YANIN x CASINOTONE เสียงจากป่าเขา เงามืดหลังคีย์บอร์ด และความอยู่รอดของเพลงอิเล็กทรอนิก
- Writer: Chawanwit Imchai
- Photographer: Chavit Mayot
นอกจากซิงเกิลซาวด์เนี้ยบ ๆ ที่เพิ่งปล่อยออกมาจาก YANIN X CASINOTONE จะทำให้หลาย ๆ คนเต้นรำสลัดความเจ็บปวดทิ้งไปได้แล้ว ก็ยังทำให้คนที่นั่งพักอยู่ตื่นเต้นกับการกลับมาของชายหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลังแดนซ์ฟลอร์นาม Casinotone ผู้ที่รันวงการเพลงเต้นรำมาตั้งแต่สมัย Y2K (กูเกิ้ลเอานะถ้าเกิดไม่ทันคำนี้)
ขอเชิญพบกับบทสัมภาษณ์ที่จะพาคุณเดินย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของพวกเขา เพื่อมองไปยังอนาคตของวงการเพลงอิเล็กทรอนิกในบ้านเรา
สมาชิก
ตั๋ง—จักรชัย ปัญจนนท์
อาย—ญาณิน พันธัย
มาเจอกันได้ยังไง
ตั๋ง: พี่ไปเจอคลิปที่อายร้องคัฟเวอร์กับร้องเพลงของเขาเอง ก็เห็นจากเพื่อน ๆ ในเฟสบุ๊กแชร์กัน เพลงแรกก็คือเพลง อากาศ ที่เป็นเวอร์ชันอะคูสติก ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ชอบเสียงน้องเขา เพราะดี เลยไปไล่ฟังใน YouTube Channel ของอาย ซึ่งตอนนั้นก็น่าจะ 3-4 ปี มาแล้วมั้ง อายยังไม่มีเพลงออริจินอลของตัวเองจริงจังมากขนาดทุกวันนี้ แล้วตอนนั้นอายก็เล่นกีตาร์ง่าย ๆ โน้ตง่าย ๆ เราก็เลยรู้สึกว่าเพลงนี้มันน่าจะทำงานได้เยอะกว่านี้ถ้ามีดนตรีเพิ่มขึ้นมา เราก็เลยทักไปในเฟสบุ๊กอายว่าสนใจ อยากทำเพลงให้ เราก็อธิบายรายละเอียดว่าเราทำค่าย Comet Records อะไรประมาณนั้น
พูดถึง Comet Records หน่อย เป็นอย่างไรบ้างตอนนี้
ตั๋ง: ปีนี้เรารู้สึกอยากทำเพลงให้เยอะที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ครับ ก็ขวนขวายหาศิลปินใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น แล้วก็ปล่อยเพลงทุก ๆ เดือน ส่วนการตอบรับ เราก็ไม่รู้อยู่แล้วครับว่ามันดีหรือไม่ดี (หัวเราะ) ถึงไม่ดีเราก็ทำต่อไป
แล้วอายเคยฟังเพลงจาก Comet Records มาก่อนหรือเปล่า
อาย: เอาจริง ๆ ก็ไม่เคยค่ะ (หัวเราะ)
ตั๋ง: ตอนที่เจอกันตอนนั้นก็หลายปีแล้วเนอะ ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักหรอกครับ แต่ว่าเราก็ส่งลิงก์ไปให้นะว่าเราทำอะไรบ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เพลงโดนตลาดอะไร เป็นเพลงแปลก ๆ มากกว่า (FJZ: แปลกยังไง) น่าจะด้วยความเป็นเพลงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสนิยม แล้วก็เป็นเพลงอิเล็กทรอนิก คือเราตั้งประเด็นไว้แล้วว่าจะทำอิเล็กโทรป๊อป แต่ตอนนั้นอายก็ทำเป็นเพลงโฟล์กอยู่แล้วใช่มั้ยครับ ตอนส่งข้อมูลไปก็อาจจะดูเหมือนเป็นคนละแนวกัน แต่เราก็บอกอายว่า เออ อยากลองทำเพลงของแนวเขานั่นแหละ แต่ว่าเราจะทำดนตรีให้ ตอนนั้นก็คุยกันว่าเพลงแรกก็เอาเพลงที่อายแต่งไว้แล้วมาทำก่อนก็ได้ ลองมาทำสักเพลงก่อน ก็เลยเลือกเพลง อากาศ มาทำให้มีอิเล็กทรอนิกแบบที่ตรงกลางที่สุดเท่าที่เราคิดว่าเขาจะรับได้ ก็ยังมีกีตาร์ มีความช้า เพราะเรากลัวว่าเขาจะไม่อยากทำด้วย
อาย: ช่วงนั้นเพลงอิเล็กทรอนิกที่ฟังก็จะมีแต่ช่อง Majestic อะไรอย่างนี้ ซึ่งจะเป็นสายชิล ฟังง่าย ๆ กินง่าย ๆ
รู้สึกอย่างไรที่มาเจอเพลง อากาศ ของตัวเองในรูปแบบนี้
อาย: ที่จริงก็ชอบเลย แล้วเป็นครั้งแรกและเพลงแรกที่เราได้เจอกัน ก็เลยรู้สึกว่าทำงานร่วมกันได้ง่ายดี
ขั้นตอนในการทำเป็นอย่างไรบ้าง
ตั๋ง: ตอนนั้นจะมีโจ้ รุ่นน้องที่เป็นมือกีตาร์มาช่วยเล่นกีตาร์ให้ ซึ่งโจ้ก็รู้จักกับอายอยู่แล้วก็เลยชวนทั้งสองมาคุยกัน เราก็ให้โจ้เป็นเหมือนตัวเชื่อมโยงโดยให้มีไลน์กีตาร์ขึ้นมาให้มันเข้าใจง่ายหน่อย ซึ่งปกติเราจะเล่นกีตาร์ไม่ได้ พอทำดนตรีกับโจ้เสร็จก็ส่งไปให้อายอัดร้องเลย
ด้วยความที่อายชอบเพลงโฟล์กมาก่อน เลยอยากรู้ว่ารู้สึกอย่างไรกับเพลงอิเล็กทรอนิก
อาย: ตอบว่าเรารัก world music กับโฟล์กแล้วกัน แต่ว่าเราเป็นคนที่ชอบอะไรหลาย ๆ อย่างค่ะ อย่างเพลงอิเล็กทรอนิกมันก็มีหลาย ๆ ประเภท ซึ่งมันก็จะมีบางอันที่เรากินยากอะ หมายถึงก็ไม่ได้ชอบ แล้วก็จะมีบางอย่างที่เราชอบ
อะไรที่ได้ใจเราบ้าง
อาย: ก็พวก deep house สายชิล พวก EDM แบบทรอปิคัลก็โอเค แต่ถ้าเป็น EDM แบบ ปึ้ง! ผ่าง! ผ่าง! ผ่าง! ก็จะกินไม่ค่อยเป็นละ
พูดถึง Casinotone ให้คนฟังรุ่นใหม่ ๆ รู้จักหน่อยว่าทำอะไรมาบ้าง ตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนนี้
ตั๋ง: ก็ทำตั้งแต่ประมาณปี 2000 น่ะครับ เป็นปีที่เพิ่งปล่อยอัลบั้มแรก
แล้วอายเคยฟัง Casinotone มาก่อนหรือเปล่า
อาย: ก็ฟังหลังจากเรารู้จักกันนี่แหละค่ะ (หัวเราะ)
ตั๋ง: ก็ต้องไปรีเสิร์ชนะครับ จริง ๆ ก็แทบจะไม่มีใครรู้จัก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกคนอายุสามสิบกว่าที่เขาจะพอรู้จักและต้องเป็นพวกที่อินดี้มาก ๆ เพราะว่าสมัยก่อนทำเทปขายเอง เราก็ให้มอเตอร์ไซค์วินไปส่งตามร้านอย่างร้านโดเรมี หรือดีเจสยามอะไรแบบนี้ ก็โชคดีที่มีเพลงขึ้นชาร์ตในที่ที่เป็นเหมือน Cat Radio ในสมัยนี้ ซึ่งก็คือพวก Chanel [V] Radio แล้วตอนนั้นก็เป็นช่วงแรก ๆ ที่พี่เต็ดเริ่มทำ Fat Radio ก็มีเพลงขึ้นอันดับหนึ่งเหมือนกันครับ เป็นเพลงหนึ่งจากอัลบั้มแรกชื่อเพลง มันไม่เคลียร์ ซึ่งก็เป็นช่วงที่ Kidnappers ออกมา มีกลิ่นแบบอินดี้ อิเล็กทรอนิกนิด ๆ ต่อมาก็ Casinotone เป็นแนวอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปและเฮาส์ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ และคนก็ยังไม่ค่อยรู้จักเพราะตอนนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและส่วนใหญ่ก็จะฟังแต่ Bakery Music กัน
หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อย ๆ ครับ แต่ว่าอัลบั้มเต็มก็จะทิ้งห่างกันหน่อย มี 6 ปีหลังจากนั้นก็มาทำกับ Spicy Disc ออกป๊อปขึ้นมาหน่อยแต่ก็ยังฟีลเดิม คือมีอิเล็กทรอนิก ป๊อป เฮาส์ french house อะไรก็ว่าไป ซึ่งก็ based on เพลงป็อปนั่นแหละ แต่แค่ใส่ดนตรีสมัยใหม่เข้าไป
ต่อมาอีก 6 ปีเหมือนกัน ก็มาทำเองในค่ายตัวเอง มีอีกอัลบั้มหนึ่งชื่อ Life is Too Short ที่ออกมาในนามค่าย Comet Records ก็แนวคล้าย ๆ เดิมแต่ aggressive ขึ้นมานิดนึง มีกีตาร์เยอะขึ้น ชุดที่สองมันจะออกชิล ๆ เหมือน lounge music เพราะแนวนี้ได้รับความนิยมมาก ๆ ในยุคปีสองพันต้น ๆ แล้วก็ช่วงปี 2012 เป็นยุคของอินดี้แดนซ์ เราก็เกาะนิดนึง จนถึงปัจจุบันก็ทำเรื่อย ๆ ได้มาทำกับอาย แล้วก็โปรดิวซ์ให้ศิลปินคนอื่น ๆ อยู่ข้างหลังมากกว่า แล้วก็ยังทำของตัวเองอยู่
ปกติเป็นคนชอบปาร์ตี้หรือเปล่า ทำไมถึงทำเพลงปาร์ตี้ขนาดนี้
ตั๋ง: ไม่ชอบครับ คือไม่ชอบไป แต่ว่าชอบปาร์ตี้ของตัวเอง คือสมัยก่อนมันไม่ค่อยมีร้านที่เปิดเพลงถูกใจ เราก็จะไม่ไปฟังที่ไหนเพราะเราจะเลือกเพลงเอง ถูกใจเราเอง ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีร้านที่เปิดเพลงถูกใจเรานะ แต่ก็ขี้เกียจไปอยู่ดี
อายได้ไปปาร์ตี้กับเพลงแนวนี้บ้างมั้ย
อาย: ไม่ค่อย เพราะไม่รู้จักร้าน (หัวเราะ) แต่ถ้ารู้จักก็น่าสนใจค่ะ ส่วนใหญ่ไปตามคอนเสิร์ตมากกว่า ไม่ค่อยได้ไปร้านอะไรสักเท่าไหร่
เพราะแบบนี้ก็เลยอินกับการอยู่บ้านฟังเพลงโฟล์กมากกว่า?
อาย: อืมมม สมมติว่าถ้าเป็นคนที่ชอบปาร์ตี้ ก็อาจจะยังชอบเพลงโฟล์กอยู่ดี ไม่รู้อะ มันอาจจะเป็นความชอบส่วนตัว
ทำไมถึงชอบเพลงโฟล์ก
อาย: เป็นคนชอบฟังอะไรที่มันสวยงาม ชอบเมโลดี้สวย ๆ หรือฟังอะไรที่มันได้บรรยากาศ เป็นชอบภูเขา ชอบต้นไม้ เลยชอบฟังอะไรที่มันได้ภาพเหล่านั้น ชอบชนเผ่า
ช่วงนี้ชอบฟังอะไร
อาย: ช่วงนี้จะอินกับวงที่ชื่อ KOKOKO! เป็นวงอิเล็กทรอนิกแอฟริกันที่สร้างเครื่องดนตรีขึ้นมาเอง ฟังแล้ว inspired เรามากเพราะว่าความเป็นอยู่ของเขาที่ค่อนข้างลำบาก แต่ก็ยังสามารถทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่แบบนี้ได้ มันเจ๋งมาก ๆ
เพลงไหนที่เปลี่ยนชีวิตจากคนธรรมดาให้กลายเป็น Casinotone และ Yanin
ตั๋ง: ก็ฟังตามสเต็ปเด็กไทยเลย เริ่มจากร็อก เฮฟวีเมทัล อาร์แอนด์บี ฟังแต่แบบนี้จนมาถึงปลายปี 96 ที่ก็มามุ่งฟังแต่อีกแนว ซึ่งเราก็จำแบบเป๊ะ ๆ ไม่ได้ว่าเพลงอะไร แต่คงชอบ Daft Punk ชุดแรกมาก กับ Chemical Brothers ชุดแรก ที่ทำให้เราฟังแต่เพลงอิเล็กทรอนิก จริง ๆ ก็ฟังหมดทุกอย่างแหละ แต่ว่าชอบที่สุดคืออิเล็กทรอนิก
อาย: เมื่อก่อนเคยมีวงร็อกที่เล่นพวกกรันจ์ หรือเล่น Rage Against the Machine แบบยืนอยู่หน้ามอนิเตอร์แล้วชูนิ้วกลางใส่นายกเทศมนตรี มันก็จะมีความซ่าในตอนเด็ก ๆ อะค่ะ แต่ช่วงที่เริ่มฟังดนตรีอย่างจริงจังน่าจะเป็นช่วง ป.6 ตอนนั้นจะเริ่มฟังเพลงเกาหลี (หัวเราะ) ตอนนั้นรัก ดงบังชินกิ มาก มันเป็นอะไรที่ใหม่มากกับการร้อง a cappella แล้วยังเต้นกันด้วยว่ะ แล้วช่วงนั้นก็จะฟังพวกอันเดอร์กราวด์ของเกาหลี เช่น จี นู ชอน ช่วงที่ Big Bang เพิ่งเกิด พวกฮิปฮอปแบบ old school แต่วงที่ประทับลงไปในใจเราจริง ๆ เลยคือวง Nell เป็นอินดี้ร็อกของเกาหลีที่ตอนนี้ก็ยังฟังอยู่ตลอด พอขึ้นมหาลัยก็มีเจออีกคนหนึ่งที่ยกให้เป็น the best เลยก็คือโปรดิวเซอร์ชาวอินโดนิเซียชื่อ Gardika Gigih Pradipta ทุกงานที่เขาทำในฐานะโปรดิวเซอร์เราชอบหมดเลย เป็นคนเปิดโลกให้เรารักเพลงโฟล์ก
ทำไมอายถึงมีวิธีการร้องแบบนี้
อาย: ก็น่าจะเป็นอิทธิพลจากเพลงอินโดนิเซียนี่แหละ เพราะว่าเขาจะมีเสน่ห์ในการเอื้อนอะไรบางอย่างที่สวยงามที่เราไม่เห็นในเพลงไทย ซึ่งในหมอลำ ในลูกทุ่งเราก็มีวิธีเอื้อนในแบบประเทศเรา
Casinotone นิยามตัวเองว่าเป็นดนตรีอิเล็กทรอนิกสายไหน ทำไมถึงชอบสายนี้
ตั๋ง: ตอนนี้ก็ยังเป็นเฮาส์อยู่เป็นหลักนะครับ แต่ส่วนตัวที่ชอบที่สุดก็ยังคงเป็น french house อยู่ดี มันมีเมโลดีบางอย่าง มีความน้อยที่ช่วยสร้างเมโลดี
อาย: มันมีความเข้าใจยากที่หนูไม่เข้าใจอะ
ตั๋ง: มันเป็นองค์ประกอบของเสียงที่พี่บอกไม่ได้ สมมติเวลาพี่ทำงานออกแบบภายในมันก็จะมีองค์ประกอบบางส่วนที่ยังไงพี่ก็จะทำแบบนี้อยู่สามสี่อัน แล้วไม่ว่าเราจะดู reference จาก pinterest หรืองานดีไซน์ต่าง ๆ เราก็จะรู้ว่ามันเป็นองค์ประกอบนี้ ซึ่งมันก็ไปพอดีกับองค์ประกอบเพลง french house ที่เราชอบ เหมือนเวลามีคนบอกว่า You are what you listen to เหมือนเวลาเห็นอายแต่งตัวก็จะบอกได้ว่าอายฟังเพลงอะไร ถ้าจะให้แยกเป็นข้อ ๆ แบบละเอียดก็คงเป็น อะ เราชอบเพลงเต้นรำ ชอบเมโลดีนุ่ม ๆ แบบกลาง ๆ ชอบเมโลดี้แบบเพลงดิสโก้และเพลงของคนผิวสี ชอบเพลงที่วนซ้ำ ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มดีเทลแบบกึ่งมินิมอลอะครับ มีไลน์เบสที่เล่นน้อย ๆ แล้วมันเข้ากับส่วนเล็ก ๆ อื่น ๆ แล้วเกิดขึ้นเป็นเมโลดี้อีกแบบหนึ่ง
รู้สึกยังไงกับเสียงร้องในเพลงแนวนี้ มีวิธีการร้องต่างจากตอนร้องเพลงโฟล์กหรือเปล่า
อาย: จริงๆ วิธีการก็ต่างกันอยู่แล้วอะค่ะ แต่ด้วยความเป็นคนฟังอะไรหลาย ๆ อย่างก็เลยไม่ค่อยรู้สึกแปลกใจกับมันเท่าไหร่ ก็รู้สึกว่า เพราะว่ะ เสียงฉันเอง
ตั๋ง: ตอนฟังเสียงอายครั้งแรกจะรู้สึกว่านักร้องผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ร้องเพลงไม่ค่อยเหมือนอายร้อง พอมาเจอเนื้อเสียงและวิธีการของอายก็เหมือนเราได้เจอเสียงร้องที่เราชอบเวลาฟังเพลงต่างประเทศที่เราชอบมานาน แล้วก็คิดว่ามันต้องเข้ากับดนตรีที่เราคิดไว้ มันมีองค์ประกอบด้านเสียงที่มันสมดุลกัน เวลามิกซ์ก็จะรู้สึกว่ามันลงกับเสียงเบส เสียงต่าง ๆ ในเพลงจัง บางคนรีวิวว่าเป็นเคมีที่ลงตัว
อาย: ในแต่ละเพลงที่ออกมา การดีไซน์เสียงของอายจะไม่เหมือนกันซะทุกอย่าง ต่างจากตอนเราทำโฟล์กที่เราล็อกไว้แล้วว่ามันจะประมาณนี้ เพราะเพลงที่พี่ตั๋งทำก็มีความแตกต่างในแต่ละส่วนของมันอยู่
การอัดเสียงร้องเป็นอย่างไรบ้าง
ตั๋ง: จะเริ่มที่ผมเลือกโทนเพลงก่อน บางเพลงก็มีเนื้อร้องทำนองไกด์ไปเลย แล้วก็ส่งไปให้อายอัด พออายส่งกลับมามันก็ได้เลย นอกจากบางเพลงที่อายทำเมโลดีมายังไม่ลงก็ยังไม่ทำ แต่ถ้าเพลงไหนลงก็จะไม่ต้องแก้หลายเทค
อาย: ปกติการมิกซ์ก็จะเริ่มตั้งแต่อัดเสียงร้อง แล้วลบเอฟเฟกต์ทุกอย่าง ตั้งทุกอย่างเป็นเซ็นเตอร์ แล้วก็ส่งให้คนมิกซ์แล้วก็มาสเตอร์ แต่ว่าการทำงานของเราคือมิกซ์เอง แพนเองเสร็จสรรพ แล้วก็ส่งทั้งก้อนให้พี่ตั๋งแปะ มันก็เป็นวิธีที่ง่าย
ตั๋ง: พอมาปุ๊บมันมักจะจบเลย เต็มที่ก็บาลานซ์เสียงดนตรีให้เข้ากับเสียงร้องของอาย
เพลงไหนเป็นเมโลดี้ของอายเองบ้าง
อาย: ก็จะมี You, Who the Hell?
ตั๋ง: เรื่องขำ ๆ ก็มีติดนิดหน่อย แล้วก็มีเพลง อากาศ ที่อายแต่งเองทั้งเนื้อร้องและทำนอง
เนื้อร้องกับทำนอง อะไรมาก่อน
อาย: มาค่อนข้างจะพร้อมกันถ้าไม่มีคนมาคอยคุม อย่างเพลงโฟล์กก็ใช้เวลาไม่ถึงสามสิบนาทีด้วยซ้ำ พอ ๆ กับเพลงที่ทำกับพี่ตั๋ง
ทำไมถึงเขียนเพลงได้เร็วขนาดนั้น
ตั๋ง: มันได้ มันก็ได้ใช่มั้ย
อาย: นั่นสิ เหมือนการอยากเล่าอะไรซักอย่างมันคงไปสโคปอะไรในหัวเรามั้งคะ แล้วที่เหลือมันก็แค่คิดคำและเมโลดี ซึ่งการคิดเมโลดีเป็นสิ่งที่เราถนัดอยู่แล้ว แล้วพวกคำที่เป็นเรื่องใกล้ตัวอยู่แล้วก็จะออกมาพร้อม ๆ กับเมโลดีนั้น ๆ
คิดว่าวงการเพลงอิเล็กทรอนิกบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ตั๋ง: มันก็จะมีซีนจากพวกฝรั่งที่อยู่บ้านเรา แล้วก็ซีนจากเด็กไทยสาย EDM ซึ่งมันก็คือ EDM ที่ผ่าง! ผ่าง! ก็ได้ หรือเป็น sub genre ต่าง ๆ อีกก็ได้ ซึ่งคนสมัยก่อนจะเรียกแนวนี้ว่าว่า electronica จริง ๆ คำว่า EDM มาจากยุคที่ Madonna เริ่มทำเพลงเต้นรำ ทำให้เพลง electronica เป็นเหมือนคำหยาบคายเพราะความ commercial ของมัน ซึ่งในไทยมีคนที่เสพแบบนี้เยอะ ส่วนคนที่เสพเพลง electronica ที่ยังไม่เป็นคำหยาบคงมีไม่เยอะแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะแก่ เป็นคนรุ่นเก่าแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ก็จะเสพอะไรที่มันEDMมาก ๆ ซึ่งพวกเขาก็ไม่ผิดนะ เพลงแบบพวกเขาก็โอเค แต่คำว่า EDM ไปทำให้มันผิด ฉะนั้น เด็กไทยส่วนใหญ่ที่ฟังเพลงในยุคนี้ก็จะเข้าใจว่า electronic = EDM แล้วมันก็จะไม่ค่อยโอเคนะ อันนี้พี่วิเคราะห์ตามความเข้าใจ ยังไม่รู้ว่าจริง ๆ ตอนนี้มันเป็นยังไงกันแน่ ก็เลยทำให้เห็นว่าศิลปินก็ไม่ค่อยทำอะไรออกมาทั้งที่ตลาดมันก็เปิดเท่า ๆ กับตลาดของเพลงปกติ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะคำว่า EDM ถูกใช้ในเชิงคำหยาบ
พอเป็นแบบนี้เราทำยังไง ในฐานะที่เป็นคนชอบดนตรีอิเล็กทรอนิก
ตั๋ง: พี่ไม่สนครับ ยังไงพี่ก็ทำต่อไป
ความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่าง electronic music กับ EDM
ตั๋ง: EDM มันคือ electronic dance music มันคือเต้นล้วน ๆ แต่ว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกคือดนตรีที่ทำจากเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกที่ไม่ใช่อะคูสติก (FJZ: ซึ่งไม่ต้องเต้นก็ได้ ?) ใช่ มันเป็นได้ทุกอย่าง เครื่องไหนที่เสียบปลั๊กเล่นมันก็คืออิเล็กทรอนิกหมด พี่ทำเพลงคลาสสิกจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมดมันก็คือเพลงอิเล็กทรอนิก หรือเพลงที่มีโครงสร้างเป็นเพลงร็อก เพลงคลาสสิก เพลงแจ๊ซ เพลงโซล ก็เรียกว่าเพลงอิเล็กทรอนิกได้ถ้าใช้เครื่องดนตรีที่เสียบปลั๊กในการทำเป็นเพลงออกมา
คิดว่าเพลง เรื่องขำ ๆ จะถูกเปิดในผับ EDM มั้ย
อาย: ไม่น่านะ
ตั๋ง: มันน่าจะเป็นเพลงฟังมากกว่า
อาย: น่าจะเป็นเพลงที่ฟังตรงไหนก็ได้มากกว่านะ อย่างเพลง You ยังเคยถูกเปิดในบิ๊กซีเลย เคยมีเพื่อนโทรมาบอกว่า เฮ้ย! มึง! เพลงมึงเปิดในบิ๊กซี! (หัวเราะ)
นิยามความเป็น YANIN X CASINOTONE
อาย: เราค่อนข้างที่จะเปิดกันพอสมควร ไม่ได้สโคปอะไรชัดเจน มันเกิดอะไรก็เอาอย่างนั้น
ตั๋ง: แต่หลังจากเพลงที่สองมั้ง อายบอกมันก็คือเพลงป๊อป เพลงตลาดนั่นแหละ
อาย: แต่เราอยากทำเพลงป๊อปที่ดีเนอะ
ตั๋ง: ใช่ ๆ เหมือนเรานิยามกันว่าเราต้องทำเพลงป๊อปที่ดีละกัน แต่วาไรตี้ได้ไม่จำกัด ซึ่งเพลงป๊อปก็น่าจะหมายถึง ทุกระดับประทับใจ คือทุกคนฟังได้หมด
อาย: ช่วงนี้ก็ฝึกเขียนเพลงป๊อปด้วย ซึ่งยากนะ หมายถึงถ้ามันไม่ใช่เพลงป๊อป มันจะพูดวน ๆ พร่ำ ๆ ก็ได้ พูดความรู้สึกอะไรของเราก็ได้ แต่เพลงป๊อปมันต้องเข้าใจง่าย ยิ่งถ้าเป็นเพลงป๊อปที่ดังและดีคือเนื้อร้องมันต้องออก เมโลดี้มันออก ซึ่งมันยาก คือเราเป็นคนซับซ้อนอะค่ะ จะมาแต่งอะไรที่ง่าย ๆ มันก็ยากสำหรับเรา
เพลงป๊อปเพลงไหนที่ฟังแล้วแบบ เฮ้ย แต่งมาได้ไง
อาย: ก็จะมีของ อะตอม ชนกันต์ ซึ่งเขาก็มีสกิลทางด้านดนตรี แล้วเขาทำเพลงป๊อปที่กินง่าย เนื้อเพลงออก มีเทสต์
เคยแอนตี้ความป๊อปมั้ย
ตั๋ง: ไม่เคยเลย ที่จริงชอบเพลงป๊อป แต่จริง ๆ คำว่าเพลงป๊อบเป็นภาษากว้างแล้วก็มีอย่างอื่นมาแทรกได้ ข้อดีของมันคือเป็นตัวเชื่อมที่ดีระหว่างคนทำกับคนฟัง ถ้าคุณต้องการสื่อสารไปถึงคนฟังก็ต้องมีความป๊อปอยู่ แล้วเราก็สามารถใส่อะไรอื่น ๆ ที่เราชอบลงไปได้อีกบนความป๊อปนี้ การมีความป๊อปอยู่ก็ถือเป็นการเคารพคนฟังเหมือนกัน
มาอยู่สนามหลวงมิวสิกได้ยังไง
ตั๋ง: ตอนนั้นสนามหลวงมีแคมเปญให้ศิลปินอินดี้ที่ทำเพลงเองมาใช้ช่องทางของทางค่ายและแกรมมี่ในการโปรโมต ตอนนั้นก็มี โน้ต Yaak Lab เข้ามาคุย แล้วเราก็ชวนอายมา มีข้อจำกัดอย่างเดียวคือต้องเป็นเพลงภาษาไทยเพื่อให้เข้าถึงคนหมู่กว้างมากขึ้น ที่เหลือเขาก็ปล่อยเรา
เป้าหมายต่อไปของทั้งสองคนหลังจากจบโปรเจกต์นี้
อาย: หนูเห็นตัวเองเล่นคอนเสิร์ตที่ประเทศอินโดนิเซีย คือมันจะชอบเห็นภาพอะไรอย่างนี้ แบบว่าอาจจะเล่นดนตรีกับคนที่เราก็รู้จักกันอยู่แล้ว ปี้นี้ก็เป็น trainee ค่าย White Music แกรมมี่นี่แหละ อาจจะเห็นตัวเองเต้นบนเวที อยากมีสกิลคิดท่าเต้นอะไรแบบนี้
ตั๋ง: ในฐานะโปรดิวเซอร์คงจะทำเพลงให้คนอื่นเยอะขึ้น หลากหลายมากขึ้น ส่วนของ Casinotone ก็จะทำต่อไป ปล่อยเพลงต่อไป ยังเฉย ๆ กับการไปเล่นคอนเสิร์ตเพราะความสุขตอนนี้คือการทำเพลง คือถ้าไม่ทำจะรู้สึกเหมือนไม่ได้กินข้าว
ฝากผลงานครับ
อาย: ซิงเกิลใหม่ของ YANIN X CASINOTONE เพลง เรื่องขำ ๆ นะคะ ถ้าหากว่าใครผิดหวังในเรื่องความรักก็ช่างมัน และขำกับมันซะ แล้วก็เพลงและ mv ของ YANIN ที่เพิ่งปล่อยไปด้วยค่ะ ชื่อเพลง เปลี่ยนแปลงถึงอากาศ ค่ะ
ตั๋ง: เข้าไปกดฟังกันใน ฟังใจ กันได้นะครับ แล้วก็ติดตามข่าวคราวจากพวกได้ที่เฟสบุ๊กของสนามหลวงมิวสิก ส่วน Casinotone ก็คงมีออกมาให้คนได้เหวอในจังหวะที่ไม่รู้ตัวครับ (FJZ: จะเขย่าแดนซ์ฟลอร์ไหม) คงไม่ขนาดนั้นครับ แต่ก็ยังอยากให้เป็นเพลงเต้นรำเพราะในไทยตอนนี้ไม่ค่อยมีเพลงเต้นรำเท่าไหร่
ติดตามผลงานต่าง ๆ ได้ที่เฟสบุ๊ก Comet Records และรับฟังเพลง เรื่องขำ ๆ บนเว็บไซต์ฟังใจได้ ที่นี่