‘Ui’ สารพันเรื่อง ยู ๆ ไอ ๆ ในอัลบั้มชุดที่ 3 ของ Summer Dress
- Photographer: Chavit Mayot
- Writer: Montipa Virojpan
Summer Dress เป็นอีกวงดนตรีที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังนำเสนอผลงานได้สนุกและน่าตื่นเต้นเสมอ และในปีที่ 11 ของพวกเขาก็กำลังจะมีอัลบั้มเต็มชุดที่ 3 ออกมาให้เราได้ฟังกัน ซึ่งวันนี้ก็จะเป็นวันที่วงเปิด pre-order bundle พิเศษทางแฟนเพจในเวลาสองทุ่มตรง ลองไปติดตามกันดู
ระหว่างที่รอ เราก็ชวนมาอ่านบทสัมภาษณ์เจาะลึกอัลบั้ม Ui ที่เป็นเหมือน ‘วัยผู้ใหญ่’ ของวงดนตรีวงนี้ ที่หากเราติดตามพวกเขามาโดยตลอด ก็จะพบว่าเพลงชุดนี้ของ Summer Dress เติบโตขึ้นมากทีเดียว
เต๊นท์—ศิวนัส บุญศรีพรชัย (ร้องนำ, กีตาร์)
แนท—สรรพวิท สร้อยคำ (กีตาร์)
โป้—ภิญโญ ใหม่ละเอียด (เบส)
แปม—ธีรวุฒิ อิทธิวุฒิ (กลอง)
ลำบากไหมในการหาแนวทางดนตรีใหม่ให้ชุดนี้
เต๊นท์: ออกแนวหาไอเดียง่ายกว่าชุดสองอีก ประมาณว่าคิดน้อยลง เหมือนพอ overthinking กับงาน มันก็ออกมาเยอะไป แน่นไป เกิดความรู้สึกบั่นทอนตัวเอง เราเลยพยายามลดความรู้สึกตรงนั้นออกไป แล้วพยายามทำให้มันรวดเร็วที่สุด ได้ก็คือได้ ไม่ต้องเค้นว่า ‘มันจะได้หรือยังว้า’ ก็ค่อนข้างง่าย เนื้อเพลงเป็นภาษาไทยด้วย ก็เลยสบาย
แนท: ดนตรีเริ่มมาจากตอนที่เรากลับไปฟังเดโม่ตอนทำอัลบั้ม 2 มีที่อัดเก็บไว้ในเทป พอมาฟังก็รู้สึกว่า ‘เฮ้ย ทำไมมันเจ๋งจังวะ’ ก็เลยทำให้คิดว่าเราต้องเลิกคิดมาก เพราะตอนอัลบั้ม 2 เราแก้บ่อยมาก แต่ละเพลงมีการแก้จากเดโม่ประมาณ 3-4 รอบ re-arrange ใหม่ สร้างท่อนนู้นท่อนนี้ แล้วก็เกิดปัญหาในการเล่นสดหลายครั้ง เล่นแล้วไม่สนุก เล่นแล้วไม่ต่อเนื่อง ต้องมานั่งคิดโชว์ใหม่ พอมาทำอัลบั้ม 3 ก็คิดได้ แต่ละคนจะไม่ค่อยแย้งว่า ‘เฮ้ย เปลี่ยนท่อนนี้มั้ย’ ก็จะเป็นแบบสด ๆ ที่คิดไว้แต่แรกซะส่วนใหญ่
เต๊นท์: พวกเดโม่ที่เราแก้ ๆ ในอัลบั้ม 2 เนี่ย จริง ๆ อันแรกมันก็ได้แล้วนะ (หัวเราะ) พอเรากลับไปฟังเนี่ย
แนท: อัลบั้ม 1 เราคิดเร็วเหมือนกัน แต่อาศัยซ้อมเยอะ ได้เจอกันเยอะ มาอัลบั้ม 2 การเจอกันในห้องซ้อมมันน้อยกว่า เลยมีเวลากลับไปคิดเยอะ เลยฟุ้ง
โป้: อัลบั้ม 3 ติด covid-19 เลยได้เจอกันบ่อย (หัวเราะ)
เต๊นท์: ความที่ชุด 2 เราคิดเยอะ เพราะว่าตอนนั้นเราเรียน ป.โท มีความเห่อความรู้อะ เราเรียน compose เพลง ก็จะเรียนดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย เรียนเรื่อง sound art อยากจะเอาไอเดียตรงนั้นมายัดไว้เยอะ ๆ บวกกับเรามีส่วนในการทำ post production เองค่อนข้างเยอะ พอไปอัดมา มานั่งฟัง เกิดอาการอยากใช้คอม edit ก็เลยคิดว่าได้หรือยัง ตัดตรงนี้นิดนึงดีกว่า เพลงมันเลยมีหลายท่อน มีความฉับพลันมาก ๆ ที่การเล่นจริง ๆ จะเล่นไม่ได้เพราะมันใช้เอฟเฟกต์
แปม: เหมือนทำเดโม่ในห้องซ้อมเป็นแบบนึง แต่พออัด มิกซ์ อีดิต มันก็ซ้อนเข้าไปอีก เราชอบคิดว่าจะทำอะไรกับมันได้อีก มันค่อนข้างที่จะทดลองมาก ๆ ในอัลบั้ม 2 เราสนุกกับการลองนั่นลองนี่ไปเรื่อย ๆ
แนท: แต่ไม่แน่ ถ้าอัลบั้ม 3 ไม่มีเวลาจำกัดว่าต้องเสร็จตอนนี้ ๆ อาจจะกลายเป็นแบบอัลบั้ม 2 ก็ได้ เหมือนถ้าพวกเราฟังเพลงนึงไปนาน ๆ จะเบื่อ พอเบื่อเราก็จะพยายามเข้าไปแก้ไขมัน เพื่อให้เรากลับมาสนุกกับเพลงเดิมอีกครั้ง
เต๊นท์: เขาบอกว่าพอมีคอมพิวเตอร์ทำเพลงได้ อัดแบบดิจิทัลได้ มันง่ายมากนะ เราสามารถทำอะไรเมื่อไหร่ก็ได้เลยในขณะนั้น ถ้ามีเวลามากหน่อยก็เริ่มได้ลองเยอะ หรือไปจนถึงอัดใหม่ ถ้าเป็นสมัยอัดเข้าเทป อัดรวมกัน คงไม่มีเวลาได้ทำขนาดนี้ คงจะแค่ไหนแค่นั้นเลย เทคโนโลยีก็มีส่วนทำให้วิธีการทำเพลงดีขึ้น แต่กลับกันถ้ามากไปก็มีโทษมันจะไปสร้างฟอร์มเพลงแบบอภิมหาซับซ้อนขึ้นมา มันข้ามเลยขีดจำกัดของการเล่นสดของตัวเองไป
งานชุด 3 จะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
แนท: เราลดบทบาทของซินธิไซเซอร์ให้น้อยลง เพราะเต๊นท์เล่นกีตาร์แล้วก็ต้องเล่นซินธ์ไปด้วย จะทำยังไงให้เล่นได้ทั้งสองอย่าง
เต๊นท์: เพราะสมาชิกเราออกด้วยคนนึง คือเราไปฟังอัลบั้มของ Brian Eno – Another Green World เขาจะใช้กีตาร์เสียงประหลาด ๆ เยอะ เอามาทำเป็นโดรน ทำเป็นไวโอลิน ก็ทึ่งเขาที่ทำโปรเจกต์หลาย ๆ อย่าง หรือโปรดิวซ์เนี่ย เขาเอาไอเดียมาจากไหน เพลงก็แปลกดีในแบบที่ถูกจริตเรา เป็นปรมาจารย์ เราก็พยายามแกะวิธีคิดเขา เลยได้ไอเดียว่าต้องใช้ ebow มาเล่นด้วยไหม
แนท: จริง ๆ เครื่อง ebow นี้ใช้มาตั้งแต่อัลบั้มหนึ่งแล้ว แต่หาย แล้วซื้อใหม่ หาย ซื้อใหม่ มันเป็นเครื่องที่ค่อนข้างราคาแพง (แปม: ลองดู mv เล่นของสูง ที่พี่อ๊อฟ Big Ass เขาเล่นตอนโซโล่ มันจะดูดตรง pick up) หรืออย่างที่ Yo La Tengo ใช้
แปม: ก็ต้องปรับรูปแบบการเล่น ปรับรูปแบบการทำงาน ช่วงแรก ๆ ก็จะงง ๆ นิดนึง พอเหมือนจูนติดแล้ว มันก็ลงล็อกกับ 4 คนนี้ ก็คงจะประมาณนี้แหละที่เหมาะกับพวกเรา 4 คนที่สุดแล้ว
เต๊นท์: ซาวด์จะร็อก เป็น guitar band มากขึ้น คือวงเรามีความคิดสวนทางกับคนอื่นนิดนึง พอเราเจอเสียงอิเล็กทรอนิก เสียงสังเคราะห์เยอะ ๆ เราจะเบื่อ กลับมาทำ guitar band ดีกว่า
แนท: พาร์ตกีตาร์ ส่วนตัวเราเจอแต่เสียงคลีน ผสมคอรัส เจอมาจนแบบ ไม่ไหวละ ไม่ได้ว่าใครนะ แต่เวลานี้ต้องร็อกเนี่ยแหละ ง่ายสุดสำหรับเรา ช่วงหลัง ๆ เราก็ไม่ค่อยใช้รีเวิร์บ ดีเลย์แล้ว ตั้งแต่ปลาย ๆ ปี (เต๊นท์: ขายแดก) ก็เป็นแนวทางให้อัลบั้มนี้มันแห้ง ๆ ดิบ ๆ
เต๊นท์: ก็บอกแนทว่า ลองมาโฟกัสที่แค่ Phaser ไหม ดีเลย์เนี่ยตัดออกไปเลย รีเวิร์บที่มันชุ่ม ๆ ก็ลองให้มันแห้ง ๆ เอฟเฟกต์น้อย ๆ ลองกลับมาใช้เสียงแตกดู เพราะจริตเราก็ base on ดนตรีร็อก กีตาร์ก็เล่นร็อกไปเลย มีเสียงแตก ทำให้มันมีบทบาทมากขึ้น อย่างเบสกับกลอง ก็ให้แปมกับโป้คิดแพตเทิร์นน้อย ๆ ให้มันเล่นแล้วสนุก ให้เข้ากับบีตของมันมากที่สุด จะไปเน้นอะไรที่เด้ง ๆ ไม่ต้องมีท่อนเอ้อระเหยอะไรมาก
ได้อิทธิพลจากเพลงร็อก ไซเคเดลิก 70s มาด้วยหรือเปล่า
แปม: มีนะ อย่างเราก่อนจะไปซ้อมก็จะหาเพลงยุคนี้ พวกไซคีร็อก มาฟัง ให้หลอนประสาทตัวเองไปก่อนว่าจะทำออกมาทรงนี้ พอไปถึงห้องซ้อมมันจะได้เล่นอะไรที่มีความเป็นแบบนี้ออกมา
เต๊นท์: จริง ๆ เราก็ไม่ได้จะตั้งใจจะทำสายนี้ เพราะเราไม่ใช่คนสายหลอนอะไร แต่พอให้หลาย ๆ คนฟังเพลงแรก หลายคนจะบอกว่า ‘เฮ้ย แม่งหลอนว่ะ ลอย มึนว่ะ เสพยาได้เลยนะ’ แต่เราก็แบบ ‘เฮ้ย ขนาดนั้นเลยหรอวะ’ บางทีเราทำอะไรออกไปแล้วเราไม่รู้ตัวว่า มันทำนองนั้นหรอกหรอวะ (แปม: จริง ๆ เราเป็นเนิร์ดอะ) เออ ส่วนตัวเราชอบดนตรียุคเก่า ๆ ด้วยแหละ 60s 70s ก็มีความเป็นซาวด์เอฟเฟกต์แบบ horror film สมัยก่อนที่มันยังไม่ได้ sound design จ๋าแบบทุกวันนี้ เขาจะใช้ element ที่มีอยู่มากกว่า
แปม: ของเราน้อยด้วยแหละ (หัวเราะ) จริง ๆ สตูก็ที่บ้านแนท ของก็ใช้เท่าที่เรามี มีเท่านี้ก็จะทำเท่านี้ ไม่ฝืน
ระหว่างทางต่างคนต่างก็ไปทำงาน อย่างเต๊นท์ทำ Game of Sounds, Plot ทำ Tomato Love Records แปมไปทำ temp. แนททำ Flower Dog ได้เอาอะไรจากตรงนั้นมาใช้ในอัลบั้มใหม่บ้างไหม
แปม: มันก็ได้มุมมองที่เราไปทำงานกับที่อื่นมาแล้วเอามาใช้กับวง มันมีหลายอย่าง พวกความคิด การอะเรนจ์ วิธีที่จะทำให้เกิดงานออกมา ก็ค่อนข้างที่จะช่วย
เต๊นท์: เหมือนพอเขาทำ temp. ฝั่งพี่นอต หรือนิค เขาจะมีความเนี้ยบในการทำงาน strict มาก โปรดักชันเขาจะคลีน ๆ เนี้ยบ ๆ แปมก็จะมีวิธีคิดแบบนั้นมา รายละเอียดเรื่องซาวด์ก็จะเนี้ยบขึ้น
แนท: ของเราถ้าคิดเพลงอันไหนถ้าเพลงไม่เหมาะกับ Flower Dog ก็จะโอนมาเป็น Summer Dress (หัวเราะ) พวกอุปกรณ์ที่จะซื้อมาใช้กับ Flower Dog แต่ก็ไม่ได้ใช้เลยสักอย่าง เลยมาอยู่กับ Summer Dress หมดเลย แต่รูปแบบทางดนตรีไม่เหมือนกัน
เต๊นท์: อย่างเรากับแนท ถึงจะมีโปรเจกต์ส่วนตัว แต่มันใช้การประยุกต์คนละแบบเลย ของเราเป็นอิเล็กทรอนิกแทบจะ 100% ทำอยู่ที่บ้าน มันก็แยกจากกันเลย Summer Dress มันเป็นวงต้องออกจากบ้านไปห้องซ้อมเราเลยไม่ได้เอางานเดี่ยวมาใช้เลย ของแนทก็เหมือนกัน เป็น bedroom production ที่แต่งเป็นเพลงบรรเลง เน้นซาวด์อะคูสติก แต่เวลาแนททำงานอะคูสติก จะไปเจอวิธีวางไมค์ ก็จะได้เอาตรงนั้นมาใช้กับวง การจัดการกับกีตาร์โปร่ง หรือการอัดรวม จะรู้ว่าถ้ากั้นตรงนี้จะรั่วน้อย เป็นเรื่อง recording knowledge มากกว่า
ทำไมต้อง Ui
เต๊นท์: ตอนประชุมคิดชื่ออัลบั้ม คิดไม่ออกว่าจะชื่ออะไรดี ก็มีอยู่หลายชื่อ
แปม: นึกอะไรไม่ออกเลยมาดูชื่อเพลงในอัลบั้ม
แนท: ชอบฟอนต์ตัว U กับ i เล็ก มันอารมณ์พวกโรมัน ๆ แล้วน้องแบงค์ ออกแบบรูปมาก่อนแล้ว มันมีวงกลม ๆ คิดว่าถ้าเป็น Ui ไปอยู่ในรูปก็คงจะสวยดี
เต๊นท์: ต้องบอกตามตรงว่าเราเป็นคนไม่ได้คิดอะไรเยอะในการเลือก แต่คุยกับโป้กับแนทว่าไหน ๆ เราก็มีโปรดักต์มาแล้ว ลองทุ่มเรื่อง marketing, pr ให้มันได้อย่างที่ควรจะเป็นเลยดีไหม เพราะวงอย่างเรา ๆ บางทีเมื่อก่อนจะมีความคิดว่า marketing เป็นเรื่องที่แย่ แต่เอาจริงมันเป็นเรื่องมนุษย์มากเลยนะ เป็นพฤติกรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เลย ว่าจะทำยังไงให้เขารับเมสเสจจากเราได้รู้เรื่อง ก็พยายามเวิร์กกับมันมากขึ้น พอคิดเรื่อง marketing, pr ก็ต้องใช้ทฤษฎีจับยัด (หัวเราะ)
ชื่อ Ui มันก็ดีในตัวของมัน กราฟิกสวย Ui แล้วยังแปลได้ว่า ‘user interface’ การออกแบบหน้าตาให้เหมาะกับผู้ใช้ พวกมือถือจะเอาปุ่มไว้ตรงไหนของหน้าจอ แล้วอัลบั้มนี้ ทั้ง arranging ทั้งเนื้อเพลงมันก็เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น อาจจะแค่จังหวะสนุก ๆ แบบของเรา หรือเนื้อเพลงภาษาไทย ก็อยากให้คนบ้านเราเข้าใจว่าเราจะสื่อสารเรื่องอะไร
ตัวเราเองก็เวิร์กกับเนื้อเพลงเยอะขึ้น อัลบั้มสองนี่ไม่เอาเลย พอแต่ง อะเรนจ์ในห้องซ้อม อัดปุ๊บ คิดเนื้อไทยไม่ออก เราพยายามหนีเมโลดี้แบบไทย ไม่อยากใช้คำไทย เพราะว่าบั้มสองกูอยากอินเตอร์อะ แล้วเวลาเราร้องเราก็ร้องได้ไม่ดี ไม่อินความหมายในตัวภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง ไม่ได้รู้ซึ้งคำศัพท์เท่าภาษาไทย ภาษาไทยดีกว่า
ได้อิทธิพลการเขียนเนื้อไทยแบบนี้มาจากไหน มีความเฉพาะตัวมาก
เต๊นท์: ยอมรับเลยว่าได้มาจากพี่ไผ่ Plot พี่ไผ่เขามีความเขียนเนื้อไทยแบบไทยจริง ๆ มันมีอัตลักษณ์ไทยแบบย้อนยุค ที่เรายังพูดคำว่า ‘กระผม’ ‘คุณ’ ‘เธอ’ ‘ข้าพเจ้า’ กับ ‘นาย’ อยู่ ในยุคนั้น ทีนี้ตัวเราเองก็ไปย้อนฟังเพลงลูกทุ่ง รู้สึกสนใจ ก็ไปถามอาจารย์ที่คณะว่าถ้าเราจะเวิร์กกับเพลงลูกทุ่ง ต้องเริ่มที่ใคร เขาก็แนะนำ อาจารย์ไพบูลย์ บุตรขัน ก็มีศิลปินที่เขาเขียนเพลงให้ มีระพิน ภูไท, ศรคีรี ศรีประจวบ รู้สึกว่าเพลงลูกทุ่งในยุคนั้นเขามีภาษาที่จริงใจ แล้วเล่าเรื่องที่บอกวิถีชีวิตของเขา แล้วเรารู้สึกอิน มีอัตลักษณ์ไทยตลก ๆ เราก็พยายามเขียนแบบนั้น
Track by track
Over Willing
แนท: เพลงนี้มาตั้งแต่ตอนปอนด์ยังอยู่ เคยเอาไปเล่นสดด้วย ก็ตอนนั้นนั่งกดเปียโน แล้วก็ได้เอาเครื่องที่จะใช้กับ Flower Dog เป็น sequencer มาลอง sequence อันไหนได้ก็เก็บไว้ แต่พอใช้แล้วไม่เวิร์ก เลยไปคิดถึงพาร์ตดนตรี เหมือนมันมีอะไรสักอย่างที่เป็นลูป พวกกลอง 5/4 6/4 (เต๊นท์: จังหวะที่แนทเริ่มมันจะประหลาด ๆ) แต่รู้ว่าแปมต้องไปแปลงมาแล้วตีได้ลงของมัน จะเป็นลูปที่ดี (เต๊นท์: มันจะเป็น sequence ติ๊ด ติ๊ดตุด ตุดติ๊ดตุดติ๊ด ติ๊ดตุด ติ๊ด ติ๊ดตุด แค่นั้นเลย) เครื่องมันขึ้น sq 1 อยู่ใน 4/4 ได้แล้ว แต่จะทำยังไงให้มันไปอยู่ใน 6/4 ได้วะความเห่ออุปกรณ์เลยไม่เน้นที่โน้ตไปเน้นจังหวะแทน
เต๊นท์: เพลงมันดูเหมือนเล่นง่ายนะ แต่จังหวะเนี่ย อย่างโป้อะ จะมาเน้นเบสตรงไหนในบาร์ให้มันรู้สึกว่าโน้ตสไลด์เดียวแล้วเปลี่ยนบาร์ มันยาก แปมก็คิดบีตกลองอยู่สักพัก จะลูกส่งตรงไหน กระเดื่องจะไปเข้ากับ sequence pattern ตรงนี้ยังไง ก็คิดยากอยู่เหมือนกัน
อัลบั้มนี้เราจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเองเยอะ อารมณ์ ความรู้สึกของเราเป็นยังไง เข้าสู่วัยผู้ใหญ่มันเกิดความเครียด บางทีเราคิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว อยากประสบความสำเร็จ อยากปัง แต่สุดท้ายมันไม่ได้ เราก็จะรู้สึกแย่มาก ๆ
เพลงนี้ก็เหมือนพูดว่าจะทำอะไรก็คาดหวังได้ แต่อย่าหวังเยอะ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เราว่าบางทีความเป็นอยู่ในยุคนี้ มีสมาร์ทโฟน ทุกอย่างมันเร็ว เรารับสารตลอดเวลา เห็นคนนั้นมีงานเล่น คนนี้ประสบความสำเร็จ ออกมาซิงเกิ้ลเดียวแล้วเจ๋งเลย เราก็เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว
จริง ๆ เราว่าชีวิตคนมันมีจังหวะของมัน ถ้าทำอย่างดีที่สุดแล้วก็ให้มันทำงานของมันเองโดยธรรมชาติ อาจจะใช้เวลานานหน่อย 2-3 ปีก็ไม่เป็นไร ระหว่างทางนั้นก็หาอะไรทำไปก่อนแล้วกัน เลยกลายเป็นเพลงนี้ขึ้นมา
Marie Kondo
เต๊นท์: เราดูรายการ ‘Marie Kondo’ แล้วก็ชอบ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเก็บบ้าน ทิ้งของที่ไม่ได้ใช้ แล้วส่วนตัวเราก็ชอบเก็บบ้านอยู่แล้ว เลยมีความรู้สึกว่าการจะเลือกสิ่งของบางอย่างทิ้งไปมันก็ยากจริง ๆ ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ เขียนเพลงนี้ขึ้นมาว่า ยุคนึงเราเคยมีรายการชื่อนี้นะ เป็นรายการที่อยู่ดี ๆ ผู้หญิงคนนี้เขาก็เข้าไปในบ้าน แล้วบอกให้มีความสุขกับของที่มึงเคยมี แล้วก็ทิ้งถังขยะ (หัวเราะ) เราว่ามันเป็นรายการที่ประหลาดดี
แปม: ความแจ๊สมันก็จับพลัดจับผลูนะ ตอนเริ่มเราแค่อยากให้มีกลิ่น swing jazz มันก็อะเรนจ์ไป ๆ มา ๆ เลยออกมาแบบนี้ (แนท: เป็นเพลงที่มีฟีลอะเรนจ์แบบอัลบั้ม 2 ที่สุด ถึงได้บอกว่าพอมีเวลา เราเลยฟุ้งกันแบบนี้)
เต๊นท์: ตอนแรกสุดจะทำเป็นเพลงเมทัล แต่หนักไปเลยไปลองรื้อ ๆ ฟัง จริง ๆ เพลงนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากวง Broadcast เขาทำเพลงประกอบให้หนังเรื่อง ‘Berberian Sound Studio’ เราฟังก็รู้สึกว่าเวิร์ก มันซิงก์กับไลน์เบสที่คิดมาพอดี ก็ลองเล่นดูเลยลงล็อกกันพอดี แต่ arrangement อันนี้ไม่ค่อยซัพพอร์ตกับตัวเนื้อเพลง มันมีความขัดแย้งกันอยู่
ส่วนแซ็กโซโฟนก็แวะมาอัดที่บ้านพอดี เพื่อนสมัยมัธยม ชื่อดอน เราอยากทำงานกับเขามานานแล้ว เลย ‘อะ มึงช่วยกูอัดหน่อย’ เป็นมือแซ็กแจ๊ส เก่งมาก เลยล่อเยอะเลย เขาถามว่า ‘เฮ้ย มึงมีอะไรให้กูอัดอีกป่าววะ’
แนท: จริง ๆ เขาไม่ได้จะมาอัดอันนี้นะ เคยคุยกันตั้งแต่เพลงนี้เสร็จแล้วว่าอยากได้ทรัมเป็ต หรือแซ็ก จนลืมความคิดนั้นไปแล้ว แล้วพอพี่ดอนมา ก็ถามว่า ‘พี่ครับ พอมีเวลาว่างไหมครับ ผมของลองเพลงนึง’ แล้วก็ยาวเลย (หัวเราะ)
Ui
เต๊นท์: Ui เราแปลงเรื่องราวจากเพลงของ ระพิน ภูไท ชื่อ คุณนาย ป.4 เรียนจบ ป.4 แต่ไปอยู่เมืองนอก แล้วกลับมาพูดไทยคำอังกฤษคำที่บ้านนอก คนเขาก็ฟังไม่รู้เรื่อง คนก็ด่าว่า ‘จบแค่ ป.4 ไปอยู่เมืองนอกแล้วมาทำอวดเก่ง’ เราก็คิดว่าในชีวิตจริงเราก็เจออะไรแบบนี้ อย่างท่อนเวิร์สก็เอาบางประโยคของเขามาใช้ ‘เคยฟังระพิน ภูไท ยู ๆ ไอ ๆ อ้าย ๆ ยู ๆ’ ‘เขาบอกให้เธอไปใช้ ให้เธอไปพูดที่อู่ตะเภา’ คือมันเห็นภาพเลยว่าสนามบินสมัยก่อน พวก G.I. มากันเขาก็แต่งถึงคนที่ชอบอวดตัว หัวฝรั่ง พูดจากับคนท้องถิ่นอีกแบบ
ส่วนเสียงจี่ เสียงนอยซ์ ตอนพูดต้นเพลง มันเป็นภาพรวมของสุนทรียศาสตร์ของโปรดักชันของเรา ถ้ามันไม่แย่เกินไปเราจะเก็บพวกจี่ พวกนอยซ์อยู่แล้ว อย่างอัลบั้มนี้ guitar band แนทจะทำเสียงกีตาร์หอนเยอะ เราก็เก็บไว้ คือบางทีนอยซ์ของกีตาร์ feedback texture มันหนามาก แค่ได้ยินเสียงแอ๊ดดดด เราก็รู้สึก lift ขึ้นไปแล้ว แค่หอนเสียงเดียวก็เติมเต็มเพลงแล้ว
My Sin
แปม: เพลงนี้เราเจอแรงบันดาลใจบังเอิญมาก ตอนนั้นเราไปซ้อมกันที่บ้านแนทเป็นปกติ แล้วก็จะมาพักกินข้าว กินส้มตำกัน ตอนนั่งอยู่ก็มีคนสติไม่ดี homeless อะไรประมาณนั้น อยู่ดี ๆ ก็ตะโกนขึ้นมาว่า ‘ถ้ากูเหี้ย กูเหี้ยเอง ไม่โทษเทวดา’ แล้วตะโกนลูปแบบนี้ 2-3 รอบเรากินส้มตำอยู่ก็สะกิดบอกเต๊นท์ ‘เชี่ย คำนี้มึงเอาไปแต่งเพลง’
เต๊นท์: เลยเอาไปผูกเป็นเรื่องคู่รักว่า เฮ้ยเราไม่ได้เป็นคนดีหรอก อย่าไปโทษฟ้าดินเลย กูเนี่ยเหี้ยเอง อย่าไปโทษเขา เพลงตัดพ้ออะ ส่วนดนตรีเราพยายามไม่สร้างให้เถื่อน เพราะเรื่องมันเถื่อนนะ อยู่ดี ๆ มีคนเดินตะโกนว้ากขึ้นมา ถ้าเป็นเรื่องรักมันก็จะซอฟต์หน่อย ๆ ให้อะเรนจ์เดินไปข้างหน้าตลอด มันจะวนน้อยมาก จนจบเพลง
แนท: ก็ตั้งใจกวนด้วยแหละให้เนื้อหาเป็นแบบนั้น แล้วดนตรีเป็นอีกแบบ คือตอนแรกเราก็คุยกันว่าเพลงจะให้นุ่ม ๆ เอาให้เพราะไปเลย (หัวเราะ)
เต๊นท์: แอบคิดตอนขับรถมาว่า อัลบั้มนี้อาจจะเป็น song of ชานเมือง เนื้อเพลงอัลบั้มนี้หลาย ๆ เพลงมันเป็นเรื่องบนท้องถนนนะ แล้วมันจะเกิดขึ้นตามชานเมือง อย่างแนทบ้านอยู่สะพานใหม่ อย่างเราอยู่ตลิ่งชัน ก็ชานเมืองเหมือนกัน มันแอบมีบุคลิกของมันอยู่ อยู่ดี ๆ มอเตอร์ไซค์แว้นมา เจอคนอยู่ดี ๆ ตะโกน เราว่าในเมืองมันไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ ชานเมืองจะมีอีเวนต์เล็ก ๆ แปลก ๆ วันก่อนไปเที่ยวเนี่ย เจอเขาตะโกน ‘ห้าพันจะไปพอยัด…หมาอะไรวะ’ ตะโกนทะเลาะกัน พูดใต้ด้วยอะ เป็น material ที่ดีมาก
แปม: เสียดายว่าทำเพลงเสร็จหมดแล้ว ไม่งั้นอาจจะเอา ‘ห้าพันจะไปพอยัด…หมาอะไรวะ’ มาอยู่ในเพลง
Fun D
เต๊นท์: มันแค่เป็นประโยคคล้องจองกัน มันไม่ได้เป็นเรื่องราวอะไรจริงจัง ไม่ได้เอามาจากอะไร แค่รู้สึกว่าคำว่า ‘ฝันดีฝันเด่น’ มันเจ๋ง คล้องจองกัน เลยเอามาผูกเป็นเรื่องของเราเอง แล้วทำให้มันเหมือนเสียงควบม้า ไม่ได้มีอะไรเลย ส่วนเสียงพูดคือพี่ธรรมรงค์ เขาทำ avant garde hiphop มีช่วงนึงทำงานกับเขา ทำบีต โปรดิวซ์ ก็เขียนคำพูด dialogue ให้หน่อยมันมีท่อนว่าง ๆ ตรงนี้เขาก็เขียน พูด แล้วอัดเสียงให้เรา ก็เหมาะดี เสียงเขาฟังดูเป็นคนตัดพ้ออยู่แล้ว นุ่ม ๆ มันก็เลยเหมาะกับเพลงที่พูดถึงความสัมพันธ์แบบนี้ ความเป็นไปไม่ได้ เป็นแค่ฝัน
Joviality of Shadow
แนท: ช่วงนึงทำงานกับวง Yaan เยอะ จะสนิทกับพี่โจ้ พี่ย้ง กินเหล้าอะไรด้วยกันบ่อย แล้วเราก็ได้อิทธิพลการฟังเพลงจากพวกเขาเยอะ จะฟังร็อกเก่า ๆ ส่วนกีตาร์โปร่งก็ซื้อที่จะเล่นกับ Flower Dog แต่มันไม่ได้ใช้ประโยชน์สักที (หัวเราะ) เคยคิดว่าอยากให้มีกีตาร์โปร่งเล่นในอัลบั้ม Summer Dress ก็พยายามจะยัดใส่ แต่ไม่เคยได้สักที พอมาถึงชุดนี้ ได้ใส่ลงไปในเพลงนี้ ลองเล่นดูเป็นริฟฟ์นึงเป็นอินโทรขึ้นมา มันก็เวิร์ก เนื้อร้องก็แทบจะร้องให้เป็นโน้ตเดียวเลยมั้ง แต่ใช้ประสานเพื่อเพิ่มเลเยอร์ให้กับเนื้อร้อง เพลงนี้จะเน้นอะไรที่เป็นโน้ตเดียวยาว ๆ
เนื้อเพลงก็เป็นอะไรที่เราเป็นภาวะแบบนี้บ่อยมาก การที่ตื่นมาแล้วจะแฮงก์ ร่างกายขาดน้ำ คิดอะไรแย่ ๆ กดดันตัวเอง มันจะเป็นความรู้สึกแรกที่ตื่นมาตลอด ก็พูดถึงเรื่องเงากับคนเมา แบบคนเมาก็ยืนหัวเราะกับเงาตัวเอง ยืนร้องไห้กับเงาตัวเอง เป็นเงาของตัวเองที่สะท้อนมา แต่เราเป็นคนเขียนภาษาไทยไม่ได้อยู่แล้ว แล้วจะเขียนภาษาอังกฤษก็ไปเสิร์ชดูว่าคำนี้มันแปลว่าอะไรวะ แต่สุดท้ายไม่อยากได้เมโลดี้ เลยให้มันเป็นโน้ตเดียวยาว ๆ อย่างที่บอก
เต๊นท์: มันเป็นเรื่องความรู้สึกตัวเองเยอะ ความรู้สึกของการผลัดรุ่นมันมีอยู่จริง ๆ ใครจะไปคิดว่าไปเที่ยวทะเล ต้องมาเลี้ยงหลาน เล่นกับหลาน บทสนทนามันเปลี่ยนไปหมด (แปม: ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็เมาหัวทิ่ม) เดี๋ยวนี้ก็กินน้อยมาก
เพลงนี้จริง ๆ ก็มีความทดลองนะ ฟอร์มมันไม่ได้ตายตัว ในห้องอัดก็อัดเทคเดียวจบเลย อัดรวมหน้างาน ก็ไม่ได้มีการซ้อมมาก่อน แต่มีการนัดแนะว่าเดี๋ยวกูเล่นอันนี้มาก่อนซักกี่วิ แล้วเดี๋ยวยักษ์โป้เล่นเท่านี้ต่อ แล้วเดี๋ยวเป็นริฟฟ์กีตาร์แนท แล้วกลองแจมแบนด์ ตัดจบเลย ก็ค่อนข้างหยาบมาก อยากให้มันสดมาก ๆ
แนท: เราจำเพลงของ Dan Deacon – The Crystal Cat ได้ ในหนังเรื่อง ‘Song One’ มันมีฉากนึงที่พระเอกนางเอกอยู่ในคลับ แล้ว Dan Deacon ก็เล่นเสียงหลอน ๆ ดัง ๆ ซาวด์ industrial หนัก ๆ เราอยากเล่นอะไรแบบบ้า ๆ โกรธ ๆ เดินเข้าไปแล้วตะโกน ให้มันหลุดออกมา มันก็สอดคล้องกัน เพลงนี้มันเครียด ๆ มาทั้งเพลง มันจะมีเบสยักษ์โป้ดีดแค่โน้ตเดียว กำลังจะปลดปล่อยละ แล้วก็ระเบิดออกมาตอนช่วงหลัง
Suddenly
เต๊นท์: เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยนนี่แหละ เหมือนกับพูดว่า เฮ้ย ทำไมอยู่ดี ๆ คนที่เราคุ้นเคยเขาหายไปจากเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เพลงนี้เราก็แต่งให้ปอนด์ เราออกกันด้วยดีนะ แต่คือเขาก็มีเหตุผลของเขา เรื่องความเครียด เรื่องสุขภาพ นู่นนี่นั่น โดยที่เราไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย มันแค่กระพริบตาเดียวที่เราไม่เคยสนใจ ไม่เคยถามไถ่มัน แล้วเพิ่งมารู้ตัวตอนที่มันออกจากวงแล้ว แล้วเราค่อยจะมา keep มัน มาดูแลมัน ซึ่งมันไม่ทันแล้วไง
แล้วเราก็เอามาผูกกับเรื่องต้นไม้ในห้องเรา มันมีท่อนนึง ‘ดังต้นไม้ที่ห้องของเราเอง’ มันเป็นต้นไม้ที่เราเอามาจากแฟน แล้วเรากลับบ้านต่างจังหวัด ไม่ได้รดน้ำมัน มันก็เฉาตายไปเลย แบบ เชี่ยอะไรวะ ก่อนหน้านี้มันก็ยังเขียว ๆ ดี ๆ อยู่ แล้วพอจะมาดูแลมันตอนนั้นมันก็ตายไปแล้ว มันคือความพริบตาเดียวจริง ๆ แบบ เมื่อก่อนกูไม่ได้แคร์มึงเลย มันคือความไม่ทันคิดว่ามันจะเกิดขึ้น แบบที่คนสมัยก่อนเขาชอบพูดว่า ‘พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับพวกเรานาน’ เราก็เริ่มคิดแล้วว่าวันนี้พ่อแม่เราจะสุขภาพดีอยู่ไหม วันใดวันนึงเกิดเหตุการณ์อะไรแบบนี้ก็คงช็อกขึ้นมาเหมือนกัน
แนท: โปรดักชันเราก็เริ่มริฟฟ์ขึ้นมาก่อน แล้วก็มีเมโลดี้ที่เป็นคอร์ดมา ตอนแรกกะทำให้เป็นเพราะ ๆ สวย ๆ เลย แต่พอตีกลองแบบนี้มา เข้า เลยจัดเป็นแบบนั้น ส่วนพวกซาวด์ก็อยากให้ตอนอัดกัน อยากได้ความแตกของกลอง แล้วจังหวะมันย้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ เราใช้อัดเข้าไป reel to reel อัดกีตาร์เข้าไปแล้วให้มันแตกที่สุด แล้วก็ผสม plug in ของในคอม (เต๊นท์: ให้มันพุ่ง ๆ) ให้มันพังก์อะ (หัวเราะ)
3 Mins
เต๊นท์: เริ่มมาจากเมโลดี้ก่อนเลย ตื๊อตือตื่อ ตื่อตื๊อตือตื่อ โน้ตง่าย ๆ มาลงกับคำว่า ‘สามนาที’ ‘น้องใจเย็น’ แล้วเราก็พยายามสะสมคำศัพท์ที่มันเกิดจาก 3-4 โน้ตนี้มาประกอบกัน ก็เป็นเรื่องที่ติ๊ต่างขึ้นมา ก็เป็นเรื่องสนุก ๆ ว่าคนนึงกำลังรีบจะเข้าไปทำอะไรสักอย่าง อีกคนก็กำลังเล่นยาอยู่ ก็ขอเวลา 3 นาที เพลงในชุดนี้จะมีกิมมิกเยอะที่เอามาจากอะไรไทย ๆ อย่างเพลงนี้ก็เอามาจากเพลง โดเรมี ของคุณเบนซ์ พรชิตา ท่อนที่เขาร้องว่า ‘ขอเวลา สัก 3 นาที’ หรือคำว่า ‘ไอ้น้องใจเย็น’ ที่คนชอบพูด ก็เป็นเพลงสนุก ๆ ขึ้นมา
จริง ๆ ก็อะเรนจ์คล้าย ๆ Joviality of Shadow คือเราเขียนโน้ตไว้ว่าจะเล่นท่อนไหนบ้าง แล้วก็เอามาแจมเลยในห้อง คร่าว ๆ จะพูดแค่การวน แต่ฟอร์มไม่ได้ซับซ้อนมาก ให้แปมตีเป็นลูป motoric เลย จะมีความเด้ง ๆ โทนใส ๆ แบบอัลบั้มแรก
Trip
เต๊นท์: เพลงบรรเลงสำหรับเราเป็นการแก้ปัญหามากกว่า คือมันแต่งเนื้อไม่ได้ ภาพในหัวเราไม่เกิดเนื้อเพลงอะไรขึ้นมา งั้นมาทางนี้เลย เป็นเพลงบรรเลงดีกว่า (หัวเรา) ไอ้เพลง บรรเลง ในชุดแรกก็กะว่าจะมีเนื้อ มีอะไร ไปทำการบ้านมา แต่สุดท้ายก็ใส่ไม่ได้ว่ะ
แนท: แต่จริง ๆ เพลงนี้ก็ไม่อยากให้แต่งเนื้ออยู่แล้วนะ ลุ้นมากว่าจะแต่งมั้ยว้า เหมือนเราฟัง Is This Music? ของ Teenage Fanclub เราจะชอบมากอยากมีเมโลดี้กีตาร์เท่ๆเล่นโซโล่วนลูปอยู่นั่นแหละอยากทำตัวเป็นร็อกแต่โซโล่ไม่เก่งแต่เล่นแค่ริฟฟ์นี้ได้อะไรแบบนี้
เต๊นท์: เหมือนจังหวะเบส มันเป็นเมโลดี้ของมัน อาจจะเป็นดนตรีเพียว ๆ ไปเลยดีกว่า แล้วมันก็เป็นเพลงหลัง ๆ แล้ว ก็โอเค ให้เป็นเพลงบรรเลงไป
No Land
เต๊นท์: จริงๆ มันคือ part 1 part 2 คล้าย Fancy I, Fancy II นะ เพลง No Land กับ Trip อะ เราก็ได้ไอเดียจากที่มีเพลงนึงมาแล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อเพลง Trip ยังเป็นอะไรอยู่ก็ไม่รู้ แล้วเราอยากทำอีกเพลงนึงเป็นเพลงบรรเลงจริงจัง เอามาสวมต่อ ก็เลยเป็นสองเพลง พาร์ตต่อกัน
อย่าง Trip ก็ตามชื่อเพลงเลย เหมือนว่าโดนดูดไปสักที่นึง กำลังเริ่มต้นเหยียบคันเร่งกำลังจะไปที่นึง จนไปถึง No Land มันก็เป็นเพลงเชิงตัดพ้อนะ จริง ๆ วงเราเคยมานั่งคิดนะว่า เราอยู่ในพื้นที่ดนตรีแบบไหน หนึ่ง มันระบุแนวดนตรียาก วงร็อกก็ไม่ใช่ ฮิปฮอป r&b ก็ไม่ใช่ จะป๊อปเราก็ไม่เชิง เราไม่รู้ว่าเราไปอยู่ตรงไหนได้ ก็เลยเป็นเพลง No Land หรือว่าจริง ๆ เราไม่มีพื้นที่ของเราวะ เป็นความรู้สึกเล็ก ๆ ขึ้นมา เมโลดี้จะมีความโดด ๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่ แล้วก็อยากทำให้มันเป็น space กว้าง ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา มองแบบไม่เห็นอะไร เป็นคอนเซ็ปต์ของเพลงนี้ขึ้นมา แล้วก็ได้เพื่อนเราชื่อดอม มาเป่าแซ็กให้อีก
On Concrete
เต๊นท์: ได้น้องเบล Game of Sounds มาร้อง ก็เป็นเพลงท้าย ๆ อัลบั้ม เนื้อเพลงก็เกิดจากชีวิตประจำวันเราเนี่ยแหละ เราชอบไปวิ่ง ไปเดินตอนเย็น ๆ พื้นเป็นคอนกรีต แล้วตอนเดินตอนวิ่งมันมีความรู้สึกกับตัวเองเยอะ มันก็จะมีความคิดนู่นนี่นั่นมาว่า เราจะทำยังไงกับชีวิตดีวะ เดี๋ยวเราจะทำอะไรต่อดีกับอัลบั้มนี้ แล้วมันก็เกิดความเครียด ความรู้สึกแย่โดยไม่รู้ตัว เราจะทำยังไงกับมันได้ แค่มองฟ้า มองพื้น ความรู้สึกแย่ ๆ พวกนั้นก็หายไปแล้ว ไม่ต้องไปคิด ไปกังวลอะไรหรอก เป็นเพลงที่ capture moment นึงของเราโทนมันจะออกฟีลสนุกๆให้กำลังใจ
การอะเรนจ์มีความฟังก์ ๆ ฮิปฮอป มีความ krautrock ที่เขาเล่นฟังกี้ ดนตรีอเมริกันแบบยุโรป คือกูเล่นเป็นเท่าเนี้ย ไม่ได้เล่นเก่ง ก็ให้เบสเล่นโน้ตซ้ำ ๆ ฟังกี้เป็นลูปไปเลย อะเรนจ์ให้มันโทนใส ๆ สนุก ๆ ให้ขัดกับความรู้สึกแย่ในเนื้อเพลง เป็นเพลงท้ายอัลบั้มที่ทำให้ฉับพลัน ไม่ได้คิดอะไรมาก กีตาร์ท่อนกลางแนทก็ทำลายความฟังง่ายไปหมด
แนท: ไม่ได้ตั้งใจหรอก เต๊นท์มันอัดก่อน ตอนนั้นก็เชียร์โปรดิวซ์ให้มันอัดยาก ๆ พอถึงตอนเราอยู่คนเดียวก็นึกไม่ออก คิดให้ดีไม่ได้ก็เล่นเหี้ย ๆ ไปเลย เป็นอารมณ์ต่อต้านแบบนั้น
เต๊นท์: เออ เป็นวิธีที่ชอบทำกัน พอรู้สึกว่ามันเริ่มเพราะหน่อยนึงแล้วก็จะพลิกมันเป็นอีกแบบเลย โรคจิต (หัวเราะ)
Now
เต๊นท์: เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาคนเดียว ในช่วงที่ปอนด์ยังอยู่ ก็กะว่าจะให้ปอนด์ร้องเพลงนี้ แต่ปอนด์อยู่ไม่ทัน เราเลยรื้อเพลงนี้มาทำในคอมพิวเตอร์เอง เพลงนี้จบที่เราคนเดียว (แปม: ตอนแรกจะทำเป็นแบนด์แต่รู้สึกว่าไม่เข้ากัน) เพลงพูดถึงการหยุดความคิดอะไรที่มันยังไม่เกิดขึ้น อยู่กับปัจจุบันขณะ พูดเรื่องความคิด การหยุดคิด หรือว่าลองอยู่กับตัวเองดูก่อน เรื่องอื่นอย่าเพิ่งไปสนใจมัน
มีช่วงนึงที่เราสนใจการเจริญสติ ก็คุยกับ ณป่าน Hariguem Zaboy บ่อย มันมีช่วงที่ณป่านไปบวช แล้วกลับมาพอดี ก็ถามมันว่าเขาให้มึงทำอะไรบ้าง สอนกูบ้างดิ ก็ลองมาทำนะ จริง ๆ คีย์ของศาสนาพุทธเนี่ย แก่นมันเจ๋งนะ มันคือเรื่องปัจจุบันขณะจริง ๆ การฝึกลมหายใจ มันเจ๋งอะ มันไม่ใช่แค่การเกิดสมาธิ แต่มันขยายต่อไปหลาย ๆ เรื่องได้ เราเลยเอาโมเมนต์ตรงนี้มาเขียนเพลง
แล้วก็ช่วงนี้ฟัง Another Green World ของ Brian Eno เนี่ยแหละ มันก็จะเป็นซาวด์แบบแอมเบียนต์เยอะ ๆ เป็นซาวด์สังเคราะห์ 80s ปลอม ๆ เหมือนเวลาเราฟังพระเทศน์ใน YouTube มันจะชอบมีดนตรีแบบนี้ Green Music อะ เราพยายาม present ตรงนั้นเข้ามาในเพลงตรงนี้ที่มันจะมีความเข้ากันอยู่ เนื้อหาก็พูดเรื่องสภาวะในทางตะวันออก ก็อยากให้ซาวด์มันดูโดรน ๆ แอมเบียนต์ ๆ ปิดท้ายให้สวยงาม โดยเป็นเรื่องที่พูดเกี่ยวกับตัวเอง แล้วก็ให้แนทช่วยทำเสียงกีตาร์
แนท: มันเหมือนคนนั้นมาเขย่าประตูกึก ๆๆๆๆ เป็น plug in ในนั้นที่เราชอบใช้มาก อยากใช้ให้เพลงมันสกปรกขึ้น
จากที่ฟังมาทั้งหมด คิดว่าความกวนโอ๊ย เป็นจุดเด่นของ Summer Dress มาตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้ว
เต๊นท์: มันเป็นบุคลิกเราตั้งแต่แรกแล้ว คือ Summer Dress ถ้าให้อธิบายเป็นคน ๆ มันยากมากว่าคืออะไร ถ้าพูดเรื่องกิจกรรมที่เราทำ หรือวิธีพูดคุย อันนั้นอะมีความ Summer Dress เราโตมากับค่านิยม culture แบบนี้ การเล่นตลกกัน คุยเล่นกันแบบเปิดเผย มันจะมีตรงนี้ (แนท: พยายามจะเท่ก็เท่ไม่ออก) เออ จะเท่ก็ดูแหยง ชุดแรก เพลง กิจวัตร mv อยากได้เท่ ๆ มันก็เท่ไม่ได้ ไปทางนั้นไม่ไหวว่ะ (หัวเราะ) ในความเท่อาจจะไม่ได้มีเซนส์จากตัวเรา อาจจะไปเป็นอาร์ตเวิร์ก visual ให้ภาษาภาพมันมาส่งแทนเราดีกว่า แต่แน่นอนว่าความสนุก ความสบาย ๆ ในตัวเนื้อเพลงเรายังอยากให้มันมี แต่ดนตรีก็ให้มันซับซ้อนเลย
ใครเป็น Art Director ในชุดนี้
เต๊นท์: น้องแบงค์—สุเชษฐ์ อินอุทัย เขาไปทำงานอยู่นิวยอร์ก เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เป็นนักวาดภาพประกอบ เขาอยากทำให้เรา อยากมีพอร์ต แล้วเขาบอกจะทำให้ฟรีนะ เราก็เอาดิครับ! (หัวเราะ) (แปม: วงเราทุนต่ำอยู่แล้ว) เราดูงานเขา เป็นสไตล์จุด ๆๆๆ สเปรย์ไล่สี gradient แรง ๆ คือเรามีอยู่สามเพลง ส่งให้เขาฟัง เขาก็ร่าง ๆ มาให้ เราก็ถูกใจเลย คือมันมีความ surreal เขาตีความเพลงเราว่ามันออกหลอน ๆ ไม่มี space นี้อยู่จริงในโลกนี้ ก็เลยมาทางนี้ พัฒนาแบบกันไป ส่วนตัวเราก็ชอบเลยนะ มันแรงมาก สีมันจัด object มันอะไรวะ มาอยู่ที่เดียวกันได้ไง (แปม: มันดูเข้ากับเพลงเราอะ) ตอนแรกเขาทำแบบมาอันนึง แนทคอมเมนต์กลับไปให้ทำอาร์ตเวิร์กต่อกันแบบ Miles Davis อัลบั้ม Bitches Brew เป็นอัลบั้มทดลองของเขา แล้วอาร์ตเวิร์กมันแรง ๆ เหมือนกัน ก็เลยเป็นไอเดียที่เขาทำแนวนอนเป็นพาโนรามา
แนท: ตอนแรกก็ไม่คิดว่ามันจะเหมาะกับเพลงขนาดนี้ คือเห็นทีแรกงานเขาก็มาตรฐานดีแหละ แต่พอเห็นอันที่ปรับแล้ว โหเชี่ย เอาเงินเหอะ
เต๊นท์: แบงค์เป็นคนทำงานหนักมากนะ ทำมาเกินตลอด ขอไป 1 ทำมา 3 เงี้ย แล้วคือสวยทุกแบบ อย่างในเพจที่มีแคมเปญให้โหวต เพราะเราก็เลือกไม่ถูก อย่างโปสเตอร์เงี้ย ก็วาดใหม่ ไม่ได้เอา element จากอันเดิมมาใช้ ขยันมาก ๆ ประทับใจ เทปก็ไม่มีความเป็นซีดีเลย แต่มันเช่ือมด้วยสี กับเส้นมากกว่า มันทำให้ดูน่าสะสม คุณซื้องาน Summer Dress เหมือนคุณ collect งานเขาเลยนะครับ
ทำงานเสร็จแล้วลองกลับมาฟัง รู้สึกยังไง
เต๊นท์: รู้สึกเบื่อมาก ไม่รู้สึกอะไรกับเพลงอัลบั้มนี้ละ (แปม: วนอยู่กับมันเยอะมากเกินไป) คือมันต้องใช้เวลาเว้นเยอะ เราเพิ่งมีไวนิลอัลบั้มแรก พอกลับไปฟังแล้วรู้สึกเจ๋ง เพราะมันมีความเป็นตัวแทนของคนฟังแล้ว แบบ ‘ตอนนั้นเราก็เก่งเหมือนกันนะเว้ย’ ที่เราทำมาไม่ได้แย่แบบที่รู้สึกกันนะ
แปม: ชอบนะ ถ้าลืมว่าเราเคยทำอะไรมาแล้วมานั่งฟัง มันก็เป็นอัลบั้มที่ฟังเพลิน ๆ ได้อันนึง แล้วมันค่อนข้างยาว ต้องให้เวลากับมันเพื่อฟังทั้งอัลบั้ม ไม่ใช่ฟังเป็นซิงเกิ้ล ๆ Summer Dress มันเป็น concept album ต้องฟังทั้งหมดเพื่อให้รู้เรื่องราวทั้งหมด ว่ามันเป็นอันเดียวกัน
โป้: เราชอบมากกว่าอัลบั้ม 2 นะ คืออันนั้นมันฟังแล้วเขิน คือเราชอบอะไรที่มันเท่ ๆ แล้วชุด 2 มันยังไม่เท่เท่าชุดนี้ ความเท่ของเรามันไม่เหมือนคนอื่นอะ (หัวเราะ) พอฟังแล้วรู้สึกว่าแปลกดี แล้วชุดนี้มัน mastering มาดีด้วย ภูมิใจ เพลงกูมันนวลหูแล้วว่ะ
เต๊นท์: ส่งไปมาร์เตอริงที่ Bristol กับคุณ Shawn Joseph เขาก็ทำมาสเตอริงให้วงโลคัลบ้านเขา คนที่ใช้บริการบ่อย ๆ คือ Geoff Barrow ที่เป็นดีเจให้ Portishead เขามีวงชื่อ Beak ก็ส่งให้ที่นี่เหมือนกัน แล้วก็มี PJ Harvey เราก็ชอบงานของเขา
แนท: แง่คนทำเราก็เบื่อเราต้องมิกซ์ เต๊นท์ก็มิกซ์ ตอนแรกคุยกันตอนเรียงลงซีดีคือไม่อยากฟังแล้ว แต่ตอนนี้ก็รู้สึกดีใจเพราะว่ามันมีหลายช่วงในอัลบั้มนี้ที่เราไม่อยากทำแล้ว ไม่อยากไปต่อ ทำแล้วไม่เห็นได้อย่างที่ใจชอบสักที ก็ภูมิใจที่ผ่านตรงนั้นมาได้ จนได้อย่างที่ชอบจริง ๆ
คิดว่า Ui (user interface) ของเรา ทำมาเหมาะกับผู้ใช้แล้วหรือยัง แล้ว UX (User Experience) ที่ผู้ฟังจะได้รับ คาดหวังจะให้เป็นยังไง
เต๊นท์: อย่างนึงคือสดแน่นอน สดขนาดที่ฟังทีเดียวแล้วอาจจะไม่ชอบเลยก็ได้ หรือถ้าอยากจะทำความเข้าใจหน่อยต้องฟังหลาย ๆ รอบ มันมีกิมมิกมีอะไรของมันเยอะ เราว่าอัลบั้มนี้มันจะให้ประสบการณ์แบบนั้นกับคนฟัง มันมีรายละเอียดแอมเบียนต์อะไรซ่อนอยู่ภาพลักษณ์ของตัวเพลงที่ออกมา มันอาจจะดูหยาบ มีนอยซ์ มีเหลื่อม นั่นนี่นิดนึง แต่เราตั้งใจทำแบบนี้ คิดมาอย่างพิถีพิถันแล้ว อยากให้มองว่ามันเป็นโปรดักชันทางเลือกอีกแบบนึงที่อยากนำเสนอให้บ้านเราฟัง ว่าแบบนี้ก็มีนะ ไม่จำเป็นต้องเป๊ะตลอด
แปม: อัลบั้มนี้เราโตขึ้นแล้วก็รับผิดชอบกันเอง ตั้งวงมา 11 ปีแล้ว
ฝากอะไรทิ้งท้าย
โป้: มาดูไลฟ์กันเยอะ ๆ สองทุ่ม
เต๊นท์: วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม) จะมี live stream เปิด pre-order Blind Ears Bundle มีซีดี มีเทป โปสเตอร์ risograph คือการพิมพ์ด้วยเครื่องที่ชื่อ risograph เป็นการพิมพ์ทีละสี ทีละแผ่น มันก็จะได้ texture ไม่เหมือนกัน เป็นนอยซ์จุด ๆๆๆ มีความแรนดอม แต่ละแผ่นจะไม่เหมือนกันด้วยความที่มัน analog มาก ๆ สีก็จะเพี้ยนนิดนึง ทั้งชุดราคา 1,000 บาท จำกัดแค่ 100 ชุด แล้วถ้าใครโอนทันในช่วงไลฟ์ จะมีเสื้อ Stone Free ปีแรกแถมให้ด้วย จำกัด 25 ตัว อาจจะราขึ้นหน่อย ๆ เพราะเป็นของเก่าเก็บ (หัวเราะ) (แปม: ของขลัง ๆ) ถ้าคนร่วมสนุกเยอะอาจจะมีซีดีอัลบั้ม Serious Music แถมไปเลย เหลือเยอะ ไลฟ์นี้เราฮาร์ดเซลมาก ของรางวัลในไลฟ์จะคาดไม่ถึง
โป้: วันที่ 31 ก็จะเปิดให้สั่งจองตามปกติในเพจของเราเลย ส่วนเทป จะขายแยกราคา 600 บาท ซีดีขายราคา 450 บาท ถ้าซื้อ bundle ได้โปสเตอร์ด้วย ถ้าโอนทันก็ได้เสื้อด้วย คุ้มกว่า
เต๊นท์: แล้วก็จะมี Q&A มี preview ให้ฟังเพลงสั้น ๆ ด้วยกัน ก็ ฝากช่องทางเฟซบุ๊ก แล้วก็อินสตาแกรม @summerdress_bug ด้วยครับ ถ้าใครเล่น Spotify ก็กด follow วงเราไว้ด้วย มันจะมีผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นสำหรับเราในหลาย ๆ ทาง กด subscribe ใน YouTube ด้วยขอบคุณครับ
อ่านต่อ