Article Interview

TONTRAKUL ลำล่องหมอลำร่วมสมัยในดนตรีอิเล็กทรอนิก

  • Writer: Montipa Virojpan

 

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้มีเรื่องราวที่เป็นที่ถกเถียงกันมากเกี่ยวกับความเป็นไทย และล่าสุดก็มีเรื่องมิวสิกวิดิโอโขนโปรโมตการท่องเที่ยวไทยที่ถูกนำมาประยุกต์หรือตีความใหม่ ซึ่งมีความเห็นออกมาหลากหลายว่าการปรับให้มีความเข้ากันกับยุคสมัยหรือจับต้องได้ง่ายขึ้นนี้ คือการสร้างสรรค์หรือทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมกันแน่

แต่ขณะเดียวกัน ในวงการดนตรีช่วงนี้ก็เกิดความนิยมที่จะหยิบจับเพลงพื้นบ้านมาผนวกเข้ากับดนตรีสากลประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร็อกแอนด์โรล โซล แจ๊ส บลูส์ เร็กเก้ และล่าสุดคือดนตรีอิเล็กทรอนิก ซึ่งการสร้างสรรค์ของศิลปินเหล่านี้กลับได้รับการตอบรับจากคนรุ่นใหม่และต่างประเทศเป็นอย่างดี วันนี้เรามาพูดคุยกับตัวแทนศิลปินที่นำเพลงหมอลำและเครื่องดนตรีอีสานมาสร้างสรรค์เป็นงานร่วมสมัยอย่าง ต้นตระกูล แก้วหย่อง ที่ฝากผลงาน Isan Lum Long มาให้เราได้ฟังและรู้สึกสนใจเขาขึ้นมาทันที

static1-squarespace-34

ต้นตระกูลคือใคร

พื้นเพผมเป็นคนชัยภูมิครับเลยได้คลุกคลีกับการฟังเพลงหมอลำ ด้วยความชอบส่วนตัวก็เริ่มเล่นดนตรีอีสานตั้งแต่ ม.ต้น ในวงโปงลางที่โรงเรียน ตอนนั้นผมเล่นพิณครับ จริง ๆ ผมก็เล่นกีตาร์ไปด้วยแหละ แต่เสียงพิณมันฟังแล้วมีเสน่ห์ คือรู้สึกว่ามันสร้างเสียงได้เร็วกว่ากีตาร์แล้วง่ายกับเราก็เลยชอบ เพลงที่เล่นตอนแรก ๆ ก็เป็นเพลงไลน์โปงลาง พวกเต้ยโขง เพลงที่เอาฝึกเล่นอะไรแบบนั้น จนต่อมาก็ไปเรียนดนตรีพื้นบ้านที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือเรียนแบบฉบับพื้นบ้านเลย แต่สังคมมหิดลมันมีทั้งดนตรีแจ๊ส คลาสสิก ป๊อป มันก็เลยเกิดความหลากหลายสำหรับผม กลายเป็นว่าผมอยู่ในวัฒนธรรมป๊อป วัฒนธรรมดนตรีตะวันตก ก็เห็นมุมมองว่ามันมีความคล้ายคลึงระหว่างดนตรีตะวันตกกับดนตรีไทย มันน่าจะมิกซ์กันได้ เลยลองทำคอร์ดป๊อปแล้วใส่ทำนองพื้นบ้าน ก็ทดลองทำเรื่อยมา แล้วก็สนใจ world music พวกดนตรีพื้นบ้านของประเทศอื่น ๆ ทั้งแอฟริกัน เอเชีย ว่าเพลงดั้งเดิมเขาเป็นยังไง เขาจะสื่ออะไร เพลงพื้นบ้านของเราคล้ายคลึงกับเขาตรงไหนไหม แล้วพอจบมาทางด้านดนตรีศึกษาและการสอนได้สองปี ตอนนี้ก็เป็นอาจารย์พิเศษที่นั่น แล้วก็ทำดนตรีพื้นบ้านอีสาน กับทำดนตรีไทยร่วมสมัยไปด้วยครับ

พูดถึง world music แล้ว เราเคยฟังเพลงแอฟริกันแล้วรู้สึกว่ามันคล้ายกับเพลงหมอลำ

ผมว่าเนื้อเดียวกันเลยครับ ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่รากมันแทบจะเหมือนกันเกือบ 80% ทั้งการร้อง การเรียบเรียงดนตรี ตอนผมเรียนที่มหิดล เครื่องดนตรีเอกของผมคือโปงลาง เป็นรางไม้คล้าย ๆ ระนาดครับ แล้วผมไปเจอเครื่องดนตรีของแอฟริกันมันก็มีเหมือนกันนี่หว่า แต่ทำไมเทคนิกการตีมันประหลาด ผมเลยลองเอาเทคนิกการตีเครื่องนั้นมาใส่กับโปงลาง มาสร้างเพลงอีสานแต่ใช้ groove เพลงแอฟริกัน มันก็ได้อีกมิตินึงเหมือนกัน

static1-squarespace-35

ตอนธีสิสทำเรื่องอะไร

ผมทำสองเรื่องครับ ตอนปีสามชื่อโปรเจกต์คือ Ponglang and His Friends เพื่อนของเขาในที่นี้คือเครื่องดนตรีอื่น ๆ คือมีโปงลางแล้ว ก็มีพิณ แคน หมอลำ ที่ยังมีความเป็น traditional อยู่ แล้วก็มีกีตาร์ แซ็กโซโฟน เปียโน ที่เป็นวงฟิวชันแจ๊ส เอามาผสมกัน พอตอนปีสี่ผมทำโปรเจกต์ดนตรีดั้งเดิมเลย จากทางพิณ มาสู่โปงลาง ได้สำเนียงพิณที่เท่ นุ่ม มาจากอาจารย์ คำเม้า เปิดถนน วง Paradise Bangkok ผมเป็นลูกศิษย์เขา แต่พอผมเอกโปงลาง ผมก็ต้อง adapt มา แล้วก็ทำโปรเจกต์สมัยเรียนร่วมกับ Machinaเป็น Ponglang Monster

เป็นจุดเริ่มต้นของหมอลำอิเล็กทรอนิก

ใช่ครับ ผมว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกมันเป็นดนตรีที่เข้ากับคนง่าย คือเราไปร้านเสื้อผ้า หรือไปตามห้าง เขาจะเปิดพวก electronic chill out ที่มันฟังง่าย ติดหู แล้วผมรู้สึกว่าบีทของดนตรีอิเล็กทรอนิกมันก็เข้ากับดนตรีอีสานได้เลยลองเอามาทำเพลง คือผมฟังดนตรีเยอะ แล้วก็มี reference ในหัวเป็นคุณ Jojo Mayer เขาเป็นมือกลองแนว drum & bass คืออิเล็กทรอกนิกแนวนึง กับชอบหมอลำชื่อ ฉวีวรรณ ดำเนิน หรือที่คนรู้จักในชื่อ ฉวีวรรณ พันธุ ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติด้านการร้องหมอลำ ที่ผมเอามาทำใน Isan Lum Long เป็นทำนองเอื้อนพูดเรื่อย ๆ ลอยไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ที่เป็นจังหวะตก คือที่ผมหยิบหมอลำมามันเป็นรากเหง้าที่เด็กรุ่นใหม่หรือใครหลาย ๆ คนที่ทำเพลงไม่ได้ไปแตะ เพราะเพลงเขาไม่มีบีทครับ ไม่รู้ว่าจะแมตช์ยังไง ไม่รู้ว่าความหมายมันจะลงไหม กับดนตรีสมัยนิยมที่ผมได้ศึกษาก็ดูว่าอะไรมันจะเข้ากัน คิดว่ามันดูมีอิสระดีถ้ามาอยู่ในดนตรี drum & bass ที่มี groove แบบนี้ พวกเครื่องอิเล็กทรอนิกที่ใช้ก็เป็น synth bass มีเบสเป็นลูป แล้วให้มันเด่นด้วยการโซโล่กลองจริง ๆ เข้าไป แล้วก็มีเครื่องเป่านิดหน่อย แล้วเพิ่มเครื่องดนตรีอีสานเข้าไปอีก จะได้ดูว่ามันมีสีสันที่เหมือนหรือต่างยังไงบ้างและช่วยให้ดนตรีอีสานดูน่าสนใจมากขึ้น เป็นเพลงที่เต้นได้แบบเพลงอิเล็กทรอนิกทั่วไปเลยครับ

ในเพลง Isan Lum Long บทร้องลำในเพลงมีความหมายว่าอะไร

ผมนำมาจากบทลำล่อง ชื่อ บทอาลัยอาวรณ์ ตอนที่ 1 ของคุณแม่ฉวีวรรณ พันธุ เขาพรรณนาถึงวิถีชีวิตในอีสานว่าทุกคนมีสังคมร่วมกัน ตอนเช้าไปทำมาหากินอาชีพตัวเอง ตกเย็นมารวมกันที่วัดจัดงานบุญ สร้างกิจกรรมของชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ เด็ก เขาทำอะไรกันบาง แล้วก็จะพูดว่าอีสานมันน่าอยู่นะ ผมคิดว่าเนื้อหามัน contrast มากที่เอามาใส่กับดนตรีอิเล็กทรอนิก

ก่อนหน้านี้ก็มี Eclextic Suntaraporn ที่หยิบเพลงลูกกรุงมาใส่อิเล็กทรอนิกเหมือนกัน

ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่นักฟังเพลง นักแต่งเพลง หรือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์โหยหา มันยังเหมือนสิ่งใหม่สำหรับการนำมาผสมกัน อยากให้ทำกันเยอะ ๆ ไม่ใช่แค่อีสานหรอก เพลงพื้นบ้านเหนือ กลาง ใต้ มันก็มีจุดเด่นของมัน ดนตรีไทยในราชสำนักมันก็มีแก่นของมันที่สามารถเอามาดัดแปลงทำเป็นแบบนี้ได้ อยากให้คนที่สนใจลองเอามาทำกันดู

เสน่ห์ของการผสมผสานดนตรีแบบนี้คืออะไร

การทำให้ศิลปะเดิม ๆ ของเราไม่เสียอรรถรส ผมมองว่าการทำแบบนี้ไม่ใช่การทำลายศิลปะที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการทำให้ศิลปะที่มีอยู่ดูมีค่ามากขึ้น คือเรามี material ที่ดีอยู่แล้ว เราสร้างองค์ประกอบรอบ ๆ มันให้น่าสนใจมากขึ้น เหมือนของกินอะไรสักอย่างที่เราเข้าใจว่าเป็นของไทยแท้ เราทำให้มันเป็นฟิวชัน ให้ฝรั่ง เอเชียน สามารถกินได้ แต่มันยังอร่อยเหมือนเดิมในแบบของมัน คิดว่ามันเข้าถึงคนได้ง่ายกว่า ไม่เสียคุณค่าของสิ่งนั้นด้วย

จากกรณีมิวสิกวิดิโอส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เอาโขนมาแสดง เรามีความเห็นว่ายังไง

พี่เก่ง ธชย ก็เป็นรุ่นพี่คณะผมครับ ทำงานมาด้วยกันตั้งแต่ผมเรียนอยู่ ผมคิดว่าเขาไม่ผิดนะที่จะมาทำ เหมือนที่ผมเล่าไปเมื่อกี้ครับว่ามันไม่ได้ทำลาย แต่ทำให้ของที่มีอยู่เข้าถึงคนได้มากขึ้น แล้วการที่เขาเอามาเล่ามันมีสองมุม คือคนที่อนุรักษ์ กับคนที่สร้างสรรค์งานแบบใหม่ สรุปคือมันก็แล้วแต่รสนิยมว่าเขาชอบแบบไหนมากกว่า มันมีข้อเปรียบเทียบอีกอันนึงครับ ผมเพิ่งไปเวิร์กช็อปที่ศิลปากรมาเกี่ยวกับดนตรีอีสาน ทำไมมันยังอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างสนุกสนาน ไม่เคอะเขิน แต่ดนตรีไทยเดิมในขนบทำไมมันเริ่มตายลงหรือซบเซาไปเรื่อย ๆ ผมก็ได้คำตอบว่า ดนตรีอีสานมันไม่มีคำว่าแอนตี้ มันเกิดอยู่ในยุคร่วมสมัยตั้งแต่แรก คำว่า traditional หรือดั้งเดิมของอีสาน มันก็คือร่วมสมัย มันฟิวชันอยู่แล้ว เขาปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ทุกยุคทุกสมัย แต่ในบางบริบทของดนตรีไทยเดิม เขาต้องการยึดความเป็นแบบที่เล่นยังไงก็ต้องเล่นอย่างนั้น แต่มันก็มีคนบางกลุ่มที่เขาต้องการพัฒนาดนตรีไทยเหมือนกัน แล้วก็โดนข้อจำกัดว่าจุดนี้ว่าต้องแบบนี้นะ แบบเดิมดีกว่า ถ้าทำแบบใหม่ขึ้นมามันเป็นการทำลาย แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกมันทำให้สัมผัสได้ว่า คนที่อนุรักษ์นิยมไม่ได้ศึกษาศิลปะจริง ๆ ว่ามันเกิดมาจากอะไร มันสามารถทำอะไรได้บ้าง มันมีองค์ความรู้อะไรที่ร่วมสมัยอยู่ในนั้น กว่าจะมาเป็นชุดโขนที่สวยเหมือนสมัยนี้ สมัยก่อนมันอาจจะเรียบกว่านี้ คือมันมีการกลายทางวัฒนธรรมอยู่ตลอด

อย่างวง The Rube ที่พยายามเอาเพลงไทยเดิมมาทำให้ร่วมสมัย

ผมว่าเป็นทางเลือกที่ดีนะครับสำหรับการฟังเพลง ผู้ฟังได้มีอะไรใหม่ ๆ ฟังบ้าง แล้วเขาเอา material ที่หลาย ๆ คนคิดไม่ถึงมาทำ ผมประทับใจเพลงที่สองของเขา วันทอง เขานำสำเนียงการแหล่แบบพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณหรือทศพล หิมพานต์ ที่ไม่ค่อยมีวัยรุ่นหรือเพลงสมัยใหม่เอามาทำ เราว่ามันดูเป็น The Rube มากขึ้น เป็นดนตรีไทยมากขึ้น อันนี้ผมชอบ สนับสนุนครับ

คิดยังไงกับการที่ทำสิ่งเหล่านี้แล้วต่างชาติชื่นชม แต่คนไทยด้วยกันเองมองว่าเป็นการทำลาย หรือบางคนก็มองข้ามไปเลย

ผมไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่เขาคิดยังไง แต่มันมีสองกระแสที่มาพร้อม ๆ กัน กระแสแรกคือแก๊ง Paradise Bangkok ที่ทำให้คนไทยหันมามองว่าบ้านเรามีของดี แต่เป็นดนตรีบรรเลง อีกกระแสคือ Rasmee ที่เป็นการร้องแบบเขมรกับอีสานหมอลำ เอามาผสมกับดนตรีโซล คนก็ยิ่งสัมผัสได้มากขึ้นแล้วก็ประหลาดใจว่าแบบนี้ก็มีหรอ ส่วนใหญ่วัยรุ่นจะชอบและรู้สึกว่าแปลกใหม่ น่าเสพ ผมสังเกตเองจากการเล่นดนตรีอีสานและดนตรีร่วมสมัยไปพร้อมกัน น้อยมากที่จะมีผู้ใหญ่ออกมาพูดว่า เฮ้ย ทำไม่เพราะนะ ทำไม่ถูกนะ มันอยู่ร่วมสมัยมานานจนไม่รู้ว่าอันไหนมันเก่าหรือใหม่ แต่การที่ต้องให้คงวัฒนธรรมเดิมไว้ หนึ่งคืออาจะเพราะปิดใจ สองคือยังไม่ถูกใจ คือศิลปะมันมองได้หลายมุมนะว่า อันนี้มันอนุรักษ์ อันนี้ร่วมสมัย อันนี้ modern เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเอง เพื่อเปิดทางให้ศิลปะที่มันยังมีอยู่ให้มันไม่ตาย

จะทำยังไงให้ถูกใจ

เขาอาจจะมี reference ที่ยังไม่โดนเขา เขาอาจจะชอบเพลงสมัยสุนทราภรณ์ ชอบฟีลดนตรีแบบนั้น แต่พอเอามาทำดนตรีสมัยใหม่ หรือดนตรีที่วัยรุ่นฟัง หรืออะไรที่ไม่ค่อยผ่านหูเขาก็จะดูแปลก ๆ ในรสนิยมของเขา ก็ต้องค่อย ๆ ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง

static1-squarespace-36

มีความคิดที่ว่าดนตรีกับศิลปะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ผมว่ามันเหมือนกันนะครับ มันเหมือนกันในแง่อารมณ์ ความรู้สึก สัมผัสแล้วรู้สึกเกลียด รู้สึกเศร้า รู้สึกรัก แล้วก็มันสะท้อนใจเราได้ด้วย ผมเรียนดนตรีพื้นบ้าน แต่ผมก็เสพงานศิลปะต่างประเทศด้วย ผมมองศิลปะแต่ละยุคสมัยว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันยังไง เป็นแบบไหน เขาต้องการสื่ออะไร แต่ดนตรีอาจจะสัมผัสได้ง่าย และเร็วกว่าศิลปะ คือพอฟังแล้วรู้เลยว่ารสมันเป็นยังไง ดนตรีมันช่วยทำให้เรามีกำลังใจ ทำให้เราอยากทำงานดี ๆ ออกมา

ความหวังของวงการศิลปวัฒนธรรมในทุกวันนี้คืออะไร

จะตอบในมุมมองของคนสร้างงานก็แล้วกันนะครับ สำหรับผมมันมีหลายอย่างที่ตายไปแล้ว แต่สามารถเอามาต่อยอดให้นำกลับมาได้ นอกจากอาหารอร่อย วัฒนธรรมที่ดูสวยหรูแล้ว อะไรเล็ก ๆ อย่างดนตรี งานศิลปะ มันยังมีหลายอย่างที่เรายังไม่ได้ปรับปรุงหรือต่อยอดอีกเยอะเลย ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่จะทำให้มันอยู่ได้

ก่อนหน้านี้ต้นได้รับรางวัลเยอะมาก

ผมไปส่งประกวดเองครับ รางวัลแรกที่ทำให้ผมเข้ามาอยู่วงการดนตรีร่วมสมัยเลยคือตอน ม.4 ผมไปแข่งรายการคุณพระช่วย ในช่วง ช้างเผือกคุณพระ มีประชันวงดนตรีไทยร่วมสมัย แล้วก็ได้รางวัลครั้งนั้นครั้งแรก ครั้งที่สองผมไปแข่งที่โอซาก้า เกี่ยวกับดนตรีโฟล์กทั่วโลก ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดประเภทเครื่องดนตรี ขอแค่เป็นโฟล์ก ผมเอาโปงลางไปแข่ง ก็ได้รางวัลมาครับ

มาร่วมงานกับ Rasmee ได้ยังไง

ผมรู้จักแกประมาณหนึ่งปีเต็มแล้วครับ วันที่ 23 นี้ (หัวเราะ) คือตอนนั้นผมจะไปเล่นเปิดหมวกในผับแจ๊สที่เชียงใหม่ แล้วมีรุ่นพี่แนะนำมาว่าอีกสองวันจะมีคอนเสิร์ตเปิดตัวของคนชื่อรัสมี เขาเป็นหมอลำที่ดังมาก ร้องเก่งที่สุดในเชียงใหม่แล้ว สนใจไปแจมกับเขาไหม ผมก็สนใจครับ คือเหมือนที่ร้าน The North Gate Jazz Club เขาจะมีแจมกันอยู่ตลอด ๆ พอไปเจอกันก็ได้รู้จักแนวเพลงใหม่ ๆ การทำงานกับพี่รัสมี… โห ศิลปะคือศิลปะเลยครับ ไม่มีถูกไม่มีผิด อะไรแมตช์กันก็ใช้ อะไรไม่แมตช์เราเปลี่ยน ทดลองฟังด้วยกันว่าอะไรใช่อะไรไม่ใช่ รู้สึกว่ามันยังมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะสำหรับดนตรีอีสานครับ ทั้งการร้องของพี่รัสมีเอง หรือไลน์ดนตรีอีสานที่จะเอามาใส่กับความเป็นโมเดิร์น ผมรู้สึกว่าทำงานกับเขาแล้วสนุก ตอนนี้ก็เลยได้เล่นด้วยกันตลอด

นอกจากผลงานเดี่ยวกับเล่นให้ Rasmee แล้วยังมีงานอื่น ๆ อีกไหม

ตอนนี้ผมทำโปรเจกต์ชื่อ Asia 7 เป็นวงดนตรีไทยพื้นบ้าน เอาความเท่ของดนตรีพื้นบ้านมาผสมกับดนตรีแจ๊ส ดนตรีสมัยใหม่ หลัก ๆ ผมจะเล่นเครื่องดนตรีอีสาน พิณ แคน โหวด โปงลาง แล้วก็จะมีนักดนตรีมาเล่นซอด้วง ซออู้ จะเล่นแบบ traditional มีแซ็กโซโฟน กลองชุด คอร์ดที่เป็นแจ๊ส การจัดวางจะแมตช์อยู่บนความเป็นป๊อป ส่วนนักร้องก็เป็นนักร้องโอเปร่า แต่จะให้ร้องเพลงไทยเดิม เป้าหมายของ Asia 7 คือการเล่าเรื่องความเป็นเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น แขก จีน ไทย เหมือนย่อโลกให้แคบลงด้วยดนตรี คือทุกเสียงมันไปด้วยกันได้ เพลงแรกชื่อ ขวัญเจ้าเอย น่าจะได้ฟังกันสิ้นเดือนนี้ครับ เป็นการนำความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับขวัญ จะมีท่อนร้องแบบป๊อป มีท่อนฮุกแบบกึ่งร่วมสมัย กึ่ง traditional แล้วมีท่อนดรอปที่เป็นหมอลำ อีกโปรเจกต์นึงผมจะโชว์โปงลางครับ ผมว่ายังไม่ค่อยมีการเผยแพร่มากในโลกของดนตรีร่วมสมัย ถ้าคนนึกถึงอีสานจะนึกถึงพิณ หรือแคน เป็นหลัก แต่จริง ๆ มันมีโปงลาง มีโหวดอีก เครื่องเป่ากลม ๆ น่ะครับ ยังไม่ค่อยมีคนนำเสนอ และยังไม่ค่อยมีใครทำเป็นอิเล็กทรอนิกมากเท่าไหร่

สมัยก่อนก็มีโปงลางสะออนนี่

โปงลางสะออนก็เป็นคลื่นอีกลูกนึงที่เป็น reference ให้วงปัจจุบัน แต่ก็เงียบไปพักนึง อันนี้ไม่ได้วิจารณ์โปงลางสะออนนะครับ เป็นการวิจารณ์ดนตรีทั่วไปและงานของตัวเองด้วย คือศิลปะทุกอย่างมันต้องมีการต่อยอดไปเรื่อย ๆ ให้มันไม่ตาย วงดนตรีวงนึงเขาต้องสร้างแนวเพลง ต้องสร้างคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน แล้วต้องสร้างเพลงต่อไปเรื่อย ๆ ให้คนฟังติดตามไปเรื่อย ๆ ว่ามันจะมีอะไรน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นกับเพลงของเขาอีก

static1-squarespace-37

ถ้าให้นักเรียนหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยคนละชิ้นเป็นวิชาบังคับ

จริง ๆ มันก็คงมีข้อดีในแนวคิดผู้ใหญ่เขาแหละนะครับ แต่ผมว่าทำให้เด็กมันอยาก ดีกว่าไปบังคับ มันรู้สึกมีคุณค่ามากกว่า ทั้งในแง่ตัวผู้เล่นและคนสอน การทำให้เขาอยากอาจจะมาจากการสร้างผลงานเพลง หรือสนับสนุนศิลปินที่มีอัตลักษณ์ ส่งเสริมความเป็นไทยด้วยการนำมาทำอะไรแบบนี้ อนุรักษ์ด้วยและร่วมสมัยด้วย เด็ก ๆ จะได้เห็นว่า เฮ้ย พี่คนนี้เป็นไอดอลผมนะ อยากเป็นแบบเขา เอ้า ก็เรียนดนตรีไทยสิ มันจะแทรกซึมเข้าไปเอง น่าจะสนุกกว่าการบังคับนะครับ

ถ้ามีคนสนใจจะเรียนเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน ตอนนี้มีเปิดสอนที่ไหนบ้าง

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นี่จะเน้นความเป็น traditional และดนตรีร่วมสมัยเป็นหลักอาจารย์ที่สอนคืออาจารย์คำเม้า เปิดถนน สมบัติ สิมหล้า หมอแคนตาบอด เป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่นั่น แล้วก็ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อันนี้จะเป็นวัฒนธรรมอีสานเลย เน้นราก ๆ เลย อีกที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ คล้าย ๆ กับที่สารคาม หรือตามปกติโรงเรียนที่อีสานก็มีสอนมีชมรมกันอยู่แล้ว อันนี้สำหรับอุดมศึกษา เผื่อใครสนใจอยากเรียน

static1-squarespace-38

ฝากถึงน้อง ๆ ที่เริ่มสนใจดนตรีสายนี้

ฝากถึงทุกคนก็แล้วกันครับ ไม่ต้องชอบจนถึงอยากเล่นหรอก แค่อยากให้ทุกคนฟังเพลงไทย เพลงพื้นบ้าน เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ให้เป็น ไม่ต้องฟังว่าเขาพูดอะไรหรอกครับ สัมผัสแค่อารมณ์ว่าเขาชอบมันไหม หาเพลงที่ตัวเองชอบ เพลงที่เป็นรากเหง้าลองฟัง สำหรับคนที่อยากจะทำเพลง อาจจะเริ่มจากเพลงที่เราชอบ เอาเพลงนั้นมาแล้วหาความแปลกใหม่ ความเป็นเอกลักษณ์ในดนตรีไทย เอามาลองแมตช์ ลองคิดว่ามันจะเท่ไหม จะถูกใจเราไหม แล้วลองแชร์ให้กันฟัง ช่วยกันวิจารณ์ เผยแพร่ มันเป็นการสร้างงาน สร้างคุณค่าให้ศิลปะที่เรามีอยู่

แล้วมาดูฝีไม้ลายมือการแสดงดนตรีอีสานพื้นบ้านของ Tontrakul ได้ที่ “เห็ดสด 4” 8 ตุลาคมนี้ กับโชว์จาก Rasmee ซื้อบัตรได้ ที่นี่ และรับฟังเพลงของเขาบนฟังใจได้ ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้