Article Interview
คุยกับ VELS. วงที่เราตื่นเต้นที่สุดในตอนนี้กับดนตรีอันรวดร้าวงดงาม
Published
- Writer: Peerapong Kaewthae
- Photographer: Vels. facebook page
VELS. อีกหนึ่งวงดนตรีที่เราตื่นเต้นมาก ๆ จากงาน Cat Expo ครั้งที่ผ่านมา EP Humane สะดุดหูเราตั้งแต่เพลงแรกยันเพลงสุดท้าย แต่แทร็คที่ได้ใจเราที่สุดก็ยังหนีไม่พ้นเพลง พร่าง ที่ลงตัวทั้งดนตรีและเนื้อเพลงร้อยเรียงออกมาได้รวดร้าวแต่อ่อนโยนอย่างน่าประหลาด ยิ่งได้รู้ว่าสมาชิกบางส่วนก็มาจากวง Faharmazy กับ PC 0832/676 ที่เราหลงรักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราไม่รอช้าจึงติดต่อไปขอสัมภาษณ์ทางอีเมล์ทันที เพราะสมาชิกเกินครึ่งอยู่เชียงใหม่กันหมด แต่บทสนทนาที่เป็นกันเองนี้จะทำให้เราอินกับเพลงของพวกเขามากขึ้น
สมาชิก
เติร์ก—ธิติพงษ์ สุวรรณมณี (ร้องนำ)
ปูน—ศิรวิชญ์ โสภาจวรีย์ (กีตาร์)
ป่าน—ปวีณวัฒน์ ชัยศิลปบุญ (เบส)
ป้อง—วณัฐ หุตะสังกาศ (กลอง)
ซีเกมส์—ชาติวุฒิ สุประดิษฐ์ (คีย์บอร์ด)
ที่มาที่ไปของชื่อ VELS.
ปูน: ความจริง VELS. เป็นตัวย่อครับ ชื่อเต็ม ๆ ของวงเราคือ Vile Evil Lives มันมีความหมายว่า ‘ปิศาจชั่วร้ายยังคงอยู่’ ซึ่งเราชอบที่การเอาตัวหนังสือสี่ตัวมาสลับไปมานี่แหละ ถ้าตัดเรื่องนั้นออกไปชื่อของวงเราเป็นการพูดถึงเรื่องราวที่มันเป็นจริงของมนุษย์และเราอยากนำเสนอมัน ทุกความดีก็มีความชั่ว ทุกความจริงก็มีคำโกหกอยู่ เพียงแค่ว่าคนเราอยากจะให้เห็นเพียงแค่ด้านไหน เหมือนกับในสังคมเราที่มุ่งจะให้มีแต่สิ่งดี ๆ คนดี ๆ แต่ไม่ว่าจะทำยังไงลึก ๆ แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ปิศาจร้ายยังคงอยู่’
มารวมตัวกันได้ยังไง
ป้อง: เริ่มแรกคือเราเรียนด้วยกัน แต่ว่าอยู่คนละวงกัน จากนั้นพวกผมก็เลยคิดว่า ถ้าเราลองทำเพลงด้วยกันน่าจะสนุกดี เลยชวน Faharmazy มารวมกัน เลยทำให้เกิดเป็น VELS. ทุกวันนี้ครับ
ทำไมไม่ทำ Faharmazy กับ PC 0832/676 ต่อแล้วล่ะ เหมือนวงหลังก็กำลังมา คนฟังก็เริ่มจำชื่อวงได้แล้ว
เติร์ก: เพราะคิดว่าชื่อมันยาวไปหน่อยและอีกอย่างวงพวกเรามีความชัดเจนในเรื่องของแนวทางเพลงมากก็เลยร่วมกันตั้งวงใหม่เลยดีกว่า ส่วนวง PC 0832/676 กับ Faharmazy ก็ยังคงเป็นเรื่องในอนาคตต่อไป
เล่าเบื้องหลังเกี่ยวกับเพลง พร่าง ให้ฟังหน่อย
ซีเกมส์: เพลง พร่าง มาจากประสบการณ์ของนักร้องโดยตรง เป็นเรื่องราวความรักที่เล่าผ่านในมุมมองของคนที่กำลังหลอกตัวเองว่าสิ่งที่เจอมันคือความสุข แต่เรารู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่จริง มันเป็นแค่ความสุขชั่วคราว สุดท้ายมันก็ต้องจบลงสักวัน พอได้เนื้อหามา ก็มาเริ่มโครงเพลงโดยเพลงจะมี 3 ท่อนหลัก ๆ เป็นการทดลองในเรื่องฟอร์มเพลงที่ไปข้างหน้าอย่างเดียว ไม่มีย้อนท่อน เริ่มจากเราเลือกใช้เสียงกลองอิเล็กทรอนิกเบา ๆ บวกกับลายซินธ์แพดฉ่ำ ๆ และเสียงร้องบาง ๆ เป็นโครงหลักของทั้งเพลง หลังจากนั้นก็เติมเสียงกีตาร์กับเสียงพื้นหลังต่าง ๆ ให้ระยิบระยับมากขึ้น เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนว่าเรากำลังเพ้อพรรณนาถึงความสุขในช่วงแรก
พอมาท่อนที่ 2 เราก็ตั้งใจให้ได้ความรู้สึกกำลังตกอยู่ในห้วงความคิดที่ดำดิ่งลงไปมากกว่าเดิม โดยการเปลี่ยนทางคอร์ดและเลือกที่จะฮัมแทนการใช้ เนื้อร้อง ส่วนในท่อนสุดท้ายก็จะเป็นบทสรุป ที่ตัวเราเองเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันเป็นเพียงแค่ความสุขชั่วคราว โดยการใช้กลองจริงเพิ่มเข้ามาเพื่อให้โดยรวมมีความหนักแน่นมากขึ้นไปจนจบเพลง
แล้ว mv ล่ะ มีเรื่องราวยังไง
ป่าน: ตุลย์ผู้กำกับ mv ของเราบอกไว้ว่า ไอเดียในการทำ mv พร่าง เริ่มต้นจากการตีความเนื้อเพลงให้ออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ เลยออกมาเป็นคำว่า ‘lost’ ก่อนที่จะขยายความออกมาได้เป็นคำว่า ‘escapist’ หรือ สภาวะของการหลบหนีออกไปจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเวลาชั่วคราวหรือทั้งชีวิต โดยเลือกเล่าผ่าน 3 บุคคล 1 สัตว์ ที่มีจุดร่วมบางอย่างซึ่งกันและกัน ทั้ง 3 คนต่างกำลังดิ้นรนหรือหลบหนีอะไรบางอย่างเพื่อไปสู่อะไรบางอย่างในวิถีทางของตนเอง
โดยมีแมงกะพรุนเป็นตัวเสริม เนื่องจากแมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่ไม่มีทั้งสมองและหัวใจ สิ่งเดียวที่มันทำได้ ก็คือการลอยไปตามกระแสน้ำอย่างเดียวเท่านั้น เทียบได้กับภาวะที่เรากำลังล่องลอยอย่างเชื่องช้า ช่วยเล่าเรื่องแทนสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจของตัวละคร จะบอกว่าแมงกะพรุนเป็นพระเอกใน mv ก็ได้ครับ พอดูพวกมันลอยไปลอยมาในน้ำนาน ๆ แล้วรู้สึกเหมือนเราล่องลอยตามมันไปจริง ๆ ซึ่งกว่าจะได้ภาพแมงกะพรุนพวกนี้มา ผู้กำกับต้องนั่งรถไปพัทยาเพื่อไปถ่ายพวกมันมาเลยครับ (หัวเราะ)
รู้สึกว่าทั้งสองวงถึงจะมีแนวดนตรีใกล้เคียงกัน แต่ผลลัพต์ก็ออกมาต่างกันมาก PC 0832/676 จะออกแมธร็อกดุ ๆ หรือ Faharmazy จะเวิร์ลไปเลย แล้วยากมั้ยกว่าแนวทางของวงจะลงตัวในแบบ VELS.
ซีเกมส์: คือ 2 วงที่มารวมกันถึงแม้ว่าเรามาจากการทำเพลงคนละแนว แต่พอมาเป็น VELS. เรากลับไม่ใช้ความเป็นแนวเพลงในแบบวงเดิมเข้ามาทำเพลงซักเท่าไหร่ แต่ละคนก็ฟังเพลงที่เป็นต้นแบบเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง พอมาทำจริง ๆ กลับกลายเป็นการงัดความเป็นตัวเองของแต่ละคนออกมาจนรวมกันออกมาเป็นแบบนี้ โดยที่เราไม่เคยคุยเรื่องว่าแนวเพลงของวงจะต้องไปทิศทางไหน และก็ไม่อยากจำกัดแนวเพลงของวงด้วย อยากให้ออกมาเป็นธรรมชาติของแต่ละคนมากกว่า เลยไม่ยากสำหรับการทำงาน คือทำออกมาแล้วยังมาคุยเล่น ๆ กันเลยว่า สรุปวงเรานี่เป็นแนวไหนวะ (หัวเราะ)
ป้อง: มันก็ยากนะครับ เพราะเราไม่เคยได้เล่นด้วยกันมาก่อนเลย อยู่ดี ๆ ก็เอ่ยปากชวน แล้ววันถัดมาก็ขนของมาเจอกันในห้องซ้อม บอกเลยว่า งงมาก ๆ (หัวเราะ) แต่ด้วยความ งง ๆ มั่ว ๆ ในตอนนั้น ทำให้เกิดเพลง Humane ขึ้นมา เป็นเพลงที่แบบ เห้ย มาได้ไงวะ คือมันมาของมันแบบนี้ เราว่าเราเล่นแบบนี้แล้วมันเพราะ มันโดนเราก็เอาอันนี้แหละ ไม่ได้แบ่งแยกว่าใครต้องมาเท่าไหร่ แค่ฟังด้วยกันแล้วพยักหน้าเหมือนกันเท่านั้นเองครับ
แล้วพาร์ตของดนตรีนี้แบ่งกันทำงานยังไงบ้าง
ป้อง: พาร์ตดนตรีใน EP นี้ส่วนหลัก ๆ เลยจะเป็นเติร์กกับพี่เกมส์ขึ้นโครงมาก่อน จากเนื้อร้องของเติร์ก แล้วค่อยเอามายำกันในห้องซ้อมอีกที คือเรามีเพลงที่ทำมาเยอะมาก ใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง บางเพลงเคยเอาไปเล่นสด แล้วตัดออกยังมีเลยครับ
ล่าสุดเพิ่งมี EP Humane ของตัวเอง มีคอนเซ็ปต์อะไรรึเปล่า
ปูน: เราพูดถึงความเป็นมนุษย์ในหลาย ๆ แง่มุม ทั้งเรื่องคำจำกัดความของคำว่า ‘ดี’ หรือ ‘ถูกต้อง’ ในความรู้สึกอย่างความรัก ว่ามันจริงหรือไม่จริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นมา กับการสรุปว่าในความขัดแย้งความต่างกันทางความคิดสุดท้ายแล้วมันคือความเป็นมนุษย์ที่เราหนีความจริงตรงนี้ไม่ได้
ถ้าต้องเลือกเพลงใน EP นี้ให้คนยังไม่รู้จัก VELS. ได้ลองฟัง แต่ละคนจะเลือกเพลงไหน
ป้อง: ส่วนตัวอยากให้ฟังเพลง Humane รู้สึกว่ามันดิบที่สุดแล้ว เพราะตอนนั้นที่ทำมารู้สึกสะใจ จริง ๆ
ป่าน: พร่าง ครับ
ปูน: จริง ๆ อยากเลือกทุกเพลงเพราะมันเหมือนเป็นเรื่องราวที่เล่าเป็นมุมแต่ละมุมไป แต่ถ้าต้องเพลงเดียวอยากเลือก Humane เพราะเป็นเพลงที่สรุปคอนเซ็ปต์และสิ่งที่อยากจะสื่อออกมากับ EP นี้
เติร์ก: ไม่ต่าง ครับ
ซีเกมส์: Dust ครับ
ซีนดนตรีที่เชียงใหม่ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
ป่าน: ผมรู้สึกว่ามันเริ่มจะมีอะไรสนุกและน่าสนใจมากขึ้น เพราะหลาย ๆ วงก็เริ่มทำเพลงมาปล่อยกันแล้ว ซึ่งผมชอบมาก ๆ ถ้าวันนึงจะมีเฟสติวัลที่มีศิลปินจากเชียงใหม่หรือภาคเหนือมาเล่นด้วยกัน
วงที่มีแนวดนตรีแบบนี้มีพื้นที่ในเชียงใหม่ที่ชัดเจนมั้ย
ป้อง: เท่าที่รู้ก็น่าจะไม่ค่อยมีนะครับ แต่ก็ยังพอมีบ้างที่แบบ ถ้าจัดงานประมาณนี้ จะต้องที่นี่ อะไรงี้ ซึ่งมันก็ไม่ค่อยดีนะ อยากให้เชียงใหม่มีพื้นที่กับดนตรีแบบนี้มากขึ้น
ป่าน: ถ้ามีคนชอบและสนับสนุน ยังไงก็มีพื้นที่ให้นักดนตรีอยู่แล้วครับ
การทำแนวดนตรีแบบนี้ยังหาคนฟังยากอยู่รึเปล่า หรือตอนนี้เรามีกลุ่มคนฟังที่ชัดเจนขึ้นแล้ว
ซีเกมส์: ส่วนตัวผมคิดว่าเดี๋ยวนี้คนเปิดกว้างกับแนวดนตรีมากขึ้น อย่าง ฟังใจ เองก็เปิดกว้างให้ศิลปินที่มีแนวเพลงหลากหลายมาปล่อยผลงานเพลงได้เต็มที่ ซึ่งคนฟังเพลงก็คงไม่ต่างกัน พร้อมที่จะเปิดใจฟังกับเพลงหลาย ๆ แนว ถ้าเพลงไหนมันถูกจริต คนฟังชอบ ก็ติดตามฟังเพลงของศิลปินต่อไป พอมาทำ VELS. ผลที่ตอบรับคือมีคนจำนวนหนึ่งที่ชอบเพลงเรา ถึงไม่เยอะมาก แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการที่เราจะสร้างผลงานต่อ ๆ ไปให้ออกมาในแบบที่เป็นตัวเองได้เต็มที่มากขึ้น
เร็ว ๆ นี้จะไปเล่นที่ไหน
เรื่องตารางงานตอนนี้เรากำลังรอคอนเฟิร์มกันอยู่ครับ รอติดตามได้ที่เพจเลยครับ
ฝากอะไรถึงคนที่เพิ่งรู้จัก VELS.
อยากให้ลองมาฟังกันดูครับ มีความหลากหลายและแปลกใหม่โดยยังยืนอยู่บนพื้นฐานของเพลงที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย เราเป็นวงที่ไม่มีแนวเพลงชัดเจน ลองติดตามกันต่อไปว่าเพลงใหม่ๆจะทำอะไรออกมาให้ฟังกัน พวกเราถือว่ายังเป็นน้องใหม่ ยังไงก็ฝากติดตามผลงานหรือข่าวคราวได้ที่เพจ VELS. หรือ MINIMAL RECORD ด้วยนะครับ