thekopycat-2021

Interview

คุยกับ ‘The Kopycat’ วงดนตรีเพื่อนรักที่ผสมตัวตนเอาไว้ในเสียงเพลง

คุยกับ The Kopycat (เดอะ ก็อปปี้แคท) วงดนตรีเพื่อนรัก มู่ แฮม และปอนด์ ที่ร่วมกันผสมตัวตนของแต่ละคนเข้าไปไว้ในเสียงเพลงที่กล่อมเกลาหัวใจคนรักเพลง oldies-pop ทั้งหลาย เรียกได้ว่าอัพเดตชีวิตในช่วงปัจจุบัน หยิบยกทั้งเรื่องราวที่น่าสนใจในทุกเพลงของพวกเขา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ความสนุก และความยากของการเป็นศิลปินในช่วงเวลาเช่นนี้ รวมไว้ที่นี่หมดแล้ว มารู้จักพวกเขาให้มากยิ่งกว่าที่เคยกันเถอะ!

การหาตรงกลางระหว่าง  ‘เก่า’ และ ‘ร่วมสมัย’ ในแบบฉบับของ The Kopycat

มู่: เราว่ามันต้องหาไปเรื่อย ๆ เนอะ

ปอนด์: แต่สุดท้ายก็เหมือนยอมรับได้ว่าเหมือนด้วยบริบท ด้วยสภาพแวดล้อมมันไม่สามารถที่เก่าได้ขนาดนั้นอะ เหมือนเราเปิดประตูออกจากบ้าน รถทั่วไปก็ไม่ใช่รถมัสแตงไม่ใช่รถยุคนั้น เฟอร์นิเจอร์มันไม่ใช่ยุคนั้นแล้ว เราเลยเข้าใจว่าเราไม่สามารถทำอะไรที่มันเก่าได้มากขนาดนั้น สุดท้ายก็พยายามทำสิ่งที่เราคิด เราพูด ให้เป็นปัจจุบัน แต่ว่าเรามีความชอบ ชอบเพลงเก่า ก็คือหยิบมาเลยบางที เราเอาคำพูดมาใส่มันก็ไม่เก่าเพราะมันเป็นความคิดที่เป็นปัจจุบัน หรือว่าตอนที่เริ่มต้น เริ่มต้นจากมู่ แฮม ปอนด์ ทำเพลงด้วยกัน แต่เวลาอัดเพลงจริง addition musician อย่างมือกลอง เวลาเขาตีเค้าก็ไม่ได้ตีออกมาให้เก่าขนาดนั้นอะด้วยตัวตนของเขา เลยเป็นส่วนผสมที่ arrangement เก่า แต่ส่วนผสมมันไม่ได้เก่า มันก็ไม่ไปด้วยกัน นำมาสู่เรื่องของการดูว่าพอใจไหม ถ้าไม่พอใจก็ปรับไปเรื่อย ๆ มากกว่าการกำหนดว่าต้องเก่าหรือต้องใหม่เลย ดูความลงตัวด้วย คงคอนเซปต์ด้วยเสียงร้องมู่ที่ฟังสบายแต่คาแรกเตอร์กีตาร์จากแฮม หรือตัวตนของปอนด์ก็ยังอยู่ โดยที่ไม่ต้องเก่ามากหรือใหม่เกินใหม่ ก็เป็นความสบายใจของทุกคน

แฮม: เราพยายามหาจุดตรงกลาง แบบแชร์เพลย์ลิสต์กัน ซึ่งก็ยังไม่ค่อยได้ทำ 

มู่: เราว่ามันเป็นพื้นฐานของการฟังเพลงในช่วงนั้น คือแบบถ้ามันฝังอยู่ในหัวว่าเราชอบอะไร ซาวด์ที่คุ้นชิน มันออกมาตามธรรมชาติอยู่แล้วแหละ

แฮม: เราว่า source มีอยู่แล้วแหละ แต่ต้องหาจุดตรงกลางให้ทุกคนทำออกมาให้ไปทางเดียวกันได้ 

ปอนด์: อย่างแฮมกับปอนด์ก็จะชอบกีตาร์เก่า หรือเล่นแผ่นเสียงกัน ก็เหมือนเป็นความชอบซาวด์ มู่ชอบเสียงร้องในยุคนั้น มันคือถ่ายทอดวัตถุดิบได้ ด้วยความคิดแหละที่เป็นปัจจุบัน อันนี้มันช่วยให้เพลงมันมีความใหม่ สิ่งที่เป็นตัวตนในปัจจุบัน มันก็คือตัวเราอย่างหนึ่ง ให้มันใหม่บ้างโดยที่แบบไม่ต้องไปบังคับอะไรขนาดนั้น 

แฮม: ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของทุกคน อันนี้มันยากนะ 

ปอนด์: ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันว่าแบบ ของไม่ถึงไหม มันก็มีความคิดนี้เหมือนกันว่า ดีแล้วที่มันไม่เก่า ถ้ามันเก่ามันก็จะซ้ำกับของเก่า มันก็มีความเป็นปัจจุบันแฝงเข้าไปอยู่ มันคือตัวตนที่แบบว่าผสมกันแล้วหาให้เจอมากกว่า ก็เลยไม่ได้โฟกัสว่าต้องเก่าตลอด 

Track by Track

My Baby  

มู่:  My Baby ก็เป็นเพลงแรกของพวกเรา คือวันนั้นอะนัดซ้อมวงครั้งแรก แต่ซ้อมในที่นี้คือไม่ได้ซ้อมเพลงนี้ คือแค่แบบนัดเจอกันเฉย ๆ ครั้งแรกสามคนเพื่อที่จะแบบลองมาเล่นให้มันเข้ากัน ช่วงแรก ๆ วงทำ cover ก็ไปเจอกันครั้งแรก แล้วเราดันมีเพลงนี้

แฮม: ตอนนั้นมีแค่ verse อย่างเดียว 

มู่: แล้วก็เอาไปให้เพื่อน ๆ ฟัง เหมือนมันมีแค่เมโลดี้กับคอร์ดคร่าว ๆ เราก็ไปขายเพื่อน ๆ ตอนนั้นจำไม่ได้ว่าเราตั้งใจทำเพลงนี้เป็นซิงเกิลแรกเลยปะนะ 

ปอนด์: ใช่ ก็แบบ เพื่อน ๆ กูมีเพลงมาเสนอ เราก็เลยบอก งั้นเดี๋ยวกูกับแฮมช่วยกันสานต่อเอง เนื้อมันยังไม่มา ก็ฮัมกันไปเรื่อย ๆ ก่อน ขึ้นจากโครงที่เป็นคอร์ด 1 6 4 5 แหละ ก็ลองทำไปเรื่อย ๆ แล้วก็บวกเป็นเนื้อเพลงคร่าว ๆ

มู่: ใช่ เป็นแบบเพลงรักในยุคนั้นแบบ simple อะ ใช้ภาษาง่าย ๆ เแล้วตอนนั้นที่ไปซ้อมกันคือเพลง Be My Baby ของ The Ronettes ด้วย มันก็ใช้คำ simple มาก ๆ 

ปอนด์: ก็เลยเอาภาษาแบบ simple มาใช้

มู่:  เราฮัมเมโลดี้ออกมาใช่ไหม แล้วเราก็คิดว่ามันคงล็อกกับคำว่า Baby (ขำ) ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องราวอะไรแฝงอยู่ข้างใน ในพาร์ตของดนตรี ตอนนั้นพวกเราก็คุ้นกับเพลงประมาณนี้ด้วยอะ ก็เลยออกมาเป็นหน้าตาแบบนั้น

A Night Ride

มู่:  A Night Ride คือเราเอามาขายอีกนั่นแหละ วันนั้นเราจำได้คือวันปล่อยเพลง My Baby คือล่กอะ ล่กแล้วล่กอีก แต่ก็ยังทำเป็นเก่งเริ่มทำเพลงต่อไปเลย(ขำ)แล้วเราก็เอาเพลงนั้นไปขายกับเพื่อน ๆ มี Painting อีกเพลงด้วยที่วันเดียวกัน

ปอนด์: ก็ทำสองเพลงนี้ไปพร้อม ๆ กัน 

มู่:  A Night Ride จริง ๆ ก็คือเป็นเพลงแบบเขินความรักแหละ คือตอนนั้นเราอินดูหนัง Before Sunrise, Before Sunset ละก็ Before Midnight คือเรามีความเขินของความรักในหนัง แนว ๆ นั้น เราก็เลยถ่ายทอดอารมณ์นั้นมา ตอนนั้นที่เอามาให้เพื่อน ๆ ฟัง เรารู้สึกว่ามันโมเดิร์นมาก  ก็เลยเป็นหน้าที่ของปอนด์กับแฮมเอาไปทำให้มันเก่าหน่อย 

ปอนด์: จริง ๆ ก็พยายามให้มันเป็นฟีลยุโรปอะ ก็คือเหมือนฟีลคนสองคนอาจจะยังไม่มีความสัมพันธ์ที่อาจจะไม่ขนาดที่แฟนกัน แต่รู้สึกดีที่ได้อยู่ด้วยกันในช่วงค่ำคืนนั้น อารมณ์เหมือนขับรถเล่นในยุโรป ก็เลยเป็นที่มาของไดอะล็อกตอนพูดคุยตอนเริ่มต้นเป็นภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้เห็นเป็นภาพ เป็นหนังมาก ๆ ให้มีความเป็นแบบ cinema มาก ๆ เหมือนตอนนั้นคิดถึงเรื่องความเป็น cinema ค่อนข้างเยอะ แล้วช่วงนั้นมู่ก็อินหนัง ตอนทำก็คือแบบเปิดหนังดูกัน เปิดเป็นซีน ๆ อะ 

มู่: ตอนทำเราแปะเอาไดอะล็อกของเรื่องนั้นมาใส่ด้วยซ้ำอะ ถ้ามันไม่ผิดลิขสิทธิ์คงใช้ไปแล้วแหละ (ขำ)

ปอนด์: แต่ไม่รู้ว่าพูดว่าไรนะ

แฮม: เป็นฉากที่คุยกันในร้านอาหารแล้วก็นางเอกคุยโทรศัพทมั้งแล้วพระเอกก็ล้อเลียนเอารองเท้าขึ้นมาคุย แต่คุยคนละภาษากัน ถ้าจำไม่ผิด

มู่: ใครยังไม่เคยดูก็ลองนะคะ

แฮม: น่าจะ Before Sunrise

มู่:  ถ้าเราจำไม่ผิดอะ ตอนเราปล่อย A Night Ride ออกมา เราว่าเหมือนคนอีกกลุ่มนึงได้รู้จัก The Kopycat 

ปอนด์: วัยรุ่นอะ ตอนนั้นก็เหมือนชาวไต้หวันเยอะ สื่อก็สนใจแชร์เพลงกันค่อนข้างเยอะ 

มู่: ถูกจริตของคนที่ชอบเพลงปัจจุบัน

แฮม: จังหวะอะไรด้วยมันกระชับ ประมาณว่า vibe มันเรื่อย ๆ แต่ไม่เอื่อย ๆ อย่าง My Baby มันค่อนข้างเอื่อย ๆ 

มู่: ต่อนยอน

แฮม: ใช่ แต่เพลงนี้จะกระชับ เปิดตอนขับรถเล่นได้แหละ 

Painting 

ปอนด์:  Painting อะแฮม

แฮม:  Painting ก็แต่งพร้อม ๆ ช่วงเดียวกับเพลงที่สอง A Night Ride คือแต่งแล้วแก้เยอะมาก จำได้ว่าตอนนั้นที่แต่งคือสภาพจิตไม่ค่อยปกติ ไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไร แบบแต่งเพลงไปเรื่อย ไม่มีเรื่องไม่มีอะไรเลย ฟุ้งมาก แก้เยอะมาก ก็หยิบประสบการณ์ส่วนตัวมาแต่งจนได้เป็นเพลงนี้ขึ้นมา แต่ข้อดีคือมันก็ฟุ้งไปของมันอะ ให้ความรู้สึกที่มีความ impressionism อยู่ ดูไม่ชัด มีเบลอ ๆ บ้าง ประมาณนั้น เราก็ไม่ได้เล่าเรื่องเท่าไหร่ เหมือนถ่ายทอดอารมณ์มากกว่า

มู่: ตอนทำเดโม่ครั้งแรกคือเราชอบเพลงนี้มาก เรารู้สึกว่าฟังครั้งแรกแล้วเราเห็นว่ามันเป็นซีนหนังยังไง มันชัดมากเลยอะ 

แฮม: ตอนแรกคือเมโลดี้ไม่ใช่แบบที่เป็นใน Master เลย

ปอนด์: ก็ปรับไปเรื่อย ๆ 

แฮม: ปรับไปเรื่อย ๆ พอสติเริ่มอยู่กับตัวก็เป็นเพลงขึ้นมา 

ปอนด์: เหมือนแฮมก็อัดร้องมา พอมาเป็นเสียงแฮมคือตัวแฮมไง มันเป็นเพลงที่แบบ ถ่ายถอดอารมณ์จากแฮมอะ มันมีดราม่าอย่างแฮมหนักอยู่แล้ว ก็เลยเสนอว่าเป็นเพลงคู่ดีไหม

แฮม: แล้วแฮมก็ไม่เคยร้องเพลงมาก่อน เป็นเพลงแรกเลย ตอนแต่งเพลงนี้ก็เริ่มจากกีตาร์ แต่สุดท้ายไปจบที่การใช้เปียโนเป็นหลัก เปลี่ยนมู้ดจากเพลงแรก ๆ ที่ใช้กีตาร์เป็นตัวนำเพลง แล้วปอนด์ก็เสริมว่าควรใส่ความ dramatic เข้ามา

มู่: ใช่ จริง ๆ เดี๋ยวจะมีอัลบั้มนะ ทุกคนจะได้ฟังเวอร์ชั่นที่ใหม่สดกว่าเดิม 

แฮม: ตอนนั้นคือเวลามันกระชั้นมาก แบบต้องทำดนตรีให้ทันเพราะเลือกตัดสินใจมาสเตอร์ด้วยเทป แล้วมันทำให้ความยาวเพลงมันไม่เสถียรอะ เลยต้องรอให้มาสเตอร์เสร็จก่อนถึงทำเอ็มวีได้ มันเลยกระชั้นมากอะ 

FJZ: ก็คือทุกเพลงพี่มาสเตอร์จากเทปหมดเลยไหม

ปอนด์: แค่สามเพลงแรกครับ ก็คือ My Baby, A Night Ride ละก็ Painting คือช่วงปีที่แล้วของปีที่แล้ว

Ting A Ling

มู่: Ting A Ling  ความจริงคือเพลงนี้มันถูกสร้างมาอย่างเร็วมาก เพราะเรามีโอกาสได้เล่น BMC เราก็มารู้วันเกือบ ๆ จะถึงงานแล้วล่ะ ทีนี้จำนวนเพลงมันเกือบถึงแต่มันไม่ถึง เราก็ต้องเอามันสมองที่เรามีทั้งหมดปั่นเพลง 1 เพลงมา 

แฮม: Hideaway ด้วยอีกเพลง

มู่: ใช่ แต่ว่ามันก็ยังขาดอยู่ดี เราก็เลยทำสิ่งที่ชื่อว่า Ting A Ling ขึ้นมา (ขำ) แล้วเราก็ไม่ได้ทำสิ่งที่เรียกว่า arrange มัน เราแค่แต่งให้เสร็จแล้วเราก็แจมกันในห้องซ้อม  ก็จะมี Everything you do มี Ting A Ling มี Hideaway  ซึ่ง Everything you do กับ Hideaway มันค่อนข้างมี arrangement ที่จริง ๆ มันชัดกว่า Ting A Ling อยู่แล้วเรียกว่าชัดเลยแหละ แต่ Ting A Ling อะ เราจำได้เลยว่าบอกให้ทุกคนแจม (ขำ)

แฮม: ตอนที่จะอัดเพลงกันได้ปรึกษาพี่พัด ซึ่งเป็นคนนอกวงไปเลย ก็เริ่ม arrange กันใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดเพลงกันใหม่ ตอนแรกเริ่มจากแจมกัน อัดที่บ้านเรานี่แหละ ก็คือไม่ได้คิดถึง arrangement ก่อน คิดถึงวิธีเล่น แต่อันนี้เหมือนพอเริ่มเพลง Ting A Ling ก็คิดถึงกลองก่อน คิดถึงแบบ arrangement แบบเป็นเลเยอร์ ๆ เลยจริง ๆ 

มู่: เป็นวิธีทำงานใหม่ คือจริง ๆ อะพูดกันว่า Ting A Ling  เป็นเพลงแรกที่เราเริ่มทำงานร่วมกันกับพี่พัด วง Folk9 หรือ quicksand bed นั่นเอง คือเป็นเพลงแรกที่หลังจากเปิดปีใหม่เราคิดว่าเราต้องการคนไกด์มากขึ้น ก็เลยลอง Ting A Ling เพลงแรก ถ้าสังเกตเพลงนี้จะมีสำเนียงของพี่พัด จาก Folk9 อยู่ที่เขาชอบเล่นโน้ตน่ารักหรือสั้นๆ คือมันก็มีอยู่ในเพลง Ting A Ling 

ปอนด์: มันจะดูใหม่ขึ้นปะ

มู่: ใช่ ซึ่งเหมือนมันเป็น งานที่เราแบบลองทำงานร่วมกัน

แฮม: ใช้ synth มากขึ้น ใช้ซาวด์สังเคราะห์มากขึ้น 

ปอนด์: แล้วก็กลอง กลองนี่เขียน 100% 

แฮม: มีอัดบ้าง แต่ว่าอัดแบบเข้าไปแซม แต่ว่าหลัก ๆ ก็เขียนหมดเลย 

มู่: หลัก ๆ ก็ที่เรา explore ก็คือทำงานแบบใหม่ 

ปอนด์: แล้วก็จบกันเอง ไม่ได้ให้คนอื่นอัดเหมือนเพลงอื่น ๆ อะ ใช้ดนตรีเข้ามาอัด เช่น เสียงออร์แกน หรือเสียงต่าง ๆ ในการดีไซน์ จะมีคนอื่นช่วย แต่อันนี้คือเราหาเอง หาซาวด์กันเอง หาใน library เลย 

มู่: ก็เป็นเพลงที่เราว่ามันสนุกตรงที่เราไม่เคยทำงานแบบนี้อะ พวกเราสามคนอะคือจะมาจากอีกแบบนึง แล้วพี่พัดก็มาแบบว่าเอาสิ่งใหม่มาให้ทดลอง

Hideaway 

ปอนด์: Hideaway มันเป็นเพลงที่ทำก่อน Ting A Ling ก็เป็นเพลงที่แบบทำมาใกล้เคียงกับ setlist The Kopycat ยุคแรก ๆ ก็เลยมีกลิ่นอายของวง ซาวด์เก่า ๆ จนมาเป็นสู่การสร้าง Hideaway

แฮม: มันเริ่มมาจากแบบเล่นแจมกันอะแหละ เพราะว่าเล่นสดก่อน แต่ว่าแบบเวอร์ชั่นเล่นสดคือ old school เลยอะ

ปอนด์: ใช่ เป็น surf rock แบบช่วง 60 ต้น ๆ เลย

แฮม: แต่ก็ทำคอร์ดเหมือนเดิมทุกอย่าง รู้สึกเดโม่นี่เริ่มที่กูปะ 

ปอนด์: ใช่ เราเริ่มกันที่ห้องซ้อมเลย เหมือนตอนนั้นเล่นงานข้าวสาร แล้วมีพี่เจอีกคนนึงช่วยคิด

มู่: แต่ว่าเพลงนี้เราทำเดโม่ผ่านซูมปะ เพราะเป็นยุคของโควิดแล้วถ้าจำไม่ผิด

แฮม: จำได้ว่า เริ่มด้วยการเขียนกลองกับสังเคราะห์ก่อน 

มู่: Linndrum    

แฮม: ก็เลยมาลองทำ นัดซูมนั่นแหละว่าจะเอาไงกันต่อ ก็เริ่มจากกลองก่อน เพราะว่ากลองมันมีจุดเปลี่ยนที่ทำให้เพลงมันไม่ old school มาก 

มู่: เพลงนี้อย่างที่บอกแหละ คิดถึงกลิ่นอายตอนแรกแล้วเพลงนี้มันก็ เหมือนตัวเพลงมันถูกเขียนชัดเจนอยู่แล้วอะว่าตัวเพลงจะไปทางไหน แบบก็แต่งออกมาค่อนข้างชัดเจน 

ปอนด์: พอแฮมลองกลองก็แบบเอ้ย ไปด้วยกันได้เว่ย 

แฮม: ความแบบ The Smiths นิดนึงอะ พอลดทอนองค์ประกอบบางอย่าง ลดไลน์กีตาร์ลง ก็สนุกกัน ตอนนี้ก็เริ่มกลับมาใช้นักดนตรีจริงอัด คือพี่ดั๊ก

มู่: พี่ดั๊กก็จะเป็นคีย์บอดร์ดวง POSTBOX คือเขาเป็นอาจารย์มหิดลแล้วเราสนิทด้ย ก็เลยชวนมาด้วยกัน 

ปอนด์: สนุกเลย

มู่: จริง ๆ Hideaway ถ้าสถานการณ์มันดีกว่านี้คือในเอ็มวีจะเห็นปอนด์กับแฮมเต้นด้วยนะ คือวางว่าแบบมันจะมีความเต้น ๆ มีความน่ารัก ไม่แน่อาจจะมีทำเอ็มวีย้อนหลังจากปล่อยอัลบั้ม เดี๋ยวลองดูอีกที เพราะว่ามันก็น่ารักดี

ความยากของการมาสเตอร์ด้วยเทป

มู่: การมาสเตอร์ด้วยเทป คือเทปมันสามารถมันยานหย่อนได้ใช่ไหม  ซึ่งปกติถ้าไม่ได้มาสเตอร์ผ่านเทป เราจะใช้เดโม่หรือตัว mix 1 mix 2 ส่งให้คนทำเอ็มวีเขาเริ่มทำได้เลย เพราะว่า time มันนิ่ง แต่ว่าพอเข้าเทปอะ time มันไม่นิ่ง มีหย่อนบ้าง มีเสถียรบ้าง คือสมมติถ้าทำเอ็มวีก่อน หรือทำไปพร้อม ๆ กัน มันจะทำให้ตอนซิงค์กันแล้วมันไม่ตรงกับมาสเตอร์ที่เสร็จสมบูรณ์ 

มันก็เลยต้องให้มาสเตอร์เสร็จก่อน เค้าถึงเริ่มทำ MV จาก 0% ได้ แต่ว่าจริง ๆ เราก็เขียนสตอรี่บอร์ดกันก่อนหรือว่าเริ่มอะไรคร่าว ๆ กันก่อน แต่ว่าสุดท้ายอะ มันเหมือนพอมาสเตอร์เสร็จถึงได้เริ่มงานเอ็มวี แล้วทุกอย่างมันเร็ว แบบรีบมาก ๆ แต่มันก็คือเป็นความมันที่เพิ่งรู้เหมือนกันว่าพอมาสเตอร์ผ่านเทป time มันแบบไม่นิ่ง

FJZ: แล้วตอนนั้นทำไมถึงเริ่มมาสเตอร์จากเทปแต่แรก 

มู่: อยากเท่ (ขำ)

ปอนด์: น่าจะเป็นเพราะซาวด์มันได้ฟีลอะนาล็อก ต้องการให้ฟีลมันเหมือนฟังเทปฟังแผ่นเสียง

แฮม: เป็นเทปแบบคาสเซ็ทเลยนะ คือมันก็มีความ Lo-fi ลงนิดนึง มันกลบหัวความแหลมของดิจิตอลไปบางอย่าง 

มันทำให้แบบฟังดูเป็นเนื้อเดียวมากขึ้น 

มู่: มันก็มันดีนะ แต่มันก็ลุ้นระทึกหัวใจมากๆ สำหรับคนทำ คือเราจำได้ช็อตแรกคือเพลง My Baby นี่แหละ ก็คือพี่แจมที่เป็นคนทำเอ็มวี My Baby ให้อะ โทรมาตอนนั้นเว่ยว่า มู่ ทำไม time มันไม่ตรงกัน ทุกคนก็ตกใจ เรางง พี่แจมก็งง แล้วเขาก็เอาไปปรับนู่นปรับนี่ ปรับจากตัวมาสเตอร์อีกทีนึง ปรับภาพพวกแบบบิทเรทหรืออะไรสักอย่าง ปรับแล้วปรับอีกปรับยังไงก็ไม่ได้ จนสุดท้ายมาหาความจริงเจอว่าสรุป เทปมันยาน (ขำ)

วงการดนตรีไทยในอุดมคติ

แฮม: เรามองเห็นประโยชน์ในแง่หนึ่งที่ว่า คือ พอเทคโนโลยีมันเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น งานของเรามันสามารถไปในวงกว้างมากขึ้น เหมือนมันมีพื้นที่ให้พูดมากกว่าเดิม มันไปถึงกลุ่มคนที่เราไม่รู้จัก มันไม่ได้ถูกตัดสินด้วยเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งแล้วว่างานเราแม่งฟังไม่รู้เรื่อง แต่อาจจะไป catch คนกลุ่มเล็กๆ ในแต่ละพื้นที่ของโลกที่ชื่นชอบงานของเราได้ มันก็มีข้อดี แต่ตัวเราเองก็ต้องสร้างผลงานให้มีมาตรฐานที่ดีและแสดงความเป็นตัวเราให้ชัดเจนด้วย อย่างประสบการณ์ที่ไปอินโด เรารู้สึกวัฒนธรรมของเขามันแฝงไปกับผลงานของศิลปินอย่างกลมกลืน ที่พี่พยายามทำคงเป็นการย้อนกลับไปมองตัวเองอีกทีว่าพื้นฐานเรามาจากไหน อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงความ Thainess อะไรมากก็ได้ แค่เป็นสิ่งที่เราเติบโตมาแล้วมันแบบแฝงอยู่ในดนตรีเราได้

ปอนด์: พอแฮมพูดถึงประสบการณ์ที่อินโด นี่ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งนะที่คนทำงานศิลปะและดนตรีอยากไปอยู่ต่างประเทศ  เพราะว่าด้วยแบบความเข้าใจ การซึมซับทางศิลปะวัฒนธรรม ที่มันเปิดกว้าง มันก็เป็นประตูไปสู่สิ่งใหม่ๆ ทำให้วงการมันหลากหลาย และเกิดการพัฒนา จริง ๆ ก็ต้องขอบคุณอินเทอร์เน็ตและก็ข่าวสารที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เรามองเห็นความเคลื่อนไหวได้ทั่วโลก ทุกคนสามารถเสพงานศิลปะและดนตรี ได้ง่ายขึ้น เรื่องของการถูกเผยแพร่หรือการจัดเก็บที่ดี ซึ่งปัจจุบันมันเปลี่ยนแล้ว คนเราจะเผยแพร่งานมันมีที่จัดเก็บให้ มีสตรีมมิ่ง คนต่างประเทศสามารถเข้าถึงได้ สิ่งสำคัญก็คือการสนับสนุนจากคนในวงการ รวมถึงภาครัฐด้วยแหละครับ คือในไทยนั้นมีอยู่แล้วแต่มันไม่ได้ถูกสนับสนุนจากภาครัฐด้วย ก็มีให้เห็นคือ บ้านเราคนทำดนตรี คนสร้างสรรค์งานศิลปะ อยู่ในไทยกลับเงียบ แต่ประเทศอื่นเขามาหาเราเจอเองอีกทีนึง จริง ๆ เรื่องของศิลปะเป็นศาสตร์ของมนุษย์ เป็นกิจกรรมที่สำคัญเลยก็ว่าได้ แต่ว่าบ้านเราก็ไม่ได้สนับสนุนขนาดนั้น ก็เลยต้องลุยๆกันเอง แต่ผมก็เชื่อว่าวงการต้องดีขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน ตอนนี้ก็รู้สึกว่ามันพื้นที่ มันเริ่มเห็นโอกาสบ้าง

การถูกตัดสินจากสังคม ถึงการแสดงความรักต่อกันและกันในมุมมองของ The Kopycat

ปอนด์: จริง ๆ มันก็ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ผู้หญิงให้รักนวลสงวนตัว อะไรแบบนั้นอะ เหมือนเพศหญิงโดนกดทับ แต่ช่วงหลังคนก็เริ่มตระหนักถึงคำว่า feminism มากขึ้น หรือเรื่องความเท่าเทียมต่าง ๆ  

มู่: เห็นด้วยกับปอนด์นะ ที่แบบว่าผู้หญิงจะโดนมองว่าแบบควรทำอย่างงู้นอย่างงี้ สิ่งนี้ทำแล้วดูไม่เป็นผู้หญิงที่ดีต่าง ๆ 

ปอนด์: จริง ๆ ไอ concept ของการแสดงออกที่ไม่ได้เก็บซ่อนมันเป็นไอเดียที่ทำให้มู่คิดว่าจะต่อเอ็มวียังไง 

แฮม: คนยุคเรา ๆ อะ มันจะก้ำกึ่งระหว่างไม่กล้าออกความเห็น กับการกล้าแสดงออก 

ปอนด์: เหมือน Gen มันจะค่อย ๆ เปลี่ยน จากที่แต่ก่อนมันเป็นยุคพ่อแม่เรา มันจะมีชุดความคิดนึง พอเราโตมาก็จะมีชุดความคิดนึงว่าทุกคนสามารถแสดงออกได้ เดี๋ยวนี้ใน social ต่าง ๆ ทุกคนก็มีความเป็นตัวเองสูงอะ 

มู่: สมัยก่อนอะที่แบบผู้หญิงคือ จะชอบใครรักใคร จะแต่งกับใคร คือต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปอะ แล้วสุดท้ายก็นำพาไปสู่ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเลี้ยงดู ก็คือสังคมโดนง้างจากการแค่แบบไม่ได้เรียนรู้กันอย่างเปิดเผย ไม่ได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันเพราะว่าค่านิยมที่มันถูกเซ็ต ณ สมัยนั้นซึ่งเราไม่ค่อยเห็นด้วยกับตรงนั้นมาก เขามีค่านิยมว่าผู้หญิงต้องไม่เสียพรหมจรรย์ ต้องไม่ท้องก่อนแต่ง 

ปอนด์: จริง ๆ มันคือเผด็จการในครอบครัวเลยครับ มันเผด็จการจากใกล้ ๆ ตัวเลยอะ 

FJZ: ยิ่งฝั่งเอเชียยิ่งโดนเยอะเรื่องพวกนี้ มันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่แบบ ความลำดับขั้น ขุนนางเอย 

ปอนด์: ใช่ ๆ จริง ๆ ประเทศไทยมันมีชนชั้นเยอะผ่านภาษาผ่านอะไรต่าง ๆ มันเลยมีขั้นมีตอน มีอาวุโส เลยต้องเชื่อฟัง แสดงออกชัด ๆ ไม่ได้เดี๋ยวไปขัดหูขัดตาใคร (ขำ)

ชีวิตศิลปินในยามที่ไม่มีงานให้ทำ

มู่: ถ้าในแง่ศิลปินอะ อย่างที่เล่าไปเมื่อกี้อะเนอะ มันยากขึ้นมาก ถามว่ามันทำได้ไหม มันก็ทำออกมาเสร็จนะ อย่าง Hideaway เราก็มีเจอกัน แต่อย่างตอนนี้ที่กำลังทำเพลงต่อ ๆ ไป ก็ค่อนข้างยากมากที่ไม่ได้เจอกัน เพราะว่าดนตรีบางทีมันคือ ปฏิสัมพันธ์ คืองานศิลปะที่แบบใช้อารมณ์ร่วม หลาย ๆ อย่างที่ออนไลน์มันตอบโจทย์ได้น้อยจริง ๆ

แฮม: มันต้อง feedback กันทันทีอะ 

ปอนด์: แบบเหมือนปกติจะไปอยู่ที่ห้อง ห้องอัดตอน mix ก็คือห้องพี่พัดไรเงี้ย

มู่: พอมู้ดมันไม่มารวมกันอะ มันสร้างผลงานขึ้นมายากสำหรับเรานะ มู้ดมันอยู่กันคนละที่

ปอนด์: เรื่องความเสถียรเอย เน็ตเอย

มู่: ปัญหาทางเทคนิค มันก็เข้ามาแทรกแซง สมาธิในการทำเพลงมันไม่เยอะ ไม่ใช่แค่กับปอนด์หรอก กับเราด้วย

ปอนด์: สถานที่มันไม่เอื้อนะ หันไปรอบ ๆ บางทีเป็นบ้านอะ มีคนอื่นอยู่ มันไม่ได้ส่วนตัวหรือสะดวกขนาดนั้น เดี๋ยวก็มีเสียงนู่นนี่เข้า แม้กระทั่งการที่ต้องตัดสินใจ สมาธิมันไม่เหมือนการที่ทุกคนโฟกัสไปที่จุดเดียวกัน 

มู่: เราว่าอันนี้คือความยากที่เราค้นเจอเหมือนกันกับสิ่งนี้ แล้วก็อย่างเรื่องถ่ายเอ็มวีที่แบบ คือมันมีไอเดียอีกมากมายที่สามารถเล่นได้กับหนึ่งเพลงหรือหนึ่งผลงานใช่ไหม  ถ้าล็อกดาวน์ในขอบเขตที่ชัดเจนละก็แบบเรารู้ว่ามันจะเริ่มเมื่อไหร่ละจบเมื่อไหร่ เพื่ออะไร คือมันก็จะวางแผนปรับเปลี่ยนกันได้แหละ แต่พอมันไม่รู้จะล็อกดาวน์ไปถึงเมื่อไร คือมันเบลอไปหมดอะ เราว่ามันยากมากเลยที่จะเปลี่ยนแผนแล้วไปต่อยังไง Hideaway จริง ๆ มันมีนักแสดงอีกคู่นึงใช่ปะที่เราดีลไว้อะ คือถ้าอะไรมันชัดเจน เราก็รู้ว่า เออเดี๋ยวเจอกันปลายเดือนหน้าเพื่อทำสิ่งนี้ นี่มันแบบเบลอไปหมด นี่คือความยาก เราเชื่อว่าการหาไอเดียหลบหลีกไปเพื่อให้มันตอบโจทย์กับปัจจุบันคือมันทำได้นะ แต่เราว่าบางทีมันก็ไปไม่สุดหรือว่าแบบบางทีคนเริ่มใช้เป็นอนิเมชั่นมากขึ้น ไม่ใช้เป็นคน ไม่ใช่เป็นถ่ายใช่ไหม เอาจริง ๆ ต้นทุนการทำเอ็มวีด้วยอนิเมชันหนึ่งเพลงมันไม่ถูกอะ ในยามนี้ทุกคนจะมาเสียเงินเพื่อทำอนิเมชั่นมันไม่ได้ มันไม่สะดวก ก็เลยกลายเป็นว่าช่วงนี้คนปล่อยเพลงน้อยลง มันก็คือปัญหาการเมืองด้วย ความเครียดด้วยอะไรด้วย มันปรับเปลี่ยนแผนกันไม่ได้อะ อันนี้เราว่าปัญหาหลักของศิลปินไทยที่เจอเลยแหละ ถ้าจริง ๆ รัฐบาลใส่ใจเรื่องศิลปะวัฒนธรรมเค้าจะรู้ว่าเออ เรื่องนี้มัน matter นะเว่ย มันสำคัญอะ

ช่วงนี้สนใจฟังเพลงอะไรกัน

มู่: เราอิน Matt Maltese  เพลงดีมาก ถ้าพูดในแง่ของเนื้อเพลงและเมโลดี้และวิธีการถ่ายทอด คือเชื่อว่าเค้ารู้สึกกับเนื้อเพลงอะ การอะเรนจ์หรืออะไรต่าง ๆ นานา ส่วนใหญ่เขาจะ simple แต่มันรู้สึกถึงคนฟัง

ปอนด์: ช่วงนี้ไม่ได้เจาะจงศิลปินเป็นพิเศษ จะเจาะจงเป็นแนวมากกว่า ช่วงนี้อ่านหนังสือเยอะ จะหาพวกวสงบ ๆ ฟัง พวก reading soundtrack เพลงพวก ambient อะไรอย่างงี้ แล้วก็เขยิบไปพวกเพลงละติน พวก boogaloo ยุค 60s ก็พยายามฟังเพลงที่แบบไม่กระจุกอยู่ ก็ออกไปหาอะไรใหม่ ๆ บ้าง ก็ค้นพบว่าเพลงละตินน่าสนใจมาก 

แฮม: ช่วงนี้อ่านหนังสือทำธีสิสหนักมากเลยต้องหาเพลงที่ทำสมาธิ มันมีช่วงนึงศิลปินที่ชอบคือ John Hassell มันก็จะเป็นสาย ambient มันก็จะสัมพันธ์กับ soundscape มันจะมีเพลงที่แบบ amsterdam blue มันก็คือ ๆ กับพวก furniture music คือเราแค่รู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศ ไม่ได้เรียกร้องความสนใจอะ มันก็อยู่ตรงนั้น ฟังแล้วก็มีสมาธิดี 

ปอนด์: เหมือนพอบางทีฟังเพลงที่เราชอบ มันจะไปแบบจับผิดหรือต้องไปหาอะไรบางอย่างจากมัน หรือบางทีต้องการฟังเพลงที่แบบไม่ต้องหาอะไรจากมัน ฟังไปเรื่อย

แฮม: เหมือนกัน คือพอเครียดมาก ๆ ไม่อยากฟังอะไรเพื่อจับต้องได้มาก คือนักดนตรีมันจะมีแบบประสาท อยากรู้ทำคอร์ดอะไรวะ อยากรู้โน้ต แต่ฟัง John Hassell เราจับอะไรไม่ค่อยได้เลยยกเว้นมู้ด เหมือนเป็นเมฆอะ ลอยไปเรื่อย ๆ 

อนาคตของ The Kopycat ที่เราจะได้ติดตาม

มู่: คาดหวังว่าจะได้ปล่อยอัลบั้มในปีนี้ เป็นความตั้งใจว่าจะทำนะ แต่เราก็ยังไม่มั่นใจ เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงรายวันมาก ๆ สุดท้ายเราก็ตั้งใจจะผลิตเพลงที่เรียกว่าชุดแรกของ The Kopycat ที่เป็นการพัฒนาตัวเอง การค้นหาตัวเอง ระหว่างความเก่าและใหม่ อารมณ์ประมาณเอาการบ้านของทั้งเทอมมาส่ง ว่าเราเรียนรู้อะไรจากเทอมนี้บ้าง มันก็จะมีเพลงเก่า ๆ ที่ทุกคนคุ้นหูอยู่ในนั้นด้วย แล้วก็จะมีเพลงใหม่ที่ทุกคนยังไม่เคยฟัง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็จะมีเพลงที่ feat. กับพี่นิค temp. เหตุผลคือเกริ่นก่อนว่ามันเป็นเพลงที่ปอนด์คิดคอนเซปต์มาพร้อมกับเมโลดี้ ซึ่งมันเป็นเพลงที่ปอนด์ตั้งใจทำให้มันเป็นเพลงที่ขอบคุณคนที่รัก ขอบคุณแฟน ขอบคุณครอบครัวหรือใครก็แล้วแต่ที่อยู่ข้าง ๆ ซึ่งเราพยายามทำเพลงนี้ให้มันอบอุ่น จริง ๆ เมโลดี้เพลงนี้มันก็อบอุ่น แล้วพอแต่งเนื้อไปแต่งเนื้อมา ก็ค่อนข้างโรแมนติกเลยนะ เราว่าเพลงนี้เลี่ยน แบบคนรักแต่งงานมีลูก มันค่อนข้างเรียงไทม์ไลน์ ของคู่รัก เราก็เลยอยากได้อารมณ์ของคู่รักจริง ๆ ก็เลยคิดว่าใครที่จะเหมาะกับเพลงฟีลแบบนี้ ก็จะเทือก ๆ นี้ oldies อบอุ่น ก็เลยคิดถึงเสียงพี่นิค พอพี่เขาอัดเดโม่คืนมาให้ฟัง เราแบบ โห คือมันเพอร์เฟกต์มาก อัดเร็ว ฟังเสียงคือพอเสียงพี่นิคเข้ามาปุ๊บพอฟังแล้วเขินทันทีเลย

เราคิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่มันอบอุ่นมาก อยากให้ทุกคนลองฟัง และเดี๋ยวมันจะมีอีกเพลงหนึ่งที่แฮมร้องด้วย ทั้งหมดทั้งมวลก็คือการเรียนรู้ของ The Kopycat ชุดแรก ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ปลายปีนี้นะคะ แล้วถ้าปล่อยอัลบั้มก็พยายามจะเล่นอะไรกับออนไลน์ให้มากที่สุด เพื่อให้การปล่อยอัลบั้มนี้มันไม่เสียเที่ยว มีเพลงเพราะ ๆ ที่ตั้งใจทำอยู่ในอัลบั้มที่ซ่อนอยู่ เรากล้าพูดว่าแปลกหูแน่ ๆ  คือมันแบบเกิดจาก happy accident ซึ่งในอัลบั้มเราก็จะพยายามใส่ความสดใหม่เข้าไป ก็อยากให้ลองติดตามดูนะคะ

___

ฟังทุกเพลงจาก The Kopycat ได้แล้วที่นี่

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Donratcharat

นัท มีหมาน่ารักสองตัวชื่อหมูตุ๋นกับหมูปิ้ง กาแฟดำยังจำเป็นต่อชีวิต และยกให้กาแฟใส่นมเป็นรางวัล