พวกเขาช่วยให้ศิลปินอยู่รอดได้ยังไงในยุคนี้? พบกับคำตอบจาก ‘บอล’ และ ‘มอย’ ผู้ก่อตั้ง What The Duck
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Photographer: Chavit Mayot
ในยุคที่ใครก็เป็นศิลปินได้ มีช่องทางที่จะเผยแพร่ผลงานของตัวเองมากมาย แต่สิ่งที่ศิลปินหนึ่งยังขาดไปคือคอนเน็กชันอันแข็งแรงและประตูหลายบานที่ไม่รู้จะเปิดยังไงเพื่อต่อยอดอาชีพนี้ให้เลี้ยงตัวเองได้ What The Duck จึงเป็นค่ายเพลงทางเลือกอีกแห่ง ที่พร้อมจะพาศิลปินทุกคนไปให้ถึงฝั่งฝันของตัวเอง เราได้พูดคุยกับผู้ก่อตั้งทั้งสอง บอล—ต่อพงศ์ จันทบุบผา จากวง Scrubb และ มอย—สามขวัญ ตันสมพงษ์ บอกเล่าถึงอุดมการณ์และประสบการณ์ในการทำค่ายเพลง ว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมาพวกเขามีแนวคิดจะช่วยศิลปินให้อยู่รอดได้ยังไงในยุคที่ธุรกิจเพลงไม่ค่อยมั่นคงแบบนี้
เราจะดีใจเป็นพิเศษในวันที่ศิลปินยิ้มได้มากกว่าวันที่ผลประกอบการดี
ที่มาที่ไปของค่าย
มอย: พี่กับพี่บอลเคยทำ Believe Records มาด้วยกัน วันหนึ่งมันก็ถึงเวลาที่เราอยากทำอะไรเป็นของตัวเองบ้าง ตอนนั้นออกมาก็ไม่ได้คิดว่าจะทำค่ายเพลงเลยนะ แต่ศิลปินบางคนก็หมดสัญญากับ Believe Records พอดี อย่าง สิงโต นำโชค เขาก็มาขอให้เราช่วยดูแลเขาต่อได้มั้ย ตอนแรกเราจะเป็น artist management ซะมากกว่า พอเราดูแลสิงโต คนอื่นก็รู้สึกอยากให้เราดูแลเหมือนกัน ไป ๆ มา ๆ เราก็เลยทำ What The Duck เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ศิลปินหลายคนก็ยังต้องการความมั่นคงในชีวิต มันเป็นยุคสมัยที่คนอยากทำอะไรก็ทำได้แล้ว ค่ายเพลงทุกวันนี้ก็มีคนเปิดใหม่เกือบทุกเดือน แต่บางทีเปิดแล้วยังไงต่อวะ ศิลปินเขาก็ต้องมองว่าจะมาอยู่กับเราเพราะอะไร ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีนะกว่าจะพิสูจน์ตัวเองให้หลาย ๆ คนเห็นว่า What The Duck เนี่ยมันเปิดเป็นค่ายเพลงจริง ๆ กว่าศิลปินหรือสื่อจะเข้ามาคุยกับเรา
บอล: พี่ตามมาอีกปีหนึ่ง พี่มอยเขาจะดูแลเรื่องของกลยุทธ ลูกค้า รูปแบบธุรกิจมากกว่า สิ่งที่พี่ถนัดจะเป็นอีกด้านหนึ่งคือ artist management ออกไปฟังเพลง ออกไปดูวงหน้าใหม่ ออกไปหาคนที่อยากต่อยอดในอาชีพนี้อย่างจริงจัง ดูโปรดักชั่น ดูไทม์ไลน์การผลิตผลงาน ยังมีหุ้นส่วนอีกคนคือคุณ ออน—ชิชญาสุ์ กรรณสูต อาจจะไม่ได้ออกหน้าบ่อยเท่าเราสองคน แต่เขาจะเป็นคนดูแลหลังบ้าน การเงิน บุคลากร และมีคอนเน็กชันในฝั่ง event organizer โทรทัศน์ ถือลิขสิทธิ์ของการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ เราคือสามขาที่ค่อนข้างแข็งแรง ทุกวันนี้ไม่มีที่ไหน stand-alone เป็นค่ายเพลงอย่างเดียวแล้ว บางค่ายก็ทำเพลงโฆษณา บางค่ายก็มีบ้านใหญ่เป็นสำนักข่าวหรือเป็นห้าง แปลว่าค่ายเพลงที่ทำธุรกิจเพลงจริงจังเนี่ยก็ต้องทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เราก็โชคดีที่ได้คุณออนมาช่วยตรงนี้ สิ่งที่เป็นความแตกต่างที่ทำให้เห็นว่าพอศิลปินทำเพลงแล้ว ออกผลงาน ไปเล่นแล้ว เราก็พาศิลปินไปทำงานอื่นเพื่อต่อยอดได้ อย่างปีก่อนเราก็ได้เห็น The Toys ได้ไปโชว์ในงานประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์
มอย: ศิลปินบางคนเขาทำได้หลายอย่างเราก็อย่าไปจำกัดความสามารถเขา พอศิลปินดังมันก็มีหลาย ๆ งานเข้ามา The Toys ไปเล่นละครมั้ย ไปเล่นหนังมั้ย สิงโต นำโชค ไปเป็นโค้ช The Voice มั้ย เราก็อยากช่วยให้ศิลปินอยู่รอดด้วยการผลักดันศิลปินให้ทำอย่างอื่น เรามีหน้าที่ช่วยเขาวางแผนมากกว่าว่าจุดมุ่งหมายของแต่ละคนเป็นยังไง หรือเราเองก็ต้องดูว่าศิลปินเราทำอะไรได้บ้าง เสียงมึงดีอะไปพากย์โฆษณามั้ย รับทำเพลงโฆษณามั้ย รับทำเพลงละครมั้ย ศิลปินบางคนมีภาระหน้าที่ อยากซื้อบ้านให้แม่ ถ้ามีเป้าหมายแบบนี้ก็ต้องมาช่วยกัน เรื่องพวกนี้เราก็ต้องคุยกับศิลปินด้วย แล้วเราก็ต้องขยับขยายฐานธุรกิจของเราด้วย เพิ่มมูลค่าให้กับศิลปินและค่าย แป้งโกะ ตอนนั้นก็อยากเล่นละคร แต่เราอยากให้เขาไปเล่นหนังก่อนเพื่อภาพลักษณ์ของเขาเอง
Whattheduck กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว อุดมการณ์ในตอนนี้ยังเหมือนกับตอนที่ก่อตั้งค่ายเพลงไหม
บอล: แน่นอน อุดมการณ์เรายังเหมือนเดิม แต่ว่าเป้าหมายเราเริ่มชัดเจน ไกลและกว้างมากขึ้น
มอย: เราจะเป็นพื้นที่ให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ ใครก็ได้ที่มีผลงานเพลงและหาคนสนับสนุนเป็นเรื่องเป็นราว นี่คือเจตนาหลักของค่ายตั้งแต่แรกเลย ศิลปินทุกคนที่พี่บอลเซ็นมาเนี่ย ทุกคนล้วนสร้างสรรค์ผลงานเองได้ แรก ๆ คนจะงงว่าทำไมเราถึงไปเอาศิลปิน The Voice มา อย่าง ชาติ สุชาติ เขาก็แต่งเพลงเอง แป้งโกะ ก็ทำเพลงเอง ขึ้นงานเองได้ แล้วเราค่อยมาช่วยปิดงานให้มากกว่า เรื่องโปรดักชันศิลปินควรทำไป 70% นะ แล้วที่เหลือพี่บอลจะแนะนำห้องอัด คนไหนมิกซ์ได้ คนไหนทำมาสเตอร์ดี เรามาช่วยตัดขอบผลงานให้เขา นี่คือวิธีคัดเลือกศิลปินของเรา
บอล: พี่เป็นคนเลือกมาก ก่อนจะรับศิลปินเข้ามาในค่ายพี่จะตามไปเป็นแฟนเพลงเขาก่อน ดูเขาเล่น ดูเขาทำ mv ดูว่าเขามีความเป็นตัวของตัวเองชัดเจนไหม แล้วจะชวนมาสนุกในพื้นที่ของเรา ถ้าได้คุยกับศิลปินในค่ายของเราจะได้ยินเขาพูดบ่อย ๆ ว่าเราไม่ค่อยเคาะงาน (ยิ้ม) เรามีความไว้เนื้อเชื่อใจกันประมาณหนึ่ง พื้นที่เราจะเป็นคนสร้างให้ แต่ผลงานหรือผู้เล่นที่จะอยู่ในสนามเนี่ยพวกคุณจะต้องเป็นคนสร้างโดยมีเราเป็นที่ปรึกษา พี่เองก็เป็นผู้เล่นด้วย ก็พอเข้าใจว่า passion หรือเรื่องในใจของศิลปินเพิ่งเริ่มต้นทำงานมันมีสิ่งที่อยากจะเล่าอยากจะบอก อยากจะเผยแพร่บอกกล่าวความเป็นตัวตนสูง ปีสองปีแรกพี่จะไม่เบรกอะไรเขาเพราะมันเป็นการทำตามฝันของเขา ถ้ามันไม่อันตรายหรือมีความเสี่ยงเกินไปนักพี่จะให้เขาทำ หลังจากนั้นหกเดือนหรือปีหนึ่งเขาจะมาคุยละว่าสิ่งที่เขาอยากทำก็ทำไปหมดละ ไอ้นี่รู้ละว่ามันไม่จริงเลย อันนี้ทำแล้วชอบมาก อันนี้ไม่อยากทำละปรับลดได้มั้ย แล้วลำดับต่อไปพวกผมควรทำอะไรดี แต่ถ้าเราไปบังคับแต่แรกว่าต้องทำแบบนี้หนึ่งสองสามสี่ห้าบอกว่ามันต้องดีแน่ ๆ ถ้ามันดีก็ดี แต่ถ้ามันไม่ดีขึ้นมาความไว้เนื้อเชื่อใจไม่เกิดนะ พี่เชื่อว่าเราต้องยอมเสี่ยงว่าให้คุณไปทำก่อน ถ้ามันไม่ดีจริงค่อยมาคุยกัน ยุคนี้ค่ายไม่ได้เป็นไบเบิ้ลของศิลปินอีกแล้ว มีใครกล้าบอกว่าเพลงนี้มันจะฮิตบ้าง (หัวเราะ) ให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำก่อนดีกว่า แล้วเราจะทำอะไรต่อค่อยว่ากัน
มอย: เรามีหน้าที่แค่ซัพพอร์ตเท่านั้นจริง ๆ เราเป็นค่ายที่จะไม่ลงไปยุ่งกับศิลปิน บางค่ายเขากางเพลงเป็นห้องเลยนะว่า ท่อนนี้ไม่ขาย ท่อนนี้แม่งอินโทรช้าไปวิทยุเปิดไม่ได้ ท่อนนี้ตัดเป็นริงโทนไม่เพราะ แต่ของเราไม่มีเลย เราแค่อยากรู้วิธีคิดว่าอัลบั้มนี้จะเอายังไง จะปล่อยซิงเกิ้ลนี้ก่อนแล้วปล่อยซิงเกิ้ลนี้ตาม เราก็จะช่วยดู ถ้าเราฟังแล้วรู้สึก เอ๊ะ เราก็มีประสบการณ์จากการทำค่ายมาก็แนะนำไปว่าถ้าปล่อยแบบนี้ มันอาจจะเกิดหนึ่งสองสามสี่ห้าตามมานะ เขาก็จะไปคิดของเขาในวง เราก็ไม่มีปัญหานะรับผิดชอบร่วมกัน ผมก็จะถามเสมอ มึงจะทำอย่างนี้ จะแต่งตัวอย่างนี้ จะเอา mv เซอร์แบบนี้แน่นะ (หัวเราะ) โอเค รับผิดชอบร่วม อาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของทุกอย่างบนโลก แค่ไม่ดัง ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่ากัน ก็กลับมาหาปัญหาแล้วทำกันใหม่ นี่คือสิ่งที่เราจะบอกศิลปินตลอด มีศิลปินเยอะแยะที่จะมีบางเพลงที่อยากได้ล้านวิวแต่ตื่นมาแล้วได้แค่สามหมื่น แต่มันโทษใครไม่ได้ไง อาจด้วยจังหวะ ด้วยภาพ ด้วย mv คนมันไม่เก็ต แต่เราจะถามศิลปินในค่ายตลอดว่ามึงแฮปปี้ไหท นี่ก็เป็นคอนเซ็ปต์ของค่ายที่พี่กับพี่บอลจะพยายามคงไว้อยู่ เรื่องการตัดสินใจในงานศิลปิน เราจะไม่ยุ่งกับเขาเลย
ส่วนใหญ่คนน่าจะรู้จักบอลอยู่แล้ว แล้วมอยล่ะเป็นใคร ทำไมถึงอยากตั้งค่ายเพลง
มอย: เป็นรุ่นน้องพี่บอล พี่น่ะอยากตั้งค่ายเพลงมานานแล้ว แต่ไม่คิดไม่ฝันนะว่าจะได้ทำค่ายเพลงจริงจังขนาดนี้ เป็นคนชอบเพลง ชอบดนตรี อยากมีวงดนตรีเป็นของตัวเอง
บอล: แอบเสริมความลับ ถ้าเขาไม่ได้ไปเรียนต่อเขาจะได้เป็น Scrubb ด้วย กีตาร์ชุดแรกนี่ก็เป็นกีตาร์เขานะ (หัวเราะ)
มอย: ตอนนั้นพี่บอลเริ่มเข้ามาอยู่ในวงการช่วงแรก ๆ กับแก๊งเพื่อน เมื่อย Scrubb ก็อยู่ชมรมดนตรีด้วยกันที่ศิลปากรเนี่ย ตอนนั้นพี่บอลทำงานประจำอยู่ Grammy พี่ก็ไปฝึกงานกับเขา ก็ได้เห็นว่าถ้าเราจะเป็นนักดนตรีอาชีพเนี่ย เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่เก่งพอแล้วไม่อดทนขนาดนั้น (ยิ้ม) แต่เราอยากทำงานอยู่ในวงการ ก็ไปดูว่ามีอาชีพอะไรบ้างวะ มี sound engineer ก็ลองไปฝึกงานดู พอเห็นเขาทำงานก็คิดว่าไม่น่าไหว แม่งน่าเบื่อว่ะอยู่แต่ในห้องอัด เลยไปหาคอร์สเรียน music business ที่ต่างประเทศเพราะมันไม่ค่อยมีคนเรียนตอนนั้น พอเรียนจบพี่บอลก็ชวนมาทำงานด้วยเพราะพี่ ๆ ในวงการหาพนักงานตำแหน่งมาร์เก็ตติ้งในค่าย EMI Music เป็นค่ายเพลงสากล พี่เข้าไปทำงานที่นี่ที่แรก ซึ่งเป็นยุคที่ยอดขายซีดีแม่งแย่มาก เราเข้าไปในยุคที่มันตกต่ำแล้วแต่ก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะนะ เราทำงานกับฝรั่งก็ได้เรียนรู้ระบบ เรื่องมาร์เก็ตติ้งการทำงานกับศิลปินใหญ่ ๆ อย่าง Coldplay หรือ Norah Jones เขาทำงานกันยังไงวะ เราทำอยู่สามปีบริษัทก็ปิดตัวลง พี่ก็ได้ไปทำงานหนังประมาณปีนึงแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่อะ พี่บอลกับพี่ฟั่น—โกมล บุญเพียรผล เขาเริ่มทำ Believe Records เขาก็เป็นคนโปรดักชันไง ก็โทรมาชวนดูอีกด้านหนึ่งมั้ย ซึ่งเป็นด้านที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ใน What The Duck เราก็ดีใจได้ทำงานเพลงไทย ช่วงแรกก็ต้องปรับตัวเยอะเพราะมันไม่เหมือนค่ายฝรั่ง แต่โชคดีมั้งที่ได้ทำทุกอย่างเพราะพนักงานก็น้อย โชคดีด้วยที่เราได้ร่วมงานกับ Musketeers, 25 Hours, สิงโต นำโชค เป็นสามศิลปินที่เราช่วยกันสร้างขึ้นมา เราก็ได้เรียนรู้จากเขาเหมือนกัน แล้วเราก็มีความคิดในใจตลอดว่าอยากทำค่ายของเราเองเหมือนกัน จนสุดท้ายก็ได้มาทำค่ายนี้
บอล: เราอยากได้มอยเพราะเราอยากได้คนที่รักการฟังเพลง ชอบเล่นดนตรี ชอบไปดูคอนเสิร์ต แล้วมีความรู้เรื่องการตลาดมาช่วย มากกว่าคนที่เก่งเรื่องการตลาดมาก ๆ แต่ไม่ชอบฟังเพลง ไม่อินเรื่องดนตรี สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่ายคุณจะถูกการตลาดนำ มันนำได้แหละ แต่บางครั้งศิลปินต้องนำบ้าง ต้องคอยบาลานซ์กัน ถ้าคุณเป็น music lover เวลาทำงานลงดีเทลไปจะน่าสนุกกว่า
อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของการก่อตั้งค่ายเพลง
มอย: ตั้งค่ายเพลงไม่ยากเลย แต่การทำค่ายเพลงให้อยู่รอดตลอดได้แม่งยากมาก (หัวเราะ) ยิ่งโตขึ้นก็มีโจทย์ใหม่ ๆ ที่ท้าทายเรามากขึ้น สิ่งที่มันยากในการตั้งค่ายคือเราทำงานกับคน สินค้าเราเป็นคน และเป็นคนที่ติสต์ด้วย (หัวเราะ) สิ่งที่เราทำทุกวันนี้คือต้องทำความเข้าใจกับเขา เขาก็ต้องเข้าใจเรา สิ่งที่มันยากอีกอันหนึ่งเนี่ยคือเราต้องทำยังไงถึงจะพาเขาไปถึงจุดฝั่งฝันของเขา เวลาคนถามว่าทำค่ายแล้วอะไรคือฟินที่สุดก็คือการที่ศิลปินที่เราเซ็นด้วยทุกคนมีอาชีพเป็นศิลปินได้ 100% ทุกวันนี้เรามีศิลปินอยู่ 15 คนในค่าย มีประมาณ 4-5 คนที่เขามีอาชีพเป็นศิลปิน นอกเหนือจากนั้นเขาเป็นศิลปินพาร์ตไทม์ เขาต้องไปเขียนแบบ เขาต้องไปเขียนสตอร์รี่บอร์ด เขาต้องไปถ่ายงานอะไรแบบเนี่ย เราก็เข้าใจว่ายุคสมัยเป็นแบบนี้ แต่ถ้าวันหนึ่งศิลปินที่เราเซ็นมาไม่ต้องทำอย่างอื่นแล้ว ตื่นเช้ามาแค่ไปเล่นดนตรี ไปซ้อม แต่งเพลง ใช้เงินตรงนี้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ นี่คือที่สุดของพี่แล้วในการทำค่าย
What The Duck มีวิธีผลักดันศิลปินเบอร์เล็กให้ขึ้นมาเป็นเบอร์ใหญ่ยังไงบ้าง
บอล: ให้พื้นที่ เหมือนที่เคยพูดไปแล้ว เมื่อเราเลือกศิลปินที่เราเป็นแฟนเพลงเขา เราจะเชื่อมั่นว่าเขาสามารถเติบโตไปในอาชีพการงานสายนี้ได้ เรื่องหนึ่งมันตอบไม่ได้คือเราไม่รู้หรอกว่าเพลงไหนมันจะประสบความสำเร็จ วิธีการคือเราสอนเขาสองด้าน ด้านหนึ่งให้เขาตั้งใจทำงาน หมั่นทำเพลง หมั่นซ้อม หมั่นเล่น หมั่นออกไปหาประสบการณ์ ซึ่งแน่นอนมันไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกครั้ง บางคนโชคดีมีชื่อเสียงตั้งแต่เพลงแรก บางคนเพลงที่สี่เพลงที่ห้าก็ยังต้องทำงานอยู่ ข้อแรกที่คุณต้องเรียนรู้คือคุณต้องมีน้ำอดน้ำทนประมาณหนึ่ง และเป็นเรื่องที่มอยบอกเมื่อกี้ ยุคนี้พี่ยังไม่สนับสนุนให้ใครมาเป็นศิลปินเต็มตัว ถ้าคุณมีงานประจำ ยังเรียนอยู่หรือโชคดีที่บ้านคุณมีฐานะหน่อย ก็ให้อาชีพศิลปินเป็นพาร์ตไทม์ แต่ต้องจริงจัง ต้องมีเวลาพัฒนางานของคุณไป เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะประสบความสำเร็จในวันไหน บางทีแต้มที่คุณทำไว้อาจจะไปถูก unlock ด้วยเพลงเพลงหนึ่งในอีกปีข้างหน้าก็ได้ สะสมไปเรื่อย ๆ เถอะ ด้านที่สองคือเราสอนเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องการจัดการตัวเอง เรื่องหนึ่งที่เราแอบแทรกเข้าไปเสมอคือเรื่องการเงิน เมื่อคุณไม่สามารถตอบได้ว่าเพลงเหล่านี้จะดังเมื่อไหร่แล้วเนี่ย สิ่งที่คุณต้องหัดเรียนรู้คือถ้าคุณอยากทำงานนี้ได้นาน ๆ คุณต้องวางแผนให้เป็น ต้องรู้จักประหยัดเป็น ศิลปินใหม่ทุกคนจะได้เงิน 10 บาทในหกเดือนแรก ถ้าคุณใช้เงินครั้งละ 5 บาทคุณก็จะใช้ได้แค่สองครั้งหมด ถ้าใช้ครั้งละบาทก็ใช้เงินได้สิบครั้ง หรือบางครั้งในสิบบาทนี้คุณมีคอนเน็กชันมีเพื่อนมาช่วย บางเรื่องคุณทำเองได้คุณก็ไม่ต้องใช้เงินเลย คุณจะทำงานไปได้นาน บางคนไม่ได้เรียนรู้ในค่ายเพลงก็ต้องเรียนรู้ในชีวิตจริงอยู่ดี The Toys ที่เป็นศิลปินใหม่ของเราก็ได้ 10 บาทเท่ากันนะ ไม่ใช่ว่าเราทุ่มให้เขาไปเป็นร้อย ทั้ง De Flamingo ทั้ง Chanudom ทั้ง Whal & Dolph แต่ใครจะเล่นแบบไหน ใครทำอะไรเป็น จะได้รับ feedback แบบไหนกลับมาก็อยู่ที่แต่ละวงแล้ว พี่จะไม่ให้ใครเพ้อฝันอย่างเดียวโดยไม่มองความจริงเลย เคยมานั่งคิดเล่น ๆ นะ ทำไมเรากับมอยถึงมีวิธีคิดแบบนี้ อาจมาจากเราสองคนจบศึกษาศาสตร์มา อาชีพครู ซึ่งจริง ๆ ศิลปินก็เหมือนลูกศิษย์ชนิดนึง นักเรียนของเราก็มีที่ที่อยากไปไม่เหมือนกัน มันมีท่าฝั่งตรงข้ามเต็มไปหมดเลย ก็มีจิตวิยาในการดูแลไม่เหมือนกัน เขาโตมาแบบนี้เขาคิดแบบไหน เราต้องเสริมต้องปรับเปลี่ยนไปตามพื้นฐานความรู้สึก ความชอบของเขา มันคือโมเดลของการสอนนักเรียนคนหนึ่งเลย บางเรื่องต้องใจเย็น ไปบังคับเขาไม่ได้ ถ้าคุณจะบังคับเด็กอายุ 15 ที่กำลังติดเพื่อน คุณเป็นศัตรูเขาเลย (หัวเราะ) จิตวิทยาพัฒนาการ
ในค่ายมีทั้งศิลปินเบอร์ใหญ่กับเบอร์เล็กแบบนี้ มีช่องว่างระหว่างรุ่นรึเปล่า
บอล: เป็นเรื่องที่เราต้องการให้มีนะ ในปีแรกที่มอยตั้งค่ายเนี่ยภาพลักษณ์ของคนภายนอกทั้งลูกค้าและแฟนเพลงจะมองว่าค่ายนี้ต้องแมสมาก ๆ เมนสตรีมแน่ ๆ คนอาจจะลืมไปว่า สิงโต นำโชค นี่โคตรจะอินดี้เลยนะ มาจากเพลง ทิ้ง มาจากอูคูเลเล่ แต่แค่สิงโตเขาไปได้สุดเท่าที่เขาอยากไปและเขาก็ประสบความสำเร็จไปตามสเต็ป พอเราเปิด What The Duck แล้วเริ่มต้นด้วยสิงโต เขาก็กลายเป็นศิลปินเมนสตรีมสำหรับแฟนเพลงกลุ่มหนึ่ง เราก็เข้าใจได้เพราะปีแรกของการตั้งบริษัทคืออะไร เราจะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวซักร้านขึ้นมาก็คงไม่อยากให้เจ๊ง การที่เรามีศิลปินที่แข็งแรงและ active อยู่ในตลาดแล้วหารายได้เข้าบริษัทให้มันเซ็ตอัพตัวเองได้รอดผ่านปีแรกไปได้ มันดีกว่าจะไปเอาวง เดอะโดเรมี ที่เป็นดาวรุ่ง ปีหน้าต้องปรี๊ดแน่ แต่ธุรกิจเดินไม่ได้ ก็คงไม่ใช่ บริษัทต้องอยู่รอดได้ก่อน พอปีที่สองบริษัทเริ่มเป็นที่รู้จัก พี่ก็จะเริ่มหาศิลปินใหม่ละ เพื่อเข้ามาเติมให้รู้สึกว่าบริษัทเราไม่ได้ขายอย่างเดียว ก็เริ่มมีศิลปินหลายคนที่พูดไปแล้ว ยังมี Ten Two Twelve มี Brown Flying ที่กำลังเติบโตอยู่ มี Ewery และสร้างสังคมให้เขามาอยู่ร่วมกัน ช่วงปีที่สามคนเริ่มเข้าใจว่านี่เป็นค่ายขนาดกลางนะ และก็ยังแนว ยังเป็นอินดี้อยู่ (ยิ้ม) มันเหมือนกับนักฟุตบอลเลยครับ ในสนามก็มีผู้เล่นจากที่ใหญ่ที่โคตรเก๋าเลย มันจะมีดาวรุ่งผสมกัน ทั้งสองวัยก็จะมีประสบการณ์ในช่วงเวลาของแต่ละคนแตกต่างกัน ข้อดีที่มันเกิดขึ้นคือเขาได้แลกเปลี่ยนกันนะ เราไป Big Mountain รอบล่าสุดเรามีตั้งแต่สิงโตจนถึง Whal & Dolph ที่เพิ่งมาอยู่กับเรา และก็มี The Toys ที่เป็นดาวรุ่งก็ขึ้นเวทีที่ใหญ่อันดับสองแล้ว มันคละกันละ แต่ละวงก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ ได้มาเชียร์กัน ได้ไปทัวร์ด้วยกันมีความเป็นโรงเรียนนี้ฉันมีเพื่อนที่สร้างผลงานเก่ง ๆ อยู่ด้วยกัน พอรวมเป็นกลุ่มแล้วมันแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือคำตอบว่าทำไมในค่ายเพลงควรจะมีศิลปินที่โตมาก ๆ และโคตรจะหน้าใหม่แต่มีฝีมือ มีอนาคตมีโอกาสเป็นดาวรุ่งได้ มันควรมิกซ์กัน แม้แต่พนักงานในค่ายก็ต้องมิกซ์ด้วยไม่ใช่มีรุ่นพี่เก่า ๆ เด็กรุ่นใหม่ที่คิดอะไรก็ไม่รู้ พูดอะไรก็ไม่รู้ เชี่ย เราโคตรไม่เก็ตเลย (ยิ้ม) แต่มันมีวิธีของมันว่ะ
มอย: บางเรื่องแม่งแบบ จริงหรอวะ ต้องใช้รูปแบบนี้หรอวะ ก็ต้องเชื่อมันอะ บางทีเราก็ไม่ได้อยู่ ณ ตรงนั้นแล้ว ศิลปินทั้งสิบกว่าเบอร์ของเราเนี่ย เขาก็มีความสามารถต่างกันด้วยนะ ก็อยากให้มาทำอะไรด้วยกัน พี่คนนี้อาจจะไปช่วยคนโน้นแต่งเพลงมั้ย นี่เป็นสิ่งที่เราอยากเห็นในค่ายเราด้วย
บอล: อย่างล่าสุด The Toys เล่นเสร็จแล้วพี่ก็พาเขาไปดู Chanudom เล่น ทอยก็รู้สึก amazing มาก เรามีโชว์แบบนี้ด้วยหรอวะ โคตรบรรเจิดเลย ได้ไอเดียไปทำอะไรของผมเต็มไปหมดเลย ทอยอาจจะไม่ได้เล่นแบบชนุดมหรอกแต่มันก็ได้เห็นว่าพี่เขาเล่นแบบนี้ได้หรอวะ ทั้งที่โชว์ทอยก็ตอบโจทย์แฟนเพลงเขาอยู่แล้วนะ แต่ทอยยังตื่นเต้นกับโชว์ของชนุดม นี่ค่ายเดียวกันหรอวะ (หัวเราะ) ก็ตลกดี ซึ่งมันต้องเกิด เด็กก็ควรได้เรียนรู้ในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ ผู้ใหญ่ก็ได้เรียนรู้ในความแปลกใหม่ของเด็กที่มานำเสนอ (มอย: มันส่งพลังให้กัน) เราต้องสร้างสังคมให้เขาได้อยู่ด้วยกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน
ถ้าถามว่ายุคนี้ศิลปินยังต้องมีค่ายอยู่มั้ย เราว่าจำเป็นนะ ในเรื่องบางเรื่องเราทำได้ดีกว่าและต่อยอดอาชีพให้ศิลปินได้ดีกว่าคนในวงทำกันเอง ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่งนะ แต่การทำงานเป็นทีมที่ทุกคนมีความถนัดทุกสาขาจะช่วยซัพพอร์ตเขาให้ได้ไปต่อ
What The Duck ได้มองตลาดต่างจังหวัดไว้บ้างไหม
มอย: ต่างจังหวัดเราก็ให้ความสำคัญนะ เรามองว่าค่ายเราไม่ได้เป็นค่ายกรุงเทพ ฯ คนเมือง เราพยายามดูสถิติชาร์ตวิทยุที่ต่างจังหวัดหรือจังหวัดไหนที่จ้างเราไปเยอะบ้าง ก็จะเห็นเลยว่าเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบล อุดร มหาสารคาม ชลบุรี อะไรเงี้ย ที่พูดมาทั้งหมดเนี่ยเป็นจังหวัดที่มีมหาลัย อาจจะมีทั้งคนกรุงเทพ ฯ และคนต่างจังหวัดไปอยู่ ศิลปากรทับแก้ว ม.บูรพา เงี้ย เชียงใหม่แน่นอนอยู่แล้วเขาเป็นเมืองของการเสพศิลปะ มหาสารคามตอนนี้มาแรงมาก ถ้าวงอินดี้ไม่ได้ไปเล่นเนี่ยแสดงว่าคุณยังไม่ได้เป็นอินดี้จริงนะ (หัวเราะ) คุณอาจจะเป็นอินดี้กรุงเทพ ฯ แต่ถ้าจะครองเมืองอินดี้เนี่ยคุณต้องไปร้านมหานิยม เรื่องโฟนอินเราก็ทำตลอด เพราะเราทำเพลงให้คนทั้งประเทศฟัง แต่อาจจะต้องเริ่มที่คนกรุงเทพ ฯ ก่อน เริ่มที่ Cat Radio ก่อน เริ่มที่ฟังใจ ก่อน แล้วให้เขาไปต่อยอดไปเรื่อย ๆ เราโฟกัสทั้งประเทศแหละ
ศิลปินในค่ายคนไหนมีฐานแฟนคลับอยู่ต่างจังหวัดเยอะที่สุด
บอล: ถ้านับจังหวัดที่เราปักหมุดตอนนี้ ทั่วถึงที่สุดน่าจะเป็น สิงโต นำโชค คนที่สองน่าจะเป็น ชาติ สุชาติ เพราะเขาเล่นหลายที่ ฟูลแบนด์ก็ได้ อะคูสติกก็ได้ เขาไปเล่นในร้านกาแฟเก๋ ๆ เล็ก ๆ งานกลางวันอะไรงี้ได้เยอะ Musketeers ก็ไม่น้อยหน้า ไม่ใช่อำเภอเมืองอย่างเดียวแล้วแต่เป็นอำเภออื่นด้วย แถมวงนี้จะแปลกมากเพราะได้ไปเล่นที่ลาวบ่อยมาก จริง ๆ คนลาวจะเสพดนตรีดูหนังไทยเยอะ วงดนตรีหลายวงก็ได้ไปเล่นที่ลาวบ่อยบางวงไปครั้งเดียวแล้วก็จบ แต่ Musketeers ปีนี้ไปมา 4-5 ครั้งแล้ว ไปเวียงจันทน์เหมือนเป็นจังหวัดหนึ่งในไทยแถมเปลี่ยนร้านด้วยนะ คงเพราะ เท็น นักร้องนำพูดอีสานได้ด้วย วิธีสื่อสาร เนื้อเพลงความเรียบง่ายในการเล่าเรื่องอาจจะแบบถูกจริตเขา The Toys ก็ไล่ตามพี่ ๆ มาแบบหายใจรดต้นคอเลย มีช่วงหนึ่งต้องไปพักอยู่เชียงใหม่เป็นหลักแล้วเล่นตามเชียงราย แม่สาย คนอื่นก็ทยอยตาม ๆ กันไป ข้อดีจากเรื่องนี้คือพอเรามีรุ่นพี่นำไปแล้วเนี่ย เราสามารถนำเสนอรุ่นน้องไปต่อได้ เรารู้จักทีมงานมีคอนเน็กชันร้านในภูมิภาคนั้นหมดแล้ว พอเขาเจอสิงโต คุ้นเคยกับทอย แล้วถ้าเขาไม่อยากจ่ายแพงเราก็ยังมีน้อง ๆ หน้าใหม่ไปนำเสนอเขาได้อย่าง De Flamingo กับ Whal & Dolph นี่คือสิ่งที่เราพยายามผลักดันเด็ก ๆ ออกไปด้วย
มอย: จริง ๆ เราไปต่างประเทศมาแล้วด้วยนะ สิงโต นำโชค คือคนแรกที่ได้ไปอังกฤษแล้วเราไปจริงจัง ไปเล่นตามบาร์ตามผับเล็ก ๆ มีพาร์ตเนอร์ทำเพลงพิเศษภาษาอังกฤษ ไปอยู่อังกฤษสองอาทิตย์ไปแต่งเพลง ก็คุยกับสิงโตนะว่าไปเอาประสบการณ์ ที่ดีคือรอบนั้นได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์กับ BBC เราก็มองอยู่แล้วว่าตลาดต่างประเทศมันก็ควรจะไป แต่ไปยังไงให้เราไม่เจ็บตัว ไม่เสียเวลาศิลปินด้วย เขาควรจะได้ประโยชน์ ทริปนั้นกลับมาผมก็คุยกับสิงโต สิงโตก็แฮปปี้ คนมาดูเขาไม่เยอะหรอกแต่เขาก็สนุกกับเพลงเรา มาขอบคุณเราหลังโชว์ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้เพลงกลับมาด้วย หลังจากกลับมาก็วิเคราะห์ว่าตลาดอังกฤษมันยากมาก คนเก่งมันเยอะมาก ทุกคนแม่งแต่งเพลงเองเล่นดนตรีกันเก่งมาก เราก็ต้องยอมรับเองว่าตลาดลอนดอนมันยากจริง ๆ เราก็มองตลาด AEC ดู สองปีที่แล้วเราก็ได้มีโอกาสไปออกอัลบั้ม โชคดี ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอัลบั้มสากลอัลบั้มแรกของสิงโต เขียนเพลงใหม่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด สิงโตก็มีส่วนร่วมทั้งแต่งเพลงเองอัดเองกับโปรดิวเซอร์ต่างชาติ แล้วก็มีโปรโมตทัวร์สามที่ที่ญี่ปุ่น ออกวิทยุ ถ่ายหนังสือ ก็ประสบความสำเร็จในแง่หนึ่งตรงนั้น แล้วก็ไปเกาหลีมาที่ Busan Rock Festival 2017 โห ไปถึงเวทีใหญ่มาก ตายแล้วมึงไอ้โต (หัวเราะ) ตอนซาวด์เช็กอะไรแห้งแล้งมาก แต่พอไปอาบน้ำกลับมาขึ้นเล่นตอนหกโมงคนเต็มเลย (ยิ้ม) โชคดีที่เป็นเฟสติวัลที่ใหญ่ก็ได้ถ่ายทอดสด ได้ออกสื่อ พอเราไปอะไรแบบนี้ก็เริ่มมีโปรไฟล์ก็เจอค่ายฝรั่ง เจอคนจัดงานมิวสิคเฟสติวัลที่ญี่ปุ่นก็ได้มาคุยกัน ป๋าเต็ดก็มา ถ้าโชว์เราดีอีเมล์ก็มาละ ได้เจอกันเมื่อวานนะ เราจะจัดงานนี้ สนใจไปเล่นมั้ย เราเองก็มองว่าตลาดอินเตอร์ก็น่าไปแต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา ถ้ามีโอกาสเราก็ไป เพื่อเป็นประสบการณ์ของศิลปินและของเราด้วย
บอล: เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็อยากไปเล่นต่างประเทศเพราะโลกมันเปิดกว้างขึ้นมาก เด็ก ๆ ในค่ายเราก็อยากไป แต่เราบอกว่าอยู่ที่วัตถุประสงค์ ถ้าคุณเป็นวงอินดี้ที่ไม่ได้มีภาระ มีต้นทุนแล้วอยากไปหาประสบการณ์หรือสร้างโปรไฟล์บางอย่างคุณไปเลย ติดต่อผู้จัดที่ญี่ปุ่นแป๊ปเดียวก็ไปได้เลย เมื่อก่อนเป็นเรื่องตื่นเต้นมากไปเล่นที่ญี่ปุ่น แต่เดี๋ยวนี้ใครจะไปก็ไปได้ แต่ค่ายเราทำงานเป็นทีมก็ต้องดูลำดับความสำคัญก่อน ว่าคุณต้องมีหน้าที่ผลิตเพลง ต้องสร้างผลงาน มีการบ้านภาระที่ต้องตอบโจทย์คนในประเทศก่อน ไปเล่นต่างประเทศได้มั้ย ได้ แต่เราว่าไม่สมเหตุสมผล มากน้อยทุกอย่างต้องคิดค่าใช้จ่ายก่อน วงเด็ก ๆ ง่ายสุดเก็บเงินได้อยากซื้อตั๋วโลว์คอสแบกของไปลุยกันเองได้ แต่ในความเป็นค่ายไม่ใช่ เงินก้อนหนึ่งที่คุณจะไปเล่นงานเฟสติวัลเล็ก ๆ ที่ญี่ปุ่นกลับมา คุณอาจจะเสีย mv ดี ๆ ตัวหนึ่งไป อาจจะเสียเงินทำโปรโมตในต่างจังหวัด เรารู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่า ควรเอาเงินมาทำอะไรที่เราควรทำก่อน (มอย: แต่เราไม่บังคับนะ) ต้องมาตอบก่อนว่าจะไปทำไม ไปเอาเท่ ไปเอาโปรไฟล์ ไปเอาเรื่องเล่าไว้บอกคนอื่นว่าไปเล่นญี่ปุ่นมา สำหรับค่ายมันมีหน้าที่อื่นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่านั้นรออยู่ อาจจะไปได้แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ พี่จะบอกแบบนี้ อย่างสิงโตไปแล้วกลับมาก็เอามาต่อยอดได้ ไปญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีมาลูกค้าก็สนใจ มีการต่อยอดเกิดขึ้นมากมาย มาสร้างรายได้ให้ประเทศได้อีก ไม่ใช่ว่าไปมาแล้ว!! แล้วก็เงียบไป ค่ายเพลงมันไม่ทำอะไรแบบนั้นแล้วจบไป ไม่ได้ไม่ให้ไปนะ พอถึงเวลาอันสมควรคุณได้ไปแน่นอน แต่คุณต้องแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่เป็นหน้าที่หลักที่คุณต้องทำให้เห็นก่อน ศิลปินที่พี่รู้สึกว่าทำงานจริงจังในด้านนี้และได้ผลตอบรับที่เป็นที่รู้จักว่าเป็นศิลปินจากไทยก็มีสองคน คนแรกคือ แสตมป์ เขาต้องปรับจูนหลายอย่างนะ ต้องเรียนภาษาเพิ่มและซีเรียสกับการร้องมาก พยายามปรับจูนวิธีบางอย่างเพื่อให้ไปได้ แสตมป์ก็ไปคนเดียวกับภรรยาแล้วไปใช้วงที่นู่นเพื่อลดต้นทุน ไปหาคอนเน็กชัน ล่าสุดพี่เจอเพื่อนคนญี่ปุ่นเขาก็บอกว่าแสตมป์เริ่มเป็นที่รู้จักในซีนอินดี้ที่ญี่ปุ่นแล้วนะ สองก็คือ Gym & Swim เป็นวงที่มาแรง แต่เขาทำงานต่อเนื่องมา 4-5 ปีนะ เขาทำงานประจำกันด้วยและต้องหาจังหวะไป ไม่ได้ไปถี่เท่าไหร่ด้วย
ค่ายมองวงการเพลงนอกกระแสตอนนี้ยังไงบ้าง
บอล: โหย ดีครับ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เราได้บุคคลากรดี ๆ จำนวนมาก สองปีหลังมานี้ส่วนหนึ่งเราขับเคลื่อนด้วยศิลปินนอกกระแสเยอะแล้วผลตอบแทนมันไม่ได้กลับมาในรูปตัวเงินอย่างเดียว มันมาในแบบชื่อเสียงด้วย คอมมิวนิตี้ด้วย ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อค่ายมากขึ้นด้วย เด็กใหม่ ๆ ทำอะไรหลายอย่างสนุกและมีสีสันเสมอ สิ่งที่มาคู่กันคือระบบจะคัดคนเก่งไปเอง คนที่โผล่มาได้จะค่อนข้างครบถ้วน ไม่ใช่แค่แต่งเพลงได้เล่นเพลงดีอย่างเดียว ดูแลตัวเองได้ จัดการตัวเองไปทัวร์ไปเล่นได้ แต่งตัวเป็นถ่ายรูปเป็น รู้ว่าวางตัวยังไง ทำมิวสิกวีดีโอเอง เดี๋ยวนี้มันจะมีวงที่ครบวงจรมาก ๆ ทุกคนแต่งเพลงเอง เล่นดนตรีดีหมดเลย แล้วใครล่ะที่จะแหลมกว่านั้น มีเอกลักษณ์น่าจดจำ
แล้วค่ายมองว่าจุดสูงสุดของการเป็นศิลปินคืออะไร
บอล: คือการได้เดินไปถึงสิ่งที่เขาคาดหวังไว้ แต่ละคนก็มีความฝันคาดหวังไว้ไม่เหมือนกัน บางคนก็ชัดเจนเลยว่าอยากรวย อยากประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงได้ตราบนานเท่านั้น บางคนแค่อยากมีอัลบั้มไว้เล่าให้ลูกหลานฟังก็มีความสุขละ นั่นก็อาจเป็นจุดสูงสุดของเขาแล้วนะ หลาย ๆ วงในนี้ไม่ได้หวังว่าจะดังเป็นศิลปินอาชีพ อาจจะ ณ ตอนนี้ด้วยก็ได้แค่มีพื้นที่ให้ผมได้เล่นดนตรี ได้ออกอัลบั้ม ไม่ต้องรับโทรศัพท์เองแค่นี้ผมก็โอเคแล้วพี่ ตอนนี้โคตรแฮปปี้ได้อยู่ค่าย เวลาเปลี่ยนจุดสูงสุดแต่ละคนก็อาจจะเปลี่ยน อาจจะขยับไปก็ค่อยมาคุยกัน
จากยุคดิจิทัลมาถึงยุคสตรีมมิง ค่าย What The Duck ต้องปรับตัวยังไงบ้าง
มอย: แทบจะไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย เราเกิดมาในยุคสตรีมมิงอยู่แล้ว ยุค MP3 เนี่ยไม่ต้องพูดถึงเลย ค่ายเพลงมันเจ๊งกันอยู่แล้ว ตอนที่พี่ทำ Believe Records เนี่ยก็เป็นยุค MP3 ปลาย ๆ แล้วนะ ตอนเปิดค่ายก็มีคนมาถามว่าเราจะขายซีดีได้หรอ แสดงว่าคนที่ถามไม่ได้อยู่ในวงการเพลง ตอนนั้นแผ่นละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะเจ๊งแล้วนะ คนมันไปโหลดกันหมดแล้ว เราทำค่ายเพลงเราก็ไม่ได้หวังรายได้จากซีดีด้วยซ้ำ เราไม่สามารถหารายได้จากวิธีเดิมแล้ว ก็มีความหวังนิด ๆ ว่าเมืองนอกจะเขามี Spotify มี Apple Music แล้วคนไทยฟังเพลงจาก YouTube เยอะมากเลย เพิ่งสองสามปีที่ผ่านมาเองที่ YouTube จ่ายตังให้เรา เขาไม่ได้บังคับให้เราเอาเพลงไปใส่นะ เราต้องเอาเพลงไปใส่ในระบบเขา เขาให้เงินเรามาด้วยเนี่ยโชคดีขนาดไหนแล้ว เขาไม่คิดตังเราที่เอาเพลงไปใส่ระบบเขาก็ดีแค่ไหนแล้ว คนไทยฟังใน YouTube อยู่ดี ซึ่งทุกวันนี้ก็ make sense เขาให้ตังเราดีเหมือนกันนะ เราก็แฮปปี้กับตรงนี้ และระบบสตรีมมิงก็ส่งสัญญาณที่ดีให้กับวงการเพลง สองผู้เล่นใหญ่ ๆ อย่าง Spotify กับ Apple Music ก็มาในไทยแล้วด้วย Joox ก็เริ่มโตมาก ๆ แล้ว พอมันมีร้านเยอะ ๆ ทุกร้านก็ต้องพัฒนาแข่งขันกันไป มันก็ดีสำหรับค่ายเพลงอย่างเรา
แล้วเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ล่ะ
มอย: โหย เลิกพูดไปแล้ว (ยิ้ม) แต่จริง ๆ เรื่องลิขสิทธิ์กับศิลปินเราก็ชัดเจนนะ มาสเตอร์เป็นของเราแต่ว่าลิขสิทธิ์เป็นของศิลปิน
บอล: เราสอนเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย เราสอนวิธีทำงานร่วมกันการดูแลสิทธิ์ซึ่งกันและกัน ถ้าเราทำงานได้ดีเขาก็คงไว้ใจให้เราดูแลสิทธิ์ตรงนี้ให้ เพราะศิลปินคงไม่มีเวลาเอาสิทธิ์ไปหารายได้ (มอย: เราจะเป็นคนดูแลจัดการบริหารตามสัญญาให้ แต่เราไม่ใช่เจ้าของ) เป็นเรื่องที่ต้องสอนนะ เชื่อว่าทุกวันนี้คงยังไม่อ่านกันหรอก มากน้อยเป็นเรื่องที่คุณต้องรู้เพราะเป็นสิทธิ์ของคุณ เด็ก ๆ จะไม่ค่อยสนใจ สนใจแต่จะได้เล่นดนตรีที่ไหน แต่พอเพลงมันเยอะขึ้นอย่างสิงโตเนี่ย เขาก็อยากรู้เพิ่มขึ้นเพื่อจัดหมวดหมู่ว่าเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง เป็นเรื่องที่จะได้เก็บกินไปเรื่อย ๆ
มอย: เป็น passive income ถ้าเพลงคุณดังแล้วจดลิขสิทธิ์ไว้ชัดเจน ตัวค่ายเราเองก็พยายามสร้างระบบตรงนี้ด้วย ถ้าเงินมันมาแล้วเป็นสิทธิ์ของศิลปินก็จะพยายามรีบชำระให้ บางศิลปินก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเงินยังไม่ได้ เราก็จะอธิบายให้เขาฟังว่าเงินก้อนนี้มันจะมาได้ยังไง
จากประสบการณ์หลายปีในวงการเพลงมันสอนอะไรเราบ้าง
บอล: มันไม่ได้สอนหรือไม่สอนนะ แต่เราเหมือนเป็นคนในสังคมนี้ไปแล้ว เราคงไม่เคยตั้งคำถามว่าสังคมที่เราอยู่เป็นยังไงแต่เราก็อยู่ในสังคมนี้ได้ เราก็เป็นสมาชิกในสังคมนี้ที่บ่นอยู่ตลอดว่า ถ้าเลือกได้ไม่อยากทำละ อยากไปขายของ กลับบ้านไปปลูกผัก แต่ก็อยู่มาจะ 20 ปีละ กลายเป็นว่าเราอาจจะไม่ได้เก่งมากแต่ก็อยู่ได้ แล้วถ้าไปอยู่ที่อื่นจะทำได้ดีแบบนี้รึเปล่า สังคมนี้นอกจากให้ความรู้เรา ให้อาชีพเรา ให้ความมั่นคงเรา มันก็เป็นสังคมที่น่ารักดีอะ มันยังได้ทำงานศิลปิน ได้ออกไปเจอพบเจอผู้คน ได้ไปเทศกาลดนตรี ไปดูถ่าย mv เข้าห้องอัดไปดูเด็กมันทะเลาะตบตีกัน มันเป็นการเสพศิลปะอย่างหนึ่ง (หัวเราะ)
มอย: มันสนุกอะ พี่ว่ามันรวมศาสตร์หลายอย่างเข้าด้วยกัน ทำเพลง ทำปก ทำเสื้อผ้า วันไหนเบื่อมาก ๆ ก็ออกกองบ้าง (บอล: ไปขอซื้อเสื้อผ้าสไตล์ลิสต์ต่อ (หัวเราะ)) มันมีหลาย ๆ อย่างให้เราทำ มันเครียดมั้ย ก็เครียดแหละ เพราะเราดูแลคน แต่มันเข้ามาเป็นชีวิตส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว บางทีศิลปินไม่ได้โทรมาบ่อย ๆ พี่ก็เหงานะ พี่ก็จะโทรไปหาว่าเป็นไงวะ ไม่ได้โทรมาบ่นอะไรเลย มันเหมือนครอบครัวอะ เป็นพ่อ เป็นครูบ้าง มันก็มาปรึกษาเรื่องชีวิตบ้าง พี่ก็รู้สึกว่าเราช่วยเขาตรงนี้ได้มันก็ดีกับใจพี่มาก เราได้ช่วยคนนะ มันเติมเต็มพี่ได้ที่เห็นศิลปินประสบความสำเร็จ (ยิ้ม)
มีโมเมนต์ไหนที่ประทับใจที่สุดตั้งแต่ทำค่ายนี้มา
มอย: พี่ว่าของพี่มีเรื่อย ๆ อย่างล่าสุดเราแฮปปี้กับ The Toys ที่เขาประสบความสำเร็จมาก ๆ พี่ไม่ค่อยได้ไปดูคอนเสิร์ตแต่ที่ Big Mountain เราไปอยู่หลังเวทีเห็นคนร้องเพลงศิลปินที่เราร่วมทำมากับเขาได้ พี่แฮปปี้แทนน้องว่ะ แฮปปี้แทนทีมงานว่ะ ใช้เวลาสี่ห้าเดือนปลุกปั้นกันมาแล้วทุกคนก็ร้องเพลงศิลปินของเราได้ พี่จะแฮปปี้มาก เป็นโมเมนต์ที่เราภูมิใจกับทีมงานเรา มันก็จะมาเรื่อย ๆ ขอให้มันมาเรื่อย ๆ (หัวเราะ)
บอล: อาจจะเพราะมีลูกเยอะ (ยิ้ม) มีภาระที่ต้องทำเยอะแล้วมันมีเป้าของมันเป็นรายย่อยระหว่างทาง อาจจะพูดเหมือนสวยหรูนะ แต่เราจะดีใจเป็นพิเศษในวันที่ศิลปินยิ้มได้มากกว่าวันที่ผลประกอบการดี บริษัทอยู่รอดคนเฮด้วยมันแค่กลุ่มเล็ก ๆ แต่เวลาศิลปินมันประสบความสำเร็จคนมันจะเฮกันหมด อย่าง Big Mountain ที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะวงดนตรีไปเล่น 8 วงนะ แต่เพราะทุกคนได้ไปสนุกด้วยกัน ได้ประสบกาณ์ ได้แลกเปลี่ยนกัน ทุกคนแม่งช่วยกันหมดดูเป็นครอบครัวที่ทุกคนเป็นส่วนประกอบของความสำเร็จ เราก็ชอบที่ศิลปินชอบเล่าว่าเพลงแต่ละเพลงมีที่มายังไง บางคนต้องผ่านชีวิตโคตรดาร์กมา เพลงแม่งคือชีวิตเขาอะ เวลาฟังคนที่ถ่ายทอดชีวิตตัวเองผ่านงานศิลปินมันจะมีพลังงานที่สูงกว่า แล้วถ้างานศิลปินหรือชีวิตของเขาส่งต่อไปสู่คนหมู่มากได้อีก พลังงานมันมหาศาลเลยนะ มันเป็นความสุขที่ตอบยาก อย่างงี้สนุกกว่า มันสุข มันหัวเราะกันหลายคน
ถ้าตอนนี้จะมีคนเปิดค่ายเพลงใหม่ มีอะไรจะแนะนำเขาไหม
บอล: ก็อยากให้คิดดี ๆ หน่อย (หัวเราะ) เราเปิดค่ายนี้ท่ามกลางการคัดค้านของคนรอบข้างนะ พี่โตมานี่แม่พี่ไม่เคยเตือนอะไรเลย แต่พอน้องไปฟ้องแม่ว่าพี่บอลจะเปิดค่ายเพลง แม่โทรมา แม่ไม่เคยโทรมาเลย (หัวเราะ) ก็เข้าใจได้ว่าเขาห่วงในฐานะคนนอก ภาพลักษณ์ของธุรกิจเพลงต่อคนนอกมันแย่ มันเหนื่อย โอกาสที่จะเอาเงินไปทิ้งทะเลมันสูงมาก แต่พอเราอยู่ข้างในกลับรู้สึกมันดีนะ มันมีช่องทางให้เราวิ่งเต็มไปหมด ถ้าคุณทำตัวเป็นน้ำไหลเข้าซอกซอยได้หมดอย่าทำตัวเป็นหินเป็นไม้ละกัน คุณมีทางไปเต็มไปหมด อาจจะเจอช่องทางใหม่ที่ไม่เคยเจอก็ได้ ไม่ห้าม แต่ขอให้คิดให้ดี คิดให้รอบด้าน
มอย: ถ้าคุณทำจริงจัง ศึกษาจริงจัง รอบคอบ และมีศิลปินที่คุณอยากทำ ก็ทำได้นะ พี่เชื่อว่าคุณอยู่ได้ แต่มันจะไม่มีทางลัด ไม่ใช่ธุรกิจที่สร้างมูลค่ามหาศาลในเวลาสั้น ๆ มันมีข้อแม้ของมันเยอะ ถ้าคุณรักและคุณอยากทำก็แนะนำให้ลองทำดู
บอล: ที่สำคัญคือคุณต้องทำได้มากกว่าศิลปินที่คุณดูแลด้วย ไม่ว่าคุณจะมีกี่คน แต่คุณเปิดค่ายมาก็ต้องทำได้มากกว่าเพราะทุกวันนี้ศิลปินทำเองได้หมดแล้ว ถ้าวันหนึ่งคุณทำได้เท่าเขาหรือน้อยกว่า เขาก็ไม่จำเป็นต้องอยู่กับคุณแล้ว ถ้าถามว่ายุคนี้ศิลปินยังต้องมีค่ายอยู่มั้ย เราว่าจำเป็นนะ ในเรื่องบางเรื่องเราทำได้ดีกว่าและต่อยอดอาชีพให้ศิลปินได้ดีกว่าคนในวงทำกันเอง ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่งนะ แต่การทำงานเป็นทีมที่ทุกคนมีความถนัดทุกสาขาจะช่วยซัพพอร์ตเขาให้ได้ไปต่อ
แล้วอีก 5 ปี มองว่า What The Duck จะเป็นยังไง
บอล: เข้าตลาดหุ้นยังงี้หรอ (หัวเราะ)
มอย: คอนเซ็ปต์น่าจะเหมือนเดิมเป็นพื้นที่ให้ทุกคนเล่นดนตรี อีก 5 ปีเราก็คงเติบโตขึ้น
บอล: ลูก ๆ ทั้ง 15 คนก็คงโตขึ้น แล้วก็คงมีลูก ๆ คนใหม่ ๆ
มอย: คงให้มันอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่เคยคิดว่าจะเข้าตลาดหุ้นหรือมีตึกของตัวเองเลย แค่อยากให้ศิลปินทุกคนมีอาชีพเป็นศิลปินจริง ๆ อย่างที่พี่ 5 เบอร์ตอนนี้เป็นแล้ว เราจะไปถึงได้ยังไงก็คงคาดหวัง
บอล: สมัยนี้คงอยากออกอายุน้อยร้อยล้านบ้าง (หัวเราะ) แต่การเข้าตลาดหุ้นเป็นเรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ มันน่าจะขัดแย้งกับธุรกิจนี้หน่อยเพราะคุณภาพมันต้องมาก่อน จำนวนและเวลาระยะสั้นคงไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เข้าไปอยู่
มอย: บริษัทนี้เข้าตลาดหุ้นไม่ได้หรอก เพราะพี่ไม่น่าจะส่งงานตามใจผู้ถือหุ้นได้ ทุกวันนี้ก็ต้องกดดันพี่บอลเพราะศิลปินบางคนก็เลื่อนมาเรื่อย ๆ ผลงานไม่เสร็จอะ
บอล: ก็ตามแล้วอะ (หัวเราะ) ศิลปินยังไม่มีใจอะ จะให้ทำยังไง (หัวเราะ) ไปบอกแบบนี้กับผู้ถือหุ้นเขาคงเกลียดเรา
ปีหน้าค่ายจะมีผลงานใหม่ ๆ อะไรบ้าง
มอย: ปีหน้าน่าจะเป็นอัลบั้มของศิลปิน อัลบั้มใหม่ของ สิงโต นำโชค อัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกของ The Toys อัลบั้มของ De Flamingo, Chanudom (บอล: โหย เยอะว่ะ) ชาติ สุชาติ พูดไปนี่ก็กดดันพี่บอลนะ (หัวเราะ) พี่ทำพรีเซนต์ลูกค้าไปหมดแล้ว ก็เป็นหน้าที่พี่บอลที่ควรจะทำให้เสร็จได้แล้ว อัลบั้มของศิลปินที่ควรจะออกก็ต้องออกได้แล้ว อาจจะมีอีเวนต์ของค่ายมากขึ้น ตอนนี้เราก็เริ่มจัดคอนเสิร์ตบ้างละ ก็เริ่มมีสปอร์นเซอร์ที่ไว้ใจเรามากขึ้น สมัยก่อนจะเล่นในผับบาร์ ตอนนี้ก็เริ่มไปเช่าสถานที่ละ ปีนี้เรามีคอนเสิร์ตใหญ่ของ Musketeers หรือ Jam Night ของช่างชุ่ย ที่เราทำงานกับศิลปินนอกค่ายด้วย ปีหน้าอาจจะได้เห็นอะไรแบบนี้มากขึ้น ไม่มีแล้วค่ายนี้ไม่ทำงานกับค่ายนี้ คนในวงการเพลงต้องช่วยกันแหละ ถ้าเราช่วยกันทุกคนพี่ว่ามันจะยั่งยืนมากเลย สองสามปีที่ผ่านมาเราได้นั่งคุยกับคนอื่นมากขึ้น (บอล: หัวอกเดียวกัน) บางทีเราแค่ไม่ได้คุยกันไง เราเริ่มรู้แล้วปัญหาที่เราเจอมันคืออะไร ถ้าเราทำงานด้วยกันมันจะเป็นยังงี้ ๆ ตั้งมาตรฐานให้วงการ ควรจะแก้ไขอะไรกันตรงไหน มันก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ What The Duck ได้ที่ https://www.facebook.com/whattheduckmusic/