View From The Bus Tour

Interview

“บอกตัวเองให้วางใจ ยังไงก็ทำได้” ชั่วโมงบินนอกหน้าต่างของ ‘เฟนเดอร์’ – View From The Bus Tour

จากมุมมองของหน้าต่างรถทัวร์ สู่ศิลปินนักเล่าเรื่องราวการมีตัวตนอยู่ของตัวเอง กับการสื่อสารทางดนตรีที่ผ่านความเห่อ หมกมุ่น หลงใหล จนกลายมาเป็น am i moon อัลบั้มแรกของเฟนเดอร์ ในนาม View From The Bus Tour

“บอกตัวเองให้วางใจ ยังไงก็ทำได้”

Fender (เฟนเดอร์) เป็นชื่อแบรนด์กีตาร์และอุปกรณ์ดนตรีชื่อก้องโลกที่หลายๆ คนต่างรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี หันกลับมาในประเทศไทยก็ยังมีอีกหนึ่ง เฟนเดอร์ ที่หลายคนรู้จักและมีอีกมากที่อาจยังไม่รู้จัก วันนี้พวกเราขอนำเสนอ

จาก เอนิเมเตอร์, สถาปนิก, นักโบราณคดี ไปจน นักพฤกษาศาสตร์ ที่เคยอยากเป็น ปัจจุบันในวัยเข้าเลขสาม เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล เป็นศิลปิน นักร้อง นักแต่งเพลง เป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรีนอกกระแสจากเชียงใหม่ชื่อ Solitude Is Bliss ทั้งยังมีโปรเจ็กต์เดี่ยวในนาม View From The Bus Tour ที่เพิ่งปล่อยอัลบั้มแรก am i moon ให้ทุกคนได้ฟังเมื่อปลายกันยายน 2023 ที่ผ่านมา 

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่ม เฟนเดอร์บอกว่า “ไม่ได้คิดจะเป็นนักดนตรี” แต่ในห้องเรียนชั้น ม.สอง เทอมสองวันนั้น เพื่อนที่กำลังหัดเล่นกีตาร์หันมาถามเขาว่า 

“มึงรู้ไหม Gmaj7 จับยังไง” เฟนเดอร์ตอบว่าไม่รู้

“ทำไมมึงถึงไม่รู้ล่ะ พ่อมึงเล่นดนตรีไม่ใช่เหรอ” เพื่อนสวนทันควัน

“รู้สึกโดนดูถูก” เฟนเดอร์บอกแบบนั้นและกลับบ้านไปหัดเล่นกีตาร์ด้วยความคับแค้น เมื่อได้ลงลึกไปกับการฝึกฝนความเอ็นจอยก็บังเกิด

พอขึ้นม.ปลาย เฟนเดอร์เริ่มหัดเขียนเพลงและบันทึกเสียงง่าย ๆ เป็นงานอดิเรกไม่ได้จริงจัง เพราะยังมี เรื่องปลูกผัก ทำสวนดอกไม้ สร้างบ้านดิน เข้าค่ายอาสาช่วยงานสังคม หรือการต่อโมเดลที่เขาสนใจและหมกหมุ่นไปทีละเรื่องในเวลานั้น แต่สุดท้ายหลายเรื่องที่ว่าก็ลดละจางไปตามเวลา คงเหลือไว้เพียง ‘ดนตรี’ ที่เขายังได้ทำความรู้จักตลอดมา 

ชื่อของเฟนเดอร์ถูกตั้งให้โดยพ่อของเขา ผู้เป็นสมาชิกวงแม่คำ วงดนตรีโฟล์กซองคำเมืองในยุค จรัล มโนเพชร และยังเคยออกอัลบั้มเดี่ยวในชื่อ คนมณโฑ อีกด้วย

“เพลงของพ่อไม่มีอยู่ในสตรีมมิงใด ๆ สำหรับเราถือว่าเป็นเพลงที่ดี” เฟนเดอร์บอกเล่า 

นอกจากความเป็นศิลปินของพ่อ เพลงสากลในยุคที่พ่อฟัง เช่น วง CCR หรือ The Beatles ก็เป็นอีกสิ่งที่เฟนเดอร์ได้รู้จักในวัยนั้น บรรยากาศเหล่านี้ทำให้โลกดนตรีของเฟนเดอร์กว้างไกลมากขึ้น

เมื่อเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย เข้าเรียนได้ไม่ถึงปีเขาตัดสินใจซิ่วและเดินทางไปตามสิ่งที่อยากทำ เวลาต่อมาเขาเลือกสอบเข้าคณะครุศาสตร์ดนตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทำให้ได้มาพบกับเพื่อนร่วมคณะและเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของ Solitude is Bliss ขณะเดียวกันเฟนเดอร์ก็ทำงานหาเงินด้วยการเล่นดนตรีกลางคืนตามร้านเหล้า ร้านอาหาร ใช้ชีวิตดูแลตัวเอง 

อีกครั้ง เฟนเดอร์ขอทางบ้านดร็อปเรียนและเป็นคนเดียวในวงที่เรียนไม่จบ เพราะตั้งใจอยากทำอัลบั้มของวงให้เสร็จ เมื่ออัลบั้มเสร็จเรียบร้อย วงอินดี้จากเชียงใหม่เริ่มมีงาน มีทัวร์ ได้เดินทางไปที่ต่างๆ เป็นไปตามเป้าที่เฟนเดอร์วางไว้ 

ปัจจุบันวงดนตรีนอกกระแส Solitude Is Bliss ยังคงทำผลงานเพลงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นที่รู้จัก ได้รับรางวัลและเป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงมากขึ้นทุกวัน มีผลงานสองอีพีกับสองอัลบั้ม ได้แก่ EP. Montage (2013), Her Social Anxiety (2015), Please Verify That You Are Not A Robot (2019), EP. Such A Vast Sea (2023)  

อย่างที่บอกตั้งแต่แรก นอกจากวงดนตรีที่ร่วมทำกับเพื่อนๆ เฟนเดอร์ยังมี Side Project เสมือนไดอารี่บันทึกเรื่องราวผ่านท่วงทำนองในชื่อ View From The Bus Tour ชื่อที่เกิดจากการเดินทางและแรงบันดาลใจที่มาจากการได้นั่งเหม่อลอยมองออกไปนอกหน้าต่างรถทัวร์

“เคยเขียนความฝันเล็ก ๆ ของตัวเองไว้มื่อตอนอายุ 17 เป็นช่วงที่เขียนเพลง ระบำกลางสายฝน ตอนนั้นรู้สึกฝันเฟื่อง และจู่ ๆ ก็มีใจอยากจะทำอัลบั้มครั้งแรกในชีวิต วงก็ไม่มี เพิ่งหัดเล่นกีตาร์ อยากทำแบบ DIY ด้วยตัวเองที่บ้าน” 

เวลาผ่านไปฝันเล็ก ๆ ก็เติบโตจนทำให้เขาปล่อยอัลบั้มแรกของ View From The Bus Tour ในเดือนกันยายนปี 2023 ได้ตามที่เคยเขียนไว้ เป็นอัลบั้มแรกชื่อว่า am i moon ที่ลงแรงด้วยตัวเองเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เริ่มตั้งแต่การเซ็ตอัปห้องนอนของตัวเองให้เป็น Bedroom Studio แทนการไปอัดในสตูดิโอ ทั้งเขียนเนื้อร้อง เล่นเครื่องดนตรีสร้างทำนอง ดีไซน์สัดส่วนความไพเราะ หรือการสั่งซื้อเครื่องดนตรีบางชิ้นจากต่างประเทศมาเติมเต็มสีสันให้บทเพลงของเขา นอกจากนี้ยังได้ผลิตเทป ซีดี ไวนิล ที่ใส่ใจทั้งคุณภาพเสียง ความงามด้านการออกแบบรวมถึงโปรดักชั่น ภาพถ่ายหรืองานเอ็มวี เฟนเดอร์ก็ล้วนทำทุกสิ่งอย่างด้วยความละเอียดอ่อน

และหากใครเคยได้ดูโชว์ของ View From The Bus Tour ก็น่าจะมองเห็นตรงกันว่า เสียงร้องของเฟนเดอร์ทรงพลังคล้ายในคอมีลำโพง บทเพลงในโปรเจ็กต์เดี่ยวของเขามีความลุ่มลึกในท่วงทำนอง มีเนื้อหาของเพลงไฮบริดจ์ทั้งไทยและอังกฤษที่ให้ความรู้สึกหลากหลาย โดดเด่นเรื่องการใช้สัญลักษณ์เปรียบเปรยพาผู้ฟังล่องไปตามอารมณ์ทำนอง ไม่ว่าจะเล่นในพื้นที่ Live House อย่าง DECOMMUNE ร้านคราฟต์เบียร์อย่าง BONHOMIE ยืนฟังจากแผ่นเสียงในบาร์สุดชิคย่านสุขุมวิท Freaking Out The Neighborhood หรือ บนดอยที่บ้านน้อยกลางป่าใหญ่อย่าง Thepoe (เด๊อะโพ) เท่าที่ไปสัมผัสมา บทเพลงของ View From The Bus Tour เพลิดเพลินและเข้ากันดีกับบรรยากาศในทุกแห่งหน 

ระหว่างที่เพลงจากอัลบั้ม am i moon กำลังบรรเลงฉลองเปิดอัลบั้มแรก เราจะพาไปพูดคุยถามไถ่ถึงบางช่วงชีวิต วิธีคิดในการแต่งเพลง การสร้างสรรค์ผลงานและสิ่งมุ่งหวังตั้งใจ เพื่อทำความรู้จักเฟนเดอร์ให้มากขึ้น

 

บรรยากาศชีวิตช่วงวัยเด็กของคุณเป็นยังไง

ถือว่าเป็นเด็กที่หาเรื่องเห่ออยู่ตลอดเวลา หมายถึงหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไปทีละเรื่อง ถ้าเบื่ออะไรก็จะหาเรื่องใหม่มาหมกมุ่นต่อ อาจเพราะเป็นเด็กที่จิตตกง่าย ไม่ได้ชัดเจนว่าจิตตกกับเรื่องใดเป็นหลัก เป็นเรื่องข้างในที่เราไม่เข้าใจ แต่รู้ว่าต้นตอเกิดมาจากบรรยากาศตอนเด็กมาก ๆ บรรยากาศในครอบครัวที่ไม่ค่อยดีเท่าไร อาจจะไม่ตลอดเวลา แต่ก็ต่อเนื่องอยู่เนือง ๆ เช่น พ่อเมาใช้กำลังทะเลาะกับแม่ ตะโกน ตะคอกใส่กัน ทั้ง ๆ ที่ลูกสองคนก็อยู่ตรงนั้น เราก็ผ่านพ้นเรื่องการทำความเข้าใจพ่อแม่ ทั้งการเบลมพวกเขา เคยเบลมตัวเองต่าง ๆ นานามาหมดแล้ว พอโตขึ้นมา พอจะเลือกอะไรที่จะชอบได้ ก็จะชอบเป็นเรื่อง ๆ ไป บางทีชอบวาดรูป ต่อโมเดล ปลูกผัก ทำสวนดอกไม้ คือหาเรื่องทำวน ๆ ไป ชอบอะไรก็จะลงลึกเรื่องนั้น ๆ และก็กลายเป็นเด็กเนิร์ดชนิดหนึ่ง

ลงลึกจนเรียกว่าเชี่ยวชาญได้หรือเปล่า

เชี่ยวชาญในด้านของข้อมูล แต่โอกาสในการลงมือปฏิบัติไม่ค่อยเยอะเท่าไร เช่น ชอบเรื่องการต่อโมเดลก็จะไปซื้อหนังสือมาอ่าน ไปดูว่าต้องใช้วิธีกรีดยังไง โมเดลนี้ใช้วัสดุเป็นพลาสติกอะไร แต่ก็เป็นกิจกรรมหรือของเล่นที่เราแตะไมไ่ด้มาก ณ เวลานั้น ด้วยสถานะครอบครัวและการเงิน

มีหลายเรื่องที่คุณสนใจ แต่ดูเหมือนจะมีเพียง ‘ดนตรี’ ที่คุณสามารถต่อยอดได้จนถึงทุกวันนี้ คิดว่าเป็นเพราะอะไร

มีแค่ดนตรีที่เราได้มีโอกาสเวียนรอบและมาหมกหมุ่นกับมันพอดี เราหลงใหลดนตรีในแง่ของการที่มันสามารถพาจิตใจ จิตใต้สำนึก ของคนที่ฟังอยู่ไปที่อื่นได้ และก็หมกหมุ่นไปจนถึงการอยากเป็นผู้สร้างที่อยากทำให้คนรู้สึกแบบนี้ มันก็ต่อยอดได้ เพราะพ่อเป็นนักดนตรีอยู่แล้ว ก็เข้าล็อก เข้ากับสถานะที่ไปต่อได้พอดี

พ่อของคุณมีส่วนช่วยส่งเสริมในเรื่องดนตรีมากน้อยแค่ไหน

มีส่วนในแง่ของการเป็นสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่สุด แต่แกไม่ได้ปั้น หรือพยายามให้ลูกเล่นดนตรี หรือชี้นำใด ๆ เวลาไปถามอะไรแก แกก็จะเล่าแค่สิ่งที่เราอยากจะรู้

เริ่มต้นที่จุดเชื่อมเดียวกัน คือเราก็ชอบเพลงสากลเก่า แต่ไม่ใช่ทุกเพลงที่พ่อฟังนะ มีหลาย ๆ เพลงที่เชย ฟังไม่เข้าใจ แต่ในบรรดาเพลงพวกนั้นก็ทำให้ไปสะดุดหูอยู่วงสองวง พอมันทำงานกับความรู้สึก เราก็ไปหาฟังและลงลึกด้วยตัวเองอีกที 

ทำไมถึงชอบเพลงสากล

น่าจะเป็นเรื่องของดนตรี มู้ดที่มันต่างจากความรู้สึกคุ้นชิน เพิ่งมาทำความเข้าใจช่วงหลัง ๆ ว่าทำไมถึงชอบดนตรี มันเป็นเพราะพาเราไปอีกที่หนึ่งได้ แล้วด้วยพื้นฐานชีวิตที่ทำให้เรามีความจิตตกอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่าไปที่ไหนก็ได้ที่มัน completely ไม่มีความวิตกกังวลแบบเก่า ไม่มีเชื้อไฟแบบเก่าให้เรามีความกลัว ซึ่งเพลงมันเป็นทางหลบหนีที่ดี พอได้ฟังเพลงสากลเก่า มันมีซาวด์ที่ทำให้เราไปที่ไหนไม่รู้สักที่หนึ่งเป็นกลิ่นที่เราไม่เคยไปกับตัวมาก่อน เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่นี่ ไม่ได้ฟังเนื้อเพลงด้วยซ้ำ ฟังซาวด์ล้วน ๆ ช่วงนั้นภาษาอังกฤษไมไ่ด้เลย เรียนมา 18 ปี ไม่ได้สักแอะ

จากการฟัง มาสู่การร้องเพลง คุณฝึกฝนยังไง

ฝึกดิบเลย ไม่ได้เรียน หัดไปทีละเพลง เมื่อก่อนเล่นดนตรีประจำก็ได้ร้องทุกวัน ช่วงแรก ๆ จะร้องแบบตะเบ็งเสียง เมื่อถึงจุดหนึ่งสุขภาพหรือเรี่ยวแรงไม่ไหว บอกตัวเองว่าไม่ควรใช้พลังงานขนาดนี้ ก็ค่อย ๆ ฝึกร้องหน้าเวทีทุกวัน และค่อย ๆ พัฒนาจากปัญหาที่เราเจอหน้างานไปเรื่อย ๆ

การฝึกร้องของเราคือร้องตามเพลงที่เราชอบ และคาแรกเตอร์แต่ละเพลงที่เราแกะ ก็จะกลายเป็นเสียงและเป็นวิธีร้องในแบบของเรา เอาสิ่งที่ชอบและถูกจริตมาเลียนแบบอีกที นำความหลากหลายของแรงบันดาลใจพวกนั้นมาผสมกัน ก็เลยกลายเป็นประมาณนี้ คล้ายแกงโฮะที่รวมกันมาจนกลายเป็นแกงโฮะของเจ้าเฟนเดอร์

คุณคิดว่าตัวเองทำหน้าที่นักร้องหรือการเป็น Front Man ได้ดีแค่ไหน

ตอนเริ่มวงแรก ๆ รู้ว่าตัวเองประหม่ามาก ๆ เวลาเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกบนเวทีเพื่อที่จะดึงความสนใจของตัวเองให้มีสมาธิกับดนตรีให้มากที่สุด เพราะเราประหม่าสายตาคน กลัวสป็อตไลต์ และรู้สึกว่าดนตรีมันซับซ้อน ถ้าไม่มีสมาธิก็เล่นหลุด มันก็เลยเป็นภาพจำแบบนั้นไป ณ เวลานั้น 

ส่วนตัวเราไม่ชอบคำว่าฟรอนต์แมน เราชอบคำว่าทีมมากกว่า แต่ก็ด้วยความเป็นไปของอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเรา บวกกันกับวง Solitude Is Bliss ตอนนั้นที่ยังไม่รู้ว่าจุดยืนจริง ๆ เป็นยังไง ก็กลายเป็นว่าเราเป็นนักร้องหลัก และถูกทำให้เป็นฟรอนต์แมนไปเลย 

ความจริงวงทั้ง 5 คนเป็นอินโทรเวิร์ตกันหมดเลย เราจะโดนบอกให้พูดอะไรหน่อย ต้องมีการเอ็นเตอร์เทนนิดหนึ่ง แต่การเอ็นเตอร์เทนด้วย Norm ทั่วไป แบบ เอ้าขอเสียงคนโสดหน่อยเว้ย (ลากเสียงสูง) สำหรับเราคือทำไม่ได้จริง ๆ มีอยู่ช่วงใหญ่ ๆ เลย การจัดวางองค์ประกอบบนเวที เราก็ต้องอยู่ตรงกลางยื่นกว่าคนอื่น รู้สึกไม่ปลอดภัยมาก ๆ 

ถึงช่วงแรกจะเงียบ แต่เราก็พยายามสื่อสารมากขึ้นเรื่อย ๆ กล้าที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนดูมากขึ้นทีละนิดละหน่อย ช่วงทำอัลบั้ม Please Verify That You Are Not a Robot (2019) พี่ ‘เบียร์-เศษรฐกิจ สิทธิ’ มือกีตาร์ เขาจะเป็นคนแต่งเพลงด้วย ซึ่งต้องบอกว่าทุก ๆ อัลบั้มจะแบ่งกันแต่งคนละครึ่ง แต่เรารับหน้าที่ร้องคนเดียวมาตลอด ทีนี้เขามีเพลงที่ต้องการจะร้องอยู่เพลงสองเพลง และก็มีอีกเพลงที่ทำให้เราร้อง พอได้ฟังเดโม่ที่เป็นเสียงของเขา เราก็ร้องตามและรู้สึกว่าร้องแล้วไม่โอเค หมายถึงโทนมันไม่ควรเป็นแบบนี้ คิดว่าเสียงพี่เบียร์อาจจะโอเคกว่า คือเขาร้องได้ เขาแค่ไม่มั่นใจเฉย ๆ เขาแต่งเพลงได้ขนาดนั้นเขาก็ต้องร้องได้

เราเริ่มยุยงปลุกปั่นว่าอยากให้เป็นนักร้องสองคน และอยากให้มีทีมจริง ๆ เพราะแต่ละคนก็มีสกิลส่วนตัวที่ไม่ได้ดรอปจนต้องเป็นวงแบ็คอัป มันมีคาแรกเตอร์กันทุกคน ก็พยายามดันเรื่องนี้มาเรื่อย ๆ จนทั้งทีมเห็นด้วย ซึ่งวง Solitude Is Bliss ในปัจจุบันเริ่มเป็นทีม เป็นวงมากขึ้น แต่เราก็ยังรับหน้าที่สื่อสารเหมือนเดิม และทำได้ดีกว่าเมื่อก่อน

โชว์ของ View From The Bus Tour แสดงคนเดียวคุณก็ดูพูดเยอะขึ้น

ที่เราพูดเยอะขึ้น เพราะส่วนหนึ่งกลัวคนจะไม่เข้าใจ เพลงเราใช้สัญลักษณ์ ใช้คำแทนเยอะ แล้วดนตรีมันก็มีแค่นั้น อยากจะให้คนดูมีส่วนร่วมกับโชว์ มองหน้ากันแล้วรู้สึกเหมือนได้เล่าให้กันฟังมากขึ้น วันหนึ่งถ้าคนที่มาฟังรู้จักกันมากขึ้นก็อาจจะไม่ต้องเล่าเยอะแยะ อาจจะแค่เกริ่นนิดเดียว แล้วพอมีเพลงใหม่ค่อยไปเล่าให้เยอะอีกที มันน่าจะมีเพลงใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ ให้อธิบาย ให้ได้เล่าเรื่อง

ในเรื่องการเขียนเพลง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

เมื่อก่อนเวลาฟังเพลงจะชอบฟังซาวด์ ฟังเมโลดี้เป็นหลัก ก็จะเริ่มที่เมโลดี้ก่อน และหาคำที่มันเข้าปากและดูเข้าใจว่ามันจะไปทางไหน ให้มันนำไปก่อนกับเมโลดี้นั้น แล้วแต่งบริบทแวดล้อมมันอีกที หรือไม่ก็มาจากริฟฟ์กีตาร์สักอย่าง

ตอนหลังเริ่มอ่านเนื้อเพลง ทำความเข้าใจกับเนื้อเพลงเยอะก็รู้สึกว่าเปิดกว้างมากขึ้น บางเพลงดูธรรมดากีตาร์ตัวเดียวแต่เนื้อเพลงสุดยอด ความหมายกินใจ ทำให้ช่วงไม่เกิน 3 ปีที่ผ่านมานี้วิธีการเปลี่ยนไป คือเราวางเรื่องดนตรีลง รู้สึกว่าปัญหาหลักไม่ใช่สมรรถภาพการคิดเมโลดี้หรือดนตรี แต่เป็นเรื่องที่เราไม่รู้จะพูดเรื่องอะไร

กลับมาเขียนกลอนเปล่าทุกวัน เขียนบทสั้น ๆ อาจจะสามวรรคสี่วรรค ซึ่งสี่วรรคที่ว่าอาจจะมีสองบทสามบท ดีไม่ดีไม่รู้ จบแล้วมูฟออนเขียนเรื่องใหม่ เขียนเรื่องใหม่ที่แบบว่าไม่ได้นั่งคิดขนาดนั้นด้วย เห็นอะไร คำไหนน่าสนใจก็เริ่มไปก่อนให้มันผูกคำกันไปเรื่อย ๆ และมองหาว่าวรรคไหนใช้ได้ พยางค์ไหนน่าสนใจ 

ได้ไปเจอตัวเลขหนึ่งบอกว่าใน 100% ของการครีเอทีฟ 70% จะใช้ไม่ได้ 20% จะใช้ได้แต่กาก 10% หรือน้อยกว่านั้นจะใช้ได้และจะเจ๋งด้วย ก็เลยวางใจแล้วว่าทุกเพลงกูไม่ต้องคาดหวังให้มันเป็นเพลงที่ดีทุกเพลงหรอก เขียนเลย เขียนแม่งเลย กูจะเอาแค่นั่นแหละ 5% ก็ได้ เอามาทำเป็นเพลงอีกทีหนึ่ง กลายเป็นว่าเอาความคาดหวังว่าจะเป็นเพลงไปไว้ท้ายสุดเลย แต่คาดหวังให้ตัวเองมีกิจวัตรแบบนั้นทุกวัน ผลิต 100% ออกมาให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะเอา 5% ที่เหลือ เน้นปริมาณ และไปคัดเอา ทำคุณภาพให้เกิดจาก 5% นั้นอีกทีหนึ่ง 

เช่น เพลงเก่าที่ยังจบไม่ได้ ก็หยิบมาทำใหม่ อย่างเพลง None to Name My Love หรือ เพลง เสาไฟ ก็จบไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าจะหาทางออกให้จิตใจยังไง แต่ ณ เวลานี้มันผ่านไปแล้ว มันปลดล็อกไปพอสมควร ก็จบมันด้วยมุมมองของผู้สังเกตการณ์

เราเอาสมุดบันทึกที่จดกลอนเปล่าและใช้วิธีการนี้ขึ้นไปเขียนเพลงที่ดูเลเล (โฮมสเตย์ในอำเภอแม่แดด จังหวัดเชียงใหม่) ได้เพลงใหม่ของ View From The Bus Tour 7 เพลง ใน 8 วัน บวกกับของ Solitude Is Bliss อีก 3 เพลง เกิดมาไม่เคยเขียนเพลงได้เยอะอย่างนี้มากก่อน

คิดว่าจะเขียนเพลงได้เยอะ ๆ อีกไหม 

คิดว่าจะมี เพราะตอนนั้นมันเกิดมาจากการวางใจว่าขอแค่ทำรูทีนนี้ คือเขียนกลอนเปล่าทุกวัน เดี๋ยว 5% ที่ว่ามันก็มา เขียนกลอน 150 บท เดี๋ยวอีก 7 เพลงก็มา สะสมคลังดิบไว้ก่อน แต่ก่อนหน้านี้ก็คือ จะเขียนออกมาหน่อยหนึ่ง เราก็ไม่ยอมให้มันออกมา ที่มันตันเพราะเราไม่มีคลังดิบ จู่ ๆ ก็จะปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาจากอากาศ

เวลาเขียนเพลงไม่ได้ คิดไม่ออก คุณขับเคี่ยวตัวเองหรือจัดการปัญหายังไง

ขับเคี่ยวไม่หนักเท่ากับความรู้สึกทุบตีตัวเองว่าตัวเองทำไม่ได้ อันนั้นรุนแรงกว่าเยอะเลย เหมือนอารมณ์แบบเราทุกข์กับการกลัวผีมากกว่าโดนผีหลอกจริง ๆ 

แต่เราก็ผ่านมาเพราะความทุกข์พวกนี้และเริ่มเข้าใจแล้วว่า “อ๋อไอ้เหี้ยมึงอย่าไปทุกข์มากเลย มึงเอาความทุกข์นั่นแหละไปกับความขี้เกียจตื่นมาในแต่ละวันแล้วมึงก็ต้องกลับไปรูทีนเดิม” ก็ตอนแรกเราคิดว่าอันนั้นมันเป็นเรื่องทุกข์เพราะว่ามันดูโรบอตจัง เป็นการเขียนเพลงแบบเข้างานประจำ ความจริงมันควรจะเป็นอารมณ์ที่มันพุ่งออกมาเข้มข้น และเราควรเขียนจากตรงนั้นเพราะว่ามันจะจริงที่สุดไม่ใช่เหรอ ก็เป็นนิยามอันแคบของคำว่าความจริงที่สื่อสารออกไป 

พบว่าพอมาใช้วิธีพวกนี้ ก็รู้ว่าความจริงยังมีอีกหลากหลายนิยามมาก ๆ อย่างเช่น เราเขียนกลอนเปล่าไป บางทีมันไม่มีเรื่องอะไรในหัวเลย แต่ภาษาที่อยู่ในคลังหัวมันอาจพาไปเจอคำแปลก ๆ ยกตัวอย่าง แต่เพลงนี้ไม่ได้เขียนตอนที่มาเริ่มคิดแบบนี้นะ เช่นคำว่า ‘ใหม่ซ้ำเดิม’ เรารู้สึกว่าคำแปลกดี แล้วเราจะตีความจากคำว่าใหม่ซ้ำเดิมยังไง มุมไหนในชีวิตที่ตีความได้บ้าง เราก็มาค้นพบว่า อ๋อมันมีเรื่องอะไรแบบนี้ซ่อนอยู่ในหัวเราด้วยเว้ยที่ตีความจากคำแปลก ๆ นั้นอีกที บางทีเราต้องพุ่งไปก่อน อาจจะเจอเซอร์ไพรส์ก็ได้ มันมีตะกอน มีประสบการณ์ในความจำของเราอยู่ ก็กลายเป็นว่าตอนที่เรายังไม่เข้าใจเรื่องนี้ เราก็จะเอาแค่ส่วนที่เราเห็นมาจับ เอาแค่บ่อโคลนมาใช้ ทั้ง ๆ ที่ใต้โคลนมันมีอะไรมากกว่านั้น

ระหว่าง View From The Bus Tour กับ วง Solitude Is Bliss การเขียนเพลงต่างกันยังไง

ของวง  Solitude Is Bliss น่าจะเป็นเรื่องการทำยังไงก็ได้ให้มันสาดและพูดเข้าตรงประเด็นที่สุดทันที และใช้ดนตรีส่งผลต่อความรู้สึกอีกที แต่ของ  View From The Bus Tour ก็จะเป็นเรื่องการ touching อย่างเช่น เพลง เสาไฟ ตอนแรกก็ไม่ได้มั่นใจมาก เพราะเราเล่าด้วยความคลุมเครือ ไม่ได้ตั้งใจ แต่ mood พวกนั้นมันเป็นความ abstrack

ตอนแรกคิดไม่ออกว่าจะเล่ายังไงให้คนฟังตามไปกับความซึมเศร้าของเราในเวลานั้น มีความเชื่อมโยงที่ว่าเราเห็นระบบที่พังทลาย แต่เราไม่อยากไปพูดถึงเรื่องการเมือง เราแค่อยากให้คนที่เหนื่อยกับเรื่องการเมืองและเห็นความเน่าเฟะที่เป็นผลของมัน ค่อยให้ความรู้สึกนำไปสู่การสนใจเรื่องการเมืองของเขาเอง ซึ่งเราพบว่าด้วยการให้เวลาเยอะ 7-8 ปี กลายเป็นว่าเพลงนี้ค่อนข้างตกตะกอนได้ดีพอสมควร บางคนก็ทักว่าฟังแล้วไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันจะสามารถพัฒนาเรื่องพวกนี้และมันทำให้เข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ด้วยเหรอ

ถ้ารวมทั้งหมดแล้ว เราคิดว่าทำยังไงก็ได้ให้มันต่อท่อตรงเข้าสู่ความรู้สึก อาจจะยังไม่ต้องทำความเข้าใจก็ได้ พอรู้สึกแล้วและมาดูคำที่มันแทรกประปรายอีกที อาจจะทำให้เข้าใจว่าหมายถึงอะไรมากขึ้น

สำหรับเฟนเดอร์คิดว่าอะไรคือส่วนสำคัญที่จะทำให้เพลงออกมาดี 

เมโลดี้อันดับหนึ่ง อันดับสองคือความเรียบง่ายของภาษา สามเป็นเรื่องของบรรยากาศ การเสริมเครื่องดนตรีต่าง ๆ นานา เข้าไปบิลด์อารมณ์ให้มากขึ้น อย่างหลังค่อนข้างวางใจ เพราะว่าถ้าสองอันแรกมันแข็งมากพอ มันจะให้ภาพหรือให้กลิ่นของอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาพอสมควรและเราก็ค่อยมาตีความอีกทีว่ากลิ่นที่ว่าเราต้องการเป็นยังไง

อย่างเพลง Mind Reader เราอยากมีความฝรั่งเศสนิดหนึ่ง มีความบอสซาโนว่าแต่ก็มีความป็อปใส ๆ  มีความหรู เลยมาตีความว่าแล้วอะไรจะทำให้รู้สึกแบบนั้นได้บ้าง เราก็ทำจังหวะให้เป็นด็อด ด็อด ด็อด กุ๊กกิ๊ก ๆ หน่อย กีตาร์มีความวินเทจ เสียงร้องมีความแตกให้รู้สึก nostalgia ไปกับการฟังวิทยุนิดหนึ่ง และใช้เสียงจากขลุ่ยรีคอเดอร์เพิ่มความน่ารัก ซึ่งบรรยากาศของเพลงก็ตีความมาจากสองอันดับแรกที่บอก

ถ้าให้แบ่งสัดส่วนเราคิดว่าภาษา 20% เมโลดี้ 50% อีก 30% เป็นเรื่องบรรยากาศ แต่คนฟังอาจจะคิดอีกแบบ สำหรับคนทำงานอย่างเราคิดแบบนี้

ผ่านการฝึกฝนการแต่งเพลงภาษาอังกฤษมายังไงบ้าง

ไม่นับเรื่องการเขียน ก็เกิดจากการเล่นดนตรีในเชียงใหม่ และได้ไปเล่นบาซาร์โซนฝรั่ง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทักทายและร่ำลาให้เป็น มีฝรั่งมาคุยกับเราหลังงานก็ควรจะตอบเขาได้บ้าง ฝึกมาจากตรงนั้น

เรื่องฟังก็มีพื้นฐานนิดหนึ่งมาจากการฟังเพลงสากลตั้งแต่เด็ก แต่นิดเดียวนะ ฟังฝรั่งได้บางทีก็ตอบไม่ทัน เพราะมีหลากหลายสำเนียงเหลือเกิน บางคนคิดว่าเราพูดได้ก็พูดเร็วใส่ก็มี พัฒนามาจากบทสนทนาและมีเพื่อนฝรั่ง เริ่มดูสื่อภาษาอังกฤษมากขึ้น ดูหนังซับไทย ดูยูทูบภาษาอังกฤษ ถ้าไม่มีซับก็เปิดออโต้ดูซับภาษาอังกฤษ ก็เป็นตามยุคสมัยเพราะเราต้องเสพอะไรประมาณนี้อยู่แล้ว

ด้วยความสนใจของเราที่อยากจะเขียนเพลงอยู่แล้ว ชอบเพลงสากลอยู่แล้ว และรู้สึกว่า ภาษาอังกฤษมันใส่เมโลดี้ได้ง่ายกว่าภาษาไทย แต่เวลาเขียนกลอนภาษาอังกฤษก็ใช้เซนส์แบบกลอนไทยด้วยซ้ำไป มีการสัมผัสแบบไทย แต่ก็ฉีกและพยายามปรับไปเรื่อย เราเบื่อโครงภาษาไทยอยู่พอสมควร ตอนหลังก็ไปหมกหมุ่นกับกลอนเปล่สะมาก พยายามฉีกฟอร์มออกมา 

การเขียนเพลงไทยกับสากลสำหรับเฟนเดอร์ต่างกันยังไง

สากลคือการให้มู้ดที่กว้างกว่า ให้เมโลดี้ที่กว้างกว่า ให้ colour ไปทางดนตรีได้ exotic กว่า ส่วนภาษาไทยจะได้ความ touching กับบริบทของเรามากกว่า ความเป็นคนไทยกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ เพลงไทยเราชอบ แต่พบว่ามันยากกับการทำยังไงก็ได้ให้ภาษาไทยยังเป็นภาษาไทยอยู่ และเมโลดี้มันกว้างมากพอ เมื่อก่อนเคยคิดว่าก็ดัดภาษาไทยให้เป็นโน้ตภาษาอังกฤษไปเลย แต่พอย้อนกลับไปฟังเพลงเก่า ๆ ก็พบว่า เออไทยก็ต้องไทย มันต้องเป็นเมโลดี้ที่ทำให้ได้แบบเพลงยุคเก่าถึงสมเป็นเพลงไทยจริง ๆ อันนี้เป็นมาตรฐานที่เราสร้างขึ้นมาสำหรับตัวเอง ก็เลยรู้สึกว่าดีทั้งคู่ ให้ความรู้สึกคนละแบบกัน 

ถ้านำมาผสมกันได้จะให้มิติกับเรื่องที่เราอยากพูดได้เยอะมาก ๆ เพราะส่วนหนึ่ง route หรือรสนิยมของเรามันไม่ได้มาจากป็อปคัลเจอร์ไทยก็จริง แต่เราก็เกิดมาในบริบทไทยหรือรากหญ้าด้วยซ้ำไป อยากจะสื่อสารให้มันครบถ้วน ครบมิติชีวิตของเราเอง

เราคิดว่ามันก็น่าจะคอนเนกต์กับคนรุ่นใหม่ ๆ ได้เยอะด้วย เพราะคนรุ่นใหม่เขาก็เผชิญกับสังคมที่มันเป็นไฮบริดจ์ไปแล้ว เยอะพอสมควร 

เฟนเดอร์เป็นนักแต่งเพลงเรื่องอะไร

คิดว่าน่าจะเป็นประสบการณ์มีตัวตนอยู่ของเรา ได้เรียนรู้ชีวิตและอะไรที่มันโพล่งขึ้นมา รู้สึกกับสิ่งไหน เราก็จะพูดถึงเรื่องนั้น ๆ มันก็คงเหมือนตอนแรกที่เราหาเรื่องเห่อไปเรื่อย ๆ  แต่อันนี้พอมันเป็นเซ็ตที่ใหญ่ขึ้น หมายถึงว่าเครื่องมือการเป็นชีวิตนักเขียนเพลง นักดนตรี งานอดิเรกเล็ก ๆ นั้นก็คงกลายเป็นเรื่องที่เราจะพูดถึง อินเรื่องนี้ก็เปลี่ยนไปเรื่อย บางวันไปบ้าเครื่องบินก็อาจจะเขียนเรื่องเครื่องบิน บางวันบ้าเรื่องปลูกผัก บ้านดินก็จะไปเขียนเรื่องนั้น 

เราคิดว่าในฐานะศิลปินอิสระ เราเขียนเพลงเพื่อตอบสนองตัวเอง และได้แค่หวังว่าจะมีคนมา Connect กับสิ่งที่เราได้ประสบ ส่วนหนึ่งก็คงทำให้เราได้รู้สึกว่าเหงาน้อยลง หมายถึงเหงาในแง่ของการมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ และก็คงทำให้ใครอีกหลาย ๆ คนรู้สึกเหงาน้อยลงเหมือนกันจากการได้ฟังสิ่งที่เราเล่าออกไป

เราคิดว่าถ้าในเมื่อตอบสนองตัวเองแล้ว พยายามอย่ารู้สึกว่ามันจะต้องเพอร์เฟกต์ที่สุด ที่สุด ที่สุดของอะไรก็ไม่รู้ กลับกันเราจึงคิดว่า ณ เวลานี้เราจะทำให้มันเพอร์เฟกต์ที่สุดเท่าที่้เวลานี้จะทำได้ และถึงเวลาที่รู้สึกว่ามันสุด ๆ ของมันแล้วก็ปล่อย ทำอย่างต่อเนื่องและก็ฝึกที่จะตัดใจมูฟออน เราคิดว่าในเรื่องของคุณภาพมันจะสามารถพัฒนาได้จากการที่เรามูฟออนไปชิ้นใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่าอันเก่าที่เรามาเห็นความผิดพลาด มันก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเราจะสร้างงานใหม่ให้มันดีกว่าเดิม 

จากเริ่มต้นเขียนเพลงมาจนถึงตอนนี้ วิธีพูดกับตัวเองเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน เตือนตัวเองแบบไหนในการทำเพลง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลาเขียนแล้วมันตัน ยังไงมันก็จะรู้สึกแย่ จะรู้สึกว่า ไอ้เชี่ยยย เขียนไม่ได้แน่เลย พยายามแป๊บหนึ่ง ช่างแม่ง ไปทำอย่างอื่น ไปเปลี่ยนบรรยากาศกลับมาความรู้สึกก็เปลี่ยนไปแล้ว มีคำใหม่เข้ามา มุมใหม่ Mood ใหม่ ให้วางใจ เบรกแล้วกลับมาใหม่ ยังไงก็ไปต่อได้ น่าจะเตือนตัวเองเรื่องนี้ 

ภาพของตัวเองในวันนี้เป็นอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า

ไม่เคยวาดภาพตัวเองเป็นแบบนี้มาก่อน แต่ก็ไม่มีภาพชัดมาก่อน รู้แค่ว่ามีความเป็นไปได้แบบไหนที่เราจะเป็น เขียนวาดภาพไว้ว่ามีวงดนตรี ไปเล่น เล่นเสร็จขับรถกลับบ้าน ผ่านสวนดอกไม้ มีเธอนอนรออยู่ในบ้านดินของตัวเอง ณ เวลานี้ก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ ยังอยู่ในเส้นทางที่วาดไว้ มันยังไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งในครึ่งหนึ่งของที่เขียนไว้ปัจจุบันมันก็เป็นจริงหมดแล้ว ได้ทำอัลบั้ม ได้ทำวงดนตรี

เฟนเดอร์ได้อะไรจากการทำวงดนตรี ทำอัลบั้ม 

ของวง Solitude Is Bliss เป็นเรื่องการแชร์ การแสดงพลังบางอย่างออกไป ปลดปล่อยความรุนแรง ความพลุ่งพล่าน ได้เดินทาง เพราะเป็นคนที่ไมได้เดินทางเปิดหูเปิดตาเท่าไหร่ ได้มาเล่นกรุงเทพฯ ครั้งแรก ได้ขึ้นเครื่องครั้งแรก เจอวงสังคมของคนทำงานสายนี้ ทั้งตัวศิลปิน คนจัดงาน หรือว่าทีมงานต่าง ๆ บวกกับแฟนเพลงที่มีอุปนิสัยต่างกันในแต่ละท้องที่ เจอความหลากลายของผู้คน เจอเรื่องความเข้าใจการเป็นมนุษย์ของทั้งตัวเองและคนอื่น ได้ทำงานเป็นทีมมากขึ้น มีการจัดการพลังงานในช่วงวัยรุ่น ทำความเข้าใจเยอะพอสมควรทั้งแบบ compromise และแข็งกร้าว เพราะมันไม่เหมือนไปทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่อันนี้มันคือวงเพื่อนกัน อาจจะอายุต่างกันนิดหน่อย ต้องเจอหน้าเดิม ๆ ปีต่อปีไปเรื่อย ๆ ต้องบริหาร ก็กลายเป็นตัวบูสต์ความเข้าใจ เจอสกิลที่ทำให้เห็นอกเห็นใจผู้คนได้มากขึ้น

ส่วน View From The Bus Tour เราถือว่าเป็นการบำบัดของเรา เหมือน lullaby กล่อมตัวเองให้ช้าลงและช่วงวัยต่าง ๆ หรือว่าบริบทต่าง ๆ ที่เราคิด ณ เวลานั้น เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนได้ผ่านมันมาแล้วหรืออาจกำลังจะผ่าน ไม่ก็กำลังจะเจอ 

เราได้พบเรื่องการวางใจของการทำงานสายนี้ ทั้งการเขียนเพลงที่ไม่กังวลแล้วว่าจะเขียนได้ไม่ได้ เพราะมี method สำหรับใช้ทำงาน ทำอัลบั้มด้วยตัวเองได้แล้วทุกกระบวนการ และได้เล่าเรื่องที่ไม่กล้าพูดออกมาเป็นรูปธรรม อย่างเช่น มีเพลง Proper Puppy ที่อยากพูดถึงความหลงใหลในฐานะผู้ชาย ความพลุ่งพล่านทางเพศ ความใคร่ เราชอบและรักในรูปลักษณ์ภายนอกจริง ๆ เราก็อยากจะ Express มันออกมาบ้าง มันไม่ได้ลึกถึงขั้นแก่นตัวตนอะไรขนาดนั้น แต่เราอยากจะพูดถึงเรื่องภายนอกแบบที่เราเคารพ ได้พูดในเรื่องเชิงศีลธรรมในใจของเราที่มันไม่ค่อยกล้ามาก่อน เราก็ได้พูดมันออกไป หลังจากนี้ก็น่าจะได้พูดอีกหลายเรื่องที่ไม่กล้าพูดในชีวิตประจำวันมากขึ้น

การได้ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวทำให้ได้รู้ว่าอะไรบ้าง

อย่างของวง Solitude Is Bliss มันไม่ใช่แค่คนห้าคนด้วยซ้ำไป มันเป็นเรื่องเซนส์แค่เซนส์เดียวจากหนึ่งคนที่ไปผสมกับ element อื่น ๆ จากอีกสี่คนที่เหลือ feedback ที่เข้ามาอาจจะคิดว่าสิ่งนั้นคือทั้งหมดของวง แต่เราคิดว่าเราเป็นเศษหนึ่งในนั้นเฉย ๆ 

พอเป็น View From The Bus Tour เป็นเราล้วน ๆ แต่เป็นเราใน perception อื่น ๆ ซึ่งเราว่ามันมีประโยชน์ตรงที่ถ้าเราอยากจะพูดถึงในแง่ของการเขียนเพลงใหม่ ๆ ในอนาคต เราก็จะสามารถเข้าใจหรือว่าเห็นทางอื่น ๆ ได้มากกว่าเดิม มองประเด็นที่อยู่ในใจสวมเป็นมุมมองอื่น ๆ ได้มากขึ้น

 

ทำให้รู้ว่า ถ้ารู้แล้ว รอบต่อไปก็หาคนช่วย ใช้เงินแก้ปัญหาเถอะ ที่เราตั้งใจทำอัลบั้มด้วยตัวเอง ก็เพื่อจะทำให้ได้รู้และเข้าใจกระบวนการได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สำหรับเราก็คือจะไม่ถือแล้วว่าทุกชิ้นจะต้องทำเอง เพราะได้ลองไปแล้ว หลังจากนี้น่าจะเป็นการสร้างงานเพื่อเสิร์ฟวิชั่นมากกว่า 

จนถึงปีที่ 30 สรุปได้ไหมว่าเฟนเดอร์คือใครบนโลกใบนี้

คิดว่าเราเป็นคนหนึ่งที่เรียนรู้การมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ เพื่อหาความสงบและกระจายความสงบปลอดภัยไปให้คนอื่น ด้วยเครื่องมือใด ๆ ก็ตามที่เราสนใจและใช้มันได้ 

ดนตรีอาจจะเป็นสิ่งที่เราใช้ได้ดีที่สุด ณ เวลานี้ แต่เราก็ยังคาดหวังว่าเครื่องมืออื่น ๆ ที่เราสนใจในสักวันหนึ่งก็จะใช้ได้เหมือนกัน เพราะว่าแต่ละเครื่องมือก็จะสื่อสารกันคนละกลุ่มต่างกันไปอีก 

เครื่องมือในการแต่งเพลงเล่าเรื่อง มันมีอำนาจมากแค่ไหน

มีอำนาจมาก ๆ เราเคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนคนนั้นเรียนวิจิตรฯ เขาก็สนใจเรื่องฟิสิกส์ ปรัชญาวันหนึ่งเขาตัดสินใจเดินแบบอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เขาเดินไปอ่านหนังสือที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เดินไปอีสานด้วย ไม่ได้โบกรถด้วยนะ 

เขาไปแบบเงียบ ๆ และกลับมา พอกลับมาก็ได้คุยกัน เขาก็บอกว่าความจริงมีคนที่ห้ามปรามเขาอยู่ทั้ง พ่อ แม่ เพื่อน แต่เขาก็บอกว่าถ้าทำตอนอื่นก็ไม่ใช่ความอยากของสิ่งที่เขาอยากทำตอนนี้ เขาอยากเอาตัวเองไปปะทะทุกประสบการณ์ ทุกสัมผัสที่ได้ก้าวด้วยตัวเอง อยากสัมผัสโลก อยากเชื่อมต่อโดยตรงจริง ๆ จากความต้องการลึก ๆ เขาคิดว่าแค่ connect กับอะไรพวกนี้ได้ก็รู้สึกว่ามันเปลี่ยนโลกได้แล้วนิดหนึ่ง เราก็เลยมานั่งคิดว่า ‘เปลี่ยนโลกที่ว่ามันคืออะไร’

เราอยากจะเปลี่ยนโลก แต่เราไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองไป action ยังไงกับความเคลื่อนไหวต่างๆ  นานา เพื่อนคนนั้นก็ยกตัวอย่างว่าการเปลี่ยนโลกมันเกิดขึ้นมาจากกลุ่มเล็ก ๆ หรือความหมายของคำว่ารักเปลี่ยนเป็นโรแมนติกได้เพราะบทละครเวทีเรื่องเดียวคือ Romeo and Juliet หรือดนตรีที่หน้าตาทุกวันนี้เปลี่ยนไปเพราะเด็กผู้ชาย 4 คนตั้งวง The Beatles ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนโลกด้วยซ้ำ กูแค่เล่นของกู  และเขาก็บอกว่าสงครามที่ใหญ่ที่สุดในโลกไม่ใช่สงครามทางอาวุธหรือการรบ แต่มันคือสงครามการแย่งชิง การสร้างความหมายใหม่ โฆษณา สื่อต่าง ๆ ฯลฯ

เราได้บทสรุปจากบทสนนานั้นก็คือถ้าเราเอาความคิดความอ่านของราทั้งหมดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกไปย่อยไปสื่อสารในเพลง และทำให้คนรู้สึกได้จากเพลงมันก็คือการเปลี่ยนโลกอีกชนิดหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันเป็นเครื่องที่มีอำนาจสูงมาก ๆ แต่ challenge ของมันก็คือจะทำยังไงให้ใช้มันได้ดี

เฟนเดอร์อยากพูดอะไรถึงเฟนเดอร์ในวันนี้

(นิ่งคิด) ผ่อนคลายกับตัวเองให้ได้นะเพื่อน อย่าเป็นคนที่ตึงมาก ผ่อนคลายได้ก็มีความสุขได้ 

เป้าหมายต่อไปของเฟนเดอร์คือ ?

เราแค่อยากจะให้หนี้หมด สุขภาพดี และมีเวลามากขึ้น คล้องจองสะงั้น (หัวเราะ)

ฟัง View From The Bus Tour ‘am i moon’ ได้ที่นี่ 

ชวน Solitude Is Bliss คุยเจาะลึกอัลบั้มเต็ม Please Verify That You Are Not A Robot

Facebook Comments

Next:


Donratcharat

นัท มีหมาน่ารักสองตัวชื่อหมูตุ๋นกับหมูปิ้ง กาแฟดำยังจำเป็นต่อชีวิต และยกให้กาแฟใส่นมเป็นรางวัล