Welfare 6 สวัสดิการดนตรีที่อยากให้วงการเพลงไทยมีอะไรแปลกใหม่กว่าที่เคย
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Narawit Suksawat
ช่วงหลังมานี้เราอาจจะเห็นศิลปินอิสระทำกลุ่ม collective หรือค่ายเพลงเล็ก ๆ ออกมามากมายเพื่อกำหนดแนวทางดนตรีเฉพาะของตัวเอง หรือเพื่อทดลองการบริหารจัดการบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบผูกขาดในอุตสาหกรรมดนตรีของบ้านเรา เพราะพวกเขาเชื่อว่าการมีทางเลือกมากกว่าจะทำให้วงการดนตรีของเราสนุกขึ้น และนี่ก็เป็นอีกกลุ่มสร้างสรรค์ผลงานเพลงโดยมีเบื้องหลังเป็นยอดฝีมือของวงการ ทั้ง บิว Lemon Soup รัฐ Tattoo Colour และ ออฟ Rats Records เรามาฟังเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสร้าง Welfare 6 ขึ้นมาเป็นตัวเติมเต็มระบบนิเวศน์ของวงการเพลงกัน
ทำไมถึงเกิดเป็น Welfare 6 ขึ้นมา
บิว: เมื่อก่อนผมกับรัฐจะได้งานจากวงเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่รู้จักกันอยากให้ทำเพลงให้ หลัง ๆ เริ่มเข้ามาเยอะ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ก็เซ็ตเป็นทีมเลยแล้วกัน
รัฐ: แล้วก็ตอนที่ผมกับบิวเข้าไป Smallroom ใหม่ ๆ (บิว: เป็น gen เดียวกัน) ก็เคยคุยกันแล้วคลิกกัน ด้วยไลฟ์สไตล์อะไรด้วย ก็คิดว่าโตไปอยากจะมีค่ายของตัวเองบ้างนะ พอสักพักก็รู้ว่าทำค่ายเองมันเหนื่อย เห็นจากพี่รุ่งเอง หรือเห็นพี่ ๆ แต่ละคนก็ตาม ก็เลยคิดว่าถ้าทำเป็นโปรดักชันเพลงเฉย ๆ อาจจะไม่เครียดเท่าทำค่าย เลยมารวมตัวกัน แล้วบิวรู้จักออฟพอดี Welfare 6 เลยเหมือนเป็นโปรดักชันเฮาส์ทำเพลง
ออฟ: นอกจากเราทำ Rats Records ส่วนใหญ่จะทำงานเพลงองค์กร เพลงโฆษณา แล้วมีช่วงนึงมีงานโฆษณาเข้ามาแล้วต้องการทีมแต่งเพลง จากที่รู้จักบิวกับรัฐอยู่แล้ว ก็เลยโยนให้เขาแต่งเลย แล้วบิวก็จะโยนงานมิกซ์มาให้เราบ่อย ๆ อยู่แล้ว ก็เหมือนทำงานด้วยกันมาเรื่อย ๆ (บิว: ทำไงถึงจะมีคนมิกซ์ฟรีให้เรานะ) ก็เลยทำด้วยกันไปเลย
แล้วทำไมถึงเลือก curate วงน้อง ๆ เข้ามาทำเพลงให้ อย่างเช่น Mamakiss
บิว: ไม่ได้ curate มันเริ่มมาจากพอเรางานเริ่มโหลด จะมีน้องวินเข้ามาช่วยงาน ซึ่งเมื่อก่อนเจอที่บ้านพี่ซัน ก็เลยให้น้องลองทำดู แล้ววินก็ทำงานได้ (ออฟ: ก็คือวินเป็นมือปืนที่ไม่ได้เป็นประจำมาช่วยงานแรก ๆ) จนตอนนี้ก็เป็นฟรีแลนซ์ประจำที่ Welfare 6 แล้วน้องก็บอกว่ามีวง เป็นมือกลอง เราก็เพิ่งรู้
รัฐ: เมื่อก่อนเราจะไปซ้อมที่ห้องพี่ซัน Sunny Trio เป็นอาจารย์สอนเปียโนอยู่ที่ศิลปากรน่ะครับ แล้วน้องวินจะประจำอยู่ที่นั่น Mamakiss ฟีลก็เหมือนเป็นวงน้องเราเอง บิวก็เลยบอกว่างั้นเดี๋ยวทำเพลงด้วยกันไปเลย แต่มันไม่ใช่ music label อะครับ เราแค่ช่วยทำเพลงให้ศิลปินเสร็จเป็นอัลบั้มได้ แล้วต่างคนต่างมีอิสระเป็นของตัวเอง
ออฟ: พวกเราก็จะเป็นเหมือนกลุ่ม Monotone อะไรมากกว่า แต่มันก็จะไม่ได้เป็นเชิงพาณิชย์ขนาดนั้น เพราะไม่ได้ขาย เราช่วยทำโปรดักชันอะไรให้ได้ แต่เราไม่มีทุนในการโปรโมตให้ขนาดนั้น แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าจะหาเงินจากวงด้วย แบบถ้าเกิดเขามีงานโชว์แล้วเราจะไปหักค่าตัวอะไรจากเขา สมมติอัลบั้มหน้าน้องเขาไปเจอค่ายใหญ่ก็ไปเซ็นสัญญาอะไรได้เลย เราเหมือนเข้ามาเติมเต็มให้เขาจบงานได้
บิว: ลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดก็เป็นของวง เพราะอย่างที่บอกเราไม่ใช่ค่ายเชิงพาณิชย์ ไม่มี PR ประจำ ไม่มี AE ไม่มีกราฟฟิก ไม่มีตัง (หัวเราะ) คือคนที่เดินเข้ามาหาเราจะบอกเงื่อนไขแรกอย่างเดียวคือ กูไม่มีทุนนะ (รัฐ: มีแค่เวลาในการช่วยทำเพลง) อาจจะมีบ้างนิดหน่อย เช่น mv สักตัวนึง
ไม่เหนื่อยหรอที่ออฟเองก็มีค่าย บิวกับรัฐเองก็มีวงที่ต้องทำ
ออฟ: ไม่หรอก มันก็เติมเต็มดี หนึ่งเลยคือความสนุกที่ได้เข้ามาเจอกัน ได้คุยกัน ได้อัพเดตกัน
บิว: เราทำเพลงตามโจทย์มาปีนึง ทำเพลงโฆษณา ทำเพลงให้ศิลปินที่เขาขอว่า ต้องฮิตนะ แต่ต้องเท่ด้วย (หัวเราะ) (รัฐ: ให้สัมภาษณ์อันนี้นี่เหมือนระบาย) แต่เราก็เข้าใจโจทย์ของเขา ก็เขามาจ้างแล้ว
ออฟ: อันนี้เป็นอีกประเด็นของโปรเจกต์นี้จริง เพราะเหมือนบิวกับรัฐจะโดนโจทย์มาบ่อย แต่โปรเจกต์นี้ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพราะเราอยากทำเพลงที่เราชอบฟัง (บิว: แบบที่เราชอบ แบบ Mamakiss เงี้ย) แล้วก็อยากมีฟีลทำเพลงที่สนุก แล้วไม่ต้องมานั่งคิดว่ามันจะฮิตมากหรือฮิตน้อย
มีศิลปินคนอื่นใน Welfare 6 อีกไหม
บิว: ทำปีละวง อย่างปีนี้ก็เป็น Mamakiss ปีหน้าก็มีจับจองตัวไว้หนึ่งคนละ งานน่าสนใจ แต่ยังไม่บอกละกัน ปีหน้าอาจจะมีออฟทำ ถ้ามีเวลา
ออฟ: ก็จะมีโปรเจกต์ทำกันเอง คือมันเป็นที่ได้ระบายมากกว่า ได้ทำอะไรตามใจ
รัฐ: ได้ใช้เวลาว่างแทนที่จะกินเหล้าเมาแล้วกลับบ้านไป มากินเหล้าแล้วคุยงานกันบ้าง
แล้ววงที่เข้ามานอกจากจะเป็นน้อง ๆ ที่รู้จักแล้วใช้อะไรเป็นเกณฑ์เลือกอีก มีแนวเพลงมาเกี่ยวข้องไหม
ออฟ: เหมือนคุยกันถูกคอ คุยกันรู้เรื่อง ง่าย ๆ เลยเหมือนสามคนฟังแล้วรู้สึกว่าเท่ดี ลองทำดูไหม ไม่ถึงขั้นว่าจะขายได้ปะวะ (บิว: เป็นเพลงแบบที่เราชอบ)
รัฐ: เพราะว่าพอเราไม่ใช่ค่ายเพลงอะครับ เราก็ไม่ต้องกังวลเรื่อง feedback ขนาดนั้น ก็ทำที่เราชอบ ศิลปินก็แฮปปี้ที่จะทำงาน เราก็เลยทำโปรดักชันชื่อ Pop in the Box มา แต่พอมี Welfare 6 ก็เหมือนมีจุดรวมเป็นที่ที่นึงเป็นหลักแหล่ง (บิว: จริง ๆ อยากจะใช้ชื่อเดิม แต่มีเพื่อนคนนึงเขาขอไว้ ไม่ให้ใช้ชื่อเป็น genre) ก็เลยทำออฟฟิศขึ้นมา อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการเช่าที่ ซื้อของ แต่มันก็มีความสุขในการทำ แล้วก็มีประโยชน์กับเราสามคน เราอยากจะทำอะไร จะนัดเจอใคร ลูกค้า หรือให้สัมภาษณ์ ก็ใช้เป็นจุดนัดพบ มันก็เลยดูแข็งแรง แต่ความรู้สึกตอนแรกยังเหมือนเดิม
ออฟ: เหมือนตั้งมาเป็นส่วนกลางแหละ อย่างรัฐ ทำ Tattoo Colour จะเข้ามาแต่งเพลงก็ได้ บิวแต่งเนื้อก็เข้ามาทำที่นี่ไม่ต้องทำอยู่บ้าน (บิว: บ้านมึงมันไกล!) อย่างเราบางทีก็ทำที่ Rats Records บ้าง แต่บางทีอยากนัดใครเข้ามา อย่าง ภูมิ วิภูริศ บางเพลงก็มาอัดที่นี่
บิว: เมื่อก่อนเวลาไปทำงานเพลงข้างนอกบางทีก็ไปที่บ้านออฟ บ้านรัฐบ้าง อันนี้ก็ทำให้ง่ายที่สุด นัดน้องศิลปินก็ให้มาที่นี่ มีที่จอดรถ กินข้าวได้ วงใหม่คุณ Rocket Man ก็นัดกันตรงกลางที่พื้นที่ส่วนกลางตรงนี้ แต่คำว่า music label ที่ใช้แปะ มันง่ายต่อการสื่อสารเฉย ๆ
ออฟ: หรือวงน้องอย่าง Mamakiss เนี่ย ที่ทำไปบางทีก็ควักเงินของออฟฟิศออกไปด้วยนะ ไม่ได้ไปตามเก็บเงินน้องฝ่ายเดียวเพื่อมาทำ mv เราก็ช่วยกัน (รัฐ: เหมือนพอพี่พอมีก็แบ่งให้น้อง) หรือเด็กเรียนจบฟิล์มก็อยากทำ mv มาขอทำให้ เราก็ส่งให้ไปทำเลย (บิว: แก้เลี่ยน) มันมีเรื่องก่อนหน้านี้ด้วยคือเราทำค่าย Rats Records ใช่ไหม แล้วก็คุยกับบิวไว้นานแล้ว คือ Rats ส่วนใหญ่มันเป็นเพลงสากล เราก็อยากทำเพลงภาษาไทยบ้าง บิวบอกว่าถ้าทำ Thai Rats มันจะตีกันไปมา ก็เลยถือโอกาสมาทำตรงนี้ดีกว่า
รัฐ: จริง ๆ แล้วการทำงานและวิธีคิด ระบบของมันก็เป็นโปรดักชันเฮาส์ธรรมดา (บิว: และถ้าใครชอบ Mamakiss ค่ายไหนสนใจ) ก็เอาไปเลย! (หัวเราะ) เอาไปเร็ว ๆ ด้วย
บิว: แล้วก็บริหารยังไงให้ไม่เจ็บตัว เหมือนโปรดักชันเราไม่ได้ออกตังแล้วเสียฟรี คือขอให้ทุกคนเท่าทุนหมด แต่มีเพลงออกไป จริง ๆ โครงสร้างมันคล้าย ๆ Rats Records แหละ
ซึ่งตอนนี้ถือว่าโอเคอยู่ไหม
บิว: ยังไม่รู้ เพราะอัลบั้ม Mamakiss ต้องลองขายดู แต่คิดว่าน่าจะไม่เจ็บ น่าจะสบาย ๆ แล้วถามว่าหวังว่าจะได้กำไรไหม ถ้าได้กำไรก็ให้น้องมันหมดเลย
ออฟ: ที่นี่ก็จะแบ่งเป็นสองพาร์ต มี commercial music เพลงโฆษณา เพลงองค์กร อันนี้มันก็เหมือนเป็นพอร์ตของเราด้วย
บิว: มันจะมีพวกเพลงโฆษณาใช่ไหมครับ ซึ่งเราหาตังจากตรงนั้นได้แหละ
แต่ละคนแบ่งพาร์ตกันทำงานใน Welfare 6 ยังไงบ้าง
บิว: ถ้าตอนนี้คือ รัฐเขายังมีวงเขาอยู่ ออฟก็ต้องดู Rats ผมอาจจะเป็นคนหลักที่เข้ามาบ่อยที่สุด แต่ถ้ามีงานก็ใช้กระจายงาน ใครถนัดท่าไหน สมมติงานนี้ อะ รัฐช่วงนี้ว่างหรือเปล่า เอางานอะเรนจ์ไป
ออฟ: อย่างบางเพลงถ้าเกิดคิดเนื้อทำนองกับน้องมาแล้ว รัฐมาตบเนื้ออีกรอบ ช่วงไหนเราว่างอาจจะช่วยมิกซ์บ้าง เพราะว่าก่อนหน้านี้เราก็ทำโปรดักชันโฆษณามา แต่อย่างที่เข้าใจกัน โปรดักชันโฆษณาบางทีมันใช้เวลา 3-4 วัน แต่มิกซ์ มาสเตอร์ บางทีจบวันสองวันได้ เราก็เลยเจียดเวลามาทำตรงนี้ดีกว่า แล้วก็อะเรนจ์ให้บิวคุมน้อง ๆ เด็ก ๆ ทำได้ รัฐอะเรนจ์ก็เร็วอยู่แล้ว นิดเดียว เหมือนทดแทนกัน ใครมีโปรเจกต์ไหนมาก็ช่วย ๆ กัน แล้วเราจบนิเทศศิลป์ออกแบบมาก็อาจจะถ่าย mv ให้
รัฐ: ค่อนข้างชอบนะครับ เพราะผมทำ mv ไม่ได้ มิกซ์ก็ไม่ได้ ทำได้แค่เขียนเนื้อ ทำนอง อะเรนจ์ สามอย่าง บิวก็เป็นเนื้อกับทำนองเป็นหลัก (บิว: แล้วก็ managing เป็นโปรดิวเซอร์ ดูภาพรวม นั่นนี่) เหมือนมีคนสามคนที่ทดแทนกันได้ตลอดเวลา ทำมาแล้วแฮปปี้
บิว: ก็เลยไม่ต้องจ้างพนักงานเพิ่มด้วย เช่น ปกทั้งหมดของวงที่จะทำเนี่ย ผมดู mv ออฟก็ดู รัฐ มึง เพลงนี้ดูเนื้อให้มันหน่อย
รัฐ: ความที่มันเป็นเพื่อนกัน นอกจากกินเหล้ากันก็ได้งานด้วย (บิว: จะได้มีเงินมากินเหล้ากันเท่านั้นแหละ ที่เนี่ย (หัวเราะ)) คำถามคือตั้งแต่ตั้งมาได้กำไรหรือยัง ขอยังไม่ตอบละกัน อายเขา (หัวเราะ)
ออฟ: ตอนแรกเริ่มก็มีการหารค่าเช่ากันด้วยนะ (บิว: นอกจากไม่มีเงินเดือนแล้วยังต้องควักเงินจ่ายค่าเช่าด้วย (หัวเราะ)) ก็เป็นค่าที่ส่วนกลางไง อันนี้เหมือนห้องคนโดของเราแล้วหารค่าเช่ากันอยู่
มองว่าการที่มี collective หรือมีค่ายเล็ก ๆ เกิดขึ้นมากในทุกวันนี้เป็นผลดีหรือผลเสียกับศิลปิน
ออฟ: ตอนแรก ๆ เราเคยคิดว่าค่ายเยอะมันจะโน่นนี่ ยุ่งยาก ทุกวันนี้คิดว่ายิ่งของมีมาเยอะ ๆ ยิ่งแข่งขันสูงอะ ความหลากหลายก็ยิ่งเยอะ เหมือนประเทศไหนที่มีนักกีฬาเยอะ มันก็ต้องแข่งกันว่าใครเก่งกว่ากัน ไม่งั้นก็ติดทีมชาติไม่ได้
บิว: ถ้าสังคมไหนมีการแข่งขันสูงจะเป็นสังคมคุณภาพ แนวเพลงจะหลากหลายขึ้น (ออฟ: มันจะไม่เฉื่อย) เพราะถ้าเกิดทุกคนมามัวคิดว่า ตายละ แนวนี้มันไม่ขายว่ะ เพลงก็จะอยู่ในเชิงที่ว่า คิดเพื่อขายได้ไหม มากกว่า ล่าสุดผมรู้จักอีกแก๊งนึงทำเหมือนกัน เต๊นท์ Summer Dress ก็ทำ Tomato Love Records ก็คล้าย ๆ กันในเรื่องระบบ ไอ้นี่เพื่อนกัน มาทำด้วยกัน
รัฐ: ผมชอบที่ว่า พอตัวไม่ได้ใหญ่มาก การเข้าถึงก็ไม่ได้ยากมาก ทำให้เรารวมกันง่ายขึ้น ไม่ว่าฟังใจหรืออะไรก็ตาม เราเจอกันง่ายขึ้น สุดท้ายคนที่ได้รับประโยชน์ที่สุดก็คือคนฟัง
ออฟ: แล้วผมไม่ชอบมุมมองอย่างนึงตั้งแต่เริ่มทำ Rats แล้ว คือไม่ชอบมองคนอื่นเป็นศัตรู เราไม่ได้พาดพิงใครนะ แต่บางค่ายเพลงอาจจะมองว่า เอ๊ย ค่ายนี้เป็นคู่แข่งกับเรา เราว่ามันไม่ดีอะ มองว่าเป็นเพื่อนกันแล้วทำเพื่อผลงานออกมาให้มันหลากหลายดีกว่า
รัฐ: คือความจำเป็นของค่ายอาจจะต้องมีวิธีคิดในการแข่งขัน เขาต้องดูแลคนเยอะไง แต่ของเรา (บิว: คนมันน้อย ก็แมเนจง่าย) เราก็ทำเพลงเพื่อเป็นอีกทางเลือกนึงสำหรับตัวเอง
บิว: ทุกวันนี้จ้างเราได้นะเพราะเราไม่ใช่ค่ายเพลง (หัวเราะ) ก็ยังรับงานเบื้องหลังศิลปินคนอื่น ๆ ในนาม Welfare 6 นี่แหละครับ อย่างล่าสุด ฝ้าย ปัถยา ที่ทำ ก็ produced by Welfare 6 เสมอ (ออฟ: รัฐก็ยังได้ทำ Palmy หรือค่ายนั้นค่ายนี้มาให้เราช่วย) สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำไม่ใช่เพื่อจะมาแข่งพี่ ๆ น้อง ๆ อยู่แล้ว อย่าง Clutch-Type Pencil วงของพวกเราสามคน ไอ้นี่ (ออฟ) ก็อยู่ค่าย ผมก็มีวง รัฐก็มีวง แล้วรู้อยู่แล้วว่าเป็นแนวเพลงที่โคตรแบบไม่ขาย แต่ก็มีตรงนี้ให้เราได้ทำสิ่งที่ชอบจริง ๆ ขายไม่ได้ไม่เป็นไร มันเหมือนขับมอเตอร์ไซค์เล่นอะ หลายคนมันมีงานอดิเรกของตัวเองแหละในทุกวันศุกร์ ส่วนเราก็เอาเงินที่จะไปใช้ตรงนั้น เอาเวลาตรงนั้นมาทำเพลง หรืออย่าง The Caption ก็ไม่ได้สังกัด Welfare 6 แต่ทั้งหมดมันก็ทำด้วยกัน
รู้สึกยังไงที่คนเขียนเพลงรุ่นใหม่หลายคนยึดรัฐ บิว เป็นไอดอล
บิว: ห้ามยึดนะ เราต้องวิ่งแข่งกันตลอดเวลา
ออฟ: เรามองว่าเด็กสมัยนี้เก่งกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เราแค่เข้ามาแนะแนวให้มันไปถูกที่ถูกทางมากกว่า
รัฐ: ถ้าจะให้บอกอะไร จะบอกว่าให้หาเพื่อนที่ดีทำเพลงด้วยกัน บางทีสมมติเรามีเพลงของเราหรือมีค่ายของเรา แล้วเราถูกกดดันบางอย่างที่ก็เคยเจอมาก่อน แต่พอมาเจออะไรแบบนี้ก็ได้มาแชร์ไอเดียกับเพื่อนเราเองเนี่ยแหละด้วยความรู้สึกใหม่ ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าความฮิตจะเกิดไหม แต่สิ่งที่เราชอบแต่แรกคือความสนุกในการทำเพลงมันจะกลับมาเสมอ เวลาเรามาเจอคนที่แอคทิฟเหมือนกับเรา อยากทำเหมือนกับเรา อย่างน้อยคนทำเพลง คนฟังเพลงเอง ไม่ได้คิดว่าฉันต้องดีกว่าเธอ เธอดีกว่าฉัน เราก็อยากจะฟังเพลงไม่ใช่หรอ (บิว: เพลงที่แปลกใหม่หน่อย)
ออฟ: เรารู้สึกว่าช่วงวัยที่เราเกิดมา โตมาในยุค 90s เพลงยุคนั้นมันมีค่ายเล็ก ๆ ผุดขึ้นมาเยอะแล้วมันสนุก เราก็รู้สึกอยากให้มันมีฟีลแบบนั้นเกิดขึ้นอีก มีวงใหม่ ๆ หน้าใหม่ ๆ จะเจ๊งไม่เจ๊งช่างมัน
บิว: เลือกไม่เลือกไม่เป็นไรนะ แต่ให้มันมีสักหน่อย ระบบนิเวศน์มันจะได้กลม แล้วถ้ามีใครสักคนคิดว่า เฮ้ย ยังไงดี ขาย ไม่ขาย ก็จะบอกกันว่า มึงช่วยเอาไม้หน้าสามมาฟาดด้วยนะ (หัวเราะ) ใครบอกเรื่องยอดวิวนี่เดี๋ยวจะตีเลยนะ ไอ้ Mamakiss ‘เนี่ย พี่ ไม่เดินเลยว่ะ’ ‘เฮ้ย จำวันแรกที่เราคุยกันได้ไหม’ จะถามมันเสมอเวลาเราคุยกันเรื่องนี้ ‘แต่ถ้าซีเรียสเรื่องนั้น เดี๋ยวกูมีค่ายที่กูรู้จัก สามารถส่งให้มึงไปต่อยอดทางนั้นได้’
ออฟ: ไม่ได้ไปคำนึงแบบคนสมัยนี้ว่ายอดวิวต้องเท่าไหร่เราว่าวันนึงก็จะโอเคถ้าชัดเจนในแนวทางแล้ว อย่างตอนทำภูมิยอดวิวหลักพันหลักหมื่น ไม่ได้คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ รู้สึกว่าแค่เริ่มก่อน แล้วรักในงานที่ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็มีคนติดตามเอง
บิว: ซึ่งแฟนร้อยคน ซื้อร้อยแผ่น มันก็คัฟเวอร์ทุกอย่างที่เราลงโปรดักชันไปหมดแล้ว แล้วสบายใจ ได้ทำเพลงที่ชอบ ไม่เจ๊งด้วย มีความสุข (ออฟ: ไม่ต้องมีแฟนเพลงเป็นล้าน) แต่ถ้าได้แบบนั้นก็ดี เรายินดี
แต่ยุค 90s สมัยนั้นมีค่ายใหญ่คุมบังเหียนอยู่ด้วยไม่ใช่หรอ ค่ายอัลเทอร์เนทิฟก็เฉพาะกลุ่มมาก ๆ
รัฐ: ผมมองว่ายุคอัลเทอร์ตอนนั้นค่ายใหญ่ก็ไม่ได้คอนโทรลน้า Grammy RS แต่ไอ้ตัวที่เราชอบกันอะ มันไม่ได้มีสังกัดในค่ายใหญ่
ออฟ: อย่าลืมว่า Modern Dog เกิดขึ้นมาจากค่าย Bakery Music เป็นเบอร์แรกของค่าย แล้วก็ขายได้ล้านตลับ เฉย (รัฐ: หรือ Smile Buffalo ก็ตาม สังคมยังเป็นอย่างนั้นอยู่ มันสนุกดี) เรากลับมองว่ายุคนี้ค่ายใหญ่คอนโทรลเยอะกว่า 90s อีกนะ ตัวที่ออกมาจากค่ายใหญ่ยอดวิวระดับ 10-20 ล้านขึ้น เขาคุมสื่ออะไรทั้งหมด
บิว: แต่ถ้าใครบอกว่ากูจะเป็น Bakery ใหม่กูจะเอาไม้หน้าสามฟาด (หัวเราะ) พราว หรืออะไรพวกนี้ น่าจะเกิดจากคนทำเพลงแหละ หรือจะไม่มีสังกัดก็ได้นะ แล้วก็ดัง เราก็ยังสนับสนุน การมีเพลงทางเลือกเหมือนเราแค่มาเติมระบบนิเวศน์ใหม่ เพราะระบบนิเวศน์มันค่อนข้างแห้ง เขาให้โจทย์มาว่าขอฮิต ขอดัง เท่ ๆ ปัญหาคือเราก็อยากทำให้ทุกคนดังแหละ พองานมาถึงมือเราเราก็อยากให้เขาประสบความสำเร็จก็เพราะเขาฝากฝังแล้ว แต่ว่าเราคอนโทรลไม่ได้จริง ๆ
ออฟ: เพลงดังของเขาคือขอยอดวิวสิบล้านขึ้น ซึ่งเราก็รู้สึกว่า มันจะไปคาดเดาได้ไงวะว่ามันจะสิบล้าน เราจะไปรับปากเขาว่าถ้าไม่ถึงสิบล้านแล้วไม่เอาตังก็ไม่ได้
แล้วเคยเจอปัญหาว่ารับงานมาแล้วติดลายเซ็นเราลงไปในงานบ้างไหม
ออฟ: อันนั้นแก้ไม่ได้
บิว: รัฐอาจจะมีบ้าง แต่บอกเลยว่า ปัญหาคือคนรู้ว่ารัฐทำ มันรู้จากการอ่านก่อนเว่ย ‘เนี่ย พี่รัฐทำอีกละ’ เพราะถ้าไม่อ่าน หรือถ้างานไหนรัฐไม่ขึ้นเครดิต มันก็ไม่รู้หรอก ไอ้นี่ก็เซ็งแบบ ‘แหม่ ทำเป็นรู้ดี’ ว่ากันตามตรงลายเซ็นโปรดิวเซอร์มีกันทุกคน แต่ก็พยายามให้เป็นตัวของศิลปินมากที่สุดแหละ
ออฟ: อีกเรื่องที่เรามอง ในมุมมองของเด็กยุคนี้เราว่าแง่คิดเก่า ๆ แบบค่ายใหญ่ก็เริ่มจะไปแล้ว เราบอกน้อง ๆ ที่มาช่วยทำว่า ถ้าแต่งเพลงเองไม่เป็น อยู่ยากแล้วทุกวันนี้ หนึ่งคือหาลายเซ็นตัวเองไม่เจอ สองคือคนก็จะไม่เชื่อ
รัฐ: ใช่ ผมว่าตอนนี้คนฉลาดขึ้น คำว่าเชื่อไม่เชื่อเนี่ยสำคัญ คนที่ไม่ได้แต่งเพลงเอง ถ้าเกิดเราไม่ได้ร้องเพลงแบบเพราะ หรือมีเอกลักษณ์ ยุคนี้มันก็ลำบาก เพราะคนเก่งขึ้นเยอะ ทุกคนทำเพลงในห้องนอนได้ แล้วซาวด์ก็ดีขึ้นแล้ว โหลดซอฟต์แวร์ฟรีบางทีก็มี วัดกันที่สกิลแล้วแหละครับ คนที่ไม่ใช่ตัวจริงก็ลำบากขึ้นหน่อย
ออฟ: ไม่ได้ว่านะ แต่ค่ายใหญ่บางทียังมองศิลปินบางคนเป็นแค่นักร้อง แล้วเอาโปรดิวเซอร์มาแต่งเพลงให้ ตอนนี้อาจจะยังโอเคอยู่แต่อีกหน่อยจะยาก เพราะว่าหนึ่งเลยลายเซ็นไม่มี แล้วก็ให้ใครก็ไม่รู้แต่งเพลงในอัลบั้มนึงให้เยอะไปหมด แล้วคนก็จะมองด้วยความไม่เชื่อว่าคนนี้เป็นศิลปิน อย่างเราแยกแยะตลอด ศิลปินกับนักร้อง ระบบค่ายใหญ่ทำให้บางคนเป็นแค่นักร้องหรือ entertainer
บิว: หลัง ๆ เวลาเราทำ Welfare 6 คอนเทนต์ต่าง ๆ หรือแม้แต่แนวเพลง สิ่งที่มันต้องการต้องถามมันเลยว่ะ ไม่ใช่แบบ จัดนี่ให้หน่อย ขอดัง ๆ เริ่มไม่มีแล้วนะ (ออฟ: มันไม่ใช่ยุคที่แบบ พี่เบิร์ดร้องเพลงเพราะ แต่งเพลงให้พี่เบิร์ดซิ) ครูเพลงมันหมดไปแล้ว เราแต่งมั่วซั่วแล้วให้ไอ้นั่นไปร้องไม่ได้แล้ว
รัฐ: ก็เลยต้องเค้นจากเขาให้เยอะที่สุด ก็จะมีทางเลือกเหมือนกัน คนที่เขาไม่อยากร้องเพลง อยากเป็นนักแต่งเพลง ก็สามารถทำได้ แต่ว่าก็ต้องเหนื่อยขึ้น ไม่ใช่ว่าฉันแต่งเพลง เอาเพลงฉันไปร้องเถอะ รับรองดัง อาจจะไม่การันตีแล้ว ต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น นักแต่งเพลงต้องเก่งขึ้น นักร้องก็ต้องเก่งขึ้น
บิว: นักร้องต้องมีของมาให้นักแต่งเพลง เช่นว่า ผมชอบแบบนี้ ผมอยากเล่าคอนเทนต์นี้ หลัง ๆ นักแต่งเพลงอาจจะเป็นแค่ ghostwriter แล้วว่ะ แต่ว่าต้องเป็น ghostwriter ที่เก่งมาก ต้องเดามันให้ออก เพราะบางคนมันแต่งเพลงไม่เป็น คนแต่งไม่เป็นก็คือแต่งไม่เป็นนะเว่ย แต่คือทำยังไงให้คนแต่งเพลงไม่เป็นเล่าเรื่องให้เป็นเขาที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราทำอยู่
ออฟ: อย่างน้อง Mamakiss เขาก็มีของของเขา มีเพลงแต่งเรื่องเขาเล่ามา (บิว: มันแค่ขาดคนชี้นำนิดนึง ตบ ๆ ไปทางนี้หน่อยจะดีขึ้น)
แปลว่าสมัยนี้อัตลักษณ์ในงานของศิลปินสำคัญ
บิว: สำคัญมาก ๆ
ออฟ: คนฉลาดขึ้นมันไม่ใช่ว่าแค่เต้นเก่งก็ดัง มันเป็นยุคที่ Bruno Mars ก็แต่งเพลงเอง Taylor Swift ก็แต่งเพลงเอง Ed Sheeran เงี้ย คนเฮด ๆ ระดับโลก แล้วในจังหวะที่เราทำให้ Mamakiss กันเราก็คะยั้นคะยอให้มันแต่งเองด้วย
บิว: จะมาโยนว่า พี่จัดไปเลย ไม่ได้ เดี๋ยว ๆ มึง (หัวเราะ) หรือเวลาจะแต่งให้มัน ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าวงมึงเป็นแบบไหน ไม่งั้นก็แต่งให้มันไม่ได้
รัฐ: ทุกวันนี้ก็มีพี่คนนึงบอกว่า สังคมแออัดของเพลง (บิว: เพลงเพราะ เพลงดีไปหมด) ใช่ คนที่จะโผล่มาได้ก็ต้องมีบางอย่าง ถ้าไม่เพราะล้ำเหลือเหลือเกิน ก็ต้องมีสไตล์โดดเด้ง หรือมีอะไรบางอย่างที่คนฟังน่าจะชอบมาก เราไม่รู้ว่า Welfare 6 จะทำได้ไหม (บิว: แต่มันคือปณิธาณของเรา)
แล้วตอนนี้พอจะมีใครเป็นตำนานแบบพี่เบิร์ดได้ไหม
บิว: เริ่มยากแล้ว เพราะสังคมเพลงกว้างเกินไปแล้วที่จะมีหนึ่งคนโดดขึ้นมา
รัฐ: แล้วยุคนี้เขาอาจจะดังจริง ๆ พุ่งจริง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่นานแค่ไหน ผมว่าคนไหนก็ตามที่ดังแล้ว เขาต้องเลี้ยงงานเขาตลอดเวลา เป็นยุคของคนที่ต้องมีความครีเอทิฟแล้วก็ความขยัน ผมว่าไม่ใช่แค่วงการเพลงนะ ทุกอันเลย สื่อเองก็ตามก็ต้องขยัน ไม่ได้วัดแค่พรสวรรค์และความเก่งกาจ มันก็ต้องมีแหละ แต่ถ้าเก่งแล้วไม่ขยันก็ลำบาก แต่ legend เนี่ยตอบยาก ต้องมองกันยาว ๆ แล้วก็คนตัดสินคงไม่ใช่เราหรอก ต้องคนฟังหลาย ๆ คน
บิว: สรุปคือต้องทำงานต่อเนื่อง อะสมมติ ‘ภูมิดังแล้ว สบายแล้วดิภูมิ’ ไม่ได้ สุดท้ายหลังจากทัวร์เขาก็ต้องทำงานอยู่ดี ถ้าผมเป็น The Toys ในยุคก่อน มีเพลง ก่อนฤดูฝน เพลงเดียว ผมจบแล้ว แต่ไม่ ทอยก็ยังไม่จบ ก็ต้องทำอะไรของมันออกมาเรื่อย ๆ เพจดัง ๆ เพจนึงถ้าได้คอนเทนต์นึงแล้วลง ปั้ง! แล้วก็ไม่ลงต่อ
ออฟ: เดี๋ยวนี้ก็มีเพจอะไรไม่รู้คนไลค์เป็นแสน ๆ ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด คนที่ทำต่อเนื่อง คนขยัน คือคนอยู่รอด อย่าหยุด ยังไงก็มา จริง ๆ อย่าง The Toys ภูมิ วิภูริศ หรือแม็กซ์ เจนมานะ เขาก็ทำการบ้านเยอะนะ ต้องให้เครดิตเขา แม้แต่ภูมิเองก็ไม่เชื่อว่า Lover Boy จะอยู่ได้ ก็ต้องทำเพลงใหม่ ระหว่างทัวร์เองก็เอาเพลงมาให้ฟังกันตลอด ตอนนี้เขาทำอัลบั้มใหม่อยู่
บิว: ก็อยากให้กำลังใจน้อง ๆ ละกัน วงอินดี้อะ ทำไมชุดนี้ไม่มา เพลงนี้ไม่มา เฮ้ย ทำต่อเนื่อง ผมว่ามา ถ้าเห็นคนเพลงเดียวดังแล้วก็อย่าไปอิจฉาเขา เพราะคนเพลงเดียวดังมันก็เหนื่อย (หัวเราะ) แล้วก็ต้องมีความกลัวตลอดว่า ชิบหาย เด็กแม่งเก่งขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วต้องพูดว่าอย่าง Smallroom แต่ละวง Somkiat Polycat เงี้ย
รัฐ: ต่อให้เป็น Tattoo Colour ก็ต้อง work hard เราวงเป็นสิบปีแล้ว เด็กตามมาแล้ว ยิ่งต้องทำงานหนัก ทำแล้วหา ทำแล้วคิดอะครับ อย่าท้อ
ออฟ: เมื่อกี้เพิ่งคุยกันสนุก ๆ กับรัฐกับบิวว่า Boy Pablo อายุเท่าไหร่ เขาอายุ 19! ชิบหายแล้วเด็ก 19 ขึ้นมาแล้วมึง (รัฐ: แต่มองเป็นเรื่องสนุกนะครับ กระตุ้นให้คนแก่อย่างเรามีไฟ (หัวเราะ)) ก็ย้อนกลับมาที่ออฟฟิศเราที่ก็ได้เจอเด็กรุ่นใหม่ ๆ เด็กมันก็ให้อะไรบางอย่างกับเรา บางทีเด็กก็เอาเพลงวงใหม่ ๆ ให้เราฟัง เราเหมือนศึกษาจากมันเรื่อย ๆ เหมือนเราเป็นอาจารย์ฝึกสอน เวลาเจอเด็กก็ได้เรียนรู้จากมัน
บิว: อย่างปีนี้เราตั้งใจจะออก Mamakiss อย่างเดียว ก็รู้สึกว่า เฮ้ย ออก Clutch-Type Pencil ซักหน่อยด้วยดีกว่าว่ะ อยากทำอะ อย่าไปอายว่า… (รัฐ: พี่ ๆ รู้จักวงนี้ไหมครับ ถ้าไม่รู้ก็อย่าไปแอ็คว่ารู้ วงมีเป็นแสนเป็นล้านใครจะไปฟังครบหมด) ไม่ทันก็บอกว่าไม่ทัน หรือถ้ามีเพลงยุคเราก็แลกกับเขาฟัง บางทีมันอาจจะพูดบางอย่างถูกก็ได้ บอกว่าวงนี้จะมา เอ้า แม่งมาจริง
แล้ว Clutch-Type Pencil มาได้ยังไง
บิว: ก่อนหน้านี้ออฟก็จะทำด้วย แต่ดันไม่อยู่ ไปทัวร์กับภูมิ ผิดแผนนิดนึง
รัฐ: พอภูมิมาเลยไม่ได้มิกซ์เลย เหลือสอง
ออฟ: แต่ก็เอาใจช่วยตลอด (หัวเราะ) สมัยก่อนสองคนนี้เขานัดกันอาทิตย์ละวันมานั่งแต่งเพลงแต่งเนื้อร้องกัน เฮ้ย ขยันว่ะ ทำไมไม่ทำเพลง
บิว: พอมันเริ่มเข้ากระแสว่าทำเพลงต้องตามยุคสมัย แต่เมื่อก่อนเราอยากทำเพลงแบบนี้ ทำฟังเองก็ได้วะ เหมือนลับสมอง ลองทำหนุก ๆ เห็นน้องมันทำก็อยากทำบ้าง ไอ้โปรเจกต์นี้เป็น side project ปลอมอีก เพราะเดี๋ยวคุณรัฐเขาก็จะมี side project ของเขา รอว่าง ๆ มันก็จะทำของมัน เราก็จะทำของเราอีกอันเหมือนกัน ส่วนอันนี้เป็นสัดส่วนของเรา 60% รัฐ 40%
แล้วทำไมถึงตั้งชื่อว่า ‘ดินสอกด’
บิว: ดินสอกดมันคือสิ่งที่อยากได้มาก ๆ ตอนเด็กแล้วมันแพงมาก สมัยก่อนไม่มีตังซื้อ ก็เหมือนเป็นสิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่ได้ทำมานาน (ออฟ: เป็นสัญลักษณ์ของการเขียนด้วย อย่างบิวมันเป็นคนเขียนเนื้อร้องมาแต่ไหนแต่ไรด้วย) แล้วมันเปลี่ยนไส้ได้ด้วยเพราะกูขี้เกียจร้องเอง บางเพลงมีคนอื่นมาร้องให้ แล้วหนึ่งดินสอมีไส้หลายแบบ เพลงในอัลบั้มก็จะไม่ใช่โทนเดียวกันทั้งหมด เพลงนี้ชอบแบบนี้ ไอ้รัฐชอบแบบนี้ ผมชอบอย่างนี้ มันเลยตอบโจทย์ หลังแทร็คมันจะไม่ได้เขียนเป็น 1 2 3 แต่จะเป็นเบอร์ความเข้มของไส้ดินสอ H 2H 3H (รัฐ: คิดว่าเท่หรอ) เฮ้ย ถนัดทำเป็นคอนเซ็ปต์อยู่แล้ว อย่างผมชอบเสียงร้องพี่ป๊อป ไพรัช ที่ร้องให้ Mr. Z วันนี้ไม่มีพี่ชาย เรื่องที่ผ่านมาแล้ว ผมอยากฟังพี่ป๊อปร้องเพลงผม เป็นสิ่งที่อยากทำมานาน
ออฟ: จริง ๆ มันก็สนุกดี ทุกคนก็เคยมีวงกันหมดแหละ เมื่อก่อนก็มีวงเป็นพังก์ ๆ เลย ก่อนหน้านี้มีโปรเจกต์ที่ออกในนาม Welfare Production เป็น compilation โยนไป รัฐ แต่งมาเลยหนึ่งเพลง ออฟไปแต่งมาหนึ่งเพลง มีเวลาให้เท่าไหร่ สามอาทิตย์! แล้วจริง ๆ ตอนแรกเราก็จะทำด้วยแหละ แต่เวลาไม่ทัน ก็เนี่ย จนมันห่างหายไปนาน ไปทำโปรดักชันอะไรสักพัก ก็อยากกลับมาทำเพลงของตัวเองสนุก ๆ บ้าง
บิว: ออฟมันก็มี side project ของมันเป็นเพลงแบบที่มันชอบ รัฐก็มีสิ่งที่มันชอบ เนี่ย เดี๋ยวปีหน้าออฟมันทำ Green Tambourine ด้วย เพราะอยากให้ทุกคนได้ทำเพลงลับสมองฮา ๆ หรืออย่าง Lemon Soup มันก็ต้องแชร์ไอเดียกับเพื่อน ๆ กัน แต่อันนี้ระหว่างรอเพื่อนก็ทำของตัวเอง ซึ่งยอดวิวกระจอกมาก หลักพัน แต่เราไม่สนใจ เพราะมันสนุก หนึ่งในเหตุผลที่เขาชอบงานแบบนี้เพราะมัน nostalgic บางคนไม่ชอบเพราะอาจจะไม่เข้ายุคสมัย แต่เราว่าอย่าไปเชื่อเยอะเลยยอดวิวอะ เราว่างาน Cat Expo ยังขายได้อยู่ เหมือนเขียนหนังสืออะ
รัฐ: เราสนตอนทำ ฟังเพลงแล้วชอบไหม ก่อนนอนก็ (บิว: ชอบอยู่คนเดียว) บางทีก็พอแล้ว เพลงเราก็สนุกดี
บิว: อันนี้ก็คือจะปล่อยเป็นอัลบั้มเลย มี 8 เพลง ถ้าใครชอบก็ซื้อไป แล้วเรื่องในเพลงนี้เขียนให้วงก็ไม่ได้ ซึ่งบางเรื่องมันเขียนในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ ยอดวิวมันอาจจะน้อยนิดนึง เรื่องส่วนตัวเนี่ย
รัฐ: ผมชอบตรงนี้ โปรเจกต์อิสระมาก อยากเขียนอะไรก็เขียนเลย จะมีสามอย่างในการเขียนเพลง ของผมนะ เขียนให้วง เขียนให้งาน แล้วก็เขียนให้ตัวเอง
ออฟ: กลับไปฟังนะครับ เพลงที่รัฐเขียนให้ตัวเองส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องเหี้ย ๆ (หัวเราะ) แล้วมันจะดูเรียลมาก ๆ
บิว: แล้วไม่มีอินไซด์คนอื่นนะ เรื่องพวกเรากันเองเนี่ยแหละ ยิ่งรู้จักกันมานานแล้วแบบ จริงสัสเลย (รัฐ: จริง ถ้าได้ฟังก็จะรู้แบบ อ๋อ พวกมึงเป็นคนอย่างนี้กันหรอกหรอ) ฟังแล้วเหมือนแก๊งสามช่าล้อกันอะ (หัวเราะ)
รัฐ: ไม่เชิงเรื่องชู้สาว แต่จะเป็นเรื่องแบบ บางทีบิวชอบดองหนังสือ ผมคิดว่าตัวเองเป็นสุภาพบุรุษแต่จริง ๆ ผมไม่ได้เป็น gentleman หรอก ไรเงี้ย (บิว: แล้วก็หลอกพี่ป๊อปมาร้อง (หัวเราะ))
ออฟ: หรืออย่างคราวที่แล้ว รัฐทำเพลงเกี่ยวกับไปสังสรรค์กับเพื่อนแล้วแฟนตามกลับ ‘ไม่อยากกลับโว้ย แดกเหล้าอยู่’ เหมือนเพลงด่าเมีย แต่ช่วงหลังนี่โดนกดดัน สองทุ่มต้องเข้าบ้านแล้ว แต่มันสนุก ขนาดเราเป็นคนในแล้วถอยไปฟังก็รู้สึกว่ามันเรียล ฟังแล้วเชื่อ
บิว: ไม่ใช่เรื่องซีเรียสมหรรพภาคด้วยนะ ส่วนใหญ่จะจุลภาค (หัวเราะ) หรือ Mamakiss มีเพลง Flashback แสดงว่ามึงเล่าเรื่องของมึงแน่นอน เฟียตนักร้องนำเขาไปเจอ ดิม Tattoo Colour ที่คอนเสิร์ต เมาเละเลย ไปกัดแขนดิม ทั้งที่ไม่รู้จักกันเลย
รัฐ: แล้ว flashback มาแบบ ‘เฮ้ย ผมทำแบบนั้นเลยหรอพี่ ขอโทษครับพี่’ หรือ ดาวพลูโต เป็นพวกผมคุยกันสองคนในไลน์ว่า ‘อะไรเนี่ย มึงไปรู้จักดาวพลูโตกันตั้งแต่เมื่อไหร่วะ’ (ออฟ: เนื้อร้องเหมือนแบบทำไมทุกคนต้องเอาดาวพลูโตมาขยี้) เมื่อก่อนมึงไม่สนใจดาวพลูโตกันหรอก (ออฟ: อยู่ดี ๆ พอหลุดวงโคจรไป อะไรวะ) (บิว: ส่วนใหญ่งานที่นี่ถ้าไม่ใช่ commercial ก็จะเป็นสายแซะ) บางส่วนก็แซะ บางส่วนก็เล่าตัวเอง แต่พยายามเล่าเป็นเพลง เพราะเวลาเคลียร์กับที่บ้านจะได้ง่ายหน่อย (หัวเราะ)
ออฟ: อย่างตอนนั้นมีช่วงเศร้า ๆ เฮิร์ต ๆ ก็แต่งเรื่องแบบนอนดูทีวีจนหลับ
แล้ว Good Hope Music Academy ที่ไปช่วยเขาทำ ทำอะไรบ้าง
บิว: ช่วยเขาดูภาพรวมเพราะว่า บาส ZAAP อยากทำความหวัง เรียกว่าเป็น welfare บางอย่างเหมือนกัน เพราะเขาอยากให้ อยากทำโปรเจกต์อะไรที่มันไม่แข่งขัน
ออฟ: เออ มันไม่ได้เป็นประกวดอะ เหมือนเข้ามาแล้วเราเป็นทนายประชาชนอะ มีคนในประเทศนี้ที่อยากแต่งเพลงเก่งขึ้นเยอะแยะ บางทีเขาไม่ได้มีโอกาสมานั่งกินเหล้าหน้า Welfare 6 (บิว: ทำไงก็ได้ให้รู้สึกว่าเขาได้ความรู้สุด) ก็คือให้คนส่งเพลงมา แล้วเราคอมเมนต์กลับ
บิว: แล้วมันก็ต้องมีบั้นปลายถูกปะ ก็ให้วงเขามีความสุข อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แล้วก็บอกเขาทุกครั้งนะว่าโปรเจกต์นี้พี่ไม่การันตีนะว่าน้องออกไปแล้วจะมีค่าย จะดัง แต่ล่าสุด 2-3 วงที่ส่งมาเราก็หาค่ายให้ (ออฟ: ก็มีเข้า Rats Records วงนึง น่าจะออกปีหน้า) ซึ่งเราทำราคามันนับมูลค่าไม่ได้เลย แล้วมันถูกมากเลยนะที่เรารับจ้าง ZAAP ทำ เพราะโครงการมันน่ารักจริง ๆ แล้วไม่มีสปอนเซอร์ด้วย คือปกติ ZAAP เขาจะมีงานที่เป็น commercial เข้ามาตลอด ดังนั้นทุกปีจะมีโปรเจกต์นึงหรือสองที่ต้องทำให้คืนบ้าง มันเป็นเทรนด์ของบริษัทโลกด้วย social enterprise มันจะได้เท่าไหร่ช่างมันเถอะ อย่างน้อยก็ได้ให้
รัฐ: แทนที่บาสจะเอาเงิน 3-4 ล้านไปซื้อเฟอร์รารีขับ มันเอามาลงตรงนี้ ก็นับถือมัน แล้วเราอยากทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว
โปรเจกต์ส่วนตัวของแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง
ออฟ: ตอนนี้ผมก็โปรดิวซ์อัลบั้มใหม่ของ ภูมิ วิภูริศ อย่างเข้มข้น แล้วก็ไปทัวร์ยุโรปอเมริกามา เริ่มมีความคิดว่า คือไปที่นู่น มันก็ได้เจอดนตรีหลาย ๆ แนวที่ไม่ใช่ดนตรีแมส แล้วอยู่ดี ๆ มันแว้บเข้ามาในหัวว่าเราอยากทำดนตรีของตัวเองบ้างโดยไม่ต้องออกหน้า คือเป็นในเชิงทำเพลงเนี่ยแหละ อย่าง Lemon Soup ของบิว คือทุกคนโตแล้ว บางคนมีลูกมีอะไร อันนี้ก็ยังรักในการแต่งเพลงอยู่ก็เว้นวรรค ทำ Clutch-Type Pencil รอมัน ทุกคนก็ยังอยากมีอัลบั้ม เราก็อยากทำอัลบั้ม
บิว: รัฐก็อยากมี แต่ยังไม่ว่าง วงก็ยังต้องทำ
รู้สึกยังไงที่ได้เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินหลาย ๆ คน
ออฟ: บางทีเราก็ไม่ทันคิดว่านี่สำเร็จแล้วหรือเปล่า แต่ว่ามันต้องทำต่อเรื่อย ๆ และส่วนตัวเรารู้สึกว่าคนที่คิดว่าตัวเองสำเร็จแล้วอะ มักจะยังไม่สำเร็จ
บิว: มันจะหยุด พวกผมกลัวมากเลยนะ กลัวเด็กรุ่นใหม่ มันเก่งมาก ถ้าเราไม่วิ่งต่อก็ชิบหายเลยนะ พี่เจ Penguin Villa พี่รุ่ง เนี่ย ตัวอัพเดตเด็กตลอดเวลาเลย
รัฐ: เราอยากให้เป็นบรรยากาศแบบนี้ตลอด มีความคิดแบบนี้ เราเป็นผู้ใหญ่ก็อย่า settle ตัวเอง แล้วบอกว่า เพลงรุ่นใหม่นี่มันเป็นอย่างนี้นะ หรือมองว่าเพลงสมัยนี้ฟังยากขึ้น เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น อยากจะอัพเดตเรื่อย ๆ แต่อาจจะไม่เก่งเท่าเด็กยุคที่มาพร้อมกับเพลงยุคนี้ แต่ถ้าเราทำได้ก็รู้สึกว่าแฮปปี้แล้ว
ออฟ: อย่างทำภูมินี่เราไม่เคยคิดว่าประสบความสำเร็จเลยนะ มันยังเป็นก้าวแรกอยู่ตลอดเวลา คือมันก็ต้องก้าวต่อ
บิว: อย่าหาว่าพวกผมพูดเหมือนพวกไลฟ์โค้ชนะ แต่รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ (หัวเราะ) แต่เอาจริง รัฐนี่โคตรสำเร็จเลยนะ แต่ถ้ามันหยุดตอนนี้ก็ตายห่าเหมือนกัน
ออฟ: ทุกวันนี้มานั่งปรึกษากัน รัฐถามว่าภูมิจะทำอัลบั้มเมื่อไหร่ เราก็บอกว่ามกราเนี่ยต้องทำแล้ว เดินตลอด ไม่ได้ตัวลอย ใครหยุดทำงานก็ตาย หรือคุยกันว่าโชว์ที่นู่นเป็นยังไง ที่อเมริกาก็ดี แต่ที่ยุโรปมา 40 คน บางเมือง โบโลนญ่า เงี้ย ตูรินมา 25-30 คน ซึ่งในยุโรปก็ยังเป็นลับแลอยู่ คนอิตาลีก็ใช้ภาษาอิตาลีเป็นหลัก (บิว: เหมือนคนไทยแหละที่ยังใช้ภาษาไทยอยู่) มันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จตลอด แต่เราก็ต้องเรียนรู้จากตรงนั้นว่ามันมีอะไรที่เรายังไม่เห็น เอามาเล่าแลกเปลี่ยนกันเป็นชุมชนตรงนี้ หรือตอนไปเล่นต้องเซ็ตเองหมด เขาไม่ขนให้ ไม่มีสเตจ ผมแบกกระเดื่อง ภูมิแบกสแนร์ เดินต๊อกแต๊กเข้าไป ตู้แอมป์ก็ต้องยกเอง ก็ยังเป็นเหมือนวงอินดี้เล็ก ๆ นั่นแหละ แต่ว่าเรื่องนี้เราก็มี Tattoo Colour เป็นไอดอลนะ คือขยัน คนบ้าอะไรปีสองปีออกอัลบั้มอีกแล้ว มึงเอาเวลาที่ไหนไปแต่ง
บิว: หรือจริง ๆ ไม่ต้องหาซาวด์ใหม่ Tattoo Colour ก็อยู่ได้แล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องหาไปเรื่อย ๆ
ออฟ: แล้วเราก็ได้เห็นอะไรใหม่ ๆ อย่างต้นปีนี้ก็ออกเพลงใหม่ มาชวนเราไปทำ mv ก็สนุกดี เหมือนระบบเพื่อนไปลุยกัน คอยกระตุ้นกัน
เชื่อว่าการทัวร์ช่วยศิลปินมากกว่าสตูดิโออัลบั้มไหม
รัฐ: ผมว่าสตูดิโอสำคัญกว่าทัวร์ครับ แต่ว่าการทัวร์สำคัญเพราะว่ามันทำให้คนเห็นความแอคทิฟของเรา เพราะตอนนี้คนไทยจะมองเราอย่างงี้ครับ ยอดวิวเป็นจุดกำหนดความสำเร็จ แต่การทัวร์ก็สำคัญ ถ้าเรานอนมองยอดวิวอยู่บ้าน อาจจะมีงานสองงาน แต่เราอาศัยการทำทัวร์ด้วย มันเจอคน เจออะไรหลายอย่าง การทำทัวร์ปีที่ผ่านมาทำให้หลายคนเห็น ทั้งร้าน โปรดักชันต่าง ๆ มีคนมาขอซื้อทัวร์ Tattoo Colour 15 ทัวร์ การที่เราขยันทำอะไรบางอย่างมันสำคัญที่สุดแล้วครับ แต่สตูดิโอสำคัญสุด เพราะเพลงสำคัญสุด พอทัวร์เสร็จแล้วหลังจากนั้นเราก็ต้องทำการบ้านต่อ
บิว: ไม่งั้นรัฐก็นั่งกระดิกตีนอยู่บ้าน เฮ้ย อัลบั้มเสร็จแล้วเว่ย
ออฟ: เสริมหน่อยว่า เรามองสตูดิโอเป็นเหมือนหนังสือ แล้วทัวร์เหมือนการเอาหนังสือไปทำหนัง อย่าง Harry Potter เขียนออกมามันดีมาก ถ้าเราไม่ได้ไปทัวร์ ก็ไม่ได้แสดงสดให้เขาเห็น แต่ถ้าเราไปแสดงได้ดี ก็เหมือนเป็นการต่อยอดเพลงเราไปอีก ถ้าเกิดใครเพลงดังมากแต่ไม่ได้ไปทัวร์ไปอะไร คนเขาก็ไม่อิน ไม่เชื่ออยู่ดี ว่ามันจะเล่นได้หรือเปล่า
บิว: เหมือน Cornelius อะ ฟังเฉย ๆ ก็เพราะดี เท่ดี แต่พอเจอโชว์เข้าไป ไอ้บ้า! …เฮ้ย Clutch-Type Pencil ก็รับงานนะ
ออฟ: แล้วสุดท้ายเอาจริงนะ นักดนตรี 70-80% ก็อยากเล่นดนตรี ไม่มีใครอยากนั่งอยู่หน้าคอมหรอก เราก็อยากให้เด็กสมัยนี้มีความคิดว่า ถ้าเป็นนักดนตรีก็ต้องไปเล่นดิว้า ถ้านักดนตรีที่มี passion ต้องคิดว่าการเล่นสดคือการออกกำลัง มันจะแฮปปี้ (รัฐ: ถ้าเราไปเจอพวกแฟนคลับ) ไปเล่นสดกับนั่งหน้าคอมอันไหนสนุกกว่ากัน
บิว: อย่างรัฐเล่นบ่อยอะ มันสนุกไหม หรือว่าเริ่มเบื่อละ
รัฐ: บางครั้งหน้าคอมมันกว่า บางครั้งเล่นสดมันกว่า อยู่ที่ว่าห่างจากหน้าคอมมานานละ กลับไปทำงานดีกว่า หรือบางทีอยู่หน้าคอมนานเกิน ไปเล่นเถอะ อยู่ที่เราบาลานซ์มันยังไง แต่ไม่ใช่ว่าวันนี้นอนรอหน้าคอมเพื่อจะไปเล่นสด ถ้าวันไหนเล่นสดเริ่มหายเราต้องไปไฟต์มา
ฝากผลงาน
บิว: ตอนนี้ก็มี Mamakiss อัลบั้มเต็ม 9 เพลง พี่หนึ่ง ETC โปรเจกต์เดี่ยว เป็นคนขยันอีกคนนึง (ออฟ: ร้องเพลงรักเบื่อแล้วอยากทำเพลงดิสโก้) ก็ 9 เพลง กับ The Caption ที่โปรดิวซ์โดย Welfare 6 มี Clutch-Type Pencil อัลบั้มเต็ม นี่ไม่เคยโพสต์เพลงในเพจ Lemon Soup เลยนะ ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามสิ่งที่มันเป็น
สุดท้ายแล้ว รู้สึกยังไงที่วง ฉิบาแดง ป๊าดป๊าด ยังเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้
รัฐ: อย่างแรกนะ ก็ดีใจแทนต้นด้วย เราเป็นเพื่อนกันหมดเลย แค่นี้ก็พอครับ วงนี้อินดี้มาก ห้ามพูดอะไรเป็นสาระเลย ใครชอบวงนี้ก็ไว้อาลัยให้ต้นด้วย
บิว: สรุปเลย เพราะทำแล้วสนุก ขอบคุณแทนต้นด้วย