Article Interview

เพลงฮิต+แร็ป = ‘The Rapisode’ คุยกับ Grammy และ Rap is Now ถึงสมการความสนุกนี้

  • Writer: Peerapong Kaewthae

ปฎิเสธไม่ได้ว่า ณ ตอนนี้เพลงฮิปฮอปกลายเป็นซีนดนตรีที่แข็งแรงสุด ๆ ในบ้านเรา จากการ rap battle ใน Rap is Now ที่เป็นไวรัลให้ทั้งคนที่คลั่งไคล้ในความดิบของเพลงแร็ปและเหล่าคนที่ชอบฟังเพลงมารวมตัวกัน กับการมาถึงของรายการ ‘The Rapper’ ที่ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ของเพลงฮิปฮอป ไม่ว่าจะเป็นการเขียนไรห์มที่ซับซ้อนหรือวิธีการแร็ปที่แตกต่าง ช่วยทำให้เพลงแร็ปมีความหลากหลายและเข้าถึงคนฟังทุกคนมากขึ้น แถมยังแจ้งเกิดศิลปินฮิปฮอปมากความสามารถอีกมากมายในตลาดดนตรีอีกด้วย

และเมื่อยักษ์ใหญ่ที่คร่ำหวอดในวงการเพลงอย่าง Grammy เห็นถึงการเติบโตอันงดงามของซีนฮิปฮอปจึงตัดสินใจจับมือกับผู้นำในซีนนี้อย่าง Rap is Now สร้างสรรค์โปรเจกต์ ‘The Rapisode’ ที่นำเพลงฮิตของ Grammy กว่า 50 เพลงมาให้ศิลปินฮิปฮอปที่ทุกคนชื่นชอบตีความกันใหม่ให้กลายเป็นเพลงแร็ปที่แปลกใหม่ โดยเพลงแรกที่ปล่อยออกมาคือ ช่วงนี้ ของ อะตอม ชนกันต์ ที่ได้แนนโน๊ะมาตีความใหม่ได้หลอกหลอนและน่ากลัว ซึ่งก็มีท่อนแร็ปที่คงความเป็นคาแรกเตอร์ของแนนโน๊ะไว้ได้ชัดเจนมาก

Fungjaizine ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ เจ๋อ—ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจจาก Grammy และ โจ้—ศวิชญ์ สุวรรณกุล จาก Rap is Now เกี่ยวกับโปรเจกต์ที่น่าตื่นเต้นนี้ด้วย ถึงที่มาที่ไปและความน่าสนใจของดนตรีฮิปฮอป

จุดเริ่มต้น The Rapisode

เจ๋อ: ก็ต้องชื่นชม เห็นผลงานที่ Rap is Now สร้างสรรค์มาพักใหญ่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของคอนเสิร์ตหรือเพลงแร็ปจากศิลปินใหม่ ๆ รวมถึงผลงานของเขาผ่านรายการทีวี โจ้เองก็เคยอยู่แกรมมี่มาก่อนก็มีคนแนะนำให้รู้จักก็เลยอยากคุย สิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่ามันน่าจะเดินทางด้วยกันได้ ปกติผมพูดเสมอว่าเราร่วมมือได้กับทุกคน เรามองอนาคตของตัวเราเป็น infrastructure มี asset เยอะ โดยเฉพาะเรื่องของคลังเพลงฮิตจำนวนมากมาย เลยติดต่อโจ้ไปว่าอยากทำโปรเจกต์ร่วมกัน ในหลักการของโปรเจกต์เนี่ย โอเค เมื่อแกรมมี่เองเป็น infrastructure เนี่ยเรามีเรื่องลิขสิทธิ์เพลง มีช่องทางการจัดจำหน่าย มีช่องทาง distribute ที่เชื่อว่าแข็งแรงที่สุด มีช่องทางการค้าขายทั้งระบบที่คิดว่าครบวงจรที่สุด เราก็จับมือ Rap is Now ในฐานะ creator โดยพื้นฐานเราก็คุยกับโจ้ว่าเรามีเพลงฮิตเยอะมากเลย เพลงฮิตเหล่านั้นเนี่ยเรามอบสิทธิ์ให้ทาง Rap is Now ไม่ว่าจะเป็นเพลงเก่าหรือเพลงใหม่ในปัจจุบันไปทำซ้ำดัดแปลง กลายเป็นมิติที่อยู่บนแนวความเชื่อของการทำเพลงฮิปฮอป จุดเริ่มต้นมันก็ simple แบบนี้แหละ

ชื่อโปรเจกต์ล้อกับคำว่า episode กำลังบอกใบ้อะไรรึเปล่า

โจ้: มันเริ่มมาจากวิธีการที่ Rap is Now คิดชื่ออะไรซักอย่าง ส่วนใหญ่จะมาจากการสมาสสองสามคำเข้ามาด้วยกัน ผมชอบคำว่า episode เพราะมันมีความหมายเป็นตอน ๆ มา เราก็บวกกับสิ่งที่เรากำลังจะทำคือการเอาสตอรี่ของตัวเองเนี่ย เอาเรื่องของตัวเองในตอนหนึ่งไปใส่ในเพลงที่มันแมตช์กับเรา มันเลยกลายเป็นคำว่า Rapisode ครับ

เจ๋อ: วิธีการปล่อยเพลงของเราก็จะปล่อยเป็น episode จริง ๆ เราจะมีเพลงในโปรเจกต์เนี่ยเบื้องต้น 50 เพลง ซึ่งเยอะมาก ๆ (FJZ: แสดงว่าจะมีเพิ่มอีก) ใช่ครับ เราเชื่อว่าเพลงดี ๆ ที่แกรมมี่เคยสร้างสรรค์มีเป็นหมื่น แต่ถ้าเริ่มต้นเราบรีฟที่หมื่นเพลงโจ้อาจจะเป็นลมได้ เราก็คุยกันว่าความเป็นไปได้ที่อยากลองเริ่มต้นโปรเจกต์นี้ด้วยกัน ลองเซ็ตให้ยืดยุ่นการทำอะไรมันก็ต้องมีสเกล 50 เพลงก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ท้าทายมาก ๆ เราก็จะทยอยปล่อยออกมาทุกอาทิตย์และปล่อยต่อเนื่องยาวเลย แค่นี้เราก็ปล่อยกันเกือบปีเลยนะ

Grammy ไม่มี segment ฮิปฮอปมานานแล้ว คิดว่ากลุ่มเป้าหมายของแกรมมี่ยังมีคนฟังฮิปฮอปอยู่มั้ย

เจ๋อ: ด้วยความจริงใจที่คุยกับโจ้ไปตั้งแต่ต้นเนี่ย รูปแบบของดนตรีผมว่ามันเป็นอุสาหกรรม การจะส่งเสริม segment ใด segment หนึ่งไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาเพื่อครองตลาด segment นั้น เพราะจริง ๆ leader ของตลาดในปัจจุบันก็คือ Rap is Now ผมเลยคิดว่าเราจับมือร่วมกันดีกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ในความเป็นจริงแล้วเนี่ยปัจจุบันผู้บริโภคเขามีอำนาจเหนือทุกอย่างครับ เขามีอำนาจในการจะเลือกจะฟังจะเลือกความชอบที่เหมาะกับตัวเองหรือความสนใจของตัวเขา เพลงฮิปฮอปหรือเพลงแร็ปมันก็มีมาช้านาน ก็ต้องยอมรับว่า Rap is Now ปลุกกระแสในเพลงฮิปฮอปมันมีชีวิตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เราก็เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเราก็อยากจับมือกับ creator อันดับหนึ่งของตลาด

มีกลยุทธอะไรไหมที่จะดึงให้คนมาฟังเพลงในโปรเจกต์นี้

โจ้: การที่เราเอาเพลงที่คนคุ้นหูมาบ้างหรือเป็นเพลงดังมาเนี่ย มันเป็นสิ่งแรกที่ทำให้คนที่อาจจะไม่เคยฟังแร็ปมาก่อนหันมาลองฟังดูว่า เฮ้ย มันอาจจะเป็นเพลงนี้ในอีกมิติหนึ่งอย่างที่พี่เจ๋อว่า มันอาจจะเป็นแรงจุงใจแรก แรงจุงใจที่เหลือคือตัวเนื้อหาที่มันจะออกมาจากเพลง มันมีเรื่องราว ไอ้การเล่าแบบฮิปฮอปผมว่ามันก็เป็นอีกวิธีการเล่าเรื่องราวแบบหนึ่งที่มันแตกต่างและมันก็น่าสนใจครับ ด้วยความที่มันเป็นความคุ้นชินด้วยมั้งทั้งคำกลอน ภาษา การเล่นคำ มันเป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะชินกันอยู่แล้ว ซึ่งมันมีอยู่ในเพลงฮิปฮอป

เจ๋อ: คือในเชิงกลยุทธเนี่ยเราไม่ได้วางให้เป็นยุทธศาสตร์มากขนาดนะครับ ในความเป็นจริงเราเชื่อว่าดนตรีมันเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าทำมาจากเนื้อตัวหรือสปิริตของคนที่เชื่อในเพลงเพลงนั้น มันก็มีองค์ประกอบอยู่หลายส่วนที่จะช่วยสนับสนุนให้เพลงฮิปฮอปหรือเพลงแร็ปเนี่ยเดินไปในอีกมิติหนึ่ง องค์ประกอบแรกก่อนมาจาก creator ที่มีความสามารถ อันนี้ก็ไม่ได้พูดอวย Rap is Now (โจ้: (หัวเราะ)) มันเป็นไปไม่ได้หรอกถ้าเราไม่ทำกับเขาแล้วบอกว่าเราเข้าใจฮิปฮอปหรือแร็ป สองคือการได้ศิลปินที่มีคุณภาพโดยการคัดสรรมา ซึ่งทุกคนปัจจุบันก็เป็นศิลปินที่ทุกคนให้การยอมรับทั้งนั้นแหละว่าเป็นแร็ปเปอร์หรือศิลปินฮิปฮอปที่มีความสามารถจริง ๆ องค์ประกอบที่สามผมว่าคือคนที่อยู่เบื้องหลังที่นำเพลงมีเรียบเรียงใหม่ คนที่แต่งท่อนไรห์มหรือท่อนฮิปฮอปคือศิลปินเอง แต่ละคนเนี่ยก็จะทำให้เพลงไปสู่อีกระดับหนึ่ง ในเพลงแบบเดิมเราเคยมีความชื่นชอบในมิติที่เราคุ้นชิน แต่เมื่อเอาฮิปฮอปมาผสมเนี่ยทำให้การตีความของเนื้อหาเนี่ยแตกต่าง มีหลายมิติและไปไกลกว่าเดิม

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยสนับสนุนก็คือแกรมมี่เองก็เป็นแพลตฟอร์ม เรามีแชนแนลเกี่ยวกับเพลงที่ใหญ่ที่สุดใน YouTube เรามีประมาณ 13 ล้าน subscribers ซึ่งเพลงที่เราจะทำในโปรเจกต์ The Rapisode เนี่ยจะถูกปล่อยอยู่ใน GMM Grammy Official YouTube และทุกช่องทางที่เป็นออดิโอ ไม่ว่าจะเป็น Joox, Spotify หรือ Vimeo คงจะมี Line TV ด้วย ในการปล่อยแชนแนลทั้งหมดเนี่ย ก็จะเข้าถึงคนได้ทุกมิติ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหน เราอาจจะต้องปล่อยในฟังใจด้วยนะครับ ถ้าไม่รังเกียจ มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จเนี่ย ผมว่าประชาชนจะเป็นคนตัดสินทุก ๆ ครั้งนะครับ เขาชอบศิลปินคนนั้นมั้ย เขาชอบเนื้อหาเหล่านั้นมั้ย นอกจากการผลักดันให้มันสำเร็จทางการเรื่องของการรับชมรับฟัง เพลงดังกล่าวมันก็จะถูก distribute ไปค้าขายในทุกช่องทางที่แกรมมี่ด้วยเช่นกัน

กังวลไหมว่าเพลงฮิตของ Grammy เนี่ย เด็กยุคนี้อาจจะเกิดไม่ทันแล้ว

เจ๋อ: ส่วนตัวผมไม่กังวลเลยนะครับ ผมว่าธุรกิจเพลงเนี่ยสิ่งหนึ่งที่เป็น core เลยคือเพลงมันไม่มีอายุ เพลงที่มันเป็นความทรงจำมันอาจจะเป็นความทรงจำของคนหลายยุค เพลงที่มันอาจจะเป็นเพลงที่คุ้นหูของคนยุคหนึ่ง พอมาถึงคนยุคใหม่ผมว่าไม่จำเป็นว่าเขาจะชื่นชอบเพลงสมัยก่อน แต่เขาควรจะชื่นชอบเพลงในยุคสมัยนี้ที่ถูกทำร่วมกับ Rap is Now ในโปรเจกต์ The Rapisode นี้ ไม่กังวลเลย อีกอย่างหนึ่งผมเชื่อว่าเวลาที่ทำเพลงในมิติใหม่หรือการรีอะเรนจ์เนี่ย ผมว่ามันมีจุดที่สร้างผลประโยชน์ทั้งสองด้านนะ เมื่อเขาชอบเพลงใหม่ถึงแม้จะไม่เคยฟังเพลงเก่า เขาอาจจะอยากย้อนกลับไปฟังเพลงเก่า หรือคนที่ชอบเพลงเก่า พอมาเจอเวอร์ชั่นใหม่เขาอาจจะชอบเพลงนี้มากขึ้น

เรามีแผนลุยออนไลน์แบบครบวงจรมาก แล้วจะต่อยอดไปออฟไลน์ไหม

เจ๋อ: โปรเจกต์เนี่ยผมว่ามันก็มีสเต็ปของมัน อันดับแรกเราต้องยอมรับว่าในพื้นฐานปัจจุบันคนชมคนฟังจะต้องเริ่มคุ้นชินกับเพลงก่อนด้วยช่องทางที่ใกล้ตัวหรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาก็จะเป็นเรื่องของออนไลน์ ผมก็เคยคุยกับโจ้ไว้เหมือนกันว่าเรามีสิ่งที่อยากจะทำในสเต็ปต่อไปมั้ย Grammy เองก็ถือว่าเป็น showbiz provider อันดับหนึ่งของตลาดที่เรามี festival จำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Big Mountain ซึ่งปีนี้เราก็เปิดเวทีใหม่สำหรับฮิปฮอปโดยเฉพาะ ผมว่าก็มีโอกาสอีกหลายอย่าง What the Fest, นั่งเล่น แล้วก็จะมี festival ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ก็อาจจะมี festival ที่โคกันระหว่าง Grammy กับ Rap is Now ก็ได้

เด็ก ฟังใจ อาจจะใกล้ชิดกับแกรมมี่ที่สุดผ่าน Sanamluang Music อย่างนี้แกรมมี่มีโปรเจกต์จะร่วมงานกับศิลปินนอกกระแสบ้างไหม

เจ๋อ: Grammy ก็ทำทุก segment นะครับ ในยุคใหม่เนี่ยเราไม่ได้มานั่งขีดว่าเพลงนี้ในกระแสเพลงนี้นอกกระแส ผมก็ยืนยันอีกครั้งว่า Grammy คืออุตสาหกรรมดนตรี เราก็คงจะส่งเสริมทุก segment ส่งเสริมทั้งด้านเพลงและคอนเทนต์คงจะเห็นจากที่ผ่านมา สนามหลวงคือตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องที่เราเปิดกว้าง ด้วย business model ในปีที่ผ่านมาทำให้เรามีศิลปินใหม่เกือบสี่สิบวงแล้วที่เข้ามาร่วมในสนามหลวง ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้ความร่วมมือกับศิลปินหน้าใหม่เรายังเป็น perform ขนาดใหญ่ showbiz provider ขนาดใหญ่ สามารถขายงานจ้างหรือธุรกิจคาราโอเกะครบวงจร เราเลยอยากจับมือร่วมกับคนทุกรูปแบบ

เหมือนช่วงหลายปีมานี่ตลาดดนตรีก็ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเยอะ ในสายตาของพี่ทั้งสองคนรู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน

โจ้: ทุกวันนี้ผมว่ามันเร็วมากเลยครับ ยิ่งพอเราอยู่กับโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มันแบบรวดเร็วขนาดนั้น ถ้าเป็นพาร์ตของฝั่งฮิปฮอปเองอะ ผมว่าศิลปินทุกคนแทบจะต้องวิ่งแข่งกันไปเรื่อย ๆ มันไม่ใช่การเดินไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าแถวของคู่แข่งมันมีเยอะมาก มันไม่ได้วิ่งแข่งกันสองสามคนละ ทุกคนต้องแข่งพัฒนาตัวเองให้ทัน อย่างน้อยเรื่องซาวด์เรื่องวิธีการเล่าเรื่องต้องแข่งกันใหม่ตลอด

เจ๋อ: ในภาพของ Grammy เอง ก็จะคล้าย ๆ คุณโจ้นะครับ โลกมันเปลี่ยนเร็วอะครับ คนก็เปิดกว้างมาก ๆ ในการที่จะฟังโดยไม่ได้ยึดรูปแบบแนว ไม่ได้ยึดรูปแบบค่าย ไม่ได้ยึดรูปแบบศิลปิน สิ่งที่ผมว่าอุตสาหกรรมเพลงต้องเป็นคือต้องปรับตัวให้เร็วเหมือนที่โจ้บอก ตามให้ทันความต้องการของคน แต่สิ่งที่ผมมองว่ามันเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดก็คือวันนี้เนี่ย supply มันเยอะ หมายความว่าเพลงมันเกิดใหม่วันหนึ่งเป็นหมื่นเพลงอะ ไม่ต้องนับทั่วโลกนะ แค่ประเทศไทย (โจ้: ฮิปฮอปก็เยอะพี่) มันเกิดขึ้นทุก segment เยอะมาก การแย่งความสนใจของคนจึงเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่แค่ธุรกิจดนตรีแต่เกือบทุกอุตสาหกรรมเลย เราต้องแย่งเวลาของคน คนเรามียี่สิบสี่ชั่วโมงเท่ากัน ทำยังไงที่เราจะเข้าไปเป็นหนึ่งนาที สามนาทีหรือหนึ่งชั่วโมงในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วประเทศ ต่อไปผมว่าจะเป็นทั่วโลก

จาก Rap is Now จนถึง The Rapper เราได้เห็นพลวัตรอะไรในซีนฮิปฮอปบ้าง

โจ้: ถ้าชัดที่สุดนะครับ เห็นรายได้ คือตัวผมเองก็เคยเป็นแร็ปเปอร์เหมือนกัน สมัยก่อนเวทีน้อยไม่มีที่ให้คนที่เป็นนักสร้างสรรค์ไปแสดงความสามารถเท่าไหร่ แม้แต่ผมไปร้องผมต้องจ่ายบัตรเข้างานเพื่อไปร้องให้คนอื่นฟัง แต่ตอนนั้นเราก็ต้องทำเพราะเราอยากไปโชว์ของของเราอะ แต่มันคือการไปร้องให้ศิลปินวงอื่นฟังอะ ก็ร้องสลับวงกันฟังเหมือนแชร์งานกัน แต่ปัจจุบันศิลปินฝั่งฮิปฮอปสามารถสร้างรายได้ได้จริง ๆ มีผู้คนยอมรับจริง ๆ ผมไม่รู้ว่า Rap is Now มันสร้างหรือเปล่านะ แต่ตอนนี้มันมีกลุ่มแฟนชัดเจนมากขึ้น มันมีคนที่มาติดตามแร็ปเปอร์จริง ๆ เราสร้างภาพลักษณ์แร็ปเปอร์ให้ดีขึ้น ทำให้เขาดูเป็นซูเปอร์สตาร์บนเวทีของเราอะ เคยมีช่วงที่บางคนชีวิตพีค ๆ คือเดินไปไหนไม่ได้เหมือนกันนะครับ โดนขอถ่ายรูปโดนวิ่งตามโดนอะไรยังงี้ พอมาถึงยุค The Rapper มันก็ยกระดับขึ้นมาอีก ผมคิดว่าฮิปฮอปกลายเป็น category หนึ่ง แต่มี category ย่อยอยู่ในนั้นอีกมากมาย ผมได้เห็นศิลปินที่มีแนวทางชัดเจนมากขึ้น บางคนมาเพื่อชีวิตเลย อาจจะเป็นวงคาราบาวหรือพี่ ปู พงษ์สิทธิ์ ในแบบแร็ปเปอร์ ซึ่งถ้ามันถูกทำก่อนหน้าเนี่ยมันอาจจะไม่มีคนฟังขนาดเนี่ย เหมือนที่พี่เจ๋อพูดว่าความต้องการส่วนตัวของคนฟังอะ เมื่อก่อนฮิปฮอปอาจจะมีอยู่แหละแต่ไม่มีอะไรที่เขาชอบไง แต่วันนี้ฮิปฮอปมันเหมือนซูเปอร์มาเก็ตอะ มีทุกแผนกที่เสิร์ฟความต้องการเขาได้ ผมว่ามันกำลังจะโตไปในทางนั้นครับ

ถ้าโปรเจกต์นี้ออกไปจะช่วยยกระดับฮิปฮอปเลยไหม หรือจะชี้นำฮิปฮอปไปทางไหน

โจ้: ผมคาดหวังละกัน คนในหมู่มากจะได้รู้จักฮิปฮอปมากขึ้นและเปิดใจให้กับมัน ที่เหลือเดี๋ยวมันก็ทำหน้าที่ของมันไปเอง

รู้สึกยังไงที่ Rap is Now เหมือนเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ฮิปฮอปในยุคนี้

โจ้: โห ผมขนลุกเลย (หัวเราะ) ผมทำมันด้วยความชอบแหละ อยากเห็นมันเป็นแบบไหนเราก็ทำแบบนั้น ดีครับที่มีคนคิดว่าเราเป็นหนึ่งในซีนฮิปฮอปเหมือนกัน ก็เกินคาดครับและคงทำมันต่อไปเรื่อย ๆ ตอนนี้มันมาถึงขนาดนี้แล้วคงหยุดไม่ได้แล้วล่ะครับ ทำยังไงให้มันไปได้ไกลและนานที่สุดดีกว่า

อะไรทำให้เด็กยุคนี้หันมาฟังเพลงฮิปฮอปมากขึ้น

โจ้: ส่วนตัวผมคิดว่ามันก็เป็นกระแสด้วยมั้งครับ มันมีความเท่ เพลงฮิปฮอปมันมีความขบถและเราอยากแตกต่าง ด้วยเนื้อเพลงที่มันมีคำหยาบกูมึงได้เนี่ย มันอาจจะแตกต่างและเสิร์ฟกับเด็กวัยรุ่นที่รู้สึกว่าเพลงมันตอบโจทย์ว่ะ มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับเพราะตัวเราเองก็เริ่มฟังจากไอเดียอะไรแบบนี้เหมือนกัน โหย เพลงแม่งพูดแบบนี้ได้ด้วยหรอวะ ฮิปฮอปอาจจะพูดเมสเสจอะไรบางอย่างที่เพลงกระแสหลักพูดไม่ได้ด้วยคำพูดที่ตรงไปตรงมา

เจ๋อ: ส่วนหนึ่งด้วยการเข้าถึงด้วยประชาชนในยุคปัจจุบันมันก็เป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ผมเองก็ต้องขอบคุณ Workpoint ด้วย ผมก็ได้คุยกับพี่กร ธรากร ในการริเริ่มโปรเจกต์นี้ ปัจจุบันสื่อทีวีเองก็ส่งเสริมให้ music segment มันกว้างขวางขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าดิจิทัลมันเข้าถึงคนได้ทุกรุปแบบ ทุกพื้นที่ ทุกเวลา แต่สื่อแมสก็มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันอยู่ ก็ต้องขอบคุณสื่อมวลชนทุกเจ้าเลยที่ส่งเสริมให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน

เรารันวงการมาหลายปีละ ตอนนี้เรามองหาอะไรในแร็ปเปอร์รุ่นใหม่บ้าง

โจ้: ความเป็นตัวเองมากที่สุดมั้งครับ ตอนนี้ใครโดดเด่นที่สุดมันไม่ใช่เรื่องของภาพลักษณ์ภาพนอกเท่าไหร่ มันเป็นเรื่องที่อยู่ข้างในว่าสิ่งที่เขาพูดเขาเล่าเรื่อง สิ่งที่เขาเป็นมันแข็งแรงขนาดไหน คิดถึงเวลาเราออดิชั่นก็เลือกจากเกณฑ์ประมาณนั้นนะ ต้องแตกต่าง เป็นตัวของตัวเองและมีเอกลักษณ์

มีเพลงไหนในเฟสแรกที่จะปล่อยที่น่าสนใจบ้าง

โจ้: น่าสนใจหลายเพลงเลยครับ เฟสสองก็น่าสนใจครับ คนที่น่าสนใจน่าจะเป็น Og-anic ที่เอาเพลง ขอใจแลกเบอร์โทร ของ หญิงลี มาโคฟเวอร์ เพลงนั้นยอดวิวไปไกลและดังมากจากในรายการ แล้วก็เพลง ไม่ต่างกัน ของ 25 Hours มาให้ Blacksheep RR ร้อง เป็นเพลงที่ฟังแล้วกินใจแหละ มันเลยไปได้ถึงคนในวงกว้าง มี จิ๊จ๊ะ เป็นเพลงที่ยุคหนึ่งไปคาราโอเกะแล้วเกือบทุกตู้ต้องร้องเพลงนี้ ก็ถูกเอามาทำใหม่ในรูปแบบฮิปฮอปที่ยังคงความเป็น Silly Fools อยู่แต่ก็สนุกขึ้น ก็น่าสนใจ โหย อีกเยอะเลยอะ

ฝากโปรเจกต์นี้หน่อย

เจ๋อ: ก็คงอยากจะฝากให้ทุกคนเปิดใจเปิดโอกาสในการรับชมรับฟังนะครับ ผมคิดว่าก็เป็นความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายที่อยากส่งเสริม secment นี้ และทำให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตแต่ละวัน ผมว่าการที่เราฟังดนตรีฮิปฮอปเนี่ยก็เป็น story telling รูปแบบหนึ่ง ฝากติดตามทางช่อง GMM Grammy Official บนยูทูปซึ่งจะเป็นช่องทางหลักที่ปล่อย และโซเชียลมีเดียทั้งหมดของทางแกรมมี่ที่เราจะใส่ลงไปไม่ว่าจะเป็น Joox, Spotify, Apple Music

โจ้: ฝากฮิปฮอปไว้ในดวงใจครับ (ยิ้ม)

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา