Two Pills After Meal นักทดลองที่ไม่สนผลข้างเคียงจากยาตัวใหม่ที่ออกฤทธิ์แรงกว่าเดิม
- Writer: Montipa Virojpan
- Photos: Smallroom Pop Music Label
Two Pills After Meal คือหนึ่งในวงดนตรีวงแรก ๆ ที่ฟังใจชวนมาพูดคุยตั้งแต่ครั้งที่ Fungjaizine เริ่มปรากฏต่อสาธารณชนเมื่อปี 2015 ซึ่งว่ากันตามตรงแล้วก็เป็นปีเดียวกันที่วงก่อตั้งขึ้นมาด้วย ผ่านไป 4 ปี พวกเขามีอัลบั้มเต็ม First Kit ออกมาให้ได้รู้ตัวตนกันพอสังเขป และกำลังจะไปต่อในสไตล์ดนตรีที่แตกต่างกว่างานชุดก่อนมาก ถ้าใครยังไม่คุ้นเคยกับพวกเขาดีนักก็เข้ามาอ่านที่บทความนี้ก่อน แต่ถ้าอยากรู้ว่าพวกเขาเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็เลื่อนลงมาอ่านต่อได้เลย
ที่มาที่ไปของการเปลี่ยนสไตล์ดนตรีของ Two Pills After Meal
เติ้ล: มันเริ่มจากว่าเราอยากไปสู่ตลาดสากล มีคนเคยบอกเราว่าโลกภายนอกเขาอยากฟังการเล่าเรื่องด้วยภาษาของเรามากกว่า แต่จะเล่ายังไงให้เขาเข้าใจ ก็ต้องไปที่แกน คือเสียงดนตรีที่เล่าเรื่องด้วยตัวเองได้ มันอาจจะไม่ได้เล่าเรื่องตรง ๆ ซะทีเดียวแต่ก็อาจจะทำให้เห็นภาพ หรือสร้างบรรยากาศบางอย่าง อัลบั้มนี้เราเลยนึกภาพในหัวก่อนว่าจะทำเพลงเกี่ยวกับอะไร แล้วคิดเสียงให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรานึก หลังจากที่เราเริ่มเล่นอัลบั้มแรก อันนี้คือเริ่มจับดนตรีอิเล็กทรอนิกจริง ๆ แต่ก็ยังมีเซนส์การเล่นแบบป๊อปอยู่ แต่พอเริ่มมีเครื่องใหม่ ๆ ใช้เครื่องเยอะแยะ เริ่มสนุกกับกลไกซาวด์ดีไซน์ ก็เลยหยิบเอาเสียงนู่นนี่นั่นที่เป็นเหมือนซาวด์เอฟเฟกต์มาประกอบในเพลงบางส่วนเพื่อแทนการเล่าเรื่องที่ไม่ใช่คำร้อง แต่เป็นเสียงที่เราเชื่อว่าชาติไหนฟัง ได้ยินมันแล้วก็ต้องเข้าใจเหมือนกัน อาจจะไม่ใช่ความหมายทั้งหมดแต่ก็พอเข้าถึงได้ จริง ๆ เราไม่ได้ปิดกั้นด้วยว่าควรเป็นภาษาอะไร เราแค่มองว่าถ้าเราสื่อสารได้ผ่านดนตรี จบด้วยตัวมัน จะเป็นภาษาอะไรก็ได้ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษที่เล่าเรื่องได้ก็ดี แต่ก็ยังสนุกกับการเขียนเพลงไทยอยู่ รู้สึกชนะถ้าเราเจอคำไทยแล้วมาลงกับเมโลดี้นี้ได้ เพราะมันยาก การออกเสียงไทยมันซับซ้อน (โอม: มีตั้ง 5 เสียง)
ตอนวาดภาพในหัวเพื่อทำเพลงชุดใหม่ เห็นเป็นภาพอะไร
เติ้ล: ไหน ๆ เราก็มาทางยาแล้ว เลยตั้งชื่อเล่นว่า Side Effect ‘ผลข้างเคียง’ เป็นคอนเซ็ปต์ แล้วมันมีความคล้ายกับคำว่าซาวด์เอฟเฟกต์ ดูลิงก์กันดี ก็เลยชอบอันนี้ เลยกลายเป็นการพยายามเอาซาวด์ต่าง ๆ มาเล่าเรื่องในเพลง จริง ๆ ตอนที่เราทำเพลง Sugar หา sampler อยู่ก็ไปเจอเสียงกรอฟัน เราเอามาใส่ในเพลง คือช่วงหลัง ๆ เราไปดูงานอิเล็กทรอนิกบ่อยก็ยิ่งได้แรงบันดาลใจมาอย่างละนิดอย่างละหน่อย มีวงฝรั่งเราจำชื่อไม่ได้แล้ว เขาเป็นมนุษย์ sampler ที่เราประทับใจมาก ถือไมโครโฟนของเขาไปอัดเสียงจากที่ต่าง ๆ มาทำเป็นบีต มันเจ๋งดี เขาไม่มีเนื้อร้องแต่เราสนุกกับเขาได้ยังไง เพราะเราฟังแล้วมองเห็นภาพ
ให้ว่ากันตามตรงตอน Two Pills After Meal ปล่อย First Kit ก็ถือว่าเป็นอิเล็กทรอนิกที่ค่อนข้างย่อยยากเมื่อเทียบกับวงไทยวงอื่น ๆ แถมตอนนี้กำลังจะมี Side Effect ที่ฟังยากขึ้นไปอีก กังวลกับตรงนี้บ้างไหม
โอม: ถามว่ารู้ตัวไหม เรารู้ตัวนะ แต่เราว่าวงการอินดี้ปีสองปีนี้เริ่มจะชัดเจนและมีกลุ่มแฟนมากขึ้น แต่ในอินดี้ก็มีหลายลีกอีก อย่างอินดี้ป๊อปที่ถ้ามองหน้าแผงก็จะเจอเขาก่อน ถ้ามองมาที่ Two Pills After Meal อาจจะอยู่ในแผงลึก ๆ ที่เขาจะไม่ทันเห็น มีความเฉพาะทาง แล้วเนื้อเพลงเราบางทีไม่ได้บอกว่า ‘ฉันรักเธอ’ ตรง ๆ บางคนอาจจะต้องฟังสองถึงสามรอบกว่าจะเก็ต เรามองว่ามันเหมือนหนังสือที่บางเล่มอ่านแค่รอบเดียวพอ บางเล่มต้องอ่านสองสามรอบแล้วเราจะอินกับมันมากขึ้น บางทีการที่คนฟังได้เข้าใจเองจากการเสพหลาย ๆ ครั้งอาจจะเป็นข้อดีที่เขาจะรู้สึกกับสิ่งนั้นไปได้นานกว่า ฉะนั้นเราคงทำอะไรไม่ได้นอกจากให้เขาลองเปิดใจฟังเราหลาย ๆ รอบ อาจจะดีขึ้นก็ได้
เติ้ล: เพลงมันเป็นรสนิยมแหละ ใครใคร่เสพอะไรเสพ แต่เหมือนเราเลือกแล้วเว่ย เราแค่คิดว่าเรามีโอกาสได้ทำเพลง เราก็ขอเห็นแก่ตัวนิดนึง เราอยากทำที่เราชอบ จาก First Kit มันคือครั้งแรกที่เราจะรู้จักตัวเองด้วยซ้ำ เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้าย มาไล่ทีละเพลงมันมี timeline ช่วงชีวิตของเราจริง ๆ คือการเรียนรู้ของเราหมดเลย พอวง When แตกมาทำ เข็มฉีดยา ตั้งใจจะให้เพลงเป็นอย่างงี้ พอเริ่มสนุก อยากลองอะไรลอง น้อย ๆ ก็มี เล่นแค่สองชิ้นแท้ ๆ ก็มี เยอะ ๆ ไปเลยก็มี บางครั้งเราก็ถามตัวเองนะว่าเพลงเราย่อยยากจริงหรอวะ เราก็เชื่อว่าเซนส์ความไทยเราก็มีอยู่ เราเติบโตมากับเพลงป๊อปไทยทั่วไป เพิ่งจะมาลองศึกษาอย่างเข้มข้น ลองทำจริง ๆ เมื่อไม่นานเท่าไหร่เอง ไม่ได้โหดร้ายจนเข้าใจไม่ได้ เรามองว่าถ้าเราจะไปต่อคงไม่ได้เซอร์เกินไป เพราะเราเป็นคนชอบอธิบายอยู่แล้ว เราทำเพลงก็จะเคลียร์ในเรื่องราวที่เราเล่าเหมือนกัน บางครั้งคนคิดว่ามันยาก แต่ถ้าฟังดี ๆ เนื้อหามันก็เรียบง่าย
แล้วเราเป็นวงอิเล็กทรอนิกจัด ๆ แทบจะวงเดียวในค่ายที่พื้นฐานเป็นป๊อปร็อก เจอความยากในการทำงานร่วมกับทีมงานยังไงบ้าง
เติ้ล: คือเราก็ไม่ได้รู้เยอะ มันคือการทดลองจริง ๆ เราไม่รู้ว่ามันยากหรือง่ายแต่แค่ทำไปเรื่อย ๆ แต่ก็นานเหมือนกันนะ ใช้เวลาศึกษากว่าจะเก็ตตัวเองว่าต้องใช้ซาวด์แบบนี้ แต่ใจรักที่จะมาทำ พอจะมาทางนี้ก็จะกลัวไม่ได้แล้ว คือเหมือนเราเจอสิ่งที่ชอบ ก็เสพเข้าไปจนเราอยากทำออกมาแล้ว เราไม่รู้สึกว่ามันยากตอนที่ทำกันเองเพราะเราสนุกที่ได้ลองผิดลองถูก แต่มันยากสำหรับค่ายเพลงที่จะช่วยเรา อันนี้เราเข้าใจเลย แต่การที่พี่รุ่ง Smallroom เอาด้วย ก็เป็นข้อดีของที่นี่คือเราใกล้ชิดกัน คุยกันเยอะ ไม่ใช่แค่พี่รุ่งกับเรา มีทีมงาน PR AR กราฟิก ใครก็ตามที่ต้องมาช่วยเรา เขารู้อยู่แล้วว่าเราเป็นอย่างนี้ เขาก็กังวลเหมือนกันนะเพราะมันก็คืองานของเขา แต่เราพยายามบอกว่า เฮ้ย เราทำด้วยกัน เราเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องยาก เราเองก็ต้องชัดเจนด้วยว่าเราต้องการอะไรเพื่อให้เขาช่วยเราได้ง่ายขึ้น
โอม: จริง ๆ เราต้องกราบทีมงานทุกคน ตั้งแต่ค่ายที่เขาเข้าใจว่าเราอยากทำแบบนี้จริง ๆ เพราะอย่างที่บอก ทุกอย่างมันอาจจะย่อยยากสำหรับการทำงานและการสื่อสารกับคน เพราะเราก็ค่อนข้างที่จะหมกมุ่น (หัวเราะ) เพลง Sugar มีเกือบร้อยแทร็ค ตอนทำคือเอาสิ่งที่เรามีมายัดลงไป ๆๆๆ เพราะเรายังไม่ได้นึกถึงขั้นตอนที่จะมาถึงมือคนมิกซ์ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพี่รุ่งปวดหัว คือถ้าเป็นวงอื่น ๆ ในค่าย วิธีการทำงานของพี่รุ่งแกก็จะบอก นี่สแนร์ นี่คิก นี่นั่น แต่พอเป็นกลองเรา อันนี้จะเรียกว่าเสียงสแนร์หรือเปล่า เพราะมันมีทั้งสแนร์ โกสต์โน้ต สแนร์เป๊าะ เสียงมันเยอะมากพอเป็นกลองไฟฟ้า (หัวเราะ)
เติ้ล: เขาเรียกถม อยากเปิดมาให้เห็นมาก คือเราก็ทำด้วยความที่ไม่ได้เชี่ยวชาญ ทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน พอลอง playback อยากได้อะไรเพิ่มก็ใส่ไป ปรากฏว่าแค่ไลน์หลักก็มีเสียงร้องประมาณ 40 แทร็คแล้ว คนมามิกซ์ก็งงว่าซาวด์ที่ควรจะเป็นมันต้องยังไง เราก็ลืมนึกถึงจุดนี้ไป แต่ก็รู้สึกว่าข้อดีเรามานั่งอยู่กับพี่รุ่งตลอดตอนแกมิกซ์ ก็จะเห็นว่าเขาลำบากแบบนี้ เราก็ได้นั่งเรียนกับเขา รู้ว่าเขาจัดการยังไง เรียงลำดับอะไรก่อนหลัง ต่อไปจะได้จัดการตัวเองมาก่อน (หัวเราะ)
โอม: จริง ๆ พี่รุ่งก็คนยุคนั้นแหละ แต่พอต้องมาทำงานอันนี้ แกพูดนะว่าก็งงเหมือนกันที่ต้องมาทำซาวด์คิกกับร้องต้องเท่ากัน ถ้าเป็นวงป๊อปจะเป็นสแนร์ แบ็กบีตจะชัดเจน ของเราเป็นคิกกับเบส ซึ่งต้องรื้อความรู้เก่าของแกด้วยเหมือนกัน ต้องหาเรเฟอเรนซ์ แนวนี้ต้องทำยังไงวะ เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน
เติ้ล: คือมันเป็นเรื่องใหม่มาก พี่รุ่งไม่เคยมามิกซ์อะไรแบบนี้ สุดท้ายต้องให้พี่นิ้มมาช่วยบาลานซ์ให้ก่อนจะเอาให้พี่รุ่งมิกซ์ แล้วพี่นิ้มเขาเป็นเหมือนชาวเทคนิค เรานั่งฟังเขาคุยกันโคตรมัน เหมือนเด็กเล็ก ๆ นั่งฟังอาจารย์คุยกันแต่ฟังไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) สนุกมาก ซึ่งเขานั่งคุยงานเราอะ โคตรรู้สึกดีว่าเขาจริงจังตั้งใจช่วยเรามาก ๆ เพื่อให้งานออกมาดี วันแรกปวดหัวมากเลยนะ แล้วก็หาทาง ๆๆๆ ลองดู แล้วมันก็ได้ เราก็ดีใจ
สารตั้งต้นของ Sugar อะไรทำให้สไตล์เพลงมาทางนี้
โอม: ส่วนดนตรีเราตั้งใจแล้วว่าจะกลายมาเป็นอิเล็กทรอนิกที่หนักขึ้นกว่าอัลบั้มแรก ก็ไปหาเรเฟอเรนซ์ พี่เติ้ลก็ส่ง Massive Attack, Chemical Brothers ก็ไปไล่ฟังหลาย ๆ อัลบั้ม ไปจนถึง Björk เหมือนเป็นขั้นตอน input ทั้งแกะเล่น ทั้งคัฟเวอร์ เหมือนเสียงกรูฟ บีต พอมันอยู่ในหัวแล้วเราได้เสียงใหม่ เราก็เลือกเอามาใช้ จนตกผลึกมาทำเพลงนี้
เติ้ล: ก็เหมือนเริ่มใหม่แหละ ทดลองเลย อยากทำอะไรทำ อยากได้เสียงแบบ อื้อ ตุ่มมม อึ่ม เป็นภาษาที่เราจะสื่อสารได้ จากเสียงในหัวของเรา ‘แก อยากให้มัน ผะ ๆ’ กว่าเนี้ย
โอม: คือเราไม่ได้รู้เรื่องอิเล็กทรอนิกทุกเรื่อง เพราะว่ามันกว้างมาก เราก็จะสื่อสารด้วยภาษาแบบ ‘อื้อ ซื่อ อ๊ะ’ (ทำเสียงบีต) อะไรอย่างเงี้ย (หัวเราะ) พอหาได้ก็จะจำไว้ว่าเสียงอย่างงี้มันเรียกอย่างนี้นะ พอแกะได้ก็เริ่มเป็นกรูฟ เริ่มเป็นเพลงชัดขึ้น พอกลับไปฟังเพลงก็พบว่ามันไปคล้ายกับเรเฟอเรนซ์ แต่ไม่เหมือนขนาดนั้น ซึ่งเราก็ดีใจที่การฟังเพลงของเรามันทำให้การทำงานของเราง่ายขึ้น เหมือนเราเก็ตแนวทางแล้วแหละ
เติ้ล: แกนของเพลงนี้เริ่มจากเปียโน ยังไงเราเรียนเปียโนมาก็จะไม่ทิ้ง อยากเปิดมาด้วยเพลงแรกที่เป็นซินธ์เปียโน แล้วก็ร้องคลอไปด้วยกัน โชว์บีต จริง ๆ ไลน์ซินธ์ไม่เยอะเลยเพลงนี้ ร้องเยอะมากจริง ๆ กับพวกเอฟเฟกต์ โซโล่ตรงกลางเพลงคือภูมิใจนำเสนอมาก ก่อนหน้านี้มันไม่ได้โหดขนาดนี้ จะน้อย ๆ กว่านี้หน่อย แต่เราทดในหัวว่าตรงกลางมันคือการถูกทำลายอยู่ ฟันกำลังผุแล้วอะ ก็เลยต้องมีเสียงกรอฟันอยู่ตรงนั้น เรารู้ว่ามันจะมีความคาบเกี่ยวระหว่าง คนฟังแล้วรำคาญ กับพอรับได้อะ ใครจะไปชอบเสียงกรอฟัน จะบ้าหรอ แต่รู้สึกว่าสนุกอะ คนไม่ต้องรู้ก็ได้ แต่ฉันใส่ลงไปแล้ว
เพลงนี้ไม่ได้มีไดนามิกแบบเดียว มีท่อนดรอปต่าง ๆ ทำไมถึงกล้าใส่อะไรมายุบยับ
เติ้ล: ต้องการจะเล่าเรื่องแหละ ตอนนี้ทำเพลงเหมือนดูหนังแล้วมั้ง เห็นเป็นภาพ เป็นเรื่องราว บางเพลงมี mv ในหัวแล้ว แล้วอันนี้เหมือนมันก็เหมือน overture ถ้าเป็นเพลงคลาสสิก มีทั้งช่วงช้า ๆ แล้วก็ช่วงเร็ว กับช่วงที่เป็นอะไรก็ไม่รู้ เพลงนี้ 140 bpm เพลงอื่นก็มีแบบนี้เหมือนกัน ก็ใส่ความน่าตื่นเต้นเข้าไปแบบอยากจะบอกว่า Two Pills After Meal กลับมาแล้วจ้า
แล้วเนื้อหาล่ะ
เติ้ล: มันมาจากว่าเราได้ดรัมแมชชีนมาแล้วลองเปิดลูปร้อง พอมีท่อน ตือดึ๊ด ตือดึ๊ด ก็มีคำว่า ‘sugar’ ขึ้นมา ก็เลยลองคิดเรื่องดูว่าจะเล่าอะไร น้ำตาลที่มากเกินไปก็เป็นผลเสียกับเรา เราพยายามจะเตือนตัวเองว่าอะไรที่มากไปมันก็ไม่ดี แล้วร้องว่า sugar sugar ก็น่าจะน่ารักดี โดยทั่วไปคนเราจะชอบความหวาน ชานมไข่มุก เค้กลาวาต่าง ๆ ซึ่งมันพ้องกับคำว่า ‘คำหวาน’ อะไรก็ตามที่มันดูดี แต่ถ้าเราไปหลงใหลมันมาก ๆ ก็ไม่ดี แต่จริง ๆ แล้วเราเป็นคนชอบกินเค็มมาก ถ้าข้าวกินกับไข่ดาวเนี่ย ข้าวแทบจะไม่เห็นสีขาวแล้ว เหยาะแม็กกี้เข้าไป! ถ้าจะมาร้องเกลือ ๆ มันก็ไม่ใช่ปะวะ (หัวเราะ)
เพลงอื่น ๆ จะซาวด์คล้ายกันหรือจะเป็นวาไรตี้ไปเลย
โอม: ก็คงอยู่ในการทำงานแบบนี้ คือการขึ้นลูปที่เป็นอิเล็กทรอนิก แล้วก็พาร์ตเรื่องราวก็อยู่ที่เราคุยกันแล้วได้คำตอบว่าเราเป็นคนที่เฝ้ามองดูผู้คน ดูสังคม ดูสิ่งที่เป็นไป เนื้อหาเป็นแบบนี้มาตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้ว ก็ยังคงอย่างนี้ไว้ในเพลงต่อ ๆ ไป อย่าง Sugar มันก็คือเราก็เห็นนะว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังเกิดขึ้น ระวังน้ำตาลมันจะฆ่าคุณ
เติ้ล: เราพยายามเขียนเพลงให้ตัวเองก่อน สนุกว่าอยากทำแบบไหน ขณะเดียวกันก็เขียนเพลงให้เหมือนว่า ถ้ามีคนสามช่วงอายุมาฟัง เขาก็จะได้เมสเสจไปตามวัยของเขา มองเป็นเรื่องลึกก็ได้ มองผิวเผินก็ได้
โอม: พูดถึงเรื่องวงอินดี้ป๊อปที่เป็นกระแสหลักอยู่ตอนนี้ละกัน เขาก็จะมีเรื่องต่าง ๆ ที่เขาเล่ากัน ที่อาจจะเป็นเรื่องความเศร้า ความรักที่เขาเผชิญอยู่ เราก็ยังไม่มีเรื่องที่จะเข้าไปพูดแบบกระแสหลักของอินดี้ เราก็ยังเป็นคนที่เฝ้ามองคนที่มีความรักแล้วก็เจ็บช้ำ ก็ไม่รู้ว่ามันจะทำให้เรายิ่งฟังยากเข้าไปอีกไหม แต่อย่างที่บอกคือเราเลือกแล้ว
เติ้ล: จริง ๆ Sugar ถ้ามองดี ๆ มันคือพูดเตือนตัวเองนะว่า เฮ้ย ทำตัวแบบนี้ไปเรื่อย ๆ วันนึงมันจะทำร้ายตัวเองนะ หรือถ้าคุณคิดว่าอันนี้เป็นเพลงที่เตือนคุณ คือมันได้หมดเลย จะไปตีความว่าเราไปหลงใหลความรักมากเกินไปแล้วมันจะทำร้ายคนในระดับนึงก็ได้ จริง ๆ หลาย ๆ เรื่องเป็นเรื่องของเราแหละ แค่มันสามารถลิงก์กับเรื่องที่คนสามารถอินไปกับเราได้
เมื่อกี้พูดถึงอินดี้กระแสหลัก อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดค่านิยมร่วมตรงนี้ พอมีมาก ๆ แล้วรู้สึกว่าจำเจไหม
เติ้ล: เรื่องเหล่านี้เราก็ไม่รู้จริง ๆ มันควบคุมไม่ได้ คือเรารู้สึกว่ามันขาดอะไรสักอย่าง ขาด energy ของซินธิไซเซอร์เราเลยทำอย่างงี้ คือไม่ได้ว่าคนอื่นนะคะ เอาง่าย ๆ เราทรีตตัวเองว่าเอาให้ไปเล่นสดแล้วสนุกอะ หลาย ๆ เพลงจากอัลบั้มแรกเราเอามาอะเรนจ์ใหม่เพื่อแค่ให้เราเล่นสนุกเลย
โอม: มันพูดยาก เพราะยุคนี้เพลงที่เขาฟัง หรือคอนเสิร์ตที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในไทย พฤติกรรมการเสพคอนเสิร์ตมันก็เปลี่ยนแปลงนิดนึงเมื่อเทียบกับตอนที่เราโตขึ้นมา ช่วงปีสองปีที่ดูมานะ น้อง ๆ เจนใหม่เขาชอบยืนดูคอนเสิร์ตนิ่ง ๆ ร้องเคลิ้ม ๆ ไปมากกว่า วงที่เป็นกระแสหลักจะเป็นสายนี้
เติ้ล: เหมือนให้วงเราเป็นทางเลือกนึกละกัน คือรูปแบบสิ่งที่คนอยากจะเสพมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เพราะงั้นเรากลับมาที่ตัวเองว่าเราชอบอะไร แล้วเราก็ทำ ส่วนสเต็ปต่อไปว่าตลาดจะเป็นยังไง เราก็ต้องคุยกับทีม ปรึกษาหาทางกันไป แต่เราจะไม่คิดก่อนว่าเราจะได้หรือไม่ได้ คิดแค่ว่าอยากทำยังไงก่อน เราก็รู้อยู่แล้วแหละว่าเรามาทางนี้ยังไงมันก็ยากถ้าอยากอยู่ในกระแส แค่มันก็ต้องมีคนอยากดูดนตรีสดสนุก ๆ เพลงเต้นรำที่บีตชัดเจนบ้างแหละ เราเชื่อว่าก็ต้องมีคนที่อยากจะเสพอะไรแบบนี้อยู่ หรืออยากปลดปล่อย energy
ที่ที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้คือห้องทดลองของ Two Pills After Meal และเติ้ลกับโอมเองก็ทรีตตัวเองเป็นนักทดลอง อยากรู้ว่าการทดลองสนุกยังไง
เติ้ล: เราเคยคุยกับแฟน เขาบอกว่าอย่าทำอะไรที่คุ้นเคย ให้ลองทำอะไรที่ไม่คุ้นเคยและรู้สึกว่ามันยากดูบ้าง จริง ๆ มันยากสำหรับเรานะเรื่องนี้ เพราะเราก็ใหม่ในการเล่นดนตรี เราซื้อเครื่องมาเพื่อที่จะดูว่าทำอะไรกับมันได้บ้างโดยที่เราเล่นไม่เป็นด้วยซ้ำ แล้วสนุกชิบหายเลย ในวันนึงเรารู้ว่ามันทำได้อย่างนึง อีกวันเรารู้ว่ามันทำอย่างงี้ได้อีกอย่าง เฮ้ย อินอะ ความที่เราไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไงมันสนุกจะตายนะ ไม่สนุกหรอ (หัวเราะ) แค่ต้องให้เวลากับมันเยอะหน่อย เราเลยมาขลุกตัวอยู่ที่ Smallroom แล้วก็มีห้องนี้ขึ้นมา แล้วพี่รุ่งก็ให้อยู่ไป จนทุกคนเรียกว่าที่นี่เป็น ‘ห้องทดลอง’ ของพี่เติ้ล พี่โอม Two Pills After Meal ไปแล้ว เราก็แบบ ‘ไม่ใช่ค่ะมันคือห้องของทุกคน’ ทุกคนยังมาทำอะไรได้ปกติ แต่เราขอสร้างบรรยากาศนิดนึง ก็มาทิ้งเครื่องไว้คือต้องเซ็ตค้างเอาไว้เลย นี่เอาออกไปครึ่งนึงแล้วนะเพราะต้องไปถ่าย mv เวลาจะซ้อมทีก็ครึ่งชั่วโมง เสียบสาย อะแดปเตอร์ ลืมของต้องไปเอา แต่มันเป็นโพรเซสที่เราไม่คิดว่ามันลำบากเลยนะ มันสนุกไปแล้ว
โอม: จริง ๆ นี่เป็นความคาดหวังส่วนตัว เราอยากให้วิธีคิดนี้เป็นวัฒนธรรมไปเลย ทั้งเรื่องการทำเพลงด้วย แล้วก็วัฒนธรรมการฟังด้วย บางทีพอเราทดลองทำ อย่างขั้นตอนกว่าจะทำเอง กว่าจะได้เสียงนี้มา ก็อยากให้เปิดใจทดลองฟังเหมือนกัน หลังจากนี้เราพยายามจะให้เห็นขั้นตอนการทำงาน เสียงอย่างนี้มาได้ยังไง ให้มันเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำเพลงรุ่นต่อ ๆ ไปรวมถึงคนฟังเองด้วย
เติ้ล: การเกิดขึ้นของ Two Pills After Meal มันก็คือการทดลองอยู่แล้วแหละ จากการที่เริ่มต้นใหม่นับหนึ่งกันทั้งคู่ ถ้าไม่ลองดูก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า ไม่งั้นคงจะยังเป็นอัลบั้ม First Kit ที่ต่อยอดมานิดหน่อย และจะไม่มี Sugar แบบทุกวันนี้ แต่อันนี้เราทดลองมาจนเจอทางของเราจนได้
เวลาทดลองไปเรื่อย ๆ ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเรื่อย ๆ แล้วเมื่อไหร่ถึงจะบอกได้ว่านี่คือผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ
เติ้ล: จริง ๆ มันคือการสร้างศิลปะทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ งานศิลปะเสร็จตอนไหน ก็ตอนที่เราพอใจ
โอม: เดดไลน์ (หัวเราะ) ไม่งั้นนั่งทำอยู่นั่นแหละ ไม่เสร็จซักที
เติ้ล: เออ โลกความเป็นจริง (หัวเราะ) ก็ด้วย การทำเพลงคืองานศิลปะอย่างนึงที่สื่ออารมณ์และเล่าด้วยเสียง เราจะเอาหรือยังไม่เอา เราจะรู้ว่าถึงจุดที่พอใจแล้วได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการที่เราหมกมุ่นอยู่กับมันบ่อย ๆ จะทำให้ความพึงพอใจมาถึงเร็วขึ้นจากการที่เรารู้จักตัวเองเร็ว
การยืนหยัดในแนวทางของตัวเองก็ทำให้วงได้ไปเล่นหลายงานในระดับนานาชาติ
เติ้ล: ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่ตอนมีอินบ็อกซ์เข้ามา เป็นปาร์ตี้ของฝรั่งจัดที่ White Line สีลม อยากชวนมาเล่น modulation คล้าย ๆ improvise งานทดลองประมาณนึง คือเราไม่เคยทำ ซึ่งเราป๊อปสุดเลยในวันนั้น ก็ลองเปิดลูป แล้วโอมเล่นอะไรมาเราก็เล่นโต้ตอบ แต่มีฟอร์มอะไรประมาณนึง ซึ่งก็เป็นวงปิดในวันนั้น ปรากฏว่าฝรั่งเต้นกันชิบหาย ตบมือดังยาว แล้วตอนนั้นใจมันมา เราทำได้ เราไม่เคยทำมาก่อน เราเล่นเพลงป๊อปอะ จะมาทำอะไรเซอร์ ณ ขณะนั้นมันเหมือนขี่ม้าป่าแล้วเอาม้าอยู่ (หัวเราะ) ได้กำลังใจเรามาแต่นั้นเลย แล้วนั่นคือประตูบานแรกเลยนะ
โอม: เริ่มเห็นที่ของเราแล้วอะ คือในงานนั้นมีคนชื่อ Twist x Twist หลักการทำงานไม่แน่ใจ แต่เป็นเซ็นเซอร์ในโถเลี้ยงปลา มีจิ่งหรีดเดินผ่านเซ็นเซอร์แล้วทำให้เกิดเสียงนั่นนี่ เนิร์ดมาก ชอบมาก เขาบาลานซ์การทำงานกับสปอนเซอร์ได้ดีมาก คือผู้สนับสนุนให้เขาไปทำอย่างนั้น
เติ้ล: คือแมลงทอดกรอบหรืออบกรอบอะ ซึ่งเป็นจิ้งหรีดตัวเป็น ๆ ก่อนที่จะมาถูกทำเป็นแมลงทอด (หัวเราะ)
โอม: ไม่ใช่ ดาร์กเกิน! ก็เปิดโลกทั้งด้านการทำงาน แล้วก็คนเสพเองก็ได้เปิดใจ กับงานต่อมา พี่ป๊อก Stylish Nonsense มาชวน ก็ต้องขอบคุณพี่ป๊อกมาก ๆ ด้วย
เติ้ล: ใช่ ก็แนะนำเราหลายเรื่องเหมือนกัน คืองานเล่นที่ Jam อันนี้ชาวต่างชาติก็เยอะ รู้สึกว่าเขารับ energy แล้วก็สนุกกับเรา เราชอบบรรยากาศแบบนั้น คือเราสนุกกับดนตรีของเราก็จริง แต่นักดนตรีมันก็ต้องรู้สึกถึงรีแอคของคนดู หรือที่ที่ไปเล่นมันเป็นที่ของเราหรือเปล่า มันก็ต้องเติมจิตใจเราด้วยเว่ย ก็เลยรู้ตัวละ มาอะเรนจ์เพลงเริ่มไปทาง Massive Attack ละ
โอม: จนมีเอเจนต์ที่เป็นต่างชาติคือคุณเจอโรม อยู่อัมสเตอร์ดัม คนนี้ทำให้เราได้ไปเล่นที่เกาหลีใต้ ตอนนั้นเรามีอัลบั้ม First Kit เราก็คุยกับเขาว่าจริง ๆ เราอยากไปเล่นต่างประเทศนานแล้วแต่เรามีแค่เพลงไทย ยังไม่มีเพลงที่เป็นเนื้อภาษาอังกฤษเลย เขากลับบอกว่าอยากฟังวัฒนธรรมของเรามากกว่า แล้วพอไปเล่นที่นั่นก็ไปเจอวงที่เป็นนานาชาติ ทั้งเกาหลี อินโดนีเซีย เขาก็ร้องภาษาของเขาเอง แล้วพอไปเราก็ได้เล่นสองที่ งานแรกเป็นเฟสติวัล Zandari เป็นโชวเคส เวทีใหญ่ ๆ เล่นเสร็จลงมาก็ยังไม่ค่อยเจอใคร แต่ความมันคือตอนเล่นร้านที่สอง ชื่อ Strange Fruit (เติ้ล: เหมือน Play Yard บ้านเรา เขาจะรู้ว่าช่วงนี้มีเฟสติวัล ก็จะอินบ็อกซ์ไปหาวง ชวนมาเล่น) ถ้าเคยไป เมืองเขาจะเป็นตึกต่อ ๆ กัน แล้วมีทางลงไปใต้ดิน เข้าไปแล้วเจอเหมือนก้องโถงอะไรสักอย่าง เป็น live house ได้ฟีลมาก มันก็เลยได้ใกล้ชิดกับวงที่เราไปเล่นด้วยในวันนั้น ได้แลกเปลี่ยนคุยกัน จริง ๆ เขาค่อนข้างเปิดมากที่นั่น
เติ้ล: แล้วในช่วงนั้นพอทัวร์เราไปทางนี้ ได้ไปเล่น De Commune เริ่มมีวิดิโอเล่นสด มันก็เริ่มสโคปคนที่จะชอบงานเรา จนพี่เจ มณฑล ทักมา ถามว่าไปเล่น Wonderfruit ไหม เราดีใจมาก คืออยากไปอยู่แล้ว เพราะเราคิดตลอดว่าเวลาจะไปเที่ยวมันเที่ยวได้ แต่เวลาวงได้ไปเล่นอะ มันจะรู้สึกว่าดนตรีพาเราเดินทาง เป็นรางวัลของเราแล้วล่ะ ถึงจะไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือได้ผลตอบรับที่ชัดเจนนัก แต่เราถือว่าเป็นไมล์หลัก เป็นโกลของเราอันนึง คือการได้ไปเล่นดนตรีที่ต่าง ๆ (โอม: ได้เล่นก่อน Soléy แล้วไปเจอเขาซาวด์เช็ก โอ้โห) เย็นยะเยือกมาเลย คือจริง ๆ ถ้าเปิดดูไดอารีของเราตั้งแต่แรก ๆ เราจะเขียนไว้ว่าเป้าหมายเราคืออะไร ก็มี Wonderfruit อยู่ในนั้น ตั้งแต่ปี 2015 ตั้งแต่ตั้งวงเลย
เป็นวงที่รู้ว่าอยากไปถึงจุดไหนตั้งแต่แรก
โอม: ใช่ คือการทำงานค่ายมันก็สอนเราเหมือนกัน เราต้องทำงานกับหลายคน บางทีการตั้งเป้าให้มันชัดเจนก็ส่งผลต่อการทำงาน ซึ่งมันเป็นผลดีกับเราด้วย มันทำให้เรารู้ตัวเอง ดูตัวเองก่อนว่าใครจะเสพ ใครจะฟัง ก็มานั่งคุยว่าเราเป็นใครวะ แล้วเพลงมันแนวประมาณนี้ มันพอจะไปไหนได้วะ เราอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปตามแผนหรือเปล่า แค่อยากกระหายก่อน แล้วค่อย ๆ ไปทีละสเต็ป มันต้องใช้เวลา
หลังจากนี้จะไปเล่นที่ไหน
เติ้ล: Luc Fest ที่ไต้หวัน ส่งใบสมัครวันสุดท้ายเลย เป็นโชว์เคสเหมือนกัน แต่เราเรียนรู้มาจาก Zandari แล้วว่างานแบบนี้จัดเพื่ออะไร มันเหมือนไปขายงานให้คนจัดอีเวนต์หรือจัดเฟสติวัลทั่วโลกที่มาดูเรา แล้วเราต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง คราวที่แล้วฉุกละหุกมาก รอบนี้เอาจริง เราพร้อมเต็มที่ละ นี่น่าจะเป็นอีเวนต์ที่พาเราไปอีกสเต็ป ก็พิสูจน์ตัวเองเหมือนกัน เรามั่นใจว่างานเราดี แต่มันดีพอที่จะไปต่อหรือเปล่า
โอม: อย่าเอาซินธ์ไปเยอะนะ หนักมาก (หัวเราะ) ขึ้นเครื่องมันต้องใส่ฮาร์ดเคสห้าสิบโลได้ แต่ก็สนุกดี ได้เรียนรู้ว่าต้องเอาของไปฝากที่รถใต้ดินเพื่อที่เราจะต่อสถานีไปคุยธุระที่นั่นที่นี่ ได้ไปเจอวงหลาย ๆ วง คุยกันว่าเขาฟังอะไรกันบ้าง
เติ้ล: ลุยกันเอง เดินกันเอง มีแค่วง กับหนุ่ยที่เป็นซาวด์เอนจิเนียร์ แล้วก็ผู้ติดตาม คือแฟนของแต่ละคน ก็รู้สึกผิดมากที่ทุกคนต้องมาคอยแบก แยกชิ้นส่วน พี่ฝากอันนี้ใส่กระเป๋าไปหน่อย คือของเราหมดเลย ซินธ์เยอะอย่างไปหมด เพราะโอมก็เอาไปแค่แพดกับไม้กลอง (หัวเราะ) ก็เรียนรู้ค่ะว่าจะเอาไปให้น้อย ๆ ก็ดูพี่ป๊อกเป็นตัวอย่าง เขามีกระเป๋าใบเดียว
แล้วแบบนี้เวลาไปทัวร์ เอาซินธ์ไปน้อย ๆ ใช้เปิด MD เอาหรอ
เติ้ล: เมื่อก่อนรู้สึกว่าต้องเล่นเองให้หมด แต่พอได้อุปกรณ์ที่มาช่วยเราได้เยอะ ๆ มันก็เริ่มเบาตัวลง เอาเข้าจริง ๆ นะ เรามองไปที่ผลลัพธ์ละว่าเสียงในหัวเราเป็นอย่างงี้ เราทำยังไงก็ได้ให้ทุกอย่างที่อยู่ในหัวเรา ถ่ายทอดออกมาให้คนได้ยินอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งมันก็ไม่ได้ง่ายนะต่อให้เปิด MD ช่วย เพราะสุดท้ายการบาลานซ์และการจัดการไลน์ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ของเราอยู่ดี ต้องฝึกคิวเยอะ
โอม: เรามองว่าวงทุกวันนี้ การมี MD มันค่อนข้างเติมเต็มสำหรับคนดูด้วยนะ เราจะรู้สึกว่ามันมีแอมเบียนต์ มีฮาร์โมนีที่เราต้องการ มันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก่อนจะมาเป็น MD หลังบ้านต้องทำงานเข้มข้นมาก ๆ ไม่ใช่แค่เอามาจากในเพลงแล้วเปิดแบบ เอ้า ก็เล่นแบบนี้นี่ คือด้วยย่านเสียงต่าง ๆ และการเลือกไลน์มันใช้เวลานานมาก เหมือนการเตรียมคอนเสิร์ตนั่นแหละ ประมาณสัปดาห์สองสัปดาห์เลย แล้วคนที่มาปิดงานไม่ใช่เราเองนะ เรายังทำไม่ได้เลย ต้องเป็นพี่รุ่ง มันค่อนข้างเข้มข้นเหมือนกัน
เติ้ล: ต้องมิกซ์ใหม่อีกรอบ คือเราไม่ได้เปิด MD 100% เราต้องเปิดบางจุดที่รู้สึกว่า เฮ้ย เรา handle ไม่ได้เวลาเราเล่นสด เราต้องคิดก่อนว่าเราเล่นอะไรด้วยตัวเองได้บ้างให้ได้มากที่สุด แล้วที่เหลือแอมเบียนต์ต่าง ๆ บรรยากาศสำคัญที่ขาดไม่ได้ พลาดไม่ได้ เราต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ให้งาน complete ที่สุด แต่เราก็ยังต้องเล่นให้ตัวเองสนุกอยู่ด้วย เพราะเราเองก็มาจากการเป็นนักดนตรีที่ไม่ได้อิเล็กทรอนิกจ๋ามาก่อน ยังไงมันก็อยากเล่นดนตรี พี่รุ่งยังแอบดุเลยว่าเลิกเล่นเบสได้แล้ว! เราแบบ พี่ หนูขอเล่นเถอะ (หัวเราะ)
ความที่เป็นวงสองชิ้น เวลาเล่นสด ทำไงให้โชว์เราสนุกได้พอ ๆ กับวงที่เครื่องเต็ม ๆ มีสมาชิกเยอะ ๆ
โอม: ยากนะกว่าเราจะมาเจอจุดนี้ เมื่อก่อนเราเล่นสองชิ้นจริง ๆ ไม่มีอะไรช่วยเลย (เติ้ล: ไม่เปิด MD ชั้นจะเล่นเองทุกสิ่ง) งานที่เราจะสนุกคืองานที่เราอยู่ใกล้คนดูมาก ๆ แต่พอเราต้องไปขึ้นเวทีที่สเกลคน 400-500 มันส่งถึงคนดูยากอะ ขอบคุณที่มาช่วยคอมเมนต์ช่วยดูทุกครั้ง เพราะเวลาที่เราโชว์จะรู้สึกว่ายังไม่ดีพอ แต่ไม่รู้ว่ามันต้องเติมอะไรวะ
เติ้ล: ลองผิดกันมาเยอะ แต่พอลองถูกครั้งนึงก็รู้สึกว่า เออ มันมาละ เนื่องจากเราต้องเล่นอยู่กับที่ เราออกมาข้างนอกไม่ได้ เพราะงั้นสิ่งที่ต้องไปถึงคนดูให้ได้มากที่สุดคือเสียง มันก็รวมไปถึงการอะเรนจ์ ฟอร์มเป็นยังไง บรรยากาศยังไง ทุกอย่างต้องเริ่มจากเพลงก่อน ก็ต้องกลับมารื้อ วิเคราะห์ดูว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง ซึ่งแต่ละเพลงไม่ได้เหมือนกันไปทั้งหมด แต่ละที่ที่เล่นก็ไม่เหมือนกัน
โอม: บางทีเราพยายามใช้ร่างกายให้คนเห็น เฮ้ย energy เว่ย สองคน ขึ้นมาเต้นบนกลองเว้ย โอม ยืนดิ๊ ออกท่าเยอะ ๆ สรุป กลับมาร้องไม่ทัน ไมค์หายไปไหนวะ (หัวเราะ) ปัญหามันเยอะมาก ล่าสุดเราไปเล่นงาน Smallroom Holiday คนเยอะมาก เราจะสนุกแค่นี้มันไม่พอ เพื่อน ๆ ก็แนะนำว่าแค่เสียงเนี่ยแหละที่จะทำให้คนโอเค ให้วิชวลมันช่วยเรื่องภาพรวมไป วงก็ concentrate กับการเล่นมากขึ้น ผิดน้อยลง อะไรงี้ดีกว่าไหม
เติ้ล: ก็ดูตัวอย่างให้เยอะ ฟังให้เยอะ ดูตัวเองด้วย
การไปเป็นแบ็กอัพให้คนอื่นช่วยอะไรเราบ้าง
โอม: มีเล่นกับ Mole the Explosion อันนี้จะค่อนข้างใกล้เคียงกับวงเรา เป็นทดลอง อิเล็กทรอนิก จริง ๆ อ๊อฟคนที่ทำเพลงเราค่อนข้างยอมรับงานเขาเลย คือก็ไป Wonderfruit เหมือนกัน ค่อนข้างเข้มข้นทางดนตรี จะเป็นการปรึกษาแลกเปลี่ยนกันมากกว่า เรามีอิทธิพลร่วมกัน เขาเป็นรุ่นน้องที่ขอนแก่น แบบ พาร์ตกลองควรเป็นยังไง จะเติมเต็มอะไรดี เขาเป็นวงสามชิ้น แต่อะเรนจ์ก็เยอะมาก กับ Superbaker นี่คือเขาเป็นวงป๊อป คือการทำงานเราต้องรู้ว่าเราต้องไปเล่นให้วงเขา เราจะเป็นเรามากเกินไปไม่ได้ ต้องรู้ตัวว่าทำงานป๊อปอยู่ ก็ต้องตีความกับวงนั้นด้วยว่าควรเล่นแค่ไหน
เติ้ล: ของเราเหมือนไปเรียน ตั้งแต่ Scrubb ละ ยิ่งเล่นเหมือนได้ฝึกความคุ้นชิน ความตื่นเวที แต่พอเป็นแบ็กอัพจะกดดันน้อยกว่าตอนเล่นวงตัวเอง เพราะคนจะจดจ้องที่ศิลปินหลัก แต่สุดท้ายไม่ใช่อย่างงั้นซะทีเดียว พอเรียนรู้ไปเราคิดอย่างงั้นไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องเต็มที่ คิดว่าเราก็คือหนึ่งในวงนั้นเพื่อที่ภาพรวมมันจะเต็มที่ไปกับวง เรามองว่าการเป็นแบ็กอัพก็ต้องทำตัวเองให้เหมาะสมกับที่ยืนอยู่ตรงนี้ ถ้าดูดี เล่นดี ศิลปินก็จะดูดีไปด้วยกัน นอกจากฝึกว่าเราได้ความคุ้นชิน ก็เหมือนไปเรียนจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเรา มันจะมีทริกนั่นนี่ให้เอามาใช้ อย่างตอนไปเล่นกับพี่ริค วชิรปิลันธิ์ ที่พี่โหน่ง The Photo Sticker Machine ชวนไป โห เหมือนไปเข้าค่าย เข้าคอร์ส intensive เข้มข้น เราเหมือนเป็นเด็กอนุบาลสำหรับทุกอย่าง ต้องใช้พลังชีวิตสุดฤทธิ์ เรียนรู้จากพี่โหน่งเยอะมาก เป็นบุญชีวิตจริง ๆ นะที่ได้เล่นงานนี้ แล้วก็ได้รู้ว่าเล่นเป็นวง วงต้องการอะไร เรื่องเทคนิค วิธีคิดงาน ก็เป็นความโชคดี กับวง Noi Pru ก็เติมจิตวิญญาณให้เราสุด ๆ มันก็กลับมาช่วยกับวงนะ คือวงก็เป็นตัวเรา คนสร้างงานก็คือตัวเรา ถ้ามันให้คุณค่าอะไรกับเราเราก็ส่งต่อไปให้วงเราอีกที
อัลบั้มจะได้ฟังเมื่อไหร่
เติ้ล: ต้องปีหน้าแหละ เพราะเป็นแพลนค่ายด้วย มันมีผลกับการปล่อยงานของแต่ละวง ยังไงเราก็ยังอยากทำอัลบั้มอยู่
โอม: แต่ก็กะจะปล่อยถี่ ๆ ทุกเดือน ก็รอฟังที่ปล่อยออกมาก่อนละกัน จะไม่หายไปแล้ว
ฝากผลงาน
เติ้ล: ฝากการกลับมาของพวกเราด้วย หายไปจากการทำเพลงนานเหมือนกัน เราก็คิดถึงการทำงาน จริง ๆ เริ่มจากการที่เราชอบทำเพลง เพราะงั้นเราตั้งใจกับมันแน่ ๆ และครั้งนี้เราได้เรียนรู้เยอะ จะพยายามเอาทุกประสบการณ์ ทุกความรู้สึก จะเต็มที่กับมัน ฝากติดตาม อย่าคิดว่าเพลงเรายากไปก่อน มันไม่ยากขนาดนั้น เราเชื่อ ลองเปิดใจฟังนะคะ น่าจะเป็นยาชูกำลัง เป็น energy อีกแบบนึงในวันที่คุณต้องการ