ชวน Solitude Is Bliss คุยเจาะลึกอัลบั้มเต็ม Please Verify That You Are Not A Robot
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
หลายคนที่ซื้ออัลบั้ม Please Verify That You Are Not A Robot คงได้ฟังเพลงของ Solitude Is Bliss ชุดที่สองจนอิ่มอกอิ่มใจกันไปแล้ว และวันนี้ก็เป็นดีเดย์ที่ได้ฤกษ์เอาเพลงมาลง streaming มาลองไปฟังและอ่านถึงการทำงาน และเรื่องราวเบื้องหลังแต่ละเพลงกันเลย
งาน Cat Expo ที่เพิ่งผ่านไปเป็นยังไงบ้าง ลงมาทุกปีเลย
เฟนเดอร์: 4 ปีติดกันแล้วมั้ง
แฟรงค์: ทั้งอันนี้และ Cat T-Shirt เหมือนว่ามีงานแคตเมื่อไหร่เราก็ได้ลงมา
เบียร์: ถ้าเทียบกันเป็นปีต่อปีคนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ปีนี้เยอะสุด เบียดกันจนหายใจไม่ออกเลย
คิดยังไงที่ศิลปินทุกคนตั้งหมุดหมายว่าต้องออกอัลบั้มให้ทัน Cat Expo
เฟนเดอร์: ด้วยความที่ Cat Expo มันเป็นตลาดใหญ่มาก ๆ ที่ประสบความสำเร็จ คนที่เข้ามาคือเขาพร้อมมาจับจ่ายอยู่แล้ว (แฟรงค์: มันก็เลยเป็นเดดไลน์ที่ดีของศิลปิน) เป็นนิมิตหมายที่ดีของการออกโปรดักต์ใหม่ ๆ ก็ชื่อมันก็ expo แล้วในมุมมองของศิลปินคนนึงที่ขึ้นงานนี้ ความจริงปีล่าสุดมันดีขึ้นเรื่อย ๆ ซาวด์ซิสเทม มอนิเตอร์ ความชัด ความเคลีย ปีนี้ดี (แฟรงค์: มีรถขนของให้เราด้วย)
เบียร์: อีกอย่างเราว่ามันดีต่อการขายงานของศิลปินมาก ๆ เพราะจำนวนคนที่ไปก็เยอะมาก แล้วมันช่วยส่งเสริมวงหน้าใหม่อยู่ดี คือวงพวกนี้ถ้าเขาได้มีโอกาสได้มาเล่น คนก็อยากซื้อแผ่น
เฟนเดอร์: แต่ความจริงถ้าวงรุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่งเริ่มมาแล้วเอา Cat Expo เป็นหมุดหมายเลยเราว่ามันก็ไม่จำเป็นต้องขนาดนั้น ความจริงตัว Solitude Is Bliss เองก็ไม่ได้วางแผนว่าต้องแคตเท่านั้น ความจริงต้องเสร็จก่อน แต่พอดีขั้นตอนมันก็รวบรัดจนเสร็จพอดีงานแคต วงส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ได้วางแผน แต่มีแคตเป็นเชื้อในการลนตูดอยู่พอดี (แฟรงค์: มันไม่รีบทำก็ต้องรีบทำ)
แฟรงค์: แล้วปีนี้ความที่เราอายุเยอะขึ้น คนฟังใหม่ ๆ มันก็มีเยอะ เด็กที่อายุห่างเรามาก ๆ ก็มีโอกาสได้มาเจอเราแล้ว บางคนอายุ 18 แล้วมาบอกเราว่าฟังตั้งแต่ตอนอายุ 16 แต่ไม่ได้มาดูพี่ นี่เป็นครั้งแรกของผมที่ได้ดูพี่เล่น (เบียร์: ทางเข้ามาตรงเวที Solitude is Bliss จะเล่นคือคนต่อคิวยาวมาก) เห็นแล้วขนลุก มันก็เลยช่วยเราให้อยากทำแบบนี้ต่อไป
หลายคนมองว่า Solitude is Bliss เป็นวงดนตรีของยุคสมัยนี้
เฟนเดอร์: วันนึงถ้าจะให้เรารู้สึกแบบนั้น คงต้องเป็นตอนที่เราทำทุกอย่างได้โดยที่ไม่ต้องแคร์กฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้นของซีนดนตรี
เบียร์: เหมือนที่เราทำเพลงแล้วไปเปลี่ยนเทรนด์คนฟังได้ อันนี้ผมว่ามันประสบความสำเร็จ
เอาแรงบันดาลใจอะไรมาทำให้เลือกเรียบเรียงเพลงสไตล์นี้
เฟนเดอร์: ความทรมานจากความจนครับ (หัวเราะ) ล้อเล่น น่าจะเป็น timing มันกว้าง ถ้านับตอนทำเดโมแรก มันคือสามสี่ปีแล้ว แล้วมันก็ไม่ได้วางแผนมาเพื่อที่จะ ตู้ม! เป็นอันสุดท้าย มัน develop มาเรื่อย ๆ (แฟรงค์: เหมือนเรามีเวลาอยู่กับเพลงมากขึ้น แล้วก็โตขึ้นด้วย)
โด่ง: เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน
เบียร์: อิทธิพลยังเป็นการรับความรู้สึกจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แบบชุดก่อน อย่างเพลง 3.00 AM ก็รับมาจากเหตุการณ์เพื่อน อัลบั้มนี้ก็เหมือนกัน แต่การสร้างสรรค์ sound design มันสนุกกว่า เราอยากทำตามใจฉันขึ้นมาหน่อย
เฟนเดอร์: เราว่าวิธีการทำงานด้วย ตั้งแต่โปรดักชัน เราทำ แล้วเลือกพี่เจ Penguin Villa ให้เป็นโปรดิวเซอร์คนแรก และเป็นการทำงานกับคนอื่นครั้งแรก อันนี้เป็นจุดเปลี่ยนนึง แล้วเราก็ได้มาตรฐานการทำงานที่มีคุณภาพของพี่เจเข้ามา ทั้ง source การเล่น sound design ต่าง ๆ คนมิกซ์ก็เป็นคนนอก (เจ—มณฑล ดิลกชวนิศ) แต่ก่อนทำเองหมด พี่โด่ง (มือเบส) เป็นคนมิกซ์ มาสเตอร์
เบียร์: ผมว่ามันดีตรงที่มีคนช่วยตัดสินใจด้วย ถึงแม้จะไม่ได้ช่วยคิด หรือเปลี่ยนอะไรทั้งหมด แต่บางทีอัลบั้มที่แล้วเกิดการถกเถียงกันบ่อย บางทีเสียเวลา
เฟนเดอร์: การถกเถียงมันปกติอยู่แล้ว แต่บางทีมันไม่มีคนกลางมันก็จะไม่เชื่อกันสักคน มันก็ต้องสรุปที่ตรงกลางของเพลง ซึ่งบางทีก็ทำให้ทิศทางมันอาจจะไม่ถูกต้องที่สุด ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ว่าควรเป็นแบบไหน เพราะเราเป็นคนที่หมกมุ่นกับงาน มันก็ต้องถอยออกมามอง หรือเป็นคนที่มองจากข้างนอกเข้ามา แล้วเขาจะรู้ว่าไป direction นี้ดีกว่า มีตัวเลือกให้ บอกวิธีแก้ไขมาให้เราเลย นอกจากเรื่องโปรดักชันก็มีเรื่องการพัฒนาทีม มีพี่พอล พี่จ๋า เข้ามาช่วยจัดการวง แล้วก็มีการร่วมงานกับศิลปิน (แฟรงค์: packaging แผ่นเราก็ไม่ได้ออกแบบเองแล้ว) เราใช้วิธีทำเอกสารขึ้นมาเก็บข้อมูล แจกให้ทุกคนตอบแบบสอบถามว่า ฟังแล้วรู้สึกอะไรบ้าง เห็นเป็นสีอะไร แล้วรวมไว้ที่เดียวแต่ไม่ให้แต่ละคนได้อ่านของกันและกัน แล้วส่งข้อมูลนี้ให้ศิลปิน แล้วให้เขาไปฟังเพลงทั้งหมด บวกกับข้อมูลของพวกเรา มีการ reference ว่าส่วนนี้ของงานเขา quote มาจากสิ่งที่คนนี้เขียน แล้วให้เขาตีความออกมา
แฟรงค์: อย่างเบียร์เขียนว่าอัลบั้มนี้เป็นเหมือนเพลงไทยในอีกร้อยปีข้างหน้า (หัวเราะ) ของแฟรงค์มองว่าอัลบั้มนี้เป็นรูบิกที่สีไม่ได้สดแบบรูบิกปกติ แต่มันสามารถบิดได้ทุกที่ทิศทาง จะประกอบกันเป็นหน้าสีไหนก็ได้ หรือกลับมาเป็นหน้าเดิมก็ได้
เบียร์: แนะนำว่าถ้าเมา ๆ อะไรสักอย่างแล้วไปจ้องปกอัลบั้ม มันจะเห็นอะไรซ้อน ๆ กันเยอะ ๆ สนุกครับ
เฟนเดอร์: artwork มาจาก Tua Pen Not เขาทำงานออกมา 6 ชิ้น เป็นขนาดไวนิล 12” เราวางแผนไว้ว่าถ้าทำขนาดไวนิลแล้ว artwork มันจะมีสี texture และสเกลเท่ากับงานของจริง เป็น 1:1 เลย (แฟรงค์: คนที่ซื้อไวนิลไปก็เหมือนได้งานพี่เขาไปด้วย) แล้วก็มีปกหน้า ปกหลัง ใน booklet ด้วย เขาตีความว่าเป็น ‘Back to basic. Back to raw. คือต้องมีความรู้สึก และมีความไร้เดียงสาของเด็ก เพราะชื่ออัลบั้ม Please Verify That You Are Not A Robot มันมาจาก Captcha เวลาเราจะโพสต์อะไร หรือสมัครสมาชิกอะไร แล้วระบบมันให้เรายืนยันตัวตนว่าเป็นคนจริง ๆ ไม่ใช่โปรแกรม การที่มาฟังเพลงของเราก็คือการตรวจเช็กว่า คุณยังรู้สึกกับเรื่องพวกนี้ที่เราพูดในเพลงหรือเปล่า
จ๋า: คอนเซ็ปต์เขาได้จากการฟัง กับข้อมูลของเรา รวมถึงจากชื่ออัลบั้ม เขาก็ตัดสินใจใช้ไม้ แทนที่จะใช้ผ้าใบ เพื่อจะได้ขูดขีดได้ ให้รู้สึกถึงความเป็นคนที่จะคราฟต์งานขึ้นมา merchandise จะออกมาในทางที่พยายามสื่อสารถึงความเป็นมนุษย์
แฟรงค์: ตอนถ่ายเขาถึงพยายามบอกว่า ขอให้ถ่ายให้ติดส่วนที่ขูดออกไปให้หน่อย (จ๋า: ใช่ เพราะมี texture)
ใช้เวลาทำทั้งหมดกี่ปี ชุดนี้
เฟนเดอร์: ถ้ารวมทำเดโม่ด้วยก็สามปี แต่โพรเซสอัดจบไปเมื่อเดือนมีนาคม ด้วยความที่พี่เจติดทำคอนเสิร์ต เราก็มีงานเล่นอะไรตลอด ก็ใช้เวลาอีกแปดเดือนสำหรับ post production
เบียร์: แล้วเราก็ทำในสตูดิโอเดียว แต่มันมีคนอื่นมาใช้สตูเราด้วย
แฟรงค์: ตารางทำงานเราเลยดูแน่นไปหมด แต่เราอยู่กับพี่เจเต็มที่ประมาณ 45 วัน
เฟนเดอร์: ตอนแรกคิดว่าจะกดดันกว่านี้ แต่แกเป็นคนประเภทเดียวกับพวกเรา มุขก็มุขสไตล์เดียวกัน (เบียร์: เขาเหมือนเป็นสมาชิกคนที่ 6 ของเรา) (แฟรงก์: จริง ๆ เป็นฟีลนั้นเลย คือเคมีตรงกันมาก) ถ้าปัญหาที่เราเห็นใน process การอัดก็มีอยู่อย่างเดียวคือเรายังไม่มีเวลามากพอ คือไม่สามารถทิ้งเวลาไปทั้งวันแล้วมาอยู่รวมกัน 3-4 วันได้ แต่ละคนก็ยังมีภาระรายวันอยู่ ก็ใช้วิธีสลับกันเข้ามาสตูดิโอ
ในอนาคตจะทำงานกับคนนอกอีกไหม
แฟรงค์: เดี๋ยวดูอัลบั้มหน้าก่อน แต่ที่ผ่านมาเราคิดว่ามันดีมาก โอเคเลยแหละ แต่ EP อาจจะทำกันเอง มันเหมือนเป็นสนามทดลอง แบบ เชี่ย สนุกว่ะ ซึ่งอัลบั้มเนี่ยมณฑลช่วยในระดับนึงเลย
เฟนเดอร์: แต่อัลบั้มมันเหมือนเป็นการเอาผลลัพธ์การทดลองมาสรุป มันก็เลยต้องมีความจริงจังเข้ามา
เบียร์: รูปแบบการมิกซ์มันก็ถือเป็นอะไรที่ใหม่ของพี่เจ มณฑล เหมือนกันนะ
ซึ่งก่อนจะวางขาย วงก็เปิด pre order ไปก่อน ซึ่งยอดจองถล่มทลายมาก
จ๋า: ทำทั้งวันเลยค่ะตั้งแต่เที่ยงถึงเที่ยงคืน ไม่หยุดเลย นั่งอยู่หน้าคอม (หัวเราะ)
เบียร์: ก็ดีใจครับ มีคนเชื่อมั่น บางคนยังไม่ได้ฟังแต่ซื้อเป็นเซ็ตใหญ่เลย
เฟนเดอร์: ถึงจะดูเหมือนล่กแต่การทำงานละเอียดกว่า Her Social Anxiety เพราะเราวางขั้นตอนไว้เยอะ คนที่ไม่ได้ติดตามวงตลอดจะรู้สึกว่าการทำงานของเรากระโดดมาก เพราะมาทีก็ปล่อยอัลบั้มเลย แต่อันนี้มันเลยผ่านวิธีการทำงานเยอะ ไม่ใช่ทำทีละเพลง ๆๆ เสร็จแล้วรวม ๆๆๆ มาใส่อัลบั้ม
แฟรงค์: ซึ่งก็รู็สึกสะใจทุกครั้งที่ได้ปล่อยงานมาก อย่างเราดูซีรีส์ ถ้าปล่อยมาทีละ EP มันก็น่าหงุดหงิด ต้องมารอตามต่อ สู่ปล่อยทีเดียวครบทุก EP ไปเลย เพราะว่ามันได้ความต่อเนื่องด้วย เราไม่ชอบ 3 เดือนปล่อยเพลงนึง มันไม่โอเคสำหรับแฟรงค์นะ แล้วพี่ ๆ ศิลปินชอบมาบ่นให้เราฟังว่าพวกมึงโชคดีนะได้ออกทีเดียวเป็นอัลบั้ม พวกกูต้องปล่อยเป็นซิงเกิ้ลอยู่เลย แต่นั่นก็เป็นแผนการตลาดของค่ายอื่น
เฟนเดอร์: ในความรู้สึกของเรามันคือสบายใจที่จะปล่อยงานแล้ว หมายความว่ามันเสร็จหมดแล้ว ไม่ต้องห่วงว่าเพลงต่อไปจะเข้ากับที่ทำไปก่อนหน้าไหม เราสรุปไปหมดแล้ว
เบียร์: อัลบั้มนี้สบายใจกว่าอัลบั้มที่แล้ว ไม่ค่อยรีบ คุณภาพซาวด์ก็ดีกว่า
รู้สึกยังไงที่อยู่ Minimal Records มาตั้งแต่แรก จากค่ายเล็ก ๆ ก็เริ่มเป็นระบบเข้มแข็งขึ้น
แฟรงค์: ช่วงนี้ค่ายก็เริ่มมี full time มาแล้ว มีเซ็ตระบบหลังบ้าน จากที่เมื่อก่อนมีเฮียแกคนเดียว (สุเมธ ยอดแก้ว) ตอนนี้ก็เริ่มมีคนมาแบ่งเบา เริ่มมีคนมาซัพพอร์ตในหลาย ๆ เรื่อง หวังว่าอนาคตจะโตกว่านี้เรื่อย ๆ เทียบเท่าค่ายกรุงเทพ ฯ ให้ได้ ไม่ต้องถึงกับค่ายใหญ่ก็ได้
เนื้อหาเพลงในอัลบั้ม Please Verify That You Are Not A Robot พูดถึงอะไรบ้าง
เฟนเดอร์: เราว่าก็เหมือนกับชุดที่แล้วแหละ แต่จากอันเก่าตะโกนถามโลกว่าเกิดอะไรขึ้นวะ แต่ข้างนอก ความคาดหวังมันพังทลายลงแล้ว ก็กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าความสามารถของคนคนนึง แท้จริงมันคืออะไร ส่วนเรื่องการเมืองก็ค่อนข้างลดความแข็งกร้าวลงไปเยอะ มันสโคปไปที่คนหนึ่งคน ไม่ต้องไปคาดหวังคนอื่นแล้ว แต่ว่าจะทำยังไงกับชีวิตของตัวเองต่อไป
ความจริงเดโมมี 14 เพลง แต่เราคาดหวังว่าจะลงไวนิลแน่นอน ซึ่งไวนิลมันมีเนื้อที่จำกัด มีแค่ 45 นาที เลยต้องตัดสองเพลงออก พี่เจก็คิดหนักว่าจะตัดเพลงไหนดี เพราะชอบหมด แกเข้ามาทำก็บอกว่าไม่รู้จะเปลี่ยนอะไรดี มีเพลง Take Me กับ Black Hole ซึ่งไม่น่าจะปล่อยออกมาแยก ยังตอบไม่ได้ว่าจะทำอะไรต่อ มันเป็นดราฟมาก ๆ
เบียร์: Take Me จริง ๆ จะให้เป็นเพลง 1.00 AM แต่น่าจะยังไม่เหมาะกับอัลบั้มนี้ แล้ววง Sirimongkol ก็มาดีล (หัวเราะ) เขาสนใจก็มาถาม ๆ แต่เรายังไม่ได้เอาไปที่ไหน ทิ้งไว้ก่อน
Show Time
เฟนเดอร์: หลัก ๆ แล้วมันเป็นเพลงปลุกใจสำหรับคนหนึ่งคน คือผมไม่รู้ว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองยังไงแล้ว สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือการโดดเข้าไปในหน้าที่ของตัวเอง สิ่งที่เราคิดว่าจะรับผิดชอบและทำให้มันดีที่สุด มันก็เลยมีท่อนที่ร้องว่า ‘Jump into your tea cup. Do it’ เน้นว่าไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน อยู่ในหน้าที่อะไร ลุกขึ้นมาทำและตัดสินใจไปเลย
แฟรงค์: ตอนนั้นเราขอเบียร์ไว้ว่า ท่อนโซโล่ขอแจ๊ส ๆ
Dream On, Ice Cream
เบียร์: เพลงนี้มาจากการไปทัวร์ แต่งเพลงนี้ตอนนั่งเครื่องบินกลับ แล้วนึกถึงคำพูดของ John Lennon ว่า ‘คุณต้องลองตัวเนี้ย ซักครั้ง’ แล้วผมก็เมาตัวนั้นด้วย เลยเขียนเพลงนี้ขึ้นมา เกี่ยวกับว่า ความเมาพาเราไปได้ทุกที่ แล้วก็เลิกคาดหวังกับอะไรหลาย ๆ อย่าง เป็นหลายเรื่องอยู่ในเพลงเดียว
เพียงสิ่งเดียว
เบียร์: เนื้อหามาจากการไม่ชอบตัวเอง ผมเจอประโยคนึงที่พูดประมาณว่า ‘การมีชู้ก็เหมือนการเปิดประตูนรก’ ซึ่งมันเป็นเรื่องจริง เหมือนการทำร้ายอีกคน แต่มันทำร้ายตัวเองที่สุด ไม่มีใครชนะในสิ่งนี้เลย นี่คือความแย่ของความเจ้าชู้ เป็นเพลงที่ผมแต่งมาด่าตัวเองว่ามึงต้องเลิกแล้ว ทุกวันนี้ผมเลยกลายเป็นคนดีครับ (หัวเราะ) นอกจากต้นเรื่องที่บอกไปแล้ว เพลงนี้ตั้งใจให้คนฟังไปนึกว่าเรื่องนึงที่ทำให้ตัวเองแย่ คือเรื่องอะไรบ้าง (เฟนเดอร์: อะไรคือสลิงที่เกี่ยวเราไว้ไม่สามารถปล่อยทิ้งบางอย่างไปได้) ส่วนดนตรีก็มาจากการอิมโพสไวส์ ทำให้คอร์ด 2-5-1 แปลกไปกว่าเดิมซิ ก็ลองใส่เมโลดี้ร้อง แล้วเพลงนี้ก็เลือกเอามาเล่นก่อนปล่อยอัลบั้มเพราะมันเล่นง่าย
เฟนเดอร์: แต่สำหรับผมไม่ง่ายเลย เพลงพี่เบียร์ที่แต่งให้เราร้องมันจะเป็นคีย์ที่สูงกว่าปกติ แล้วเหมือนร้องตลอด ไม่มีช่องว่างให้สร่างเลย แล้วเพลงนี้คือเรานึกถึงบรรยากาศของคริสต์มาส ทางคอร์ดมันมี่กลิ่นแบบเสียงกระพรวนอยู่
Real Robot
เฟนเดอร์: เกิดมาจากช่วงนั้นเราวิตกจริต อาการซึมเศร้าช่วงนั้นค่อนข้างหนัก เพลงนี้เป็นเพลงแรก ๆ ที่คิดเมื่อสามปีก่อน ยังอยู่หอเก่าอยู่ แล้วความความพวก เครื่องมือก็ไม่มี เราต้องไปยืมคนนั้นคนนี้ ตังค์ก็ไม่มีจ่าย คิดจะรีแลกซ์ตัวเองก็ออพชันน้อยเหลือเกิน ก็มีแต่เว็บโป๊ที่พอจะทำได้ ก็เสือกโทรศัพท์พังอีก ทำอะไรไม่ได้เลย รู้สึกว่าในอีกมุมนึงการที่ผมต้องการปัจจัยเหล่านี้มาป้อนให้ตัวเอง รู้สึกเป็นหุ่นยนต์มาก ต้อง feed เข้าไปเรื่อย ๆ เหมือนหัวรถจักรที่ต้องใส่ถ่านไฟเข้าไป แต่มันเป็น artificial fuel
ดนตรีแรกสุดเราอยากได้คอร์ดสไตล์พี่เจ ซึ่งเราไม่รู้จะเรียกยังไง (หัวเราะ) นึกถึง Penguin Villa มาความซื่อ ๆ ตรง ๆ แล้วพอปูมาอย่างนั้นแล้วก็อยากหักมุมไป เหมือนถีบประตูไปเจอโลกเวิ้งว้างอะไรบางอย่าง มันมีหลายสไตล์ มีลูกคอมนต์สิทธิ์ คำสร้อย ออกมา สไตล์ดนตรีเขาเป็นยังไง ใช่เครื่องดนตรียังไง จังหวะยังไง ถึงกับต้องไปฟังเพลงเขาอะ แต่ไม่ได้เอามาทั้งหมด แค่อันที่ได้กลิ่นตรงนั้น เช่น guiro
แฟรงค์: เพลงนี้ถ้าฟังดี ๆ จะมีเสียงคลอพระธิเบต เป็นเสียงที่แฟรงค์ชอบมาก ตอนแรกถามเฟนว่ามึงใส่มาทำไม แต่ตอนอัดกลายเป็นว่าพี่ขอเพิ่มอีกสองแทร็คเข้ามา (หัวเราะ) จู่ ๆ ก็ได้เฉยเลย มันเป็นความเหงาเหมือนเราภาวนาในความเศร้า ความรันทดของตัวเอง (เฟนเดอร์: เหมือนความตรมและจ่อมจมในความรันทดของตัวเอง) แล้วเขาสวดให้เราดีขึ้น
เฟนเดอร์: แล้วตอนหลังเหมือนเป็นหนักขึ้น ตบหน้าตัวเองไม่ให้ไปจมกับตรงนั้นมาก
ทิ้ง (Glory Will Come Last)
เฟนเดอร์: ด้วยความที่ชื่อมันบอกอยู่แล้ว เราเคยเจอคำนึงว่า ณ เวลานี้ มันเป็นวัยที่เราไม่สามารถรักหรือเกลียดใครได้แบบสุดใจแล้ว เรารู้สึกว่าความฝันสีสวย ๆ หรือความทุกข์ตรมสีดำ ๆ มันเป็นตัวฉุดรั้งเรา เราต้องทิ้งมันไปที่ใหม่ ฟีลเพลงนี้มันจะมีความเฉลิมฉลอง มีเสียงระฆัง ยินดีด้วย มึงจะไปที่ใหม่แล้ว (แฟรงค์: เราจะทิ้งสิ่งที่เราไม่ spark joy) Marie Kondo ก็มา คอนเซ็ปต์เบื้องต้นประมาณนี้แหละ ส่วนเรื่องไลน์สวนมันเหมือนวงฉ่อย ‘พ้อก่อนนน’ โต๊ะตึ่งตึง ไรงี้ ภาพมันมา เรารู้สึกว่ามันเป็นตัวอย่างของร่องรอยที่เราได้รับมา มันเป็นวัฒนธรรมเก่าที่เราก็ไม่ได้ชอบหรอก แต่ก็ใส่เข้ามาในหัว วัฒนธรรมไทย ไทยเดิม มันคือสิ่งที่เราคิดจะทิ้งไป แต่สุดท้ายเราอาจจะทิ้งมันไปไม่หมดก็ได้ แล้วเราก็หยิบมาใช้ในเพลงอยู่ดี
แฟรงค์: ตอนคุยกับเบียร์แรก ๆ แฟรงค์นึกถึงอัลเตอร์เก่า ๆ พวก Saliva Bastard
Apple
เฟนเดอร์: เป็นการตั้งคำถามถึงนิยามของความรัก คล้าย ๆ เพลง Luke อันนั้นเราพูดถึงความรักที่เป็นพลังที่มัน drive ชีวิตเราให้ไปข้างหน้า แต่อันนี้เราตั้งคำถามกับคำว่ารักที่เราสามารถให้กับคนต่อคน มันเป็นนิยามอื่นบ้างได้ไหมที่ไม่ใช่อีโรติกอย่างเดียว เราสามารถบอกรักเพื่อน หรือคนคนนึง อาจจะเพศเดียวกัน แต่เราแค่รักในตัวตน รักในความคิด รักในจิตวิญญาณของเขา แต่ด้วยความที่กำแพงของความสงสัยมันไปติดที่จริยธรรม คติของสังคม ค่านิยมสังคมอยู่ มีความไม่กล้าแหกกฎ แล้วความไม่กล้าแหกกฎมันทำให้เราไปจมอยู่กับความเศร้า มีความรู้สึกผิด แต่เราก็อธิบายให้มันเป็นบรรยากาศมากกว่า เราใช้แอปเปิ้ลเพราะตามพระคัมภีร์ มีอดัม กับ อีฟ มันเป็นผลไม้ที่กินแล้วรู้ผิดชอบชั่วดี แล้วมันทำให้เกิดความทุกข์ ความสุข อารมณ์ต่าง ๆ ก็คือ sin (บาป) เพราะเราไปเห็นดีเทลของมันเยอะเกินไป เราก็เลยเกิดความดีความชอบในใจ (แฟรงค์: เรื่องราวขนาดนี้แต่ดนตรีมุ้งมิ้งมาก)
หลังจากทำเดโมเราได้อ่านหนึ่งสือชื่อ ‘The Power of Now’ ของ Eckhart Tolle เขาพูดถึงแก่นของศาสนาในแบบจิตวิทยาโมเดิร์น เขาเอา reference จากทุกศาสนา จากคัมภีร์ บันทึกทั้งหลาย เซ็นก็มี มาพูดในภาษาจิตวิทยาที่เรียบง่ายมาก แล้วคำว่า God ของเราไม่ได้เป็นตัวตน แล้วเราสงสัยว่าทางที่กูจะไปสัมผัส God ได้คือกูต้องผ่านความเศร้า ความหนักหนาสาหัสของความรู้สึกขนาดนี้เลยหรอวะถึงจะรับรู้ถึงรายละเอียดที่โลกนี้มีอยู่ หรือสัมผัสดินแดนของพระเจ้า ดินแดนความรู้สึกที่มันว่างเปล่า แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอิ่มเอิบ God ของเขาคือความเงียบงัน คือทุกอย่าง คือเสียงของต้นไม้ คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา มันยากที่จะไปถึงสภาวะตอนนั้น ซึ่งเราเราคิดว่าถึงจุดนึงมันอาจจะมีทางอื่น ๆ อีกก็ได้
หนังสือเล่มนี้มันเป็น guidebook ทางปฏิบัติ เขาบอกให้ทำเดี๋ยวนั้นทันที แล้วจะยกตัวอย่างเวลาเขาไปบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วคนจะถามคำถามว่า แล้วการที่ฉันไม่สนใจปัญหาอื่น ๆ ที่มันอยู่ในใจของฉัน หรือฉันไม่ต้องรับผิดชอบ แล้วมา focus กับปัจจุบัน ไม่เท่ากับฉันเห็นแก่ตัวหรอ เขาก็อธิบายว่ามันไม่เกี่ยวกัน พวกนั้นยังอยู่ คุณก็ยังจัดการมันได้อยู่ อยู่ที่ว่าคุณต้องดึงจิตของคุณออกมา ณ ปัจจุบันให้ได้ ดินแดนของพระเจ้าอยู่ตรงนี้
Note From the Garett (2.00 AM)
เบียร์: ต้นเรื่องมาจากหนังสือ ‘บันทึกจากใต้ถุนสังคม’ (Notes from Underground) ของ Fyodor Dostoevsky แล้วรู้สึกว่ากำลังอ่านตัวเองอยู่ ในนั้นมันพูดถึงความอัดอั้น ความโรคจิต อยากออกไปจากตรงนี้ แล้วช่วงนั้นอินหลายเรื่อง การเมืองต่าง ๆ ก็ได้เป็นความรู้สึกจากที่เราอ่าน ประจวบกับช่วงนั้นฟังเพลง Susperium ของ Thom Yorke แล้วอินมาก ก็เลยเอากีตาร์มาลองเล่น อารมณ์มันส่งต่อมาจากตรงนี้ แล้วเราก็คิดว่าทำไมถึงให้มันเป็นตีสอง อยู่ที่ห้องใต้หลังคาและอยากออกไปไหนสักที่ ก็คือเราตั้งใจให้สตอรี่มันโยงกัน คือเรื่องก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุข้างนอก (เฟนเดอร์: ทำได้อีก 21 อัลบั้มอะ ทำ ตีสี่ ตีสาม ไปละ)
Flow State
เบียร์: ผมชอบหยิบ reference มาจากเพลงที่ฟังตลอดเวลา เวลาจะคิดงานอะไร มันไม่ได้ตั้งใจว่าฟังอันนี้แล้วอยากเป็นอย่างนี้นะ แต่มันจะตกผลึกเองจากที่เราฟัง แล้วเราก็อยากจะทำอะไรในอัลบั้มนี้ด้วย เพลงนี้ผมอยากทดลอง แต่ไม่ได้ตั้งใจให้มันอยู่ในอัลบั้ม เพราะ process แรกที่มันจะมาอยู่ในอัลบั้ม ผมกับเฟนโพสต์เดโมในเฟซบุ๊กแล้วมาเลือก ๆ กัน แล้วเพลงนี้มาทีหลัง (เฟนเดอร์: มาตอนทำดราฟ) (FJZ: ฟังแล้วนึกถึง Tomorrow Never Knows) ใช่ มาจากเพลงนั้น แล้วเนื้อหาค่อนข้างจะใกล้ ๆ กัน ผมกะพูดเป็นเรื่อง ๆ ให้จบเป็นตอน ๆ แล้วใส่ดนตรีทดลองเข้าไปในแบบที่อยากใส่ นั่นคือซึงที่เอามาทำรีเวิร์ส เฟนเดอร์ใส่เพอร์คัสชันเข้าไป
แฟรงค์: มันจะ world music นิดนึงใส่ซีตาร์เข้าไป
Yellow Line
แฟรงค์: ชอบกลองเพลงนี้ที่สุดแล้วในบรรดาทั้งหมด
เฟนเดอร์: คล้าย ๆ กับ Apple ตั้งคำถามของกำแพงศีลธรรมบางอย่าง คือเส้นกันสถานีรถไฟ ‘Please stand behind the yellow line’ คือพอนานวันเข้าเรา eductae ตัวเอง มีความรู้ความเข้าใจ มรความเชื่อมโยงมากขึ้น ว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นมันเชื่อมโยงยังไงในสเกลของจักรวาล พอเห็นความเชื่อมโยงนั้นมากขึ้น บางครั้งการที่เราเห็นแล้วของคนคนนึง มันทำให้คนคนนั้นรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จู่ ๆ มาเจอกันแล้วคุยเข้าเรื่องนามธรรมทันที มันเป็นเรื่องที่กว่าจะเปิดประเด็นกันมันก็ยากอยู่ แล้วเรารู้สึกว่ามันยังมีคนที่รู้สึกแบบนี้อีกเยอะมาก ในความโดดเดี่ยวนั้นดันมีคนที่เป็นแบบเดียวกันเยอะมาก ความรู้สึกนี้พอรู้ว่าจะมีคนที่คิดเหมือนกันอยู่มุมใดมุมนึงก็อาจจะอุ่นใจขึ้นมานิดนึงว่าก็ก็มีเพื่อน เพลงนี้ก็อยากจะสื่อสารว่าคนที่รู้สึกแบบเดียวกัน อย่างน้อยก็มีกู
มณสิชา
เบียร์: น่าจะเป็นเพลงเดียวในอัลบั้มที่คล้ายเพลง 4.00 AM ที่ผมรู้สึกและเขียนจบในรอบเดียว มันเกิดมาจากช่วงที่ผมเป็นครูในโรงเรียนเอกชน ผมมีครูพี่เลี้ยงที่เขาดีกับผมมาก เขาเห็นเราทำผลงานในโรงเรียน อายุเกือบ 60 แล้ว ช่วงที่ผมอยู่โรงเรียนก็จะมีปัญหาตรงที่ผมลาเล่นคอนเสิร์ตบ่อย เลยคิดว่าลาออกดีกว่า แล้วมีวันนึงครูมณเดินเข้ามาในห้องดนตรี เข้ามานั่งคุย จับมือบอกว่าอย่าเพิ่งออก ขอให้อยู่ต่อ น้ำตาคลอ เหมือนเขาพูดแทนโรงเรียน ว่าสิ่งที่เราทำไม่เคยเกิดกับโรงเรียนนั้นมาก่อน เพลงนี้ก็เลยเขียนให้ครู
เป็นเรื่องของครูผสมกับยายที่บ้าน ยายอยู่คนเดียวในบ้านหลังใหญ่ที่เป็นบ้านตกทอดมานาน ซึ่งอยู่คนเดียว เหงามาก ไม่ค่อยมีใครไปหา พอได้ข่าวว่าลูกกลับก็พยายามโทรหาลูก มันน่าจะเป็นเพลงที่เขียนเพื่อคนสูงวัยเพลงนึง (เฟนเดอร์: เป็นความสะเทือนใจที่มองคนแก่) เราเลยคิดแทนว่า ‘เธอมองดู และคอยส่งรอยยิ้มมา… เมื่อรักของฉันสลาย คงกลายเป็นดาวในนิทานของเธอ’ ที่เขียนไปเรานึกถึงยายเล่านิทานตอนเด็ก ๆ ซาวด์ในเพลงนี้จะยาน ๆ เก่า ๆ หน่อย
เฟนเดอร์: เหมือนเป็นเพลงเดียวจากบุคคลที่สาม เล่าจากมุมมองข้างนอกเข้าไป แล้วท่อนสูง ๆ ไม่ร้องเอง เป็นเพลงที่สูงสุดที่เคยร้องละ ใช้แรงเยอะมาก
สกุณา (Golden Whistle)
เบียร์: เพลงนี้เขียนหลังจากช่วงรัฐประหาร ม็อบนกหวีด ประมาณปีนึง แล้วก็คิดว่ามันมีอะไรมันดีขึ้นมาบ้างวะ แล้วไอ้ที่ไปเป่านกหวีดไล่ มันนำพามาสู่อะไรวะ อันนี้ใช้จินตนาการของตัวเองเชื่อมโยงไปด้วยให้มันปะติดปะต่อกัน ท่อนที่ผมเขียนแล้วชอบ คือ ‘แล้วเจ้านกก็บิน พูดถึงฝูงนก ตามเกาะต้นไม้’ คือผมหมายถึงม็อบนกหวีด แล้วที่มันเป็นต้นไม้เพราะผมเห็นมันเป็นทหาร สุดท้ายก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ‘ลอยไปในอากาศ ในแววตาเห็นแค่เพียงทหาร‘
เฟนเดอร์: เหมือนเป็นการจำลองความวุ่นวายของ 5 ปีที่ผ่านมา เอาเหตุการณ์หลังเคอร์ฟิวมายำ ๆ มีเรื่องเสือดำ เราเป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์ อย่างท่อนฮุกบอกว่า ฉันได้ยินเสียงต่าง ๆ มาจากออนไลน์ ‘How she worked hard till die’ มันเป็นข่าวที่ผู้หญิงทำงานหนักจนตาย แบบนี้
เบียร์: มีส่วนที่หักไปหักมาในด้านดนตรี มีหลายพาร์ตที่บอกว่า progressive เราก็ตั้งใจบอกถึงความวุ่นวายของบ้านเมือง แล้วก็นึกถึงเพลง ระบายกับเสียงเพรียก แล้วก็คิดว่าจะทำยังไงให้ระบายหดลงเหลือแค่นี้ เลยกลายมาเป็นเพลงนี้
Actions Speak Louder Than Words
เฟนเดอร์: มันเกิดมาจาก เราคิดมากไป แต่ปฏิบัติน้อยมาก แล้วเรารู้สึกว่าความคิดอันเลิศเลอที่เราคิดออกมาได้ หรือคิดได้เหนือกว่าคนอื่น มันจะไม่เกิดผลเลย ถ้าไม่ปฏิบัติ แต่ในเพลงก็มีการตัดพ้อว่าบางทีด้วยความ introvert เราก็พูดได้เบามาก ๆ ได้แค่กระซิบ ไม่สามารถสื่อสารได้ แต่อยากให้คนอื่นได้ยิน ช่วยฟังเราหน่อยได้ไหม อาจจะไม่ต้องช่วยทำก็ได้เพราะเราก็พยายามทำของเราอยู่ action มันเป็น ideal ที่เราแทบจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำ พอเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ เราอาจจะบอกได้แค่ความคิดที่เราอยากจะทำ เราแค้น เราเศร้า เราอยากระบาย ขอแค่มีคนมารับฟัง บางทีความ suffer จากการที่ฉันไม่ได้ action มันอาจจะบรรเทาได้จากแค่การมีใครสักคนมาฟัง
รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้คนกล้าวิจารณ์การเมืองเยอะขึ้นเนาะ
เฟนเดอร์: เรารู้สึกว่าเป็นมาตลอดนะ อย่าง ทรัพย์สินออกไป โทรทิปไตย เงี้ย ของ อพาร์ตเมนต์คุณป้า แต่ตอนนี้มันเป็นการยอมรับได้มากขึ้น คนรุ่นใหม่กล้าวิจารณ์ทางออนไลน์มากขึ้น และเขาก็กล้ารับสาส์นที่สมัยก่อนมันอยู่ใต้ดิน ให้ขึ้นมาอยู่บนดินมากขึ้น online มากขึ้น อยู่บนฟ้าด้วยซ้ำไป
คิดว่าร็อกจะกลับมาไหม
แฟรงค์: ตอนนี้มันเป็นดรีมป๊อปนะ
เฟนเดอร์: เราเพิ่งคุยเล่น ๆ ไปว่า เทรนด์พวก surf, lo-fi มันจะคึกคักอีกนานแค่ไหน พี่โด่งบอกว่ามากสุดก็สองปี เรามา ‘มึ้ง’ (กระจ่างแจ้ง) ตอนมาบรีฟช่วงท้าย ๆ กับพี่เจ มณฑล ตอนจะบรีฟดาวน์ ว่าวงส่วนใหญ่เขาจะขอซาวด์ฉ่ำ ๆ more reverb แต่วงเรามาขอแห้ง
เบียร์: เรามองว่ามันเป็นเอกลักษณ์ของพี่เจ Penguin Villa ว่าเขาเอาความคลีนมาให้เรา เป็นเราเราจะใส่นะ แต่พี่เจเขาใส่น้อยมาก แทบจะไม่รู้สึก
รู้สึกยังไงว่าลงมากรุงเทพ ฯ ทีนึงแล้วเล่นทัวร์ยาวยังกับไปทัวร์ยุโรป
เฟนเดอร์: ก็รอบนี้แหละอยู่ยาว สนุกดี ถ้าของเราไม่ติดปัญหาป่วยก็โอเค นี่เป็นพารานอยเรื่องคอ
แฟรงค์: เราลงมาทีก็อยากทัวร์ซัก 4 ที่ จะได้คุ้ม ไม่ใช่บินไปกลับไปกลับ เราแฮปปี้กับแบบนี้มากกว่า
เบียร์: หรือไม่ก็ไปโผล่ที่คลื่นวิทยุที่ไหนซักที่ ปีนี้ Solitude is Bliss ก็พยายามชนคลื่นวิทยุ (แฟรงค์: เออ เราสามปีก็ไม่ได้มีงานใหม่)
แล้วจะมีแพลนไปต่างประเทศบ้างไหม
แฟรงค์: ล่าสุดก็ไปฮ่องกงมา Asia Pacific Youth Band Competition ที่ Bomb At Track ก็เพิ่งไปมา เป็นงานที่ไปต่างประเทศของพวกเรา
จ๋า: อินเตอร์ 6 วง ฮ่องกง 7 เขาแข่งกันมาแล้วในประเทศ ส่วนเราถูกเชิญไปรอบชิง
เฟนเดอร์: รางวัลมีสามอันใหญ่ ๆ อันแรกก็คือวงฮ่องกงไปเลย อีกอันวง international รวม 13 วง แล้วก็อีกรางวัลก็เป็น best players ซึ่งเราได้แชมป์นานาชาติมา และได้ best keyboardist
แฟรงค์: ตอนเล่นเสร็จลงมา ปอนด์บอกว่า ‘พี่ ผมว่าผมน่าจะได้ว่ะ’ มีวงใช้คีย์บอร์ด 3 วง (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: แล้วเราก็ได้ไปโชว์ ไปสถานีวิทยุ ไปเล่นคลับของเขา เราก็หาของเราเอง แต่น่าเสียดายว่าคลับคนน้อย เพราะมีม็อบ แล้วก็ฝนตก ถ้าไม่มีคงจะคึกคักกว่านี้
แฟรงค์: มีแฟนเพลงที่ตามมาดูจากไทยด้วย ซึ่งเราหวังตรงนั้นมากกว่ารางวัล วันที่เราไปเล่นเราได้เล่นช่วงทุ่มครึ่ง สองทุ่ม มันมี lighting show เล่นตรงอ่าวพอดี cultural center
จ๋า: ตอนแรกเขาจะตัดเพลงเรา คือคนอื่นเขาดีเลย์ แล้วต้องตัดตอนสองทุ่ม เพราะจะโชว์แสงสีเสียง แล้วเราก็อยู่ตรงนั้นพอดี เราก็ไม่ยอม เราเป็นวงชนะนะ ยูจะมาตัดได้ไง ก็เล่นครึ่งนึง เบรก มีไลท์ติ้ง แล้วก็กลับมาเล่นต่อ ซึ่งคนก็เยอะสำหรับช่วงนั้นเพราะคนมาดูไฟ ดูเสร็จแล้วก็มาดูเราต่อ
เฟนเดอร์: แต่แรกสุดเราเดาไม่ถูกเลยว่าวงต่างประเทศจะเป็นยังไง กลายเป็นว่าในความคิดของเราแค่นี้คือไทยเป็นรองแค่ญี่ปุ่น ในรุ่นราวคราวเดียวกัน ในแง่ความล้ำของวัฒนธรรมของเขา วินัยเขาเข้มข้นมาก
แฟรงค์: วงที่ญี่ปุ่นที่มาดีมาก ชื่อ The Tiva เป็นเด็กผู้หญิงสองคน 18 กับ 22 กีตาร์ กลอง เพลงเขาน่ารักมาก แฟรงค์คุยกับเฟนว่าถ้าจะปล่อยอัลบั้ม อยากชวนเขามาเล่นให้ เราไม่อยากให้วงไทยเปิด แล้วเขาได้รางวัลมือกีตาร์ยอดเยี่ยม
เฟนเดอร์: เออ แล้วเราไปติดอยู่ในม็อบฮ่องกงครึ่งชั่วโมงด้วย อยู่ในรถ (แฟรงค์: ผมติดอยู่ในถนน ตำรวจหวอมาแล้วเอารั้วกั้น แล้วมาชาร์จเราออกไป)
จ๋า: วีคก่อนที่เราไปเดือดมาก พอเราไปก็ซา แล้วตอนเรากลับมาก็เดือดอีก
เบียร์: แต่ตอนนี้สะใจมาก ฝ่ายประชาธิปไตยชนะแล้ว
เร็ว ๆ นี้จะมีงานอะไรให้ได้ดูบ้าง
เฟนเดอร์: เดี๋ยวเราจะมีงานในช่วง Chiangmai Design Week วันที่ 11 ที่ Weave Artisan Society ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ แต่จะเป็นโชว์วันแรก ในงานเปิด แล้วก็มี exhibition ตลอดทั้งสัปดาห์ ศิลปินเขาจะมี live painting แล้ววงก็เล่นไปด้วย เป็นแบบที่เราไม่เคยเล่น กึ่ง ๆ experimental เอาเอเลเมนต์ในอัลบั้มมาลองลูป
ฝากผลงาน
เฟนเดอร์: เป็น LP ที่สองของวง ขอฝากไว้ด้วยพัฒนาการ หรือสาส์นที่เราอยากให้ฟัง หรือความอารมณ์ขัน หรือความใหม่ การสำรวจดินแดนทางดนตรีใหม่ ๆ ของเรา เราอยากลอง เราตื่นเต้นที่ทุกคนจะได้ฟัง ได้รู้สึก และได้ถามตัวเองว่ารู้สึกยังไงกับคุณรู้สึกยังไงกับเพลงของเรา คุณเป็นคน หรือคุณเป็นหุ่นยนต์ ฝากด้วยครับ
เดี๋ยวเร็ว ๆ นี้ Solitude Is Bliss จะมีกิจกรรมสนุก ๆ ของอัลบั้ม Please Verify That You Are Not A Robot ในแฟนเพจด้วย ให้ติดตามไว้ดี ๆ ว่าจะมีกติกายังไงบ้าง ได้ลุ้นอัลบั้มเต็มของพวกเขาไปฟังกันได้เลย
อ่านต่อ
‘Please Verify That You Are Not A Robot’ อัลบั้มเต็มชุดที่สองจาก Solitude Is Bliss