SRIRAJAH SOUND SYSTEM อีกหนึ่งวัฒนธรรมทางดนตรีที่อยากให้ลองสัมผัส
- Writer: Montipa Virojpan
- Photos: Srirajah Sound System
Srirajah Rockers ถือเป็นหนึ่งในวงเร็กเก้มืออันดับต้น ๆ ของประเทศไทย เพราะพวกเขามีอัลบั้ม และผลงานคุ้นหูที่เรา ๆ ร้องตามได้ออกมามากมาย ทั้ง Hi-Speed Love, นักกินผัก, การแชร์ และแม้จะประสบความสำเร็จในระดับนึงแล้ว พวกเขาก็ยังสร้างสรรค์เพลงใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราเห็นวิวัฒนาการของวงหลายยุคหลายสมัย
ล่าสุด วิน ชูจิตารมย์ ฟรอนต์แมนแห่ง Srirajah Rockers หรือที่บางครั้งแฟน ๆ จะรู้จักเขาในฐานะ บ. บางพระ ได้นำเสนอผลงานล่าสุด Srirajah Sound System ที่จะถ่ายทอดเพลงเร็กเก้ในรูปแบบที่เราไม่คุ้นเคยเท่าไหร่นัก นั่นคือการมี ‘sound system’ เป็นส่วนประกอบหลักในการแสดง
Srirajah Sound System จะต่างจาก Srirajah Rockers มาก ๆ อย่างการสีชาจะมีสมาชิกคนอื่น ๆ การเล่น การต่อสายเชื่อมโยงลำโพง ก็จะเป็น PA ทั่วไปที่ใช้กัน ตัวเพลงก็จะเป็นเร็กเก้ที่คุ้นเคยกัน ส่วน Srirajah Sound System จะไม่ได้เล่นเป็นวงดนตรี แต่เป็นการใช้เครื่องเสียงในการเปิดเพลง ซึ่งตู้พวกนี้ใคร ๆ ก็สามารถจะมีได้
แต่รู้หรือไม่ว่า นี่เป็นโปรเจกต์ที่เขาซุ่มทำมาสิบกว่าปีแล้ว หากเคยได้ยินชื่อ BUBU#MAN หรือ เสียงหองไลออนส์ แปลว่าคุณไม่ได้พลาดอะไรไปเท่าไหร่นัก เพราะสิ่งเหล่านั้นเองคือโปรเจกต์ทดลองก่อนที่จะมาลงตัวเป็น Srirajah Sound System อย่างในทุกวันนี้
“เราปล่อยเพลงมาเป็นสิบปีแล้ว สมัย BUBU#MAN จะยังไม่รู้เรื่องอะไรเยอะ ทำเป็นเพลงในคอม ส่วนเสียงหองไลออนส์จะมีดนตรีอีสานมาด้วย เหมือนเราอยากทดลองกับดนตรีอิเล็กทรอนิก ไม่ได้ตายตัว ลองฟังในเพลง กลอนกรรม ที่ไปออกที่ญี่ปุ่น ก็เพิ่งมาตัดสินใจใช้ชื่อ Srirajah Sound System กะจะเอาทุกโปรเจกต์ของเราเองทั้งหมดมารวมกันเป็นซาวด์เดียว ใช้ตู้เดียว”
จุดเด่นของ sound system คืออุปกรณ์และเครื่องเสียงที่ใช้เล่นเพลงที่มีความเฉพาะตัว ต่างจากแนวเพลงอื่น ๆ ด้วยตัวเพลงเร็กเก้ที่ค่อนข้างมีความตายตัวประมาณนึง ก็จะมี solution หรือวิธีการต่อสาย และการเลือกนำเสนอเสียงออกมาต่างกัน ต้องมีการคัดย่านเสียง สูง กลาง เสียงซับ ต่าง ๆ และจะมีอุปกรณ์เฉพาะอย่าง power amp ตัวตู้ preamplifier ในการถ่ายทอดเสียงนั้น ๆ
“ล่าสุดได้ ของอังกฤษมา เป็นตัวที่คัดย่านเสียงเร็กเก้ได้ท็อป ๆ ของโลก ค่อนข้างแพง มีความพิเศษกว่าตัวอื่น ๆ ยิ่งซื้อของเพิ่มเยอะ quality จะเพิ่มขึ้นไปอีก ตอนนี้ก็ทยอย ๆ มาใกล้ครบละ” วินเล่าอย่างตื่นเต้น
สำหรับชาวจาไมกัน คำว่า ‘Jah’ ที่เราพบในเนื้อเพลงเร็กเก้หลาย ๆ เพลง หมายถึงศาสดาของพวกเขา ดังนั้นแล้วเสียงเพลงที่พวกเขาสร้างก็เป็นเพลงสำหรับสรรเสริญพระเจ้า เพื่อระลึกถึงความเป็นคนพื้นถิ่นที่จากมา โดยแนวดนตรีที่จะนำมาเล่นเรียกว่า ‘new roots reggae’ หรือ ‘steppa’ และยังมีอีกชื่อที่เรียกกันคือ ‘UK dub’ หรือดั๊บสไตล์อังกฤษ เพราะต้นตำรับดนตรีมาจากชาวจาไมกันที่อพยพไปอยู่อังกฤษ พอสิ้นยุคอาณานิคม ชาวจาไมกันเหล่านั้นก็เอา sound system มาใช้
“เราไปเมืองนอกเราก็ยังไหว้พระ คนจาไมกันก็เหมือนกัน ก็เอาเพลงนี้ไว้บูชาพระเจ้า ให้ระลึกถึงไว้ว่า ‘กูเป็นทาส’ ‘กูอยากกลับไปที่บ้านเกิดของกู’ ต้องมีซาวด์ของตัวเองไว้บอกอัตลักษณ์ จนเพลงพวกนี้กลายเป็นเป็นมรดกโลกไปแล้ว”
ปัจจัยหนึ่งในที่ทำให้ถือกำเนิด sound system มาจากที่สมัยก่อน การเป็นศิลปินจำเป็นที่จะต้องมีทุนในการผลิต หรือมีค่ายคอยเผยแพร่เพลงให้ถูกนำไปเปิดตามคลื่นวิทยุ แต่ก็มีศิลปินกลุ่มหนึ่งที่มีความขบถนิด ๆ เชื่อว่า DIY เป็นสรณะ ไม่จำเป็นต้องมีดีเจช่วยเปิดเพลง แต่จะทำเพลงของตัวเองออกมา มีซาวด์เฉพาะตัวไว้เล่นกับเครื่องของตัวเอง ในสมัยก่อนพวกเขาจะทำเป็นแผ่นเสียง เรียกว่า dub plate ทำจำนวนน้อยเข้าไว้ โดยมีแค่เจ้าของเพลงเท่านั้นที่สามารถหยิบมาเล่น คนอื่นไม่สามารถหาฟังที่ไหน หรือให้คลื่นไปเปิด หรือให้คนอื่นเอาไปเล่นที่ไหนได้ จะต้องมาฟังที่ศิลปินคนที่ทำเพลงขึ้นมาเท่านั้น นี่คือความพิเศษอย่างหนึ่งของ sound system culture
“เราจะเรียกตัวเองว่า selector ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับดีเจเปิดเพลงแหละ แต่ถ้าคุยกับคนญี่ปุ่น เขาจะไม่เรียกตัวเองเป็นดีเจ แต่จะเป็นโปรดิวเซอร์ทำดนตรีเอง เผยแพร่เอง เปิดแต่เพลงตัวเอง แต่ละคนมีแนวคิดหลาย ๆ แบบ แต่ของเราเนี่ย ช่วง COVID-19 เรากับไผ่ KARMA RHYME Sound System คิดว่าจะใช้ชื่อ ‘Suvarnabhumi Dub Station’ (SDS) ติ๊ต่างว่าเป็นสถานีวิทยุ ‘SDS Radio’ ออกอากาศทุกวันอังคาร พฤหัส เสาร์ มีช่วงดีเจแบ่งเวลาชัดเจน เปิดทั้งเพลงตัวเอง เพลงของคนอื่น เพลงชาวแก๊ง เพลงต่างประเทศด้วย แต่พอลองไลฟ์ไป เมืองนอกลิขสิทธิ์แรง โดน Facebook บล็อกไป 3 เดือน ต้องมาเปิดเป็น session เพลงที่ตัวเองทำถึงจะโอเค เลยว่าจะไปไลฟ์ YouTube ของแชแนล Srirajah Rockers ตอนนี้ยังไม่มีเวลาทำแชแนลใหม่ ว่าจะหาโอกาสจัดในช่องทางอื่น ๆ ด้วย ให้ติดตามแล้วแต่สถานการณ์ แล้วแต่ความพร้อม อย่างตอนนี้ใช้มือถือไลฟ์แล้วมันดับ ๆ เดี๋ยวกลับมาใช้คอมลองเซ็ตกันดู”
นอกจากการเป็น selector แล้ว วินยังเคยทำ backing track ส่งเพลงไปให้เพื่อน ๆ ได้ร้องกันด้วย
“เราทำ dubplate เปล่า ๆ ขึ้นมา แล้วส่งไปให้คนอื่นร้อง เห็นเขาชาเลนจ์กันก็อยากทำบ้าง อีกอย่างคือเราไม่ชอบ sampling เพราะอยากได้เนื้อเสียงชัด อย่างเพลง SALAVAN POWA ก็เอาเครื่องอัดไปอัดที่ลาว ปากเซ สำนักงานหมอลำเลย (หัวเราะ) หรือตอนนั้น Ranking Joe มาเล่นที่ไทย ก็ใช้บัตรเสือก ไปโรงแรมเขา ขอให้เขาอัดลงเพลง JAH JAH (บ่เป็นหยังดอก) ให้หน่อย แล้วจ่ายเงินให้ตามเรต คนนี้เป็นตำนาน rubadub dancehall ดังมาตั้งแต่ 70s 80s เป็นโอลสคูล มี accent ต่างจากสมัยใหม่ เทคเดียวผ่านเลย แล้วก็มี Chineyman หรือแมน 90110 เป็นเพลงเดียวกัน แต่เปลี่ยนชื่อเป็น Bang! (ปัง) ฝั่งชาวแก๊งที่ญี่ปุ่นตอนนี้ส่งกลับมาละ คนอื่น ๆ ก็ทยอยส่งกันมา ส่วนเพลงอื่น ๆ ตอนนี้มี 10 กว่า dubplate แล้ว จะทยอยปล่อย
“เรากับไผ่คุยกันว่าถ้าส่งให้คนอื่นร้อง ทำให้มันมีหลายเวอร์ชัน มันก็จะเป็นการเผยแพร่ได้หลายรูปแบบ มันก็เป็น culture นึงที่ส่งเพลงให้ศิลปินคนอื่น ๆ ที่เราอยากได้ยินเสียง เพราะแต่ละคนก็มีเมสเสจต่างกัน แต่ศิลปินเร็กเก้ส่วนมากจะมีอุดมการณ์ เนื้อเพลงซีเรียส พูดจริงจัง เกี่ยวกับระบบ ชีวิต สังคม แต่ละคนมีสไตล์การชกที่ต่างกัน คล้าย ๆ ฮิปฮอปเหมือนกัน ฮิปฮอปเองก็เกิดมาจากเร็กเก้ คนพวกนี้เขาเดินทางไปเรื่อย ๆ เป็นชนกลุ่มน้อยที่คอนเนคกันผ่านตรงนี้ เกิดเป็นซาวด์ที่แตกต่างกันตามท้องที่ อย่างอันนี้ก็ได้มาจาก DJ Kool Herc ซึ่งก็เป็นคนจาไมกันในนิวยอร์ก ที่นำ sound system ของเร็กเก้เข้ามาใช้จนกลายเป็นฮิปฮอป”
พูดถึงงานเปิดอัลบั้ม พร ที่ต้องยกเลิกไป
เสียดายเหมือนกัน คุยกับผู้จัดการวงจริงจังเรื่องอัลบั้มใหม่ คือทำเพลงเสร็จแล้ว กำลังจะเข้าปีที่สอง เริ่มผลิตแผ่นเสียง โปรดักชันครบแล้ว แต่พอช่วง COVID-19 เลยคิดว่าคนอาจจะต้องเก็บเงินไปหาของกินก่อน เพราะลำบากกัน ถ้าออกแผ่นเสียงไปมันมีราคาสูง คงเป็นแค่คนมีตังเท่านั้นที่จะได้ฟัง ช่องทางอื่นจะยังไม่ปล่อย และถ้าออกไปแล้วไม่ได้ทัวร์ ไม่ได้เล่นสด ก็ไม่ครบองก์ เหมือนมันบอกเราว่ายังไม่ถึงเวลา อาจจะต้องรอจนหมดเรื่องแล้วมาเปิดอัลบั้มทีเดียว ถึงจะได้เต็มประสิทธิภาพของอัลบั้มทั้งหมดที่ทำมา
คิดถึงคอนเสิร์ตไหม
คิดถึงมาก แทบลงแดง เสี้ยน อยากทำอะไรสักอย่าง อยากเหงื่อออก อยากขยับ เมื่อวานไลฟ์ Srirajah Sound System ในป่าของรุ่นน้อง มันเป็นเขาสองลูก แล้วได้ preamp ใหม่มา ก็เอาไปเปิด อากาศร้อนมาก เหงื่อออกโคตร ๆ แต่โคตรมีความสุข พลังของตู้ซับ ได้ยินเสียงเบสกระแทกหัวใจ ฟังในมือถือ หรือหูฟัง ไม่เท่ามาฟังหน้าตู้ที่เราทำกัน มันเป็นคนละอย่าง ต้องมาฟังตัวเต็ม ๆ แล้วจะรู้สึกได้ จะร้อง ‘เหยดดดดด’ ไปกับมัน”
น่าเสียดายที่งานมหรสพความบันเทิงทุกสิ่งต้องพักไว้ชั่วคราว อย่างงาน JamCity ที่ควรจะเกิดขึ้นไปเมื่อเดือนก่อนก็มี Srirajah Sound System เป็นหนึ่งในไลน์อัพ ไม่เช่นนั้นเราก็จะได้สัมผัสกับพลังของเครื่องเสียงดั๊บกันแล้ว ระหว่างนี้ก็รับฟังผลงานของพวกเขาที่เผยแพร่บน YouTube กันไปพลาง ๆ ก่อนแล้วกันนะ