Article Interview

เดบิวท์อีกครั้งของแสตมป์ อภิวัชร์ กับค่าย 12sumrecords

  • Writer: Teeraphat Janejai
  • Photographer: Chavit Mayot

แม้ว่าจะมีซิงเกิลออกมาอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาถูกพูดถึงและปรากฎตัวน้อยลงจากที่เคยเป็นมา จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเขาก็กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งกับบทบาทใหม่ในฐานะเจ้าของค่ายเพลงชื่อน่ารักขี้เล่นเป็นมิตรชื่อว่า 12sumrecords (อ่านว่า หนึ่งสองซั่ม) พร้อมกับปล่อยเพลง สักวินาที ซิงเกิลแรกกับค่ายใหม่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว

นอกจากอยากไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบแล้ว ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราอยากพูดคุยกับเขาทั้งมุมมองวงการดนตรีไทยในฐานะที่เป็นศิลปินมานานกว่า 12 ปี การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย แม้กระทั่งการลองทำเพลงที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษเพลงแรกในชีวิต การทำอัลบั้มส่งไปขายที่ Tower Records พร้อมทัวร์คอนเสิร์ตที่ประเทศญี่ปุ่น

จะเกริ่นให้น้อยกว่านี้ก็คงยากเพราะเขามีเรื่องราวมากมายที่น่านำเสนอเหลือเกิน เขาชื่อ แสตมป์— อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

img_9484

อะไรที่ทำให้ออกมาทำค่ายเพลงเป็นของตัวเอง

มีเหตุผลหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ผมอยากออกมาทำค่ายเพลงของตัวเอง ผมมีแนวคิดที่อยากทำ มีทิศทางอื่นที่อยากจะไป ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าทางไหน (หัวเราะ) ก็เลยออกมาเพื่อจะได้มีอิสระในการทำงานมากขึ้น รายละเอียดงานหรือบทบาทก็เพิ่มขึ้นมาบ้างแต่ก็ไม่ได้ทำให้ลำบากอะไรมาก เพราะที่ผ่านมาก็ค่อนข้างดูแลตัวเองพอสมควร สิ่งที่เพิ่มมาก็คงเป็นเรื่องธุรกิจ บัญชี การทำสัญญา คุยกับลูกค้าที่ต้องทำเอง ซึ่งภรรยาของผมก็เข้ามาช่วยกัน แต่ด้วยความที่เราทำกันเองเล็ก ๆ ก็เลยยังไม่ได้มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ จัดการง่าย

ชื่อนี้มาจากไหน

จริง ๆ ภรรยาผมเป็นคนตั้งชื่อ ตอนแรกจะตั้งว่า 123 (วันทูทรี) เพราะมันดูง่าย ๆ ดี แต่ก็มาคิดว่าถ้าแปลงเป็นหนึ่งสองซั่มน่าจะติดหูกว่า เพราะผมเองได้ยินคำนี้บ่อยมาก เป็นคำที่อยู่ในชีวิตเรา แต่ไม่เคยสนใจ ก็เลยหยิบมาใช้

รูปแบบการทำงานของค่าย

ก็จะมีศิลปินคนอื่น ๆ ด้วย แต่ที่ยังไม่ได้เปิดเผยเพราะยังทำไม่เสร็จ ตอนนี้ยังมีอยู่คนเดียว แต่บอกไปก็คงไม่รู้จัก ส่วนรูปแบบของค่ายมันเกิดจากที่ผมเคยเป็นศิลปินที่อยู่ในค่ายมาก่อน ผมรู้ว่าอะไรที่ทำให้ศิลปินอึดอัด ไม่สบายใจ ด้วยยุคนี้ค่ายเพลงก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อวงการเพลงมาก ยกเว้นแต่ค่ายยักษ์ใหญ่ ส่วนค่ายเล็ก ๆ อย่างเราจะไปผูกมัดกับศิลปินมาก ๆ ก็คงไม่เวิร์ค ก็เอาเป็นว่าทำกันเป็นงาน ๆ ไป ถ้ายังสนุกด้วยกันก็ทำกันต่อไป สำหรับผมเองคิดว่าเด็กคนหนึ่งจะขายโชว์เอง ได้เข้าไปเล่นในผับ มันเป็นเรื่องที่ยากมาก โอกาสแทบจะเป็นหนึ่งในร้อย ที่เราจะขายงานให้แล้วหัก 20% เข้าค่าย ยากที่จะทำเงินได้มากมายขนาดนั้น ซึ่งถ้าเขาต้องติดสัญญากับเรา เราเก็บเข้าไว้ ก็คงไม่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เลยทำทีละซิงเกิล อาจจะทำซีดีขายตามงาน เราก็ออกค่าทำมาสเตอร์เพลง ทำเอ็มวี ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ มันก็ไม่ใช่จำนวนเงินมหาศาล ส่วนตัวเราก็ชอบทำเบื้องหลัง ช่วยผลักดันคนรุ่นใหม่กันไป คือถ้าเราเปิดค่ายแล้วมีศิลปินคนเดียวคือแสตมป์มันก็ตลกนะ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นช่องทางธุรกิจชัดเจนว่าจะเราจะหาเงินกลับมาอย่างไร ก็ค่อย ๆ ทำไปก่อน

แล้วไปเจอศิลปินปริศนาคนนี้ได้อย่างไร

ได้ยินงานเขามานานมาก เขาเขียนเพลงเก่งมากด้วย และผมว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่มีงานเจ๋ง ๆ ผมรู้สึกว่าเขาควรจะถูกมองเห็นมากกว่านี้ แต่อาจจะเพราะเขามีอาชีพหลักอย่างอื่น ก็เลยทำให้เขาไม่มีเวลาที่จะทำงานตรงนี้ร้อยเปอร์เซนต์ ผมก็จะเข้าไปช่วยงานเขา คุณก็ทำงานหลักของคุณไป เสาร์อาทิตย์เราก็มาช่วยกัน เราออกค่าใช้จ่ายให้แล้วเพลงก็ไปออกในช่องทางของค่ายเรา ทำซีดีกันต่อ จริง ๆ ก็มีหลาย ๆ คนถามว่าทิศทางของค่ายจะเป็นอย่างไร เพลงจะประมาณไหน ผมก็ตอบไม่ได้ แต่มันก็ต้องเป็นทิศทางที่ผมชอบ ถ้าไม่ชอบก็คงทำไม่ไหว แล้วผมก็ชอบหลากหลายด้วย แต่เมื่อวันที่เพลงของค่ายเราได้ออกไปสู่คนฟังเยอะ ๆ ก็คงจะมีจุดร่วมอะไรบางอย่างชัดเจนขึ้น

มีศิลปินที่มีชื่ออยู่แล้วสนใจมาร่วมงานมั้ย

อาจจะแค่พูดเล่น ๆ กัน เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็สามารถทำกันเองได้แล้ว การซัพพอร์ตจากค่ายที่จะพาศิลปินไปออกสื่อก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะมีโซเชียลมีเดีย ตอนนี้ก็เห็นน้อง ๆ หลายคนทำเพลงเองตั้งแต่ต้นจนจบ ก็สามารถโด่งดังมีชื่อเสียงได้ ส่วนค่ายเราก็คงเหมาะที่จะช่วยคนที่ไม่พร้อมทำเองในทุก ๆ กระบวนการ

img_9469

แต่ก่อนถ้าวิทยุไม่เปิดเพลงเรา ก็ทำใหม่ แต่ตอนนี้เราเห็นเพลงออกมาวันเดียวล้านวิว พอเราเห็นตัวเลขมันก็เปลี่ยนใจคนเหมือนกัน แต่ตอนนี้ผมแค่อยากทำเพลงให้เหมือนรูป ๆ หนึ่งในอินสตราแกรม แล้วเราก็แค่อยากให้อินสตราแกรมของเรามันดูสวยแค่นั้นเอง

คุณมองว่าการสังกัดค่ายเพลงยังสำคัญอยู่หรือเปล่าในยุคนี้

แล้วแต่คนนะ บางคนก็ชอบทำเพลงอย่างเดียว แสดงสดอย่างเดียว แต่งเพลงอย่างเดียว ที่เหลือก็อยากให้ค่ายจัดการให้ แต่บางคนก็อาจจะเป็นเจ้าโปรเจคที่อยากทำนั่นนี่เต็มไปหมด ซึ่งก็คือผม ผมก็เลยอยากออกมาทำเอง ซ่ึงเพื่อนศิลปินหลายคนที่รู้จักเขาก็พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ พอใจกับการอยู่ในค่ายเพลง

มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างเมื่อได้ทำเพลงในค่ายของตัวเอง

มัน pure ขึ้น เราอยากเล่นอยากทำอะไรก็ใส่ยับเลย เพราะเราไม่ได้ยืมเงินใครลงทุนแล้ว แต่ก็อาจจะมีแรงโปรโมตน้อยลงมาบ้าง ก็คิดว่าคงจะดีขึ้นในวันหนึ่ง อย่างเพลงที่เป็นเนื้อร้องภาษาอังกฤษ ถ้าอยู่ที่ค่ายเดิมก็คงไม่ได้ทำ ที่อยากทำก็เพราะเราอยากตอบสนองความต้องการตัวเอง

ทำไมอยู่ดีๆ ถึงอยากทำเพลงเนื้อร้องภาษาอังกฤษ

เห็นน้อง ๆ ศิลปินเขาทำกันเยอะ เห็นนิค (Part Time Musician, temp.) ทำแล้วเราก็รู้สึกว่ามันเจ๋งว่ะ และจริง ๆ ผมก็ไม่ได้ชอบเพลงป๊อปไทยอย่างเดียว แต่ถ้าเราจะทำเพลงอัลเตอร์เนทีฟแต่ใช้เนื้อร้องภาษาไทย คนอาจจะช็อกก็ได้นะ ผมก็เลยคิดว่าทำภาษาอังกฤษก็น่าจะดีกว่า มันจะดูเหมือนกับเป็น Side project ของเรา คนก็น่าจะแยกได้ว่าถ้าเราทำเพลงภาษาอังกฤษ แนวเพลงจะเป็นประมาณนี้นะ เหมือนเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งไปเลย

วิธีการคิดเพลงต่างไปจากเดิมไหม?

ต่างมาก จุดเริ่มต้นคือ เราช่างแม่งทุกอย่างที่เคยเป็นเรามาก่อน เราเริ่มขึ้นเพลงกับนะ polycat ตะลุยฟังเพลงญี่ปุ่นกัน อยากทำให้มันสุดลิ่มไปเลย เพลงนี้ (Don’t You Go) เป็นเพลงแรกของเราตั้งแต่ทำมาที่ไม่มีคอร์ด ไม่มีเครื่องดนตรีชิ้นไหนเล่นคอร์ดเลย ซึ่งผมอยากทำแบบนี้มานานมากแล้ว ทุกชิ้นจะเล่นเป็นโน๊ตตัวเดียวหมดเลย พอเอามารวมกันก็ทำให้เพลงมันแตกต่างไปจากเดิม แล้วก็ได้คริสโตเฟอร์ ชู จากวง POP ETC มาช่วยทำให้เมโลดี้มันพุ่งขึ้น นวลขึ้น ส่วนเนื้อเพลงมันก็เกิดจากคุณชูเขาฮัมเพลงมา แล้วก็ดันมีคำว่า don’t you go ติดมาด้วย ก็เลยเอามาเขียนต่อ ซึ่งผมก็เขียนกับน้องฝ้าย มือเบสวง OverMe จากการแนะนำของพีท (นักร้องวง OverMe) ที่บอกว่าฝ้ายเก่งภาษาอังกฤษ ตอนแต่งเราสองคนเกร็งเรื่องแกรมม่ามาก ก็ลองอัดเดโม่ส่งไปให้คุณชู เพราะเราคิดว่าเขาเป็นเจ้าของภาษา เขาน่าจะเกลาคำได้ดีกว่าเรา เขาก็ร้องกลับมาแล้วปรากฎว่าแกรมม่าที่เราเกร็ง มันหายไปหมดเลย เละยิ่งกว่าเราอีก (หัวเราะ) คือเขาไม่สนเลยว่าจะผิดหรือเปล่า ขอให้มันฟังแล้วลื่น ก็เป็นความรู้ใหม่ของเรา คำที่ออกมาก็เลยฟังง่ายมาก ตัวผมเองก็ชอบมาก เป็นเส้นทางใหม่ เหมือนเราเป็นศิลปินที่เดบิวใหม่อีกรอบ

1

เพลง Don’t You Go เกิดมาจากอะไร

มาจากคำที่คล่องปากเฉย ๆ ส่วนเรื่องราวในเพลงก็เกิดจากผมเป็นคนที่ใจร้อน ผมชอบด่าคนหรือทะเลาะกับคนที่ไม่ควรทะเลาะ ทำให้เราพูดในสิ่งที่ไม่ควรจะพูด ทั้งที่เรื่องก็ไม่ได้ขนาดนั้น เป็นเรื่องที่ผมเจอบ่อย ก็ต้องตามไปขอโทษเขา ก็มีทั้งได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ออกมาเป็นเพลงนี้ ซึ่งช่วงหลังผมก็จะมีเพลงที่มีเรื่องราวประมาณนี้อยู่อย่างเพลง สัตว์ประหลาด แต่เพลงนี้จะพูดง่าย ๆ ไม่ได้เปรียบเทียบกับอะไร

พอเปลี่ยนแนวเพลงและหันมาทำเนื้อร้องภาษาอังกฤษ ผลตอบรับเป็นอย่างไร

ตอนนี้ก็ยังเห็นผลตอบรับเป็นบวกอยู่นะ อาจจะรู้สึกทึ่งนิดหน่อยที่เราเปลี่ยนมาทำแบบนี้ แต่ก็ยังเป็นการตกใจในแง่ดีอยู่ ซึ่งถ้าผมทำเพลงเนื้อร้องภาษาไทยผลออกมาอาจจะเป็นลบก็ได้ เหมือนพอเราทำเนื้อร้องภาษาอังกฤษแล้วคนให้อภัยได้ที่จะทำเพลงแบบนี้ (หัวเราะ)

แล้วเป็นมาอย่างไรถึงได้ไปร่วมงานกับ Christopher Chu (POP ETC)

มีคนคิดว่าผมทำเพลงกับวง P.O.P และ ETC. (หัวเราะ) มันเริ่มจากผมไปเทศกาลคอนเสิร์ต Summer Sonic กำลังจะไปดูวง Nothing But Thives แต่ไปดูไม่ทัน ก็เลยได้ดูวง POP ETC ซึ่งเราก็รู้จักอยู่แล้ว แล้วเขาเล่นดีชิบหายเลย ทั้งงานนั้นผมชอบวงนี้ที่สุด ผมก็เลยถ่ายรูปพวกเขาลงอินสตาแกรม แล้วติดแฮชแทค POP ETC ก็ไม่ได้คิดอะไร ตอนกำลังเดินทางกลับ เขาก็ทักแมสเสจมาในอินสตรแกรมว่าขอบคุณมากที่แชร์รูปพวกเขา แล้วก็ถามว่าผมเป็นนักดนตรีหรือเปล่า ก็เลยได้คุยกัน แล้วเขาก็ชวนไปดูอีกงานที่เขาไปเล่น เราก็ตามไป เลยได้รู้จักกัน แต่ก็ยังไม่ได้คิดทำอะไร เพราะเขาระดับไหนแล้ว อยู่ดี ๆ จะไปชวนเขาทำเพลง แต่ปรากฎว่าก็ยังได้คุยกันอยู่เรื่อย ๆ เขาให้เราแนะนำวงไทยไป เราก็ส่งไปหลายวงเลย เขาบอกว่าเขาชอบ Polycat เพราะเขาก็ชอบเพลงยุค 80 พอดี แล้วเราสนิทกับนะอยู่แล้ว ก็เลยลากนะเข้ามาในกรุ๊ปไลน์ด้วย แล้วอยู่ดี ๆ เขาก็บอกว่าพวกเราน่าจะทำอะไรด้วยกัน ผมก็เลยบอกว่าผมอยากทำเพลงภาษาอังกฤษ ก็เลยกลายเป็นเพลง Don’t You Go

การทำงานร่วมกับเขาเป็นอย่างไร

ต่างคนต่างเคารพกัน เรามีจุดร่วมกันค่อนข้างเยอะ ฟังเพลงหรือแนวเพลงที่ทำก็ไปในทางเดียวกัน สิ่งที่เราได้คือวิธีคิดใหม่ ๆ อย่างการวาง tracking ซึ่งคนทำเพลงส่วนใหญ่ในไทย ก็จะใช้วิธีแบบเดียวกันคือ เนื้อร้อง ทำนอง แล้วเอา arrangement มาสวม วางคอร์ดตรงนี้ ตรงนี้ต้องทำอย่างไรให้มันพุ่ง mix เสียงให้ดังไว้ก่อน แต่พอมาทำกับเขาทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด อะไรที่เป็นคอร์ดเขาเอาออกเลย กลองก็ตีง่าย ๆ ซึ่งด้วยธรรมชาติของพวกเรา เราค่อนข้างตามใจนักดนตรี สมมติจะอัดกลอง ก็วาง track กลอง แล้วให้มือกลองเข้าห้องอัด เขาก็จะใส่ยับเลย สำเนียงหรือลูกเล่นที่ออกมาก็จะเป็นสไตล์ที่เล่นกันในผับ แต่คุณชูจะกำหนดให้ตีแค่นั้นแค่นี้ ค่อนข้าง minimal มาก ก็เลยทำให้เกิด space ภายในเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลย ปกติเราก็คิดแต่จะถมมันให้เต็ม เขาสอนให้เรารู้จักที่ว่างระหว่างเครื่องดนตรี

ได้ออกไปดูซีนของอินดี้ที่ต่างประเทศ ได้รู้จักวงดนตรีนอกกระแส พอจะบอกได้ไหมว่าเขาแตกต่างจากเราอย่างไรบ้าง

อย่างที่ญี่ปุ่น เขาก็จะมีเมนสตรีมของเขา ก็เป็นธรรมดาของเมนสตรีมที่ฟังไปเรื่อย ๆ ก็จะเบื่อ แต่วงการอินดี้ของเขาจะแสบมาก มีของประหลาดเต็มไปหมด อันที่จริงวงการอินดี้ทุกประเทศก็จะคล้าย ๆ กัน เกาหลีก็แสบพอตัว ทุกประเทศก็จะมีของที่เป็นหลักอยู่ และก็จะมีคนที่เบื่อแล้วหันไปทำอย่างอื่น ถามว่าความนิยมของเขาดีกว่าเรามั้ยก็คงไม่ได้มากไปกว่ากันเท่าไหร่ ผมว่าบ้านเราอาจจะใหญ่กว่าด้วยซ้ำ เพราะอย่างเรามีวง Scrubb ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นเมนสตรีมได้ ซึ่งผมมองไม่เห็นวงแบบนี้ในบ้านของเขาเท่าไหร่ เขาก็มีทั้งวงที่เท่และธรรมดา ก็อยู่ที่ว่าเราไปรู้จักวงไหน

img_9489

แน่นอนว่าเราก็ต้องเสียอะไรไปบางอย่าง เสียความสดใหม่ เสียความจริงใจ ต้องยอมรับว่ามันน้อยลง เพราะเราไปมุ่งกับเกมการแข่งขัน อาจไม่ได้มีแรงเท่าตอนอายุ 22 ผมว่าการทำเพลงมันก็แปลกที่ว่า ยิ่งทำยิ่งเก่งอันนี้จริง แต่ไม่ใช่ว่ายิ่งทำจะยิ่งโดน

เคยทำเพลงนอกกระแสกับ 7thScene จนมาโด่งดังกับผลงานเดี่ยว และตอนนี้กำลังจะกลับมาลงสนามอินดี้อีกครั้ง มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมบ้าง

เราไม่ได้คิดถึงผลลัพธ์มากเท่าไหร่แล้ว จุดหนึ่งก็เริ่มไม่สนุกกับการแข่งขันที่ยอดวิว มันค่อนข้างจะเป็นเกมที่เหนื่อยและไม่สนุกเลย เรารู้สึกว่าเราสู้คนอื่นไม่ได้ จุดหนึ่งเราไม่เข้าใจแล้วว่า ทำไมเพลงนี้คนถึงฟังยังจังวะ แล้วเราจะทำยังไงถึงจะเป็นแบบนั้นได้บ้าง เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเราเล่นได้ มึงมาแบบนี้ กูมาแบบนี้ เมื่อสักสี่ห้าปีก่อนเราลุยได้ แต่ตอนนี้เรางงไปหมด เราก็เลยทำค่ายเอง เล่นเกมของเรา เกมที่เราอยากเล่น เกมเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราท้อ โลกนี้ก็มีเพลงอีกเยอะที่เราคิดว่ามันจะเกิด แต่ก็ไม่เกิด คงเป็นเพราะเรารู้สึกว่าเกมนั้นอาจจะไม่ใช่เกมของเราอีกแล้วด้วย ก็เลยช่างแม่ง ทำเพลงที่อยากทำแล้วกัน

ก่อนหน้านี้ที่มีคอนเสิร์ต Coldplay แล้วกระแสที่ว่าแฟนกลุ่มหนึ่งเสียดายที่พวกเขาเปลี่ยนแนวมาทำเพลงอย่าง Something Just Like This ที่ทำกับ The Chainsmokers คุณกลัวกระแสแบบนี้บ้างหรือเปล่า

จริง ๆ ผมชอบเพลงนั้นนะ ผมว่าโคตรเจ๋งเลย ผมว่ามันก็เป็นทุกวง ผมเองก็เคยโดนว่าทำไมเพลงไม่เหมือนยุคแรก ๆ คนเราก็ต้องเปลี่ยนไปตามเวลาอยู่แล้ว ถ้าทำเหมือนเดิมก็ไม่รู้จะทำทำไม แต่การที่ Coldplay ถูกพูดถึงแบบนั้นเพราะว่าวงเขายิ่งใหญ่มาก เขามีแฟนเพลงเยอะมาก แต่ก็ไม่แน่ว่าถ้า Coldplay ทำเพลงแบบอัลบั้ม Parachutes มาตลอด เขาอาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าทุกวันนี้ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าแบบนี้ดีกว่าแบบเดิมนะ ผมไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนแนวเพลงจะเป็นเพราะพวกเขาไม่มั่นคง ผมว่าพวกเขาสนุกมากกว่า แล้วมันก็เป็นคุณสมบัติที่ดีของศิลปินนะ

ผมว่าทุกคนปฏิบัติกับเพลง ๆ หนึ่งยิ่งใหญ่เกินไป ทุกคนมองว่ามันเป็นธุรกิจ มองว่าเพลงที่ออกมาต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ผมเพิ่งไปดูอินสตาแกรมของคนวาดรูป ทุกๆ สามวันเขาโพสหนึ่งรูป ถ้าเรามองว่าเพลงของเราเป็นรูปหนึ่งในอินสตราแกรม มันก็จะมีรูปที่คนกดไลค์เยอะ มีรูปที่คนกดไลค์น้อย แต่ว่าภาพรวมออกมามันก็เป็นผลงานของเราทั้งหมด แต่ทุกคนกดดันเพราะต้องทำเพลงให้คว้าล้านวิว ผมว่ามันเป็นเกมที่เกิดขึ้นเพราะใจพวกเราเอง แต่ก่อนอาจจะไม่เห็นตัวเปรียบเทียบเยอะเท่าทุกวันนี้ แต่ก่อนถ้าวิทยุไม่เปิดเพลงเรา ก็ทำใหม่ แต่ตอนนี้เราเห็นเพลงออกมาวันเดียวล้านวิว พอเราเห็นตัวเลขมันก็เปลี่ยนใจคนเหมือนกัน แต่ตอนนี้ผมแค่อยากทำเพลงให้เหมือนรูป ๆ หนึ่งในอินสตราแกรม แล้วเราก็แค่อยากให้อินสตราแกรมของเรามันดูสวยแค่นั้นเอง

ได้ข่าวว่าทำอัลบั้มใหม่ที่ขายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น

พอดีได้เจอกับคนจัดจำหน่ายที่ญี่ปุ่น แล้วเขามีโครงการที่จะเอาวงดนตรีไทยไปเล่นพร้อมกับขายอัลบั้ม เราก็โอเค ทำเลย เพราะความฝันของเราคืออยากมีแผ่นขายใน Tower Records (หัวเราะ) ทีแรกก็จะเอาเพลงที่เคยทำกับ YMCK เพลงที่ทำกับคนนั้นคนนี้เอามารวมกัน แต่พอทำไปสักพัก ก็ดันมาเจอคุณชู ก็เลยขอเขาโละเพลงทั้งหมดเลย เดี๋ยวจะทำใหม่ ก็เลยกลายเป็นอัลบั้มชื่อ Stamp STH (แสตมป์ ซัมติง)

ไม่มีขายในไทยบ้างเลยเหรอ

มีขายเป็นดิจิตอล และก็จะทำแผ่นไวนิล น่าจะ 5 ปีมาแล้วที่ไม่ได้ทำ แล้วตอนนั้นก็ขายดีมากเลย แต่ชุดนี้ก็คงทำไม่มาก ส่วนซีดีจะขายแค่ที่ญี่ปุ่น สั่งซื้อจากเว็บเขาได้ เราอยากให้มันเป็นของหายาก เป็นแผนการตลาด (หัวเราะ)

img_9495-2

แล้วก็มีทัวร์คอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่นด้วย การเตรียมตัวแตกต่างจากการเล่นที่ไทยหรือเปล่า

เราเคยไปเล่นต่างประเทศบ้าง แต่ก็จะเป็นการเล่นให้คนไทยดู และเคยตามไปดูวง Popdub ที่เป็นโปรเจคของพี่เมื่อย Scrubb พอเราเห็นแล้วโคตรอยากเล่น คือสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างซีนของไทยและญี่ปุ่น ถ้าไม่นับของฟังใจคือ งานเล่นสดในไทย เพลงจะกลายเป็นเรื่องรอง หลัก ๆ คือคนมารวมตัวกัน กินข้าว ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ เพราะเรายังไม่มีวัฒนธรรม live house แต่เราเล่นดนตรีในผับกับลานเบียร์มากกว่า มันก็ดีตรงที่คนเยอะแน่ ๆ แต่ก็กลายเป็นว่าคนมาดื่มเบียร์แล้วเพลงเป็นของแถม แต่ที่ญี่ปุ่น คนตั้งใจมาฟังมาดูแล้วดื่มเบียร์เป็นของแถม การที่บ้านเราเป็นแบบนี้มันก็ส่งผลให้เราไม่ค่อยเจอวงแปลก ๆ แสดงสดที่ไหน เพราะเมื่อเราต้องเล่นให้คนดื่มเบียร์ฟัง มันก็ต้องเป็นเพลงในทางที่คนดื่มเบียร์ชอบ เพื่อให้เจ้าของเบียร์จ้างเรา ต้องมีเพลงฮิตที่คนจะร้องตามในผับได้ มีเพลงเพื่อคนอกหักหรือคนโสด ผมเจอกระทู้ในพันทิปอยู่บ่อย ๆ ว่าทำไมเพลงไทยถึงมีแต่เพลงอกหัก ส่วนหนึ่งก็เพราะเราดื่มเบียร์และเอาเพลงเป็นของแถมไง มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพลงไทยเป็นแบบนี้ แต่เบียร์ก็ไม่ใช่ผู้ร้ายนะ ยังจ้างผมได้ครับ (หัวเราะ) เราก็ไม่เคยเห็นผับเมืองนอกที่จ้างวงดนตรีมาเล่น ส่วนใหญ่วงเมืองนอกเขาก็จะออกทัวร์ ไม่ก็เล่น live house พอวิธีการดูของคนแต่ละชาติต่างกัน ก็ทำให้เรามีวิธีเล่นต่างออกไปด้วย และก็โยงไปถึงแนวเพลง อย่างที่ญี่ปุ่นมีเพลงไอดอล ของไทยก็เคยมีคือ Kamikaze แต่ตอนนี้กระแสนั้นหายไปแล้ว เพราะเพลงไอดอลไม่ได้เล่นในผับ พอขายไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำกันต่อเพื่ออะไร

สิบสองปีที่อยู่ในวงการเพลง เรียนรู้อะไรจากวงการนี้บ้าง

โตขึ้นเยอะ ทั้งในความเป็นมนุษย์และผลงานเพลง แน่นอนว่าเราก็ต้องเสียอะไรไปบางอย่าง เสียความสดใหม่ เสียความจริงใจ ต้องยอมรับว่ามันน้อยลง เพราะเราไปมุ่งกับเกมการแข่งขัน อาจไม่ได้มีแรงเท่าตอนอายุ 22 ผมว่าการทำเพลงมันก็แปลกที่ว่า ยิ่งทำยิ่งเก่งอันนี้จริง แต่ไม่ใช่ว่ายิ่งทำจะยิ่งโดน เพราะเราก็จะเข้าใจคนแค่ยุคหนึ่ง ยุคเดียวกับเรา เราอาจจะทำเพลงเก่งขึ้น เล่นสดเก่งขึ้น แต่เราอาจจะไม่ได้แต่งเพลงที่จับใจคนได้เท่าตอนวัยรุ่นก็ได้ เพราะตอนนั้นใจของเราเปิดมาก เรากล้าที่จะเล่า เรามีเรื่องเล่ามากกว่านี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าศิลปินทุกคนจะเป็นนะ อย่างพี่ป้าง นครินทร์ ก็ยังจับกระแสวัยรุ่นได้เลย ทุกวันนี้ก็ยังสนุกกับงานนี้อยู่ แต่แค่พยายามจะคิดแข่งขันให้น้อยลง

ความท้าทายของคุณในตอนนี้ ในยุคใหม่ของคุณ คืออะไร

เอาเข้าจริงตอนที่ทำอัลบั้มชุดที่เป็นเพลงภาษาอังกฤษก็ไม่ได้คิดถึงผลลัพธ์เลย เพราะก็แอบไปดูเพลงภาษาอังกฤษในไทยก็จะมีซีนที่ไม่ได้ใหญ่มาก เราก็ต้องยอมรับว่าเราแทบจะเป็นเมนสตรีมไทยมาก่อน การที่เรากลับลงมาเล่นในซีนอินดี้ ก็เคยคิดว่าอาจจะมีคนยี้เราก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้คิดจะไปลบภาพจำของเราในหัวเขา ถ้าเขาเลือกที่จะไม่ฟังเราก็ไม่เป็นไร เราก็ทำต่อไป ก็คิดว่าคงมีคนฟังเราบ้างวะ (หัวเราะ) ซึ่งสุดท้ายก็แทบจะไม่มีใครยี้เรา ก็เลยคิดว่าคงเป็นเส้นทางที่ไปต่อได้ และก็จะทำต่อไป

img_9483

รับฟังเพลง Don’t you go ของแสตมป์ อภิวัชร์บนเว็บไซต์ฟังใจได้ที่นี่ และติดตามข่าวสารอัพเดทได้ที่ Stamp และ 12sum records

Facebook Comments

Next:


Teeraphat Janejai

ธีรภัทร์ เจนใจ กองบรรณาธิการ Fungjaizine ที่มักสนุกกับการเปิดเพลงในรถมากกว่าการไปคอนเสิร์ต และชอบนั่งสวนพอๆ กับนั่งบาร์