คุยกับวงโซล R&B หน้าใหม่ไม่ธรรมดา ที่ดีตั้งแต่ชื่อวงไปจนถึงเพลง Supergoods
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayod
Supergoods วงน้องใหม่แต่ฝีมือไม่ธรรมดาจาก Tomato Love Records ก่อนหน้านี้พวกเมีเพลงโซล ฟังก์ r&b ออกมาให้เราได้เสพกันแล้วถึง 4 เพลง โดยเฉพาะกับงานล่าสุด Temporary (ชั่วคราว) ที่เรียกเสียงฮือฮาได้จากทั้งเพลงที่สุดจะไพเราะ และมิวสิกวิดิโอที่ยากจะสรุปอารมณ์ความรู้สึกหลังจากดูได้ด้วยคำจำกัดความเดียว ที่สำคัญ เราสามารถการันตีคุณภาพได้จากการเล่นเปิดให้กับ Mac Ayres และได้มาเป็นหนึ่งในไลน์อัพ Maho Rasop Festival ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ เกริ่นมาขนาดนี้แล้วก็ไปทำความรู้จักกับพวกเขากันเลยดีกว่า
สมาชิก
ลามะ—ธนวัฏ พุ่มจันทร์ (กีตาร์)
เอิม—ธนพัฒน์ อนันตกฤตยาธร (กีตาร์)
งา—ธนานนท์ สุนทองห้าว (คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์)
อาม—ธนพล อนันตกฤตยาธร (กลอง)
เบล—ธวัชชัย รุ่งโรจน์สุนทร (เบส)
มาย—สรัญธร ทวีรัตน์ (ร้องนำ)
Supergoods เริ่มเล่นดนตรีด้วยกันตอนไหน
อาม: เป็นเพื่อนเรียนมหาลัยมาด้วยกัน แรก ๆ ก็ทำวงไปเล่นกลางคืนกัน ตอนแรกมีลามะ เบล มาย แล้วก็เรา เล่นที่ร้านบุรีธารา พระราม 3
มาย: นึกดู เข้ามหาลัยดนตรีใหม่ ๆ มันจะมีความรู้สึกฮิป ที่ต้องทำวง ไปเล่นสด แล้วได้ตัง ก็เริ่มจากเซ็ตเพลงศิลปากรฮิตก่อน พวกที่เขาให้ ๆ เรากันมาอย่าง Don’t Know Why, Close To You, Put Your Records On, Super Duper Love เป็นเพลงครูเริ่มกันไปก่อน
อาม: จนตอนนั้นไป Saxophone ฟังวง Bangkok Connection เขาชอบเล่นเพลงโซลเก่า ๆ เยอะมาก พวก Best of My Love ของ The Emotions พวก September เราก็ชอบ แล้วไปก็อปมา เราก็เอาไปเล่นที่บุรีธารา จนตอนนั้นไปเจอเพลงแรกที่ชอบแล้วแกะอย่างจริงจัง Golden ของ Jill Scott
มาย: ตอนนั้นรู้สึกแปลกมากตอนฟังเพลงนี้ แบบ เหี้ยอะไรวะ มีอะไรไม่รู้ที่มันแปลกจัง แล้วมีวิธีการร้อง ดนตรี ซาวด์ที่ได้ยิน มันต่างกันไปเลยกับหลาย ๆ เพลงที่เราแกะมา แต่ก็ยังไม่เข้าใจ ก็เล่นกันไปก่อน แล้วเล่นไปเล่นมาก็สงสัยว่าทำไมไม่เหมือนเพลงที่ฟังวะ มันขาดอะไรไปไหม ก็เลยค่อย ๆ แก้ไขกันมา จนตอนปีสามเราเอา เชียร์ นักร้องชายมาอยู่ด้วยกัน
เบล: ทีแรกก็เล่นป๊อป รู้แหละว่าลึก ๆ ชอบแบบนี้ แต่ยังไม่ได้ไปลึก
อาม: พอเชียร์มา เขาร้องเพลงสนุกอยู่แล้ว ก็เริ่มอยากเล่นพวกเพลง I Feel Good ของ James Brown ก็เลยไปหัด พอเล่นไปครั้งเดียวพบว่าตีไม่ได้ (หัวเราะ) ล่กอะไรไม่รู้ เราเลยไปลองอีกเพลงนึงคือ Sex Machine ง่ายด้วย ก็เล่นเพลงของ James Brown มาเรื่อย ๆ แล้วใน YouTube ก็มี suggestion เยอะ ๆ เราก็คลิกไปฟัง ก็ได้ลิสต์เพลงพวกนี้มา ค่อยข้างเป็นเพลงที่ดีปขึ้น
มาย: พอมีนักร้องสองคนก็ได้ฝึกประสาน ฝึกฟัง มีเพลงคู่ มายเองก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ก็เริ่มแกะเพลงพวกนี้มา จนถึงจุดนึง เชียร์ก็ต้องไปทำงานอย่างอื่นแล้วทำให้รู้ว่าเรายังไม่ไหวกับโชว์ที่ต้องรับมือคนเดียว ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงถึงจะเป็นฟรอนต์แมนคนเดียวที่แข็งแรงมากพอ แล้วก็มี ปอม เข้ามา เหมือนตัวเองต้องเป็นคนนำมากขึ้นเพราะเราอยู่วงมาก่อน รู้ธรรมชาติของวงมากกว่าเลยได้ฝึกอีกแบบ เหมือนช่วงนั้นเป็นการได้เริ่มฝึกว่าต้องรับมือกับโชว์ที่เป็นฟรอนต์แมนคนเดียวยังไง
อาม: ตอนปอมอยู่เราก็เล่นลิสต์เดิมอยู่ แต่พอเริ่มมีงานจ้างเราก็สนใจซาวด์อื่น ๆ ไปฟังพวก 80s มากขึ้น แต่ตอนนั้นยังไม่รู้นะว่าคือซาวด์แบบเนี้ยเรียกว่า 80s ก่อนหน้านี้เราฟังเพลงต้น 70s ตลอด คือมาจบลิสต์เพลงนี่เรานั่งค้นไปค้นมาก็พบว่าส่วนใหญ่จะจบที่เพลงจากปี 75 ไม่เกินนั้นเลย เพลงซาวด์จะวน ๆ อยู่ปลาย 60s ต้น 70s ดิบ ๆ ตลอดเวลา แต่พอเชียร์ออกไป มีงานปุ๊บ เราลองฟังพวกที่มีคีย์บอร์ด มีซินธ์ ก็ตรงพอดี 80s พวก boogie ก็เลยเริ่มสนใจ แล้วเพิ่มลิสต์ 80s เข้ามา
มาย: ได้ 80s มาเพียบเลย ฟังเมื่อก่อนไม่รู้นะ รู้สึกว่ามันเพราะ มีอะไรไม่รู้มันเยอะแยะไปหมดเลย ประหลาดมาก เหมือนเป็นยุคที่ทุกอย่างมันเยอะ ทุกคนใช้เทคโนโลยีทุกอย่างที่มีเหมือนเห่อของใหม่ ใส่แค่นั้นไม่พอกูต้องใส่เพิ่มเข้าไปอีก ก็รู้สึกว่าสนุกดี จับอะไรตรงนั้นมาเล่นให้ครบในคนที่เรามีอยู่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
อาม: แต่บางทีนักร้องก็คอนทราสต์กันตรงที่ว่านักร้อง 80s ร้องช้า เนิ้บ เมโลดี้ phasing น้อย (มาย: ประสานไม่แน่น) แปลก ก็ได้ไอเดียเก็บมาเรื่อย ๆ
รู้สึกโชคดีไหมที่เล่นมาด้วยกันก็นาน แล้วแนวเพลงที่ชอบก็พัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
มาย: มายว่ามันไม่ได้เริ่มจากที่ทุกคนชอบเหมือนกันนะ แต่ละคนชอบต่างกันเลย แต่มันโดนบังคับให้แกะเพลง คือทุกวันศุกร์เรามีกฎว่าเราต้องซ้อมนะ ต้องเพิ่มเพลงนะ แล้วมันเหมือนวงกลมค่อย ๆ มา intersect กัน ไม่ใช่แค่แนวเพลง แต่วิธีการเล่นก็ต้องปรับกัน คนนี้เป็นอย่างงี้ เราต้องรับมือกับเขายังไง แต่ละคนก็ยอมรับกันเองมากขึ้น
ลามะ: มันเหมือนการสร้างระบบขึ้นมาโดยที่เรายังไม่รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ แต่พอเราอยู่กับระบบนี้ไปเรื่อย ๆ มันก็มีความคิดที่เปลี่ยนไป บางทีเราเริ่มเข้าใจว่าเราจะสนุกกับเพลงยังไง ก็ทำให้เราชอบอะไรแบบนี้มากขึ้น
อาม: วงที่มีแนวทางเดียวกันแต่แรกก็โชคดี แต่เราโชคดีกว่าที่ว่าทุกคนรับผิดชอบในส่วนตัวเอง
มาย: การเป็นวงอะเนาะ ยิ่งคนเยอะ ยิ่งเรื่องเยอะ มันยิ่งกว่าเหมือนมีแฟนที่ทุกคนต้องปรับอะไรหลาย ๆ อย่างให้เข้ากัน ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่ทำ routine วันศุกร์ตอนเย็นของพวกเรามากี่ปีแล้วก็ไม่รู้
ลามะ: เออ เราไม่ค่อยได้คุยกันด้วยแหละ มาเปิดใจกันก็ตอนนี้ (หัวเราะ)
เบล: มันทลายอีโก้ไปในตัวด้วยนะ ชอบไม่เหมือนกันแต่ก็ต้องรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง
กว่าจะรวมตัวเป็น 6 คน จากที่เล่นร้าน แล้วตอนนี้ก็มีเพลงของตัวเองต้องปรับตัวนานไหม
อาม: ไม่ได้ตั้งใจปรับ เพราะคนออกตลอด (หัวเราะ) (เบล: เหมือนจะเรียบง่ายแต่มีสมาชิกที่ไม่ได้พูดถึงที่เข้ามาแจมกับเราหลายคนมาก เหมือนเข้ากันไม่ได้แล้วก็เปลี่ยน แต่ก็ยังมีคนที่อยู่ช่วยกัน) ก็คือพอเชียร์ออก ปอมออก ช่วงนึงลามะไปเข้าทหาร ผมเลยไปบังคับเอิมมาเล่น (หัวเราะ)
ลามะ: แล้วช่วงผมกลับมาเรียนจากที่ดรอปไว้ ก็มาเจองา แล้วพอเรียนรวมวงด้วยกันก็อยากชวนมาเล่นด้วย งาก็ทำวงอื่นก่อนเหมือนกัน แต่คุยไปคุยมาก็ดึงตัวมาได้ซะงั้น สุดท้ายก็มาอยู่ด้วยกัน
อาม: ตอนโทรไปหางา ‘สวัสดีครับ พี่อามนะครับ จะชวนมาเล่นวง’ งาตอบเสียงโคตรนิ่ง ‘ครับ’ กูกลัวแม่งชิบหายอะตอนนั้น (หัวเราะ)
มาย: แต่มายว่ามันต่างกันมาก ตอนเราเล่นคัฟเวอร์ เราแค่แกะให้เหมือนที่สุดเท่าที่เราทำได้ ณ เวลานั้น แล้วเรามาเล่น แต่พอเป็นเพลงตัวเองแล้ว เมโลดี้ที่เราจะแต่งออกมา เราจะทำยังไงให้พอดีกับที่เราต้องการ มันก็ไม่ได้ง่ายในการหาคำว่าพอดี แล้วยิ่งแกะเพลงหลาย ๆ เพลง ฟังเพลงดี ๆ มาเยอะ มันจะมีข้อเปรียบเทียบอยู่แล้วว่าสิ่งที่เราทำมามันดีพอหรือยังวะ หาจุดบาลานซ์ไม่ค่อยเจอ ยิ่งเพลง Blue Dream เพลงแรกที่ทำ นี่มันโอเครึยังวะ แต่พอยิ่งทำไป ผ่านเพลงสอง สาม มาเพลงสี่ ตัวมายเองนะ ตกตะกอนได้ว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไรมากขึ้น อันนี้ไม่ใส่แน่นอน ลองอันนี้สิ โอเคขึ้น อันไหนไม่โอก็ตัดต่อ ซึ่งก็ยังต้องเรียนรู้ต่อในเพลงต่อ ๆ ไป
งา: ก็รู้สึกประหลาดดีครับเพราะเล่นเปียโนแจ๊สมาตลอด แล้วพอมาเล่นเสียงวึบวับ ๆ อิเล็กทรอนิกมันก็ไม่ชิน ตอนมาแรก ๆ นี่ไม่เคยเล่นมาก่อนเลย ต้องปรับเปลี่ยนเยอะเหมือนกัน แล้วก็ใช้เครื่องแบบ แทบจะพังเครื่องไม่รู้กี่รอบแล้ว (หัวเราะ) อันที่จริงมันยาก แต่ก็สนุกดีครับ
การมีความสนใจในแนวเพลงที่ต่างกัน เวลาต้องมาเขียนเพลงตัวเอง แต่ละคนได้ใส่สิ่งที่ตัวเองชอบเข้ามายังไงบ้าง
อาม: ตรงนี้เหมือนด้วย routine ที่ทำทุกวันศุกร์ ทุกคนชอบคนละอัน แต่เราแกะเพลงพาร์ตตัวเองมา พอทำเพลงตรงนี้มันเลยง่าย คือหาจุดตรงกลางของทุกคนเจอแล้ว เลยไม่มีปัญหาว่ากูอยากใส่ที่กูอยากใส่ตรงนี้เยอะจนเกินไปด้วยความที่ก็ซ้อมกันมานาน
การเล่นร้านมาก่อนทำให้เป็นข้อได้เปรียบด้านการแสดงสดไหม หรือยังมีปัญหาเรื่องการรับมือกับคนดูอยู่
มาย: ถ้าใจเราโอเคเราก็เล่นไปเหอะ มายก็เจอตลอด เราต้องยอมรับข้อนี้ว่าบางคนที่มาร้านเขาก็ไม่ได้ตั้งใจมาฟังเพลง เขามากินข้าว มาดื่ม มาคุยกับเพื่อนเขา แล้วเราจะไปโมโหเขาอย่างเดียวก็ไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือเต็มที่ในหน้าที่ของเราโดยไม่มี negative feelings ถ้าเราตั้งใจร้อง ตั้งใจเล่นกัน ยังไงมันก็จะส่งไปสะกิดเขาบ้างถึงแม้จะไม่ได้มาก เพราะว่าหลายคนที่เหมือนไม่ได้ฟังเรา ไม่ได้ตบมือ แต่จริง ๆ แล้วเขาฟังจนจบเลย กลายเป็นกูเองแหละที่คิดมากเกินไป แต่พอเล่นร้านกับเล่นเพลงตัวเองมันไม่เหมือนกันตรงที่ อย่างหลังทุกคนตั้งใจมาฟังเพลงเรา มาดูสิ่งที่เราทำขึ้นมาเอง มันเลยมีความรู้สึกที่ตื่นเต้นเหมือนหัวใจจะหลุดออกมา มันไม่เหมือนความรู้สึกชินเวทีเลยนะ มันจะตื่นเต้นมาก ๆ แต่ยอมรับว่าเราได้เปรียบเรื่องเล่นสด (เบล: เรื่องเข้าขากัน แต่เราก็ยังหน้าใหม่มากแม้แต่กับเพลงตัวเอง) ใช่ ทั้งเรื่องเล่นเพลงตัวเองและการอัดเพลง มันเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ต่างกันมาก
อะไรทำให้ในที่สุดก็เขียนเพลงของตัวเองขึ้นมา
อาม: พี่เต๊นท์ (Summer Dress/ Tomato Love Records) เขาโทรมาเหมือนจะเปิดค่าย ก็ชวนว่าสนใจจะอยู่ไหม
มาย: คือมีช่วงนึงอามไปช่วยตีกลองให้โปรเจกต์ Games of Sound แล้วอามคุยกับพี่เต๊นท์เยอะในเรื่องความเนิร์ดดนตรี ถามเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ พอคุยเยอะ ๆ พี่เต๊นท์ก็ถามว่า เฮ้ย เอ็งดูสนใจดนตรีจริง ๆ นะ มาสร้างกลุ่มกันไหม
อาม: แล้วมันกำลังจะมีงานเล่น Anderson .Paak จะให้เราเล่นเปิด แต่เรายังไม่มีเพลงตัวเอง เขาก็บอกให้เราลองทำเดโม่อะไรมาก็ได้ แล้วเขาก็จะไปเสนอก่อนว่าโอเคไหม เขาสนใจหรือเปล่า
มาย: ก็เลยขึ้นโครงเพลง Blue Dream แค่นั้นเลย งง ๆ ปะ (หัวเราะ) คือเขามีเดดไลน์มาให้ ทำตอนเช้า ตอนเย็นส่ง แบบนั้นเลย สุดท้ายก็ไม่ได้เล่นงานนี้แต่ได้ไปเล่นอีกงานนึงแทน Mac Ayres แต่เหตุการณ์นี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้ทำเพลงจริง ๆ
ตอน Supergoods เปิดตัวในฐานะศิลปินโซล ฟังก์ r&b รู้สึกกังวลบ้างไหมว่าแนวทางของเราค่อนข้างฉีกไปจากวงอื่น ๆ ในกระแส
เบล: ไม่กังวล ดีซะอีกไม่เหมือน
มาย: แค่เพลงเสร็จก็ดีแล้ว เราไม่ได้คิดจะเป็นโซล หรือ r&b ขนาดนั้น
ลามะ: ดีใจด้วยซ้ำที่ทำออกมาแล้วถูกจดจำว่าอยู่ในกลุ่มนั้น เพราะเอาจริงทุกเพลงที่ทำก็ยังมีความไม่มั่นใจว่าอยู่ในแนวนี้หรือเปล่า พอทำออกมาแล้วคนบอกว่าอยู่เราเองก็รู้สึกดีใจ
เล่าที่มาที่ไปของแต่ละเพลงที่ปล่อยมาให้ฟังหน่อย เริ่มจาก Blue Dream
อาม: เริ่มจากที่ต้องเร่งทำให้มันเสร็จ พอดีผมก็ชอบทำบีตอยู่บ้านด้วยการแซมพ์นู่นแซมพ์นี่ ผมก็เลยไปแซมพ์เพลงของคนนึงชื่อ Willie Bobo ชอบไลน์เบสของเขา กับคอร์ด ก็เลยทำเดโม่ขึ้นมา ใส่ลูปเข้าไป
มาย: ตอนอามส่งเดโม่มา มายก็ถามว่า ‘…เนื้อไทยหรอ?’ อามก็บอก ‘เออ ทำเล้ย’ โอเค ตอนได้ยินมายก็รู้สึกว่ามันต้องเป็นสีน้ำเงิน ม่วง ทำ ไม่รู้สึกอะไรเลยนอกจากว่าเห็นสีเป็นประมาณนี้ ก็เลยลอง ๆ ทำวะ แล้วลองคิดว่าเรื่องควรจะเป็นยังไงวะ แต่มายไม่ได้มีความสามารถในการเขียนเนื้อขนาดนั้นอยู่แล้ว มายเลยแต่งเมโลดี้ขึ้นมาก่อน เพราะนั่นน่าจะเป็นอะไรที่เราคุ้นเคยมากที่สุด แต่งเพลงมาได้ปุ๊บ ตอนนั้นคุยกับเพื่อนที่ทำเพลงอยู่ ตั๊ก ธิดานันท์ ‘เฮ้ย ตั๊กช่วยหน่อย’ เขียนเรียงความ 3 ย่อหน้าว่าอยากได้เรื่องแบบนี้แล้วส่งให้ตั๊กพร้อมเมโลดี้ แล้วตั๊กก็ถามกลับมาว่า ‘เนื้อไทยหรอ’ (หัวเราะ) คือทุกคนพูดเหมือนกัน มันยากนะ เราก็เลย โอเค นั่นแหละ เป็นที่มา พอตั๊กเขียนดราฟมาให้ก็ช่วยกันตบ ๆ จนกลายมาเป็นเพลงแรกในชีวิตที่ทำ คือเคยลงเรียน songwriting นะ เข้าไปสองคาบ ดรอป (หัวเราะ)
Come Rain or Come Shine (เสี่ยง)
มาย: เนื้อหาตอนได้ยินดนตรีคือ สบาย ๆ ง่าย ๆ ไม่ต้องคิดมาก แล้วก็ได้ยิน ตือดื๊อดือ ตือดื๊อดือ ก่อน เลยยึดใช้อันนี้เลย รู้สึกว่าเมโลดี้อื่นก็ตามมา ก็บอกตั๊กว่าของ่าย ๆ เนื้อหาไม่ต้องลึก เป็นคนมีความรัก แต่ไม่รู้ว่าจะรักดีหรือเปล่าเพราะเจ็บมาเยอะ แล้วตั๊กก็เขียนออกมา เราก็ใส่เพิ่มหรือเอาออกว่าอยากลดอะไร
อาม: ตอนนั้นขึ้นลูปกลองมาก่อน จากที่ผมบ้าเพลง Juicy Fruit ของ Mtume ก็เลยอยากทำลูปกลองแพตเทิร์นเดียว สองบาร์ก็ยังอยู่ในนั้น มีแค่เพิ่มเลเยอร์เข้ามา แต่จริง ๆ แล้วเพลง Juicy Fruit นี่โคตรโล่งเลยนะ
ลามะ: จริง ๆ เพลงนี้เป็นเพลงที่ทุกคนขยับน้อยมากเลยนะ ยืนกันเหมือนเดิมเกือบจะทั้งเพลง แต่ไลน์เบสชัดสุด (FJZ: แต่เวลาเล่นสดนี่ไลน์ประสานยุบยับมาก) เวลาเล่นสดนี่อาจจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์ ถ้าคาดหวังว่าฟังเหมือนเพลงอาจจะเปอร์เซ็นต์น้อยหน่อย
Bye Bye
อาม: จริง ๆ ก่อนจะปล่อย Blue Dream ก็มีการไฟต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าจะปล่อย Blue Dream หรือ What’s Wrong ทีแรกเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วคือผม เบล ลามะ ชอบพวกเพลงฟังก์อยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็มีเหตุผลให้ต้องปล่อย Blue Dream ก่อน เพลงที่สามนี้เลยบอกว่า รอก่อน เดี๋ยวทำแน่นอน เอาเมโลดี้กับความหมายนิดหน่อยจาก What’s Wrong มาทำ จนได้มาเป็นเพลง Bye Bye
เบล: จะติดฮิปฮอป แต่เบสไม่เยอะ
ลามะ: ที่จำได้คือตอนทำเพลงแล้วอยู่กับอามตอนอัดเพลงนี้ ก็คิดว่าทีแรกเป็นริฟฟ์กีตาร์ แล้วก็เปลี่ยนให้เป็นริฟฟ์คีย์บอร์ดดีกว่า น่าจะเป็นช่วงที่มาอยู่ด้วยกันแล้วเริ่มแจมกันในห้องอัดบ้านอาม ดู ๆ ว่าชอบอะไร แล้วลองเล่นอะไรที่แปลก ๆ สำหรับตัวผมเอง ปกติเวลาเล่นกีตาร์จะไปอยู่ใน ๆ เฟรตลึก ๆ สูง ๆ หน่อย ตอนนี้มาอยู่แบบเสียงต่ำ ๆ
มาย: เหมือนเพลงนี้ดนตรีทำง่าย เหมือนทำแปปเดียวเสร็จ แต่งงว่าทำไมจำตอนทำไม่ค่อยได้ เพลงนี้คือความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา บางทีเราต้องทนกับอะไรไม่รู้ที่ไม่ต้องทนก็ได้ แต่กูก็ทนอยู่อย่างงั้น แล้วด้วยเพลงมาก็ต้องรู้สึกให้มันดุนิดนึง จะให้เนื้อหาสดใสก็คงไม่ได้ แต่เพลงหน้าเดี๋ยวหวานละ ก็เลยมาคิดว่าจะพูดอะไรที่ดูโหดแต่ยังโอเคอยู่ ไม่ได้ขนาดรู้สึกว่าเศร้าจะตาย ตอนนั้นน้องเอิมมีไดรเป่าผมอันนึง ซึ่งเป็นอันที่หม่าม้าไม่ยอมให้ทิ้ง สายขาดแล้วขาดอีก แล้วเขาจะภูมิใจในช่างประจำตระกูลมาก หม่าม้าก็เอาไดรไปซ่อม คือ.. ไดรเป่าผมกี่บาท? บางทีก็ทิ้งแล้วซื้อใหม่ก็ได้ แต่เขาจะบอกว่าเสียดาย มันยังใช้ได้อยู่เลย ผ่านมาสามครั้ง จนสุดท้ายน้องเอิมไดรผม มายชอบดูน้องเอิมตอนเดินออกมาจากห้องน้ำ มันตลก แล้วก็เสียบปลั๊กไดรผม มายก็นั่งมอง ไดรอยู่ดี ๆ ภาพช้าก็เกิดขึ้น ไดรระเบิด ตูมมมม แล้วน้องเอิมก็ร้อง เหี้ยยยยย แล้วโยนไดร ไดรสโลวโมชันตกพื้นปึ๊บ ไฟดับ ภาพตัด มายก็คิด ไอ้เหี้ยมันต้องขนาดนั้นจริง ๆ หรอวะ เราจะต้องเสียดายตังจนเกือบต้องเสียชีวิตหรอ จะทนทำไม เกือบจะต้องบ๊ายบายจริง ๆ แล้ว (เอิม: ไม่กล้าใช้ไดรเป่าผมเลย) คือช่วงนั้นกำลังทำเพลงนี้พอดี ก็เป็นที่มา ที่ผ่านมาเสียเวลาจริง ๆ ทำไมต้องมาใช้แบบกลัว ๆ ทุกรอบ คือมันมีปัญหายิบย่อยอีกในไดรอันนั้น เปิดมากลิ่นไหม้ออก ร้อนเกินไป หรอบางครั้งไม่ร้อน แล้วเอามาเทียบกับชีวิตเราได้นะ ต้องทนกับไอ้เหี้ยนี่ กูเบื่อมันชิบหายละ แต่ก็ต้องอยู่ด้วยความห่วงใย ผูกพัน กลัวเหี้ยไรไม่รู้ แต่นั่นคือไดรเป่าผม ก็เอามาแต่งเพลงนี้
อาม: สายมันขาดแบบสายชาร์จไอโฟนเปื่อย ๆ แล้วดูดคนตาย
มาย: ประมาณนั้น แล้วพอบอกว่ามันระเบิดแล้วก็ไม่เชื่อด้วย จะเอาไปซ่อมใหม่ กูต้องแอบเอาไปทิ้ง!!!
Temporary (ชั่วคราว)
อาม: สังเกตว่าทั้งเพลงมี movement อยู่อย่างงั้นตลอด แล้วก็มีเลเยอร์ขึ้นมาเรื่อย ๆ คือสนิทกับ อุ้ม แล้วก็ หนึ่ง Rootsman Creation อยู่ด้วยกันบ่อยก็ได้ฟังเร็กเก้กับมัน เราก็ชอบอารมณ์ในเพลงแบบนั้น ก็เลยพยายามดึงมันไปอยู่ในเพลง ลองดูว่ามันเป็นยังไง แล้วอีกทีก็ไปดูวงเขาเล่นบ่อย เกิดชอบบอสร้อง กับเสียงเพอร์คัสชันที่อุ้มตี เลยเอามาปรับใช้กับวง เอามาเสริมกับแซมพ์เปียโนที่มี ให้เบลลองเล่นเบสที่ไม่ใช่แบบเร็กเก้ แค่พอมีกลิ่น ซึ่งเบลก็มีแนวที่ชอบอยู่แล้ว ก็ยังติดพวกโซลอยู่ อย่างกีตาร์เพลงนี้ก็ไม่ได้เล่น skank แบบเร็กเก้ คือเหมือนเป็นตัวซัพพอร์ต แทบไม่มีริฟฟ์อะไรทางนั้นเลย (ลามะ: เน้นเป็นบรรยากาศมากกว่า) ที่เป็นแบบนั้นอาจจะเพราะเสียงร้องของบอส เสียงกลอง แล้วก็เอฟเฟกต์นิดนึง
มาย: เหมือนทุกเพลงที่พอได้ยินเดโม่จากอาร์มมายก็จะคิดตาม แล้วรู้สึกว่าติดเร็กเก้นิดนึงจริง ๆ มายก็เลยนึกถึง I’m In Love With You ของ Erykah Badu ซึ่งเขาร้องกับ Stephen Marley พอได้ยินปุ๊บก็คิดว่ามันน่าจะจับไวบ์ให้ใกล้ ๆ เขา แล้วถ้าเป็นเพลงคู่ก็น่าจะเวิร์ก เลยลองแต่ง ลองพยายามทำดู พอได้เพลงนั้นอ้างอิงก็มาทำเมโลดี้ ทำนั่นทำนี่ ออกมาไม่เหมือนหรอก แต่ inspired มาจากเพลงนั้น แล้วเพลงมันน่าจะฝัน ๆ หน่อย ฝันเก่งงง เลยบอกตั๊กที่สายเพ้อเหมือนกัน ดวงดาว ท้องฟ้า ได้โครงได้ฮุกมา ก็ไม่อยากบรีฟบอสว่าต้องร้องอะไร เลยให้เขาไปทำเมโลดี้กับเขียนเนื้อส่วนของบอส เขยิบได้เลย เราเว้นเวิร์สให้บอส พอแต่งเสร็จมาเจอกัน ก็คุยต่อว่าอยากเพิ่มอะไรดีตรงฮุก ไม่กล้าเรียกว่าฮุกด้วยซ้ำ มันมีฮุกป่าวเหอะ (หัวเราะ) ก็ดูว่าจะใส่อะไรลงไปในนั้นให้ harmonize ไปด้วยกัน ให้ดูเหมือนได้ร้องด้วยกัน โฟลวไปด้วยกัน ไม่ใช่มายเด่นอยู่คนเดียว ทำจนเสร็จ
ผลตอบรับของเพลงนี้ ทุกคนฮือฮาทั้งเพลงทั้ง mv
มาย: ใครจะไปคิดว่าเพื่อนที่นั่งหลังเราตอนมัธยมมันจะมาดังขนาดนี้ ยิ่งเราเล่นดนตรีอย่างนี้ก็ไม่ค่อยได้เสพว่าโลกปัจจุบันเขาเป็นยังไงบ้างขนาดนั้น รู้แว่ว ๆ แค่อัตต้า (อัตตา เหมวดี) เริ่มเป็นผู้กำกับ ทำโฆษณาเยอะ แล้วอัตต้าทักมาว่า ‘มายมีเพลงไหม อยากทำ mv ให้’ เราก็ต้องมีอยู่แล้วมีคนอยากทำ mv ให้ มันดัง มันโหดด้วย ก็ไว้ใจว่า เพลงเป็นแบบนี้ ไปคิดเรื่องมาเลยนะ อยากได้ยังไงตามสบาย แล้วตอนเราเห็น storyboard ตอนแรกก็ช็อกเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แล้วก็คุยกับอาม อามบอกว่า เออ เราต้องให้เพื่อนไปเลยว่ะ ก็แบบ อะ ไว้ใจ ลุยเลยอัตต้า
อาม: ช็อกตั้งแต่มันเล่าให้ฟังก่อนเห็นฉากละ (มาย: คืออัตต้ามันไม่มั่นใจในตัวเองอยู่แล้วด้วยไง)
ลามะ: ไม่ได้คิดว่าดีไม่ดีนะ แต่ในใจที่ได้ยินตอนแรกคือ ‘เหี้ย โคตรแปลก’ (หัวเราะ) แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปอารมณ์ไหน แต่เซอร์ไพรส์ด้วยฉากแค่นั้น แต่มันทำให้ดูอีโรติกได้ ไม่รู้จะบอกอารมณ์ยังไง แต่มันรักมาก ยอมในความครีเอทิฟมากครับ
มาย: คือมันแปลกมาก ในมุมของคนที่ทำเพลงออกมา กับคนที่ทำภาพ ไม่เคยคิดว่ามันจะทำภาพออกมาแบบนั้นได้ด้วยหรอ คือมายชอบมากตรงที่มันมีพระจันทร์ตรงข้อเท้า คือมึงก็ดึงมาได้เนาะ แล้วความที่ไม่มีเงินก็เอาปากกาเมจิกมาวาดรูปพระจันทร์ก็ผ่านแล้ว (อาม: ซิมโบลิกไง) เออ มันก็เก่งเนาะ ชื่นชม เป็นเราคงคิดอะไรแบบนั้นไม่ได้ กับด้วยเรื่องที่เราเขียนมาเราไม่ได้คิดว่าภาพมันจะเซ็กซี่ขนาดนั้น …หรือมันเซ็กซ์วะ (หัวเราะ)
เวลาเล่นสดวงจะออกแบบโชว์ให้สอดคล้องกับงานที่ไปเล่นหรือกลุ่มคนที่มาดูด้วย
มาย: เพราะว่าศิลปินที่เราชอบเขาเล่นสดไม่เหมือนเพลงในแผ่นเลย แล้วรู้สึกว่าเจ๋งว่ะ เมื่อ 2-3 ปีก่อน มายไปญี่ปุ่นเพื่อดู Erykah Badu จริง ๆ ชอบหลายคนมาก แต่ไปดูคนนี้ แล้วรู้สึกถึง enerygy ของเขาในการเล่นสดในโชว์เขา คือรู้เลยว่าเขาตั้งใจทำโชว์อะ ดูผิวเผินมันเหมือนเขาเล่นชิล ๆ แต่ความจริงคือเขานัดมาแล้วว่าจะทำอะไรตรงนี้ ตรงนั้น แล้วค่อยใส่ความเป็นตัวเองหรืออิมโพรไวส์เข้าไปนิดหน่อย แล้วมายรู้สึกว่าเขาสอดแทรกสิ่งที่เขาชอบเข้าไปในนั้น เขาโตมาในยุค 80s เขาก็ใส่เพลงที่เขาชอบลงไปในโชว์ ก็ได้แรงบันดาลใจอยากทำแบบตรงนั้นด้วย
อาม: มันมาเห็นชัดตรง Sabye Sabye Session เหมือนเราก็ไปลองดูว่าเขาถ่ายที่ไหน มันก็เหมือนเป็นร้านแผ่นเสียง ร้านกาแฟใช่ไหม แล้วจะให้ไปเล่นแรง ๆ แบบที่ De Commune ก็ไม่ได้ มันก็จะมีความเป็นแบบ Tiny Desk โชว์สบาย ๆ ดี เราชอบของ Tyler, the Creator ก็ลองทำแบบนั้น
มาย: อย่างงานล่าสุดที่ชื่อ อยากเล่นก็เล่น ที่จะเล่นกับ H 3 F กับ Beagle Hug เราก็เตรียมโชว์ไปให้ไวบ์ใกล้เคียงกับมู้ดเพลงที่วงต่าง ๆ เล่น แบบ เพลงเขาเป็นยังไง ลุ่มลึก หรือดุยังไง เราก็ต้องตัดบางเพลงทิ้งเพื่อให้โชว์นี้มีสีเข้าเป็นสีเดียวกับเขา
รู้สึกยังไงที่เวลาคนไป To More หรือ Soulbar เมื่อก่อน ส่วนนึงเพราะอยากดู Supergoods
มาย: ก็ดีใจแหละที่คนรู้จักเราจากจุดนั้น
อาม: แต่พูดถึง Soulbar คนก็นึกถึงวงเยอะเหมือนกันนะ The Lowdowns, Mother Funky
มาย: แต่อาจจะเพราะพวกเราไม่ค่อยได้ลา เป็น house band ที่อยู่ตรงนั้นตลอดเวลาเพราะกูไม่มีงานไง และตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราสามารถเล่นเพลงที่เราอยากเล่นได้อย่างเต็มที่และมีคนที่อยากจะฟัง มันเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราตั้งใจในที่นี้มาก
ลามะ: ตลอดเวลาที่เล่น Soulbar มันมีอะไรบางอย่างไม่รู้ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราจะไม่ขาด เราจะไม่ลาวันนี้
อาม: ด้วยชื่อสถานที่มันก็คัดกรองคนและป้องกันตัวเราอยู่แล้วว่าเราเล่นอะไรได้
มาย: เขาไม่เคยพูดว่าต้องเล่นป๊อปบ้างนะ และเราก็ไม่เคยพูดว่าป๊อปไม่ดี แต่เขาอยากให้เราเล่นอะไรก็เล่นไปเลย งั้นก็สนุกเราแล้วดิ ได้เล่นอะไรที่อยากเล่น มันก็เป็นที่ที่ดีที่เราจะได้ฝึกตัวเอง
ลามะ: มีช็อตนึงที่เราเคยไปเล่น Cloud 47 แล้วเขาพูดมาประมาณว่า วงมันจะอยู่รอดได้ถ้ามันได้ไปเล่นในที่ที่ถูก เราเลยมองกันว่าตอนนั้น Soulbar ถูกที่สำหรับเรา เรารักที่นี่ เราไม่อยากลา ถ้ามันจำเป็นต้องลาก็คือน้อยมาก คนอาจจะจำได้หรือเห็นเราบ่อยจนคิดว่า ถ้านึกถึง Soulbar ก็ต้องเป็น Supergoods แหละ
เพราะเราเคยดู Supergoods เล่นที่ Jazz Happens มันก็ได้อารมณ์ที่ต่างกันเลย
มาย: ด้วยไวบ์ร้านและพวกเราที่โตขึ้นเหมือนกัน อาจจะหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เป็นอย่างงั้น อย่าง Soulbar เก่าตอนนี้กลายเป็น To More มันก็ยังเหมือนเดิม ถ้าตัวมายไม่ได้รู้สึกว่าต้องบังคับอะไรตัวเองมาก ไม่ต้องต่อเพลงตลอด สามารถยืดหยุ่นได้ คุยกับคนได้มากขึ้น เพราะคนเขาก็เน้นมาดื่มมากขึ้น เป็นอีกแบบ แต่ก็ยังเป็นบรรยากาศที่น่ารักอบอุ่นอยู่เหมือนเดิม เลยยังรู้สึกสบายใจที่ได้อยู่ตรงนั้น
ในฐานะที่มาเป็นศิลปินที่เพิ่งมีเพลงของตัวเองไม่นาน แต่ได้เล่นงานใหญ่อย่าง Maho Rasop Festival รู้สึกยังไงบ้าง
มาย: ตื่นเต้น ดีใจมาก ขอบคุณที่เลือกพวกเรา (อาม: ให้โอกาส) ใช่ เราจะไม่ทำให้ผิดหวัง อยากทำออกมาให้ได้ดีที่สุด คือทุกโชว์ที่เขาให้เราเล่น มายอยากทำให้เต็มที่และดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แค่นั้นเลย ทุกโชว์ ไม่ใช่แค่ว่าของ Maho Rasop หรืองานเล็ก ๆ ใครที่มาชวนเราเล่น เราสนุกที่เราได้เล่นเพลงของตัวเอง
ลามะ: แต่ก่อนวงคือแกะเพลงคนอื่นเล่น แล้วพอเรามีโชว์ของเราเอง ก็รู้สึกเหมือนอยากทำโชว์นั้นโชว์นี้ของวงที่ชอบมาใส่เหมือนกัน แบบ เขาก็ใช้ เราอยากลองใช้บ้าง จริง ๆ มันเหมือนอารมณ์เพิ่มเพลง แต่จากเพิ่มเพลงก็เป็นการปรับโชว์ของตัวเอง เหมือนเป็นการต่อยอดจากที่ทำจากเดิม มันเล่นสนุกดี
มาย: แต่ก่อนคือแกะเหมือนอย่างเดียว แต่อันนี้คือแกะมาแล้วทำให้ปรับใช้กับวงยังไงได้บ้าง
อยากกลับไปบอกอะไรกับตัวเองตอนที่เริ่มทำวงหรือเล่นดนตรีในช่วงแรก ๆ
ลามะ: อยากกลับไปขอบคุณมากกว่า
เบล: ก็คงบอกว่าดีแล้วแหละ ทำต่อไป ตามเวลาของมัน อย่ายอมแพ้ไปก่อน
อาม: อยากให้เริ่มฟังเพลงตั้งแต่ตอนนั้น ซักสิบขวบ จะหยิบ iPod ติดไปให้ ลงเพลงไปให้หมดเลย
เอิม: กินน้ำเยอะ ๆ (หัวเราะ)
มาย: ของเอิมน่าจะต้องบอกตัวเองก่อนหน้านั้นซักสองอาทิตย์ว่า มึงอะจะต้องเล่นนะ ลามะจะไปเกณฑ์ทหาร จะได้แกะเพลงก่อนนาน ๆ นี่บอกก่อนวันศุกร์สองวัน สิบเพลง อ้วกแตก (หัวเราะ)
อาม: คือก่อนหน้าจะมาเป็นเอิม มีมือกีตาร์ชื่อโอ๊ต เราบอกว่า เออ อาทิตย์นี้เพิ่มเพลงนี้ แล้วน้องบอกว่า ‘พี่ครับ ผมว่าผมจะไม่เล่นแล้วครับ ผมจะออก’ ก็มีเหตุผลอะไรของเขาไป เราก็โทรหาเอิม บอกว่า ‘กูรู้ละว่าต้องเป็นกู’ (หัวเราะ) โอ๊ตมันบอกเอิมเรียบร้อยแล้ว
มาย: มายคงบอกตัวเองว่าอย่าคิดมาก เพราะเป็นคนขี้คิดมาก มาก ๆ แต่ตอนนี้น้อยลง ไม่ใช่แค่บอกตัวเองนะ บอกทุกคน ทำ ๆ ไปเถอะ อย่าไปสนใจเลยว่าใครจะคิดอะไร แค่เราชอบ
งา: ไม่บอกละกันครับ เดี๋ยวไม่สนุก (หัวเราะ)
เป้าหมายต่อไปของ Supergoods
อาม: เซ็ตนี้น่าจะทำเป็น EP กะทำอีกสองเพลงแล้วปล่อย เดี๋ยวพอจบ EP ก็คงพักสักแปป เก็บ material นั่นนี่ แต่ทำต่อแน่นอน
มาย: ว่าจะไปขายใน Maho Rasop กับ Cat Expo ด้วย คือต้องปั๊มให้เสร็จทันพฤศจิกา
ฝากผลงาน
งา: ติดตามพวกเราได้ทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม Supergoodsband
มาย: แล้วก็มีเล่นคัฟเวอร์สองที่ วันพุธ ที่ Black Cabin สามทุ่มครึ่งถึงห้าทุ่มครึ่ง แล้วก็วันศุกร์ที่ To More 21.45 น. ถึงเที่ยงคืน เราจะไม่พูดชื่อร้านผิดอีก ชอบพูดชื่อร้านสลับกันแล้วโป๊ะแตกบ่อยมาก ลูกค้าต้องแก้ให้ว่ามึงอะผิดร้าน (หัวเราะ)