เมื่อภาพวาด และดนตรี กลายเป็นเครื่องมือเล่าเรื่องชั้นดีของ ทรงศีล ทิวสมบุญ
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
บุคคลที่เรากำลังจะพูดคุยด้วยในบทความนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าใดนักในซีนดนตรี แต่ถ้าใครเป็นแฟนนิยายภาพฝีมือชาวไทยอยู่แล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่คุ้นชื่อของเขาผู้นี้ อัพ—ทรงศีล ทิวสมบุญ เจ้าของผลงาน ‘ถั่วงอกและหัวไฟ’ รวมถึงงาน graphic novels อีกมากมายที่ถูกนำเสนอสู่สายตาผู้อ่านมากว่าสิบปี และเมื่องานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมา เขาส่งหนังสือเล่มล่าสุด อาจจะเรียกว่าเป็นชีวประวัติภาคต่อของ Bobby Swingers คาแรกเตอร์ที่สร้างชื่อให้เขาก็เป็นได้ (เอ๊ะ หรือมันจะไม่เกี่ยวกันเลยนะ) แต่พิเศษกว่านั้นคือในหนังสือเขาได้ฝากผลงานเพลงที่ลงมือสร้างสรรค์เองทุกขั้นตอนมาให้เราได้ลองฟังกันด้วย ถ้าใครได้ฟังงานเพลงก่อนหน้านี้ของเขามาบ้างก็จะพบว่าเขาเป็นอีกศิลปินที่ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ ตอนนี้เรามารู้จักกับเขาให้มากขึ้นกันเลยดีกว่า
Bobby Swingers คือใคร
จริง ๆ มันคือคาแรกเตอร์หนึ่งในหนังสือของเรา ตอนเขียนถึงเขาในเล่มแรกเราทำออกมาเป็น mocumentary โดยบอกไปว่านี่เป็นประวัติวงดนตรีวงหนึ่งที่เราเอามาวาดเป็นนิยายภาพ เล่าเรื่องเขาตั้งแต่ชีวิตตอนเรียนมหาลัย แล้วยังตั้งข้อสงสัยว่าเขาเป็นนักฆ่าด้วยหรือเปล่า ให้มีฉากที่แฟนของเขาเสียชีวิต แล้วเขาก็ไปข้องเกี่ยวกับศาสตร์มืด ซึ่งเรื่องทั้งหมดเราเขียนออกมาเหมือนเราทำสารคดีจริง ๆ อย่างการเขียนสับขาหลอกว่า ‘เราก็ไม่อยากเขียนแบบนี้นะ แต่เราจะเล่าให้ตรงกับความจริงมากที่สุด’ หลายคนก็เลยเข้าใจว่าคนนี้มีจริง ๆ ซึ่งเราก็ชอบที่เขาจะเข้าใจกันแบบนั้น พอเราเขียนหนังสือเกี่ยวกับนักดนตรีในนั้นก็เลยแถมซีดีด้วย ซึ่งมันน่าจะทำให้คนอ่านจะอินมากขึ้นไปอีกถ้าได้ฟังเพลง ซึ่งเราก็ทำเองอีกนั่นแหละ
สังเกตว่าวงดนตรีนอกหลาย ๆ วงก็มักจะมี myth ทำนองนี้ คิดว่าการที่มีเรื่องราวหรือตำนานวงดนตรีมันเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องการตลาดที่เขาแต่งขึ้น
มันก็แล้วแต่นะ แต่อย่างการเล่นดนตรีของเรามันมีขึ้นและลงจนเราไม่คิดถึงเรื่องการตลาดอะไรแล้ว ที่ทำตอนนี้เพราะเราทำได้และอยากทำ ถ้าไม่ทำคงเสียดาย ถ้ามีช่องทางที่เราจะได้ทำเพลงที่อยากทำเราก็โอเค นี่ไม่ได้เอากำไรจากดนตรีเลยนะ ค่าห้องอัดก็ไม่ได้บวกเพิ่มเข้าไปในราคาหนังสือ
นักวาดอย่างทรงศีลก็เคยมีวงดนตรีสมัยเรียน
ตอนจบศิลปากรก็ตั้งใจจะเป็นนักดนตรีนะ แต่เรื่องวงดนตรีตอนนั้นมันพังพินาศหมด ทีแรกเราได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ จนค่ายยุบไป ต้องออกมาเล่นดนตรีกลางคืน ทำอะไรสารพัดที่นักดนตรีจะทำกัน ทำแผ่นเองไปขายงานนั้นงานนี้ แต่สุดท้ายวงก็แยกทางกัน พอแยกทางกัน เราก็ดันตกงานอีก
ตอนนั้นการเป็นนักเขียนไม่เคยอยู่ในความคิดเลย เราก็เลยลองทำสิ่งที่เราถนัดก็คือวาดรูป แล้วคิดว่าน่าจะเป็นนักวาดภาพประกอบได้เลยเริ่มจากตรงนั้น ช่วงแรกยังคิดที่จะหางานอื่นด้วยเพราะคิดว่ามันไม่น่าจะอยู่ได้ แต่ปรากฎว่าพอลองเขียนเรื่องของตัวเองแล้ววาดภาพประกอบเอง เราก็ไม่ต้องไปวาดภาพประกอบแล้ว ตัวเลขก็ดีกว่า อิสระก็เต็มที่กว่า อยากเขียนอยากวาดอะไรก็สร้างคอนเทนต์ขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องรอคอนเทนต์จากคนอื่นแล้ววาดให้เขา เลยกลายมาเป็นแบบนี้จนถึงทุกวัน
แต่ก็ยังทำดนตรีอยู่ตลอด
ไม่ได้หยุดเลย ที่เราถอนตัวออกมาจากดนตรีตอนนั้นเพราะมันกลายเป็นสิ่งที่เราไม่ได้อยากทำกับดนตรีจริง ๆ เราไม่ได้ตั้งใจให้ดนตรีอยู่ในชีวิตเราในรูปแบบนั้น เล่นกลางคืนก็ไม่อยากเล่นเพราะต้องเล่นเพลงคนอื่น คืนละ 20 เพลง นาน ๆ ทีก็สนุกดี แต่ถ้าเล่นเป็นอาชีพมันไม่สนุกหรอกเพราะเราตั้งใจจะทำเพลงของตัวเอง เล่าเรื่องที่เราอยากเล่ามากกว่า ตอนเข้าค่ายใหญ่ก็มีโปรดิวเซอร์มาแต่งเพลง ทำดนตรีให้เสร็จสรรพแล้ว ช่วงนั้นการาจร็อก The Strokes กำลังมา ซาวด์ดนตรีเลยถูกดีไซน์ให้เป็นแบบนั้น ซึ่งมันไม่ได้เป็นตัวตนของเราเลย ถ้ามันจะต้องเป็นในแบบที่เราไม่ได้อยากให้เป็นเราไม่รู้จะทำไปทำไม ถ้าทำแล้วไม่สนุกเราว่ามันจะกัดกินตัวเองเสียมากกว่า การร้องเพลงซ้ำ ๆ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำ เพลงเราจริง ๆ มันจะไม่ค่อยมีทิศทางที่ชัดเจน จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพลงนี้จะเป็นร็อกแอนด์โรล เพลงหน้าจะเป็นเครื่องสาย เปียโน เพลงคลาสสิกก็ไม่มีปัญหา เพราะเราเน้นการเล่าเรื่อง ดนตรีมันเป็นเครื่องมือที่เล่าเรื่องได้ยอดเยี่ยม ในขณะที่ถ้อยคำของเรามันเล่าเรื่องราว แต่เสียงดนตรีมันช่วยสร้างบรรยากาศไปด้วย เรามีกีตาร์กับเนื้อร้อง เราก็สามารถเล่าเรื่องดี ๆ ที่มีบรรยากาศที่เข้ากันไปด้วยได้ นี่คือสิ่งที่อยากทำ ตอนนี้ก็ได้ทำแล้ว หาจุดบาลานซ์เจอ แล้วก็ได้ทำซีดีเยอะกว่าตอนเป็นนักดนตรีซะอีก
เหมือนเอาทุนจากการทำหนังสือมาทำในสิ่งที่อยากทำมานาน
ก็ง่าย ๆ คือพอมีเงินแล้ว คนอื่นเขาก็มีงานอดิเรกอื่น ๆ สะสมของหรือแต่งรถ ของผมคือดนตรี
ศิลปินก็ต้องมีวินัยนะ แต่คนไปคิดว่าศิลปินต้องมีอารมณ์ ใช้ความรู้สึก มีเสน่ห์ มันก็ใช่ แต่คุณจะทำอะไรไม่สำเร็จเลยถ้าไม่มีวินัย
คิดว่าดนตรียังเป็นอะไรได้อีกบ้าง
เราว่าคำนิยามมันขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเอาดนตรีไปใช้ทำอะไร ให้คุณค่ากับดนตรีมากแค่ไหน บางคนอาจจะมองว่าเป็นแฟชัน บางคนอาจจะมองว่ามันสามารถปฏิวัติยุคสมัย มันจะยิ่งใหญ่หรือเล็กกระจ้อยก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์ เพราะมันต้องถูกถ่ายทอดโดยมนุษย์ไม่มากก็น้อย
ย้อนกลับไปตอนทำเพลง ฟังเพลงอะไรมาบ้าง ใครเป็นแรงบันดาลใจ
เราก็เป็นคนยุค 90s ก็จะเป็นวงในยุคนั้นอย่าง Radiohead แต่เพลงที่ชอบมักจะมีดนตรีบลูส์อยู่นิด ๆ Black Rebel Motorcycle Club นี่ก็ชอบมาก แต่เราจะแบ่งการฟังเป็นสองโหมด BRMC นี่ฟังเอาบันเทิง กับอีกทีก็ฟังเพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงาน เพราะไม่เพราะก็อีกเรื่อง แต่ถ้าสร้างบรรยากาศได้ก็จะเก็บมาฟังหมด อย่างตอนเขียนเล่ม ‘Blackdress’ เราฟัง Fever Ray เพลง If I Had a Heart อยู่นั่นแหละ วนไปเรื่อย ๆ เพราะบรรยากาศมันตรงกัน
เรื่องราวของ Bobby Swingers ในเล่มล่าสุด
ถ้าไม่รู้จักว่ามันคือตัวอะไรก็ไม่เป็นไร หรือไม่เคยอ่านเล่มแรกมาก่อนจะอ่านเล่มนี้เลยก็ได้ เพราะเราทำให้ทุกคนสามารถอ่านได้หมดเลย เพลงก็ไม่ได้ประหลาดมาก ฟังได้เลยโดยไม่ต้องทำการบ้าน เราพยายามทำให้มันง่ายที่สุด
การมีเรื่องเกี่ยวกับดนตรีในเล่มช่วยสร้างเสน่ห์อะไรที่แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นบ้าง
ตอนทำก็ไม่ได้คิด (หัวเราะ) อาจจะสร้างเสน่ห์สำหรับฮาร์ดคอร์แฟนจริง ๆ เขาก็จะเข้ามาถามว่าชื่อตอนนี้เราเอามาจากเพลงนั้น หรือท่อนนั้นใช่มั้ย เขาอาจจะรู้สึกดีกว่าคนอ่านคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องเพลง มันมีหลายมิติของผลงาน อ่านเอาสนุกก็สนุกดี แต่ถ้าคนที่เขาดีพหน่อยก็จะเห็นรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ที่เกี่ยวกับดนตรีเต็มไปหมด
ยังจะเอาดนตรีมาผูกกับงานเขียนเล่มต่อ ๆ ไปอีกมั้ย
มีแน่นอนครับ ตอนนี้ก็แต่งเพลงเป็นเรื่องปกติ แต่งอยู่ตลอด เป็นความบันเทิงของเราเองด้วย ยิ่งพอมีเทคโนโลยี เราแค่หยิบกีตาร์ก็ได้ยิน 5-6 ไลน์ในหัวแล้ว เวลาอัดก็อัดเอง อัดไปทีละอย่าง ทำแค่นี้ก็หมดวันแล้ว
เครดิตของเพลงที่อยู่ในเล่มนี้ เราเห็นชื่อ ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ ด้วย
ถ้าเป็น Bobby เล่มแรก ก็จะมีเพื่อนผู้หญิงอีกสองคนช่วยบันทึกเสียง คนนึงเล่นกีตาร์กับเบส อีกคนตีกลอง เราก็จะเล่นกีตาร์ เปียโน ทีนี้พอมาถึงจุดหนึ่ง ดีไซน์ของเพลงที่ได้ยินในหัวมันเริ่มยากขึ้น เราก็ต้องขอความช่วยเหลือจากนักดนตรีอาชีพแล้ว ก็โชคดีที่เจอพี่ปิงปอง หลายคนคิดว่าแกเป็นนักร้องเพลงป๊อป แต่จริง ๆ แกมีเสียงว้ากและเล่นกีตาร์ร็อกได้ดีมาก ที่เยี่ยมที่สุดคือเป็นโปรดิวเซอร์ มิกซ์เสียง เป็นซาวด์เอนจิเนียร์ที่เก่งจริง ๆ สามารถเข้าใจประโยคที่เป็นนามธรรมของเราได้ เราไม่ใช่นักดนตรีที่รู้โน้ต ไม่สามารถบอกความต้องการโดยใช้ทฤษฎีทางดนตรีได้ แต่เราจะบอกได้แค่ว่า อยากให้กลองตีเหมือนคนเมา แต่จริง ๆ เป็นคนตีกลองเก่ง แค่วันนี้มันไม่ได้ตั้งกลอง แล้วไปตีอยู่ในค่ายยิปซี พี่ปิงปองก็ไปปรับเสียงหนังกลอง แล้วก็ถามเราว่าใช่มั้ย ซึ่งเขาปรับออกมาได้ตรงแบบที่เราคิดจริง ๆ ก็น่าสงสารพวกเขานะที่ต้องมารับฟังความต้องการ abstract แบบนี้ (หัวเราะ)
เล่าให้ฟังหน่อยว่าทั้ง 5 เพลงมีคอนเซปต์หรือที่มาอย่างไร
Gypsy คือเพลงของคนทำอาชีพอิสระเลยนะ แต่มันถูกแทนด้วยคำว่ายิปซีเท่านั้นเอง เพราะว่าในเนื้อร้องมันร้องว่า ‘ไม่มีเจ้านาย อยากจะทำอะไรก็ตามแต่พอใจ’ มันเป็นความรู้สึกที่คิดว่าในตอนเราทำงานอิสระปีแรก ๆ เราคงทำเพลงนี้ออกมาไม่ได้ มันค่อย ๆ ตกตะกอนมาเรื่อย ๆ จนเราจำไม่ได้แล้วว่าเราเริ่มแต่งเพลงนี้เมื่อไหร่ แต่พอรู้สึกตัวอีกทีเราก็หยิบกีตาร์และร้องเพลงนี้แล้ว เราไม่ได้แกะเพลงคนอื่นนานแล้ว ถ้าอยากเล่นกีตาร์ก็ต้องแต่งเพลงเล่นเอง ก็จะเล่นเพลงนี้บ่อยมาก จนเนื้อเพลงมันค่อย ๆ ประกอบกัน ครบเครื่องมากขึ้น มันคือสิ่งที่ตกตะกอนจากการทำอาชีพอิสระ ‘ร้องเพลงเมามายคล้ายดั่งยิปซี’ มันก็มีบางทีที่เราเขียนหนังสือไปดื่มไป ‘ร่อนเร่ไปใต้แสงดาว’ มันก็มีช่วงที่เราเดินทาง ทำอะไรอิสระได้ตามที่อาชีพนี้มันมอบให้
ทั้ง 5 เพลงนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกัน อย่างน้อยที่สุดก็ถูกเลือกมาจากเดโม่จำนวนมากที่มี เราก็จะเลือกให้เข้ากับเรื่องในหนังสือมากที่สุด อย่างยิปซีก็มาจากในเรื่อง ตัวละครมีความอิสระในชนิดที่ว่าไม่สนเลยว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าแบบ อ้าว เราตายแล้วเหรอ ตัวเรากลายเป็นกระดูกไปแล้วว่ะ แต่มันก็ดีเหมือนกันนะ รู้สึกดีจังเลย ไหน ๆ ตายแล้วก็ไปดูโลกหลังความตายสักหน่อย
Time จริง ๆ มีชื่อไทยแต่ไม่ได้เขียนไว้ ชื่อ ต้องใช้เวลา มันก็ตกตะกอนเหมือนกัน เป็นช่วงที่เราหัดเล่นเปียโนได้ไม่กี่ปี วันหนึ่งเราก็เคาะง่าย ๆ แล้วก็ร้องคำนี้ออกมา ในวันที่ทุก ๆ อย่างต้องใช้เวลาจริง ๆ จะมีประโยคที่ว่า ‘ต้องใช้เวลาจึงจะเข้าใจ’ คนที่เราเคยคิดว่าเป็นแบบนี้ พอเวลาผ่านไป บางคนก็ดีกว่าที่คิด บางคนก็ไม่ได้เป็นฮีโร่อย่างที่คิด แต่เวลาทำให้เราเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง เพลงนี้มีเรื่องประหลาดอยู่อย่าง ตอนนั้นคุณแม่เราป่วยหนักมากแล้ว อยู่ในรพ. อาการป่วยทำให้แม่กลับไปเป็นเด็ก ๆ เราจะคุยกับเขารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เขานอนอยู่โรงพยาบาล นาทีนึงเขาอาจจะยิ้ม นาทีนึงเขาอาจจะลุกแล้วก็พูดว่าจะกลับบ้าน ซึ่งแม่ไม่เคยเป็นแบบนั้น เราอัดแบบนี้ยังไม่เสร็จดี เรายื่นให้แม่ฟังจากโทรศัพท์ ประกบเข้าที่หู เขายิ้มครับ แล้วก็โยกตัวไปมา เป็นเพลงสุดท้ายที่เขาได้ฟัง แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เขาแทบจะไม่ได้สติแล้ว แต่เขาก็ยังมีความสุขกับมัน เพลงนี้อาจจะต่างจากเพลงยิปซีหน่อย เพลงนั้นจะเป็นร็อก กีต้าร์ เบส กลอง แต่เพลงนี้จะมีเปียโน เครื่องสาย และก็แอมเบียนต่าง ๆ
At Least เราชอบทำแบบนี้ มันเกือบ ๆ จะเป็นเพลงบลูส์ที่เล่นด้วยกีตาร์ตัวเดียวได้ เรามักจะพกเพลงแบบนี้ติดตัวไว้ เวลาไปงานไหนก็ตาม เราอาจจะเล่นเพลงให้ฟัง มันควรจะต้องมีเพลงที่เล่นด้วยกีตาร์ตัวเดียวแล้วออกมาโอเค เพลงนี้เราชอบเป็นพิเศษ ถ้า Gypsy เป็นเพลงที่เริ่มต้นด้วยความเป็นวัยรุ่น ฉูดฉาด เพลง Time โตขึ้นมาอีกหน่อย เริ่มเข้าใจ เพลงนี้ก็เป็นเพลงปล่อยวาง เนื้อร้องก็จะแบบว่า ‘อย่างน้อยก็ฝากไว้ในโลกที่เป็นสีเทา’
อีกสองแทร็คจะเป็นแทร็คพิเศษ Dead Air เป็นแทร็กสั้นที่ต้องยกความดีความชอบให้กับพี่ปิงปอง ทีแรกผมรู้สึกว่าอยากให้มีอากาศเว้นไว้สำหรับเพลงถัดไป พี่ปิงปองบอกว่าใส่อากาศเปล่า ๆ เข้าไปไม่ดีหรอก เขาขอเป็นเสียงประดิษฐ์ แล้วเขาก็ทำเดี๋ยวนั้น มันก็เพราะในแบบของมัน
ส่วน Time ที่เป็น encore version พี่ปิงปองมิกซ์ให้เป็นแบบที่แกอยากให้เป็น ตอนแรกก็ถกกันว่าเราไม่อยากให้มันเป็นร็อกมาก ปรากฎแกทำออกมาได้ดีจริง ๆ ต้องยอมรับเลยว่าแกทำออกมาให้มันเป็นอีกแบบไปเลย
อยากให้เพลงของคุณบอกอะไรกับคนฟังบ้าง
อยากให้มีความบันเทิงเป็นอย่างแรก เหมือนหนังสือ ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ต้องค้นหา แต่ว่านาน ๆ ไปลองหยิบมาฟังอีกทีก็ได้ วันเวลาผ่านไปอาจจะทำให้เรารู้สึกกับมันเปลี่ยนไป บางคนพยายามที่จะหาความหมายว่าเราอยากบอกอะไร ไม่ต้องคิดมากหรอก เราเคยฟัง Radiohead แล้วเราไม่ชอบเลย ไปฟัง Korn ดีกว่า แต่พอวันเวลามันผ่านไป พอเวลาที่เหมาะสมมันมาถึง Radiohead แม่งยอดเยี่ยมในทุกมิติเลย
ทำแต่ซีดีออกมาพร้อมหนังสือตลอด ไม่คิดจะทำเป็นอัลบั้มบ้างหรอ
ก็คิดนะ แต่มันต้องใช้เวลาหน่อย อย่างแผ่นนี้ก็ออกมาเป็น EP สามสี่เพลง จริง ๆ ก็มีเพลงเหลือเฟือที่จะทำสองอัลบั้มสบาย ๆ แต่ด้วยเราทำงานเขียนตลอด ก็ยากหน่อย
ใช้เวลาในการทำหนังสือและทำเพลงนานไหม
เราทำไปพร้อม ๆ กันเลย บางเล่มก็แปลกดีที่เขียนหนังสือไปด้วย เข้าห้องอัดไปด้วย บางวันก็ขับรถไปหาพี่ปิงปอง ไปนั่งมิกซ์กัน 8 ชั่วโมงเสร็จ กลับมาปิดเล่มต่อ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีของการทำงาน เป็นช่วงที่เหนื่อยแต่ก็พิเศษมาก เพราะเรากำลังทำอะไรที่เราอยากทำจริง ๆ ทั้งนั้น
คำจำกัดความถึงอาชีพที่ทำอยู่ตอนนี้
เราชอบเล่าเรื่องมากที่สุด จากที่เคยเข้าใจผิดมาก่อนว่าเราจะเป็นนักดนตรีที่ดีที่สุด แต่พอไปใช้ชีวิตจริง ๆ ก็พบว่าเรามีบุคลิกที่ไม่น่าเป็นนักดนตรีมาก ๆ เราไม่ชอบอยู่ดึก ไม่ชอบคนเยอะ ไม่ชอบอยู่ในสถานบันเทิง มีอะไรที่มันค้านจากนักดนตรีคนอื่น ๆ มันประหลาดมากที่เราก็ไม่ชอบที่ดูคอนเสิร์ต เราชอบอยู่เงียบ เล่นสดเราก็เฉย ๆ ไม่ได้ปรารถนาอะไร ได้เล่นนาน ๆ ทีก็ดี แต่ชอบที่สุดคืออยู่ในห้องอัด ชอบประกอบเสียงในหัวและทำออกมาให้เสร็จสมบูรณ์ ส่วนงานวาดเราก็เคยคิดว่าเราชอบวาดรูปและอยากเป็นนักวาดภาพประกอบ แต่เราเข้าใจผิด เราอยากวาดเพราะอยากให้เรื่องของเรามันสมบูรณ์ ตอนนี้เริ่มมองใหม่ว่าเราอยากเล่าเรื่องแบบไหนก็ได้ให้มันสมบูรณ์ เล่าด้วยเพลง เล่าด้วยหนังสือ เล่าด้วยอะไรก็ได้ อย่างเล่มนี้ก็เขียนที่ปกหลังว่า ‘เรียกไม่ถูกเหมือนกันว่าสิ่งนี้คืออะไร’ เพราะการทำงานก็เป็นแบบนั้น เรามีเรื่องอยู่แล้วก็หยิบสื่อที่เรามีอยู่มาเล่าเรื่อง มันก็ค่อนข้างจำกัดความยากอยู่
ข้อดีของการที่ฟอร์มการเล่าเรื่องสามารถผสมผสานกันได้หมด
ข้อดีมันเยอะนะ เราสนุกขึ้นแน่นอน มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ว่ามันน่าเสียดายที่การทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันให้สัมผัสได้มันน้อยลงทุกที จริง ๆ เพลงปล่อยให้โหลดใน iTunes ก็ได้ แต่พอทุกอย่างอยู่ในอากาศ คุณค่ามันก็ลดลง มันก็เป็นอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับหนังสือและเพลงในทุกวันนี้ เราชอบซีดี เพราะมันงดงาม เราตั้งใจทำมาก รู้สึกว่าการจับต้องได้มันยังสำคัญกับเราอยู่ และมันคือเหตุผลที่เราทำออกมาเป็นหนังสือ ได้ออกมาพบปะกับผู้คน จริง ๆ งานของเราค่อนข้างสวนทางเหมือนกันที่ผลิตออกมาในรูปแบบนี้ แต่มันก็ควรจะต้องมีคนทำอะไรแบบนี้ออกมา ไม่งั้นต่อไปเราจะเป็นยังไง ทุกอย่างอยู่ในอากาศ ความรักก็อาจจะอยู่แค่ในอากาศก็ได้
แต่ตอนนี้ก็เหมือนคนเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น
เราเคยเห็นช่วงที่คนไม่เอาสิ่งพวกนี้เลย แล้วมันก็จะค่อย ๆ ตีกลับ มนุษย์เราไม่ได้ถูกสร้างมาเป็น A.I. วัน ๆ ไม่ได้จับต้องอะไรเลย เราก็ยังอยากเห็นหน้าศิลปินที่เราชอบตัวเป็น ๆ ไม่ใช่ดูผ่านจออย่างเดียว อยากเอาอะไรให้เขาเซ็น อยากยืนเขินเวลาดูเขาเซ็นของให้เรา
เราเคยมีความสุขกับหนังสือจนลืมเรื่องน่าปวดหัวไปหมดไหม เพียงแค่เพราะเราอยากกลับไปอ่านที่ค้างไว้ ไม่ว่าเหนื่อยยังไง เราก็รู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น
เดี๋ยวนี้มีงาน conceptual ออกมาเยอะ คิดว่าจะทำงานแบบนี้บ้างมั้ย
ก็คิดนะ ได้คุยกับหลายที่มากเลยว่าจะทำนู่นทำนี่ เราต้องยอมรับว่าบางงานเราก็ทำด้วยตัวเราเองได้ พอยุ่งกับคนเยอะ ๆ แล้วเราจะรู้สึกว่ามันยากจัง มันมีปีที่เราประชุมโปรเจกต์เยอะมาก แต่ที่สุดแล้วงานก็ไม่ค่อยออกมาเหมือนกับเวลาที่เราทำเอง เราอาจจะเป็นมนุษย์ชอบทำงานคนเดียวก็ได้ อย่างหนังสือที่ทำก็มีทีมงานอยู่ 3-4 คน แล้วบางทีระหว่างปีเราไม่ต้องเจอกันก็ได้นะ แต่เราจะมีวินัย ถ้าบอกว่าวันไหนเสร็จก็วันนั้น ถ้าทีมศีลไม่เสมอกันก็ลำบาก เคยทำงานกับนักดนตรีบางคน บอกว่าพรุ่งนี้เราจะอัดเพลงนี้กันก็ให้ฟังเพลงกันมาก่อน ถึงเวลาเข้าห้องอัด เขายังไม่ได้ฟังเพลง ไม่ได้ซ้อม แบบนี้เราทำงานด้วยไม่ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาคลาสสิกนะ มีคนถามว่าทำไมเราถึงออกผลงานได้ทุกปี คุณภาพเนี้ยบ ศิลปินก็ต้องมีวินัยนะ แต่คนไปคิดว่าศิลปินต้องมีอารมณ์ ใช้ความรู้สึก มีเสน่ห์ มันก็ใช่ แต่คุณจะทำอะไรไม่สำเร็จเลยถ้าไม่มีวินัย ถ้าไปดูเบื้องหลังของนักดนตรีวงดัง ๆ จะพบว่าเขามีวินัยสูงกันหมด ต่อให้เวลาสัมภาษณ์จะบอกว่าผมดูดโคเคนแล้วก็หลับไปสามวัน แต่เขาก็มีขอบเขตที่จะต้องทำอัลบั้มให้เสร็จ เป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิดกับอาชีพศิลปินเยอะพอสมควร
ไปเอาวัตถุดิบในการเล่าเรื่องมาจากไหน
มันกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เราทำไม่ทัน เราไม่เคยมีปัญหาว่าจะเขียนอะไรดีวะ ปัญหาเราคือจะเขียนเรื่องไหนก่อนดีวะ เพราะมันมีอยู่เสมอ ซึ่งเวลาเขียนก็มักจะใช้เวลาพอสมควร แล้วขณะที่เขียนก็จะมีเรื่องใหม่ผุดขึ้นมา ก็จะเกิดความรู้สึกว่าอยากไปเขียนเรื่องนั้นแล้ว แต่ก็ต้องทำอันนี้ให้เสร็จก่อน เป็นแบบนี้ตลอด พอหนังสือใหม่ออกวางขายแล้ว เล่มใหม่ของเราจะเริ่มไปแล้วประมาณ 20 เปอร์เซนต์ วินัยก็ส่วนหนึ่ง แต่ความอยากเขียนก็สำคัญ พอเราเขียนแบบหนึ่งออกมาหกเดือน เราก็จะเบื่อสไตล์นี้แล้ว เราก็อยากที่จะไปเขียนแบบอื่นบ้าง จะมีบางเล่มที่คนจำไม่ได้เลยว่าคนเขียนคนเดียวกัน เพราะมันคนละเรื่องกันเลย แต่เราก็มีความสุขในการเปลี่ยนสไตล์ไปมา
คิดว่าทำไมเราควรอ่านผลงานของคุณ
ถ้าลองอ่านแล้วมีความสุขก็อ่าน เราไม่เคยคิดว่าหนังสือของเราจะต้องอ่านเพื่อเอาปรัชญาหรือข้อคิดอะไร เราว่าหนังสือทุกเล่มก็มีอยู่ในตัวของมันไม่มากก็น้อย สำคัญที่สุดคืออ่านแล้วต้องสนุก บางคนมีทุกอย่าง ปัจจัยสี่พร้อม แต่ทำไมเราต้องตามหาเพลง หนัง หนังสือที่ชอบ เพราะมันไม่ใช่ว่ามีชีวิตแค่นั้นแล้วจะมีความสุข สิ่งพวกนี้มันทำให้เรามีประสบการณ์มากกว่าที่เรามีชีวิตอยู่เฉย ๆ เวลาเราฟังเพลงในตอนเช้าถ้าเราเลือกได้ดี วันนั้นก็จะดีไปทั้งวันเลยนะ หนังสือก็เหมือนกัน เราเคยมีความสุขกับหนังสือจนลืมเรื่องน่าปวดหัวไปหมดไหม เพียงแค่เพราะเราอยากกลับไปอ่านที่ค้างไว้ ไม่ว่าเหนื่อยยังไง เราก็รู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น
คนอ่านงานของคุณเป็นกลุ่มไหน
ก็ปนกันไปหมด อาจจะเป็นทำงานมานานแล้ว ที่แน่นอนก็วัยรุ่น เด็กเล็ก ๆ ก็เริ่มมี เล็กที่สุดที่เคยเจอคือสามขวบ เขาพยายามอ่านหัวไฟ (หัวเราะ) มันก็มีเรื่องประหลาดนะ เราเคยเอาเรื่องสั้นของเราชื่อ เพลงเศร้าของโบตั๋น ที่ดาร์กมาก เศร้ามาก ไปเล่าให้เด็กอนุบาลฟัง โบตั๋นเล่นพิณญี่ปุ่นจนหมีร้องไห้ตายคาต้นโบตั๋น พอหมีตาย เด็กหัวเราะทุกคน เขาไม่ได้มีประสบการณ์แบบเดียวกับพวกเรา เราเคยคิดผิด ไปตีความว่าเด็กจะต้องรู้สึกแบบนั้นแบบนี้ จริง ๆ เด็กมองแบบใส ๆ เลย เขาแค่รู้สึกว่ามันเจ๋งดี เคยมีเด็กประถมมาอยู่ดูหนังสือเรา มาแบบแก๊งแฟนฉันเลย เราชอบมาก เขาพูดกันเองว่าเรื่องนี้ผจญภัยน่าสนุกยังไง เขาไม่ได้มองเลยว่ามันสะท้อนสังคม เขาคิดแค่นั้น เขามองแบบที่เขาคิดจริง ๆ ไม่ได้มีมายาคติมาแปดเปื้อนเขา ไม่สนใจว่าเล่มนี้ใครเขียน เล่มนี้ดังมั้ย อนาคตอาจจะได้เห็นเราเขียนหนังสือเด็กก็ได้
คิดว่าหนังสือเด็กของคุณจะเป็นอย่างไร
ก็จะพยายามไม่ทำร้ายเด็ก (หัวเราะ) คงไม่มีอะไรที่เป็นพิษเป็นภัย ก็เคยมีคนอยากให้เราทำหนังสือเด็กให้เขา แต่เราทำไม่ได้ เพราะเขามองเด็กด้วยสายตาของผู้ใหญ่ คือการที่เราเอาประสบการณ์ของเราไปตัดสินเขาเหมือนที่เล่าไปเมื่อกี้ เวลาเราอยากเขียนให้เด็ก เราก็จะทำตัวเป็นเด็กด้วย คิดเหรอว่าเรื่องนี้เด็กจะเศร้า เขาอาจจะยังไม่เจอใครตายในชีวิตเขา หมีตาย เด็กหัวเราะ เราต้องพยายามทำความเข้าใจเด็กมาก ๆ ถึงจะเขียนได้
แปลกดีที่เราก็ยังจำความรู้สึกตอนอยากได้ของเล่น ยังจำตอนที่เล่นของเล่นนั่นนี่ บางทีเราก็เขียนหนังสือด้วยความรู้สึกนั้น เราคิดแค่เราอยากเห็น อยากได้งานแบบนี้ที่เราอ่านเองแล้วจะสนุกมาก แต่ด้วยความที่เราเป็นผู้ใหญ่ที่แปดเปื้อนแล้ว ต่อให้ตั้งต้นใส ๆ ยังไง มันก็จะมีนั่นนี่ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราตกตะกอนลงไปในงานเขียนอยู่ดี
มีงานเขียนแนวไหนที่อยากเขียนอีกบ้าง
อยากเป็นนักเขียนที่ไม่ต้องวาดเลยบ้าง เพราะเรามีความสุขนะ งานที่เราชอบอ่านก็ไม่ได้มีภาพประกอบอะไร มันก็สนุกดีด้วยตัวมันเอง อยากให้มันไปสู่สื่ออื่นบ้าง อนิเมชั่นก็เคยมีคุย ๆ บ้าง (FJZ: แต่ก็มีที่ก่อนหน้านี้ที่มีทีมเอา ‘Nine Lives’ ไปทำแบบสั้น ๆ) ใช่ มันก็รู้สึกดีนะที่ได้เห็นงานของเราฉายในสกาล่า แฟนหนังสือก็เข้าไปดูด้วยกัน เราว่ามันเป็นโมเมนต์ที่ดี ที่เราทำอะไรเสร็จสักอย่างแล้วชวนเพื่อนมาดูด้วยกัน นักเขียนบางคนเขาก็ซีเรียสนะที่งานของเขาจะต้องเป็นหนังสือเท่านั้น แต่เราไม่ เราแค่อยากเล่าเรื่องนี้
ในอนาคตจะมีผลงานที่ไม่ใช่สิ่งที่เคยทำบ้างไหม
ที่มันจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ก็คือโปรดัก ซึ่งมันก็เปลี่ยนไปตลอด เราก็ไม่รู้ว่ามันจะไปถึงไหนเหมือนกัน ปีนี้อาจจะเป็นเสื้อยืด เข็มกลัด สติ๊กเกอร์ ตุ๊กตา ต่อไปอาจจะเป็นเครื่องหอม คือเรามีเสียง มีภาพ มีเรื่อง แต่ยังไม่มีกลิ่น แล้วเราก็ชอบน้ำหอมเหมือนกัน อาจจะเป็นไปได้ เอาให้ครบทุกประสาทสัมผัสไปเลย (หัวเราะ)
พอจะเรียกว่าเป็นอาณาจักรของทรงศีลได้หรือเปล่า
ก็คงไม่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่คนที่ชอบเขาก็น่าจะมีความสุข ดื่มด่ำได้มากยิ่งขึ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ทรงศีล ทิวสมบุญ ได้ที่ https://www.facebook.com/SONGSIN.page/