง หรือยังรู้รายละเอียดไม่มากพอ Fungjaizine เลยอาสามาถามทุกข้อสงสัยกับทั้งสามคน และเอาคำตอบจากปากพวกเธอมาให้ได้อ่านแบบเคลียร์ ๆ กันไปเลย
ทำไมถึงจัดปาร์ตี้นี้ขึ้นมา
แป๋ง: เขาก็มาถามเราว่ามีโปรเจกต์อะไรที่อยากทำไหม ส่วนไอเดียมันคือให้ทำโปรเจกต์ที่ไม่เคยทำหรือ dream project ในนั้นก็จะมี activity แปลก ๆ ที่เราไม่เคยได้ทำกับแฟนเพลง
จะต่างกับคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งที่ผ่านมาหรือเปล่า
แป๋ง: จริง ๆ อันนั้นมันก็ไม่ได้มีไอเดียอะไร อันนี้เราก็คิดกันอยู่แป๊บนึงแหละว่าจะทำอะไร อยากให้มีอะไรเกิดขึ้น ก็คิดว่าเหมือนเป็นโปรเจกต์พิเศษ คิดหลายอย่างนะ แต่ไม่เคยจัดคอนเสิร์ตเองเลย แบบที่ชวนคนอื่น ๆ มาเล่น
รู้สึกว่ายากไหมกับการเริ่มโปรเจกต์นี้
แป๋ง: ก็ยากค่ะ คือ crowdfunding มันใหม่มาก จนถึงวันนี้ก็คิดว่าหลายคนยังไม่ค่อยเก็ต เหมือนไม่รู้ขั้นตอนว่างานนี้มีจริงหรือเปล่า เพราะเจอใครเขาก็ถามตลอด
แล้ว crowdfunding คืออะไร
แพรวา: crowdfunding คือการระดมทุน คือเป้าหมายนั้นต้องสำเร็จก่อนถึงจะเอาเงินตรงนั้นไปทำให้งานมันเกิดขึ้น
แป๋ง: เหมือนคล้าย ๆ ว่า ถ้าคุณอยากให้มันเกิดขึ้น คุณก็มาช่วยซัพพอร์ต ซึ่งสามารถช่วยได้ตั้งแต่ไม่กี่สิบบาทไปจนถึงหลักหมื่นก็มี ช่วยเท่าไหร่ก็ได้ จริง ๆ ไอเดียของมันคือ เรามีทาร์เก็ตให้คนมาถึงเท่านี้ ช่วยเราเท่านี้ งานก็จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง ๆ ซึ่งงานนี้คนที่สนับสนุนก็จะได้ reward ที่ต่างกันไปตามเรทที่ซัพพอร์ตเข้ามา ก็มีทั้งเสื้อยืดเรา ซีดี ไม้กลองกากเพชร ปิ๊ก ไปร้องคาราโอเกะกับเรา คือมันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำ ถ้าอยู่ดี ๆ มีใครอยากทำขึ้นมาก็ไปเที่ยวกับเราได้
แพรวา: อย่างบางคนอาจจะไม่มีเวลามางาน แต่ก็ยังซัพพอร์ตงานได้ค่ะ แล้วก็จะได้ของตอบแทน เป็นกิจกรรมก็มี อาจจะเหมาวงเราไปเล่น ซึ่งก็มีน้องคนนึงที่เป็นแฟนเพลงบอกว่ากำลังเก็บตังค์อยู่ ให้คนทั้งบริษัทช่วยจ่ายตังค์ไปเล่น นั่นเขาก็ระดมทุนเหมือนกัน คือของตอบแทนจะต่างกันไป หลักสิบเลยก็มี ก็ส่งการ์ดอวยพรวันเกิดอะไรแบบนี้
Asiola พิเศษยังไง
แพรวา: มันก็เป็นอะไรใหม่ ๆ นะคะ เป็นจุดเริ่มต้นที่ถ้าใครเข้าใจไอเดียมันก็น่าสนใจว่าบางอย่างมันยังไม่เคยมี ก็อยากจะซาวนด์เสียงก่อน มันมีเว็บของอเมริกาที่ชื่อ Kickstarter ที่เขาทำมานานแล้ว มันจะออกไปทางโปรเจกต์หรือสิ่งประดิษฐ์ค่ะ ซึ่งมันเวิร์กมาก
แป๋ง: ในนั้นก็มีศิลปินหลาย ๆ คนที่หาทุนกันเอง ไม่มีใครที่มีค่าย มันมีหลาย ๆ อย่าง ไม่ได้เกี่ยวกับดนตรีอย่างเดียว มีศิลปะ การประดิษฐ์ไฟ เหมือนใครมีไอเดียที่อยากทำให้มันเกิดขึ้นก็ลงทุนกับมัน อย่างใน Kickstarter คนที่มาลงทุนก็อาจจะได้กลับคืนแบบเป็นหุ้นของโปรเจกต์นั้น ๆ เลยก็มี มันมีหลาย ๆ ระบบซัพพอร์ตโปรเจกต์ค่ะ อย่าง Asiola มันใหม่สำหรับในไทยแหละ จริง ๆ e-commerce ในไทยเพิ่งเข้าที่เข้าทางเมื่อประมาณ 2 – 3 ปีนี้เอง ก่อนหน้านี้มันเป็นระบบอีกแบบนึง เหมือนแค่มาโพสต์ในเว็บบอร์ด แต่ตอนนี้มัน proper ขึ้น แล้วคนก็รู้สึกว่าใช้งานง่ายขึ้น เชื่อใจกับระบบธุรกรรมที่ปลอดภัยมากขึ้น หลาย ๆ อย่างมันกำลังไปได้ดีแหละ เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ยังไม่ค่อยยุ่งกับ e-commerce เท่าไหร่ ไม่ค่อยเชื่อใจ บางคนก็คล่องตัวมาก เหมือนทั้งระบบกับ lifestyle ของคนมันก็กำลังค่อย ๆ ปรับไป อาจจะใช้เวลานิดนึง ตอนนี้ถ้าเข้าไปดูจะเห็นว่ามันมีโปรเจกต์เยอะมาก แล้วหลาย ๆ คนก็ทำสำเร็จไปบ้างแล้ว อย่างคนแรกที่ success ในเวลาไม่ถึงเดือนก็เป็น Luke Satoru คนญี่ปุ่นที่ทำกราฟฟิตี้ Rap Boot Camp ของ Thaitanium ก็ทำได้แล้ว แล้วก็มี Alex Face ที่เป็นศิลปิน มันก็เป็น platform ของ creative ทุก ๆ สาย ไม่ว่าจะเป็นอาร์ต เพลง แฟชั่น อาหารก็มี ใครที่มีไอเดียก็เข้าไปคุยได้ ถ้ามันดีก็มีคนซัพพอร์ต แต่ก็ให้เวลาคนไทยนิดนึงในการทำความเข้าใจระบบ บางคนก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นไหม ไม่เอาอะ รอคนอื่นทำก่อน คนไทยอาจจะอยากรอเสียงส่วนใหญ่นิดนึง leadership น้อย ยังไม่ค่อยกล้าว่า อะ ชั้นเอาแล้ว ลุยก่อน ใครชอบก็ลองไปสนับสนุน มีหลายอย่าง
แอบบอกสถานที่จัดได้หรือเปล่า
แป๋ง: บอกได้แล้วแหละ ชื่อทองม้วน สตูดิโอค่ะ อยู่แถวโบ๊เบ๊
เห็นว่ามีให้โหวตแขกรับเชิญในแฟนเพจด้วย ตอนนี้ใครกำลังคะแนนนำ
แป๋ง: จริง ๆ เราไม่ได้มีแค่วงเดียวนะคะ ที่แพลนไว้มี 4 – 5 วงขึ้นไป แค่อยากรู้ว่าคนอยากดูวงอะไรบ้าง เห็นเฟซบุ๊กมีโพลก็ลองเล่นดู หนุกดีนะ ไอเดียของงานนี้เราอยากแชร์ด้วยว่าใครอยากให้อะไรเกิดขึ้นในงานนี้ ทุก ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นวงหรืออาหาร จะมีโพลเรื่อย ๆ แต่ขอคิดก่อน
แต่ตอนนี้โปรเจกต์นี้ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่
แป๋ง: ก็รู้สึกอย่างนั้นเพราะข้อมูลของงานอาจจะไม่ค่อยเยอะ จริง ๆ เราก็ลังเลนะว่าจะเอาใครมาดี ด้วยความที่เราไม่เคยทำโปรเจกต์ที่ท้าทายว่า คนจะจ่ายเงินซื้อบัตรตามเป้าที่เราตั้งไว้หรือเปล่า มันต้องมีความพยายามที่จะทำให้เราเกิดขึ้นพอสมควร ซึ่งเราก็คิดกันตลอด แต่ยังไม่แน่ใจที่จะประกาศเพราะคิดว่า จะมีตังค์พอไปชวนเขามาเล่นไหม คิดกลับไปกลับมา (หัวเราะ) แต่ถ้าใครเชื่อว่าเราจะหาอะไรที่ดี ๆ มาให้ก็จ่ายเลยค่ะ ไม่ต้องรอว่ามีใครบ้าง เชื่อว่าเราก็อยากจะเลือกอะไรให้คนที่มาแฮปปี้อยู่แล้วแหละ
คนส่วนใหญ่ก็กลัวนะเพราะมันไม่มีความแน่นอน ไม่ชอบเซอร์ไพรส์
แป๋ง: เป็นไปได้นะ คือเขาอาจจะขี้เกียจจะมาแบบ อะ จ่ายเงินมาแล้วพอถึงเวลาก็ไม่มีงานนี้ บางคนเขาก็จะคิดอย่างนั้น แต่ความจริงเงินที่ตั้งไว้มันแค่ล็อกวงเงินไว้เฉย ๆ คุณยังไม่ต้องจ่าย คืองานนี้มันมีหลายช่องทางในการจ่ายเงินมาก แต่ความเสี่ยงมันไม่มีอะไร ถ้าอยากให้จัดก็ยกมือเลยเพราะเราก็อยากรู้เหมือนกัน ไม่งั้นเราก็ไม่รู้
ตอนนี้มีคนซัพพอร์ตเรากี่คนแล้ว
แป๋ง: บัตรขายไปประมาณหลักสิบค่ะ คือไม่กระเตื้องเลย เราเคยจะมานั่งพิมพ์ว่าอยากบอกว่าถ้าไม่แสดงตัวงานก็ไม่เกิดนะ แล้วจริง ๆ เราขาย service ในงานนี้เยอะมาก แต่พอถามจากผู้จัดก็รู้มาว่าไม่ค่อยได้ขายเท่าไหร่
พิม: มีแต่คนมาถามว่าบัตรขายหน้างานมั้ย ซึ่งมันไม่ใช่ระบบนั้น ซึ่งถ้าอยากจะดูก็ต้องจ่ายด้วยบัตรเครดิตก่อน แล้วถ้าไม่ถึงยอดเราก็คืนเงินให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็คิดว่ามันคือการออมเงินอีกแบบนึงก็ได้ (หัวเราะ) อย่างถ้าอีกสองเดือนมันยังไม่เกิดขึ้นเราก็มีเงินก้อนนึงละ ดีจัง
แพรวา: เนี่ย 9% เอง มีจำนวนผู้สนับสนุนที่ขึ้นอยู่ในเว็บตอนนี้ 47 คน เหลือเวลาอีก 23 วันจะไปทันได้ไง
พิม: ต้องบอกว่างานนี้มีหลายวงมากจริง ๆ เราไม่ใช่ headline ด้วยซ้ำ มันคือปาร์ตี้ที่เราเป็นคนจัดเฉย ๆ มันจะเป็นของที่เราชอบ ดนตรีที่เราชอบ ดีเจที่เราชอบ นิด ๆ หน่อย ๆ มีฉาย documentary ที่เราไปทัวร์ญี่ปุ่น
ทำไมถึงเอามาทำเป็น documentary
พิม: เก็บภาพมันไว้ก็ดีนะ เคยดูพวกวงเก่า ๆ เขามีบันทึกภาพเวลาไปทัวร์
แพรวา: มันก็เป็นโอกาสที่ดีของวงเล็ก ๆ ไม่มีค่าย ได้มีโอกาสไปเล่น เดินทางไปไกล ๆ คือเราไม่เคยมีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันแบบนั้น
พิม: น่าสนใจมากคือวงปกติที่ทำแบบนี้ที่เราเห็นก็จะเป็นชายล้วนใช่ไหม แมน ๆ มีกรุ๊ปปี้เดินตาม แต่ของเราจะเป็นแนวผู้หญิง สบายใจจะท่องเที่ยวกว่า เหมือนผู้หญิงไปเที่ยวแบบขำ ๆ
Yellow Fang ก็มีกรุ๊ปปี้นะ
พิม: มีแหละ แต่ไม่ใช่แนวที่มาเคาะประตูห้อง (หัวเราะ) สบายใจกว่า
แล้วเริ่มไปทัวร์ญี่ปุ่นได้ยังไง
แป๋ง: เริ่มมาจากที่เราอยากไปค่ะ ไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ) ก็คิดว่าอยากลองไปดู จริง ๆ เคยไปเล่นมาแล้ว 2 – 3 ครั้ง ก็มี จิโร่ เอ็นโด เป็น lighting designer เหมือนจิโร่เคยทำโปรเจกต์ที่ชื่อ Soi Music เหมือนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น เอาวงไทยไปเล่นที่นู่น เอาวงที่นู่นมาไทย ตอนนี้เขาก็ยังสนใจที่นี่อยู่ พยายามทำกิจกรรมกับเราตลอด ช่วยจัดหาโชว์ให้ คือระบบของญี่ปุ่นก็มีทั้งแบบเหมือนวงไปจัดเอง หรือไปจัดร่วมกับ live house เก็บบัตรเข้างาน หรือมันมีอีเวนต์ที่เราก็ไปเป็น line up คืองานเล่นที่นู่นมีเยอะมาก มี gigs ทุกวัน วันนึงก็มีเต็มเมืองไปหมด เหมือนมันเป็นวัฒนธรรมของเขาที่ว่าหลังเลิกงานก็ไปดูคอนเสิร์ต ไปงานเล็ก ๆ ดูวงใหม่ ๆ ที่นู่นมีวงที่เล่นเพลงของตัวเองเยอะมาก ๆ เหมือนการที่เขาได้ไปเล่น live ก็จะไปเล่นเพลงของตัวเองให้คนอื่นได้รู้จัก ให้คนได้เจอเขาก่อน แล้วก็ซื้อซีดี ซื้อ merchandise ของเขา ซึ่งมันจะต่างกับเมืองไทยที่คนจะมีโอกาสได้เล่นงานแบบนี้คุณต้องเป็นที่รู้จักก่อน กว่าคนจะจ้างไปเล่น หรือต้องไปเล่นคัฟเวอร์ก่อนเพื่อให้คนสนุกกับเพลงง่าย ๆ ไม่ต้องเล่นเพลงตัวเองเพราะเดี๋ยวคนจะไม่ฟัง ที่โน่นเขาไม่นิยมเล่นคัฟเวอร์กัน ถ้าเล่นก็จะเป็นพวกในร็อกผับ สไตล์ร้านนั่งพวกนั้นไปเลย ถ้าเป็น live house เขาจะแต่งเพลงมาโชว์ เราไปดูก็ได้เจอวงดี ๆ เยอะมาก หลากหลายแนว จุดเริ่มต้นมันคือด้วยทาร์เก็ตที่มันเปิดกว้าง เราก็มีโอกาสได้ไปเล่นหลายที่ ตอนนั้น ค่าย Flake Records ของญี่ปุ่นเขาทำทัวร์ขึ้นมาให้กับวงชื่อ Young Statues เป็นวงอเมริกัน แล้วใน line up ของทัวร์ก็มีชื่อวงญี่ปุ่น 3 – 4 วง ไปหลาย ๆ จังหวัด ก็เผอิญว่าตอนนั้นเราไปทำรายได้พอดีก็เลยได้ไปร่วมกับทัวร์นี้
กระแสตอบรับจากชาวญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง
แป๋ง: ก็โอเคค่ะ เราก็ได้ขายของ ขายเสื้อยืด ขายซีดี เหมือนการไปครั้งนี้ก็ได้ไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ คือเราก็ไม่เคยเล่นดนตรีติดต่อกันแบบวันเว้นวันขนาดนั้นมาก่อนในชีวิต (หัวเราะ)
แพรวา: เหมือนเล่นแล้วต้องย้ายเมือง ขับรถข้ามเมือง เช็กอินโรงแรม ซาวนด์เช็กทั้งวัน เล่น เหนื่อยมาก กลับมานอน ตื่นเช้า ย้าย เป็นอย่างนี้ทุกวัน นั่งรถเยอะกว่าอยู่บนพื้นดิน (หัวเราะ)
แป๋ง: คือเล่นเสร็จแล้วเขาพาไปเลี้ยงถึงเช้า (หัวเราะ) เหมือนไปทำงานจริง ๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่เล่นจริง ๆ ก็ 10 วัน ก็หนุกดี
ได้แฟน ๆ ที่โน่นเพิ่มบ้างไหม
แป๋ง: ได้นะคะ เหมือนรอบที่ไปครั้งที่ผ่านมามีคนมาทักด้วย ประหลาดมาก ไม่เคยเจอ ตอนนั้นอยู่ร้าน Disc Union กัน เขาเป็นพนักงานจัดของในร้าน ก็มาถามว่า วง Yellow Fang ใช่ไหม ก็ได้เจอคน แต่จริง ๆ ก็เป็นคนส่วนน้อยมาก คือเราได้แค่นั้นเราก็แฮปปี้แล้ว ถ้าให้ไปเดินถามคงไม่มีใครรู้จักหรอก แต่ว่าเราก็ได้เผยแพร่อะไรออกไปบ้าง ได้เอาซีดีไปขายที่ร้านโน้นร้านนี้ ได้เจอคนใหม่ ๆ เจอวงดนตรีใหม่ ๆ วงอื่น ๆ ก็ได้คุย ได้แลกเปลี่ยน ซึ่งเราจะได้ดู documentary อันนี้ในงานนี้กัน แต่ถ้างานไม่ได้จัดก็ไม่ได้ดู (หัวเราะ)
ตอนนี้ Yellow Fang อยู่ในจุดไหนของวงการดนตรีนอกกระแสบ้านเรา
แป๋ง: เริ่มแก่แล้วค่ะ (หัวเราะ) ยังไม่ทันไรเลย จริง ๆ เราเพิ่งเริ่มเข้าที่เข้าทางไม่นาน คือเราออกอัลบั้มเต็มมาได้ 2 ปี เพิ่งมีอัลบั้มเดียวด้วย จริง ๆ พวกเล่นคอนเสิร์ตที่ไปเล่นต่างจังหวัดเยอะ ๆ ก็เริ่มเมื่อปีที่แล้วเอง ก่อนหน้านี้ได้ไปไม่กี่ที่เอง
แพรวา: คือความรุ่นใหญ่ของวงอื่น ๆ เขายังมากกว่าเรานัก ชั่วโมงบินเรายังไม่ได้เยอะขนาดนั้น หรือว่าวงใหม่ ๆ ของแกรมมี่ตอนนี้เขาก็เล่นเลยหน้าเราไปเยอะแล้ว บางคนเขามีงานบ่อยและถี่มาก ในทีมก็มีหลายคน มีคนไปซาวนด์เช็คให้ไม่ต้องทำกันเอง เราก็ค่อย ๆ ค่ะ ทีมเราก็เล็ก ๆ ดูแลกันเอง ทำกันเอง เป็นแบบ DIY บ้าน ๆ (หัวเราะ) เราไม่เคยไปขายงานแบบที่เขาทำกัน คือรอคนที่สนใจเราติดต่อมา คือโอกาสที่ได้มานี่มาจากคนอื่นที่หยิบยื่นมาให้เรา เราไม่ได้ไปไขว่คว้าแสวงหา ก็เลยค่อย ๆ เดินไปเรื่อย ๆ ตามสเต็ป
แต่เวลามีคนชวนไปเล่นจะสนุกกว่านี่เพราะคนชอบวงเรา
แพรวา: ก็ดีค่ะ เวลาไปต่างจังหวัดเราก็ไม่ได้ไปบ่อย ๆ คนก็จะรอคอยมาก ภาคอีสาน ภาคเหนือจะตื่นเต้นมาก
แป๋ง: สนุกดีค่ะ เราว่ามันพิเศษกว่าตรงที่อีเวนต์ในกรุงเทพ ฯ มันเยอะ มันไม่ใช่ gigs อย่างเดียว มันเป็นพวกตลาดนัดอะไรก็ต้องมีเพลง งานแฟชั่นโชว์ก็ต้องมีวง มันเหมือนกับเล่นตามห้าง ตามข้างทาง หาดูได้บ่อยกว่าจนคนอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจมากขนาดนั้นแล้ว
แพรวา: แต่คนต่างจังหวัดนาน ๆ เราไปหรือเราไม่เคยไป ซึ่งอันนั้นมันเป็น gigs จริง ๆ คนระเบิดเลย บางทีจ่ายร้อยนึงมาดู อารมณ์ของคนที่มาดูก็ต่างกันแล้ว ถ้าดูในเมือง ในห้าง หรืออีเวนต์อะไรแบบนี้มันก็จะเป็นสไตล์นิ่ง ๆ หน่อย เขาก็อาจจะชอบเพลงเราแต่เขาไม่ได้ react อะไร (หัวเราะ)
แป๋ง: มันจะมีคนยืนอยู่ไกล ๆ เราก็เห็นแหละว่าคนนี้ตั้งใจดู ที่เหลือก็นั่ง ก็เข้าใจแหละว่ามันคนละ vibe คนละรูปแบบของงาน เหมือนงานเขาแค่อยากให้เราไปเล่นเป็น ambience เราก็เป็นแค่ ambience จริง ๆ อย่างน้อยให้มันไม่เงียบ มีเพลงบ้าง
แพรวา: ถ้างานไหนวัยรุ่นหน่อยก็จะมันขึ้นมาแล้ว จะมีความกล้าแสดงออก อยากจะร่วมสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่
ตั้งแต่เล่นมาชอบงานไหนบ้าง
แพรวา: ชอบหลายงานนะ ถ้าพูดถึงในประเทศก็จะชอบฝั่งอีสาน เพราะเป็นกันเองเหลือเกินและเต็มที่มาก แนบชิดสุด ๆ เลย ก็สนุก เดี๋ยวไปโคราช เขาดูอยากจะเข้ามาคุยกับเรามาก ๆ เลย
แป๋ง: คุย ขนาดตอนเล่นอยู่ยังจะคุย (หัวเราะ) ชวนคุยตลอดเวลา ก็น่ารักดี เพิ่งไปสกลนคร กับมหาสารคามก็สนุกดี นี่เดี๋ยวไปเล่นขอนแก่น
แพรวา: ไปต่างประเทศก็สนุกค่ะ เราก็ตื่นเต้นมาก แบบ อุ๊ยตาย คนไม่เข้าใจภาษา จะยังไง ฐานแฟนเป็นยังไง อย่างตอนเราไปอีสานเราก็รู้ว่าสนุกชัวร์ ยังไงคนก็ชอบเพลงเราเพราะดูจากคนที่มาซื้อแผ่นเราใช่ไหมคะ แต่ดูอย่างต่างประเทศงี้ ไม่มีฐานเลย ภาษาก็ไม่รู้ ก็มันดีไปอีกแบบ อย่างเราร้องภาษาไทย เขาก็เอาใจช่วย บางคนก็ชอบมาก ลงมาก็ชมใหญ่ สนุกค่ะ
วงต่างประเทศหลายวงที่มาเล่นไทยก็ชอบ Yellow Fang นะ ตอนไปสัมภาษณ์ก็พูดถึงวงนี้ตลอดเลย White Shoes & The Couples Company, Last Dinosaurs, Shane Palko
แป๋ง: อ๋อ เขารู้จักกับเราไง White Shoes น่ะ คนกันเอง แล้วอีกสองวงหลังนี่โม้รึเปล่า (หัวเราะ)
ตอนนี้ Yellow Fang เลยเน้นทัวร์ต่างจังหวัด
แป๋ง: จริง ๆ ตอนนี้ก็อยากทำเพลง แต่ยังไม่ได้ทำ (หัวเราะ) มีทำกับค่ายญี่ปุ่นเพลงนึง ทัวร์ก็ถ้าไปต่างจังหวัดก็อยากไป
แพรวา: ก้จะได้ไปเที่ยวด้วย ไม่ใช่อะไร (หัวเราะ)
แป๋ง: ก็แนวเดิม ไม่ได้หางานอะไร เหมือนถ้ามีก็ไป บางงานก็ไม่รับ แต่ถ้าต่างจังหวัดก็อยากไป
เพลงที่ทำที่ญี่ปุ่นจะออกเมื่อไหร่
แป๋ง: อันนี้ทำกับ Flake Records ที่เราไปทัวร์ด้วย
แพรวา: คนนี้ที่ช่ื่อคันจังเขาก็ไปทัวร์ด้วยกันที่ฮิโรชิม่า ที่ Stereo Records เขาเป็นร้านแผ่นเสียงแล้วก็เป็นค่ายเพลงด้วย เขาก็เป็น partner กับโชว์ที่ฮิโรชิม่า เขาก็สนใจวงเรา ก็เลยชวนให้เราทำเพลงมาหนึ่งเพลง แล้วเดี๋ยวเราทำแผ่นไวนิลให้
แป๋ง: มันเป็น Record Store Day ค่ะ วันที่ 16 เมษายน เขาก็ฉลองทั่วโลกเลย ก็จะมีศิลปินหลายคนที่มีแผ่นออกกับค่ายเขา เราก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็ออกแผ่นซิงเกิล มี 3 เพลง อัลบั้มนี้ co-produce กับจิโร่ค่ะ เผอิญว่าเราทำงานกับเขามานานมาก แล้วเขาก็ได้ฟังเดโม่ของเพลงเรามาเยอะมาก เรามีเดโม่เพลง Unreal เวอร์ชันที่จิโร่ชอบมาก เราไม่ได้เอามาออก คือเพลงนี้เราอัดหลายครั้งมาก เลยมีหลายมิกซ์ ซึ่งมิกซ์นึงที่จิโร่พูดตลอดว่าอยากให้เอามาออก เราเลยมามิกซ์ ทำใหม่นิดนึง แล้วก็มี ห่มผ้า ที่เป็นมิกซ์โบราณ เป็น first cut แรก ๆ ส่วนที่ไทยก็จะปล่อยเป็น reward ในงานปาร์ตี้ของเรา ก็ถ้าใครซื้อ VIP package ราคา 2,150 บาท ในนี้ก็จะได้แผ่นไวนิล 6” มีแค่ 100 แผ่น จริง ๆ ที่ผลิตเรามี 400 แผ่น เก็บไว้ขายที่นู่น 200 แผ่น เอามาทำแคมเปญ Asiola 100 นึง แล้วก็จะขายอีกไม่ถึง 100 แผ่นค่ะ คือในเมืองไทยมีไม่ถึง 200 แผ่น ถ้าใครอยากได้ก็ไปซื้อ ผลิตแล้ว จะส่งถึงอีกไม่กี่วัน ถ้าคนอื่นไม่ได้แผ่นนี้ที่เหลือก็จะเป็น digital release หมดเลยค่ะ
ตอนนี้มีวงไทยวงไหนที่เราชอบไหม
แป๋ง: ที่ชอบตอนนี้ก็มี เยนา นะ น้องที่เขาเป็น roadie ให้เราก็เป็นมือกลองเยนา ในงานเราก็จะมีวงเยนาด้วย
พิม: Sasi ของ เดือน จงมั่นคง
อยากชวนใครมาร่วมงานนี้บ้าง
แป๋ง: ก็มีหลายคนค่ะ ตอนนี้ก็คุยไปแล้ว บอกเลยจะได้รู้ว่าจะมีใครในงานนี้บ้าง ก็มีพี่อร อรอรีย์ นี่คอนเฟิร์มแล้วมาแน่นอน แล้วก็มี เยนา ส่วน Saliva Bastard นี่พยายามเข็นมาอยู่ค่ะ ขู่เข็ญ (หัวเราะ) อยากให้มาเล่นให้ได้ แล้วก็ Samurai Loud, Bobkat, King Kong and the Chum แล้วก็อาจจะมีบางเพลงที่เราบางคนเคยไป featuring ด้วย อย่างน้องแพรวาเคยไปร้องเพลง สะกดใจ ให้ Yaak Lab ก็อาจจะได้ perform เพลงที่ไม่เคยเล่น ส่วนพี่โป้ Yokee Playboy นี่พยายามคุยอยู่ อยากให้มาเล่นอัลบั้มแรก ก็ถ้าทุกคนช่วยระดมเงินกันมาเยอะ ๆ ก็จะเกิดขึ้นค่ะ ใครอยากให้อะไรเกิดขึ้นก็มาเขียนใน event page ก็ได้เพราะเราก็อยากรู้เหมือนกัน อยากคุยกัน แต่ถ้าอยากแล้วต้องสนับสนุนด้วยนะ
เท่ากับว่าผู้ฟังแทบจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลิตงานมากกว่าผู้ผลิตเองแล้ว
แป๋ง: ใช่ คือเราไม่อยากขายบัตรหน้างานแล้วจัด ๆ ไป เราอยากให้มันเกิดขึ้นเพราะว่ามีคนอยากให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ ซัพพอร์ตจริง ๆ เพราะนั้นคือคอนเซปต์ทั้งหมดของ crowdfunding มันต้องเกิดขึ้นจากทุกคนที่อยากให้มันเกิด
นอกเรื่องนิดนึง เห็นว่าล่าสุดได้ไปแจมในการแสดงประกอบวิดีโอของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ที่ชื่อ ‘อยู่ด้วยกันในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลก ๆ’
แป๋ง: กรกฤตเป็นน้องที่เรามารู้จักกันเพราะงานเขาเนี่ยแหละ เราเล่นเปิดให้งานเขาประมาณปี 2007 ซึ่งตอนนั้นเขาเรียนอยู่ที่โรดไอแลนด์ อเมริกา เขาก็ทำงานศิลปะมาตลอดแล้วเราก็เห็นว่าเขาเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น คือเขาก็แร็พ เขาจะชอบส่งเพลง ส่งวิดีโอที่ทำ ทำ mv เอง ซึ่งเราก็ทึ่งในความเชื่อของเขาที่ทำให้เขามาอยู่ตรงนี้ได้ เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่มันเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ พัฒนาต่อยอดมาจากจุดเริ่มต้นจริง ๆ เพราะเขาก็จะชอบเพลงแร็พ ชอบกราฟฟิตี้ งานเขาก็จะได้อิทธิพลจากอะไรพวกนั้นเยอะ รวมถึงวัฒนธรรมไทยหลาย ๆ อย่างก็มาอยู่ในงานเขา วิดีโอที่เขาถ่ายมันค่อนข้างยาว ใช้เวลาเป็นหลายปีในการทำ
แพรวา: เขาเอาเพลงเราไปใช้ในวิดีโอ แล้วก็ชวนเราตลอด แล้วเราก็ไปเป็นส่วนหนึ่งในวิดีโอเขา แล้วก็เพิ่งได้ดูหลายอันเหมือนกัน แล้วพอเขามีงานก็อยากจะให้เราไปเล่นเปิดให้ เราก็อยากช่วยเขานะ แบบ คิดตังค์ถูกมาก เพราะก็สนับสนุนกันมาตลอด เขาก็เคยเอาเสื้อให้เราใส่ตอนไปเล่นญี่ปุ่นก็มีแต่คนชมว่าเสื้อเจ๋งอะ เป็นเสื้อยีนส์แล้วมีเป็นไฟ ๆ อันนั้น คืองานเมื่อวานไม่ได้อยากจะไปร่วมงานนะ แต่อยากจะไปช่วยเลย คือตอนหลังที่เราเข้าไปในโชว์เพราะเขาบอก เธอ ๆ ช่วยเข้ามายืนให้หน่อย เราอยากได้ผู้หญิงเพิ่ม เราเข้าไปเป็น extra เลยไม่ใช่เพราะเขาอยากให้ Yellow Fangไปยืนอยู่ในนั้น เราก็โอเค แค่นั้นเลย
แป๋ง: อย่างตอนที่เขาถ่ายวิดีโอเราเขาก็ไม่ได้มาเน้นว่าเป็น Yellow Fangเราก็ไปช่วยเขาเฉย ๆ แล้วเขาก็ใช้เพลงเราด้วย ซึ่งมันก็ connect กันอยู่แบบนั้น
แพรวา: แล้วการที่เขาเอาเพลงเราไปใช้เนี่ย กลายเป็นฝรั่งชอบเพลงมาก เพราะดู exhibition ของกรกฤต เขาพูดยาวมาก บอกว่า ฉันเพิ่งเคยได้ฟังเพลงของพวกเธอใน video art ครั้งนี้ แล้วฟังอยู่หลายวันมากเหมือนโดนสะกดจิต ก็เลยเริ่มไปหาเปิดฟังเพิ่มเลยกลายเป็นชอบมากขึ้นไปอีก ก็ไปบอกเพื่อนที่อัมสเตอร์ดัมอยากให้มาร่วมงานกับเรา เป็นการบอกต่อกันมากกว่า
แป๋ง: เป็นคนลูกครึ่งไทย เขากำลังจะทำ art residency ที่เมืองไทย แล้วจะมีศิลปินที่เป็นเพื่อนเขาจะมาอยู่เนี่ยแหละ เขาก็อยากให้ทำงานด้วยกัน เพื่อนเขาชอบมาก เราก็ได้เจอคนใหม่ ๆ คือคนในซีนอาร์ตเขาก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสมาฟังเพลง เขาก็ได้โอกาสสัมผัสกับมันผ่านวิดีโอนี้ ก็อาจจะได้ร่วมงานกับคนอื่นอีกต่อยอดกันไป เอาเพลงเดิมที่ใช้นี่แหละ (หัวเราะ)
ส่วนตัวแล้วสนใจ fine art ไหม
แป๋ง: ก็ไม่ได้อยู่ในซีนนั้นแต่ก็รู้จักคนที่อยู่ในนี้พอสมควร ในเมืองไทยก็มีซีนเล็ก ๆ ของเขาแถวเจริญกรุงเยอะแยะไปหมด จะมีหลายคนมากในงานที่เขาอยู่ในซีนแร็พ ฮิปฮอป บางคนเขาบอกว่าเขาไม่ชอบ live music ซึ่งวงเราเป็นวงเล่น live มีเครื่องดนตรี เขาก็มาพูดว่าเขาไม่ค่อยได้ดูนะ แต่ได้กลับมาดูอีกเพราะเราได้ไปเล่นที่งานกรกฤต เป็นฝรั่งบอก I don’t like live music, at all. มีหลายคนมากที่บอกว่า Yellow Fang กับกรกฤตดูไม่เข้ากันมาก ๆ เพราะเขาสายนั้น
แพรวา: เพลงหลายเพลงที่ประกอบในงานส่วนใหญ่จะเป็นฮิปฮอป ฝรั่งเขาจะไปทางนั้นก็ทางนั้นเลย ฮิปฮอปก็ฮิปฮอปมาก แต่เราก็ไม่ได้เกลียดฮิปฮอปนะ เราชอบฮิปฮอปเหมือนกัน แค่ไม่ได้ทำเพลงฮิปฮอปออกมา (หันไปถามเพื่อนในวง) หรือว่าเราจะแร็ป ? คือเราจบจากคณะศิลปะอยู่แล้วก็ต้องมีเพื่อนที่อยู่ในแขนงนี้อยู่แล้วแหละ อย่างครอบครัวเรา อาเราก็ทำงานสายนี้ แฟนเราก็จบจากคณะนี้ คือมีอะไรเชื่อมโยงกันตลอดเวลา คนที่อยู่ในซีนอาร์ตก็มีซับเซทที่อยู่ในซีนดนตรีด้วย
พิม: คนเขาก็ต้องมีผ่อนคลายมาทางดนตรีบ้างแหละ เป็นธรรมชาติที่ category ใกล้เคียงกัน ใช้อารมณ์ไปกับดนตรี ศิลปะ
เร็ว ๆ นี้จะได้เห็นอะไรจาก Yellow Fang อีกนอกเหนือจากปาร์ตี้นี้
แพรวา: ก็คงต้องทำเพลงใหม่แล้วล่ะค่ะเพราะพี่แป๋งเขาซื้อของใหม่มาละ
แป๋ง: แล้วก็จะมีโปรเจกต์แปลก ๆ อีกอันนึง ยังบอกไม่ได้ ติดตามด้วยละกันค่ะ
ฝากอะไรกับแฟน ๆ
แพรวา: ถ้าชอบกันก็สนับสนุนกันนะคะ ถ้าอยากให้มันเกิดขึ้นก็บอกต่อ
แป๋ง: เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ซื้อบัตรแล้วนะคะ ถามน้องบางคนที่ก็ดูกระตือรือร้นเขาก็บอกว่าซื้อแล้ว ๆ ฝากบอกเพื่อน ๆ ด้วยนะ หรือใครที่กำลังคิดว่าอยากจะสนับสนุนก็แสดงตัวได้เลย เหลือเวลาไม่เยอะ เราต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวหลายอย่าง ถ้ามันมีตัวเลขอะไรที่เราจับต้องได้เราก็จะมีกำลังใจนิดนึง ถ้าไม่มีเราก็จะนอนเปื่อย ไม่สนใจเหมือนกัน (หัวเราะ)
พิม: เราก็อยากทำให้สำเร็จนะ ถ้าสำเร็จมันก็จะเป็นการเปิดประตูให้วงอื่น ๆ โปรเจกต์อื่น ๆ ของไทยไม่ใช่แค่เรา มันก็เป็นช่องทางในการสร้างงานของคนที่ทำงานศิลปะ ได้ทำงานดี ๆ ออกสู่สังคม เป็นจุดเปลี่ยน
แป๋ง: ก็จะได้สร้างงานจริง ๆ บางคนมีไอเดียแต่ไม่ได้ทำให้มันเกิดขึ้น ทีนี้ก็ทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ ก็ win-win เนอะ คนที่ซัพพอร์ตก็ได้เห็นอะไรน่าสนใจ ได้มาร่วมกิจกรรม หรือได้ของตอบแทน คนสร้างงานก็ได้สร้างผลงาน มีกำลังใจต่อไป
พิม: คนชอบถามว่าทำไมงานคนไทยย่ำอยู่กับที่ ตามหลังฝรั่ง ทำเลียนแบบ ไม่มี originality เพราะศิลปินไม่มีอิสระในการพัฒนางานตัวเอง ถ้ามี choice นี้และทำสำเร็จ ก็จะเปิดประตูให้น้อง ๆ คนข้างหลังมีโอกาสพัฒนางานมี original ของตัวเองมากขึ้นโดยไม่ถูกผูกมัดกับระบบเก่า ๆ อันนี้มันก็เป็นระบบที่เขาคิดขึ้นมาแล้วมันได้ทั้งคู่จริง ๆ ถ้าเงินเราไม่พอจัด คนที่สนับสนุนก็ได้เงินคืน ไม่มีใครเสียอะไรทั้งนั้น ถ้าสำเร็จก็เป็นเรื่องที่ดี อย่ากลัวค่ะ มันเป็นจุดเปลี่ยน
เหลือเวลาอีก 20 กว่าวัน ตามเข้าไปสนับสนุนปาร์ตี้ของพวกเธอได้ที่ http://asiola.co.th/campaign/club-yellow-fang-a-curated-night รีบซะตอนนี้ถ้าอยากเห็นงานดนตรีที่จัดโดย Yellow Fang เกิดขึ้นมาจริง ๆ ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ถ้าไม่ถึงเป้าก็ไม่มีงานนี้นะ ให้ไวเลย